ผู้เขียน หัวข้อ: ทำดี ทำด้วยใจ ทำได้ทันที ( เรื่องราวของ 3 นักแสดงสาวใจบุญ )  (อ่าน 1313 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ทำดี ทำด้วยใจ ทำได้ทันที

ใครว่าการทำความดีเป็นเรื่องยาก

ลองอ่านเรื่องราวของ 3 นักแสดงสาวใจบุญ ที่มาร่วมกันแชร์เรื่องราวราวการทำความดี

ที่ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ทำด้วยใจ และทำได้ทันที

แพนเค้ก – เขมนิจ จามิกรณ์ 

ทำมากหรือน้อยไม่สำคัญ เท่ากับต้อง “ทำทันที”



แพนเค้ก - เขมนิจ จามิกรณ์

นักแสดงสาวสุดฮ็อต แพนเค้ก – เขมนิจ จามิกรณ์ แม้จะได้ชื่อว่ามีคิวงานแน่นจนหาเวลาว่างได้ยากสุด ๆ แต่พอมีเวลาว่างเมื่อไร แพนเค้กเป็นต้องควง คุณแม่หน่อย (นวลนง จามิกรณ์) และเพื่อน ๆ ไปหาอะไรดี ๆ ทำ จนหลายสื่อถึงกับมอบฉายาให้เธอว่า “นางเอกการกุศล”

สมัยเด็ก ๆ แพนจะได้ยินคุณพ่อคุณแม่พูดถึง “การทำความดีด้วยการให้” อยู่บ่อย ๆ แต่แพนก็แอบคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องให้อะไรหรือทำอะไรให้คนอื่นก็ได้นี่ แค่ทำหน้าที่ของเราไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็น่าจะพอแล้ว

เวลาผ่านไป จากการที่แพนได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น ๆ และได้เห็นโลกมากขึ้น แพนก็เริ่มเปลี่ยนความคิดค่ะ

“การให้” เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ ไม่มีขอบเขต ไม่ต้องใช้สตางค์และถึงจะไม่ใช่คนรู้จักกันมาก่อน เราก็สามารถให้ได้ทันที เริ่มจากให้ “รอยยิ้ม” ให้ “กำลังใจ” ใช้ “แรงกาย” ของเราเอง และถ้ามีกำลังทรัพย์มากพอ เราก็อาจจะมอบ “สิ่งของ” เพื่อช่วยเหลือเขาในเบื้องต้น

ยิ่งเมื่อมีโอกาสเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี แพนก็ยิ่งได้ข้อคิดดี ๆ มาใช้ในการดำเนินชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะข้อคิดที่โยงใยกับการให้ เช่น

“เปลี่ยนความดังให้เป็นความดี” เราโชคดีที่มีโอกาสเป็นนักแสดง ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนมากกว่าอาชีพอื่น ๆ เราก็ควรจะใช้สิ่งที่มีอยู่ไปทำประโยชน์แก่ผู้อื่นให้มาก ๆ

“คอนเน็กชั่น” ไม่มีใครสามารถอยู่บนโลกนี้ได้ตามลำพังเราจำเป็นต้องมีเครือข่ายโยงใยที่จะทำเรื่องราวต่าง ๆ ร่วมกันให้ประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าโครงการบางอย่างที่แพนคิดขึ้นอาจต้องใช้เงินมาก ซึ่งลำพังเงินของแพนเองคงไม่พอ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากคนอื่น ๆ ด้วย

“คนเรามีเวลาจำกัด” เราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร ลองถามตัวเองสิว่า เราเคยทำอะไรเพื่อผู้อื่น ทำอะไรเพื่อโลกนี้แล้วหรือยังถ้ายังก็ขอให้จำสามคำนี้ไว้ นั่นคือ “ทำทันที” อย่าคิดช้า อย่าเดินช้า อย่ามีข้อแม้ เพราะทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเสมอ คิดแล้วก็ทำเลย…การให้ก็เช่นเดียวกัน

พื้นฐานเรื่องการให้ แพนว่าหลัก ๆ ต้องยกให้คุณแม่นี่แหละค่ะที่คอยอบรมมาตลอดจนแพนซึมซับไปเอง

แพนมีโอกาสได้ช่วยงานพระอาจารย์ ว.วชิรเมธีด้วยค่ะ ภาพนี้พระอาจารย์มอบหมายให้แต่งตัวเป็นเจ้านางน้อย เพื่อร่วมอัญเชิญ “หลวงพ่อแจ้งแก่ใจ”ไปประดิษฐานยังศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย

เวลาไปมอบทุนการศึกษา แพนจะไม่เน้นเด็กเรียนดีเพราะเห็นว่าเด็กเหล่านี้มักมีโอกาสได้รับทุนเรียนดีบ่อยแล้ว แต่แพนจะมอบทุนให้เด็กที่ตั้งใจเรียนหรือตั้งใจทำกิจกรรมแทน เพราะเด็กเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามไปค่ะ (แอบเข้าข้างตัวเอง เพราะแพนก็เรียนไม่เก่งเหมือนกัน ^^)



ช่วงน้ำท่วมเมื่อปี 2554 นอกจากแพนจะมีโอกาสไปร่วมแจกของกับคณะอื่น ๆแล้ว แพนกับครอบครัวยังช่วยกันแพ็คของ แบกขึ้นรถ ต่อด้วยลงเรือเพื่อไปแจกผู้ประสบภัยเองด้วย ป้า ๆ หลายคนพอรู้ว่าเป็นแพนก็ดีใจกันใหญ่ประมาณว่า “ไม่ต้องเอาของก็ได้” แค่มาให้กำลังใจก็พอ

ส่วนเสื้อยืด “we are together flood 2011” แพนออกแบบเองเพื่อหารายได้เข้าการกุศลค่ะ ในคอลเล็กชั่นเดียวกันนี้ แพนยังทำออกมาเป็นสมุดเล่มเล็ก ๆ ไว้แจกน้อง ๆ คู่กับเครื่องเขียนอีกด้วย

น้องหมีคอลเล็กชั่นพิเศษ สีเขียว แดง และขาวที่แพนออกแบบเองกับมือ เพื่อมอบเป็นที่ระลึกในช่วงน้ำท่วมค่ะ เรียกว่าลิมิเต็ดเอดิชั่นก็ได้ เพราะหมดแล้วหมดเลย ไม่มีขายที่ไหน

แพนว่า “การให้” เป็นเหมือนแบบฝึกหัดสอนตัวเองที่ดี มีแล้วต้องแบ่งปันเพราะทุกคนในโลกนี้ก็เหมือนเป็นพี่เป็นน้องกันทั้งนั้น อ้อ! แล้วอย่าลืมว่า “ไม่ว่าทำอะไร ตัวทำแล้วใจต้องทำด้วย” ไม่ใช่แค่ทำให้จบ ๆ ไป แต่ใจปฏิเสธตลอดเวลา เพราะอย่างนั้นเราคงไม่มีความสุขแน่นอนค่ะ 

นุ่น – ศิรพันธ์ วัฒนจินดา

ทำด้วยมือ ทำด้วยใจ แล้วทำไปเหอะ!



นุ่น - ศิรพันธ์ วัฒนจินดา

บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในวันฝนพรำ ในตู้คอนเทนเนอร์หลากสีที่ นุ่น – ศิรพันธ์ วัฒนจินดา นำมาดัดแปลงให้เป็นร้านสลัดเล็กๆที่เธอกับเพื่อนลงขันกันทำ “สิ่งที่รัก” จนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานุ่นเริ่มเปิดฉากเรื่องราวของเธอแบบง่ายๆ ว่า


“นุ่นว่าการทำความดีคือการแชร์ความรู้สึกของเรากับอีกฝ่าย แชร์ความอิ่มใจให้กันและกัน นุ่นจะไม่ค่อยคิดมากว่าต้องทำความดีเมื่อไร ที่ไหน อย่างไรเพราะถึงจะลำบากนุ่นก็ทำได้ แต่อย่าถึงกับเดือดร้อนจนเกิดคำถามขึ้นตามมาว่า‘ทำไมต้องทำขนาดนี้’ เป็นใช้ได้”             

ด้วยความที่เป็นเด็กแบบอาร์ต ๆ นุ่นก็จะสนุกที่ได้คิดนอกกรอบ ชอบแชร์ไอเดียกับเพื่อน ๆ อย่างวันวาเลนไทน์เมื่อ2 - 3 ปีก่อน ใคร ๆ ก็คิดว่าวันนี้ต้องให้ดอกไม้ ให้ของขวัญแก่คนที่เรารักเท่านั้นแต่นุ่นมองว่า “ไม่ใช่”

“เราน่าจะแบ่งปันความรักให้คนอื่น ๆในสังคมบ้างดีไหม เริ่มจากพี่ทหาร รั้วของชาติก็ได้”

เพื่อน ๆ ทุกคนก็เห็นด้วย เราตกลงว่าจะทำคุกกี้เพื่อเอาไปให้พี่ทหาร กระบวนการปั้นและอบคุกกี้ผ่านพ้นไปด้วยดี จะหนักหน่อยก็ตอนจับคุกกี้ลงห่อ เพราะเด็กอาร์ตทุกคนจะประดิดประดอยกันสุดฤทธิ์ อยากให้คุกกี้ทุกห่อมีดีไซน์น่ารักที่สุด (เรื่องใหญ่อยู่ตรงนี้!) พอทุกอย่างพร้อม เราก็ไปโรงพยาบาลทหารผ่านศึกกัน

นุ่นกับเพื่อน ๆ เดินถือตะกร้าคุกกี้ไปแจกพี่ ๆ ทหารจนครบทั้งวอร์ด ได้พูดคุยถามไถ่นั่นนี่ พี่ ๆ ก็ยิ้มดีใจกันใหญ่ เพราะไม่คิดว่าจะมีใครมาหาในวันวาเลนไทน์บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน แต่พอออกมาจากวอร์ดปุ๊บ อารมณ์เฮฮาของทุกคนเมื่อครู่ก็เปลี่ยนปั๊บ เข้าสู่โหมดนิ่งน้ำตาคลอ พูดอะไรไม่ออก นอกจาก “เฮ้ย วาเลนไทน์ปีหน้า เราทำแบบนี้กันอีกป่ะ ทำแบบนี้ดีที่สุดเลยอะ”

หลังจากนั้นก็มีกิจกรรมตามมาอีกเรื่อย ๆ มีแจกหนังสือธรรมะผ่านทางเฟซบุ๊กบ้าง ขับรถเอาของไปแจกน้อง ๆตามโรงเรียนไกล ๆ บ้าง แต่กิจกรรมล่าสุดที่นุ่นกำลังทำอยู่คือโครงการที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ค่ะ



นุ่นมีโอกาสได้ขึ้นไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่อำเภอบ่อเกลือเมื่อหลายปีก่อน จากนั้นก็มีโอกาสกลับไปทำรายการพื้นที่ชีวิตอีกครั้งทุก ๆ เช้านุ่นจะเห็นเด็ก ๆ หญิงชายเรียงแถวตามลำดับไหล่ ค่อย ๆ เดินมาโรงเรียนเป็นระยะทางนับสิบกิโลเมตร ภาพนั้นน่ารักมากจนนุ่นเริ่มเกิดความคิดว่า “อยาก ทำอะไรให้เด็ก ๆ บ้าง”

สุดท้ายก็มาลงตัวที่ “เสื้อกันฝน”เพราะใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า และตรงความต้องการของเด็ก ๆ มากที่สุด นุ่นไปกว้านซื้อเสื้อกันฝนเด็กจากตลาดในเมืองมาได้เกือบ 50 ตัว เอามาให้น้อง ๆวันรุ่งขึ้น ตั้งแต่หกโมงเช้า น้อง ๆ หลายคนพอเห็นนุ่น ก็วิ่งเข้ามากอด นุ่นก็น้ำตาไหลเขื่อนแตก เลย อิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก

จากนั้นพี่คนหนึ่งก็เล่าให้ฟังว่า เกลือสินเธาว์ของอำเภอบ่อเกลือมีความบริสุทธิ์ติดอันดับสองของเอเชีย จึงน่าจะสามารถ“พัฒนาผลิตภัณฑ์” ได้มากกว่าแค่เอาเกลือใส่ถุงขายอย่างนี้ ตอนนั้นนุ่นกำลังไฟแรงเพราะเพิ่งเรียนออกแบบมา ก็ตอบตกลงเลยว่าจะช่วย คิดว่าเหมือนการพัฒนาสินค้าโอท็อป นุ่นก็มานั่งคิดว่า “จะใช้เกลือทำอะไรได้บ้าง” สุดท้ายก็มาลงตัวที่สครับขัดผิว นุ่นกับเพื่อนจึงตกลงทำแบรนด์ของเราขึ้นมาเอง โดยซื้อวัตถุดิบจากชาวบ่อเกลือ และอาศัยเรื่องราวการทำเกลือมาบอกเล่าช่วยเพิ่มความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์

แต่ครั้นจะทำแค่นี้ก็คงไม่พอ นุ่นอยาก “คืนกลับ” ให้ชาวบ่อเกลือมากกว่านี้นุ่นมองไปถึงการพัฒนาชุมชนในระยะยาวที่ต้องเริ่มจากเด็ก ๆ เด็ก ๆ ควรมีการศึกษาที่ดี มีสำนึกรักบ้านเกิด และต้องรู้สึกว่าตัวเองไม่โดดเดี่ยว ไม่ได้ถูกสังคมเมืองใหญ่ทอดทิ้ง เรายังเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันเป็นครอบครัวเดียวกัน

นุ่นจึงตั้ง “กองทุนเล็ก ๆ” ขึ้นมา เพื่อแบ่งรายได้จากการขายสินค้านี้มาให้เด็ก ๆเพื่อให้เขาใช้ทำกิจกรรมอย่างที่ต้องการต้องบอกว่า “ทุกอย่างเป็นธุรกิจนะคะแต่เป็นประเภทธุรกิจเพื่อสังคม (SocialEnterprise)” นุ่นและเพื่อน ๆ ไม่ได้ทำเพื่อหวังจะรวย แต่ทำเพราะอยากมีเงินไปช่วยชุมชน โดยที่เราไม่ต้องออกสตางค์เอง เพียงแต่เรานำความรู้ ทักษะ และความรักที่เรามีมาร่วมกันทำตรงนี้ให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

นุ่นทำทุกอย่างโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง ไม่ได้ “เตี้ยอุ้มค่อม” ไม่ใช่เศรษฐีที่หว่านเงินลงไปแล้วก็จบแค่ตรงนั้น แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลาพิสูจน์อย่างที่บอกว่า นุ่นและเพื่อนไม่ได้หวังรวยเงิน แต่หวังที่จะรวยความสุข อิ่มใจที่ได้เห็นน้อง ๆ เหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ

เก๋ – ชลลดา เมฆราตรี

“เสียงจากเรา” เสียงแห่งการให้…ที่อยากให้ทุกคนได้ยิน



เก๋ - ชลลดา เมฆราตรี

 “ทุกวันนี้ ถ้าพูดถึงน้องหมาน้องแมวที่ถูกทอดทิ้งหรือถูกทำร้ายคนก็มักจะนึกถึงหน้าเก๋ขึ้นมาทันที จนบางคนถึงกับบอกว่าหน้าเก๋ใกล้จะเหมือนน้องหมาน้องแมวไปแล้ว”

เก๋ – ชลลดา เมฆราตรี เริ่มต้นบทสนทนาในวันนี้อย่างเป็นกันเอง พร้อมด้วยเสียงเห่าทักทายของเจ้าปุย น้องหมาแสนน่ารักที่เธอรับมาดูแล…หลังจากที่เจ้าของเดิมทอดทิ้งปุยไปเมื่อหลายปีก่อน

ที่มีคนพูดว่าหน้าตาเราเริ่มเหมือนหมาเหมือนแมว เก๋ไม่ได้โกรธหรือถือสาอะไรหรอกนะคะ แค่แอบไม่แน่ใจว่า เอ…หรือเราจะเหมือนน้องหมาน้องแมวไปแล้วจริง ๆ (หัวเราะ) เอาเป็นว่า แค่มีคนรู้ว่าเก๋ทำอะไรอยู่ แล้วอยากจะร่วมทำด้วยกัน เก๋ก็ดีใจแล้วค่ะ

คุณพ่อคุณแม่สอนเก๋มาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ให้เชื่อเรื่องบาปบุญ ส่วนเรื่องที่ท่านทั้งสองจะเน้นเป็นพิเศษก็คือ การให้

ทุก ๆ ปี ในวันคล้ายวันเกิดของลูก ๆคุณพ่อคุณแม่จะชวนว่า “เราไปเลี้ยงข้าวกลางวันเด็ก ๆ ที่เขาไม่มีพ่อมีแม่กันก่อนนะลูก แล้วตอนเย็นเราค่อยมาปาร์ตี้กันที่บ้าน” แรก ๆ เก๋ก็แอบงงเหมือนกันว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ด้วย ท่านก็อธิบายว่า “ก่อนที่เราจะมีความสุข เราก็ควรแบ่งปันความสุขให้คนอื่นก่อน” 

พอได้ลองไปครั้งแรกและครั้งที่สองเก๋ก็เกิดความเคยชินและเริ่มเฝ้ารอว่า “ครั้งที่สาม คุณพ่อคุณแม่จะพาไปที่ไหน”กิจกรรมที่บ้านเราทำกันนี้ นอกจากเราจะอิ่มใจที่ได้ ให้ แล้ว เรายังได้ รับ ข้อคิดดี ๆ กลับมาอีกด้วย เช่น ไม่กินทิ้งกินขว้างเวลามีปัญหาก็ขอให้คิดว่าแค่เกิดมาครบ 32 ก็โชคดีที่สุดแล้ว

แล้ววันหนึ่งเก๋ก็ได้เรียนรู้ว่า การทำความดีไม่ใช่แค่ทำกับเพื่อนมนุษย์เท่านั้นแต่เราสามารถแบ่งปันให้สัตว์โลกได้ด้วย

เมื่อ พ.ศ. 2554 ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมใหญ่ เก๋เป็นคนหนึ่งที่ต้องติดอยู่ที่บ้านนานเป็นเดือน ๆ จนเริ่มรู้สึกว่า “เราไม่น่าอยู่เฉย ๆ อย่างนี้ แต่ควรไปทำประโยชน์ให้สังคมดีกว่า” ตอนนั้นบังเอิญได้ข่าวว่ามูลนิธิป่อเต็กตึ๊งต้องการอาสาสมัครที่มีคุณสมบัติ “มีสองแขนสองขา ว่ายน้ำเป็นไม่เป็นภาระ” เพื่อไปช่วยผู้ประสบภัย เท่านั้นเก๋ก็ตัดสินใจลุยเลย

ช่วงนั้นเก๋ได้ไปลงพื้นที่กับพี่ ๆ ป่อเต็กตึ๊ง ลงเรือไปแจกของกินของใช้ตั้งแต่สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี แต่ด้วยความที่เราไม่แข็งแรงพอจะอุ้มคนได้เหมือนผู้ชาย เก๋ก็เลยหันมาอุ้มหมา จับแมว ตะครุบกระต่าย หิ้วกรงนก ฯลฯ แทน เพราะถ้าขืนทิ้งสัตว์เลี้ยงพวกนี้ไว้ที่บ้าน พวกมันจะอดตายไปเปล่า ๆ…ช่วงนั้นประโยคติดปากเก๋เวลาจะเข้าไปช่วยสัตว์ก็คือ “แม่มาดีนะลูก”

จากเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้เก๋เห็นว่ามีสัตว์ถูกทอดทิ้งไม่น้อย แต่ตอนนั้นเก๋ก็ไม่รู้จะช่วยอะไรได้ นอกจากบอกบุญเพื่อน ๆ ให้ช่วยกันโอนเงินไปเป็นค่าอาหารสัตว์บ้าง ค่ายาบ้าง แต่ยังไม่จริงจังอะไรนักจนกระทั่งวันวาเลนไทน์ปี พ.ศ. 2555 โชคชะตาก็ดลบันดาลให้เก๋มาเจอ “ดำ” หมาจรจัดที่พลัดหลงมากัดกับหมาเจ้าถิ่นแถวหน้าออฟฟิศของเก๋



ทันทีที่เห็นสภาพดำนอนจมกองเลือดตาขวาเกือบหลุด ที่ต้นคอเนื้อหลุดเป็นแผลเหวอะหวะขนาดเท่าฝ่ามือ เก๋ตกใจแทบทำอะไรไม่ถูก รีบเข้าไปอุ้มดำ แล้วใช้ผ้าอุดเลือดไว้ ก่อนจะรีบพาดำไปส่งโรงพยาบาลสัตว์ที่ใกล้ที่สุด ไม่สนใจดินเนอร์วาเลนไทน์อีกต่อไป ตอนนั้นคิดแค่ว่า ขอให้หมอช่วยยื้อชีวิตดำเอาไว้ให้ได้ก่อนก็พอ

ถึงจะผ่านวันนั้นมาได้ แต่ดำก็มีโรคแทรกซ้อนตลอด มีอาการชัก ต้องให้เลือดต้องผ่าตัดตา ขาอักเสบ ติดเชื้อ จนวันหนึ่งดำอาการโคม่า เขาทรมานและน่าสงสารมากเก๋ตัดสินใจขอร้องให้คุณหมอฉีดยาให้ดำไปสบายน่าจะดีกว่า แต่คุณหมอกลับบอกว่า

“ดำยังอยากมีชีวิตอยู่ ดำแค่พูดสื่อสารให้เราเข้าใจไม่ได้เท่านั้น และดำมีสิทธิ์ที่จะอยู่ เราไม่สามารถไปชี้เป็นชี้ตายให้ดำได้”

คำพูดที่ว่า “สัตว์เขาพูดไม่ได้” ทำให้เก๋เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาทันทีว่า เราต้องทำอะไรให้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว ลบความคิดที่ว่า กลัวคนอื่นจะหาว่าเราทำบุญเอาหน้าหรือหาว่าเราเพี้ยนออกไปเลย

“แค่ตัวเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรก็พอ” คืนนั้นเองเก๋ตัดสินใจเปิดเฟซบุ๊กขึ้น โดยตั้งชื่อโครงการว่า “The Voice (เสียงจากเรา)” เพื่อรับบริจาคเงินไปช่วยเหลือน้องหมาน้องแมวที่ถูกทำร้ายหรือถูกทอดทิ้ง

หลังจากดำหายดี เก๋ก็เริ่มหาบ้านหลังใหม่ให้ดำ แต่ความที่เป็นหมาจร ทำให้ดำไม่อยู่เฉย เตลิดหนีไปหลายครั้ง จนครั้งล่าสุด ถึงวันนี้เกือบหนึ่งปีแล้วก็ยังตามตัวไม่เจอเลย แต่ถึงอย่างนั้น เก๋ก็ภาวนาขอให้ดำที่เหลือตาเพียงข้างเดียวอยู่รอดปลอดภัยและขออุทิศส่วนกุศลจาก The Voice ให้ดำมีชีวิตใหม่ที่ดี

การทำความดีทำได้ไม่ยาก และคนไทยก็พร้อมที่จะทำความดีกันอยู่แล้วเพียงแต่หลายคนอาจจะยังหาพื้นที่การทำความดีไม่เจอ เพราะเท่าที่ผ่านมาก็มีอาสาสมัครพร้อมช่วยงานเก๋เยอะมาก ทุกคนมาด้วยใจจริง ๆ

เก๋มองว่า “หนึ่งชีวิต หนึ่งเสียงเราช่วยกันได้ ถ้าเราหันมาทำความดีมีใจเมตตา”           

สุดท้าย ในฐานะคนรักสัตว์ เก๋อยากฝากไว้สั้น ๆ ว่า “คุณไม่จำเป็นต้องรักพวกเขาก็ได้ แต่ขอร้องว่าอย่าเกลียดและอย่าไปทำร้ายเขาก็พอ” 


ติดตามข่าวสารและร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการ The Voice (เสียงจากเรา)” https://th-th.facebook.com/thevoiceforanimals
 

เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

จาก http://www.secret-thai.com/article/12070/20160701/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...