ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อคนไทยแต่งตัวไปนอก! ทรงหลักแจวต้องจอด ฟันต้องขัดขาว กำเนิดราชปะแตน!!  (อ่าน 1093 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พร้อมผู้ตามเสด็จไปนอก

สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นยุคที่ไทยเราเริ่มเปิดประตูรับอารยะธรรมตะวันตก ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่พูด เขียนภาษาอังกฤษได้คล่อง และรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จไปต่างประเทศ
       
       เมื่อ ร.๕ ขึ้นครองราชย์นั้นมีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งก็เป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์อีกเช่นกันที่มีตำแหน่งนี้ สมเด็จเจ้าพระยาเป็นคนหนึ่งที่คบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศ ได้ทราบความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากของประเทศในเอเซียที่ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก จึงมีความคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวควรจะถือโอกาสนี้ เสด็จไปทอดพระเนตรความเปลี่ยนแปลงของประเทศที่ได้รับอารยธรรมตะวันตกบ้าง จะได้เป็นประโยชน์เมื่อถึงเวลาทรงว่าราชการด้วยพระองค์เอง
       
       เมื่อนำความเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ทรงยินดี และใคร่จะเสด็จไปยุโรป แต่สมเด็จเจ้าพระยาเห็นว่าไกลเกินไป ต้องผ่านทะเลใหญ่หลายแห่ง เรือที่จะไปได้โดยปลอดภัยก็ไม่มี ครั้นจะให้เสด็จไปโดยเรือโดยสารอย่างสามัญชนก็จะเสียพระเกียรติ จึงทูลเสนอให้ไปสิงค์โปร์ในความปกครองของอังกฤษ และชวาในความปกครองของฮอลันดาก่อน ครั้งต่อไปจึงไปอินเดีย ครั้งนี้ใช้เรือพิทยัมรณยุทธ ซึ่งเรือเหล็กที่เพิ่งสั่งต่อมาจากสก๊อตแลนด์ เป็นเรือพระที่นั่ง และมีเรือรบอีก ๒ ลำที่ต่อเองในกรุงเทพฯ เป็นเรือนำและตามเสด็จ
       
       การเสด็จต่างประเทศครั้งแรกนี้ สิ่งสำคัญในการเตรียมตัวอย่างหนึ่งก็คือ “การแต่งตัวไปนอก”ของขบวนผู้ตามเสด็จ ซึ่งตอนนั้นคนไทยเรามีเอกลักษณ์ในการแต่งตัวเป็นแบบของเราโดยเฉพาะ ครั้นจะแต่งตัวแบบไทยไปเดินในเมืองนอก ฝรั่งก็จะดูเป็นตัวประหลาด เหมือนฝรั่งที่เข้ามาเมืองไทยมองเห็นการแต่งตัวของคนไทยแล้วขบขัน ฉะนั้นเมื่อเข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม จึงต้องมีการปรับปรุงเรื่องนี้กันครั้งใหญ่ในหมู่ผู้ตามเสด็จ ๒๐๘ คน
       
       อันดับแรกก็คือ “ทรงผม” คนไทยมีทรงผมยอดฮิตที่นิยมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเวลาร้อยๆปีไม่เปลี่ยนแปลง และไว้ตามกันทั้งบ้านทั้งเมือง คือเด็กทั้งผู้ชายผู้หญิงไว้ผมจุก ผู้ใหญ่ผู้ชายไว้ “ทรงมหาดไทย” หรือ “ทรงหลักแจว” กร้อนเกรียนรอบหัวเหมือนกะลาครอบ เหลือไว้ด้านบนยาวประมาณ ๔ ซม. แล้วหวีแต่งตามแต่จะเห็นงาม ส่วนใหญ่จะแสกกลางผ่าออกเป็นสองซีก ส่วนผู้หญิงไว้ “ผมปีก” ตัดสั้นรอบหัวไว้ยาวแต่ด้านบนเหมือนผู้ชายเช่นกัน และไว้ผมเป็นภู่ริมหูทั้ง ๒ ข้าง ที่เรียกว่า “ผมทัด”สำหรับห้อยดอกไม้ ซึ่งฝรั่งเห็นเป็นของแปลกเหมือนตัวตลก เมื่อคณะทูตไทยไปอังกฤษ ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็ต้องไว้ผมยาวแบบฝรั่งไปเหมือนกัน การไปนอกครั้งนี้จึงต้องมีเวลาให้พวกทรงหลักแจวปล่อยผมให้ยาวแบบเดียวกับฝรั่งก่อน ยกเว้นแต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสี ที่ยังทรงพระเยาว์ ไปทั้งพระเกศาจุก
       
       อีกเรื่องที่สำคัญคือ “ฟัน” คนไทยนิยมกินหมาก ยางหมากจึงจับฟันดำ เลยนิยมกันว่าฟันดำเป็นฟันสวย เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กวีเอกของกรุงศรีอยุธยา ยังทรงพระนิพนธ์ชมความงามของผู้หญิงไว้ว่า “พิศฟันรันเรียงเรียบ เป็นระเบียบเปรียบแสงนิล” ฟันสวยต้องสีนิล บ้างก็หนักถึงขั้นว่า “ฟันดำคือฟันคน ฟันขาวคือฟันหมา” ตอนที่รัชกาลที่ ๔ เสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ เซอร์แฮรี ออด ผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ยังบันทึกไว้ว่า พระองค์หญิงวัยรุ่นที่ออกรับแขกเมืองด้วยนั้น หน้าตาสะสวย มารยาทงาม แต่ฟันดำทุกพระองค์ ดังนั้นคนที่จะตามเสด็จไปนอกครั้งนี้จึงต้องเลิกกินหมาก แล้วใช้เปลือกหมากหรือกิ่งข่อยทุบปลายให้เป็นแปลง หมั่นขัดฟันทุกวันจนขาวเหมือนฟันฝรั่ง (ก็เหมือนฟันหมานั่นแหละ)
       
       ส่วนเครื่องแต่งกาย ตอนนั้นทั้งฝ่ายทหารและข้าราชการพลเรือนมีเครื่องแบบแล้ว แต่นุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน ไม่ใส่ถุงเท้ารองเท้า ไปนอกครั้งนี้ก็คงเอกลักษณ์เดิม ยังไม่นุ่งกางเกงแบบฝรั่ง แต่ให้ใส่ถุงเท้าแบบยาวและรองเท้าหนัง ไม่ให้ฝรั่งดูถูกว่าป่าเถื่อนเดินเท้าเปล่า
       
       เรือพระที่นั่งออกจากท่าราชวรดิฐไปในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๑๓ และกลับมาถึงกรุงเทพฯในวันที่ ๑๕ เมษายนต่อมา
       
       หลังจากเสด็จต่างประเทศครั้งนี้แล้ว ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในราชสำนักและระบอบการปกครองของไทยหลายอย่าง ให้ข้าราชการไว้ผมยาว เลิกทรงมหาดไทยเสียที แต่ไม่ห้ามไปถึงราษฎร เมื่อชาวบ้านเห็นบุคคลระดับสูงไว้ผมยาวก็เลยไว้ตามไฮโซกันมากขึ้น แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ส่วนใหญ่รับผมทรงฝรั่งไม่ได้ ยังคงไว้ทรงมหาดไทยตามเดิม แม้แต่สมเด็จเจ้าพระยาก็ยังไม่ยอมไว้ทรงฝรั่ง ตัดสั้นรอบศีรษะแบบทรงมหาดไทย ไว้ยาวด้านบน ทรงนี้มีคนไว้ตามเหมือนกัน เรียกกันว่า “รองทรง”
       
       ส่วนผู้หญิงก็ยังไม่ยอมเลิกผมปีก กลัวว่าผมยาวจะไม่เก๋เหมือนทรงเก่า เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เจ้าของตำนาน “รักแรกของ ร.๕” จึงอาสาเป็นผู้นำ ไว้ผมยาวเป็นคนแรกของราชสำนัก แรกๆก็ถูกค่อนขอดอยู่พัก ไม่ช้าก็มีพวกนางในไว้ตาม ต่อมาก็แพร่ไปทั้งวังจนลามออกมาข้างนอก ทำให้ “ผมปีก”หายไปพร้อมกับ “ทรงมหาดไทย”
       
       ต่อมาในเดือนธันวาคม ๒๔๑๕ ได้เสด็จไปอินเดีย มีการพัฒนาเครื่องแต่งกายไปจากเมื่อครั้งไปสิงคโปร์ขึ้นอีก แต่การใส่เสื้อนอกแบบฝรั่งต้องใส่เสื้อเชี๊ตภายใน ทั้งยังต้องผูกเนคไทร์ พออากาศร้อนออกไปเดินนอกอาคาร ทำให้เหงื่อชุ่มโชก ฉะนั้นเมื่อเสด็จไปร้านตัดเสื้อแบบยุโรปที่เมืองกัลกัตตา จึงทรงปรารภกับช่างให้ช่วยออกแบบเสื้อนอกให้ใหม่ ไม่ต้องเปิดอกแบบฝรั่ง แต่ให้ปิดตั้งแต่คอ กลัดกระดุมตลอดอก เพื่อไม่ต้องใส่เสื้อเชิ้ตและผูกไทร์ เมื่อช่างทำเสื้อตามรับสั่งมาถวายก็โปรด แต่ยังไม่มีชื่อเรียกเสื้อแบบใหม่นี้ เวลานั้นเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ยังเป็นว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ ทำหน้าที่ราชเลขานุการ อาสาคิดชื่อเสื้อ แล้วเอาคำว่า “ราช”ในภาษามคธคำหนึ่ง กับคำว่า “Pattern”ในภาษาอังกฤษอีกคำหนึ่ง มารวมกันเป็น “Raj Pattern” แปลว่า “แบบหลวง” ต่อมาก็เพี้ยนเป็น “ราชปะแตน” มีการใช้เสื้อแบบนี้กันแพร่หลาย เป็นเสื้อนอกแบบไทย
       
       แต่การนุ่งผ้าแบบโจงกระเบน ม้วนปลายผ้าที่นุ่งเป็นหาง แล้วลอดหว่างขาไปเหน็บปลายไว้ที่เอวด้านหลัง ยังคงใช้กันตลอดมาทั้งผู้หญิงผู้ชาย ตอนสมัยรัชกาลที่ ๗ ผู้ชายหลายคนหันไปนุ่งกางเกงแพรแบบจีน บางคนก็ใส่สีเสียสดใสทั้งแดงและเขียว แล้วใส่เสื้อราชปะแตน ดูแปลกตาดี ส่วนคนกินหมากก็ไม่ยอมเลิกง่ายๆ เพราะเป็นยาเสพติดเหมือนบุหรี่ คนที่ขัดฟันขาวคราวตามเสด็จไปสิงคโปร์ กลับมาก็หิวหมากจนฟันดำอีก ต่อมาสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ใน พ.ศ.๒๔๘๒ ก็ยังมีคนบ้วนน้ำหมากสีแดงไว้ตามถนนเป็นหย่อมๆเหมือนกองเลือด ดูสกปรกเลอะเทอะ จึงมีการออก “รัฐนิยม”เป็นกฎหมายหลายฉบับ เปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปมาก การกินหมากและโจงกระเบนจึงหมดไปจากสังคมไทย กลายเป็นสังคมของคนฟันขาวและนุ่งกางเกงขายาว นุ่งกระโปรงแบบฝรั่ง การแต่งกายและทรงผมรวมทั้งฟันของคนไทย จึงไม่แตกต่างไปจากชาวตะวันตก
       
       เมื่อประมาณ ๔๐ กว่าปีก่อน ผู้เขียนขึ้นเครื่องบินไปฮ่องกง อุตส่าห์ใส่เสื้อนอกผูกไทร์ตามฝรั่งเสียโก้ แต่เจอเอาฝรั่งนุ่งกางเกงแบบชาวเลใส่เสื้อยืด ลากรองเท้าแตะ ส่งกลิ่นคลุ้งไปทั้งลำ ตอนนี้ไปเที่ยวพระบรมมหาราชวัง ก็เจอแหม่มที่จะเข้าไปชมความโอ่อ่างดงามของศิลปกรรมไทย ต้องไปเช่าเสื้อคลุมไหล่และกระโปรงยาว คลุมกางเกงขาสั้นและเสื้อเปิดอกก่อนเข้า ดูแล้วตลกไม่ต่างกับทรงมหาดไทย
       
       หนอย...มาชวนให้เราแต่งตัวตาม บอกว่าเป็นอารยะธรรมของผู้ศิวิไลซ์ ตอนนี้ต้องให้เราสอนการแต่งตัวอย่างมีมารยาท เหมาะสมกับสถานที่ให้ซะแล้ว


ร.๕ ขณะพระชนมายุ ๑๖ พรรษา


การแต่งตัวของหนุ่มสาวสมัย ร.๕


ทรงผมยอดฮิตของคนไทยในอดีต


เจ้าคุณพระประยูรวงศ์นำเป็นตัวอย่าง


สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชุดราชปะแตน


การแต่งกายของคณะราชทูตไทยไปอังกฤษในสมัย ร.๔

จาก http://astv.mobi/ALGEqJA
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...