ผู้เขียน หัวข้อ: บุคคล (ไม่) ธรรมดา : เภสัชกรยิปซี ชีวิตนี้เพื่อผู้ป่วยเอดส์  (อ่าน 1069 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด




เภสัชกรยิปซี ชีวิตนี้เพื่อผู้ป่วยเอดส์

เรามักได้ยินคนพูดเสมอ ๆ ว่า “ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดก็พอแล้ว” แต่มีสักกี่คนที่ทำได้แบบนั้นจริง ๆ เมื่อโอกาสและเวลามาถึง ‘บุคคล (ไม่) ธรรมดา’ ขอพาคุณไปรู้จัก ‘ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์’ เภสัชกรหญิงผู้ทำทุกอย่างเกินกว่าคำว่าหน้าที่ เธออุทิศทั้งชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ในประเทศยากจน ด้วยความรู้อย่างสุดความสามารถ จนได้รับสมญานามว่า ‘เภสัชกรยิปซี’ และรางวัล ‘รามอน แมกไซไซ’ เมื่อปี 2552

all : คุณเรียนรู้การช่วยเหลือผู้อื่นมาจากไหน

กฤษณา : ดิฉันเห็นความเจ็บป่วยมาตั้งแต่เล็ก เนื่องจากคุณพ่อเป็นหมอแผนปัจจุบัน คุณแม่เป็นพยาบาล คุณตาเป็นหมอแผนโบราณ ส่วนคุณยายเป็นแม่ชีค่ะ เห็นคุณพ่อคุณแม่รักษาคนไข้โดยใช้ยาแผนปัจจุบัน เห็นคุณตารักษาคนไข้ด้วยยาสมุนไพร ช่วยคุณตาปั้นยาลูกกลอนตั้งแต่เด็ก ๆ เลยนะ (ยิ้ม) รวมทั้งได้เรียนรู้ธรรมะและการให้จากคุณยายด้วย

all : ทำไมถึงเลือกเรียนเภสัชฯ คุณน่าจะอยากเป็นหมอหรือไม่ก็พยาบาลมากกว่า

กฤษณา : จริง ๆ แล้วตัวเองไม่ได้ชอบทางวิทย์เลยนะคะ ชอบทางศิลป์มากกว่า ชอบดนตรี ชอบการขีด ๆ เขียน ๆ การแต่งกลอนอะไรต่าง ๆ นี่ชอบมาก ฝันอยากเป็นวาทยกรของวงดนตรี ไม่ได้สนใจทางด้านสาธารณสุขเลย แต่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์มา เลยสอบเข้าตามคนอื่นเขา คือ แพทย์ เภสัชฯ ทันตแพทย์ พยาบาล พอดีสอบติดเภสัชฯ ก็เลยเรียน แต่ถ้าถามว่าสนใจเรื่องสุขภาพและการเข้าถึงยาของคนไหม ตอบเลยว่าสนใจค่ะ แต่ก็เป็นเรื่องที่คนทั่วไปสนใจได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนวิทย์ก็ได้

all : พอเรียนจบปริญญาตรี ทำไมถึงตัดสินใจต่อปริญญาโทและปริญญาเอกทันที

กฤษณา : ตอนนั้นยังไม่ค่อยอยากทำงานค่ะ เพราะคิดว่าตัวเองยังมีความรู้ไม่ค่อยมากเท่าไหร่ เลยตัดสินใจไปเรียนต่อประเทศอังกฤษ ซึ่งช่วงก่อนเข้าเรียนปริญญาโท ได้ไปลงเรียนทางด้านดนตรี วรรณคดี วรรณกรรมอะไรต่าง ๆ ด้วย ดิฉันมีสมองทางศิลป์กับทางวิทย์พอ ๆ กัน (ยิ้ม) บางครั้งทางศิลป์มากกว่าวิทย์ด้วยซ้ำ แต่เชื่อว่าการที่คนมีสมองสองด้าน หรือมีทางศิลป์มาก การคิดนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่มักจะเกิดขึ้นง่ายกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาต้องอาศัยจินตนาการ

all : เมื่อเรียนจบด็อกเตอร์ คุณก็กลับมาเป็นอาจารย์เลยหรือเปล่า

กฤษณา : เรียนอังกฤษอยู่ 6 ปี แล้วเป็นไปตามแพทเทิร์นค่ะ พอจบปริญญาเอกไม่รู้จะทำอะไรก็ไปเป็นอาจารย์ ดิฉันไปสอนอยู่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่เลือกมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เพราะไม่ชอบคนเยอะ ๆ ตอนเรียนปริญญาตรีถึงไปเรียนที่เชียงใหม่ไงคะ ดิฉันคิดว่าเราไม่เห็นต้องไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่คนอื่นเขาอยากไปเลย เราไปเรียนที่ไหนก็ได้ มันอยู่ที่ตัวเราต่างหาก

all : คุณย้ายไปทำงานที่สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรมได้อย่างไร

กฤษณา : เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ 2 ปี ก็ลาออกค่ะ รู้สึกว่าอาชีพครูไม่น่าเหมาะกับตัวเอง เพราะว่าอยากลงมือปฏิบัติมากกว่าการพูดเรื่องทฤษฎี เลยมาทำงานที่องค์การเภสัชกรรม โรงงานยาของรัฐที่ใหญ่สุดในประเทศไทย จริง ๆ คุณพ่อเขาเคยฝากงานที่นี่ไว้ให้แล้วตั้งแต่ตอนเรียนจบ เขาคงรู้ว่าลูกชอบงานปฏิบัติมากกว่างานทฤษฎี แต่ตอนนั้นอาจจะเป็นเพราะมีอีโก้สูงหรือเปล่าไม่รู้ เลยไปเป็นอาจารย์เสียก่อน

all : ที่ทำงานใหม่ทำให้คุณได้คิดค้นยาหลายตัว หนึ่งในนั้นคือ ‘ยาต้านเอดส์’ คุณตั้งใจผลิตยาชนิดนี้เพราะอะไรใช้เวลาในการศึกษา วิจัย และทดลองนานแค่ไหน

กฤษณา : ตอนเข้าไปแรก ๆ ก็ทำยาหลายชนิด ยาเบาหวาน, ยาความดัน, ยาคอเลสเตอรอล ฯลฯ ส่วนยาต้านเอดส์นี่เพิ่งมาเริ่มทำตอนช่วงปี พ.ศ. 2535 ค่ะ ตอนนั้นโรคเอดส์เริ่มระบาดในประเทศไทย จำนวนผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยมีเยอะมาก และส่วนใหญ่ไม่ได้รับยาเพราะราคาแพง ต้องใช้เงินถึง 20,000 - 30,000 บาท ต่อคน ต่อเดือน ดิฉันต้องการให้เกิดความเท่าเทียม ทุกคนต้องเข้าถึงยาได้ เลยทำการวิจัยขึ้นมา ใช้เวลา 3 ปี กว่าจะได้ยาตัวแรกขึ้นมา ชื่อว่า ‘AZT’ เป็นยาลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกค่ะ

all : ทราบมาว่าช่วงนั้นต้องทำงานตัวคนเดียว ตอนนั้นรู้สึกยังไง

กฤษณา : ดิฉันเป็นคนมีความมุ่งมั่นนะคะ ถ้าจะทำอะไรต้องทำให้ได้ แม้ว่าจะยากลำบากแค่ไหนก็ตาม ไม่สนใจเรื่องเงินเดือนหรือตำแหน่ง และตอนนั้นไม่ได้รู้สึกน้อยใจหรืออะไรเลยค่ะ ไม่ได้คิดถึงเลย เพราะจะวุ่นอยู่กับการทำยา เป็นคนที่เวลาทำอะไรแล้วจะโฟกัสสิ่งนั้น ไม่คิดเรื่องอื่น เพราะอยากทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้สำเร็จหรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าอย่างน้อยต้องได้ลงมือทำ ต้องบอกว่าดิฉันเอาธรรมะเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานเยอะมาก งานถึงสำเร็จได้ ถ้าเรามีความมุ่งมั่น อดทน ยังไงเราก็ทำได้ค่ะ

all : นอกจากนี้คุณยังคิดค้น ‘ยาต้านเอดส์สูตรคอกเทลล์’ เป็นคนแรกของโลกด้วย

กฤษณา : ตอนนั้นทำยาเอดส์ออกมาหลายตัวแล้วค่ะ ปกติผู้ป่วยเขาต้องกินยาครั้งละ 3 เม็ด มื้อเช้ากับมื้อเย็น ซึ่งถ้าเขาลืมกินยาเม็ดใดเม็ดหนึ่งไปเนี่ย เชื้อจะดื้อยา เลยคิดว่าถ้าเรารวมยาให้อยู่ในเม็ดเดียวกันได้ โอกาสที่เชื้อดื้อยาก็จะน้อยลง เวลาผลิตก็ผลิตครั้งเดียว ราคายาจะถูกลง ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่คิดยาต้านเอดส์สูตรคอกเทลล์ได้ เราใช้เวลาทดลองอยู่ 2 ปี ความยากอยู่ที่เราต้องเอายา 3 ตัวมาผสมเป็นเม็ดเดียวกัน ซึ่งใน 3 ตัวนั้น แต่ละตัวมีขนาดที่ใช้ในรับประทานต่างกัน สัดส่วนในการผสมของแต่ละตัวจึงไม่เท่ากัน ก็เลยต้องคิดค้นสูตรและเทคนิคพอสมควร



all : กว่าจะคิดค้นยาสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย คุณผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร

กฤษณา : ความจริงไม่ได้ยากเย็นอะไรนะคะ มันอยู่ที่ความตั้งใจมุ่งมั่น และไม่ท้อถอยมากกว่า เพราะว่าจริง ๆ แล้วทุกคนสามารถทำได้หมดแหละ แต่เขาจะยอมทำคนเดียวไหม ยอมกินยาที่คิดค้นเอง เพื่อพิสูจน์ว่ายาเรามีประสิทธิภาพทัดเทียมกับยานอกหรือเปล่า ดิฉันมองจุดนี้เป็นความมุ่งมั่นมากกว่าค่ะ ไม่ได้เป็นความฉลาดเฉลียวหรือเก่งกาจอะไรเลย เภสัชคนไหนก็ทำได้ค่ะ อยู่ที่ความตั้งใจและจุดประสงค์ ก่อนหน้านี้พวกยาแคปซูลเนี่ย คนเขาทำเยอะแยะเต็มไปหมด เพียงแค่ยาตัวนี้มีความหมายเป็นพิเศษ เพราะเราต้องการทำให้ผู้ป่วยเอดส์เท่านั้นเอง

all : หลังจากทำงานในองค์การเภสัชกรรมมาสักพักใหญ่ เป็นทั้งผู้อำนวยการสถาบันฯ และผู้คิดค้นยาเอดส์จนประสบความสำเร็จ แล้วทำไมถึงตัดสินใจลาออก

กฤษณา : ดิฉันตัดสินใจลาออกจากองค์การเภสัชกรรมหลังทำงานมา 20 ปี ตอนนั้นต้องการไปช่วยคนอื่น ๆ ในประเทศแอฟริกาอย่างเต็มตัว ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยมีคนเห็นด้วยหรือสนับสนุนเท่าไหร่ แต่ดิฉันก็เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ดี

all : ทราบว่าคุณออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เองทั้งหมด

กฤษณา : บังเอิญดิฉันเป็นคนโชคดี ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเท่าไหร่ ทำให้สามารถรับภาระตรงนั้นได้ จริง ๆ ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจค่ะ ถ้าเราคิดว่ามีแค่นี้เราพอแล้ว เราไม่ต้องหามากกว่านี้อีก มีแค่ไหนพอแค่นั้น แล้วเราก็สามารถแบ่งปันให้คนอื่นได้ โดยไม่เดือดร้อน

all : ตอนไปทวีปแอฟริกาคุณไปช่วยเหลือที่ไหนมาบ้าง แต่ละประเทศมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

กฤษณา : ไปมาทั้งหมด 17 ประเทศค่ะ อยู่บริเวณทะเลทรายซาฮาร่าเกือบทั้งหมด แต่ละประเทศเขาก็ต่างกันนะ หลายคนอาจจะมองว่าเขายากจนพอ ๆ กัน น่าจะเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงวัฒนธรรมของต่างเผ่าไม่เหมือนกันเลยค่ะ ดิฉันต้องปรับตัวให้เข้ากับคนของประเทศนั้น ๆ เพราะว่าต้องทำงานร่วมกับเขา

all : เหตุผลที่คุณมาเป็นอธิการบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิตคืออะไร

กฤษณา : ดิฉันศรัทธา ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีค่ะ คิดว่าจะมาช่วยท่านด้วยใจจริง ๆ ตอนนี้ก็ไม่รับเงินเดือนนะคะ มาเพราะอยากทำ มาเพราะอยากมา บอกกับ ดร.อาทิตย์ ว่าอยากสร้างโรงงานผลิตยาสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน ที่ใครมีความสนใจก็เข้ามาฝึกอบรมได้ ซึ่งท่านอนุมัติ แค่นี้ก็พอใจแล้ว แต่ก็ยังทำงานอยู่ในแอฟริกาด้วย มีโครงการอยู่ 2 - 3 ประเทศ ยังต้องไปทำอยู่ โชคดีที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสื่อสารแล้ว ทำให้การทำงานง่ายขึ้นมากค่ะ

all : คุณมองเรื่องการรักษาโรคเอดส์ในประเทศไทยอย่างไร

กฤษณา : เราก้าวหน้าไปมากเลยนะคะ มีทั้งยาและการป้องกัน เรื่องการศึกษาคนไทยมีพอสมควร ถ้าเทียบกับทางแอฟริกาเนี่ย เราประสบความสำเร็จค่ะ แต่ถ้าถามว่า “เราประสบความสำเร็จมากไหม ?” อันนี้ตอบไม่ได้ว่ามากหรือเปล่า เพราะว่ายาเหมือนดาบสองคม พอมียาปุ๊บพวกวัยรุ่นทั้งหลายเขาจะไม่ค่อยระมัดระวัง เขาคิดว่ายังไงก็มียาใช้ เป็นยาฟรีด้วย ตรงนี้อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นได้ ต้องติดตามกันต่อไป

all : ชีวิตของคุณช่วยเหลือผู้อื่นมาโดยตลอด คุณมีมุมมองความคิดในการดำเนินชีวิตอย่างไร

กฤษณา : ดิฉันเป็นคนไม่หวงอะไรเลย ทั้งชีวิตงกอยู่อย่างเดียวคือเวลา เพราะว่าเวลาเป็นสิ่งที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้ ชีวิตคนเรามันสั้นนิดเดียว ดังนั้นวันเวลาที่มีอยู่เราต้องใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ไม่ใช่ย้ำคิดย้ำทำอยู่เรื่องเดียว ไม่มัวแต่คิดเรื่องในอดีตหรืออนาคต อยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ คิดในแง่บวก แล้วชีวิตจะมีความสุขค่ะ

all : อยากฝากอะไรถึงเยาวชนหรือคนในสังคมบ้างไหม

กฤษณา : อยากให้ทุกคนรู้จักนึกถึงคนอื่นค่ะ เพราะเราอยู่คนเดียวไม่ได้ในโลกใบนี้ ถ้าเรามีความสุขอยู่คนเดียวแต่คนรอบข้างเราทุกข์หมดเลย ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ ฉะนั้นการนึกถึงคนอื่นมีความสำคัญค่ะ ถ้าเรามีเมตตา รู้จักแบ่งปัน เมื่อยิ่งให้เราจะยิ่งได้ เราให้อะไรไปเดี๋ยวก็กลับคืนเรามาหมดนั่นแหละ ทุกครั้งที่ทำดิฉันไม่ได้หวังหรอกว่ามันจะกลับมา ถ้าเราให้ด้วยใจบริสุทธิ์ ยังไงเราก็ได้

    เภสัชกรหญิงคนนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ถ้าคุณคิดจะทำสิ่งดีด้วยความมุ่งมั่น ไม่ว่าอุปสรรคจะใหญ่แค่ไหนก็แพ้ใจที่แน่วแน่

จาก http://www.all-magazine.com/ColumnDetail/allColumDetail/tabid/106/articleType/ArticleView/articleId/5389/---.aspx
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 16, 2016, 01:09:22 am โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...