ผู้เขียน หัวข้อ: สันติในเรือนใจเท่ากับสันติในโลก – ว.วชิรเมธี  (อ่าน 1772 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


สันติในเรือนใจเท่ากับสันติในโลก – ว.วชิรเมธี

เรื่อง ว.วชิรเมธี ภาพ ตั๋ง ตั๋ง 

โลกเรียกร้องหาสันติภาพ แต่ยิ่งหาก็ดูเหมือนว่าสันติภาพนั้นถอยห่างไกลออกไปทุกที ยิ่งตั้งองค์กรเพื่อสร้างสันติภาพ ยิ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาลและทั้งๆ ที่จ่ายเงินไปแล้วมากมายจนนับไม่ถ้วน แต่สันติภาพก็ยังคงเป็นเพียงจินตนาการ

ทุกทวีปในโลกยังคงมีไฟสงครามคุกรุ่นอยู่ทั่วไป บางประเทศประชาชนแทบไม่เคยได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติเลยมาเป็นเวลาหลายสิบปี นับแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นมาในโลก เช่น อิสราเอล ปาเลสไตน์ ฯลฯ

 สงครามเริ่มต้นขึ้นที่ไหนก่อนเป็นที่แรก

               คำตอบก็คือ สงครามเริ่มต้นที่ใจ


หากสงครามเริ่มต้นที่ใจ ถ้าเช่นนั้นสันติภาพก็คงอยู่ที่เดียวกัน

  ใจชนิดไหนเป็นใจที่ก่อให้เกิดสงคราม

                ใจที่ยังมากไปด้วยความโลภ

                ใจที่ยังมากไปด้วยความโกรธ

                ใจที่ยังมากไปด้วยความหลง             

                คือใจที่เป็นเรือนเพาะชำของสงครามโลก


โลกในที่นี้มีสองความหมาย หนึ่งคือโลกภายใน หมายถึงปัจเจกบุคคลแต่ละคน สองหมายถึงโลกภายนอก คือ คนอื่น สังคมอื่น ประเทศอื่นตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เราถือว่าสันติภาพเริ่มต้นที่ใจของแต่ละปัจเจกบุคคล หากแต่ละปัจเจกบุคคลมีสันติในเรือนใจ สันติภาพภายนอกระหว่างตัวเขากับคนอื่น สังคม และโลกก็จะเกิดขึ้น

บางคนอาจมองไม่เห็นความเชื่อมโยงว่าสันติส่วนบุคคลจะส่งผลต่อสันติภาพของโลกได้อย่างไร เรื่องราวในพระไตรปิฎกพอจะตอบข้อสงสัยนี้ได้

ศิษย์กับอาจารย์คู่หนึ่งประกอบอาชีพเป็นนักเล่นกายกรรม เขาทั้งสองสั่งสมประสบการณ์มานานหลายปีจนมีความเชี่ยวชาญ สามารถไต่อยู่บนไม้ไผ่เล่นกายกรรมผาดโผนได้อย่างสบายๆ โดยศิษย์ขึ้นไปยืนอยู่บนไหล่ของอาจารย์ ส่วนอาจารย์ไต่อยู่บน ไม้ไผ่ลำเล็กๆ เดินเหินไปมาให้คนดูรู้สึกหวาดเสียวแทน

วันหนึ่ง ระหว่างทำการแสดง อาจารย์บอกลูกศิษย์ว่า “ขอให้เธอดูแลฉันให้ดี ฉันก็จะช่วยดูแลเธอเช่นกัน หากเราทั้งสองฝ่ายต่างคอยช่วยดูแลกันและกัน ระวังกันและกันระหว่างกำลังทำการแสดงเช่นนี้ เราก็จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ไม่มีข้อผิดพลาด”

ลูกศิษย์เห็นแย้งกับอาจารย์ เขากล่าวตอบว่า “อาจารย์ไม่ต้องระวังข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องระวังอาจารย์ แต่เราควรระวังในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุดจะดีกว่า เพราะเมื่อเราต่างก็ดูแลตัวเองอย่างดีแล้ว ก็เท่ากับว่าอีกคนหนึ่งได้รับการดูแลด้วย” (เช่น ศิษย์ก็ยืนบนไหล่อาจารย์อย่างมีสติ อาจารย์ก็ยืนบนไม้ไผ่อย่างมีสติ)

พระพุทธองค์ทรงสรุปว่า ทัศนะของลูกศิษย์เป็นสิ่งที่ถูกต้องเราไม่จำเป็นต้องดูแลคนอื่นหรอก ขอเพียงแต่เราดูแลตัวเองให้ดีด้วยการ “มีสติ” อยู่เสมอ ทำเพียงแค่นี้คนอื่นก็ได้รับการดูแลด้วย

ดูแลอย่างไร

เมื่อปัจเจกบุคคลมีสติอยู่เสมอ โอกาสที่เขาจะคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วต่อคนอื่นก็ไม่มี โดยนัยนี้คนอื่นก็ปลอดภัยไปโดยอัตโนมัติ

การดูแลตัวเองมีค่าเท่ากับดูแลคนอื่นเช่นนี้เอง ในทางกลับกัน หากปัจเจกบุคคลขาดสติ โอกาสที่เขาจะคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วต่อคนอื่นก็มีอยู่ตลอดเวลา

ลองสังเกตดูก็ได้

คนที่ขาดสติ หากเขาขับรถ ก็มีโอกาสสูงมากที่จะขับรถไปชนคนอื่น หากเขาคิดร้ายคนอื่น ก็มีโอกาสสูงมากที่คนอื่นจะถูกทำร้าย หากเขาพูดด้วยความขาดสติ ก็จะมีคนอีกมากมายถูกเขาทิ่มแทงด้วยวาจา

คนที่ติดยาบ้า คลั่งยาบ้า เที่ยวเอาปืนเอามีดไปจี้คนอื่นเป็นตัวประกันที่เราเห็นบ่อยๆ ทางโทรทัศน์ ทางหนังสือพิมพ์หรือตามปากซอยใกล้บ้าน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจเจกบุคคลที่ขาดสติทั้งนั้น พอคนหนึ่งคนขาดสติ ก็มีคนอีกมากมายถูกทำร้ายพอมีคนขาดสติหลายคนเดินออกไปจากบ้าน สังคมก็ยุ่งเหยิงวุ่นวาย เกิดจลาจล เกิดความขัดแย้ง เกิดความรุนแรงมากมายความรุนแรงในสังคมหรือในประเทศใดก็ตาม ล้วนมีรากฐานมาจากความรุนแรงที่มีรากอยู่ในใจของปัจเจกบุคคลทั้งสิ้น ในทางกลับกัน ความสงบในสังคมก็ยึดโยงอยู่กับความสงบในใจปัจเจกบุคคลด้วยเช่นกัน

สันติส่วนบุคคลจึงเป็นหลักประกันสันติภาพสากลของคนทั้งโลก

หากเราอยากเห็นโลกนี้มีสันติภาพ เราก็จำเป็นต้องช่วยกันส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลมีสันติในเรือนใจ

สันติภาพที่เกิดจากสันติในเรือนใจนั้นราคาถูกมาก สันติภาพชนิดนี้ ใครๆ ก็สร้างได้ ไม่ต้องรอองค์การสหประชาชาติแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นสันติภาพแท้ที่ยั่งยืนอีกต่างหาก

ในทางพุทธศาสนา เรามีวิธีสร้างสันติภาพโลกผ่านการสร้างสันติภาพในเรือนใจด้วยวิธีง่ายๆ ที่เรียกว่า “การเจริญสติ”

หากเราเพียงแต่เติม “ความตระหนักรู้” ลงไปในทุกเรื่องที่คิด ทุกกิจทีี่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว ใจของเราก็จะสงบ เมื่อใจสงบ วาจาและการกระทำก็สงบ คนที่สงบเพราะมีสติหล่อเลี้ยงอยู่เสมอนั้น ไม่มีทางเลยที่เขาจะก่อให้เกิดความรุนแรงหรือสงคราม

หากสงครามเริ่มต้นที่ใจ สันติภาพก็เริ่มที่ใจด้วยเช่นเดียวกัน

ในทางพุทธศาสนา เราถือกันว่า “สันติ” มีรากฐานมาจากคำว่า “สติ” 


จาก http://www.secret-thai.com/article/6489/freedomheartfreedomworld/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...