ผู้เขียน หัวข้อ: สังคมต้องส่งเสริมให้พระเป็นคนดี – พระไพศาล วิสาโล  (อ่าน 2046 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



สังคมต้องส่งเสริมให้พระเป็นคนดี – พระไพศาล วิสาโล

“ตามให้ทันเด้อ ความรู้สึกของเจ้าของ ให้รู้ทันความโลภ ความโกรธ ยังบ่รู้ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ก็บ่เป็นหยัง”

เสียงเทศน์ภาษาไทยกลางปนภาษาอีสานดังแข่งสายฝนในเวลาตีสี่ครึ่ง  การเทศน์ของพระไพศาล วิสาโล ครั้งนี้มีคนฟังไม่มากนักจำนวนหนึ่งเป็นญาติโยมที่มาถืออุโบสถศีลคืนวันพระ

การทำวัตรเช้าเสร็จลงราวตีห้า ฝนยังไม่ซา ฟ้ายังไม่สาง ทว่าพระคุณเจ้าคว้าร่มมากาง สะพายบาตร แล้วออกเดินลง ภูหลงไปด้วยสัมภาระเพียงเท่านั้น

พระคุณเจ้าเดินบิณฑบาตเท้าเปล่าบนทางดินสลับคอนกรีตกับหินกรวดระยะทางไม่ต่ำกว่า 8 กิโลเมตร มิใช่เพียงเพื่อให้ญาติโยมได้ทำบุญตักบาตร หากแต่ความหมายแห่งการบิณฑบาตของพระคุณเจ้าคือการเจริญสติระลึกรู้อยู่ทุกเช้าว่าเราครอบครองจีวรหนึ่งผืน บาตรหนึ่งใบและเราเป็นเพียงผู้ขอ

30 ปีที่ดำรงตนบนวิถีบรรพชิตเสียงของพระไพศาล วิสาโล ที่วิพากษ์สถาบันสงฆ์อย่างตรงไปตรงมา…นับเป็นคุณูปการที่กระตุกเตือนให้สังคมตื่นตัวและเห็นปัญหาเชิงระบบ  Secret จึงเดินทางมายังวัดป่ามหาวัน จังหวัดชัยภูมิ พร้อมกับคำถามใหญ่ ๆ ที่ว่า…
 

นมัสการถามคำถามแรกเลยนะคะเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันสงฆ์ซึ่งได้รับความศรัทธาจากประชาชนมาโดยตลอด

ชาวพุทธเราต้องใช้หลักอริยสัจ 4 เมื่อมีปัญหาก็ต้องหาสมุทัยหรือสาเหตุ หากพิจารณาดูดี ๆ จะพบว่า ทุกวันนี้พระไม่ดีมีมากขึ้นเรื่อย ๆ มากจนผิดสังเกต จนต้องตั้งคำถามว่าเกิดจากอะไร ถ้ามีแค่คนสองคนหรือนาน ๆ ครั้ง มันอาจจะเป็นปัญหาของตัวบุคคล แต่ถ้ามันเกิดถี่มาก ๆ แสดงว่ามีปัญหาในเชิงระบบ ก็ต้องกลับไปดูว่าระบบมันผิดพลาดที่ตรงไหน ซึ่งในความเห็นของอาตมา มันมีข้อผิดพลาดอยู่ 2 จุดใหญ่ ๆคือ ระบบการปกครองคณะสงฆ์และ
ระบบศึกษาของพระสงฆ์
 

ปรากฏการณ์ในทางลบที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์ตอนนี้มีหลายรูปแบบมากตั้งแต่พฤติกรรมไม่เหมาะสม ทำให้ โลกติเตียน (โลกวัชชะ) ผิดพระวินัยหรือสิกขาบท (อาบัติปาราชิก) จนถึงทำผิดกฎหมายไปเลยก็มีปรากฏการณ์เหล่านี้ดูเหมือนจะสะท้อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันสงฆ์ไม่ใช่เรื่องเล็ก

สิ่งที่เกิดขึ้นมันสะท้อนให้เห็นถึงความคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมของชาวพุทธไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาส ในส่วนของพระสงฆ์  เหตุการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการศึกษา การกล่อมเกลา รวมทั้งการดูแลเอาใจใส่พระสงฆ์หย่อนยาน ไม่เข้มแข็งไร้ประสิทธิภาพ
เมื่อมาบวชเป็นพระ ก็หมายความว่าเป็นผู้ที่มาศึกษา มาพัฒนาตน สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ พระสงฆ์ปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และสามารถรักษาตนให้ปลอดพ้นจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน หรือถ้าพูดให้ทันสมัยหน่อยก็คือ พระสงฆ์ควรจะสามารถรักษาตนให้ปลอดพ้นจากการครอบงำของบริโภคนิยม

แต่ทุกวันนี้จะเห็นว่าพระสงฆ์ถูกวัตถุนิยมและบริโภคนิยมครอบงำเข้าไปเต็มที่เห็นได้จากการสะสมเงินทองมากมาย เป็นอยู่อย่างหรูหรา ฟุ้งเฟ้อ เช่น ติดสินค้าแบรนด์เนม มีรถราคาแพงหลายสิบล้านเรียกว่ามีค่านิยมในการเสพและการบริโภควัตถุไม่ต่างจากฆราวาสเลย ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วการศึกษาอบรมที่น่าจะเกิดขึ้นกับพระหายไปไหน
ถ้าเราดูการศึกษาและการกล่อมเกลาพระสงฆ์ในปัจจุบัน จะพบว่ามีน้อยมากสมัยก่อนอาจไม่มีการศึกษาและกล่อมเกลาที่เป็นขั้นเป็นตอนหรือเป็นระบบ ไม่มีการเรียนนักธรรม ไม่มีการเรียนบาลี แต่มีการสอนแบบที่กลมกลืนไปกับชีวิต เช่นหลวงพ่อ หลวงตาปฏิบัติตัวให้พระบวชใหม่เห็นเป็นแบบอย่าง เวลาเณรมานวดเฟ้นอุปัฏฐาก ท่านก็สอน ชี้แนะเรื่องธรรมวินัยแต่เดี๋ยวนี้ไม่มีการสอนแบบนี้แล้ว ส่วนระบบการศึกษาที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสสมัยรัชกาลที่ 6 หรือเมื่อร้อยปีมาแล้วนั้นก็ด้อยคุณภาพไปมาก จะพูดว่าล้าหลังก็ได้ผลก็คือว่า เดี๋ยวนี้พระเณรไม่อยากเรียนในระบบนักธรรมบาลี ถ้าไม่บังคับก็ไม่เรียนพระที่เรียนเครียดจนเป็นโรคประสาทก็มีไม่น้อย เพราะไม่รู้จะเรียนไปทำไม ไม่มีแรงจูงใจ ส่วนพระที่สอบผ่านจริง ๆ ด้วยฝีมือตัวเองก็มีน้อยมาก ที่เหลือก็ต้องช่วยกัน มีการทุจริตในห้องสอบ ช่วยบอกคำตอบให้กัน

ระบบการศึกษาของพระสงฆ์ตอนนี้ด้อยคุณภาพและล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน แต่ก็ไม่มีใครคิดที่จะปรับปรุงอย่างจริงจัง ในความหมายที่เป็นการปฏิรูปได้แต่แก้นิดแก้หน่อย เหมือนรถที่มันผุทั้งคันแล้ว ไปปะนิดซ่อมหน่อย มันช่วยอะไรไม่ได้มาก



แล้วการฝึกฝนจิตใจหรือสมาธิภาวนาล่ะคะ ถือเป็น “การศึกษา” ที่สำคัญสำหรับพระสงฆ์ด้วยหรือเปล่าคะ

เฉพาะการให้ความรู้ในทางปริยัติระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ก็ไม่ค่อยมีคุณภาพอยู่แล้ว ยิ่งการฝึกฝนในทางจิตใจหรือ
การปฏิบัติ ก็ยิ่งแล้วใหญ่ คือแทบไม่มีเลยโดยเฉพาะเรื่องสมาธิภาวนาสำคัญมากไม่อย่างนั้นพระก็จะสู้บริโภคนิยมไม่ได้ในสังคมปัจจุบัน แม้พระจะมีศีลมีวินัยแต่ก็ยังมีโอกาสที่จะหลงติดในการบริโภควินัยเป็นเรื่องของกาย วาจา ดังนั้นจะต้องมีการฝึกใจเพิ่มด้วย ศีลหรือวินัยเป็นกำแพงป้องกันบริโภคนิยมเบื้องต้น แต่แค่นั้นไม่พอจะสร้างกำแพงอีกชั้นหนึ่งที่ใจก็คือต้องทำสมาธิภาวนา ประการแรกก็เพื่อให้ท่านมีสติรู้เท่าทันกิเลสภายใน ประการที่สองก็เพื่อให้เกิดปัญญา พระต้องมีปัญญาที่จะเห็นโทษของบริโภคนิยม เห็นโทษของสิ่งเสพหรือกามสุข เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ให้ความสุขได้เพียงชั่วคราว ไม่สามารถให้ความสุขที่ยั่งยืนได้มันไม่ใช่สรณะอันเกษม ประการที่สามซึ่งช่วยได้มากก็คือ เพื่อให้เกิดสมาธิ เพราะสมาธิทำให้เกิดความสงบเย็นในใจ เป็นความสุขที่ประเสริฐกว่ากามสุขหรือสุขจากสิ่งเสพสิ่งบริโภค

คนเราล้วนต้องการความสุข ถ้าไม่สามารถเข้าถึงความสุขทางใจหรือความสุขที่เป็นความสงบได้ ก็ต้องไปหยิบฉวยหรือแสวงหาความสุขอย่างอื่นมาแทน  แล้วความสุขที่หยิบหาได้ง่ายคือความสุขทางวัตถุหรือกามสุข เช่น หนัง เพลง อาหาร เซ็กซ์นี่คือความสุขทางกาม แต่ถ้าเข้าถึงความสุขที่ประเสริฐ คือ ความสุขจากสมาธิภาวนาความสุขจากใจที่สงบเย็น ความรู้สึกโหยหากามสุขก็จะน้อยลง  สิ่งเหล่านี้เป็นกำแพงที่ช่วยป้องกันจิตใจไม่ให้บริโภคนิยมหรือกามสุขครอบงำ ทำให้เรา ไม่ว่าพระหรือฆราวาสสามารถหันหลังให้กับบริโภคนิยมได้ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่คิดเอา มันต้องสัมผัสด้วยตนเองจากการปฏิบัติ แม้จะมีคนบอกว่าดี ๆ ๆ ๆ ถ้าเราไม่สัมผัสเอง ใจก็ไม่คล้อยตาม ก็ยังโหยกามสุขอยู่นั่นเอง

การปฏิบัติกรรมฐานไม่เพียงทำให้พระอยู่ท่ามกลางบริโภคนิยมอย่างมีความสุขเท่านั้น แต่ยังสามารถสอนญาติโยมได้ว่ามีอะไรที่ดีกว่ากามสุข มีสิ่งที่ประเสริฐกว่าความร่ำรวยหรือความฟุ้งเฟ้อ ชาวบ้านเห็นหลวงพ่อหลวงตาท่านอยู่อย่างง่าย ๆ ทั้งที่ท่านมีโอกาสสร้างกุฏิหลังใหญ่ สามารถมีรถราคาแพง ๆ ได้ แต่ท่านไม่เอา ไม่ใช่เพราะว่าท่านไม่มีปัญญา แต่ท่านไม่เห็นประโยชน์ของมัน เมื่อโยมเห็นอย่างนี้ ก็มีแบบอย่างเกิดแรงบันดาลใจที่จะใช้ชีวิตอย่างท่าน หรืออย่างน้อยก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับบริโภคนิยมและเกิดภูมิต้านทานในจิตใจ

อาตมาคิดว่าสิ่งที่พุทธศาสนาจะช่วยโลกยุคปัจจุบันได้ คือการทำให้คนมีภูมิต้านทานต่อบริโภคนิยม หรือเห็นว่ามีทางเลือกที่ดีกว่าประเสริฐกว่าชีวิตที่เต็มไปด้วยสิ่งเสพสิ่งบริโภค



พอพูดถึงบริโภคนิยม ดูเหมือนว่าปัญหาของพระจะแยกไม่ออกจากปัญหาของฆราวาสนะคะ

ส่วนหนึ่งเกิดจากความโลภของฆราวาสด้วย ฆราวาสส่วนใหญ่อยากรวยเร็ว ๆ โดยไม่ต้องทำงาน เช่น เล่นการพนัน ซื้อลอตเตอรี่ หรือซื้อวัตถุมงคล เขาคิดว่าถ้ามาทำบุญกับพระก็จะช่วยให้รวยเร็ว ๆ ได้ทำให้พระมีลู่ทางที่จะได้เงิน และเมื่อมีเงินมากขึ้น ก็มักจะหาสิ่งเสพปรนเปรอตัวเองทำให้หลงติดวัตถุได้ง่าย เรียกว่าทั้งพระทั้งฆราวาสล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบริโภคนิยมด้วยกันทั้งหมด
 

แต่ไหนแต่ไรมา พระสงฆ์ได้รับเกียรติอันปราศจากข้อเคลือบแคลงใด ๆจากสังคมมาโดยตลอด ถึงวันนี้ พอเกิดความเคลือบแคลงสงสัยขึ้นมา เช่น พระรับอาหารจนล้นขอบบาตร พระสงฆ์มาเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้า ของกินของใช้ในวัดหรูหราเกินความจำเป็น ฯลฯคำถามก็คือ แล้วใครจะตรวจสอบหรือตั้งคำถามแบบนี้กับพระได้คะ

ที่ผ่านมาแทบไม่ได้มีการดูแลกวดขันพระสงฆ์กันเลย ปัญหาของพระสงฆ์ถูกปล่อยปละละเลยและลูบหน้าปะจมูกกันมานานแล้ว เพราะองค์กรปกครองสงฆ์ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้ สาเหตุสำคัญก็เพราะทุกวันนี้การปกครองคณะสงฆ์มารวมศูนย์อยู่ที่มหาเถรสมาคม ทำให้การปกครองไม่มีประสิทธิภาพและเอื้อต่อการวิ่งเต้นใช้เส้นสายจนกระทั่งกลายเป็นระบบที่เอื้อต่อความไม่ถูกต้องชอบธรรมและการผิดธรรมวินัย…นี่เรื่องหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งคือ เราต้องยอมรับว่าหน้าที่การตรวจสอบพระก็เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ด้วย ธรรมเนียมนี้มีมาแต่สมัยพุทธกาลสิกขาบทหรือวินัยหลายข้อเกิดจากการที่ฆราวาสเห็นว่าพระทำไม่ถูกต้อง จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้า คือ เขาไม่นิ่งดูดาย ถือเป็นประเพณีของชาวพุทธเรื่อยมาว่าชาวบ้านต้องสอดส่องดูแลพระ

สมัยอาตมาบวชใหม่ ๆ ก็เคยมีฆราวาสมาท้วงติง ตอนนั้นอาตมาอยู่วัดทองนพคุณต้องบิณฑบาตอยู่ในเมือง ขากลับต้องข้ามถนนหน้าโรงพยาบาลตากสิน อาตมาก็ต้องเดินเร็ว ๆ จะเดินช้า ๆ ไม่ได้ เพราะรถมันเยอะ ตอนนั้นมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งเขารอใส่บาตรอยู่ ใส่เสร็จเขาก็ทักว่า เมื่อกี๊พระคุณเจ้าเดินเร็วจังเลย (หัวเราะ) อาตมา ไม่ฉุนนะ ยังนึกชมว่าเขาใส่ใจการปฏิบัติของพระ รู้จักทักท้วง ทั้งที่ไม่ได้รู้จักกันเลยนี่แหละคือสิ่งที่ฆราวาสควรทำ ท้วงผิดท้วงถูกนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าอย่างน้อยเมื่อเห็นว่ามีภาพที่ไม่งามเกิดขึ้น ก็ไม่นิ่งดูดาย กล้าติติง อาตมาว่าดี

แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีอย่างนี้แล้วนะคะกลายเป็นว่า “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์”

สำนวนนี้มีมาแต่โบราณ แสดงว่าเรื่องทำนองนี้มีมานานแล้ว แต่ไม่ได้ดกดื่นแพร่หลายอย่างทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่า
ทุกวันนี้ฆราวาสเองก็ไม่ใส่ใจที่จะดูแลหรือช่วยอุปถัมภ์พระสงฆ์ในทางที่ถูกต้อง สมัยก่อนบ้านกับวัดใกล้ชิดกัน ผู้ชายส่วนใหญ่เคยบวชพระ ผู้หญิงก็มาวัด ใส่บาตรเป็นประจำ ชาวบ้านจะมีความเข้าใจวินัยพระในระดับหนึ่ง ยิ่งคนที่เคยบวชจะรู้อะไรควรไม่ควร และชาวบ้านก็มีความห่วงใยพระศาสนา อย่าว่าแต่ผิดวินัยเลยนะ แค่เห็นพระประพฤติตัวไม่ถูกต้องตามธรรมเนียมประเพณี เช่น โลกวัชชะ เขาก็ตักเตือนเพราะว่าส่วนหนึ่งพระก็เป็นลูกเป็นหลานคนในหมู่บ้าน พระถูกสอดส่อง ไม่ใช่เฉพาะจากอุปัชฌาย์อาจารย์ แต่ถูกสอดส่องจากชาวบ้านด้วย โอกาสที่ทำผิดพระวินัยก็ยาก
ถ้าทำผิดชาวบ้านก็ไม่ปล่อย สมัยก่อนแค่กินเหล้าเขาก็จับสึกแล้วนะ ทั้งที่กินเหล้านี่อาบัติแค่ปาจิตตีย์ ไม่ถึงกับปาราชิก ชาวบ้านเขาหวงแหนพระศาสนาและห่วงพระ นี่คือสิ่งที่เคยเป็นมาในอดีต

สมัยก่อนอาตมาอยู่ที่นี่ แม้ว่าอยู่มาหลายพรรษา แต่เวลาออกพรรษาทีไรชาวบ้านก็จะนิมนต์ให้อยู่ต่อ นี่หมายความว่าชาวบ้านเขารู้สึกว่าวัดเป็นของเขา ส่วนพระนี่เป็นแขก เป็นอาคันตุกะ มาอยู่วัดของชาวบ้าน ถึงเวลาออกพรรษา เขาก็ขอให้อยู่ต่อ แต่ความคิดแบบนี้เริ่มเลือนหายไปจากความรู้สึกของคนสมัยนี้ โดยเฉพาะในสังคมเมือง ผู้คนคิดว่าวัดเป็นของเจ้าอาวาส เป็นของคณะสงฆ์ บางทีคิดว่าวัดเป็นของรัฐบาลด้วยซ้ำ เมื่อไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ พอมีอะไรเกิดขึ้นกับวัดหรือกับพระ เขาก็ไม่สนใจ

แค่นิ่งดูดาย ไม่ใส่ใจพระก็เป็นปัญหาอยู่แล้วนะ คือ ทำให้พระไม่ดีลอยนวล แต่ที่หนักกว่านั้นคือไปสปอยล์พระด้วย หรือตามใจพระมากเกินไป โดยเฉพาะพระที่เป็นเกจิอาจารย์ หรือมีภาพว่าเป็นผู้วิเศษ สามารถบอกเบอร์ให้หวยได้ กรณีเณรคำนี่ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะฆราวาสไปสปอยล์พระด้วยเราเคารพกราบไหว้ให้เงินให้ทองพระมากมาย ให้พระอยู่สบายจนฟุ้งเฟ้อโดยที่ไม่ตั้งคำถามว่าท่านเป็นพระดีหรือไม่ หรือไม่ได้ตั้งคำถามว่าการทำอย่างนี้เป็นผลดีต่อพระหรือไม่พระดีเสียผู้เสียคนเพราะเหตุนี้ก็มากมาย



อยากถามทรรศนะของพระอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องอวดอ้างคุณวิเศษที่ไม่มีในตน ซึ่งจะว่าเป็นตลกร้ายในพุทธศาสนาก็ได้นะคะ พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนกาลามสูตร แต่เวลามีใครอ้างอะไรแบบนี้ เหมือนว่าชาวพุทธไทยพร้อมจะเชื่ออย่างไม่ตั้งคำถามเลย ทำไมมันง่ายขนาดนั้นล่ะคะ

คนไทยเชื่อในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อีกทั้งโหยหาความสำเร็จทางลัดอยู่แล้วจึงเชื่อว่าผู้ที่มีอิทธิฤทธิ์เป็นยอดมนุษย์
จะสามารถดลบันดาลหรือตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ เลยแห่ไปหาบุคคลที่มีภาพเหล่านี้ ถ้าเราสนใจธรรมะจากพระที่เราเชื่อว่าเป็นอรหันต์ อย่างมากก็จะพากันไปฟังธรรมจากท่านเยอะหน่อย แต่จะไม่ถึงกับเอิกเกริกครึกโครม แต่ที่เอิกเกริกครึกโครมก็เพราะอยากได้อย่างอื่น เช่นอยากได้โชคได้ลาภ เชื่อว่าทำบุญกับท่านแล้วได้บุญเยอะ ทำให้ได้ลาภตามมา

คนจำนวนไม่น้อยนับถือท่านนั้นท่านนี้ ไม่ใช่เพราะเห็นว่าเป็นพระ แต่เพราะเห็นว่าเป็นผู้วิเศษ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
ไม่ใช่เพราะผ้าเหลืองหรือเพราะธรรมวินัยหรอกนะ ในอดีตเคยมีคดีภาวนาพุทโธศาลตัดสินให้เขาติดคุก ข้อหาไปทำมิดีมิร้ายกับเด็ก แต่ผ่านมาสิบปีก็ยังมีคนไปกราบไหว้นักโทษภาวนาพุทโธอยู่นั่นแหละ ทั้งที่รู้ว่าเขาเป็นคนไม่ดี ผิดศีลผิดธรรม แต่ที่ไปกราบไหว้ก็เพราะเชื่อว่าภาวนาพุทโธเป็นคนมีอำนาจจิตพิเศษ สามารถให้หวยได้คนอย่างนี้จะว่าไปก็มีทุกยุคทุกสมัย แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาตมาคิดว่าเป็นผลมาจากบริโภคนิยมนั่นแหละ คนมีความโลภมากขึ้น อยากจะรวยเร็ว ๆ ทำให้แห่ไปหาคนที่จะช่วยให้ตนเองร่ำรวย คุณจะเป็นพระที่ทำผิดพระธรรมวินัยก็ไม่เป็นไรขอแค่บอกเบอร์ให้หวยฉันถูกก็พอ ไม่ต่างจากคนจำนวนมากที่บอกว่านักการเมืองโกงก็ได้คอร์รัปชันก็ได้ แต่ขอให้เอาประโยชน์มาให้ฉันก็พอแล้ว คือ คิดแบบอัตตาธิปไตยเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ใช่ธรรมาธิปไตย คือ ไม่เอาความถูกต้องเป็นที่ตั้ง

ถ้ามันเกิดในวงการอื่นยังพอเข้าใจได้นะคะ แต่นี่มันเกิดในศาสนาพุทธที่ให้คุณค่ากับการสละออก สวนทางกับบริโภคนิยมที่ต้องหามาสนองความต้องการ 

ก็เพราะเดี๋ยวนี้พระไม่ได้สอนเรื่องการสละออกแล้วไง แต่ไปสอนเรื่องทำบุญแล้วรวย สอนเรื่องจตุคามรามเทพ สอนเรื่องพระราหู สอนเรื่องชูชก ชูชกเป็นผู้ร้ายในชาดก แต่ตอนนี้กลายเป็นพระเอก เป็นไอคอนไปเสียแล้ว เพราะคนคิดว่าบูชาชูชกแล้วจะรวย

เชื่อว่าบูชาชูชกแล้วจะมีกินจนท้องแตกตายอย่างนั้นหรือคะ 

นั่นแหละ (หัวเราะ) สาเหตุที่บริโภคนิยมแพร่หลายทุกวันนี้ จะโทษบริโภคนิยมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องโทษพระ ต้องโทษชาวพุทธเราเองด้วย เพราะเราไม่ได้ทำให้คนเห็นว่าพุทธศาสนาเป็นทางเลือกที่ดีกว่าตอนนี้คนเห็นว่าบริโภคนิยมมันดีกว่าธรรมะตั้งเยอะใช่ไหม ถ้าอยากจะเป็นคนใหม่ คุณก็ไปหาซื้อหลุยส์วิตตองมาใช้ คุณกลายเป็นคนใหม่ทันทีโดยไม่เหนื่อย คุณจะกลายเป็นคนใหม่เมื่อใช้ชาแนล ภาพลักษณ์คุณจะเปลี่ยนทันทีเมื่อคุณขับเบนซ์

สมัยก่อน ถ้าอยากจะมีตัวตนใหม่คุณต้องมาบวช พอบวชพระก็ต้องเลิกใช้นามสกุลเลยนะ หรือเปลี่ยนชื่อไปเลย
ใช้ฉายาพระแทน แล้วก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตปฏิบัติตามพระธรรมวินัย นั่นคือการสร้างตัวตนใหม่หรือให้ความหวังว่าคุณจะมีตัวตนใหม่ด้วยการมาปฏิบัติธรรม ให้ทานรักษาศีล แต่เดี๋ยวนี้คุณมีตัวตนใหม่ทันทีที่คุณบริโภค เสพ หรือใช้ของบางอย่าง เช่น สินค้าแบรนด์เนม มันง่ายแบบนี้ คนก็เลยแห่ไปสมาทานบริโภคนิยมซึ่งเป็นศาสนาใหม่ของคนยุคนี้

ในสมัยพุทธกาล เวลาเกิดปัญหาในคณะสงฆ์ ก็ทูลปรึกษาพระพุทธเจ้าแล้วก็มีการแก้ไขบัญญัติเป็นสิกขาบทออกมา สำหรับปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ตอนนี้ เราจะพึ่งใครได้คะ

สมัยพุทธกาล คณะสงฆ์ค่อนข้างเล็กพระจำนวนไม่น้อยก็เป็นพระอรหันต์ พระที่ไม่มีความละอายหรือพระหน้าด้านยังมีน้อยพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นประมุขของพระศาสนาจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไร จะออกสิกขาบท ก็ไม่มีเสียงแย้ง แต่เดี๋ยวนี้มหาเถรสมาคมออกกฎอะไรไป ก็ไม่ค่อยมีคนยอมรับ ในสมัยพุทธกาล ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาตัวบุคคล มีพระอลัชชี ก็กำจัดอลัชชีออกไป แต่ตอนนี้มันเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างซึ่งไปผูกพันกับทุกอย่าง ผูกพัน
กับรัฐด้วยนะ

นอกจากคณะสงฆ์และฆราวาสซึ่งเป็นสององค์ประกอบที่สำคัญแล้ว ยังมีรัฐหรือผู้ปกครองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
อีกตัวหนึ่ง ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ปกครองเป็นกำลังสำคัญในการสังคายนาให้เกิดความเป็นปึกแผ่นสามัคคีและบริสุทธิ์ในคณะสงฆ์ ก็เลยมีธรรมเนียมปฏิบัติว่าพระราชาหรือผู้ปกครองมีหน้าที่คุ้มครองคณะสงฆ์ แต่ทุกวันนี้บทบาทของรัฐบาลต่อคณะสงฆ์กลับมีนัยของการควบคุมไม่ให้มีใครแหวกแนวหรือนอกกรอบมากกว่า ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเกินไประหว่างคณะสงฆ์กับรัฐก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ญาติโยมเหินห่างไม่ใส่ใจพระ เพราะรู้สึกว่ามีคนดูแลอยู่แล้ว รู้สึกว่าพระเป็นของรัฐ

จริง ๆ ถ้าคณะสงฆ์เข้มแข็ง ถ้าคฤหัสถ์เข้มแข็ง รัฐไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวเลย เณรคำนี่ควรจะต้องถูกพระหรือชาวบ้านจับสึกตั้งแต่สิบปีที่แล้ว ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยจนสร้างบารมีมากมายและร่ำรวยถึงขนาดนี้

แล้วทำอย่างไร เราจึงจะประคับประคองสถาบันสงฆ์ให้คงความดีงาม และเป็นที่เคารพศรัทธาจากสังคมได้ดังเดิมคะ

นอกจากการตรวจสอบซึ่งเป็นมาตรการในเชิงลบแล้ว จะต้องมีมาตรการเชิงบวกคือ การส่งเสริมให้มีพระดี ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าเป็นการส่งเสริมตัวบุคคลหรือส่งเสริมผ่านการศึกษา ซึ่งรวมถึงระบบกล่อมเกลาทั้งในรูปแบบและนอกรูปแบบ เช่น บางคนก่อนบวชเป็นคนขี้เหล้า เกกมะเหรกเกเรพอมาบวชพระก็ได้รับการศึกษากล่อมเกลาให้เป็นคนดี การศึกษามีหน้าที่ดึงความดีของเขาออกมา ให้สามารถเอาชนะความชั่วหรือนิสัยที่ไม่ดีได้ นอกจากนั้นก็ต้องส่งเสริมให้คนมีพัฒนาการทางจิตที่สูงขึ้นเช่น มีสมาธิ มีปัญญา มีความมั่นคงในชีวิตพรหมจรรย์ และสามารถเข้าถึงเนกขัมมสุขหรือสุขที่ไม่พึ่งกามได้

อาตมาคิดว่าระบบส่งเสริมให้พระเป็นคนดีจะต้องมี อย่าไปคิดแค่ว่าส่งเสริมพระดีด้วยการให้เป็นเจ้าอาวาส ให้เป็น
เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ นี่เป็นระบบการปกครองซึ่งต้องยอมรับว่าระบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ส่งเสริมคนดี แต่ขึ้นอยู่ว่าคุณมีเงินมีเส้นสายหรือเปล่า พระหลายรูปปฏิบัติตามพระวินัย สอนหนังสือดี แต่ไม่ได้รับการส่งเสริม ก็ย่อมหมดกำลังใจ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขหรือถึงขั้นปฏิรูป แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ การปฏิรูปการศึกษาคณะสงฆ์เพื่อให้มี พระดีเกิดขึ้นมามาก ๆ

เราคาดหวังกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้มากแค่ไหนคะ เพราะเรื่องแบบนี้เราก็ได้ยินมาตั้งนานแล้ว

ที่เป็นอย่างนี้ไม่ได้เกิดมาตั้งนานแล้วนะมันเพิ่งเป็นสัก 50 - 60 ปีมานี้เอง  เมื่อเทียบกับอายุพุทธศาสนาในเมืองไทย  ถือว่าเป็นช่วงเวลาประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้นเอง  ถามว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไหม  อาตมาว่าเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะมีคนที่ได้ประโยชน์จากความเสื่อมโทรมของระบบนี้เยอะมาก ตั้งแต่พระสงฆ์ไปจนถึงวงการพระเครื่อง วงการไสยพาณิชย์ วงการก่อสร้าง เอาแค่เสนอพ.ร.บ.ให้ทุกวัดทำบัญชีอย่างถูกต้อง แยกบัญชีวัดกับบัญชีเจ้าอาวาสออกจากกันรับรองสะเทือนไปทั้งประเทศ พ.ร.บ.นี้ต้องถูกค้านน่าดูเลย  เพราะมีหลายฝ่ายที่ได้ผลประโยชน์จากสภาพที่แปรปรวนเสื่อมโทรมแบบนี้มาก  ทั้งที่พระควรจะมีธรรมาภิบาล
ในเรื่องบัญน้ำบัญชีหรือเรื่องเงินทองใช่ไหมแต่กลับบกพร่องในเรื่องนี้มาก

ถามว่ายากไหม…ยาก แต่ถึงจะยากก็ใช่ว่ามันจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย เราก็ต้องพยายามก่อน แก้ทีละจุด ๆ ไปจุดไหนที่เราทำได้ เราก็ทำไป เรื่องไหนที่เราพูดได้ เราก็พูด



คำถามสุดท้ายค่ะ พระอาจารย์ออกมาวิจารณ์สถาบันสงฆ์ตรงไปตรงมาแบบนี้ ต้องเกรงใจใครไหมคะ

(หัวเราะ) เผอิญอาตมาเป็นพระธรรมดาไม่ได้สนใจเรื่องลาภยศสักการะอยู่แล้ว ถ้าติดเรื่องลาภยศหรือคำยกย่องสรรเสริญก็อาจไม่กล้า กลัวว่าพูดอะไรไปแล้วเดี๋ยวเรตติ้งจะตก แต่อาตมาไม่ใช่เซเลบ ก็เลยไม่แคร์เรตติ้ง (หัวเราะ) อาตมาไม่มีความรู้สึกทางนี้หรือจะว่าเอาดีทางนี้ไม่ได้ก็ได้นะ เลยพูดได้เต็มปาก

ข้อสำคัญคือ มันเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องทำเพื่อพระศาสนา ถ้าไม่มีใครพูดไม่มีใครจี้ จะมีความตื่นตัวได้อย่างไรล่ะ
แล้วเราจะปล่อยให้พระศาสนาทรุดโทรมต่อหน้าต่อตาหรือ

เป็นพระ ถ้าไม่ยึดติดในเรื่องลาภยศสักการะเสียอย่าง จะมีอิสระมาก พระพูดอะไรได้เยอะเลย

โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นความถูกต้อง

 

เรื่อง อิสระพร  บวรเกิด  ภาพ สรยุทธ  พุ่มภักดี

จาก http://www.secret-thai.com/article/dharma/3918/15122558-2/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...