ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะในหลวงทรงสอน การควบคุม"จิต"ให้ผ่องใส ทำอะไรก็ได้ดี!!  (อ่าน 1219 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ธรรมะในหลวงทรงสอน การควบคุม"จิต"ให้ผ่องใส ทำอะไรก็ได้ดี!!

จิตคือศูนย์กลางของการปฏิบัติธรรม [1]

... คราวนี้ก็ยังไม่ได้พูดถึงว่า พุทธศาสนานี้ปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติอย่างไร  เพราะว่าคนที่ศึกษาพระพุทธศาสนา หรือมาตั้งเป็นพุทธสมาคม หรือเป็นกลุ่มศึกษาพุทธศาสนา บางทีก็ยังไม่ทราบว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเริ่มที่ไหน

เพราะที่พูดถึงวิธีการที่จะเริ่มปฏิบัติได้นั้นก็ไม่ได้บอกว่าเริ่มปฏิบัติที่ตรงไหน นอกจากมาเปรียบเทียบว่าเข้าไปหาสวิตช์ไฟเพื่อจะเปิดให้มีความสว่าง และเมื่อมีความสว่างแล้วก็ดูทางได้ และไปดูทางที่จะทำให้สว่างยิ่งขึ้น  สวิตช์ไฟนั้นอยู่ที่ไหน  คือสวิตช์ไฟนั้น เราเอาแสงไฟเท่าที่เรามีริบหรี่นั้นไปฉาย แล้วก็ไปเปิดสวิตช์ไฟ  สวิตช์ไฟนี้คืออะไร

เพราะท่านพูดอยู่เสมอว่า พระพุทธศาสนานั้น เมื่อได้ปัญญาก็มีความสว่าง  เมื่อปฏิบัติธรรมก็ได้ปัญญา ได้แสงสว่าง  ปัญญานั้นก็ดูจะเป็นสวิตช์ไฟ

แต่ถ้าดูๆ ไป  ปัญญานี้ปัญญาในอะไร  ก็ปัญญาในธรรมนี่  ปัญญาในธรรมไม่ใช่สวิตช์ไฟ  ปัญญาในธรรมนั้นคือแสงสว่างสำหรับเปิดไฟให้สว่าง  คือให้ได้ถึงปัญญานั้นก็จะต้องมีสวิตช์ไฟ  สวิตช์ไฟนั้นคืออะไร หรือสวิตช์ไฟนั้นจะพบอย่างไร

แต่การที่จะบอกว่าสวิตช์ไฟคืออะไรนั้น ก็คือใจเรา ใจหรือจิต จิตหรือใจก็ได้  แล้วบางที ท่านก็เรียกว่าจิต  บางท่านก็เรียกว่าใจ  บางท่านก็บอกว่าจิตคือใจ  บางท่านก็บอกว่าใจคือจิต  บางท่านก็บอกว่าจิตไม่ใช่ใจ  หรือบางท่านก็บอกว่าจิตคือเป็นอาการของใจ  อาการของใจนี้แปลว่าอะไร

ใจเป็นสิ่งที่เรามีทุกคน เป็นสิ่งที่เราไม่เห็น เป็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น  แต่ว่าใจนี้จะเป็นผู้บงการการกระทำของเราทั้งหลาย จึงต้องพยายามดู

แต่ใจนี้ เราไม่ได้ดูก็ไม่เห็น  ถ้าดูด้วยตา ด้วยตาที่มองดูภูมิประเทศ ดูใครต่อใคร ดูตึกอาคารนั้น  ตานั้นจะไม่เห็น  ท่านก็เรียกว่า ‘ตาใจ’  คือความรู้  ตาใจนั้นก็คือเป็นสิ่งที่จะใช้สำหรับได้ปัญญา ได้เห็นแสงสว่างของปัญญา ...

 

จิตเป็นนามธรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้ [2]
 

... คนเราทุกคนมีที่เรียกว่า “จิต”  บางทีก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก จิตคืออะไร  ก็คือไม่เห็น  คือเขาบอกว่า เขาเรียกว่า “จิตใจ”  บางคนก็นึกว่าอยู่ที่หัวใจบ้าง  หรือคนสมัยใหม่ก็อาจจะบอกอยู่ที่สมอง เป็นจิต เป็นตัวเรา ที่อยู่ที่ไหนก็ตาม

จิตนี้เราจะมองเห็นได้ ถ้าเราทำจิตใจนี้ให้ผ่องใส  เมื่อทำจิตใจให้ผ่องใสก็เห็น เห็นจิต  ตามธรรมดานั้นพูดถึงว่า จิตนี่ก็เป็นสิ่งที่จะดูยาก  ที่จิตดูยากเพราะว่า จิตที่อยู่นิ่งๆ ก็จะไม่เห็น

อย่างเราดูอากาศหรือดูน้ำมันไม่ค่อยเห็น  อย่างในห้องนี้ เราดูอากาศเห็นหรือเปล่า  ก็ไม่เห็น  แต่ว่าถ้าเราดูไปทางหน้าต่างเห็นสีฟ้า มันก็เป็นลักษณะอากาศ  อากาศมีสีฟ้าก็เห็น แต่เห็นยาก  จิตนี้ก็เหมือนกัน เห็นยาก

แต่ถ้าดูฟ้าหรือดูข้างนอก เราเห็นเมฆ  เมฆมันลอยไป  เมฆมันลอยไปทำไม  ก็เพราะว่าอากาศมันเคลื่อน  แต่เราเห็นเมฆนั้น  มันเป็นเมฆ  ไม่ใช่ลม ไม่ใช่อากาศ

จิตเหมือนกัน  ถ้าเราอยู่เฉยๆ มันไม่เห็น  แต่ถ้าสมมติว่า เรามองเห็น ดูอะไรเราชอบใจ จะเห็นว่าจิตผ่องใส  อันนี้เป็นวิธีที่จะดูจิต  อันนี้เป็นวิธีที่จะทำให้สามารถรู้จักจิต ...

 
[1] พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ณ ศาลาดุสิดาลัย  วันเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓.

[2] พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตโร และคณะ เฝ้าถวายต้นเทียนพรรษาและเงิน เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  วันพุธที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐.





จิตเป็นสิ่งที่มนุษย์ควบคุมได้ [3]

... จิตใจที่อิ่มใจนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ  เราจะทำอย่างไรให้จิตใจอิ่มใจ  ก็ต้องทำอย่างที่ว่า ต้องพยายามที่จะมองดูให้เห็นจิตของตน  ถ้ามองอะไรด้วยตา เห็นอะไรก็เอามา จิตเรารู้เท่านั้นเอง เราจะเห็นจิต เห็นอะไรที่น่าพอใจ แล้วก็เห็นว่าจิตนี้ฟู ฟูขึ้นมา ดีใจขึ้นมา จะเห็นจิตว่าดีใจ

จิตนั้นนะคล้ายๆ เต้นได้  ถ้ามีอะไรเข้ามาไม่พอใจ จิตนั้นก็จะเต้นได้เหมือนกัน เต้นเร่าๆ  รู้สึก  แล้วบางทีเมื่อจิตเราเจออะไรที่น่าดีใจ บางทีก็กระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ หรืออย่างน้อยก็มีการยิ้มหรือหัวร่อ  ถ้าหากว่าเจออะไรที่ไม่พอใจ หน้าจะบึ้ง แล้วก็จะแสดงออกมาเป็นคำว่าเขาหรืออะไรทันที

ทำไมเป็นอย่างนั้น  ก็เพราะว่า สิ่งที่เข้ามากระทบจิตของเรา จิตของเรานั้นต้องมีปฏิกิริยา และจะเห็นได้ถ้าหากว่าเราตั้งใจจริง  แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจจริงก็จะไม่เห็น  เมื่อไม่เห็นแล้วก็ผ่านไป ผ่านไปโดยที่ไร้ประโยชน์

แต่ถ้าเราเห็นว่าจิตเรามีอาการอย่างไร ก็จะทราบ จะควบคุมได้  เมื่อควบคุมได้แล้ว จะทำอะไรสักอย่างจะมีผลที่สำเร็จดีแน่มากขึ้น มากกว่าเดิม  เพราะว่าจะไม่ประสบอันตราย จะมีความปลอดภัยมากกว่า  เราเรียกว่าไม่ประมาท  ถ้าประมาท มันก็อาจจะเกิดอันตราย

เช่น  อย่างที่ว่าขึ้นมานี้  ถ้าเราไม่มีจิตตรง ไม่ระมัดระวัง เราก็เดินชนฝา  นี่ก็แปลก  เคยเดิน เดินไปไม่มีสติ เดินไปชนประตูชนฝา ก็เจ็บ แล้วก็เสียหาย  แต่ถ้าเดินถูกที่แล้วก็ไม่เจ็บ ก็ได้ผลตามจุดประสงค์ของเราที่จะเดินไปที่ที่เหมาะสมที่เราต้องการเดิน ก็ถึงจุดประสงค์

อันนี้เป็นในขั้นปฏิบัติธรรมดา  ในขั้นปฏิบัติสูงในด้านปฏิบัติที่เรียกว่า “ปฏิบัติธรรมะ” ก็จะบรรลุผลที่ดี  จิตใจจะมีความสุขที่ยั่งยืน ...

 
[3] พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตโร และคณะ เฝ้าถวายต้นเทียนพรรษาและเงิน เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  วันพุธที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐.


จิตเป็นตัวนำ การกระทำเป็นตัวตาม [4]

... เมื่อรู้จักจิตแล้วควบคุมจิตให้ทำดีชอบ จะดีชอบในด้านไหนก็ได้  ทำงานทำการก็ต้องทำให้ดีชอบ ทำมาหากินโดยสุจริต ก็หมายความว่าไม่ทุจริต  ก็ต้องดูจิตว่า เรามีความทุจริตหรือไม่

แม้จะอ่านหนังสือหรือดูหนังสือเพื่ออ่านเล่นหรืออ่านให้ได้ความรู้ก็ดี ให้จิตนี้ต้องอ่าน  ถ้าจิตมันฟุ้งซ่านไปที่ไหนที่ไหน อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่ดี  อย่างพวกที่อ่านหนังสือสำหรับสอบ ไปเรียนหนังสือแล้วก็ไปสอบ  ถ้าอ่านหนังสือโดยที่จิตไม่ใสก็อ่านไม่รู้เรื่อง จำอะไรก็ไม่ได้ ก็สอบไม่ได้ ไม่สำเร็จ

ทำงานทำการมีงานก็เช่นกัน  จิตเราไม่ผ่องใส งานนั้นไม่สำเร็จ เพราะว่าคิดไม่ออก  ฉะนั้น  ก่อนที่จะทำงานการใดก็ต้องมีจิตที่ผ่องใส  จิตที่ผ่องใสนี่หมายความว่า ให้ตัวจิตเองหรือตัวเราเองรู้ว่าเราคิดอะไร รู้ว่าเรามีงานอะไรจะต้องทำ

แม้ในสิ่งที่ง่ายๆ อย่างเช่น  ท่านทั้งหลายมาที่นี่ต้องเดินขึ้นมา นั่งรถมา แล้วก็เดินขึ้นอาคารนี้ ขึ้นมาทางบันไดแล้วก็เดินเข้ามาในห้องนี้  ถ้าจิตไม่อยู่ที่จิต ไม่รู้เรื่อง เดินก็ไม่เห็นอะไร ไม่เห็นว่าอะไรเป็นประตู อะไรเป็นฝา เดินไปก็ชนฝา  อันนี้เป็นความจริง

ฉะนั้น  เรามีตาที่จะเห็น มีเท้าที่จะเดิน  เราเห็นตรงนี้เป็นช่องประตูที่ควรจะเดินเข้าก็เดินเข้ามา ก็เข้ามาโดยสวัสดิภาพ มานั่งที่ที่เหมาะสมที่หาไว้

อันนี้ก็เป็นงานอย่างหนึ่ง เป็นงานอย่างง่ายๆ  แต่ว่าถ้าไม่มีจิตหรือไม่ควบคุมจิต จิตไม่ผ่องใสพอสมควร ก็จะไม่สำเร็จ เดินขึ้นมาก็ไม่ถึงที่นี่  ถ้าใครมาบอกว่า ขึ้นไปตรงนั้นแล้วก็เลี้ยวขวา เลี้ยวซ้าย ไม่ทำตาม หรือจิตไม่อยู่กับหลัก ฟังเขาพูดแล้วไม่ได้ยิน  หมายความว่า จะเห็นอะไรหรือฟังอะไรต้องใช้จิตที่ผ่องใส ที่มีความที่เรียกว่าสงบพอสมควรที่จะรับสิ่งใดหรือทำอะไร

อันนี้ เวลาไปเรียนรู้ไปฟังธรรมที่วัด ท่านก็บอกว่าต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา  มีศีลนี่ก็หมายความว่าปฏิบัติให้ถูกต้อง  แต่มีสมาธินี่ก็คือจิตที่เราตั้งให้ผ่องใส แล้วปัญญาก็คงจะเกิด ก็จะรู้ว่าทำอะไร  ขั้นต่างๆ ต้องมีในระดับต่างๆ ในระดับชีวิตประจำวัน ในระดับที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ ...

[4] พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตโร และคณะ เฝ้าถวายต้นเทียนพรรษาและเงิน เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  วันพุธที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐.
 

เรียบเรียงโดย ณัฐวุฒิ แจ๊สสูงเนิน จากหนังสือ ธรรมะจากพระโอษฐ์

จาก http://panyayan.tnews.co.th/contents/197806/






ธรรมะจากพระโอษฐ์:ศึกษาธรรมะให้ได้ผลจริง ! ต้องทำ "สิ่งนี้" ด้วย

ธรรมะมี ๓ ขั้น :

ปริยัติธรรม -> ปฏิบัติธรรม -> ปฏิเวธธรรม [1]






"... ข้าพเจ้าได้พูดกับท่านทั้งหลายถึงแนวทางที่ควรปฏิบัติในการส่งเสริมทำนุบำรุงพระศาสนาและศีลธรรมจรรยามาแล้วหลายคราว  คราวนี้ขอปรารภกับท่านถึงแนวทางที่เห็นว่าสำคัญ ควรที่จะนำมาพิจารณาอีกประการหนึ่ง  คือ  การศึกษาธรรมะและศีลธรรมจรรยาอย่างถูกถ้วน

         พระพุทธศาสนาวางแนวทางการศึกษาธรรมะเพื่อให้ประสบผลที่แท้จริงแน่นอนไว้ว่า  บุคคลจะต้องศึกษาทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติประกอบพร้อมกันไป โดยกระทำให้หนักแน่นได้สัดส่วนกันทั้งสองด้าน จึงจะเกิดปฏิเวธ  คือได้รับและได้เห็นผลของธรรมะนั้นๆ เป็นที่ประจักษ์ตาประจักษ์ใจ

         โดยนัยนี้  ตราบใดที่เรียนรู้ แต่ไม่ประจักษ์ในผล ก็เรียกว่าบุคคลยังเรียนไม่สำเร็จ ยังไม่ได้ประโยชน์จากธรรมะอยู่ตราบนั้น และจะนำธรรมะไปแนะนำสั่งสอนหรือเผยแผ่แก่ใครไม่ได้จริง

          ธรรมะขั้นใดระดับใดก็ตาม จำต้องศึกษาให้ทราบด้วย ต้องนำไปปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ให้ได้รับผลปฏิบัติด้วย  ผู้ศึกษาจึงจะเกิดปัญญารู้ชัดแจ้งในธรรมะนั้นได้

          เพราะฉะนั้น  นอกจากจะศึกษาธรรมะอย่างนักวิชาการหรือนักปริยัติแล้ว  ท่านทั้งหลายควรจะได้ศึกษาอย่างนักปฏิบัติอีกสถานหนึ่งพร้อมๆ กันไป จักได้เข้าถึงธรรมะจริงๆ จักได้รู้ได้เชื่อมั่นในธรรมะอย่างแน่วแน่  สมควรแก่หน้าที่ผู้เผยแผ่ศีลธรรมจรรยาและส่งเสริมทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างแท้เที่ยง ..."

 
[1] พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๓๐  วันเสาร์ที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕.


ปริยัติธรรม : การศึกษาธรรมะจากคัมภีร์ [1]

... ถ้าจะเป็นการชุมนุมกันหรือรวมกลุ่มกันเพื่อศึกษาพุทธศาสนาหรือที่เรียกว่า ‘พุทธศาสตร์’  มาใช้คำว่า ‘พุทธศาสตร์’ ก็อาจจะเพราะว่าอยากจะให้ดูเป็นว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งแขนงหนึ่ง  เป็นวิชาแขนงหนึ่งซึ่งจะต้องมาศึกษาและมาวิจัย  มาศึกษาเพื่อที่จะให้ตั้งเป็นตำรา

ทำอย่างนั้นก็มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะว่าเป็นการประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะให้ผู้อื่นสามารถที่จะได้ใช้ประโยชน์อย่างสะดวกที่สุด  จึงทำเป็นการแปลบ้าง การประมวลบ้าง การถกเถียง มีการอภิปรายบ้าง

การทำสิ่งเหล่านั้น ถ้าทำด้วยจุดประสงค์ที่ดีและด้วยความสามารถก็ย่อมมีประโยชน์  แต่ว่าถ้ามีการศึกษาวิจัยพุทธศาสตร์เพื่อที่จะสร้างตำราใหม่ อันนั้นก็ไม่ชอบ เพราะว่าตำรามีอยู่แล้ว

ตำราคือคำสั่งสอนต่างๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ในพระไตรปิฎกและในอรรถกถาต่างๆ ครบถ้วน  มีจนบอกได้ว่า มีมากเกินความจำเป็นของแต่ละบุคคล  แต่ว่าที่ต้องมีมากเพราะว่า อย่างที่กล่าวไว้ว่าแต่ละคนก็มีฐานะของตัว  แต่ละคนก็จะได้เลือกได้

การศึกษาดังนี้เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาปริยัติ  ปริยัตินั้นก็คือหลักการต่างๆ ที่เป็นตำรานั้นเอง  การศึกษาปริยัติจึงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพุทธศาสนา  เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่สมาชิกสมาคมต่างๆ ในทางพุทธศาสนาควรที่จะได้สนใจ

แต่ปริยัตินี้ก็มีการศึกษาได้ด้วยจุดประสงค์ต่างๆ กันเหมือนกัน  เช่น  ศึกษาปริยัติเพื่อที่จะมาถกเถียงกัน  อาจจะเป็นการทะเลาะกันด้วยซ้ำ  อันนี้อาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์นัก  แต่ว่ามีการทำกันมาก มาถกเถียงกันมาก  ข้อนี้คนนี้พูดว่าอย่างหนึ่ง  อีกคนก็แย้งว่าไม่ใช่อย่างนั้น  ก็ถกเถียงทะเลาะกัน  บางทีหน้าดำหน้าแดงจนกระทั่งเป็นศัตรูกันก็มี

อย่างนั้นเท่ากับได้ศึกษาปริยัติมาสำหรับมาทะเลาะกัน สำหรับมาหาความทุกข์ สำหรับมาหาความไม่สงบ  จึงเป็นการศึกษาที่อาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์นัก เพราะว่าเป็นการศึกษาเพื่อมาโอ้อวดกัน  เป็นการศึกษาเพื่อที่จะมาทะเลาะกันเอาดี  ก็หมายความว่าเป็นการยึด เป็นมานะที่แรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับจุดประสงค์ของพระพุทธศาสนา

มีผู้ที่ศึกษาปริยัติของพระพุทธศาสนานี้สำหรับเก็บเอาไว้  ท่านเรียกว่าศึกษาพระปริยัติเป็นขุนคลัง  คือหมายความว่าเก็บ เก็บ เก็บ เก็บเอาไว้  เก็บเอาไว้เพราะว่าอยากเก็บ  อันนี้ก็เป็นวิธีอย่างหนึ่งที่อาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์นัก

แต่ว่าก็ยังดีกว่าที่จะศึกษาปริยัติมาสำหรับทะเลาะกัน  เพราะว่าการทะเลาะนั้นทำให้เกิดความไม่สงบ ทำให้เกิดความรุนแรง ทำให้เกิดแตกแยกกัน ทำให้เกิดทิฏฐิมานะในตัวเอง ไม่เห็นสว่าง

การที่จะศึกษาปริยัติเพื่อเป็นขุนคลังนั้นก็ไม่ได้ประโยชน์นัก และอาจจะเสียอยู่ที่ว่าเท่ากับเราเป็นผู้ที่เก็บของโบราณ  เราเป็นเหมือนคนที่สะสมเพราะว่าเรารักเราชอบ  มันก็เป็นโลภหรือเป็นราคะก็ได้  ไม่เป็นสิ่งที่จะขัดเกลาให้เรามีความสบายใจแต่ประการใด  อาจจะมีความพอใจที่ว่ามีปริยัติเยอะแยะ  มันสนุกดีหรือมันน่าชื่นชม  แต่ก็เป็นสุขชั่วแล่น

ฉะนั้น  การศึกษาปริยัติเพื่อที่จะเก็บไว้เฉยๆ นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถึงจุดประสงค์ และอาจจะนำไปสู่ความเดือดร้อนบ้างเหมือนกัน  เพราะว่าเราเรียนปริยัติ เราสะสมปริยัติ บางทีมันตกหล่นบ้าง บางทีก็ลืมบ้าง ก็เกิดโทมนัสว่า  เอ... ข้อนี้เราลืมไปเสียแล้ว มันหายไปเสียแล้ว  เพราะว่าเราเรียน เราจำ  มันย่อมลืมได้  โดยเฉพาะอย่างผู้ที่เคยจำได้ และเดี๋ยวนี้ก็จำไม่ได้ ก็เดือดร้อนกลุ้มใจ

ความกลุ้มใจนั้นก็ไม่รู้จะไปแก้ไขอย่างไร เพราะว่าลืมเสียแล้วว่าท่านแก้อย่างไร  ลืมปริยัติว่า เวลากลุ้มใจ ท่านแก้ด้วยอะไร  ก็ลืมไป ก็กลุ้มใจ  ยิ่งกลุ้มก็ยิ่งกลุ้มว่ากลุ้ม  ก็นับว่าการเรียนปริยัติอย่างนั้นเพื่อเก็บไว้เฉยๆ ก็ไม่สู้จะดี ...

 
[1] พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ณ ศาลาดุสิดาลัย  วันเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓.



ปฏิบัติ : การปฏิบัติธรรมตามที่ได้ศึกษาจากคัมภีร์ [1]
 

... การศึกษาปริยัติก็มีอีกอย่างหนึ่ง คือศึกษาปริยัติแล้วที่เรียกว่า “ปฏิบัติ”

เวลาฟังปริยัติ หมายความว่าคำสั่งสอนใดๆ  อ่านคำสั่งสอนใดๆ มาแล้วก็มาคิด มาคิดให้เข้าใจ มาคิดให้รู้ มาคิดให้แจ้ง  อันนี้แหละเรียกว่า ‘ปัญญา’ ได้  เวลาพูดถึงปริยัติข้อใด เอามาคิดว่า ท่านหมายความว่าอะไร  แล้วมาดูที่จิตใจของเราว่ามันตรงหรือไม่  มีเหตุอย่างนั้น มันตรงไหมที่ท่านสอน  อันนี้ก็หมายความว่าเป็นการปฏิบัติ

ฉะนั้น  ถ้าเรียนปริยัติมาข้อใด แล้วก็มีเวลาเมื่อใด ก็มาพิจารณาถึงข้อปริยัติในระหว่างที่ยังไม่ได้ลืมคำสั่งสอนนั้น  มาดูจิตใจของเรา  การดูจิตใจนี้ก็คือการปฏิบัติ  ไม่ต้องมีอย่างอื่น  การดูจิตใจนั้นอย่างเดียวเป็นการปฏิบัติ

ฉะนั้น  ถ้าเรียนปริยัติ หรือได้ฟังปริยัติ ได้เห็นปริยัติ ได้รู้สึกปริยัติ  หมายความว่า ได้ไปที่ไหน ได้เห็นโลกเป็นอย่างนั้นๆ นั่นเป็นปริยัติทั้งนั้น  เอามาพิจารณาว่า เวลาเราเจอสิ่งของเหล่านั้น ใจของเรารู้สึกอย่างไร  นี้เป็นการปฏิบัติ  และมาพิจารณาว่า ทำไมมันเกิดอย่างนั้น ก็เป็นการปฏิบัติ

ถ้าหากว่า เมื่อฟังปริยัติ อ่านปริยัติ ประสบปริยัติ แล้วมาปฏิบัติ คือดูที่ใจ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง  เพราะว่าปริยัตินั้นลืมไปแล้ว  แต่ใจที่สัมผัสและศึกษาอารมณ์ต่างๆ ไม่ลืม  ไม่มีทางลืม เพราะว่าเห็นแล้ว  เห็นว่าอะไรเป็นจริงแล้ว  เมื่อเห็นจริงแล้ว ไม่มีทางลืม ...

 

ปฏิเวธ : ผลสำเร็จของการปฏิบัติธรรม [2]

... ธรรมะในพระพุทธศาสนานั้นบริบูรณ์ด้วยสัจธรรมที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ในทุกระดับ ซึ่งบุคคลสามารถจะศึกษาและปฏิบัติให้เกิดประโยชน์คือความเจริญผาสุกแก่ตนได้อย่างแท้จริง  กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมจะมีชีวิตและกิจการงานที่ประกอบด้วยความสว่าง สะอาด และสงบ

ที่ว่า “สว่าง” นั้นคือ  มีปัญญา รู้เหตุรู้ผล รู้ผิดชอบชั่วดีโดยกระจ่างชัด

ที่ว่า “สะอาด” นั้นคือ  ไม่มีความทุจริตทั้งกาย วาจา ใจ มาเกลือกกลั้ว เพราะเห็นจริงชัดในกุศลและอกุศล

ที่ว่า “สงบ” นั้นคือ  เมื่อไม่ประพฤติทุจริตทุกๆ ทางแล้ว ความเดือดร้อนจากบาปทุจริตก็ไม่มาแผ้วพาน

คนที่ประพฤติตนและปฏิบัติงานโดยตั้งอยู่ในธรรมอย่างเคร่งครัดจึงเป็นผู้มีปรกติสุขอยู่ร่มเย็น ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง แก่ผู้อื่นและสังคมส่วนรวม

ท่านทั้งหลายผู้ตั้งใจอุทิศแรงกายแรงใจของตนเพื่อพระพุทธศาสนาและความผาสุกของประชาชนจึงควรจะได้เพียรพยายามปฏิบัติส่งเสริมให้มหาชนได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้องทั่วถึง ก็จะช่วยให้แต่ละบุคคลดำรงตนอยู่ได้อย่างมั่นคงและเป็นสุขในทุกสถานการณ์ และช่วยค้ำจุนส่วนรวมมิให้เสื่อมทรุดลงได้ ดังที่ท่านมุ่งหวัง ...
 
[1] พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ณ ศาลาดุสิดาลัย  วันเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓.

[2] พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔๐  เรื่อง “พระพุทธศาสนากับภาวะวิกฤตของสังคมไทย”  ณ วัดพระยายัง กรุงเทพมหานคร  วันเสาร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑.

 

เรียบเรียงโดย ณัฐวุฒิ แจ๊สสูงเนิน จากหนังสือ ธรรมะจากพระโอษฐ์

จาก http://panyayan.tnews.co.th/contents/197806/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...