ผู้เขียน หัวข้อ: ทิพยอำนาจ : บทที่ ๕ วิธีปลูกสร้างทิพยอำนาจ  (อ่าน 1527 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ทิพยอำนาจ

พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)

วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เรียบเรียง



บทที่ ๕

วิธีปลูกสร้างทิพยอำนาจ



บัดนี้มาถึงบทสำคัญ ซึ่งเป็นจุดหมายของหนังสือเล่มนี้แล้ว ข้าพเจ้าจะได้พาท่านทำความเข้าใจลักษณะ พร้อมด้วยวิธีปลูกสร้างทิพยอำนาจแต่ละประการ ตามหัวข้อที่ได้ยกขึ้นไว้ในบทนำนั้นแล้ว.

แต่ก่อนที่จะนำท่านไปทำความเข้าใจลักษณะทิพยอำนาจแต่ละประการนั้นจะขอพาท่านทำความเข้าใจในส่วนทั่วไปเสียก่อน เพราะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งจำต้องเข้าใจกระจ่างแจ้งเสียแต่เบื้องต้น จึงจะไม่เกิดเป็นปัญหายุ่งยากในระหว่างที่ทำความเข้าใจทิพยอำนาจแต่ละประการนั้น.

คำว่า “ทิพยอำนาจ” เป็นคำที่ข้าพเจ้าบัญญัติขึ้นเอง เพื่อเรีกอภิญญาและวิชชาชั้นสูงในพระพุทธศาสนาอย่างสั้นๆ เท่านั้น อภิญญาและวิชชาในพระพุทธศาสนานั้น เป็นวิชชาที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ คล้ายสำเร็จด้วยอำนาจเทพเจ้า ทั้งบางวิชชาก็มีชื่อเรียกว่า “ทิพย....” เสียด้วย เช่น ทิพพโสต ทิพพจักขุ แต่ข้าพเจ้ามุ่งหมายจะรวมเรียกวิชชานั้นๆ ด้วยคำสั้นๆ ให้เรียกง่ายๆ และเหมาะสมเท่านั้น ฉะนั้น ขอท่านผู้อ่านอย่าได้ตีความหมายของชื่อนี้ไปเป็นอย่างอื่น.

อภิญญาในพระพุทธศาสนามี ๖ ประการ ส่วนวิชชาชั้นสูงในพระพุทธศาสนามีหลายประเภท เรียกว่าวิชชา ๓ ประการบ้าง วิชชา ๘ ประการบ้าง เมื่อประมวลอภิญญาและวิชชาเข้ากันแยกเรียกเฉพาะแต่ที่แปลกกันได้เพียง ๘ ประการ ดังจะยกชื่อมาไว้อีก ดังนี้

๑. อิทธิวิธิ ฤทธิ์ต่างๆ

๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ

๓. เจโตปริยญาณ รู้จักใจของผู้อื่น

๔. ทิพพโสต หูทิพย์

๕. ปุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติก่อนได้

๖. ทิพพจักขุ ตาทิพย์

๗. จุตูปปาตญาณ รู้สัตว์เกิด-ตาย ได้ดี-ตกยากด้วยอำนาจกรรม

๘. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

ทิพยอำนาจ ๘ ประการนี้ มีขีดขั้นของความสำเร็จอยู่สองขั้น คือขั้นโลกีย์และขั้นโลกุตตระตราบใดที่ยังไม่บรรลุถึงอาสวักขยญาณ ตราบนั้นยังเป็นขั้นโลกีย์ เมื่อใดบรรลุถึงอาสวักขยญาณเมื่อนั้นชื่อว่าสำเร็จถึงขั้นโลกุตตระ ทิพยอำนาจขั้นโลกีย์ไม่มั่นคง อาจเสื่อมหายไปได้ในเมื่อรักษาไม่ดีหรือพลั้งพลาดศีลธรรมร้ายแรงขึ้น เพราะยังไม่มีอะไรเป็นประกัน ครั้นสำเร็จถึงขั้นโลกุตตระแล้วทิพยอำนาจทั้งหมดกลายเป็นมั่นคงสถาพร ไม่เสื่อมสลาย เพราะมีอาสวักขยญาณเป็นประกันจิตใจของผู้บรรลุถึงอาสวักขยญาณเป็นจิตใจมั่นคง ไม่หวาดสะดุ้ง แม้จะร้ายแรงสักปานใดก็ตามเมื่อจิตมั่นคงเช่นนั้นฌานอันเป็นฐานรองของทิพยอำนาจก็มั่นคง ทิพยอำนาจจึงมั่นคงไปด้วย.

ผู้จะปลูกสร้างทิพยอำนาจ จะตั้งจุดหมายเอาเพียงขั้นโลกีย์หรือมุ่งถึงขั้นโลกุตตระก็ได้ตามใจ เพราะเป็นสิทธิของผู้ปฏิบัติแต่ละคนโดยเฉพาะ ผู้ปฏิบัติจะบรรลุถึงจุดหมายที่ตนตั้งไว้หรือไม่ นั่นย่อมแล้วแต่การปฏิบัติเป็นประมาณ ถ้าการปฏิบัติเป็นไปถูกต้องตามวิธีและเป็นไปสม่ำเสมอดี พร้อมทั้งวาสนาบารมีหนุนหลังอยู่แล้ว ย่อมจะบรรลุถึงจุดหมายประสงค์ ถ้าการปฏิบัติไม่เป็นดังว่ามาแล้ว ก็ยากที่จะบรรลุถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ มีผู้กลัวว่า ถ้าปฏิบัติเจริญภาวนาจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ไปก่อน ตนจะไม่ได้ลิ้มรสของโลกียสุขสมปรารถนาดั่งนี้ก็มี ข้าพเจ้าขอแนะนำว่าถ้าจะกลัวสำเร็จแล้ว กลัวไม่สำเร็จยังดีกว่า เพราะเมื่อใจไม่เอาแล้วจะให้ได้พระอรหัตโดยบังเอิญนั้นเป็นไม่มีเลย ข้าพเจ้าเคยเห็นแต่ผู้ปฏิบัติไม่บรรลุถึงจุดหมายที่ตนตั้งไว้นั่นแหละมากกว่าผู้บรรลุถึงจุดหมาย ทั้งนี้ก็เพราะพระอรหัตผลหรืออาสวักขยญาณนั้น เป็นภูมิธรรมที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา ผู้จะบรรลุถึงภูมินั้นจะต้องเป็นบุคคลผู้มีบุญล้นเหลือ คนจนบุญไม่อาจบรรลุถึงภูมินั้นได้ ผู้กลัวจะบรรลุนั้นรู้ตัวแน่นอนหรือว่ามีบุญเหลือล้น คนที่กลัวความสุขก็คือคนไม่มีสุข ภูมิพระอรหันต์เป็นภูมิที่มีสุขที่สุด ผู้ไม่เคยลิ้มรสความสุขประณีต เคยประสบแต่สุขเจือทุกข์จึงหวาดกลัวต่อความสุขล้วนๆ อันมีอยู่ในภูมิพระอรหันต์นั้น ถ้าบุคคลเป็นผู้มีบุญได้ก่อสร้างมามากแล้วจะไม่กลัวต่อการบรรลุภูมิพระอรหัตตผลเลย เมื่อเริ่มลงมือปฏิบัติเจริญภาวนาก็จะบังเกิดปีติ ดูดดื่ม อยากเจริญให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ไม่ยอมถอยหลังเลยทีเดียว.

อนึ่ง อยากขอทำความเข้าใจกับผู้ศึกษาทิพยอำนาจนี้อีกว่า ทิพยอำนาจเป็นความรู้ความสามารถน่ามหัศจรรย์ เหนือความรู้ความสามารถของมนุษย์สามัญ ย่อมจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานอันสูงกว่าธรรมดา คือว่า ก่อนจะสำเร็จถึงขั้นทิพยอำนาจนี้ จะต้องสำเร็จภูมิธรรมขั้นที่เรียกว่าฌานมาแล้ว ประกอบกับมีศีลธรรมดีงามประจำใจด้วย ฌานนั้นหมายถึง ฌานมาตรฐาน ๔ ประการ ที่กล่าวในบทที่ ๑ – ๒ เป็นสำคัญ ฌานที่สูงกว่านั้นเป็นเครื่องอุปกรณ์ช่วยให้สำเร็จทิพยอำนาจเร็วเข้า ฉะนั้น ผู้ศึกษาอย่าลืมความสำคัญของฌานและศีลธรรมอันดีในเมื่อจะทำการปลูกสร้างทิพยอำนาจ เปรียบเหมือนเราจะสร้างบ้าน จำต้องแสวงหาเครื่องเรือนมาให้พร้อม แล้วต้องทำพื้นที่ตรงจะปลูกนั้นให้ราบเรียบแน่นหนาถาวรด้วย เรือนที่ปลูกขึ้นจึงจะมั่นคงฉันใด การปลูกสร้างทิพยอำนาจก็เป็นฉันนั้น เมื่อได้ทำความเข้าใจในส่วนทั่วไปฉะนี้แล้ว ข้าพเจ้าจะพาท่านไปทำความเข้าใจกับทิพยอำนาจแต่ละประการนั้นต่อไป ทิพยอำนาจแต่ละประการ มีเหตุผลและวิธีการที่จำต้องพูดมากจึงจะเข้าใจกัน ทิพยอำนาจมีถึง ๘ ประการ เมื่อบรรจุลงในบทเดียวก็จะเป็นบทใหญ่มาก จึงได้แยกออกเป็นบทๆ นับตั้งแต่บทนี้จนถึงบทที่ ๑๒ ดังท่านจะได้อ่านต่อไปข้างหน้า แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าต่างจุดหมายกัน มีจุดหมายอันเดียวกัน คือ บอกวิธีปลูกสร้างทิพยอำนาจทั้งสิ้น.

อิทธิวิธิ ฤทธิ์ต่างๆ

คำว่าฤทธิ์ในภาษาไทยของเรา ย่อมเป็นที่เข้าใจกันอยู่ว่า หมายถึงการทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์สำเร็จได้เกินวิสัยของคนธรรมดา ซึ่งมีความหมายตรงกับที่มาของคำนี้ในภาษาบาลีแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องอธิบายความหมายให้ยืดยาว ฉะนั้น จะได้นำเอาประเภทของฤทธิ์ตามที่ท่านจำแนกไว้ในพระบาลีมาตั้งไว้ แล้วทำความเข้าใจเป็นอย่างๆ ไปทีเดียว ดังต่อไปนี้ฤทธิ์มี ๑๐ ประเภท คือ

๑. อธิษฐานฤทธิ์ ฤทธิ์ที่ต้องอธิษฐานให้สำเร็จ

๒. วิกุพพนาฤทธิ์ ฤทธิ์ที่ต้องทำอย่างผาดแผลง

๓. มโนมัยฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยกำลังใจ

๔. ญาณวิปผาราฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยกำลังญาณ

๕. สมาธิผาราฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยอำนาจสมาธิ

๖. อริยฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยวิสัยของพระอริยเจ้า

๗. กัมมวิปากชาฤทธิ์ ฤทธิ์เกิดแต่ผลกรรม

๘. ปุญญฤทธิ์ ฤทธิ์ของผู้มีบุญ

๙. วิชชามัยฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยวิทยา

๑๐. สัมปโยคปัจจยิชฌนฤทธิ์ ฤทธิ์ที่สำเร็จเพราะประกอบกิจกุศลให้สำเร็จไป.

จะได้ทำความเข้าใจเป็นข้อๆ ไป ดังต่อไปนี้

๑. อธิษฐานฤทธิ์ ฤทธิ์ที่ต้องอธิษฐานให้สำเร็จนี้ เป็นข้อมุ่งหมายของอิทธิวิธีนี้โดยเฉพาะเพราะว่า เมื่อกล่าวถึงอิทธิวิธีแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้แต่ประเภทอธิษฐานฤทธิ์ประเภทเดียว ฤทธิ์ที่ต้องทำการอธิษฐานให้สำเร็จนี้มีหลายหลาก ล้วนแต่เป็นฤทธิ์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง เช่นคนๆ เดียวอธิษฐานให้เป็นมากคนได้ คนมากอธิษฐานให้เป็นคนเดียวได้ ที่กำบังไม่เปิดเผยอธิษฐานให้เป็นที่เปิดเผยได้ ที่เปิดเผยอธิษฐานให้เป็นที่กำบังได้ อธิษฐานให้ฝากำแพง ภูเขา กลายเป็นอากาศแล้วเดินผ่านไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างฉะนั้น อธิษฐานให้ดินเป็นน้ำแล้วดำเล่นได้เหมือนดำน้ำฉะนั้น อธิษฐานให้น้ำเป็นแผ่นดินแล้วเดินไปบนน้ำได้เหมือนเดินบนพื้นดินฉะนั้น อธิษฐานให้อากาศเป็นดินแล้วนั่งขัดสมาธิลอยไปบนอากาศได้เหมือนนกฉะนั้น นอกจากนั่งขัดสมาธิแล้วจะเดินยืนนั่งนอนไปในพื้นอากาศอย่างปกติเหมือนบนดินก็ได้ อธิษฐานให้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มาอยู่ใกล้ๆ มือแล้วลูบคลำจับต้องด้วยมือเล่นได้ เหมือนคนจับต้องลูบคลำรูปอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ มือฉะนั้น และอธิษฐานให้ที่ไกลเป็นใกล้ ที่ใกล้เป็นไกล ของมากให้น้อย ของน้อยให้มาก ต้องการเห็นรูปพรหมด้วยทิพยจักษุก็ได้ ต้องการฟังเสียงพรหมด้วยทิพยโสตก็ได้ ต้องการู้จิตของพรหมด้วยเจโตปริยญาณก็ได้ ต้องการไปพรหมโลกแล้วอธิษฐานให้กายเหมือนจิตให้จิตเหมือนกายแล้วไปพรหมโลกโดยปรากฏกายก็ได้ ไม่ปรากฏกายก็ได้ เนรมิตรูปให้มีอวัยวะครบถ้วนอินทรีย์บริบูรณ์สำเร็จด้วยใจแล้วไปปรากฏที่พรหมโลกก็ได้ ถ้าจำนงจะเดินยืนนั่งนอนในพรหมโลกนั้นก็ทำได้ ถ้าจำนงจะบังควัน ทำเปลวเพลิง แสดงธรรมถามปัญหาแก้ปัญหายืนพูดจาสนทนากับพรหมก็ทำได้ทุกประการ อย่างนี้แลเรียกว่าอธิษฐานฤทธิ์.

๒. วิกุพพนาฤทธิ์ ฤทธิ์ที่ต้องทำอย่างผาดแผลงนั้น ท่านยกตัวอย่างพระสาวกของสมเด็จพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามว่าอภิภู ไปยืนอยู่ในพรหมโลกแล้วยังพันโลกธาตุให้รู้แจ้งทางเสียงคือให้ได้ยินเสียง ปรากฏกายแสดงธรรมบ้าง ไม่ปรากฏกายแสดงธรรมบ้าง ปรากฏแต่กึ่งกายท่อนบนแสดงธรรมบ้าง ท่านละเพศปกติเสียแล้วแสดงเพศเป็นเด็กบ้าง เพศนาคบ้าง เพศครุฑบ้าง เพศยักษ์บ้าง เพศอสูรบ้าง เพศพระอินทร์บ้าง เพศเทพเจ้าบ้าง เพศพรหมบ้าง เพศสมุทรบ้าง เพศภูเขาบ้าง เพศป่าบ้าง เพศราชสีห์บ้าง เพศเสือโคร่งบ้าง เพศเสือเหลืองบ้าง แสดงกองทัพเหล่าต่างๆ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้าบ้าง อย่างนี้เรียกว่าวิกุพพนาฤทธิ์ ในพุทธสมัยแห่งพระผู้มีพระภาคของเราก็ปรากฏว่า มีพระสาวกแสดงฤทธิ์ชนิดนี้เหมือนกัน แม้พระภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนก็ทำได้ เช่นพระเทวทัตทำฤทธิ์ชนิดนี้ให้พระเจ้าอชาตศัตรูเมื่อยังเป็นยุพราชเกิดเลื่อมใสจนได้คบคิดกันทำอนันตริยกรรมอย่างโหดร้ายเพราะความโลภ แล้วถึงความวิบัติฉิบหายในปัจจุบันทันตา เว้นแต่พระเจ้าอชาตศัตรูเท่านั้นที่กรรมมิให้ผลทันตาเห็น เพราะกรรมไม่ร้ายแรงเท่าพระเทวทัต ทั้งรู้พระองค์ทันแล้วรีบแก้ไข ก่อนที่กรรมจะให้ผลในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว ก็ทรงได้เป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก ยกสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกด้วย จึงทำให้กรรมหนักกลายเป็นเบาได้บ้าง.

๓. มโนมัยฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยกำลังใจนี้ จัดเป็นทิพยอำนาจอีกประการหนึ่งต่างหาก จะได้อธิบายภายหลัง.

๔. ญาณวิปผาราฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยกำลังญาณนั้น ท่านแสดงไว้ว่า การละความสำคัญว่าเที่ยง เป็นสุข อัตตา ฯลฯ ได้สำเร็จด้วยปัญญาเห็นตามเป็นจริงของสังขารว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา ฯลฯ นั้นเป็นฤทธิ์ประเภทหนึ่ง รวมความว่า วิปัสสนาญาณก็เป็นฤทธิ์ เพราะสำเร็จกิจกำจัดกิเลสได้.

๕. สมาธิผาราฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยอำนาจสมาธินั้น ท่านแสดงไว้ว่า การละนิวรณ์ได้สำเร็จด้วยปฐมฌาน ฯลฯ การละอากิญจัญญายตนสัญญาได้สำเร็จด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ก็จัดเป็นฤทธิ์อีกประการหนึ่ง รวมความว่า ฌานสมาบัติซึ่งทำหน้าที่กำจัดกิเลสหรืออธรรมอันเป็นข้าศึกของสมาบัติให้สำเร็จได้ ก็จัดเป็นฤทธิ์ด้วย ฉะนั้น ผู้บรรลุฌานแม้แต่ปฐมฌานก็ชื่อว่าสำเร็จฤทธิ์ประเภทนี้แล้ว.

๖. อริยฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยวิสัยของพระอริยเจ้านั้น ท่านแสดงตัวอย่างไว้ว่า สามารถกำหนดความไม่รังเกียจในสิ่งน่าเกลียด สามารถกำหนดความรังเกียจในสิ่งไม่น่าเกลียด สามารถกำหนดความไม่รังเกียจทั้งในสิ่งน่าเกลียด-ทั้งในสิ่งไม่น่าเกลียด สามารถกำหนดความรังเกียจทั้งในสิ่งไม่น่าเกลียด-ทั้งในสิ่งน่าเกลียด และสามารถวางใจเป็นกลางอย่างมีสติสัมปชัญญะ ทั้งในสิ่งน่าเกลียดและไม่น่าเกลียดนั้นได้ ท่านอธิบายว่า เป็นด้วยอำนาจเมตตา หรือเห็นเป็นธาตุไปจึงไม่รังเกียจ และในด้านรังเกียจนั้นเป็นด้วยอำนาจการเห็นโดยเป็นสิ่งไม่งามหรือไม่เที่ยง ส่วนสามารถวางใจเป็นกลางได้นั้น ท่านว่ามีอุเบกขาในอารมณ์ ๖ โดยปกติซึ่งเป็นคุณลักษณะของพระอรหันต์โดยเฉพาะ บุคคลผู้มีความสามารถบังคับความรู้สึกของตนได้ดีนั้นท่านยอมยกให้พระอริยเจ้าเพราะได้ผ่านการฝึกฝนอบรมจิตใจมาอย่างดีแล้ว ปุถุชนไม่สามารถบังคับความรู้สึกของตนได้ดีเหมือนพระอริยเจ้า ฉะนั้น ความสามารถบังคับความรู้สึกของตนได้จึงจัดเป็นฤทธิ์ประเภทหนึ่งซึ่งเป็นผลของการประพฤติธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นฤทธิ์ประเสริฐโดยฐานะเป็นเครื่องป้องกันตัวอยู่ทุกเมื่อ.

๗. กัมมวิปากชาฤทธิ์ เกิดแต่ผลกรรม ท่านยกตัวอย่างไว้ว่า เป็นฤทธิ์ของนกทั้งปวง เทพเจ้าทั้งมวล มนุษย์บางจำพวก และวินิบาตบางเหล่า แต่ท่านมิได้ชี้ลงไปว่าได้แก่ฤทธิ์เช่นไร ข้าพเจ้าจะวาดภาพพอนึกเห็นดังนี้ ธรรมดานกบินไปในอากาศได้ทั้งหมด ความสามารถเช่นนี้ไม่มีในสัตว์ดิรัจฉานเหล่าอื่น แม้ในหมู่มนุษย์ธรรมดาก็ไม่มี จึงจัดว่าเป็นฤทธิ์ชนิดหนึ่งซึ่งมีในหมู่นก เทพเจ้าทั้งปวงเป็นกำเนิดวิเศษไม่ต้องนอนในครรภ์ของมารดา เกิดปรากฏเป็นวิญญูชนทันที ไปมาในอากาศได้โดยปกติธรรมดา แสดงกายให้ปรากฏก็ได้ ไม่ให้ปรากฏก็ได้ ความสามารถเช่นนี้ไม่มีในสัตว์ประเภทอื่น จึงจัดเป็นฤทธิ์โดยกำเนิดของเหล่าเทพเจ้า ส่วนฤทธิ์ของมนุษย์บางจำพวกนั้นเห็นจะหมายความสามารถเกิดคนธรรมดาในบางกรณี เช่นเมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีเด็กหญิงอายุ ๑๐ กว่าขวบ สามารถร้องเพลงและเล่นเปียโนได้ดีกว่าคนที่ฝึกหัดมาตั้งนานๆ โดยที่เด็กหญิงคนนั้นได้รับการฝึกหัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เป็นที่ตื่นเต้นกันในชาวต่างประเทศว่าเด็กหญิงคนนั้นคงเคยเป็นนักร้องเพลงและดนตรีมาแล้วแต่ชาติก่อนเป็นแน่ จึงสามารถทำได้ดีในชั่วเวลาเล็กน้อยเช่นนี้ ส่วนวินิบาตนั้นเป็นกำเนิดของผู้ตกต่ำจำพวกหนึ่ง มีทุกข์เบาบางกว่าเปรตบางจำพวก คงเนื่องแต่พลั้งพลาดในศีลธรรมเพียงเล็กน้อย แล้วตกต่ำไปสู่กำเนิดนั้น ความดีที่ทำไว้ยังตามไปอุปถัมภ์อยู่ ทำให้เป็นผู้มีฤทธิ์เดชคล้ายเทพเจ้าในบางกรณี ฤทธิ์ดังกล่าวมานี้ถ้าไม่ยอมยกให้ว่าเป็นผลของกรรมเก่าที่ทำเอาไว้แต่ชาติก่อนแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะยกให้เป็นอำนาจของอะไรดี เพราะไม่ปรากฏว่ามีการฝึกฝนอบรมเป็นพิเศษในปัจจุบันที่จะทำให้มีความสามารถเช่นนั้น.

๘. ปุญญฤทธิ์ ฤทธิ์ของผู้มีบุญ ท่านยกตัวอย่าง เช่น พระเจ้าจักรพรรดิสามารถเสด็จพาจาตุรงคินีเสนา ตลอดถึงคนเลี้ยงม้าเหาะไปในอากาศได้ โชติยเศรษฐี ชฎิลเศรษฐี เมณฑกเศรษฐีและโฆสิตเศรษฐีในสมัยพุทธกาล มีบุญสมบัติเกิดขึ้นผิดประหลาดกว่ามนุษย์ธรรมดา มิได้ออกแรงทำมาหากิน แต่มีสมบัติมั่งคั่ง ทั้งไม่มีใครสามารถไปลักแย่งเอาได้ด้วย เรื่องบุญฤทธิ์นี้เรายอมรับกันว่ามีได้ เช่น พระมหากษัตราธิราชเจ้าผู้มีบุญญาภิสมภาร ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยหลายพระองค์ ที่ทรงมีพระประวัติมหัศจรรย์ เช่น สมเด็จพระร่วงเจ้า กรุงสุโขทัย, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า ร.๕ เป็นต้น แม้ในหมู่สามัญชนเราก็ยอมรับกันว่า คนผู้จะได้ดีมีสุขนั้น นอกจากการทำดีในปัจจุบันแล้ว ย่อมต้องอาศัยบุญบารมีอุดหนุนด้วย จนมีคติว่า “แข่งอะไรแข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้” ดังนี้ บุญที่ทำไว้แต่ชาติก่อนย่อมติดตามอุปถัมภ์บุคคลผู้ทำ ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ส่งผลให้เป็นบุคคลดีเด่นในหมู่ชนเกินคาดหมาย สมพอเสียก็ไม่เสีย สมพอตายก็ไม่ตาย ผู้เชื่อมั่นในบุญได้ผูกเป็นคำสุภาษิตไว้ว่า “เมื่อบุญมาวาสนาช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก เมื่อบุญไม่มาวาสนาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย” ดังนี้ อำนาจบุญวาสนาท่านจึงจัดว่าเป็นฤทธิ์ประเภทหนึ่งด้วยประการฉะนี้.

๙. วิชชามัยฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จด้วยวิทยา ท่านแสดงตัวอย่างไว้ว่าวิทยาธร ร่ายวิทยาแล้วเหาะไปในอากาศได้ แสดงกองทัพคือพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า ในท้องฟ้าอากาศได้ ในสมัยปัจจุบันเรามีพยานในข้อนี้อย่างดีแล้ว คือผู้ทรงคุณวิทยาในวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ได้สำแดงฤทธิ์เดชแห่งคุณวิทยาประเภทนั้นๆ ให้ประจักษ์แก่โลกมากมาย เช่น สร้างอากาศยานพาเหินฟ้าไปได้สร้างเครื่องส่งและรับวิทยุสามารถส่งเสียงไปปรากฏทุกมุมโลก เมื่อตั้งเครื่องรับย่อมสามารถรับฟังเสียงนั้นได้ และสามารถสร้างเครื่องส่งและรับภาพในที่ไกลได้เช่นเดียวกับส่งและรับเสียง ฯลฯเป็นอันรับรองกันว่า ฤทธิ์ประเภทนี้มีได้แน่แล้ว.

๑๐. สัมมัปปโยคปัจจัยอิชฌนฤทธิ์ ฤทธิ์สำเร็จเพราะการประกอบกิจชอบ ท่านอธิบายว่าได้แก่การละอกุศลมีกามฉันทะเป็นต้นได้ด้วยคุณธรรมมีเนกขัมมะเป็นต้น เป็นผลสำเร็จอย่างสูงได้แก่การละสรรพกิเลสได้ด้วยพระอรหัตมรรคเป็นผลสำเร็จ จัดเป็นฤทธิ์ประเภทหนึ่ง.

ฤทธิ์ประเภทนี้ คล้ายฤทธิ์ประเภทหมายเลข ๔–๕ ซึ่งกล่าวมาแล้ว แต่ประเภทนี้กว้างกว่าโดยหมายถึงคุณธรรมทั่วไป อันมีอำนาจกำลังกำจัดความชั่วได้ เมื่อความดีทำหน้าที่กำจัดความชั่วไปได้ขั้นหนึ่งๆ ก็จัดว่าเป็นฤทธิ์หนนึ่งๆ ในประเภทนี้ได้ ส่วนฤทธิ์ประเภทหมายเลข ๔-๕ นั้นหมายถึงอำนาจวิปัสสนาปัญญากับอำนาจฌาน เฉพาะที่ทำหน้าที่กำจัดปัจจนึกของตนโดยตรงเท่านั้น ฉะนั้น บุคคลผู้ประกอบคุณงามความดีสำเร็จ กำจัดความชั่วออกจากตัวได้แม้สักอย่างหนึ่งก็ชื่อว่ามีฤทธิ์ในประเภทนี้บางประการแล้ว เมื่อบรรลุถึงพระอรหัตตผลก็ชื่อว่ามีฤทธิ์ประเภทนี้อย่างสมบูรณ์ทันที.

บรรดาฤทธิ์ ๑๐ ประเภทนี้ ฤทธิ์ที่ประสงค์จะกล่าวในทิพยอำนาจขั้นต้นนี้ ได้แก่ฤทธิ์ ๓ประเภทข้างต้นเท่านั้น ฤทธิ์ประเภทหมายเลข ๓ ได้ยกขึ้นเป็นทิพยอำนาจประการหนึ่งต่างหากจึงยังเหลือสำหรับทิพยอำนาจข้อนี้เพียง ๒ ประเภท คือ อธิษฐานฤทธิ์ กับ วิกุพพนาฤทธิ์เท่านั้นฉะนั้น จะได้อธิบายลักษณะ เหตุผล พร้อมด้วยอุทาหรณ์ และวิธีปลูกสร้างทิพยอำนาจ ๒ ประเภทนี้ต่อไป.

อธิษฐานฤทธิ์ ปรากฏตามนิเทศที่ท่านแจกไว้มี ๑๖ ประการ คือ

๑. พหุภาพ ได้แก่การอธิษฐานให้คนๆ เดียวปรากฏเป็นมากคน มีจำนวนถึงร้อย พัน หมื่นคนก็ได้ ท่านยกตัวอย่างท่านพระจูฬปันถกเถระ มีเรื่องเล่าว่า พระมหาปันถกเถระผู้พี่ชายของพระจูฬปันถกเถระ ได้ออกบวชในพระธรรมวินัยของพระศาสดา เมื่อได้ลุถึงยอดแห่งสาวกบารมีแล้วนึกถึงน้องชาย จึงไปนำมาบวชในพระธรรมวินัยด้วย น้องชายคือพระจูฬปันถกเถระนั้นปรากฏว่าสติปัญญาทึบ พี่ชายให้เรียนคาถาสรรเสริญพระพุทธเจ้าเพียงคาถาเดียว ตั้ง ๔ เดือนก็จะไม่ได้พี่ชายจึงขับไล่ไปตามธรรมเนียมอาจารย์กับศิษย์ พระบรมศาสดาทรงทราบว่าเป็นผู้มีอุปนิสัยหากแต่มีกรรมบางอย่างขัดขวางอยู่เล็กน้อยจึงทำให้เป็นคนทึบในตอนแรก แต่ต่อไปจะเป็นผู้เปรื่องปราดได้ จึงเสด็จไปรับมาอบรม ทรงประทานผ้าขาวผืนหนึ่งให้ถือบริกรรมว่า รโชหรณํ ๆเรื่อยไป ท่านปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทนั้น ได้เห็นมลทินมือติดผ้าขาวเศร้าหมองขึ้น เกิดวิปัสสนาญาณแจ้งใจขึ้นทันทีนั้นเอง เมื่อเจริญวิปัสสนาญาณไม่ท้อถอยท่านก็ลุถึงภูมิพระอรหัตตผล เกิดความรอบรู้ทั่วถึงในพระไตรปิฎก และได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในภายหลังว่า เป็นยอดของผู้เชี่ยวชาญทางเจโตวิวัฏ คือการพลิกจิต พี่ชายคงยังไม่ทราบว่าน้องชายลุถึงภูมิพระอรหัตแล้ว เมื่อมีผู้มานิมนต์สงฆ์ไปฉันภัตตาหารในบ้าน ท่านก็มิได้นับน้องชายเข้าไปในจำนวนสงฆ์ เมื่อพระบรมศาสดาพร้อมด้วยสงฆ์ประทับ ณ ที่นิมนต์แล้ว ทรงตรวจดูไม่เห็นพระจูฬปันถกเถระ จึงตรัสบอกทายกว่ายังมีพระตกค้างอยู่ในวัดรูปหนึ่ง ทายกก็ให้ไปนิมนต์มา

ครั้นผู้ไปถึงวัด แทนที่จะเห็นพระรูปเดียวดั่งพระพุทธดำรัสก็กลับเห็นพระตั้งพันรูป นั่งทำกิจต่างๆ กันเต็มร่มไม้ ไม่ทราบจะนิมนต์องค์ไหนถูก จึงกลับไปกราบทูลให้ทรงทราบ ตรัสสั่งให้ไปนิมนต์ใหม่ระบุชื่อพระจูฬปันถกเถระ ทายกก็ไปนิมนต์อีก พอไปถึงก็ระบุชื่อตามตรัสสั่งว่าขอนิมนต์ไปฉันภัตตาหาร พอจบคำนิมนต์ก็ได้ยินเสียงตอบขึ้นพร้อมกันตั้งพันเสียงว่าตนชื่อพระจูฬปันถกเถระ ทายกก็จนปัญญาไม่ทราบว่าจะนิมนต์องค์ไหนอีก จึงกลับคืนไปเฝ้ากราบทูล ทีนี้ตรัสสั่งว่า จงมองดูหน้าองค์ไหนหน้ามีเหงื่อให้ไปจับมือองค์นั้นมา ทายกไปนิมนต์และปฏิบัติตามที่ตรัสสั่ง ก็ได้พระจูฬปันถกเถระมาดั่งประสงค์ ทันทีนั้นเอง พระจำนวนตั้งพันองค์ก็หายวับไป คงมีพระองค์เดียวคือพระจูฬปันถกเถระเท่านั้น ทายกเห็นแล้วเกิดอัศจรรย์ขนพองสยองเกล้าจึงนำความกราบทูลพระบรมศาสดา ตรัสว่าเป็นวิสัยของภิกษุผู้มีฤทธิ์ในพระธรรมวินัยนี้

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างในอิทธิปาฏิหาริย์พหุภาพ แม้พระบรมศาสดาก็ทรงทำ เช่นในคราวทำยมกปาฏิหาริย์ ทรงเนรมิตพระองค์ขึ้นหลายหลาก ล้วนทรงทำกิจต่างๆ กันในท้องฟ้าเวหาหนดั่งกล่าวไว้ในบทนำ การทำฤทธิ์พหุภาพนี้ใช้มโนภาพเป็นเครื่องนำทำใจให้สงบ แล้วอธิษฐาน ก็เป็นได้ดั่งนั้นทันที จะกำหนดให้เป็นกี่ร้อยกี่พัน และจำนวนเท่าไร ให้ทำกิจอะไร ก็กำหนดตามใจแล้วอธิษฐานให้เป็นเช่นนั้น.

๒. เอโกภาพ ได้แก่การอธิษฐานให้คนมากกลับเป็นคนเดียว เป็นวิธีตรงกันข้ามกับพหุ-ภาพ และต้องทำคู่กันเสมอไป คือเมื่อทำให้มากแล้วก็อธิษฐานกลับคืนเป็นคนเดียวตามเดิม ส่วนคนมากจริงๆ ทำให้ปรากฏเพียงคนเดียวหรือน้อยคนนั้นจะต้องใช้วิธีกำบังเข้าช่วย คือปิดบังมิให้มองเห็นคนอื่นๆ มากๆ ให้เห็นแต่เพียงคนเดียวหรือน้อยคน วิธีนี้จะได้กล่าวในข้ออื่น ตัวอย่างอิทธิปาฏิหาริย์เอโกภาพนี้ก็ได้แก่พระจูฬปันถกเถระนั่นเอง จึงเป็นอันได้ความชัดว่า เอโกภาพหมายถึงอธิษฐานกลับคืนเป็นคนเดียวนั่นเอง.

๓. อาวีภาพ ได้แก่การอธิษฐานให้ที่กำบังเป็นที่เปิดเผย ดั่งที่พระบรมศาสดาทรงทำในคราวเสด็จลงจากดาวดึงส์ ทรงอธิษฐานให้โลกทั้งสิ้นสว่างไสวทั่วหมด ทำให้มนุษย์และเทวดาเห็นกันได้ ที่เรียกว่าปาฏิหาริย์เปิดโลก ดังเล่าไว้ในบทนำนั้นแล้ว.

ปาฏิหาริย์อาวีภาพนี้ ใช้อาโลกสิณเป็นเครื่องนำทำใจให้สงบเป็นฌาน แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่าจงสว่าง กำหนดไว้ในใจให้สว่างเพียงใดก็จะสว่างเพียงนั้นทันที ถ้ากำหนดให้สว่างหมดทั้งโลก โลกทั้งสิ้นก็จะสว่างไสว แม้จะอยู่ไกลกันตั้งพันโยชน์ก็จะแลเห็นกันได้เหมือนอยู่ใกล้ๆ กันฉะนั้น.

๔. ติโรภาพ หรือกำบัง-หายตัว ได้แก่การอธิษฐานที่โล่งแจ้งให้เป็นที่มีอะไรกำบัง เช่นให้มีกำแพงกั้นเป็นต้น ดั่งพระบรมศาสดาทรงทำปาฏิหาริย์จงกรมในน้ำคราวไปทรมานปุราณชฏิลและคราวทรงกำบังมิให้พระยศเถระกับบิดาเห็นกัน ซึ่งได้เล่าไว้ในบทนำนั้นแล้ว.



๑. ในอรรถกถาธรรมบท องค์ไหนขานก่อนให้จับชายจีวรขององค์นั้น.

ปาฏิหาริย์ติโรภาพนี้ ใช้มโนภาพนึกถึงเครื่องกั้นโดยธรรมชาติ เช่น ฝากำแพงเป็นต้น เป็นเครื่องนำ หรือใช้กสิณ เช่นนีลกสิณ หรืออากาสกสิณเป็นเครื่องนำก็ได้ เพื่อทำใจให้สงบเป็นฌาน แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงกำบัง ดังนี้ ก็จะสำเร็จดังอธิษฐานทันที.

๕. ติโรกุฑฑาสัชชมานภาพ หรือล่องหน ได้แก่การอธิษฐานที่ทึบซึ่งมีอะไรกั้นกางอยู่โดยธรรมชาติ เช่น ฝา กำแพง ภูเขา ให้กลายเป็นที่โปร่ง สามารถเดินผ่านไปได้ดั่งในที่ว่างๆ ฉะนั้นอุทาหรณ์ในข้อนี้ยังไม่เคยพบจะมีผู้ทำหรือไม่ไม่ทราบ แต่น่าจะทำได้เช่นเดียวกับอาวีภาพปาฏิหาริย์ เป็นแต่ปาฏิหาริย์นี้ใช้อากาสกสิณเป็นเครื่องนำทำใจให้สงบเป็นฌานแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงเป็นอากาศ ก็จะเป็นได้ดั่งอธิษฐานนั้นทันที พระอาจารย์ภูริทัตตเถระ (มั่น) เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อคราวท่านไปอยู่ถ้ำเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อไปอยู่แรกๆ รู้สึกอึดอัดคับแคบทั้งๆ ถ้ำนั้นก็กว้างพอสมควร ท่านจึงเข้าอากาสกสิณเบิกภูเขาทั้งลูกให้เป็นอากาศไปจึงอยู่ได้สบาย ไม่รู้สึกอึดอัดเหมือนแรกๆ แต่ท่านมิได้เล่าว่าสามารถเดินผ่านภูเขาไปได้หรือไม่? ผู้ชำนาญทางอากาสกสิณน่าจะทดลองทำดูบ้าง น่าจะสนุกดี.

๖. ปฐวีอุมมุชชภาพ หรือดำดิน ได้แก่การอธิษฐานแผ่นดินให้เป็นแผ่นน้ำ แล้วลงดำผุดดำว่ายได้สนุกๆ เหมือนทำในน้ำธรรมดาเช่นนั้น ตัวอย่างในข้อนี้ยังไม่เคยพบ ได้พบแต่คำกราบทูลของนางอุบลวรรณาเถรี ในคราวที่พระผู้มีพระภาคจะทรงทำยมกปาฏิหาริย์ว่านางสามารถทำได้ แล้วทูลอาสาจะทำปาฏิหาริย์แทนพระบรมศาสดา เพื่อให้เดียรถีย์และมหาชนเกิดอัศจรรย์ว่าแม้แต่สาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มีฤทธิ์น่าอัศจรรย์เพียงนี้ แล้วพระบรมศาสดาจะมีฤทธิ์น่าอัศจรรย์เพียงไหน.

ปาฏิหาริย์ข้อนี้บ่งชัดแล้วว่า ต้องใช้อาโปกสิณเป็นเครื่องนำ ทำใจให้สงบเป็นฌาน แล้วจึงอธิษฐานด้วยญาณว่า จงเป็นน้ำ ก็จะเป็นได้ดั่งอธิษฐานทันที.

๗. อุทกาภิชชมานภาพ หรือไต่น้ำ ได้แก่การอธิษฐานน้ำให้เป็นแผ่นดิน แล้วเดินไปบนน้ำได้เหมือนเดินบนแผ่นดินฉะนั้น ข้อนี้ก็ไม่ปรากฏมีอุทาหรณ์ คงเนื่องด้วยหาที่น้ำทำปาฏิหาริย์ข้อนี้ไม่ได้กระมัง! ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดากับพระสาวก เดินทางไปจะข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่ง ผู้คนกำลังสาละวนจัดหาเรือแพเพื่อส่งข้ามแก่พระศาสดาและพระสาวก เมื่อจัดเสร็จพระบรมศาสดากับพระสาวกลงเรือแล้วตรวจดูไม่เห็นพระอีก ๒ รูป จึงคอยอยู่นานก็ไม่เห็นมา พระบรมศาสดาจึงตรัสว่าไม่ต้องคอยผู้ที่ข้ามไปแล้ว ครั้นข้ามไปถึงฝั่งโน้นก็พบพระทั้งสองรูปนั้นนั่งรออยู่ก่อนแล้ว สมจริงดั่งพระพุทธดำรัส การข้ามน้ำของพระสองรูปนั้นปรากฏว่าเหาะข้ามไป มิได้ไต่ไปบนน้ำ จึงมิใช่อุทาหรณ์ของปาฏิหาริย์นี้.

ปาฏิหาริย์ข้อนี้ บ่งความแจ่มแจ้งอยู่ว่า ต้องใช้ปฐวีกสิณเป็นเครื่องนำทำใจให้สงบเป็นฌานแล้วจึงอธิษฐานด้วยญาณว่า จงเป็นแผ่นดิน ก็จะเป็นได้ดั่งอธิษฐาน.



๑. พระอาจารย์มั่น เคยทำฤทธิ์หายตัวให้ดู และบอกว่าใช้อากาสกสิณเหมือนกัน.


๘. อากาสจังกมนภาพ หรือปาฏิหาริย์เหินฟ้า ได้แก่การอธิษฐานอากาศให้เป็นแผ่นดินแล้วนั่งขัดสมาธิบนอากาศได้ สำเร็จอิริยาบถเดิน ยืน นั่ง นอน ได้เหมือนบนแผ่นดินฉะนั้นอุทาหรณ์ในข้อนี้มีมาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำมากครั้ง ครั้งทรงทำยมกปาฏิหาริย์ก็ทรงใช้ปาฏิหาริย์นี้ประกอบด้วย คือ ทรงเนรมิตพระองค์ขึ้นหลายหลาก ทำกิจต่างๆ กันบนนภากาศกลางหาว บ้างทรงแสดงธรรม บ้างทรงจงกรม บ้างทรงนั่งสมาธิ บ้างทรงบรรทมสีหไสยาสน์ เป็นต้น บนอากาศกลางหาวนั้นเอง ก่อนหน้าที่จะได้ทรงทำยมกปาฏิหาริย์นี้ มีเรื่องเล่าว่า พระมหาโมคคัล-ลานเถระกับพระปิณโฑลภารทวาชเถระ ไปบิณฑบาตด้วยกัน ได้ยินคำโฆษณาของเศรษฐีคนหนึ่งว่าเขายังไม่ปลงใจเชื่อว่ามีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ถ้ามีจริงขอให้เหาะเอาบาตรไม้แก่นจันทน์ที่แขวนอยู่บนอากาศนี้ไป เขาพร้อมด้วยบุตรภรรยาจะถวายตัวแก่ผู้นั้น ยอมเคารพนับถือสักการบูชาตลอดชีวิต ถ้าพ้น ๗ วันไปไม่มีใครเหาะมาเอาบาตรนี้ได้ เขาก็จะลงความเห็นว่าไม่มีพระอรหันต์ในโลกแน่แล้ว คำอวดอ้างของสมณคณาจารย์นั้นๆ ว่าเป็นอรหันต์เป็นมุสา เป็นคำลวงโลก ดั่งนี้ ท่านทั้งสองจึงปรึกษากันว่าเราจะทำอย่างไรดี วันนี้ก็เป็นวันที่ครบ ๗ วันแล้ว ถ้าจะปล่อยไป เขาก็จะปรามาสพระอรหันต์เล่นได้ เพราะเศรษฐีคนนี้มีอิทธิพล คนเชื่อถือถ้อยคำแกมากอยู่ เขาก็จะพากันลบหลู่ดูหมิ่นสมณะทั้งหลาย ไม่สนใจฟังคำแนะนำสั่งสอนต่อไป เว้นแต่ผู้มีสติปัญญารู้จักคิดและพิจารณา ท่านทั้งสองลงความเห็นว่าควรทำปาฏิหาริย์ เพื่อป้องกันเสี้ยนหนามได้ จึงวางภาระนี้ให้แก่พระปิณโฑลภารทวาชเถระเป็นผู้ทำ ท่านได้ใช้ปลายเท้าคีบแผ่นศิลาแผ่นใหญ่ พาเหาะลอยขึ้นไปในอากาศสูง ๗ ชั่วลำตาล เหาะลอยวนรอบพระนคร ๗ รอบ แล้วปล่อยแผ่นศิลาให้ไปตกลงยังที่เดิมของมัน ส่วนตัวท่านเหาะลอยไปเอาบาตรไม้แก่นจันทน์ยังเศรษฐีคนนั้นพร้อมด้วยบุตรภรรยาให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มหาชนได้ติดตามขอให้พระปิณ-โฑลภารทวาชเถระแสดงอิทธิปาฏิหาริย์มีประการต่างๆ อีกหลายครั้ง ความทราบถึงพระบรมศาสดา จึงตรัสประชุมสงฆ์สั่งห้ามแสดงอิทธิปาฏิหาริย์พร่ำเพรื่อ ให้ทุบบาตรแก่นจันทน์แจกกันโดยตรัสว่าเป็นบาตรไม่ควรบริโภค พอข่าวการทรงสั่งห้ามแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นี้กระจายไป พวกเดียรถีย์นิครนถ์ก็ได้ท้าทายเป็นการใหญ่ โดยเข้าใจว่า เมื่อทรงห้ามพระสาวกมิให้แสดงปาฏิหาริย์แล้ว พระบรมศาสดาก็คงไม่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เช่นเดียวกัน แต่เดียรถีย์นิครนถ์ต้องผิดหวังหมด เพราะพระบรมศรีสุคตทรงรับจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แข่งกับเดียรถีย์นิครนถ์ที่มาท้าทาย ดั่งเรื่องปรากฏในยมกปาฏิหาริย์ที่นำมาเล่าไว้ในบทนำนั้นแล้ว พวกเดียรถีย์นิครนถ์หลงกลตกหลุมพรางแทบจะแทรกแผ่นดินหนีก็มี.

อิทธิปาฏิหาริย์เหินฟ้านี้ นอกจากใช้ปฐวีกสิณเป็นเครื่องนำดังกล่าวแล้ว ท่านว่าใช้ลหุภาพคือความเบาเป็นเครื่องนำก็ได้ อธิบายว่า เข้าจตุตถฌานแล้วอธิษฐานให้กายเบาเหมือนสำลี แล้วลอยไปในอากาศได้ หรือลอยไปตามลมได้ เหมือนสำลีหรือปุยนุ่นฉะนั้น เพราะลหุสัญญาปรากฏชัดในจตุตถฌาน คือรู้สึกเบากายเบาจิต กายก็โปร่งบางเกือบจะกลายเป็นอากาศอยู่แล้ว ย่อมเหมาะที่จะใช้ทำปาฏิหาริย์ข้อนี้สะดวกดี.

๙. สันติเกภาพ ได้แก่การอธิษฐานให้สิ่งที่อยู่ในที่ไกลมาปรากฏในที่ใกล้ เช่น อธิษฐานให้ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ซึ่งอยู่ในที่ไกลมาปรากฏในที่ใกล้ๆ มือ แล้วลูบคลำจับต้องได้ หรืออธิษฐานให้ที่ไกลเป็นที่ใกล้ที่เรียกว่า ย่นแผ่นดิน เช่นสถานที่ห่างไกลหลายร้อยโยชน์ อธิษฐานให้มาอยู่ใกล้ๆ เดินไปประเดี๋ยวเดียวก็ถึง เช่นนี้เป็นต้น.

อิทธิปาฏิหาริย์นี้ มีอุทาหรณ์หลายหลาก เช่น คราวที่พระบรมศาสดาเสด็จไปทรมานปุราณชฎิล ได้เสด็จไปบิณฑบาตถึงอุตตรกุรุทวีป ซึ่งเป็นที่ไกล กลับมาถึงพร้อมกับผู้ไปบิณฑบาตในที่ใกล้ๆ ดังเล่าไว้ในบทนำนั้นแล้ว เมื่อคราวทรงทำยมกปาฏิหาริย์เสร็จ เสด็จไปจำพรรษา ณดาวดึงส์ ปรากฏว่าก้าวพระบาทเพียง ๓ ก้าวก็ถึงดาวดึงสเทวโลก อนึ่ง ปรากฏในตำนานพระพุทธเจ้าเสด็จเลียบโลกก็ว่าได้เสด็จไปในที่ต่างๆ ซึ่งเป็นระยะทางห่างไกลมากในชั่วเวลาไม่กี่วัน สุดวิสัยที่คนธรรมดาจะเดินทางด้วยเท้าได้ไกลถึงเพียงนั้น สถานบ้านเมืองในแคว้นสุวรรณภูมิมากแห่งได้มีตำนานรับสมอ้างข้อนี้ เช่น พระพุทธบาทสระบุรี ก็ว่าเสด็จมาประทับเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ด้วยพระองค์เอง รอยพระพุทธบาทตามริมฝั่งแม่น้ำโขงอีกหลายแห่ง เช่นที่ เวินกุ่มโพนสัน เป็นต้น ก็มีตำนานรับสมอ้างเช่นเดียวกัน ทางภาคเหนือก็มีรอยพระบาทหลายแห่งที่มีตำนานเช่นนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ไปเห็นสถานที่เหล่านั้นด้วยตนเองทั้งหมด ที่สระบุรี เวินกุ่ม โพนสัน ข้าพเจ้าได้ไปนมัสการ มีผู้ยืนยันรับรองว่า เสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ด้วยพระองค์จริง.

อีกเรื่องหนึ่ง พระเถระรูปหนึ่งอยู่เกาะลังกา เวลาพระอาคันตุกะมาพักกะท่านมาก ท่านพาไปบิณฑบาตถึงกรุงปาฏลีบุตรในอินเดีย โดยทำอิทธิปาฏิหาริย์ย่นแผ่นดินทะเลกั้นระหว่างเกาะลังกากับอินเดีย ปรากฏแก่พระภิกษุผู้ไปด้วย เป็นลำคลองเล็กๆ น้ำสีเขียวๆ เท่านั้น ท่านเนรมิตเป็นไม้สะพานไต่ข้ามไป ครั้นไปถึงอินเดียแล้วพระที่ไปด้วยก็แปลกใจ จึงถามท่านว่าเป็นเมืองอะไรท่านบอกว่าเมืองปาฏลีบุตร พระที่ไปด้วยติงว่าก็ปาฏลีบุตรอยู่ในอินเดียมิใช่หรือ นี่เราอยู่เกาะลังกา ไฉนจึงจะมาถึงเมืองปาฏลีบุตรได้ชั่วเวลาไม่นาน พระเถระบอกความจริงให้ทราบดังเล่าไว้เบื้องต้น พระเหล่านั้นเกิดอัศจรรย์ขนพองสยองเกล้า และได้ความเชื่อมั่นในพระธรรมวินัย เป็นพลวปัจจัยให้เร่งความเพียรบำเพ็ญสมณธรรมยิ่งขึ้น จนได้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตนๆ เรื่องย่นแผ่นดินได้นี้ แม้ในปัจจุบันก็ปรากฏว่ามีผู้ทำได้ แต่ไม่อาจนำมาเล่าไว้ในที่นี้ได้.

อิทธิปาฏิหาริย์สันติเกภาพนี้ ใช้มโนภาพเป็นเครื่องนำ คือนึกเห็นสถานที่หรือสิ่งที่อยู่ไกลนั้นให้แจ่มชัด แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงอยู่ใกล้ ก็จะเป็นได้ดั่งอธิษฐานทันที.
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: ทิพยอำนาจ : บทที่ ๕ วิธีปลูกสร้างทิพยอำนาจ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 18, 2016, 01:28:15 am »
๑๐. ทูเรภาพ ได้แก่การอธิษฐานให้ที่ใกล้เป็นที่ไกล หรือให้สิ่งที่อยู่ใกล้ไปปรากฏอยู่ไกลดั่งในคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทรมานพระองคุลีมาลเถระเป็นตัวอย่าง ดังได้เล่าไว้ในบทนำนั้นแล้ว พระองค์ทรงพระดำเนินโดยปกติ แต่พระองคุลีมาลเถระเมื่อยังเป็นโจร วิ่งตามจนสุดฝีเท้าก็ไม่ทัน ปรากฏเห็นพระองค์เสด็จอยู่ในที่ไกลเสมอ จนถึงร้องตะโกนให้ทรงหยุด อีกครั้งหนึ่งกำลังแสดงธรรมแก่นางวิสาขามหาอุบาสิกา และหญิงสหาย ๔ – ๕ คน หญิงเหล่านั้นซ่อนสุราไปดื่มในเวลาฟังเทศน์ เมื่อเมาเข้าแล้วทำท่าจะฟ้อนรำตามวิสัยของคนเมา พระบรมศาสดาทรงสังเกตเห็นจึงทรงทรมานด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ทูเรภาพ ทำให้หญิงเหล่านั้นไปปรากฏอยู่ในที่ไกลสุดสายตา จนเกิดความกลัวตัวสั่นงันงก และสร่างเมา จึงทรงทำให้มาปรากฏในที่ใกล้ตามเดิม หญิงเหล่านั้นทูลขอขมาคารวะ และรับพระไตรสรณคมน์ ตั้งอยู่ในศีล ๕ – ๘ ตลอดชีวิต.

ปาฏิหาริย์นี้ ก็ใช้มโนภาพเป็นเครื่องนำเช่นเดียวกับสันติเกภาพ คือนึกเห็นสิ่งที่อยู่ใกล้หรือสถานที่ใกล้ให้แจ่มชัดในใจ และนึกเห็นเป็นอยู่ไกล แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงอยู่ไกล ก็จะเป็นได้ดั่งอธิษฐานทันที.

๑๑. โถกภาพ ได้แก่การอธิษฐานให้ของมากปรากฏเป็นของน้อยเพียงนิดหน่อย ข้อนี้ไม่เคยพบตัวอย่าง คงเป็นเพราะไม่มีเหตุจำเป็นให้ทำก็ได้ ปาฏิหาริย์นี้ ใช้มโนภาพนึกเห็นสิ่งของมากมายเป็นเพียงนิดหน่อยให้แจ่มชัดในใจ แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงเป็นนิดหน่อย ก็จะเป็นได้ดั่งอธิษฐาน หรือจะใช้ปาฏิหาริย์กำบังให้เห็นแต่เล็กน้อยก็ได้เหมือนกัน.

๑๒. พหุกภาพ ได้แก่การอธิษฐานให้ของน้อยปรากฏเป็นของมาก มีตัวอย่างหลายหลากเช่น ในครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาตรัสสั่งพระมหาโมคคัลลานเถระให้ไปทรมานเศรษฐีตระหนี่ ในกรุงสาวัตถีคนหนึ่งไม่ปรากฏนาม เศรษฐีกับภรรยากำลังทอดขนมเบื้องอยู่ชั้นบนของปราสาท โดยเกรงจะมีผู้ขอกิน พระมหาโมคคัลลานเถระทำปาฏิหาริย์เหาะไปปรากฏตัวอยู่ในอากาศตรงช่องหน้าต่าง เศรษฐีเห็นแล้วก็ไม่พอใจ จึงกล่าวคำประชดพระเถระ พระเถระก็เฉย ในที่สุดเศรษฐีรำคาญใจหนักขึ้น จึงตกลงใจแบ่งให้ครึ่งหนึ่ง ๒ คนสามีภรรยาช่วยกันดึงจนเหงื่อไหลไคลย้อย ก็ไม่สามารถแบ่งขนมนั้นได้ ทั้งนี้เป็นด้วยอำนาจปาฏิหาริย์ของพระเถระ เศรษฐีจึงตกลงใจถวายหมดครั้นแล้วพระเถระไม่รับ บอกว่าพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก ๕๐๐ รูป กำลังนั่งรอฉันอยู่ที่วัดพระเชตวัน ขอให้เศรษฐีกับภรรยานำไปอังคาสด้วยตนเอง เศรษฐีอิดเอื้อนอยู่หน่อยหนึ่งแต่แล้วก็ตกลงยอมไป พระเถระพาไปทางอากาศ ไปอังคาสพระบรมศาสดาและพระสงฆ์สาวก ๕๐๐ รูป ด้วยขนมเบื้องเพียงแผ่นเดียว จนอิ่มหนำสำราญหมดทุกรูป ครั้นแล้วก็ยังปรากฏอยู่เท่าเดิม เศรษฐีจึงกราบทูลว่า จะให้ทำอย่างไรอีก ตรัสให้นำไปเททิ้งที่เงื้อมใกล้ซุ้มประตูพระเชตวันสถานที่นั้นเลยต้องเรียกว่า เงื้อมขนมเบื้องสืบมา เศรษฐีกับภรรยาเห็นความอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา บังเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้บริจาคทรัพย์บำรุงพระพุทธศาสนามากมาย เรื่องสำหรับปาฏิหาริย์ข้อนี้มีมาก ถ้าจะนำมาเล่าก็จะยืดยาว.

ปาฏิหาริย์นี้ ใช้มโนภาพเป็นเครื่องนำทำใจให้สงบเป็นฌาน แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงมาก ดังนี้ก็จะเป็นได้ดั่งอธิษฐาน.



๑. ทรงอธิษฐานบาตรที่ท้าวจตุโลกบาลนำมาถวาย ๔ ใบให้เป็นใบเดียว.


๑๓. กายวสิกภาพ ได้แก่การโน้มจิตและการอธิษฐานจิตให้เป็นเหมือนกาย แล้วหยั่งลงสู่สุขสัญญา และลหุสัญญา ทำให้กายเบา แล้วไปปรากฏกายในพรหมโลกได้ ถ้าต้องการสำเร็จอิริยาบถ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน ก็ทำได้ ถ้าต้องการจะเห็นพรหมด้วยทิพพจักษุก็ได้ ฟังเสียงพรหมด้วยทิพพโสตก็ได้ รู้ใจพรหมด้วยเจโตปริยญาณก็ได้ ต้องการสนทนาปราศรัยกับพรหมก็ได้ต้องการแสดงธรรมถามปัญหาแก้ปัญหา หรือต้องการทำอย่างใดๆ ก็ทำได้ทุกประการ ณ พรหมโลกนั้น เรื่องนี้พระบรมศาสดาทรงทำ มีเรื่องเล่าไว้ในพรหมนิมันตนิกสูตร ทรงเล่าว่า

เมื่อคราวเสด็จประทับที่ภควัน แคว้นอุกกัฏฐะ ทรงทราบความคิดผิดๆ ของท้าวพกาพรหม จึงเสด็จไปพรหมโลกชั่วพริบตาเดียวก็ถึง แล้วได้สนทนากับพรหมถึงเรื่องที่คิดเห็นนั้นว่าเป็นความเห็นที่ผิดทันทีก็มีมารชั่วช้ามาขู่พระองค์ด้วยประการต่างๆ เป็นต้นว่า ผู้ไม่เคารพนับถือพระพรหม ตายแล้วจะไปสู่กำเนิดกายที่เลว พระบรมศาสดาตรัสตอบด้วยพระวาจาที่ส่อว่าทรงรู้เท่าทัน และตรัสว่าพระองค์เป็นผู้ยิ่งกว่าพรหม แล้วเกิดท้ากันขึ้นว่า พรหมจะหายไปให้พระองค์ตามหา พรหมก็หายไปไม่ได้ พระองค์จึงตรัสท้าว่าจะหายไปให้พรหมตามหาบ้าง พรหมตามหาไม่พบ ทั้งๆ ที่ทรงแสดงธรรมให้ได้ยินก้องอยู่ พรหม พรหมปุโรหิต และพรหมปาริสัช เกิดอัศจรรย์ยอมยกให้ว่ายิ่งกว่าพรหมจริงๆ ทีนั้นมีมารชั่วร้ายแทรกเข้ามาขู่สำทับอีก ห้ามว่า เมื่อรู้เองดีแล้วก็อย่าสอนผู้อี่น เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่ตรัสรู้มาก่อนแล้ว ผู้สั่งสอนผู้อื่นตายแล้วไปดำรงอยู่ในกายเลว ผู้ไม่สั่งสอนผู้อื่นตายแล้วไปดำรงอยู่ในกายประณีต เราเตือนท่านเพราะหวังดี อย่าสอนผู้อื่น ดังนี้พระบรมศาสดาทรงทราบว่าเป็นคำของมารชั่วร้ายแล้วตรัสห้ามคำนั้น ทรงยืนยันว่าทรงทราบธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายดีแล้ว จำต้องสอนผู้อื่น จึงจะสมกับความเป็นพระพุทธเจ้า

ทรงนำเรื่องนี้มาเล่าที่วัดพระเชตะวัน กรุงสาวัตถี และตรัสสั่งให้เรียกว่าพรหมนิมันตนิกสูตร เพราะเป็นความเชื้อเชิญของพรหม มิใช่ของมารดังนี้ พระโบราณาจารย์นำเรื่องนี้มาประพันธ์เป็นคำฉันท์ถวายพระพรชัยมงคล ซึ่งพระสงฆ์ใช้สวดพรพระอยู่ในทุกวันนี้ ท่านย่อใจความว่า คราวทรมานพกาพรหมนั้นทรงใช้พระคฑาวิเศษ คือพระปรีชาญาณ ทรงทรมานพกาพรหมพร้อมทั้งบริษัทให้ละความเห็นผิดได้ นับเป็นชัยชนะที่เลื่องลือโด่งดังครั้งหนึ่ง.

การไปพรหมโลกอย่างปรากฏกาย เป็นปาฏิหาริย์ที่ทำได้ยาก ต้องมีเจโตวสี คือมีอำนาจทางใจแรงกล้า สามารถน้อมนึกให้กายกับจิตมีสภาวะเท่ากัน ทั้งในทางความเบาและความเร็วพร้อมกับการอธิษฐานให้เป็นดังนั้นด้วย ครั้นแล้วต้องเข้าฌานชั้นที่มีทั้งสุขสัญญาและลหุสัญญาคือ ตติยฌาน จึงจะไปพรหมโลกได้ดั่งประสงค์ ถ้าจะเข้าจตุตถฌานซึ่งมีแต่ลหุสัญญาก็จะเลยไปจะไม่พบหมู่พรหมสมหมาย พึงสังเกตว่าภูมิของฌานซึ่งกำหนดไว้เป็นภูมิของฤทธิ์นั้น เพื่อให้เลือกเข้าฌานที่มีภูมิเสมอกันกับโลกที่มุ่งจะไป และฤทธิ์ที่มุ่งจะทำ ไม่ให้เข้าฌานเลยภูมิไป เช่น จะไปเทวโลกซึ่งบริบูรณ์ไปด้วยความสุขแช่มชื่น ต้องเข้าปีติสุขภูมิ คือ ทุติยฌาน จึงจะเห็นเทวโลก.

การทำให้กายกับจิตมีสภาวะเท่ากันนี้ อาจจะตรงกับที่ทางโยคี (คือ ท่านปตัญชลี) กำหนดจิตโดยวิสัยของกาย และอธิษฐานให้กายเบา สามารถเหาะลอยไปในอากาศช้าๆ คล้ายไปด้วยกายธรรมดาดั่งนี้.

๑๔. จิตตวสิกภาพ ได้แก่การน้อมกาย และอธิษฐานกายให้เป็นเหมือนจิต แล้วหยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา แล้วไปพรหมโลกโดยไม่ปรากฏกาย ครั้นแล้วจึงเนรมิตรูปที่สำเร็จด้วยใจมีอินทรีย์บริบูรณ์ให้ไปปรากฏเบื้องหน้าพรหม แล้วทำกิจต่างๆ มีสนทนาเป็นต้น กับพรหม ดังในข้อ๑๓ ก็ทำได้ทุกประการ.

ปาฏิหาริย์นี้ตรงกันข้ามกับข้อ ๑๓ คือ ข้อนี้ให้น้อมกายและอธิษฐานให้เป็นเหมือนจิตธรรมชาติจิตนั้นเบาและรวดเร็วว่องไว เมื่อกายมีวิสัยเท่าจิตก็ย่อมเบา รวดเร็วและว่องไว ไม่เป็นวิสัยที่ใครๆ ผู้ไม่มีตาที่วิเศษจะพึงเห็นได้ ปาฏิหาริย์นี้อาจจะตรงกับที่ทางโยคี (คือท่านปตัญชลี) บัญญัติไว้ว่า ลหุภาพนั่นเอง เขาอธิบายว่า ทำให้กายเบาและรวดเร็วเท่าจิต สามารถไปมาได้ว่องไวและผ่านไปได้ในที่ทุกแห่งไม่ติดขัด เหมือนการไปมาของจิตฉะนั้น.



๑. มีผู้สงสัยว่าเหตุไรจึงเรียกว่าถวายพรพระ พรมี ๒ ประเภทคือ พรพระกับพรเทวดา บทพาหุํ เป็นต้น เป็นพรพระ.


วิธีปฏิบัติในข้อนี้ พึงเทียบเคียงกับที่กล่าวไว้ในข้อ ๑๓ นั้นทุกประการ.

๑๕. ธูมายิกภาพ หรือบังควัน ได้แก่การอธิษฐานให้บังเกิดเป็นควันกลุ้มคลุมตัวไว้ เพื่อปิดบังมิให้อีกฝ่ายมองเห็นตัว โดยมากใช้ทรมานพวกนาค ซึ่งเป็นพิษร้าย ปาฏิหาริย์นี้ใช้นีลกสิณก็ได้ ใช้มโนภาพนึกเอาควันไฟซึ่งเป็นไปตามธรรมชาตินั้นก็ได้ มาเป็นอารมณ์ ทำใจให้สงบเป็นฌานแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงเป็นควัน ก็จะเป็นได้ดั่งประสงค์.

๑๖. ปัชชลิกภาพ หรือเปลวเพลิง ได้แก่การอธิษฐานให้เกิดเปลวเพลิงลุกรุ่งโรจน์โชตนาการท่วมตัว เป็นปาฏิหาริย์ที่ใช้ทรมานนาคร้ายโดยมาก เช่นเดียวกับข้อ ๑๕ ธรรมดานาคกลัวไฟใช้ปาฏิหาริย์นี้ทรมานย่อมได้ผล ทำให้เขากลัวและยอมอ่อนน้อมได้ง่าย.

ปาฏิหาริย์ข้อ ๑๕ และข้อนี้มักใช้ติดๆ กันเสมอ ในการทรมานนาคร้ายใช้ข้อ ๑๕ ก่อนแล้วจึงใช้ข้อนี้ในภายหลัง พระบรมศาสดาได้ทรงทำคราวไปทรมานปุราณชฎิลดังกล่าวไว้ในบทนำแล้วครั้งหนึ่ง ทรงสั่งพระมหาโมคคัลลานเถระไปทรมานนันโทปนันทนาคราช โดยทรงแนะอุปเทศให้พระเถระไปทรมานด้วยปาฏิหาริย์หลายประการ มีปาฏิหาริย์ ๒ ประการนี้ด้วย จึงทรมานสำเร็จอีกเรื่องหนึ่งทรงสั่งพระมหาโกฏฐิตเถระ ไปทรมานพญานาคที่ท่าปยาคะ ก็ใช้ปาฏิหาริย์ ๒ประการนี้ สามารถทรมานพญานาคสำเร็จ.

ปาฏิหาริย์นี้ต้องใช้เตโชกสิณ เป็นเครื่องนำทำใจให้สงบ แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงเป็นเปลวเพลิง ก็จะเป็นได้ดั่งอธิษฐาน ปาฏิหาริย์นี้แม้ในปัจจุบันก็มีผู้ทำได้ แต่ไม่อาจนำมาเล่าได้.

ส่วนวิกุพพนาฤทธิ์ ปรากฏแจ่มแจ้งในนิเทศ ดังได้ยกมากล่าวในตอนแจกประเภทแห่งฤทธิ์นั้นแล้ว ฤทธิ์ประเภทนี้ไม่มีขอบเขตจำกัด อาจดัดแปลงพลิกแพลงทำได้ต่างๆ ยิ่งกว่าที่ปรากฏในนิเทศนั้นก็ได้ เป็นฤทธิ์ที่ต้องใช้มโนภาพกับกำลังใจเป็นสำคัญ.

เมื่อพิจารณาถึงทางที่จะพึงเป็นได้แห่งฤทธิ์ ๔ ประเภทนี้แล้ว ได้เหตุสำคัญ ๔ ประการ คือ

๑. กำลังฌาน อันเป็นภูมิแห่งฤทธิ์.

๒. กำลังกสิณหรือมโนภาพ ซึ่งมีอิทธิบาท ๔ เป็นกำลังหนุน.

๓. กำลังใจ ซึ่งเป็นต้นตอของฤทธิ์ ๑๖ ประการ.

๔. กำลังอธิษฐาน ซึ่งมีบทของฤทธิ์ ๘ ประการเป็นกำลังอุดหนุน.

ฉะนั้น จะได้ขยายความแห่งกำลังอันสำคัญ ๔ ประการนี้ ให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง จะได้ถือเป็นหลักในการสร้างฤทธิ์ ๒ ประเภทนี้สืบไป.

๑. กำลังฌาน อันเป็นภูมิแห่งฤทธิ์นั้น ท่านจำแนกไว้ ๔ ภูมิ คือ วิเวกชาภูมิ ภูมิแห่งความเงียบจากกามคุณ และอกุศลธรรม ซึ่งได้แก่ปฐมฌาน ๑ , ปีติสุขภูมิ ภูมิแห่งปีติสุข เกิดแต่สมาธิ ซึ่งได้แก่ทุติยฌาน ๑ , อุเบกขาสุขภูมิ ภูมิแห่งอุเบกขาสุข ซึ่งได้แก่ตติยฌาน ๑ , อทุกขมสุขภูมิ ภูมิแห่งจิตไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งได้แก่จตุตถฌาน ๑ รวมความว่าภูมิแห่งฌานทั้ง ๔ ประการเป็นที่ตั้งแห่งฤทธิ์ได้ทั้งหมด แล้วแต่กรณี ฤทธิ์บางประการอาศัยภูมิแห่งจิตในฌานชั้นต่ำ แต่บางประการต้องอาศัยภูมิแห่งจิตในฌานชั้นสูง จึงจะมีกำลังเพียงพอที่จะทำได้ ฤทธิ์ชนิดใดควรใช้ฌานเพียงภูมิไหนต้องอาศัยการฝึกฝนทดลองแล้วสังเกตเอาเอง เรื่องของฌานได้กล่าวมามากแล้ว คงเป็นที่เข้าใจและคงเชื่ออำนาจของฌานบ้างแล้ว แม้แต่ความสำเร็จในฌานนั้นเอง ท่านก็จัดเป็นฤทธิ์ประเภทหนึ่งอยู่แล้ว จึงไม่ต้องสงสัยว่าฌานจะไม่เป็นกำลังสำคัญในการทำฤทธิ์ประการหนึ่ง.

๒. กำลังกสิณ หรือมโนภาพ ซึ่งมีอิทธิบาท ๔ เป็นกำลังหนุนนั้น คือ กสิณ ๑๐ ประการดังกล่าวไว้ในบทที่ ๓ นั้น ต้องได้รับการฝึกหัดให้ชำนิชำนาญ สามารถใช้เป็นกีฬาได้ดังกล่าวในบทที่ ๔ ส่วนมโนภาพนั้นหมายถึงภาพนึกหรือภาพทางใจ ซึ่งจำลองมาจากภาพของจริงอีกทีหนึ่งคล้ายดวงกสิณนั่นเอง เป็นแต่มโนภาพมิได้จำกัดวัตถุและสีสันวรรณะอย่างไร ภาพนึกหรือภาพทางใจนี้จะต้องได้รับการฝึกหัดอบรมไว้ให้ช่ำชอง เป็นภาพแจ่มแจ้งเจนใจ สามารถนึกวาดขึ้นด้วยทันทีทันใด เช่นเดียวกับดวงกสิณ การฝึกหัดเพ่งกสิณและทำมโนภาพนี้ ต้องอาศัยกำลังอุดหนุนของอิทธิบาทภาวนาเป็นอย่างมากที่สุด อิทธิบาทภาวนานี้ได้อธิบายไว้แล้วในบทที่ ๔ เมื่อได้ฝึกเพ่งกสิณ และฝึกมโนภาพไว้ช่ำชองแล้ว เป็นที่มั่นใจได้ทีเดียวว่าจะทำฤทธิ์ได้ดั่งประสงค์.

๓. กำลังใจ ซึ่งเป็นต้นตอของฤทธิ์ ท่านจำแนกไว้ ๑๖ ประการ คือ

(๑.) จิตมั่นคง ไม่แฟบฝ่อเพราะเกียจคร้าน

(๒.) จิตมั่นคง ไม่ฟูฟุ้งเพราะความฟุ้งซ่าน

(๓.) จิตมั่นคง ไม่ร่านเพราะความกำหนัด

(๔.) จิตมั่นคง ไม่พล่านเพราะพยาบาท

(๕.) จิตมั่นคง ไม่กรุ่นเพราะความเห็นผิด

(๖.) จิตมั่นคง ไม่ติดพันในกามคุณารมณ์

(๗.) จิตมั่นคง หลุดพ้นจากกามราคะ

(๘.) จิตมั่นคง พรากห่างจากกิเลสแล้ว

(๙.) จิตมั่นคง ไม่ถูกกิเลสคลุมครอบทับไว้

(๑๐.) จิตมั่นคง เป็นหนึ่งไม่ส่ายไปเพราะกิเลสต่างๆ

(๑๑.) จิตมั่นคง เพราะศรัทธาอบรม

(๑๒.) จิตมั่นคง เพราะความเพียรประคบประหงม

(๑๓.) จิตมั่นคง เพราะสติฟูมฟักไม่พลั้งเผลอ

(๑๔.) จิตมั่นคง เพราะสมาธิครอบครองไว้

(๑๕.) จิตมั่นคง เพราะปัญญาปกครองรักษา

(๑๖.) จิตมั่นคง เพราะถึงความสว่างไสวหายมืดมัว

จิตที่มั่นคงแข็งแรงดังกล่าวมานี้ นับว่าเป็นกำลังสำคัญที่สุดในการทำฤทธิ์ ท่านจึงจัดเป็นต้นตอของฤทธิ์ ผู้ประสงค์สร้างฤทธิ์ต้องพยายามอบรมจิตใจด้วยคุณธรรมต่างๆ ดังกล่าวไว้ในบทที่ ๔ นั้นทุกประการ.

๔. กำลังอธิษฐาน ซึ่งมีบทของฤทธิ์ ๘ ประการเป็นกำลังหนุน คือว่า การบำเพ็ญอธิษฐานบารมีที่จะสำเร็จได้ ต้องอาศัยกำลังหนุนของอิทธิบาท ๔ และสมาธิอันได้เพราะอาศัยอิทธิบาท ๔ ประการนั้น ประกอบกัน บุคคลผู้จะสามารถอธิษฐานให้เกิดฤทธิ์เดชต่างๆ ได้นั้น จะต้องบำเพ็ญอธิษฐานบารมีมาอย่างมากมาย เป็นคนมีน้ำใจเด็ดเดี่ยว ลงได้ตั้งใจทำอะไรหรือเปล่งวาจาปฏิญาณว่าจะทำอะไรอย่างไรไปแล้วถ้าไม่เป็นผลสำเร็จจะไม่ยอมหยุดยั้งเลย แม้จำต้องสละชีวิตก็ยอม ดั่งสมเด็จพระบรมศาสดาของเราเป็นตัวอย่าง ในสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อพระโพธิญาณ เคยตั้งพระหฤทัยไว้ว่า ใครประสงค์ดวงพระเนตรก็จะควักให้ ใครประสงค์ดวงหฤทัยก็จะแหวะให้ ภายหลังมีผู้มาทูลขอดวงพระเนตรมิได้ทรงอิดเอื้อนเลย ได้ตรัสเรียกนายแพทย์ให้มาควักพระเนตรออกทำทานทันที แม้จะได้ทรงรับทุกขเวทนาสาหัสจากการนั้น ก็มิได้ปริปากบ่นแม้สักคำเดียว ครั้นมาในปัจฉิมชาติที่จะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระศาสดาเอกในโลก ก็ได้ทรงบำเพ็ญพระอธิษฐานบารมีมั่นคง ทรงบากบั่นมั่นคงก้าวหน้าไม่ถอยหลังตลอดมาจนถึงวาระจะได้ตรัสรู้ ก็ทรงอธิษฐานจาตุรงคมหาปธาน คือความเพียรใหญ่ยิ่งประกอบด้วยองค์ ๔ คือ ทรงตั้งพระหฤทัยเด็ดเดี่ยวว่า เนื้อเลือดจะเหือดแห้ง ยังเหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามทีถ้ายังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เราจะไม่ยอมหยุดยั้งความเพียรเป็นอันขาด ดังนี้ อาศัยอำนาจน้ำพระหฤทัยเด็ดเดี่ยวมั่นคงเป็นกำลัง ก็ได้ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณสมประสงค์.

อธิษฐานบารมีที่จะดีเด่นได้ ต้องประกอบด้วยอธิษฐานธรรมซึ่งเป็นกำลังหนุน ๔ ประการคือ

๑. สัจจะ ความสัตย์ มีมั่นหมายไม่กลับกลอก

๒. ทมะ มีความสามารถบังคับจิตใจได้ดี

๓. จาคะ มีน้ำใจเสียสละอย่างแรงกล้า เมื่อรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่กว่าที่มีอยู่แล้วจะไม่รีรอเพื่อสิ่งนั้นเลย ยอมทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างกระทั่งชีวิตเข้าแลก และ

๔. ปัญญา มีความฉลาดเฉลียว รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์-ไม่เป็นประโยชน์, ควร-ไม่ควร,เป็นได้-และเป็นไปไม่ได้.

แล้วดำรงในสัตย์อันเป็นประโยชน์ และเป็นธรรมบังคับจิตใจให้เป็นไปในอำนาจ ทุ่มเทกำลังพลังลงเพื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายนั้น.

อธิษฐานบารมีที่ได้อบรมฝึกฝน โดยทำนองดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นสิ่งมีพลานุภาพเกินที่จะคาดคิดถึงได้ว่ามีประมาณเพียงใด ผู้มีอธิษฐานบารมีได้อบรมแล้วอย่างนี้ เมื่อตั้งใจหรือมุ่งหมายที่จะให้เกิดอำนาจมหัศจรรย์อย่างไร ก็ย่อมจะสำเร็จได้ทุกประการ เมื่อใจศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้น แม้การกระทำและคำพูดแต่ละคำที่เปล่งออกมา ก็ย่อมศักดิ์สิทธิ์เป็นฤทธิ์เดชเช่นเดียวกัน ดังสมเด็จพระร่วงเจ้า กรุงสุโขทัย มีพระวาจาศักดิ์สิทธิ์สามารถสาปขอมดำดินให้กลายเป็นหินไปได้ฉะนั้น.

เมื่อได้ทราบหนทางที่จะให้บังเกิดฤทธิ์อำนาจมหัศจรรย์ดังนี้แล้ว ควรทราบวิธีทำฤทธิ์นั้นต่อไป เพื่อเมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องทำฤทธิ์ ก็จะได้ทำได้ทีเดียว.

อธิษฐานฤทธิ์ทั้ง ๑๖ ประการนั้น เมื่อจะทำฤทธิ์ชนิดใด พึงสำเหนียกดูว่า ควรใช้กสิณหรือมโนภาพชนิดใดแล้ว พึงอาศัยกสิณหรือมโนภาพชนิดนั้นเป็นพาหนะนำใจให้สงบเป็นสมาธิเข้าถึงภูมิที่สามารถจะอธิษฐานฤทธิ์ชนิดนั้น แล้วพึงออกจากฌานในทันใด พึงอธิษฐานคือตั้งใจแน่วแน่ว่า จงเป็น (อย่างนั้น) ครั้นอธิษฐานแล้วพึงเข้าสู่ความสงบอีก ก็จะสำเร็จฤทธิ์ตามที่อธิษฐานทันที.

ส่วนวิกุพพนาฤทธิ์ พึงอาศัยมโนภาพเป็นพาหนะนำไปสู่ความสงบถึงขั้นของฌาน อันเป็นภูมิของฤทธิ์นั้นๆ แล้วน้อมจิตไปโดยประการที่ต้องการให้เป็นนั้น ก็จะสำเร็จฤทธิ์นั้นสมประสงค์เช่น ต้องการแปลงกายเป็นช้าง พึงนึกวาดภาพช้างขึ้นในใจให้แจ่มชัด จนจิตเป็นฌานขั้นใดขั้นหนึ่งแล้วจึงนึกน้อมให้ภาพช้างนั้นเด่นชัดยิ่งขึ้น แล้วแสดงกิริยาอาการตามใจประสงค์ให้เหมือนช้างจริงๆ ต่อไป ก็ชื่อว่าสำเร็จฤทธิ์ข้อนี้ได้ ส่วนข้ออื่นๆ ก็พึงทราบโดยนัยเดียวกัน.

การทำฤทธิ์ทั้งสองประเภทนี้ เมื่อทำเสร็จแล้วพึงอธิษฐานเลิกทุกครั้ง อย่าปล่อยทิ้งไว้จะเป็นสัญญาหลอกตนเองอยู่ร่ำไป ท่านผู้สนใจในทิพยอำนาจข้อนี้ก็ดี ข้ออื่นๆ ที่จะกล่าวข้างหน้าก็ดี หากยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง ข้าพเจ้ายินดีช่วยเหลือ โดยเฉพาะเป็นรายๆ ไป เชิญติดต่อไต่ถามได้ทุกเมื่อ.



จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-07.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...