ผู้เขียน หัวข้อ: โกเอ็นก้า ถึงธรรม บนหนทาง วิปัสสนา (สารคดี)  (อ่าน 1690 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด














หนทาง (วิปัสสนา)

ท่านโกเอ็นก้าในวิดีโอธรรมบรรยายดูหนุ่มกว่าตัวจริงที่ข้าพเจ้าได้เห็นเมื่อปลายปีก่อน

ภาพในวิดีโอถูกบันทึกตอนท่านอายุ ๖๗ ปี เป็นการบรรยายธรรมในหลักสูตรการอบรมวิปัสสนาให้แก่ชาวอเมริกันที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งต่อมาถูกนำไปใช้ในการอบรมหลักสูตร ๑๐ วันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เฉพาะในเมืองไทยมีศูนย์วิปัสสนา ๖ แห่ง แต่ละแห่งจัดการอบรมปีละหลายครั้ง และจำนวนผู้เข้ารับการอบรมก็เพิ่มขึ้นทุกปี  ตามสถิติเฉพาะในปี ๒๕๕๕ มีจำนวน ๘,๐๐๐ กว่าราย

ปลายปีที่แล้วท่านโกเอ็นก้าเดินทางจากถิ่นพำนักปัจจุบันในประเทศอินเดียมายังพม่า ซึ่งท่านนับว่าเป็นดินแดนแห่งธรรมที่มีพระคุณต่อท่าน  ลูกศิษย์จากเมืองไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปร่วมต้อนรับท่าน ข้าพเจ้าได้รับการชักชวนให้ร่วมทางไปด้วย

ท่านโกเอ็นก้าที่ข้าพเจ้าได้เห็นตัวจริงเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๕ อยู่ในวัย ๘๘ ปี รูปร่างท้วมขึ้นกว่าเมื่อตอนที่ยังหนุ่มกว่านี้ เคลื่อนไหวเชื่องช้าตามความชรา  แต่แววตายังแจ่มใส ดูเปี่ยมความเมตตา เช่นเดียวกับน้ำเสียงทุ้มเย็นที่ยังก้องกังวานอยู่ไม่เปลี่ยน

หน้าตาของท่านดูมีเค้าของชาวอินเดีย แต่ความจริงท่านเกิดในประเทศพม่า ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อปี ๒๔๖๗ มีชื่อเต็มว่า สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า

เอกสารไม่กี่หน้าเกี่ยวกับประวัติของท่านระบุว่า เอส. เอ็น. โกเอ็นก้า เกิดในครอบครัวนักธุรกิจ และท่านเองก็เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงตั้งแต่ยังหนุ่ม ตั้งโรงงานน้ำตาล โรงงานทอผ้า โรงงานผ้าห่ม และเปิดบริษัทนำเข้า-ส่งออก โดยมีสำนักงานอยู่ทั่วโลก  ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนชาวอินเดียในพม่า รวมทั้งเป็นประธานองค์กรต่างๆ อาทิ หอการค้ามาร์วารีแห่งพม่า สมาคมพาณิชย์และอุตสาหกรรมแห่งย่างกุ้ง

แต่พร้อมกับชื่อเสียง เกียรติยศ และความสำเร็จในชีวิตที่ได้มา ความตึงเครียดทางใจก็เพิ่มขึ้นเป็นเงา  ท่านเล่าไว้ว่าทุกๆ คืนหากการเจรจาธุรกิจในวันนั้นล้มเหลว ท่านจะคิดใคร่ครวญหาข้อผิดพลาดและหนทางแก้ไข แต่ในวันที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ท่านก็ยังนอนไม่หลับเพราะมัวแต่ชื่นชมความสำเร็จของตัวเอง

“ถึงแม้ข้าพเจ้าจะประสบกับความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุขสงบในใจแต่อย่างใด  ข้าพเจ้าพบว่าความสงบนั้นเกี่ยวพันกับความสุขอย่างมาก แต่ข้าพเจ้าก็มักจะไม่มีทั้งสองอย่างนี้ ทั้งๆ ที่มีเงินทองและตำแหน่งผู้นำชุมชน”

ในที่สุดท่านก็เป็นโรคไมเกรนชนิดรุนแรง ถึงขั้นต้องพึ่งมอร์ฟีนและมีทีท่าว่าจะต้องเพิ่มปริมาณการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

และในการแสดงธรรมบรรยายคืนสุดท้ายของหลักสูตรการอบรม ๑๐ วัน ท่านได้เล่าประวัติตัวเองในช่วงนี้โดยละเอียดว่า หมอที่รักษาท่านเห็นแนวโน้มการใช้มอร์ฟีนที่สูงขึ้นแล้วก็แนะนำให้ท่านลองไปเสาะหาหมอในประเทศอื่นดูบ้าง เพราะเห็นว่าท่านคงมีช่องทางและฐานะพอจะทำเช่นนั้นได้ไม่ยาก

ท่านไปรักษาตัวในหลายประเทศ ตั้งแต่สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี อังกฤษ อเมริกา และในญี่ปุ่น แต่ไม่เกิดผลอย่างใด  อย่าว่าแต่จะรักษาอาการปวดหัว แค่จะให้ท่านละเลิกจากการใช้มอร์ฟีน หมอทั่วโลกก็ยังหาวิธีการไม่ได้

แต่ท่านว่าทั้งหมดนั้นถือเป็นความโชคดีที่เป็นเงื่อนไขชักนำให้ท่านได้มาพบธรรมะ

หนุ่มโกเอ็นก้าในวัย ๓๒ ปี พากายที่เจ็บป่วยทรุดหนักกว่าเดิมกลับพม่า และได้ทราบเรื่องราวของท่านซายาจี อูบาขิ่น (๒๔๔๒-๒๕๑๔) ข้าราชการระดับสูงของพม่าที่เป็นนักวิปัสสนาและสอนวิธีปฏิบัติวิปัสสนา จากการแนะนำของเพื่อนคนหนึ่ง

และท่านอูบาขิ่นเองนั้นก็ได้รู้เรื่องการปฏิบัติวิปัสสนามาจากเพื่อนคนหนึ่งเช่นกัน เขามาเล่าถึงการเข้าร่วมฝึกปฏิบัติกับท่านซายาเท็ตจี (๒๔๑๖-๒๔๘๘) เรื่องการวิปัสสนาและวิธีการปฏิบัติอานาปานัสสติให้ฟัง  ท่านอูบาขิ่นได้ฟังแล้วเกิดความสนใจจึงทดลองปฏิบัติ ก็พบว่าทำให้จิตมีสมาธิตั้งมั่นดี เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเข้ารับการอบรมเต็มหลักสูตรเพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนา

ท่านอูบาขิ่นในวัย ๓๘ ปีตัดสินใจขอลางานเสมียนที่สำนักงานกรมบัญชีกลาง มุ่งหน้าไปยังสำนักของท่านซายาเท็ตจีที่เปียวบ่วยจีในทันที



คุณของธรรม

ศูนย์วิปัสสนาของท่านซายาเท็ตจีที่เราได้มาเห็นใน พ.ศ. นี้   คงต่างจากเมื่อครั้งที่ท่านอูบาขิ่นมาเข้ารับการอบรมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ไม่มากนัก

จากตัวเมืองย่างกุ้ง ข้ามแม่น้ำย่างกุ้งด้วยแพขนานยนต์ขนาดใหญ่ซึ่งจอแจไปด้วยชาวเมืองและแม่ค้า ไปสู่อีกฟากฝั่งทางตะวันตก ก็เหมือนเป็นอีกโลกที่ชุมชนและผู้คนยังอยู่กันแบบพื้นบ้านดั้งเดิม

ถนนสายเล็กผิวขรุขระทอดออกจากท่าเรือ ฝ่าไปกลางท้องทุ่งกสิกรรมที่ยังคงทำการเพาะปลูกแบบเดิมๆ สภาพพื้นที่อันเอื้ออำนวยไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบชลประทานหรือปรับพื้นที่จนเกลี้ยงเกลา  ไม้ท้องถิ่นอย่าง เตย สาคู และไม้ใหญ่ยืนต้นทั้งหลายยังเหลือรอดได้แทรกตัวเป็นกลุ่มเป็นกออยู่ตรงนั้นตรงนี้  ชาวนาใช้เครื่องจักรทุ่นแรงกันน้อย สังเกตจากร่องรอยการเก็บเกี่ยวและฟางข้าวก็พอดูออกว่าเป็นงานที่ทำมาด้วยแรงคนและวัวควายที่เคลื่อนฝูงคลาคล่ำกันอยู่ในท้องทุ่ง

ตามเส้นทางมีรถน้อย ที่เห็นวิ่งสวนกันอยู่บ้างเป็นรถโดยสารประจำทาง หรือไม่ก็รถของกลุ่มนักท่องเที่ยว  ชาวถิ่นตามชุมชน ๒ ข้างทางยังคงใช้เกวียนกันเป็นหลัก

จากบ่ายแก่ๆ จนเย็นย่ำ คณะศิษย์ท่านโกเอ็นก้าจากเมืองไทยจึงผ่านระยะทางจากฝั่งแม่น้ำย่างกุ้งไปถึงศูนย์วิปัสสนาของท่านซายาเท็ตจีที่เปียวบ่วยจี  แต่ก็นับว่ายังลำบากน้อยกว่าในยุคท่านอูบาขิ่นที่ต้องเดินเท้ามาท้องนาก่อนฤดูเก็บเกี่ยวซึ่งยังชุ่มน้ำ ท่านต้องย่ำโคลนตมถึงน่องถึงเข่ากว่าจะฝ่ามาถึงสำนักของท่านอาจารย์เท็ต

อาคารไม้ขนาดย่อม ๓-๔ หลังตั้งอยู่บนที่ราบกว้างก้นซอยซึ่งแยกมาจากทางสายหลักกลางชุมชนยังคงมีผู้มาฝึกวิปัสสนากันอยู่ไม่ขาด  พวกเราไปถึงในยามเย็นที่แดดสีทองกำลังส่องทาบอยู่บนทิวใบมะพร้าวและหลังคาอาคารบ้านเรือน เป็นบรรยากาศที่ชวนให้นึกไปถึงเย็นวันแรกที่ท่านอูบาขิ่นเดินทางมาถึง

คืนนั้นท่านซายาเท็ตจีได้สอนวิธีการปฏิบัติอานาปานัสสติให้แก่ท่านอูบาขิ่นและชาวพม่าอีกคน ซึ่งผู้ปฏิบัติใหม่ทั้งสองก็ปฏิบัติได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งท่านซายาเท็ตจีตัดสินใจสอนวิปัสสนาให้ในวันถัดมา  แม้จะเป็นการฝึกปฏิบัติหลักสูตร ๑๐ วันครั้งแรกของท่านอูบาขิ่น แต่ท่านก็ปฏิบัติได้ผลดียิ่ง  หลังจากนั้นท่านก็เดินทางมาฝึกปฏิบัติที่สำนักของท่านซายาเท็ตจีบ่อยครั้ง

ต้นปี ๒๔๘๔ ท่านอูบาขิ่นได้พบกับท่านเวบู ซายาดอว์ พระภิกษุที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง หลังจากได้สนทนาด้วยอัธยาศัยที่ต้องกันและนั่งปฏิบัติร่วมกัน ท่านเวบู ซายาดอว์ ก็ได้กล่าวกับท่านอูบาขิ่นว่า ถึงเวลาที่ท่านอูบาขิ่นจะต้องลงมือสอนธรรมะให้แก่ผู้คนทั้งหลายแล้ว อย่าปล่อยให้ผู้ที่ได้พบกับท่านพลาดโอกาสที่จะได้รับธรรมะอีกเลย  ท่านอูบาขิ่นจึงได้เริ่มต้นเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนาซึ่งท่านซายาเท็ตจีให้การสนับสนุน

เริ่มจากการตั้งชมรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขึ้นภายในสำนักงานกรมบัญชีกลาง ให้ข้าราชการในกรมฯ ได้ฝึกปฏิบัติ ซึ่งท่านอูบาขิ่นดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลางมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ ที่ประเทศพม่าได้รับเอกราช และในช่วงเวลา ๒๐ ปีถัดจากนั้น ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่งในคณะรัฐบาล และมักต้องทำงานอย่างน้อย ๒ ตำแหน่งในเวลาเดียวกัน โดยแต่ละตำแหน่งล้วนมีความรับผิดชอบสูงเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีทั้งสิ้น  ช่วงหนึ่งที่ท่านต้องรั้งตำแหน่งอธิบดีกรมถึง ๓ กรมพร้อมๆ กันเป็นเวลา ๓ ปี กับอีกครั้งต้องดูแลถึง ๔ กรมในเวลาเดียวกัน

ในปี ๒๔๙๕ ท่านอูบาขิ่นได้เปิดศูนย์วิปัสสนานานาชาติ (International Meditation Centre – I.M.C.) ขึ้นในกรุงย่างกุ้ง ห่างเจดีย์ชเวดากองไปทางทิศเหนือราว ๓ กิโลเมตร มีผู้ปฏิบัติทั้งชาวพม่าและชาวต่างชาติมาเรียนรู้ธรรมะจากท่านจำนวนมาก ไม่เฉพาะแต่นักธุรกิจอย่างท่านโกเอ็นก้าเท่านั้น  ตามประวัติกล่าวว่าแม้แต่ประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า หรือนักวิทยาศาสตร์จากโลกตะวันตกก็เคยมาเข้ารับการอบรมหลักสูตรวิปัสสนาที่ศูนย์วิปัสสนานานาชาติเช่นกัน

เริ่มแรกท่านโกเอ็นก้าไปพบอาจารย์อูบาขิ่น แจ้งความประสงค์เรื่องการจะใช้วิปัสสนารักษาโรคไมเกรน แต่ท่านอาจารย์อูบาขิ่นบอกว่าธรรมะมีคุณมากกว่านั้น

“ธรรมะไม่ใช่สิ่งที่มีไว้รักษาโรคทางกาย ถ้าเธอต้องการรักษาโรคทางกายก็ควรไปโรงพยาบาล แต่ธรรมะคือสิ่งที่จะช่วยชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายในชีวิต  โรคของเธอเป็นเพียงส่วนที่เล็กมากในจำนวนความทุกข์ของเธอ มันย่อมจะหายไปเอง ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการชำระจิตให้บริสุทธิ์เท่านั้น  ถ้าเธอมาปฏิบัติเพราะต้องการรักษาโรคทางกายก็ถือว่าเธอประเมินคุณค่าของธรรมะต่ำเกินไป  จงปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้น ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรคทางกาย”

แต่ด้วยความเป็นชาวฮินดูที่เคร่งครัด ตอนแรกท่านโกเอ็นก้าก็ยังลังเลที่จะเข้าอบรมในศูนย์วิปัสสนาของอาจารย์ชาวพุทธ  กระทั่งผู้เป็นอาจารย์ให้คำยืนยันว่า “ฉันจะไม่เปลี่ยนแปลงเธอให้หันมาถือพุทธหรอก แต่ฉันจะสอนวิธีการปฏิบัติที่ทำให้เธอเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐยิ่งขึ้น”

ได้รับความกระจ่างเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติวิปัสสนาที่เน้นศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งไม่ขัดกับการเป็นศาสนิกชนของศาสนาใดท่านจึงตัดสินใจเข้ารับการอบรม

แต่การฝึกวิปัสสนาในระยะเริ่มต้นของท่านโกเอ็นก้าไม่ราบรื่นอย่างอาจารย์

ท่านโกเอ็นก้าเล่าว่า ท่านคิดจะล้มเลิกความตั้งใจ เก็บกระเป๋ากลับบ้านเสียตั้งแต่วันที่ ๒ ของการฝึกปฏิบัติ หลังได้ยินเพื่อนที่ร่วมปฏิบัติพูดให้ได้ยินว่าพวกเขาเห็นแสงนั่นนี่ ซึ่งตามคติฮินดูแล้วกล่าวกันว่านั่นคือแสงสวรรค์ แต่ท่านเองปฏิบัติแล้วยังไม่เห็นอะไรเลย และยังคิดเชื่อมโยงไปถึงคำกล่าวที่ว่า “เอาอูฐลอดรูเข็มยังง่ายเสียกว่าจะให้คนรวยได้ขึ้นสวรรค์” แล้วท่านเองเป็นนักธุรกิจเป็นคนรวยก็ยิ่งท้อแท้ เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเตรียมจะหนีกลับในเย็นนั้น แต่ก็มีสุภาพสตรีที่เป็นผู้ปฏิบัติเก่าขอร้องให้ลองอยู่ต่ออีกสักวัน  เธอบอกกับเขาว่า “อีกวันเดียวเถิดน่า อยู่ต่ออีกสักวัน  แค่วันแรกคุณก็เริ่มรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ได้ตั้งมากมาย คนอื่นเขากว่าจะรู้สึกได้ก็ตั้งวันที่ ๓  คุณทำได้ดีมาก ท่านอาจารย์เองก็พอใจกับการปฏิบัติของคุณ แล้วคุณจะหนีออกไปทำไม  แล้วแสงนั่นก็ไม่ได้สำคัญอะไร ถึงแม้จะอยากเห็นก็อย่าไปให้ความสำคัญกับมันเลย อีกแค่วันเดียวเท่านั้น”

ท่านโกเอ็นก้าอยู่ฝึกปฏิบัติต่อจนจบหลักสูตร และอยู่ในสายธรรมสืบมาจนบัดนี้

หลังผ่านการปฏิบัติตามหลักสูตร ๑๐ วันครั้งแรก ความเครียดและอาการปวดไมเกรนของท่านบรรเทาลง  ท่านโกเอ็นก้าเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในสาระคำสอนและการปฏิบัติในแนวทางนี้เป็นอย่างมาก จึงปวารณาตัวเข้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

ท่านกล่าวว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้เข้ารับการอบรมวิปัสสนา ความสงสัยและความกลัวต่างๆ ก็หมดไป  ข้าพเจ้าพบว่าวิปัสสนาคือคัมภีร์ภควัทคีตาในแง่ของการปฏิบัตินั่นเอง ความเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวจากวิปัสสนาก็คือการเปลี่ยนความทุกข์เป็นความสุข จากอวิชชาไปสู่ความรู้แจ้งจากพันธนาการที่ร้อยรัดไปสู่ความหลุดพ้น”

หลังฝึกวิปัสสนากับอาจารย์อูบาขิ่นมานาน ๑๔ ปี  ช่วงต้นปี ๒๕๑๒ ท่านโกเอ็นก้าได้ทราบข่าวความเจ็บป่วยของมารดา ซึ่งย้ายกลับไปพำนักอยู่ที่ประเทศอินเดีย เมื่อ ๒-๓ ปีก่อนหน้านั้น  ท่านมั่นใจว่าวิปัสสนาจะช่วยให้ความเจ็บป่วยด้วยอาการทางประสาทของแม่ดีขึ้น จึงขออนุญาตท่านอาจารย์ไปฝึกการปฏิบัติวิปัสสนาให้แม่ ซึ่งในช่วงนั้นอาจารย์อูบาขิ่นได้แต่งตั้งท่านทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนแล้ว

อาจารย์อูบาขิ่นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการที่ท่านโกเอ็นก้าจะนำการปฏิบัติวิปัสสนาไปเผยแผ่ยังอินเดียเพราะนั่นไม่ใช่แค่การตอบแทนคุณบุพการี แต่จะเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินอินเดีย-แหล่งกำเนิดธรรมะอันบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ที่เผยแผ่ต่อมาสู่พม่า  ท่านกล่าวกับศิษย์ชาวฮินดูอยู่เนืองๆ ว่า มีคำทำนายเล่าสืบต่อกันมาว่า ๒,๕๐๐ ปีหลังพุทธกาล พระธรรมคำสอนจะถูกนำกลับไปยังอินเดียอันเป็นแหล่งกำเนิด

ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึก แต่เชื่อกันว่าการปฏิบัติในแนวทางนี้มีอยู่ในแผ่นดินพม่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงให้พระโสณเถระและพระอุตตรเถระเป็นผู้นำมาเผยแผ่ยังดินแดนสุวรรณภูมิ แล้วได้รับการสืบทอดต่อกันมาอย่างบริสุทธิ์ตามแบบดั้งเดิม เป็นภูมิปัญญาแห่งการดับทุกข์ที่ตกทอดอยู่ในแผ่นดินพม่าสืบมาหลายชั่วอายุคน จนถึงยุคของท่านเลดี ซายาดอร์ (๒๓๘๙-๒๔๖๖) พระภิกษุผู้มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ของพม่า ซึ่งได้ถ่ายทอดมาสู่ศิษย์ฆราวาสที่ชื่อ ซายาเท็ตจี ผู้เป็นอาจารย์ของท่านอูบาขิ่น

ครั้นได้ทราบว่าศิษย์คนนี้จะไปสอนการวิปัสสนาให้แก่มารดาที่อินเดีย ท่านอูบาขิ่นจึงกล่าวอย่างยินดียิ่งว่า “โกเอ็นก้า ฉันต่างหากที่ไป ไม่ใช่เธอหรอก”

ส่วนท่านโกเอ็นก้าเองนั้น แม้ถึงวันที่ย้ายถิ่นกลับไปพำนักที่ประเทศอินเดียอย่างถาวรแล้ว ก็ยังยกย่องพม่าว่าเป็นแผ่นดินแห่งธรรมที่มีพระคุณต่อท่าน

จาก http://www.sarakadee.com/2013/09/18/goenga/

http://issuu-downloader.abuouday.com/view.php?url=sarakadeemag/docs/scp_go_n_ga
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...