ผู้เขียน หัวข้อ: ทิพยอำนาจ : บทที่ ๑๑ จุตูปปาตญาณ รู้สัตว์เกิดตาย ได้ดีตกยาก ด้วยอำนาจกรรม  (อ่าน 1206 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ทิพยอำนาจ

พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)

วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เรียบเรียง



บทที่ ๑๑  

วิธีสร้างทิพยอำนาจ จุตูปปาตญาณ

รู้สัตว์เกิดตาย ได้ดีตกยาก ด้วยอำนาจกรรม



ทิพยอำนาจข้อนี้ หมายถึงความสามารถในการเห็นสรรพสัตว์ ซึ่งกำลังเกิดตายได้ดีตกยากและรู้ด้วยว่าเป็นเพราะกรรมที่เขาทำไว้นั่นเอง ความสามารถดังนี้ประกอบด้วยญาณ ๒ ประการคือ ทิพพจักขุญาณดังกล่าวแล้วในบทก่อน และยถากัมมูปคตญาณ รู้ว่าสรรพสัตว์เป็นไปตามกรรมที่เขาทำไว้เอง มิใช่ด้วยอำนาจสิ่งอื่น ซึ่งจะกล่าวในข้อนี้ การที่ยกบทนี้ขึ้นเป็นทิพยอำนาจประการหนึ่งก็เพราะเป็นวิชชาสำคัญในพระพุทธศาสนา ความรู้เรื่องอำนาจกรรมเป็นความรู้อันสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา บรรดาพระธรรมเทศนาที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนไม่พ้นไปจากจากหลักกรรมทรงสั่งสอนให้ละกรรมเลว ให้ประกอบกรรมดี และให้ชำระจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งทั้ง ๓ นี้เป็นหลักการสั่งสอนที่ทรงมอบไว้แก่เหล่าพุทธสาวกในคราวทรงประชุมสาวกครั้งใหญ่ยิ่ง อันเป็นประวัติการณ์ของพระพุทธศาสนา เมื่อแรกเริ่มทรงตั้งหลักพระพุทธศาสนา ณ นครราชคฤห์ ประเทศมคธ.

หลักกรรมเป็นหลักแห่งพุทธปรีชาอันใหญ่ยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นกรรมวาที ทรงยืนยันว่า กรรมเป็นสิ่งมีอำนาจใหญ่ยิ่งในการเกิดตาย ได้ดีตกยากของสรรพสัตว์ ดังเป็นที่รับรองในหมู่พุทธบริษัทว่า “แรงใดสู้แรงกรรมไม่มี” พระมหาโมคคัลลานเถระได้บรรลุภูมิพระอรหันต์แล้ว น่าจะพ้นจากอำนาจกรรมโดยประการทั้งปวง ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องรับสนองผลกรรมที่มันให้ผลสืบเนื่องกันมาแต่หลายชาติ ยังไม่ขาดกระแส ถูกพวกโจรทุบตีถึงต้องปรินิพพาน แม้พระบรมศาสดาจารย์ผู้โลกยกย่องเป็นเอกบุคคลแล้วก็ยังต้องทรงรับสนองผลกรรมในบางกรณี ผู้มีความรู้ดีในเรื่องอำนาจกรรม ย่อมอดทนในเมื่อต้องเสวยผลของกรรม ไม่ยอมให้มันเร้าใจให้เกิดกิเลสสืบต่อไป ให้มันสิ้นกระแสลงเพียงเท่านั้น ไม่เหมือนสามัญสัตว์เมื่อได้เสวยผลของกรรมที่ตนทำไว้เอง แทนที่จะรู้สำนึกและยอมรับเสวยผลแต่โดยดี ก็กลับรู้สึกไม่พอใจ แล้วทำกรรมใหม่เพิ่มเติมลงไปอีก เป็นเวรสืบเนื่องกันไปไม่ขาดสายลงได้ อาจตั้งอยู่ตั้งกัปตั้งกัลป์ ดังเวรของกากับนกเค้า และงูเห่ากับพังพอน ซึ่งมีมานานและมีอยู่กระทั่งทุกวันนี้ เมื่อพบปะกันเข้าเขาไม่เว้นที่จะประทุษร้ายกันและกัน พระบรมศาสดาได้ทรงทราบความจริงเรื่องกรรมซัดพระทัยแล้วจึงตรัสสอนมิให้สืบต่อกรรมเวร ให้อดทนเสวยผลของกรรมไปฝ่ายเดียว แล้วเวรจะระงับไม่เวียนไปอีก ดังพระบาลีที่เป็นหลักในความข้อนี้ว่า

น หิ เวเรน เวรานิ       สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ

อเวเรน จ สมฺมนฺติ      เอส ธมฺโม สนนฺตโน.


แปลว่า ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่จะระงับได้ด้วยไม่ทำเวรธรรมคือวิธีระงับเวรด้วยไม่สืบเวรนี้ เป็นวิธีเก่าแก่ ดังนี้.

กรรมที่สัตว์ทำไว้ ซึ่งมีอำนาจให้ผล ท่านแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ กุศลกรรม ๑อกุศลกรรม ๑ กุศลกรรมนั้นเป็นกรรมที่ทำด้วยความฉลาด เป็นความดีที่มีอำนาจบังคับความชั่วและล้างความชั่วได้ ท่านจึงเรียกว่ากัลยาณธรรมและบุญกรรม ส่วนอกุศลกรรมเป็นกรรมที่ทำด้วยความโง่ เป็นความชั่วที่มีอำนาจเผาลนให้ร้อนรุ่มดังถูกไฟเผา ท่านจึงเรียกว่าบาปกรรม และมีลักษณะทำให้สกปรกเศร้าหมอง ท่านจึงเรียกว่าอบุญญกรรม เมื่อเรียกสั้นๆ ท่านเรียกกรรมฝ่ายดีว่า กุศล, กัลยาณะ, บุญ, เรียกกรรมฝ่ายชั่วว่าอกุศล, บาป, อบุญ ในพระบาลีอันเป็นหลักบางแห่งตรัสเรียกกรรมดีว่า สุกกะ=ขาว ตรัสเรียกกรรมชั่วว่า กัณหะ=ดำ ซึ่งทำให้มองเห็นลักษณะของความดีและความชั่วได้แจ่มใสยิ่งขึ้น คือ ความดีมีลักษณะขาวสะอาด ผ่องใส สดสวย ความชั่วมีลักษณะดำ สกปรก เศร้าหมอง หยาบกระด้าง และตรัสเหตุที่ทำให้สกปรกว่า โอกะ = น้ำ ซึ่งหมายถึงกิเลสอันมีลักษณะเหมือนน้ำที่ไม่สะอาด ทำให้เศร้าหมองได้ แล้วตรัสสอนให้อาศัยสิ่งมิใช่น้ำ ละกามคือความกำหนัด แล้วยินดีในพระนิพพานอันเงียบสงัด ซึ่งยากที่สามัญสัตว์จะยินดีนั้นต่อไปจะได้ยกพระบาลีนั้นมาตั้งไว้ เพื่อเป็นหลักพิจารณาดังต่อไปนี้

กณฺหํ ธมฺมํ วิปฺปหาย   สุกฺกํ ภาเวถ ปณฺฑิโต

โอกา อโนกมาคมฺม     วิเวเก ยตฺถ ทูรมํ

ตตฺราภิรติมิจฺเฉยฺย      หิตฺวา กาเม อกิญฺจโน.



แปลว่า บัณฑิตพึงละธรรมดำเสีย พึงเจริญธรรมขาว พึงอาศัยสิ่งมิใช่น้ำ ออกจากน้ำแล้ว ละกามทั้งหลาย หายกังวลแล้ว ยินดีในพระนิพพานอันเงียบสงัด ยากที่สัตว์จะยินดีนั้น ดังนี้.

กิเลสอันเป็นตัวเหตุเร้าให้สัตว์ทำกรรมใส่ตัวนั้น ท่านเปรียบด้วยน้ำ ธรรมดาน้ำย่อมทำให้เปียก ผ้าที่เปียกน้ำย่อมเปรอะเปื้อน หม่นหมองง่ายที่สุด ไม่เหมือนผ้าแห้งซึ่งถึงจะมีละอองฝุ่นปลิวมาเกาะก็สลัดออกได้ง่ายๆ ไม่ติดสกปรกเหมือนผ้าเปียก จิตใจของสัตว์เป็นที่กำเนิดบุญและบาปเมื่อจิตใจไม่เปียกด้วยกิเลสย่อมสั่งสมบุญใส่ตัว กิเลสเป็นเหตุให้ทำความชั่วเป็นตัวเหตุสำคัญ ณภายใน เหมือนน้ำชุ่มแช่อยู่ในจิตใจ จึงสอนให้ทำความดีเพื่อทำใจให้แห้งหายสกปรก แล้วให้ออกจากน้ำเสียเลย ไปอยู่ในพระนิพพานซึ่งเป็นภูมิที่พ้นน้ำเด็ดขาด ที่เรียกว่า อโนกะ=ไม่ใช่น้ำ คือตรงกันข้ามกับน้ำนั่นเอง ธรรมชาติแห่งความรู้สึกในจิตใจของคน เมื่อพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนแล้วจะเห็นลักษณะเด่นๆ ๒ ลักษณะคือ ลักษณะที่ทำให้เปียกเหมือนน้ำ ๑ ลักษณะที่ทำให้แห้งผาก ๑ส่วนลักษณะที่ไม่เด่นนั้นเป็นความรู้สึกกลางๆ ความรู้สึกที่มีลักษณะทำให้เปียกเหมือนน้ำนั่นแหละ คือกิเลสที่แทรกซึมอยู่ในจิตใจ ความรู้สึกที่มีลักษณะทำให้แห้งผากนั้นคือคุณธรรมซึ่งเป็นคุณชาติประจำจิตใจ ตรัสสอนให้อาศัยคุณธรรมนี้เองออกจากน้ำคือกิเลส แล้วให้ยินดียิ่งในพระนิพพาน ซึ่งเป็นภูมิพ้นน้ำเด็ดขาด มีแต่คุณชาติประจำจิตใจที่มิใช่สิ่งที่มีลักษณะเหมือนน้ำ อันจะทำให้จิตใจเปียกปอนต่อไป เมื่อพิจารณาโดยนัยนี้ย่อมได้ความว่า กรรมที่ทำด้วยอำนาจกิเลสคือความรู้สึกที่มีลักษณะทำให้ใจเปียก เป็นบาปคือดำสกปรก ส่วนกรรมที่ทำด้วยคุณธรรมคือความรู้สึกที่มีลักษณะทำให้ใจแห้งผากเป็นบุญ คือขาวสะอาด ผู้ยินดีในบาปจึงเท่ากับยินดีในความสกปรกโสมมมืดดำ ผู้ยินดีในบุญจึงเท่ากับยินดีในความสะอาดขาวผ่อง ผู้ยินดีในกรรมทั้ง ๒ ฝ่ายคือบุญก็ทำกรรมก็สร้าง จึงเป็นบุคคลที่เรียกว่า กำดำ กำขาว มีทั้งคราวดีและคราวชั่ว ส่วนผู้ยินดีในบุญ เกลียดหน่ายบาป ย่อมเลิกละบาปทำแต่บุญ จึงเป็นบุคคลที่เรียกว่า กำขาว มีแต่คราวทำดีและดีเรื่อยไป เป็นบุคคลที่น่าไว้วางใจเชื่อถือได้ เป็นบุคคลที่น่าคบค้าสมาคม น่านิยมนับถือและน่าเคารพบูชาสักการะยิ่ง.

เมื่อได้รู้จักตัวเหตุให้ทำกรรมเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นการง่ายที่จะรู้จักตัวการผู้ทำกรรม เพราะเมื่อพูดถึงความรู้สึกเราก็ย่อมทราบแล้วว่าเป็นกิริยาของจิตใจนั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจจึงเป็นตัวการทำกรรม สมกับพระพุทธดำรัสว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวว่าเจตนาเป็นกรรม หมายความว่า ความจงใจทำ พูด คิด เป็นกรรม เจตนาเป็นกิริยาการของจิตใจขั้นที่สองคือ เมื่อจิตใจถูกอารมณ์เร้าเกิดมีความรู้สึกฝ่ายกิเลสหรือคุณธรรมขึ้นเป็นขั้นที่ ๑ แล้วจึงเกิดมีความจงใจทำพูดคิดตามความรู้สึกนั้นเป็นขั้นที่ ๒ เมื่อเป็นเช่นนี้กรรมจึงเป็นการกระทำของจิตใจ จิตใจจึงต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง จะปัดเสียไม่ยอมรับผิดชอบย่อมเป็นไปไม่ได้ฉะนั้น กรรมจึงเป็นสิ่งเนื่องกับตัวเหมือนเงา ผลซึ่งผลิขึ้นจากกรรมก็ย่อมเนื่องกับตัวเช่นเดียวกันตนทำกรรมแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับเสวยผล จึงเป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้ เมื่อได้ทราบว่ากรรมคือตัวเจตนา ความจงใจเช่นนี้ ย่อมเป็นการง่ายที่จะกำหนดลักษณะกรรมต่างอย่างต่างประการ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป.

ธรรมดา เจตนาในการทำ พูด คิด ย่อมมีน้ำหนักต่างๆ กัน ตามกำลังดันของความรู้สึก ถ้ามีความรู้สึกแรงที่สุดเจตนาก็ย่อมแรงที่สุด ถ้ามีความรู้สึกแรงพอประมาณเจตนาก็ย่อมแรงพอประมาณ ถ้ามีความรู้สึกเพลาเจตนาก็ย่อมเพลาตามกัน ฉะนั้นท่านจึงกำหนดกรรมหนักเบาด้วยอำนาจเจตนาและความรู้สึก กรรมจะให้ผลเร็วหรือช้าก็ย่อมอาศัยกำลังของเจตนา และความรู้สึกเป็นส่วนประกอบด้วยเช่นกัน ตามหลักธรรมดา สิ่งใดมีอำนาจผลักดันแรงสิ่งนั้นย่อมปรากฏในลักษณะรุนแรงและเร็ว โดยนัยเดียวกัน กรรมที่ทำด้วยเจตนาและความรู้สึกแรง เวลาให้ผลก็ย่อมปรากฏในลักษณะรุนแรงและเร็ว เช่น อนันตริยกรรมทั้ง ๕ มีการฆ่าบิดามารดาของตนเป็นต้น คนที่จะทำกรรมบาปหยาบช้าเช่นนั้นได้ลงคอจะต้องมีความรู้สึกฝ่ายกิเลสรุนแรง และเจตนาที่ทำก็จะต้องรุนแรงเช่นกัน กรรมนั้นจึงให้ผลเร็วและรุนแรงที่สุดด้วย ท่านกล่าวว่าให้ผลในลำดับที่ทำนั้นเอง คือ เกิดความรุ่มร้อนขึ้นในกายในใจ จนไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็มี ที่แรงถึงที่สุดท่านว่าถูกธรณีสูบทันทีก็มี เมื่อตายแล้วต้องไปทนทุกข์ทรมานในสถานลำบาก คือ นรกแดนเปรต พวกกายใหญ่โต (อสุรกาย) และกำเนิดดิรัจฉานอีก กว่าจะพ้นกรรมก็กินเวลานานนับกัปนับกัลป์

ส่วนกรรมที่แรงในฝ่ายกุศลท่านเรียกว่า สมนันตริกกรรม หรืออนันตริกกรรม ได้แก่สมาธิชั้นสูงคือฌานสมาบัติ ย่อมให้ผลทันทีเหมือนกัน เมื่อตายแล้วยังอำนวยผลให้ไปเสวยสุขสมบัติในสถานที่สุขสบาย คือ โลกพรหม โลกสวรรค์ และโลกมนุษย์ เป็นเวลานานหลายกัปหลายกัลป์เช่นเดียวกัน กรรมที่มีกำลังแรงพอประมาณอาจให้ผลในชาติปัจจุบันนี้ ส่วนกรรมที่กำลังเพลาย่อมคอยให้ผลในชาติหน้าต่อๆ ไป สุดแต่จะได้ช่องเมื่อไร เมื่อไม่ได้ช่องเลยก็อาจสิ้นกำลังเลิกให้ผลก็ได้

แต่โดยเหตุที่คนและสัตว์ย่อมทำกรรมไว้หลายหลากมีทั้งดีมีทั้งชั่ว กรรมจึงมีลักษณะพิเศษขึ้นอีก คือ สนับสนุนกัน เบียดเบียนกัน ตัดรอนกัน เพราะกรรมดีกับกรรมชั่วย่อมเป็นปฏิปักษ์กันอยู่ในตัว เหมือนน้ำกับไฟเป็นปฏิปักษ์กันโดยธรรมชาติฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้กรรมจึงอาจให้ผลสับสนกัน ถ้าไม่พิจารณาถึงหลักเหตุผลและความจริงอันถ่องแท้แล้ว อาจเข้าใจผิดไปได้ หลักเหตุผลที่ควรถือเป็นหลักในการพิจารณากรรมนั้น คือ เหตุกับผลมีลักษณะเหมือนกัน เหตุดีผลต้องดี เหตุชั่วผลต้องชั่ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นหลักเหตุผลที่ตายตัวไม่มีเปลี่ยนแปลง เป็นความจริงที่ยืนหยัดอยู่ตลอดอนันตกาลทีเดียว พระบรมศาสดามิได้ทรงสร้างกฎนี้ขึ้น เป็นแต่ทรงทราบกฎของกรรมนี้ตามเป็นจริง แล้วทรงบัญญัติชี้แจงแสดงออกให้แจ่มแจ้ง เพื่อเวไนยชนจะได้เชื่อถือและปฏิบัติกำจัดบาปออกจากตัว ทำดีใส่ตัว และชำระตัว คือจิตใจอันเป็นที่สิงสถิตของกิเลสเป็นที่เกิดบุญบาปนั้น ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากกิเลสอันเป็นตัวเหตุเร้าให้ทำกรรม เมื่อหมดกรรมหมดกิเลสแล้วก็เป็นอิสระแก่ตัวเต็มที่ พระมหามุนีทรงย้ำนักย้ำหนาในการที่จะทำตัวให้เป็นอิสรภาพนี้ พระองค์มิใช่ผู้ประกาศิตโลกให้เป็นไปตามพระทัยประสงค์ ทรงประกาศความจริงให้เวไนยชนได้ความสว่างใจ หายหลงงมงายที่เชื่ออำนาจซึ่งไม่อาจมีได้ต่างหาก เมื่อเวไนยชนได้ความเชื่อถกทางแล้ว เขาย่อมจะไม่เชื่ออำนาจอื่น นอกจากอำนาจกิเลสและกรรมชั่วของตัวเอง ทำตัวให้ทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนในโลกไหนๆ โดยนัยเดียวกันเขาก็ไม่เชื่ออำนาจอื่น นอกจากคุณธรรมและกรรมดีของตัว จะสร้างตัวให้เจริญสุขสำราญบานใจในโลก และเขาจะเชื่อต่อไปอีกว่าเมื่อใจมีกิเลสและกรรมได้ ก็อาจทำให้สิ้นกิเลสและกรรมได้ เมื่อไม่มีกิเลสและกรรมบังคับแล้วก็ชื่อว่าเป็นอิสรภาพเต็มที่ นี้คือทางสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏแน่นอน.

เมื่อได้ทราบหลักเหตุผล เป็นเครื่องวินิจฉัยกรรมเช่นนี้แล้ว จึงควรทราบประเภทแห่งกรรมตามที่ท่านจำแนกไว้ ดังต่อไปนี้

๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เป็นกรรมที่สามารถให้ผลในปัจจุบันชาตินี้ ที่เรียกว่าให้ผลทันตา โดยมากเป็นกรรมประเภทประทุษร้ายผู้ทรงคุณ เช่น มารดาบิดา พระอรหันต์ แม้แต่เพียงการด่าว่าติเตียนท่านผู้ทรงคุณเช่นนั้น ก็เป็นกรรมที่แรง สามารถห้ามมรรคผลนิพพานได้ ที่ท่านเรียกว่า อริยุปวาทกรรม การเบียดเบียนสัตว์ ทรมานสัตว์บางจำพวกก็มักให้ผลในปัจจุบันทันตาเหมือนกัน เช่นการเบียดเบียนแมวเป็นต้น ส่วนฝ่ายกุศลที่สามารถให้ผลในปัจจุบันทันตา น่าจะได้แก่พรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา ดังที่ตรัสไว้ในสามัญผลสูตรว่า

 “ผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้

(๑) ได้รับการอภิวาทกราบไหว้.

(๒) ได้รับการยกเว้นภาษีอากรจากรัฐบาล.

(๓) ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล.

(๔) ได้รับปัจจัยที่เขาถวายด้วยศรัทธา เลี้ยงชีพเป็นสุขในปัจจุบัน.

(๕) ได้รับความไม่เดือดร้อนใจ เพราะมีศีลบริสุทธิ์.

(๖) ได้รับความเงียบสงัดใจ ความแช่มชื่นเบิกบานใจ ความสุขกายสบายใจ เพราะใจสงบเป็นสมาธิ.

(๗) ได้ฌานสมาบัติ.

(๘) ได้ไตรวิชชาหรืออภิญญา สิ้นอาสวะในปัจจุบันชาตินี้.

(๙) ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็จะเข้าถึงโลกที่มีสุขในเมื่อตายไป”.

ในอรรถกถาธรรมบท ท่านเล่าถึงพราหมณ์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนยากจนข้นแค้น อยากบำเพ็ญทาน เพราะสำนึกได้ว่าที่ตนยากแค้นในปัจจุบันเพราะไม่ได้บำเพ็ญทานไว้ในชาติก่อน จึงตัดสินใจบริจาคผ้าสไบผืนเดียวที่ตนกับภรรยาใช้ร่วมกันอยู่ออกบำเพ็ญทาน ถวายแด่พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นบุญเขตอันเลิศ ได้รับผลตอบแทนในปัจจุบัน คือ พอแกบริจาคออกได้ แลรู้สึกโล่งใจและปีติเหลือประมาณ จึงเปล่งอุทานขึ้นในทันทีนั้นว่า เราชนะแล้ว บังเอิญพระเจ้าปัสเสนทิโกศลก็เสด็จมาฟังธรรม ณ ที่นั้นด้วย เมื่อได้ทรงสดับจึงรับสั่งให้ถามดู ทรงทราบแล้วทรงอนุโมทนาด้วย แล้วพระราชทานผ้าให้พราหมณ์ ๒ คู่ เพื่อเขาคู่หนึ่ง เพื่อภรรยาคู่หนึ่ง เขายังมีศรัทธาน้อมเข้าไปถวายพระบรมศาสดาเสียอีก พระเจ้าปัสเสนทิโกศลจึงพระราชทานเพิ่มให้ทวีขึ้น ในที่สุดทรงพระราชทานสิ่งละ ๑๖ แก่พราหมณ์ เขาได้รับความสุขเพราะกุศลกรรมของเขาในปัจจุบันทันตาดังนี้ แม้เรื่องอื่นๆ ทำนองนี้ก็มีนัยเช่นเดียวกัน.

๒. อุปปัชชเวทนียกรรม เป็นกรรมที่สามารถให้ผลต่อเมื่อเกิดใหม่ในชาติหน้า ในกำเนิดใดกำเนิดหนึ่ง ถ้าเป็นกุศลกรรมก็อำนวยผลให้มีความสุข ตามสมควรแก่กรรมในคราวใดคราวหนึ่งถ้าเป็นอกุศลกรรมก็ให้ผลเป็นทุกข์เดือดร้อนตามสมควรแก่กรรมในคราวใดคราวหนึ่ง ตัวอย่างสมมติว่า เมื่อชาติปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ ได้ทำกรรมไว้หลายอย่างทั้งบุญและบาป ตายแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกด้วยอำนาจกุศลอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถแต่งกำเนิดได้ในชั่วชีวิตใหม่นี้ เราได้รับสุขสมบูรณ์เป็นครั้งคราว นั่นคือกุศลกรรมในประเภทนี้ให้ผล เราได้รับทุกข์เดือดร้อนเป็นบางครั้ง นั่นคืออกุศลกรรมในประเภทนี้ให้ผล การให้ตัวอย่างสมมติไว้ก็เพราะหาตัวอย่างที่เป็นจริงมาแสดงไม่ได้.

๓. อปราปรเวทนียกรรม เป็นกรรมที่สามารถให้ผลสืบเนื่องไปหลายชาติ ตัวอย่างในข้อนี้มีมาก ฝ่ายกุศลกรรมเช่น พระบรมศาสดาทรงแสดงบุพพกรรมของพระองค์ไว้ว่า ทรงบำเพ็ญเมตตาภาวนาเป็นเวลา ๗ ปี ส่งผลให้ไปเกิดในพรหมโลกนานมาก แล้วมาเกิดเป็นพระอินทร์ ๓๗ครั้ง เกิดเป็นมนุษย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๗ ครั้ง ฯลฯ ฝ่ายอกุศลกรรม เช่น พระมหาโมคคัลลาน-เถระ ในอดีตชาติหลงเมีย ฟังคำยุยงของเมียให้ฆ่ามารดาผู้พิการ ท่านทำไม่ลง เพียงแต่ทำให้มารดาลำบาก กรรมนั้นส่งผลให้ไปเกิดในนรกนาน ครั้นเกิดมาเป็นมนุษย์ถูกเขาฆ่าตายมาตามลำดับทุกชาติ ถึง ๕๐๐ ชาติกับทั้งชาติปัจจุบันที่ได้เป็นพระอรหันต์ อรรคสาวกเบื้องซ้ายของพระบรมศาสดา.

๔. อโหสิกรรม เป็นกรรมที่ไม่มีโอกาสจะให้ผล เพราะไม่มีช่องที่จะเข้าให้ผลได้ เลยหมดโอกาสสิ้นอำนาจสลายไป ในฝ่ายอกุศลกรรมเช่น พระองคุลีมาลเถระได้หลงกลของอาจารย์ เพราะความโลภในมนต์ ได้ฆ่าคนจำนวนถึงพันเพื่อจะนำไปขึ้นครูเรียนมนต์ พระทศพลทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตผลมีอยู่ ทรงเกรงว่าจะฆ่ามารดา แล้วจะทำลายอุปนิสัยแห่งอรหัตผล จึงรีบเสด็จไปโปรด ทรงแสดงทูเรปาฏิหาริย์และตรัสพระวาจาเพียงว่า “หยุดแล้ว คือทรงหยุดทำบาปแล้ว ส่วนท่านซิยังไม่หยุดทำบาป” ท่านเกิดรู้สึกตัว เข้าเฝ้าขอบรรพชาอุปสมบท ทรงประทานอุปสมบทแล้วพาไปฝึกฝนอบรมจนได้บรรลุพระอรหัตผล สิ้นภพสิ้นชาติ กรรมบาปซึ่งมีอำนาจจะให้ผลไปในชาติหน้าหลายแสนกัลป์ก็เลยหมดโอกาส ให้ผลเพียงเล็กน้อยในชาตินี้ ส่วนฝ่ายกุศลกรรมไม่อาจหาตัวอย่างได้.

๕. ชนกกรรม เป็นกรรมที่สามารถแต่งกำเนิดได้ กำเนิดของสัตว์ในไตรโลก มี ๔ คือ

(๑) ชลาพุชะ เกิดจากน้ำสัมภวะของมารดาบิดาผสมกันเกิดเป็นสัตว์ในครรภ์ แล้วคลอดออกมาเป็นเด็ก แล้วค่อยเจริญเติบโตขึ้นโดยลำดับกาล ฝ่ายดีได้แก่กำเนิดมนุษย์ ฝ่ายไม่ดีได้แก่กำเนิดดิรัจฉานบางจำพวก.

(๒) อัณฑชะ เกิดเป็นฟองไข่ก่อนแล้วจึงเกิดเป็นตัวออกจากกะเปาะฟองไข่แล้วเจริญเติบโตโดยลำดับกาล ฝ่ายดีได้แก่กำเนิดดิรัจฉานมีฤทธิ์ เช่น นาค ครุฑ ประเภทอัณฑชะฝ่ายชั่วได้แก่กำเนิดดิรัจฉาน เช่น นกสามัญทั่วไป ฯลฯ.

(๓) สังเสทชะ เกิดจากสิ่งโสโครกเหงื่อไคล ฝ่ายดีเช่น นาคและครุฑ ประเภทสังเสทชะฝ่ายชั่วเช่น กิมิชาติ มีหนอนที่เกิดจากน้ำครำเป็นต้น และเรือด ไร หมัด เล็น ที่เกิดจากเหงื่อไคลหมักหมมเป็นต้น.

(๔) อุปปาติกะ เกิดผุดขึ้นเป็นวิญญูชนทีเดียว ฝ่ายดีเช่น เทพเจ้า ฝ่ายชั่วเช่น สัตว์นรกเปรต อสุรกาย กรรมดีแต่งกำเนิดดี กรรมชั่วแต่งกำเนิดชั่ว นี้เป็นกฎแห่งกรรมที่ตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไป.

๖. อุปปัตถัมภกกรรม เป็นกรรมที่คอยสนับสนุนกรรมอื่นซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกัน กรรมดีสนับสนุนกรรมดี กรรมชั่วสนับสนุนกรรมชั่ว เช่น กรรมดีแต่งกำเนิดดีแล้ว กรรมดีอื่นๆ ก็ตามมาอุดหนุนส่งเสริมให้ได้รับความสุขความเจริญยิ่งขึ้น กรรมชั่วแต่งกำเนิดทรามแล้ว กรรมชั่วอื่นๆ ก็ตามมาอุดหนุนส่งเสริมให้ได้รับทุกข์เดือดร้อนในกำเนิดนั้นยิ่งๆ ขึ้น หาตัวอย่างที่เป็นจริงมาแสดงไม่ได้.

๗. อุปปีฬกกรรม เป็นกรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับกรรมอื่นที่ต่างฝ่ายกับตน คอยเบียดเบียนทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามมีกำลังอ่อนลง ให้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น กรรมดีแต่งกำเนิดเป็นมนุษย์แล้ว กรรมชั่วเข้ามาขัดขวางรอนอำนาจของกรรมดีนั้นลง ทำให้เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ หรือขาดความสุขในความเป็นมนุษย์ที่ควรจะได้ไป ในฝ่ายชั่วก็นัยเดียวกัน เช่น กรรมชั่วแต่งกำเนิดทรามแล้ว กรรมดีเข้ามาขัด ถึงเป็นสัตว์ก็มีผู้เมตตากรุณาเลี้ยงดูมิให้ได้รับความลำบาก เป็นต้น.

๘. อุปฆาตกกรรม เป็นกรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับกรรมอื่น ที่ต่างฝ่ายกับตนเช่นข้อก่อน แต่มีกำลังแรงกว่า มิให้อำนวยผลสืบไป แล้วตนเข้าแทนที่ให้ผลเสียเอง ตัวอย่างในฝ่ายอกุศล เช่นกรรมดีแต่งกำเนิดเป็นมนุษย์มาแล้ว กรรมฝ่ายชั่วที่มีกำลังเข้าสังหาร เช่นไปทำกรรมร้ายแรงขึ้นในปัจจุบัน หรือกรรมชั่วร้ายแรงในอดีตตามมาทันเข้าให้ผลแทนที่ คนนั้นเสียความเป็นมนุษย์ไปในทันทีทันใด กลายร่างไปเป็นยักษ์หรือดิรัจฉานไปเลย หรือเพศเปลี่ยนไป เช่น เดิมเป็นบุรุษเพศกลายเป็นสตรีเพศไป ดังโสเรยยเศรษฐีบุตรฉะนั้น ในฝ่ายกุศล กรรมชั่วแต่งกำเนิดทรามแล้วกรรมดีเข้าสังหารกำลังของกรรมทรามนั้นให้สิ้นกระแสลง แล้วเข้าแทนที่ให้ผลเสียเอง เช่น เปรตได้รับส่วนบุญแล้วพ้นภาวะเปรต กลายเป็นเทวดาทันทีทันใด เป็นต้น.

๙. ครุกรรม เป็นกรรมที่หนักมาก สามารถให้ผลทันทีทันใด ฝ่ายกุศลได้แก่ฌานสมาบัติที่ท่านเรียกว่าอนันตริยกรรม ฝ่ายอกุศลได้แก่อนันตริยกรรม ๕ มีฆ่ามารดาบิดาเป็นต้น บุคคลจะทำกรรมชั่วมามากมายสักเพียงไรก็ตาม ถ้ารู้สึกสำนึกตัวแล้ว กลับตัวทำความดี มีความสามารถทำใจให้สงบเป็นสมาธิ และเป็นฌานสมาบัติได้แล้ว กรรมนี้จะแสดงผลเรื่อยๆ ไปตั้งแต่บัดนั้นจนกว่าจะสิ้นกระแสลง กรรมอื่นๆ จึงจะได้ช่องให้ผล บุคคลทำกรรมดีไว้มากมายแล้วสมควรจะได้มรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่งในชาติปัจจุบัน แต่ไปเสวนะกับคนพาลเกิดประมาททำความชั่วร้ายแรงขึ้น เช่นฆ่าพระอรหันต์ ฆ่ามารดาบิดาเป็นต้น กรรมนี้จะเข้าให้ผลทันทีทันใด อุปนิสัยแห่งมรรคผลก็เป็นอันพับไป ต้องเสวยผลกรรมชั่วนั้นไปจนกว่าจะสิ้นกำลัง กรรมอื่นๆ จึงจะมีช่องให้ผลสืบไป.

๑๐. พหุลกรรม หรืออาจิณณกรรม เป็นกรรมที่ทำมาก ทำจนชินเป็นอาจิณ เป็นกรรมหนักรองครุกรรมลงมา สามารถให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ ในเมื่อไม่มีครุกรรม เช่น บุคคลบำเพ็ญทานหรือรักษาศีล หรือเจริญภาวนา มีเมตตาภาวนาเป็นต้นเป็นอาจิณ แต่ไม่ถึงกับได้ฌานสมาบัติกรรมดีนี้จะเป็นปัจจัยมีกำลังในจิตอยู่เสมอ สามารถให้ผลสืบเนื่องไปนาน ถ้าบุคคลนั้นไม่ประมาทในชาติต่อๆ ไป ทำเพิ่มเติมเป็นอาจิณอยู่เรื่อยๆ กรรมดีก็จะให้ผลทวีและสืบเนื่องเรื่อยๆ ตัดโอกาสของกรรมอื่นๆ เสียได้ ในฝ่ายอกุศลก็นัยเดียวกัน เช่น พรานเนื้อหรือชาวประมงทำปาณาติบาตเป็นนิตย์ ถึงแม้ไม่หนักหนาเท่าครุกรรม แต่เพราะเป็นกรรมติดเนื่องกับสันดานมาก จึงสามารถอำนวยผลสืบเนื่องไป ไม่เปิดช่องให้กรรมอื่นมีโอกาสอำนวยผลได้ ท่านยกตัวอย่าง เช่น คนฆ่าโคขายเนื้อทุกวัน เวลาจะตายร้องอย่างโค พอสิ้นใจก็ไปนรกทันที คนฆ่าสุกรขายเป็นอาชีพ เวลาจะตายร้องอย่างสุกร พอขาดใจก็ไปนรกเช่นเดียวกัน.

๑๑. อาสันนกรรม เป็นกรรมที่ทำเวลาใกล้ตาย แม้จะมีกำลังเพลาก็ได้ช่องให้ผลก่อนกรรมอื่น ในเมื่อไม่มีครุกรรมและพหุลกรรม ตัวอย่างในฝ่ายดี เช่น พวกสำเภาแตกได้สมาทานศีลก่อนหน้ามรณะเพียงเล็กน้อย ตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ มีนามว่าสตุลลปายิกาเทวา ในฝ่ายอกุศลเช่น ภิกษุรูปหนึ่งในพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องอาบัติเพราะพรากภูตคาม คือทำใบตะไคร้น้ำขาด ประมาทว่าเป็นอาบัติเล็กน้อยไม่แสดงทันที ต่อมาไม่นานเกิดอาพาธพอใกล้มรณะก็นึกขึ้นได้ว่าตนมีอาบัติติดตัวจะแสดงก็หาภิกษุรับแสดงไม่ได้ เสียใจตายไป ได้ไปเกิดในกำเนิดนาค มาในพุทธกาลนี้ได้ฟังพระธรรมเทศนา และตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ถ้ามิใช่เพราะอยู่ในกำเนิดดิรัจฉานแล้วจะบรรลุภูมิพระโสดาบันในครั้งฟังพระธรรมเทศนานั้นทีเดียว เพราะมีกุศลได้สั่งสมมามากพอสมควร ในคราวประพฤติพรหมจรรย์ในพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกเรื่องพระนางมัลลิกาเทวี มเหสีของพระเจ้าปัสเสนทิโกศล เป็นคนมีศรัทธาในพระศาสนาของพระบรมศาสดา ต่อมาพลั้งพลาดในศีลธรรมเล็กน้อย พระสวามีต่อว่ากลับโกหกและหาอุบายลวง และด่าพระสวามีด้วย ต่อมามินานเกิดประชวร ทิวงคต ได้ไปสู่นรกถึง ๗ วัน จึงได้ไปสวรรค์ อาสันนกรรมสำคัญเช่นนี้ คนโบราณจึงนิยมให้พระไปให้ศีลคนป่วยหนัก หรือบอกพระอรหังให้บริกรรมเพื่อช่วยให้ได้ไปสู่สุคติบ้าง.

๑๒. กตัตตากรรม หรือกตัตตาวาปนกรรม เป็นกรรมที่เพลาที่สุด ทำด้วยเจตนาอ่อนๆแทบจะว่าไม่มีเจตนา เช่นการฆ่ามดแมลงของเด็กๆ ที่ทำด้วยความไม่เดียงสา ไม่รู้ว่าเป็นบาปกรรมทิพยอำนาจ ๑๔๖ในฝ่ายกุศลก็เช่นกัน เช่นเด็กๆ ที่ไม่เดียงสาแสดงคารวะต่อพระรัตนตรัยตามที่ผู้ใหญ่สอนให้ทำเด็กจะทำด้วยเจตนาอ่อนที่สุด จึงชื่อว่าสักว่าทำ ถ้าไม่มีกรรมอื่นให้ผลเลย กรรมชนิดนี้ก็จะให้ผลได้บ้าง แต่ไม่มากนัก มีทางจะเป็นอโหสิกรรมได้มากกว่าที่จะให้ผล เพราะกำลังเพลามาก.

เมื่อได้รู้จักประเภทกรรม ซึ่งมีลักษณะสามารถให้ผลต่างขณะต่างวาระต่างกรรมเช่นนี้แล้วแม้ได้เห็นสัตว์ได้ดีตกยากซึ่งเป็นไปในลักษณะสับปลับ เช่น ผู้ทำบาปในชาตินี้แล้วพอตายได้ไปเกิดในสวรรค์ หรือผู้ทำบุญในชาตินี้อยู่แท้ๆ แต่พอตายได้ไปสู่นรกเป็นต้น ก็จะไม่เข้าใจผิดไปตามความสับสนนั้น คงเห็นถูกรู้ถูกตามหลักวินิจฉัยกรรมอยู่เสมอไป จัดเป็นความรู้เห็นที่ถ่องแท้ได้.

อนึ่ง กรรมที่สัตว์ทำไว้ ย่อมให้ผลตามลักษณะต่างๆ กันดังต่อไปนี้

๑. กรรมคือการฆ่าสัตว์ ส่งผลให้ไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนมีอายุน้อย ส่วนกรรมคือการไม่ฆ่าสัตว์ มีเมตตาปรานีในสรรพสัตว์ อำนวยผลให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนมีอายุยืน.

๒. กรรมคือการเบียดเบียนสัตว์ ด้วยการตบตีขว้างปาแทงฟัน ส่งผลให้ไปสู่อบาย ทุคติวินิบาต นรก ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนอาพาธมาก ส่วนกรรมคือการไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยการตบตีขว้างปาแทงฟัน อำนวยผลให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนมีอาพาธน้อย.

๓. กรรมคือความมักโกรธ มากด้วยความคับแค้น ถูกว่าเล็กน้อยก็โกรธพยาบาทปองร้ายแสดงความโกรธความดุร้ายความน้อยใจให้ปรากฏออก ส่งผลให้ไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรกครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนผิวทราม ส่วนกรรมคือคือไม่มักโกรธตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้วอำนวยผลให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนผิวงามน่าเลื่อมใส คือเป็นคนผิวผุดผ่องเกลี้ยงเกลา.

๔. กรรมคือความมีใจริษยา อยากได้ เข้าไปขัดขวางในลาภสักการะ ความเคารพนับถือนบไหว้บูชาของคนอื่น ส่งผลให้ไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนมีศักดาน้อย ส่วนกรรมคือความไม่มีใจริษยาอยากได้ ไม่ขัดขวางลาภสักการะ ความเคารพนับถือนบไหว้บูชาของผู้อื่น อำนวยผลให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนมีศักดาใหญ่.

๕. กรรมคือการไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่อาศัยหลับนอน เครื่องเกื้อกูลแก่แสงสว่างแก่สมณะหรือคนดี ส่งผลให้ไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนมีโภคะน้อย ส่วนกรรมคือการให้วัตถุดังกล่าวนั้นแก่สมณะหรือคนดีอำนวยผลให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนมีโภคะมาก.

๖. กรรมคือความกระด้างถือตัว ไม่ไหว้คนควรไหว้ ไม่ลุกรับคนควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนควรไหว้ ไม่หลีกทางแก่คนควรหลีก ไม่สักการะคนควรสักการะ ไม่เคารพคนควรเคารพ ไม่นับถือคนควรนับถือ ไม่บูชาคนควรบูชา ส่งผลให้ไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนเกิดในตระกูลต่ำ ส่วนกรรมคือความไม่กระด้าง ไม่ถือตัวโดยนัยตรงกันข้ามจากที่กล่าวแล้วนั้น อำนวยผลให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนเกิดในตระกูลสูง.

๗. กรรมคือการไม่เข้าหาศึกษาไต่ถามสมณพราหมณ์ ถึงกุศล-อกุศล สิ่งมีโทษ-ไม่มีโทษ สิ่งควรเสพ-ไม่ควรเสพ กรรมที่เป็นไปเพื่อทุกข์อันไม่เกื้อกูลตลอดกาลนาน และกรรมที่เป็นไปเพื่อสุขเกื้อกูลตลอดกาลนาน ส่งผลให้ไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ส่วนกรรมคือการเข้าหาศึกษาไต่ถามสมณพราหมณ์ถึงสิ่งต่างๆ ดังกล่าวมานั้นอำนวยผลให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ครั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์ก็เป็นคนมีปัญญามาก.

เมื่อได้รู้ลักษณะกรรมแต่ละชนิดที่ให้ผลต่างๆ กันตามสมควรแก่กรรมนั้นๆ ดังนี้แล้ว เมื่อเห็นสัตว์เกิด ตาย ได้ดี ตกยาก ผิวงาม ผิวทราม ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์แล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า สัตว์เป็นไปตามกรรมของตนมั่นคงในหลักที่ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับสนองผลกรรมที่ตนทำไว้กำเนิดแต่กรรม ผูกพันในกรรม พึ่งกรรมของตนเอง กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวหรือประณีตตามควรแก่กรรมนั้นๆ ดังนี้. ความรู้เห็นเกี่ยวกับสัตว์ถูกต้องกับความเป็นจริงนี้แล ท่านเรียกว่าจุตูปปาตญาณ ญาณชนิดนี้เป็นตัววิปัสสนา ที่รู้เห็นเหตุปัจจัยแห่งชีวะตามความเป็นจริง ทั้งมีพยานในการเกิดตายในสังสารวัฏอย่างดีด้วย ผู้มีญาณชนิดนี้ย่อมมั่นใจในการเวียนเกิดเวียนตายว่าเป็นจริง และย่อมรู้แน่ชัดว่ากรรมเป็นตัวปัจจัยให้สัตว์ได้ดีตกยากในระหว่างเกิดตายในสังสารวัฏนั้น จึงสามารถถอนความเห็นผิดในเรื่องสังสารวัฏ และเรื่องอำนาจของสิ่งที่บันดาลความสุขทุกข์แก่สรรพสัตว์ได้เด็ดขาด เมื่อวิปัสสนาญาณแก่กล้าสามารถเห็นเหตุปัจจัยของชีวะถูกต้องได้ ความมั่นใจเช่นนี้ชื่อว่าข้ามเหวแห่งความสงสัยเสียได้ วิปัสสนาญาณก็มีแต่จะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป วิธีเจริญวิปัสสนาญาณจะได้กล่าวพิสดารในข้อว่าด้วยอาสวักขยญาณข้างหน้า วิธีการเจริญจุตูปปาตญาณมีนัยดังการเจริญทิพพจักขุญาณที่กล่าวมาแล้ว จึงเป็นอันหมดข้อความที่จะพึงกล่าวในบทนี้เพียงนี้.




จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-13.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...