ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพธรรมสายวัดป่า  (อ่าน 2287 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพธรรมสายวัดป่า

เรื่อง ศิษย์แว่น  ภาพ วรวุฒิ วิชาธร, สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม สำหรับการอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพหุ่นขี้ผึ้ง หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

 

คงมีพุทธศาสนิกชนชาวไทยน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักนามพระครูวินัยธร  ภูริทัตโตหรือหลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต  เนื่องจากถือกันว่าท่านคือพระบุพพาจารย์แห่งพระวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทย  อันเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นศึกษาและปฏิบัติภาวนาอย่างจริงจังจนบรรลุถึงธรรม  โดยท่านจะพำนักอยู่ตามป่าเขาเป็นที่มาของชื่อที่เรียกขานกันว่า พระฝ่ายอรัญวาสี  พระธุดงคกรรมฐาน  หรือ พระป่า


 

จวบจนถึงปัจจุบัน  แม้ท่านได้ละสังขารไปนานกว่า 6 ทศวรรษแล้ว  หากคำสอนเรื่องราวการธุดงค์ตามป่าเขาและการเผยแผ่พุทธศาสนายังสถานที่ต่าง ๆ ด้วยจริยวัตรปฏิปทาอันงดงามของหลวงปู่มั่น ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำและสร้างศรัทธาในหมู่ชาวพุทธรุ่นแล้วรุ่นเล่า…อย่างไม่เสื่อมคลาย

 

ชีวิตปฐมวัยและจิตใจที่ใฝ่ธรรม

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…เด็กชายคนหนึ่งนามว่า “มั่น แก่นแก้ว”ได้ถือกำเนิดขึ้นในวันพฤหัสบดี เดือนยี่  ปีมะแม  ตรงกับวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413ณ บ้านคำบง  ตำบลโขงเจียม  อำเภอโขงเจียม  จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือบ้านคำบง  ตำบลสงยาง  อำเภอศรีเมืองใหม่จังหวัดอุบลราชธานี)

เด็กน้อยเติบโตขึ้นด้วยความศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  นับตั้งแต่ที่มีโอกาสบรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบงตอนอายุ 15 ปี ท่านได้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างคร่ำเคร่งจริงจังจนมีความเจริญก้าวหน้าในทางธรรมอย่างรวดเร็ว สามเณรมั่นมีความประพฤติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของครูบาอาจารย์  แต่หลังจากบวชเรียนได้เพียง 2 ปีก็ต้องลาสิกขาตามคำขอร้องของ นายด้วง แก่นแก้ว ผู้เป็นพ่อ  ที่อยากให้ลูกชายคนโตมาช่วยงานของครอบครัว

ทว่าจิตใจของเด็กชายมั่นยังคงฝักใฝ่ในธรรมอยู่เสมอ  กอปรกับยึดมั่นในคำกล่าวของผู้เป็นยายที่ว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายากนัก”เมื่อเจริญวัยขึ้นและน้อง ๆ เริ่มโตพอจะช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้านได้แล้ว  นายมั่นในวัย 22 ปี จึงสบโอกาสขอพ่อแม่กลับเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ดังที่ใจปรารถนา  โดยอุปสมบทเป็นภิกษุในธรรมยุติกนิกาย  เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436  และจำพรรษาอยู่ที่สำนัก พระอาจารย์เสาร์  กันตสีโล  หรือหลวงปู่เสาร์  ณ วัดเลียบ  จังหวัดอุบล-ราชธานี  โดยได้รับฉายาว่า “ภูริทัตโต”  ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด” และฉายานี้ก็เป็นดั่งคำทำนายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนเส้นทางธรรมที่ทอดยาวของท่านในเวลาต่อมา…



จุดเริ่มต้นของการถวายชีวิตเพื่อการหลุดพ้น

เมื่อแรกอุปสมบท  ภิกษุมั่นได้เริ่มศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้นเกี่ยวกับพระวินัยและข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ  คือ  เดินจงกรมนั่งสมาธิ  และสมาทานธุดงควัตรต่าง ๆภายใต้การดูแลของหลวงปู่เสาร์  ซึ่งเห็นแววว่าลูกศิษย์ผู้นี้มีโอกาสจะบรรลุธรรมได้ท่านจึงเปิดโอกาสให้ร่วมฝึกกรรมฐาน  ทั้งยังให้ติดตามไปธุดงค์ตามที่ต่าง ๆ ด้วย

สถานที่แรกที่ภิกษุหนุ่มติดตามจาริกไปกับพระอาจารย์คือ ภูหล่น  จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งพระมั่นสามารถทำสมาธิอย่างถูกต้องได้เป็นครั้งแรก  ความปีติในครั้งนั้นทำให้พระลูกศิษย์ให้คำมั่นกับพระอาจารย์ว่า

“ตั้งแต่วันนี้ต่อไป  ผมขอถวายชีวิตนี้ต่อพรหมจรรย์  ขอให้ครูบาอาจารย์เสาร์จงเป็นพยานด้วยเถิด”

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งตำนานการธุดงค์ของหลวงปู่มั่น  ก่อนที่การจาริกแสวงธรรมอีกหลายครั้งจะเกิดขึ้นตามมาอย่างไม่ขาดสาย

 

ตามรอยธุดงควัตร

ในสมัยพุทธกาล  “ธุดงค์” คือ วัตรหรือแนวทางปฏิบัติ 13 ข้อ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ให้พระสงฆ์ที่ตั้งใจสมาทานความเพียรได้เลือกนำไปปฏิบัติตามความสมัครใจ  เพื่อมุ่งกำจัดกิเลสและขัดเกลาจิตใจ  แต่ต่อมาความหมายของธุดงค์ได้เปลี่ยนแปลงไป  โดยหมายถึง วัตรของพระภิกษุที่แบกกลดเข้าป่าเพื่อฝึกปฏิบัติซึ่งกล่าวกันว่า การถือสันโดษเช่นนี้จะช่วยให้จิตพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว  แตกต่างจากการอยู่สถานที่เดิมเป็นเวลานาน ๆ  ซึ่งจะทำให้ติดสถานที่และได้รับความสะดวกมากเกินพอดี

เช่นเดียวกับการฝึกตนในช่วงแรกของพระมั่น  ที่แม้จะก้าวหน้าไปโดยลำดับ  แต่ในที่สุดท่านก็ตระหนักว่า  “ยังไปได้ไม่ไกลเท่าไร”  ท่านจึงตัดสินใจออกธุดงค์ไปในป่าเพียงลำพัง  ทั้งที่การเดินทางในสมัยนั้นนับว่ายากลำบากมาก  เพราะยังไม่มีการบุกเบิกเส้นทางหรือตัดถนนกันทั่วประเทศอย่างทุกวันนี้  แต่นั่นไม่ได้ทำให้จิตใจที่มุ่งมั่นเข้าถึงธรรมอันถ่องแท้ของพระมั่นย่อท้อลงเลย

การธุดงค์ในเวลานั้นต้องเผชิญกับภัยอันตราย ทั้งจากคน  สัตว์ป่า  ไปจนถึงโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ นานาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  ส่วนในทางจิตใจก็ต้องต่อสู้กับกิเลส  สิ่งเร้าความรู้สึกหรือเวทนาต่าง ๆที่เกิดขึ้นตลอดเวลา  แต่พระมั่นก็ยังคงไม่หวั่นเกรงต่อสารพันอุปสรรคและสารพัดเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญ  จนก่อเกิดเป็นประสบ-การณ์ทางธรรมอันล้ำค่า  และกลายเป็นโอวาทธรรมสำหรับสั่งสอนลูกศิษย์ในเวลาต่อมาว่า…

“บรรดานักปฏิบัติต้องให้เฉลียวฉลาดรู้เท่าทันโจร  เมื่อรู้เท่าทันโจรแล้ว  โจรย่อมไม่มีโอกาสลักสิ่งของไปได้  แม้ฉันใดปฏิบัติให้มีสติและปัญญารักษาตน  กิเลสก็มิอาจเข้าถึงได้”

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าการธุดงค์จะถือเป็นการฝึกตนที่สำคัญ  แต่หลวงปู่มั่นก็ไม่ละเลยการศึกษาหาความรู้ด้านปริยัติ  ท่านกล่าวว่า

“ปริยัติ  ปฏิบัติ  ปฏิเวธ  จะแยกกันไม่ได้  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี  ปริยัติ  ปฏิบัติปฏิเวธ  ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น  สัทธรรมสามอย่างนี้จะแยกกันไม่ได้เลย”

ด้วยเหตุนี้การฝึกตนของท่านจึงดำเนินไปตามสามหลักนี้อย่างเคร่งครัด  ผ่านการบุกป่าฝ่าดงนับร้อย ๆ กิโลเมตร  ออกธุดงค์ไปพำนักตามที่วิเวกต่าง ๆ  โดยให้การสงเคราะห์ทางธรรมแก่ชาวบ้านที่พบปะตามรายทางที่ผ่านไปด้วย  รวมถึงครั้งที่ท่านจาริกไปยังภาคเหนือ  และได้สงเคราะห์สาธุชนในสถานที่ต่าง ๆ เป็นเวลานานถึง 11 ปี

ตัวอย่างที่สื่อถึงความเมตตาอันสูงส่งของหลวงปู่มั่นอย่างชัดเจนคือ  คราวที่ท่านธุดงค์ไปยังจังหวัดเชียงใหม่  และมีโอกาสสอนธรรมะแก่ชาวเขา  ตลอดเวลาหลายเดือนที่พำนักอยู่ที่นั่น  ท่านพยายามถ่ายทอดธรรมะจนกระทั่งทำให้ชาวเขาเหล่านั้นสนใจการปฏิบัติธรรมและภาวนาด้วยวิธีบริกรรม“พุทโธ” ได้ทั้งหมู่บ้าน

การธุดงค์ครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาเจริญงอกงามขึ้นในหมู่ชาวเขาแถบนั้นล่วงมาจนถึงปัจจุบัน




สุบินนิมิตในชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์

ตลอดเส้นทางธรรม  หลวงปู่มั่น  ภูริ-ทัตโต ทุ่มเทชีวิตให้กับการบำเพ็ญธุดงควัตรไม่เว้นวาย  จนส่งผลเป็นประสบการณ์ทางธรรมที่มีคุณค่ามากมาย  ขณะที่หลายครั้งก็เกิดเป็นเรื่องราวที่ยากจะอธิบายได้

เรื่องหนึ่งซึ่งได้รับการเล่าขานมายาวนานคือเรื่องราวระหว่างที่หลวงปู่มั่นได้เพียรปฏิบัติภาวนาจนมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องกระทั่งเกิดสุบินนิมิตประหลาดขึ้น  ครั้งนั้นท่านได้เดินทางจาริกจากนครราชสีมาเข้าป่าดงพญาเย็น  เพื่อแสวงหาวิเวกไปเรื่อย ๆจนถึงบริเวณน้ำตกสาริกา  จังหวัดนครนายกอันเป็นป่าทึบและมีสัตว์ป่าชุกชุม  แต่ถึงแม้สภาพแวดล้อมจะดูไม่น่าไว้วางใจ  ท่านก็ตัดสินใจเข้าไปบำเพ็ญภาวนาในถ้ำไผ่ขวางซึ่งมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น  แม้ชาวบ้านจะทัดทานว่าเคยมีพระธุดงค์ไปมรณภาพในถ้ำที่มีบรรยากาศน่าสะพรึงกลัวแห่งนั้นมาแล้วถึง 6 รูป  แต่หลวงปู่มั่นก็ยังยืนยันจะพำนักอยู่ที่นั่น  โดยกล่าวกับชาวบ้านว่า

“ขอให้อาตมาเป็นองค์ที่ 7 ก็แล้วกัน”

จากนั้นท่านก็จัดแจงสถานที่และเดินดูรอบ ๆ บริเวณ  พอตกค่ำฟ้ามืดสนิท  ท่านก็เริ่มบำเพ็ญภาวนา  นั่งสมาธิโดยจิตเกิดความสงบตลอดคืน  แต่แล้วในวันถัดมาหลังจากที่หลวงปู่มั่นออกบิณฑบาตและฉันอาหาร  ท่านก็เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง  เมื่อสังเกตดูอุจจาระพบว่า  อาหารที่ฉันเข้าไปยังอยู่ในสภาพเดิมคือไม่ย่อยจึงเข้าใจว่าพระรูปก่อน ๆ คงมรณภาพไปด้วยเหตุนี้  หลวงปู่มั่นจึงรำพึงกับตัวเองว่า “เราก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น” กระนั้นด้วยความเด็ดเดี่ยวในธรรมและมุ่งมั่นไม่กลัวตาย  ท่านจึงตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า

“หากจะตายขอตายตรงนี้  ขอให้ร่างกายหล่นลงไปในเหวนี้  จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายเดือดร้อนแก่ใคร ๆ  ถ้าไม่รู้แจ้งเห็นจริงก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด”

จากนั้นท่านใช้ธรรมโอสถรักษาอาการป่วยไข้เจียนตาย  ด้วยการนั่งสมาธิ  พิจารณาธรรม แยกธาตุขันธ์  เจริญอสุภกรรมฐาน ณ บริเวณถ้ำแห่งนั้นติดต่อกันเป็นเวลา3 วัน 3 คืน

ขณะที่จิตของท่านดำเนินไปอย่างได้ผลก็ปรากฏนิมิตเป็นลูกสุนัขกำลังกินนมแม่ท่านพิจารณาใคร่ครวญดูว่าเหตุใดจึงมีนิมิตขึ้นมาได้  เพราะปกตินิมิตจะเกิดจากการปฏิบัติสมาธิในระดับที่ยังไม่เป็นวสีหรือยังไม่มีความชำนาญเท่านั้น  เมื่อท่านกำหนดจิตพิจารณาจึงเกิดญาณรู้ว่า  ลูกสุนัขตัวนั้นก็คือตัวท่านเอง  ซึ่งในอดีตเคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ตรงนี้มาหลายชาติด้วยกัน

เมื่อหลวงปู่มั่นได้ทราบความเป็นไปในอดีตชาติของตน  ก็เกิดความสลดเป็นอย่างมาก  ทั้งเกิดความสงสัยว่า  ในเมื่อจิตของท่านยังคงเจิดจ้าอยู่  ทำไมจึงไม่สามารถพิจารณาธรรมให้ยิ่งขึ้นไปได้  ท่านจึงนำสิ่งที่ได้พบมาพิจารณาธรรมในข้อที่ว่า “กายะทุกขัง  อริยสัจจัง”  เพื่อพยายามค้นให้พบว่าท่านเคยเกิดเป็นอะไรอีก  จนกระทั่งพบความจริงว่า  ในสมัยพระศาสนาของพระพุทธโคดม  ตัวท่านเคยปรารถนาที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  ซึ่งเป็นเหตุให้การพิจารณาธรรมนั้นพร่ามัว  และต้องสั่งสมบารมีชาติแล้วชาติเล่ากว่าที่ธรรมจะก้าวหน้าสูงสุด  ด้วยเหตุนี้ท่านจึงถอนความปรารถนาดังกล่าว  และหันมามุ่งมั่นที่จะพ้นทุกข์ในชาติปัจจุบันแทน

ต่อจากนั้นหลวงปู่มั่นก็เกิดนิมิตขึ้นอีกว่า  มียักษ์ตนหนึ่งจะเข้ามาทำร้าย  แต่ไม่สามารถทำอันตรายท่านได้  ในที่สุดยักษ์ก็ยอมศิโรราบ  ก่อนจะเนรมิตกายเป็นเทพบุตรและกล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งในเวลาต่อมา  จิตของท่านจึงรวมเห็นโลกทั้งใบราบเรียบเตียนลงจนเหลือเพียงความว่างเปล่าภายในจิตในถ้ำแห่งนั้นเอง

หลวงปู่มั่นได้พบเห็นนิมิตในสมาธิอยู่เป็นประจำ  จนครั้งหนึ่งเมื่อท่านเดินสวนทางกับ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์  สิริจันโท)  ท่านเจ้าคุณกล่าวกับหลวงปู่มั่นเป็นภาษาบาลีว่า “อฏฺฐงฺคิโกมคฺโค” (ทางมีองค์ 8 คือเครื่องไปจากข้าศึกคือกิเลส)  แล้วก็เดินจากไป  ผลที่ติดตามมาก็คือ  หลวงปู่มั่นยังคงเห็นนิมิตในสมาธิอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 3 เดือน จนในที่สุดก็ไม่มีนิมิตใด ๆ เกิดขึ้นอีก  เหลือเพียงความสุขสงบอันสุดจะประมาณได้  หลวงปู่มั่นกล่าวถึงสภาวะอันสำคัญนั้นไว้ว่า

“ตนของตนถึงความบริสุทธิ์แน่จริงหมดจากกิเลสแล้ว”



กำเนิดกองทัพธรรม

หลังจากบรรลุธรรมแล้ว  หลวงปู่มั่นได้เดินทางกลับไปยังภาคอีสาน  พร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดความรู้ด้านการภาวนาที่ท่านเพียรศึกษามาอย่างยาวนาน

กระนั้นความตั้งใจของท่านก็ไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้โดยง่าย  เนื่องจากเวลานั้นผู้รู้ด้านวิปัสสนามีไม่มากนัก  และชาวบ้านในท้องถิ่นต่างก็สนใจแต่เรื่องเครื่องรางของขลังหรือไสยศาสตร์กันมาก  หลวงปู่มั่นจึงต้องใช้เวลาในการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจด้านหลักธรรมและอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนาแก่ผู้คนอยู่นาน  โดยมุ่งหวังเพียงเพื่อให้คนพ้นทุกข์  โดยปฏิบัติตามแนวทางคำสอนขององค์พระศาสดาและยึดถือธุดงควัตร 13 ประการอย่างเคร่งครัดจนลูกศิษย์ลูกหาต่างประจักษ์ถึงญาณความรู้ของหลวงปู่มั่นที่ทั้งกว้างขวางและแม่นยำ

หลวงปู่ได้วางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าแก่สมณะและประชาชนอย่างกว้างขวางดังที่ หลวงตามหาบัว  ญาณสัมปันโนกล่าวไว้ในหนังสือ “หยดน้ำบนใบบัว” ว่า

“…พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น  ท่านพาดำเนินอย่างถูกต้องแม่นยำ  ถือเอาธุดงควัตร 13 นี้เป็นพื้นเพในการดำเนิน  และการประพฤติปฏิบัติจิตใจของท่านก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอไม่นอกลู่นอกทางทำให้ผู้อื่นเสียหาย  และริจะทำเพื่อความเด่นความดังอะไร ออกนอกลู่นอกทางนั้นไม่มี  เป็นแนวทางที่ราบรื่นดีงามมาก

“…หลักวินัยคือกฎของพระ  ระเบียบของพระ  ท่านตรงเป๋งเลย  และหลักธรรมก็ยึดธุดงค์ 13 ข้อนี้เป็นทางดำเนิน  ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางนี้ไปอย่างทางอื่นบ้างเลยนี่จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกของท่าน  ต่อจากนั้นท่านก็ปรากฏเห็นผลขึ้นมาโดยลำดับ…”

ด้วยความถึงพร้อมทั้งปฏิบัติ  ปริยัติและปฏิเวธเช่นนี้  หลวงปู่มั่นจึงได้รับการยกย่องจากผู้ที่มีศรัทธาในพุทธศาสนาทั้งหลายว่า “เป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร”และมีผู้ติดตามศึกษาอบรมกับท่านเป็นจำนวนมาก  ทำให้พระป่าสายพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกขณะจนสามารถขยายงานการเผยแผ่ธรรมในภาคอีสานได้อย่างกว้างขวาง  โดยเฉพาะในจังหวัดอุดรธานี  หนองคาย  นครพนม สกลนคร  อุบลราชธานี  และขอนแก่น

จากนั้นแนวทางการสอนของท่านก็แพร่กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ เกิดเป็นกองทัพธรรมอันเข้มแข็ง  มีศิษยานุศิษย์เป็นพระเถระซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของสมณะและประชาชนมากมายในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย



ปัจฉิมวัยและมรดกธรรมที่ไม่ดับไปพร้อมสังขาร

แม้จะล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัย  แต่หลวงปู่มั่นก็ยังคงเผยแผ่ความรู้ด้านวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจังอยู่เช่นเดิม  อีกทั้งยังเทศนาธรรมอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำทุกวัน

จวบจนอายุย่างเข้า 80 ปี  หลวงปู่มั่นก็เริ่มอาพาธ  แม้จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากศิษย์ที่ใกล้ชิด  หากอาการอาพาธก็มีแต่ทรงกับทรุดลง  แต่กระนั้นท่านก็ยังคงให้โอวาทธรรมแก่ประชาชนที่มาเยี่ยมดูอาการอยู่หลายครั้ง  ดังเช่นครั้งที่วัดป่ากลางโนนภู่บ้านกุดก้อม  ซึ่งท่านได้ให้โอวาทไว้ว่า

“พวกญาติโยมพากันมามาก  มาดูพระเฒ่าป่วย  ดูหน้าตาสิ  เป็นอย่างนี้ละญาติโยมเอ๋ย  ไม่ว่าพระ ไม่ว่าคน  พระก็มาจากคน  มีเนื้อมีหนังเหมือนกัน  คนก็เจ็บป่วยได้  พระก็เจ็บป่วยได้  สุดท้ายก็คือตาย  ได้มาเห็นอย่างนี้แล้วก็จงพากันนำไปพิจารณา  เกิดมาแล้วก็แก่  เจ็บ  ตายแต่ก่อนจะตาย  ทานยังไม่มีก็ให้มีเสีย  ศีลยังไม่เคยรักษาก็รักษาเสีย  ภาวนายังไม่เคยเจริญก็เจริญให้พอเสีย  จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาด้วยความไม่ประมาท  นั้นละจึงจะสมกับที่ได้เกิดมาเป็นคน…”

จวบจนเวลา 02.23 น.  ของวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492  หลวงปู่มั่นก็มรณภาพด้วยอาการสงบ  โดยหลวงตามหาบัว  ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในเวลานั้นไว้ในหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่นฯ ว่า

“ดวงประทีปที่เคยสว่างไสวมาประจำชีวิตจิตใจได้ดับวูบสิ้นสุดลง ปราศจากความอบอุ่นชุ่มเย็นเหมือนแต่ก่อนมา  ราวกับว่าทุกสิ่งได้ขาดสะบั้นหั่นแหลกเป็นจุณไปเสียสิ้น  ไม่มีสิ่งเป็นที่พึ่งพอเป็นที่หายใจได้เลย  มันสุดมันมุดมันด้านมันตีบตันอั้นตู้ไปเสียหมดภายในใจ  ราวกับโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรเป็นสาระพอเป็นที่เกาะของจิตผู้กำลังกระหายที่พึ่งได้อาศัยเกาะพอได้หายใจแม้เพียงวินาทีหนึ่งเลย  ทั้งที่สัตว์โลกทั่วไตรภพอาศัยกันประจำภพกำเนิดตลอดมาแต่จิตมันอาภัพอับวาสนาเอาอย่างหนักหนาจึงเห็นโลกธาตุเป็นเหมือนยาพิษเอาเสียหมดเวลานั้น  ไม่อาจเป็นที่พึ่งได้  ปรากฏแต่ท่านพระอาจารย์มั่นองค์เดียวเป็นชีวิตจิตใจ  เพื่อฝากอรรถฝากธรรมและฝากเป็นฝากตายทุกขณะลมหายใจเลย…”

เส้นทางชีวิตของหลวงปู่มั่น  ภูริทัตโตได้ยุติลงด้วยสิริอายุ 79 ปี 9 เดือน 21 วันรวม 56 พรรษา หากแต่มรดกธรรมของท่านจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป…ตราบนานเท่านาน



หลวงปู่มั่น  หลวงปู่เสาร์  และเรื่องเล่าจากพระธาตุพนม

ย้อนกลับไป  เมื่อครั้งที่พระมั่นติดตามหลวงปู่เสาร์เดินทางจากประเทศลาวข้ามฝั่งกลับมายังประเทศไทย  ท่านทั้งสองตัดสินใจปักกลดปฏิบัติภาวนาอยู่ในบริเวณพระธาตุพนม  ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นพระธาตุร้าง  แต่หลวงปู่เสาร์พบว่าสิ่งปลูกสร้างอันเก่าแก่และมีหญ้าขึ้นรกปกคลุมไปหมดนี้  น่าจะมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่  จึงเชิญชวนชาวบ้านละแวกนั้นมาร่วมกันทำความสะอาดและบูรณะพุทธสถานโบราณแห่งนี้กันคนละไม้ละมือ  จนองค์พระเจดีย์กลับมาสวยงามอีกครั้ง

หลังจากบูรณะพระธาตุพนมแล้วเสร็จ  และสั่งสอนเรื่องการรักษาศีลเจริญกรรมฐานแก่ชาวบ้านได้ระยะหนึ่ง  พระมั่นก็ได้แยกตัวออกมาเจริญสมณธรรมตามลำพังในที่ต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นป่ารกชัฏ  ป่าช้า  หุบเขา  ลำห้วย  ท้องถ้ำ  รวมถึงในหลายพื้นที่ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง  จนสามารถสั่งสมองค์ความรู้ทางธรรมและบารมีสูงขึ้นตามลำดับเวลาและตามระยะทางที่ธรรมะได้นำพาท่านไป

(ผู้สนใจสามารถอ่านเรื่องราวตอนนี้ได้ในหนังสือ บันทึกการเดินทางตามรอยธุดงค์หลวงปู่มั่น  จอมทัพธรรม  จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ)

 

ขอขอบคุณ ข้อมูลและภาพจากหนังสือ “บันทึกการเดินทางตามรอยธุดงค์ หลวงปู่มั่น จอมทัพธรรม” โดย พศิน อินทรวงค์ และจากเว็บไซต์ www.luangpumun.org, th.wikipedia.org

 

Secret box

ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน

เพราะตัวตนเป็นบ่อเกิดแห่งสมบัติทั้งปวง

หลวงปู่มั่น  ภูริทัตโต

จาก http://www.secret-thai.com/article/dharma/12817/2672559/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...