ผู้เขียน หัวข้อ: ทิพยอำนาจ : บทที่ ๑๓ วิธีรักษาทิพยอำนาจ  (อ่าน 1185 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ทิพยอำนาจ

พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)

วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เรียบเรียง



บทที่ ๑๓

วิธีรักษาทิพยอำนาจ



บทก่อนๆ ได้แสดงวิธีสร้างทิพยอำนาจ ดังที่ท่านผู้อ่านได้ผ่านมาแล้ว ถ้าจะจบลงเพียงนั้นก็จะเป็นเรื่องไม่สมบูรณ์ เพราะธรรมดาที่มีอยู่ สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นต้องตาย สิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยย่อมเป็นไปตามอำนาจของเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยยังเป็นไปสิ่งนั้นก็ยังเป็นไป เมื่อเหตุปัจจัยสลายไปสิ่งนั้นก็ย่อมสลายไป ทิพยอำนาจก็ย่อมเป็นไปตามหลักธรรมดานั้น เพราะเกิดแต่เหตุปัจจัยเหมือนกัน เว้นแต่ทิพยอำนาจชั้นสูงเท่านั้นที่เมื่อบรรลุถึงแล้วเป็นอำนาจที่มั่นคง ดำรงยั่งยืนตลอดไป เพราะมีอาสวักขยญาณเป็นประกัน ทิพยอำนาจอื่นๆ เมื่อมีอาสวักขยญาณเป็นประกันย่อมพลอยเป็นอำนาจมั่นคงไปด้วย เพื่อประโยชน์แก่การรักษาทิพยอำนาจที่ไม่มั่นคงให้ดำรงยั่งยืนใช้ประโยชน์ได้ดี จะได้แสดงวิธีรักษาไว้ในบทนี้.

ผู้ศึกษาทิพยอำนาจคงยังจำได้ว่า ทิพยอำนาจตั้งอยู่บนรากฐาน ๒ ประการคือ ฌาน และกำลังใจอันมั่นคง ดังกล่าวไว้ในบทที่ ๑ ซึ่งว่าด้วยที่ตั้งของทิพยอำนาจ และบทที่ ๕ ตอนว่าด้วยอิทธิวิธิฤทธิ์ต่างๆ นั้นแล้ว เมื่อทิพยอำนาจขึ้นอยู่กับฌานและกำลังใจอันมั่นคงเช่นนี้ การรักษาทิพยอำนาจจึงสำคัญที่การรักษาฌานและจิตใจ ฉะนั้น จะได้แสดงวิธีรักษาฌานและจิตใจดังต่อไปนี้.

สิ่งซึ่งเป็นเครื่องกั้นกางมิให้บรรลุความสงบแห่งจิตใจ และคอยเสียดแทรกทำให้เกิดความรู้สึกคับใจ ไม่ปลอดโปร่งใจนั้น ได้แก่ กามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ(สัมผัส) ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ยียวนชวนกำหนัด พระบรมศาสดาตรัสว่า สิ่งทั้ง๕ มีอำนาจเหนือจิตใจได้อย่างแปลกประหลาด ทำให้คลาดแคล้วจากการบรรลุธรรมอันเกษมได้รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะของสตรี ก็มีอำนาจเหนือจิตใจของบุรุษ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะของบุรุษ ก็มีอำนาจเหนือจิตใจของสตรี ผู้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสิ่งทั้ง ๕ นี้ย่อมเศร้าโศกไปนาน มิใช่เพียงสิ่งทั้ง ๕ นั้นโดยตรงเท่านั้นที่มีอำนาจเหนือจิตใจได้ แม้กิริยาอาการของเพศตรงกันข้าม เช่น การเดิน ยืน นั่ง นอน หัวเราะ พูดจา ขับร้อง ร้องไห้ ถูกฆ่า และตาย ก็ย่อมครอบงำจิตใจของเพศตรงกันข้ามได้อย่างแปลกประหลาด ควรเรียกได้อย่างถูกต้องว่า “บ่วงมาร”ทีเดียว เมื่อเพศทั้งสองได้มีโอกาสคลุกคลีกันเข้า ย่อมอดที่จะล่วงละเมิดอธิปไตยของกันและกันไม่ได้ แม้มารดากับบุตรก็ย่อมร่วมประเวณีกันได้ ในเมื่อมีช่อง และความมืดหน้าบังเกิดขึ้น ฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ความใกล้ชิดมาตุคาม เป็นหนามของพรหมจรรย์” นี่เป็นด้านที่ตรัสสอนบุรุษ ส่วนด้านสตรีก็นัยเดียวกัน คือ ความใกล้ชิดบุรุษเป็นหนามของพรหมจรรย์เช่นเดียวกันพระอานนทเถรเจ้าคงเป็นห่วงใยในอนาคตของบรรพชิตหลังพุทธปรินิพพาน จึงกราบทูลถามถึงวิธีปฏิบัติต่อมาตุคามไว้ ตรัสแนะว่า ไม่ดูไม่แลได้เป็นดี ถ้าจำเป็นต้องพบปะก็อย่าพูด ถ้าจำเป็นต้องพูดก็อย่าพูดมาก ให้พูดเป็นธรรมเป็นวินัย นี้เป็นวิธีปฏิบัติต่อมาตุคามของบรรพชิตฝ่ายภิกษุ ในเพศตรงกันข้ามก็พึงเทียบเคียงปฏิบัติโดยนัยเดียวกัน แม้คฤหัสถ์ชนผู้มุ่งประพฤติศีลธรรมให้ดีงามต้องการให้มีทิพยอำนาจ ก็พึงประพฤติปฏิบัติโดยนัยเดียวกัน ผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจของกามคุณละเมิดศีลธรรมอันดีเพราะกามคุณเป็นเหตุแล้ว จะหวังความมีทิพยอำนาจดีเด่นไม่ได้ ที่มีการเชื่อว่าสามารถมีได้ เช่น รัสปูติน นั้นเป็นการเชื่อที่ไร้เหตุผล เพราะธรรมชาติของคนย่อมเป็นดังที่รู้กันอยู่แล้ว เมื่อมีเล่ห์ผูกมัดจิตใจกันได้แล้ว จะเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์อะไรในการสามารถอย่างรัสปูตินการคล้อยตามอำนาจของกามคุณเป็นสิ่งง่ายดายเหมือนพายเรือตามน้ำ ส่วนการฝืนทางของกามคุณเพื่อความสงบใจนั้นเป็นการยากลำบาก เหมือนพายเรือทวนน้ำ เมื่อทำสำเร็จได้จึงเป็นการน่าอัศจรรย์กว่าหลายล้านเท่า.

นิวรณ์ ๕ ประการ คือ กามฉันทะ กำหนัดในกามคุณทั้ง ๕ นั้น, พยาปาทะ ความแค้นใจเจ็บใจใคร่ประทุษร้าย หรือทำความฉิบหายแก่ผู้ที่ตนไม่ชอบ, ถีนมิทธะ ความท้อใจและซึมเซาของจิตใจ, อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านของใจและความหงุดหงิดรำคาญใจ, และวิจิกิจฉา ความสองจิตสองใจ ไม่เชื่อแน่ในทางแห่งพระนิพพาน หรือความไม่ปลงใจลงไปในการใดการหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้ง ๕ ประการนี้เป็นตัวกิเลสแห่งใจที่ร้ายกาจ มีอำนาจครอบงำใจ และทำให้เสียกำลังปัญญาไป ถ้าปล่อยให้มันมีอำนาจเหนือใจอยู่ตราบใด จะหวังรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสอง หรือจะหวังทำญาณทัสสนะอันวิเศษให้เกิดขึ้นนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ตราบนั้นเหมือนแม่น้ำเชี่ยวชันไหลหลั่งลงมาจากเขาแต่ไกล เมื่อปิดปากทางทั้ง ๒ ข้างเสียแล้ว กระแสน้ำถูกตัดขาดตรงกลางแล้ว ย่อมไม่ไหลเชี่ยวมาแต่ไกลได้ฉันใด ผู้ไม่ละนิวรณ์ ๕ ก็เป็นฉันนั้น เมื่อใดละนิวรณ์ ๕ ได้แล้ว เมื่อนั้นจักรู้จักประโยชน์และทำญาณทัสสนะอันวิเศษให้เกิดได้ เหมือนเปิดปากทางของแม่น้ำที่มีกระแสไหลเชี่ยวไหลหลั่งมาแต่ไกล ปล่อยกระแสให้ไปตามทางของมันกระแสน้ำนั้นย่อมไหลเชี่ยวฉันใด ผู้ละนิวรณ์ ๕ ได้แล้วก็ฉันนั้น นิวรณ์ ๕ นี้เมื่อจะเรียกให้ถูกต้องตามความจริง ต้องเรียกว่า กองอกุศล เพราะเป็นกองแห่งอกุศลทั้งหมด.

กามคุณและกองอกุศล อันตรายของฌานอย่างเอก เป็นสิ่งที่ต้องละและบรรเทาให้สงบเงียบลงให้ได้ จึงจะได้ความสงบใจ ปฐมฌานมีอำนาจสงบสิ่งเหล่านี้ได้ ทำให้เกิดความวิเวกในใจหายวุ่นวาย มีความปลอดโปร่งโล่งใจขึ้นแทนที่.

ภูมิปลอดโปร่งโล่งใจนี่แหละ ท่านเรียกว่า โอกาสาธิคม ชั้นต้นๆ ยังมีเครื่องคับใจที่เรียกว่าสัมพาธ คอยเสียดแทรกอยู่ คือ

ภูมิที่ ๑ ยังมีวิตกวิจารคอยเสียดแทรกให้คับใจ

ภูมิที่ ๒ ยังมีปีติคอยเสียดแทรกให้คับใจ

ภูมิที่ ๓ ยังมีอุเบกขาสุขคอยเสียดแทรกให้คับใจ

ภูมิที่ ๔ ยังมีลมหายใจคอยเสียดแทรกให้คับใจ

ภูมิที่ ๕ ยังมีรูปสัญญาคอยเสียดแทรกให้คับใจ

ภูมิที่ ๖ ยังมีอากาศสัญญาคอยเสียดแทรกให้คับใจ

ภูมิที่ ๗ ยังมีวิญญาณสัญญาคอยเสียดแทรกให้คับใจ

ภูมิที่ ๘ ยังมีมโนสัญญาคอยเสียดแทรกให้คับใจ

ภูมิที่ ๙ ดับสัญญาเวทนาหมด รู้เท่าทันด้วยปัญญา ทำลายรังของอวิชชา กำจัดอาสวะสิ้นแล้ว ชื่อว่าหมดความคับใจ บรรลุถึงภูมิปลอดโปร่งโล่งใจถึงที่สุด ภูมิสุดนี้จึงพ้นอำนาจของกามคุณและอกุศลเด็ดขาด เป็นภูมิที่เย็นใจได้ ถ้ายังไม่บรรลุภูมินี้แล้วอย่าพึงนอนใจ พึงระมัดระวังอย่างยิ่งยวดทีเดียว

วิธีระวังอันตรายจากกามคุณและอกุศลธรรมนั้น ก็คือ ระวังอินทรีย์ทั้ง ๕ ซึ่งเป็นช่องทางผ่านของกามคุณ และเกิดอกุศลนั่นเองเป็นประการต้น, ประการที่ ๒ ต้องรู้จักประมาณในการกินอาหาร, ประการที่ ๓ ต้องประกอบความพากเพียรให้ตื่นตัวอยู่เสมอ ถ้าจะหลับก็ต้องหลับอย่างมีสติ ไม่ปล่อยให้หลับใหลไปเฉยๆ เมื่อตื่นขึ้นก็ต้องรีบลุกประกอบความพากเพียรต่อไป,ประการที่ ๔ ต้องเจริญวิปัสสนา เพื่อรู้แจ้งเห็นจริงซึ่งกุศลธรรม, ประการที่ ๕ ต้องเจริญโพธิ-ปักขิยธรรม ทั้งต้นราตรี ทั้งปลายราตรี โพธิปักขิยธรรมนั้นคือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรค ๘ ดังกล่าวมาแล้วในบทที่ ๔ ซึ่งว่าด้วยอุปกรณ์แห่งทิพยอำนาจ เมื่อปฏิบัติอยู่โดยทำนองดังกล่าวนี้เป็นอันหวังได้ว่าจะไม่ตกไปสู่อำนาจของกามคุณและอกุศลธรรม จะมีแต่ความปลอดโปร่งใจ ฌานสมาบัติที่ได้ไว้แล้วก็จะไม่เสื่อมเสียไป มีแต่จะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น.




อีกวิธีหนึ่ง พึงเจริญสัมมาสมาธิ ประกอบด้วยองค์ ๕ เสมอ ดังนี้

๑. เข้าปฐมฌาน โสรจสรงกายด้วยปีติสุขอันเกิดแต่วิเวก แผ่ปีติสุขไปทั่วกายให้ตลอดหมดทุกส่วนของกาย อย่าให้เหลือส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเลย.

๒. เข้าทุติยฌาน โสรจสรงกายด้วยปีติสุขอันเกิดแต่สมาธิ แผ่ปีติสุขไปทั่วกายทั้งหมด มิให้เหลือไว้แม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเลย.

๓. เข้าตติยฌาน โสรจสรงกายด้วยสุขปราศจากปีติ แผ่สุขไปทั่วกายทั้งหมด มิให้เหลือไว้แม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเลย.

๔. เข้าจตุตถฌาน เอาใจอันบริสุทธิ์สะอาดผ่องแผ้ว แผ่ไปทั่วกายทั้งหมด มิให้เหลือส่วนหนึ่งส่วนใดของกายไว้เลย ให้ใจอันบริสุทธิ์สะอาดนั้น แผ่ครอบคลุมตัวทั้งหมดเหมือนคลุมไว้ด้วยผ้าขาวสะอาดฉะนั้น.

๕. กำหนดใส่ใจนิมิต ที่ปรากฏในมโนทวาร พิจารณาไว้ดี พยายามดำรงไว้ให้นาน แล้วทำการพิจารณาสอบสวนด้วยปัญญาให้ทะลุปรุโปร่ง.

เมื่อเจริญสัมมาสมาธิ ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้อยู่เสมอแล้ว จิตใจจะมีพละกำลังยิ่งใหญ่ มีอิทธิพลมาก จะน้อมไปเพื่อทิพยอำนาจใดๆ ก็ได้ดั่งประสงค์ทุกประการ.

อีกประการหนึ่ง พึงศึกษาสำเหนียกเรื่องสมาธินี้ให้เกิดความฉลาดในเรื่องของสมาธิ ๗ ประการ คือ

๑. สมาธิกุสโล ฉลาดในสมาธิ คือรู้จักว่าจิตขนาดไหน เป็นสมาธิขั้นไหน กำหนดได้ถี่ถ้วน.

๒. สมาธิสฺส สมาปตฺติกุสโล ฉลาดในวิธีเข้าสมาธิขั้นนั้นๆ เข้าช้าๆ เข้าโดยลำดับ เข้าทวนลำดับ เข้าสลับสมาธิ และเข้าสมาธิอย่างรวดเร็วได้ตามใจประสงค์.

๓. สมาธิสฺส  ิติกุสโล ฉลาดในการยั้งสมาธิ คือจะดำรงสมาธิไว้ให้ได้นาน หรือไม่นานแค่ไหนได้ตามต้องการ.

๔. สมาธิสฺส วุฏฺฐานกุสโล ฉลาดในวิธีออกสมาธิ คือออกสมาธิช้าๆ ก็ได้ ออกเร็วๆ ก็ได้ตามต้องการ.

๕. สมาธิสฺส กลฺลิตกุสโล ฉลาดในความพร้อมพรั่งของสมาธิ คือรู้จักทำสมาธิให้เต็มบริบูรณ์ตามองค์กำหนดของสมาธิขั้นนั้นๆ กำหนดองค์สมาธิได้ถูกถ้วนดีทุกๆ ขั้น.

๖. สมาธิสฺส โคจรกุสโล ฉลาดในอาหารของสมาธิ คือรู้จักอารมณ์เป็นที่เกิดสมาธิ ส้องเสพอารมณ์นั้นๆ เนืองๆ จิตใจก็เป็นสมาธิอยู่เนืองๆ เพราะได้อาหารปรนปรือเสมอ.

๗. สมาธิสฺส อภินิหารกุสโล ฉลาดในอภินิหารของสมาธิ คือรู้จักอำนาจแปลกประหลาดอันเกิดจากสมาธินั้นๆ สำเหนียกกำหนดจดจำไว้ให้ดี และฝึกใช้อภินิหารนั้นให้เกิดประโยชน์บ่อยๆ.

เมื่อปฏิบัติในเรื่องสมาธิ โดยทำนองนี้อยู่เนืองๆ แล้ว จะมีอำนาจบังคับจิตใจของตนเองได้ดีสามารถรักษาฌานสมาบัติที่ได้ไว้แล้วให้คงอยู่ ไม่เสื่อมเสียไป เมื่อฌานสมาบัติดำรงอยู่ได้ดี ทิพย-อำนาจที่ได้แล้วก็ดำรงอยู่ดี และพร้อมที่จะใช้ทำประโยชน์ได้ตามใจประสงค์.

ส่วนจิตใจนั้น เมื่อได้รักษาฌานสมาบัติที่ได้แล้วมิให้เสื่อมเสียไป ก็ชื่อว่าได้รักษาอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรสำเหนียกเหตุที่ทำให้จิตใจเสียกำลัง และคุณธรรมที่จะทำให้จิตใจมีกำลังสมรรถภาพไว้ให้ดี และปฏิบัติหลีกเว้นเหตุร้าย ดำเนินในคุณธรรมได้ จิตใจจึงจะมีกำลังมั่นคงเสมอพร้อมที่จะใช้ทำประโยชน์ได้ทันทีในเมื่อต้องการทำ หรือมีความจำเป็นบังคับให้ต้องทำ ดังต่อไปนี้

๑. ความเกียจคร้าน ทำให้ใจฝ่อห่อเหี่ยวได้ อย่ายอมให้ความเกียจคร้านเกิดขึ้นครอบงำใจได้เป็นอันขาด ต้องพากเพียรในการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์อยู่เสมอไป.

๒. ความฟุ้งซ่าน ทำใจให้ฟูฟุ้งไปตามอารมณ์ไม่รู้จักยั้ง ทำให้จิตใจเสียกำลัง อย่ายอมให้มันมามีอำนาจครอบงำใจได้ อย่าไปคิดอะไรๆ ให้เกินกว่าจำเป็น ถ้าคิดก็ต้องให้มีระเบียบเป็นเรื่องๆ ไปพอสมควรแล้วก็หยุด อย่าคิดอะไรให้พร่ำเพรื่อ ให้พยายามสงบให้มากที่สุดที่จะมากได้.

๓. ความกำหนัด ทำใจให้ร่านรน กระวนกระวาย ใคร่ที่จะตกไปสู่อำนาจของกามคุณ ต้องป้องกันอย่าให้จิตเกิดกำหนัด เมื่อมันเกิดขึ้นต้องรีบแก้ไขโดยอุบายที่ชอบทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน สำหรับผู้ได้ฌานต้องรีบเข้าฌานให้ได้ถึงขั้นอุเบกขา กามราคะจะระงับทันที อีกอย่างหนึ่งนำใจไปกำหนดตั้งไว้ตรงหว่างคิ้ว ราคะก็จะระงับไปเหมือนกัน.

๔. ความพยาบาท ทำใจให้พลุ่งพล่าน เดือดดาลครุกรุ่นอยู่ในใจ เหมือนไฟสุมแกลบ ต้องรีบสลัดความรู้สึกเช่นนี้ออกจากใจ อย่ายอมให้มันอาศัยอยู่นาน การเจริญเมตตาเป็นอุบายที่ดีที่สุดสำหรับระงับพยาบาท มีประโยชน์อะไรที่เราจะเผาตัวเราเอง ถ้ามีใครทำความเสียหายให้เราก็ให้นึกว่าเป็นความชั่วของเขา ประโยชน์อะไรที่จะขอแบ่งส่วนความชั่วกับเขาด้วย เรารักษาใจของเราให้เย็นไว้เป็นดี ด้วยอำนาจความเย็นนี่แหละ เขาผู้ทำร้ายทำความเสียหายให้เราจะกลับร้อนและแพ้ภัยไปเอง จะประโยชน์อะไรด้วยการไปซ้ำเติมเขาในเมื่อเขาฉิบหายไปด้วยความชั่วของเขาอยู่แล้ว.

๕. ความเห็นผิด เป็นตัวมารร้ายกาจของใจ มันมีกลมารยาร้อยแปดพันประการ ถ้าสมยอมให้มันเป็นเจ้าจิตใจแล้วจะเสียทีอย่างย่อยยับ กลับตัวไม่ทันเอาทีเดียว ฉะนั้น อย่ายอมให้ความเห็นผิดเข้าครองใจ ความเห็นผิดมันมีมือ คือ วิจิกิจฉา สอดเข้ามากุมจิตใจเราไว้ ถ้ามันจับมั่นไว้ในมือได้แล้ว อย่าหวังว่าจะหลุดจากมือมันง่ายๆ ฉะนั้น ต้องรีบแก้ไข เมื่อเกิดสงสัยในอะไร อย่าทิ้งไว้นาน.

๖. จิตใจไม่ปฏิพัทธ์ในกามคุณ เป็นใจงาม รีบติดตามเจริญจิตใจเช่นนั้นยิ่งๆ ขึ้น.

๗. จิตใจหลุดพ้นจากกามราคะ เป็นใจผ่องแผ้ว ต้องรีบเจริญจิตใจเช่นนั้นให้ผ่องแผ้วยิ่งขึ้น.

๘. จิตใจพรากจากกิเลส ไม่สัมปยุตด้วยกิเลส เป็นใจบริสุทธิ์ ควรรีบรุดเจริญให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นทีเดียว.

๙. จิตใจไม่ถูกกิเลสปกคลุมครอบงำ เป็นใจสะอาดปลอดโปร่ง เป็นเวลามารให้โอกาส ต้องรีบฉวยโอกาสทำความปลอดโปร่งใจยิ่งขึ้นจนถึงที่สุด.

๑๐. จิตใจเป็นหนึ่ง ไม่ซัดส่ายไปตามกิเลส เป็นใจมีเอกภาพ เป็นเอกราช ไม่อยู่ใต้อำนาจของกิเลส ต้องรีบเจริญให้บรรลุถึงภูมิเอกภาพสมบูรณ์.

๑๑. จิตใจมีศรัทธา เชื่อแน่ในกุศลธรรม เป็นใจมีสมรรถภาพในการปฏิบัติ ต้องรีบดำเนินปฏิบัติก้าวหน้า.

๑๒. จิตใจมีความเพียร กล้าหาญในการประกอบกุศลกิจ เป็นใจมีอิทธิพล ต้องรีบดำเนินตามทันที.

๑๓. จิตใจมีสติดี ไม่พลั้งเผลอ ชื่อว่ามีองครักษ์ประจำตัว ต้องรีบรุดดำเนินไปสู่ความมีสติไพบูลย์ยิ่งขึ้น จนถึงความเป็นผู้ตื่นตัวเต็มที่.

๑๔. จิตใจมีสมาธิ เป็นใจมั่นคงแข็งแรง สามารถจะตั้งตัวเป็นหลักฐานได้ จงรีบปฏิบัติเพื่อให้ตั้งตัวได้เต็มที่ต่อไป.

๑๕. จิตใจมีปัญญาปกครองรักษา เป็นใจมีกองทัพแวดล้อม พร้อมที่จะยกเข้าย่ำยีข้าศึกได้จงรีบปฏิบัติการทันที ให้สามารถทำลายรังของข้าศึกได้ อย่าให้ข้าศึกตั้งตัวติด รีบพิชิตข้าศึกคือกิเลสให้ได้ชัยชนะขั้นสุดท้าย.

๑๖. จิตใจสว่างไสวหายมืดมัว เป็นใจที่มีอำนาจเด่นดี มีอิทธิพลสูง สามารถกำจัดรากแก้วของกิเลสได้แล้ว จงรีบรุดขุดรากกิเลสออกให้หมด อย่าให้เหลือเศษแม้แต่น้อย กระทั่งรากฝอยก็อย่าให้เหลือ.

เมื่อได้ปฏิบัติรักษาจิตใจโดยนัยนี้อยู่เสมอ ไม่ละโอกาสอันดี ในเมื่อมีกำลังใจพอสมควรด้วยประการนั้นๆ บำรุงกำลังใจอันมั่นคงไว้ไม่หยุดยั้ง ย่อมมีหวังบรรลุถึงความไพบูลย์ด้วยทิพยอำนาจแน่ๆ ทีเดียว.



จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-15.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...