มหาบพิตร ในหลวงทรงถาม พระอรหันต์ตอบ พระราชชัยกวี (พุทธทาส อินทปัญโญ) รับพระราชทานถวายท่านพุทธทาส อินทปัญโญ
(พระธรรมโกศาจารย์)
วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานีโดยปกติแล้ว คนทั่วไปมักจะระลึกถึงท่าน พุทธทาสภิกขุ ในฐานะของพระอริยเจ้า
ผู้มีปัญญาบารมีอันสูงส่ง บางคนอาจจะคิดว่าท่านเป็นพระนักเทศน์ พระนักเขียน แท้จริงแล้ว
ท่านเป็นพระนักปฏิบัติที่มีปฏิปทาธรรมอันแน่วแน่ แต่ท่านก็ไม่เคยเปิดเผยความแน่วแน่
ด้านการปฏิบัติสมาธิเลย สิ่งที่ท่านพร่ำสอนล้วนเป็นธรรมะที่เน้นไปในทางปัญญาทั้งสิ้น
มีเพียงลูกศิษย์คนสนิทไม่กี่คนเท่านั้น ที่รู้ว่าท่านเป็นพระนักปฏิบัติ
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๘ ท่านพุทธทาสได้บัญญัติคำศัพท์ภาษาธรรมขึ้นมาใหม่คำหนึ่ง
คือคำว่า "จิตว่าง" ด้วยเหตุแห่งคำว่า "จิตว่าง" นี้เอง ที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมยุคนั้น
และเป็นที่มาของวิวาทะ (ทางปัญญา) เรื่อง "จิตว่าง" ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
กับท่านพุทธทาส เพราะคำว่า "จิตว่าง" นี้
ในความหมายของท่านพุทธทาส ถือว่ามีความหมายลึกซึ้งกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจกัน
คนทั่วไปจึงมักจะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "จิตว่าง" ในภาษาธรรมของท่านพุทธทาส
และคำว่า "จิตว่าง" นี้เองที่เป็นสิ่งยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงติดตามศึกษาธรรมะของท่านพุทธทาสมาตลอด ผู้ที่เปิดเผยเรื่องนี้ก็คือ
ท่านประธานองคมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดกับท่านพุทธทาส
ทั้งยังเป็นข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมากที่สุดคนหนึ่ง ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์
ได้เคยเล่าไว้ในปาฐกถาธรรม เรื่อง "ชีวิตกับการงาน" ว่า ในหลวงทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง
เรื่อง "จิตว่าง" กับท่านหลายครั้งหลายหน เมื่อครั้งที่มีพระราชกรณียกิจที่ยุ่งยากพระทัย
พระองค์ท่านจะตรัสว่า กลุ้มเหลือเกิน คิดอะไรไม่ออก เมื่อถึงเวลาที่พร้อมจะทรงงาน
พระองค์จะตรัสว่า ตอนนี้ "จิตว่าง" เสียที ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ เล่าต่อไปว่า
คำว่า "จิตว่าง" ที่ในหลวงตรัสนี้ เป็นศัพท์ใหม่ที่ท่านพุทธทาสบัญญัติขึ้นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
และมีนัยตรงกับความหมายของคำว่า "จิตว่าง" ในภาษาธรรมจากท่านพุทธทาสทุกประการ
ต่อ
ธัมมวิจักขณกถา "ธรรมที่ควรพึงเห็นโดยประจักษ์"
พระธรรมเทศนาในโอกาสทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชา
ณ วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร
วันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐
พระราชชัยกวี (พุทธทาส อินทปัญโญ)รับพระราชทานถวาย.... คำว่า "ธรรม" คำนี้ เป็นคำพูดที่ประหลาดที่สุดในโลก เป็นคำพูดที่แปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้
ได้มีผู้พยายามแปลคำคำนี้เป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นต้น ออกไปถึง ๒๐-๓๐ คำ
ก็ยังไม่ได้ความหมายครบถ้วน หรือตรงตามความหมายของภาษาบาลีหรือภาษาของพุทธศาสนา
คำว่า "ธรรม" เป็นคำสั้นๆ เพียงพยางค์เดียว แต่มีความหมายลึกซึ้งน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง
คำว่า "ธรรม" ใช้หมายถึงสิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นสิ่งใดเลย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดี สิ่งชั่ว หรือสิ่งไม่ดี ไม่ชั่ว
ก็รวมอยู่ในคำว่า "ธรรม" นี้ทั้งหมด ดังพระบาลีว่า กุสลา ธัมมา, อกุสลา ธัมมา, อัพยากตา ธัมมา
"ธรรม" เพียงพยางค์เดียว หมายความได้ถึง ๔ อย่าง คือ
๑. ธรรมชาติทุกอย่างทุกชนิดหรือธรรมในฐานะที่เป็นตัวธรรมชาติ
๒. กฎของธรรมชาติซึ่งมีประจำอยู่ในธรรมชาติเหล่านั้น นี้คือธรรมในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ
และมีความหมายเท่ากันกับสิ่งที่เรียกว่า "พระเป็นเจ้า" ในฐานะศาสนาที่ถือว่ามีพระเป็นเจ้าอยู่
๓. หน้าที่ต่างๆ ที่มนุษย์จะต้องประพฤติหรือกระทำในทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม
มนุษย์จะต้องประพฤติให้ถูกให้ตรงตามกฎของธรรมชาติ จึงจะไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมา
มนุษย์ส่วนมากสมัยนี้หลงใหลในทางวัตถุมากเกินไป ไม่สนใจสิ่งที่เป็นสุขทางนามธรรม
ข้อนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎของธรรมชาติ จึงเกิดความยุ่งยากนานาประการ
ที่เรียกว่า "วิกฤตการณ์" จนแก้กันไม่หวาดไม่ไหว
๔. ผลของการทำหน้าที่หรือการปฏิบัติที่เกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ เช่น ความทุกข์ ความสุข หรือการบรรลุมรรคผลนิพพาน
สรุปแล้ว "ธรรม" เพียงพยางค์เดียว หมายความได้ถึง ๔ อย่าง คือ
หมายถึง ตัวธรรมชาติ ก็ได้
หมายถึง กฎของธรรมชาติ ก็ได้
หมายถึง หน้าที่ที่มนุษย์ต้องทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ ก็ได้
และหมายถึง ผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ ก็ได้
เมื่อสิ่งที่เรียกว่า "ธรรม" มีมากมายมหาศาลอย่างนี้ ปัญหาจะเกิดขึ้นมาว่า
คนเราจะรู้ธรรมหรือเห็นธรรมได้ทั้งหมดได้อย่างไรกัน
พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้แล้วว่า เราอาจจะรู้ได้ทั้งหมด และปฏิบัติได้ทั้งหมดในส่วนที่จำเป็นแก่มนุษย์
หรือเท่าที่มนุษย์จะต้องเกี่ยวข้องด้วย ส่วนที่เหลือนอกนั้น ไม่ต้องสนใจเลยก็ได้
ธรรมที่ทรงนำมาสั่งสอนนั้น ก็ยังสรุปลงได้ในคำพูดเพียงประโยคเดียว ว่า
"สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ" ซึ่งแปลว่า
"ธรรม" ทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆไม่ควรสำคัญมั่นหมายว่าตัวตนหรือของตน
ข้อที่ควรทราบต่อไป สิ่งที่เรียกว่า "ธรรม" นี้ ยังเป็นของประหลาดในข้อที่ว่า
เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง เช่นเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า "พระเป็นเจ้า"
อีกประการหนึ่ง สิ่งที่เรียกว่า "ธรรม" นี้ ยังเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดกาล ยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ดวงจันทร์เสียอีก
กฎทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า "สิ่งใดเหมาะสมที่จะอยู่ สิ่งนั้นจะคงอยู่หรือเหลืออยู่
สิ่งใดไม่เหมาะสมที่จะอยู่ คือ เข้ากันไม่ได้กับสิ่งแวดล้อมเป็นต้นแล้ว สิ่งนั้นจะสูญไป"
นั้นก็คือ กฎของธรรมโดยตรงและธรรมนั่นแหละ เป็นสิ่งเดียวที่จะคงอยู่ตลอดกาล
ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า "ธรรม" นั้น จึงตั้งอยู่ในฐานะสิ่งสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด
จนกระทั่งแม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ ก็ล้วนแต่ทรงเคารพ "ธรรม"
เนื้อตัวของเราทั้งหมดก็คือ "ธรรม" กฎธรรมชาติที่ควบคุมเราอยู่ก็คือ "ธรรม"
หน้าที่ที่เราจะต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาตินั้นๆ ก็คือ "ธรรม"
และในที่สุดผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเราตลอดจนถึงการบรรลุมรรคผล
ในขั้นสุดท้ายของเราก็คือ "ธรรม" อีกนั่นเอง
ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า "ธัมมทีปา ธัมมสะระณา" ซึ่งแปลว่า
"ท่านทั้งหลาย จงมีธรรมเป็นดวงประทีป จงมีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัยเถิด" และพร้อมกันนั้นก็ได้ตรัสว่า
"ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเราตถาคต" ....(บทความ ข้อเขียนของท่าน ว.วชิรเมธี ใน dailynews.co.th)
นานมาแล้ว อาตมาได้อ่านข้อเขียนของราชบัณฑิตคนหนึ่งท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ได้ทรงพบกับท่านพุทธทาสภิกขุ คราวนั้น พระองค์ทรงมีพระราชปุจฉาว่า (เรื่องนี้ เล่าจากความทรงจำคำอาจไม่ตรงกันทุกคำ แต่เนื้อหานั้น ไม่ผิดแน่ แต่ถ้าผิดก็ขออภัยไว้ล่วงหน้า)
“สงสัยมานานแล้วว่า ทำไมองคุลิมาล ฆ่าคนมากมายกว่า ๙๙๙ คน แต่แล้วทำไมจึงได้เป็นพระอรหันต์”
ท่านพุทธทาสถวายวิสัชนาว่า
“ก็เพราะท่าน ‘ฆ่าคน’ นั่นแหละ จึงได้เป็นพระอรหันต์ ถ้าไม่ ‘ฆ่าคน’ ก็คงไม่ได้เป็นพระอรหันต์”
พอท่านพุทธทาสตอบอย่างนี้ หลายคนก็งงกันใหญ่ เอ๊ะ ทำไมยิ่งฆ่าคนยิ่งได้เป็นพระอรหันต์ แล้วพอได้ฟังคำอธิบาย ทุกคนก็เห็นด้วย
เพราะท่านพุทธทาสบอกว่า
“เพราะท่านองคุลิมาล ฆ่าความยึดติดถือมั่นว่ามี “ตัวกู-ของกู” อันเป็นเพียงความหลงผิดที่ครอบลงไปในใจท่าน เกิดความกระจ่างขึ้นมาว่า “ไม่มีตัวกู-ของกู” หรือ “ไม่มีคน” ชีวิตนี้มีแต่ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มารวมกันชั่วคราว เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นมาแล้วก็แตกดับ พอท่านฆ่าความหลงผิดว่า มีคน มีเขา มีเรา ได้หมดสิ้น ท่านก็ได้เป็นพระอรหันต์ นี่แหละจึงกล่าวว่า ได้เป็นพระอรหันต์ เพราะการฆ่าคน”
คำอธิบายของท่าน ชัดเจนดังแหวกเมฆเห็นตะวัน นับแต่นั้น ก็ไม่มีใครถามคำถามทำนองนี้กับกรณีพระองคุลิมาลอีกปุจฉาอ้อ, เรื่องนี้เอง ที่ท่านพุทธทาสนำมาประยุกต์เป็น “ภาษาคน” และ “ภาษาธรรม” ถ้าเราเข้าใจภาษาธรรม ไม่นำมาปนกับภาษาคน ก็คงไม่ต้องทะเลาะกันกับพระพุทธเจ้า กับท่านพุทธทาสภิกขุ ใช่ไหมครับ
วิสัชนาถูกแล้ว, ดังนั้น การที่เราจะวิจารณ์อะไร จะตีความเรื่องใด ก่อนอื่นใด เราต้อง “ศึกษา” ให้ “แน่ แท้ และชัด” เสียก่อน เมื่อ “ศึกษา” จนทราบที่มาที่ไปอย่างถ่องแท้แล้ว จากนั้น จะวิจารณ์อย่างไร ก็ว่ากันไปได้เต็มที่ ไม่ใช่เห็นเพียง “บางคำพูด-บางข้อความ” โดยที่ไม่ได้ทราบต้นสายปลายเหตุใด ๆ ทั้งสิ้น ก็ลุกขึ้นมา “ตัดสิน” คนอื่นไปในทางเสียหาย หากเราใช้วิธีการอย่างนี้ สิ่งดี ๆ ที่พระพุทธเจ้าสอน เรื่องดี ๆ ที่คนอื่น ๆ กำลังทำ ก็คงถูกตีความ ถูกตัดสินในทางเสียหายไปทั้งหมด
เวลานี้ สังคมไทยของเรากำลังป่วยด้วยโรค “ชอบตัดสิน” ชอบคิด ชอบทึกทักอะไรง่าย ๆ แล้วก็ด่ากันแรง ๆ ใช้ถ้อยคำหยาบคาย การแสดงความคิดเห็นบางทีเลยกลายเป็นการแสดง “ความรู้สึก” หรือกลายเป็นการ “บริภาษ” ไปที่ตัวคนไม่ใช่ที่ตัวงาน หรือมุ่งแต่จะตำหนิผู้ที่เห็นต่างออกไปจากตนเป็นหลัก โดยไม่สนใจสืบค้นให้ถึงต้นตอว่าเรื่องที่ตนกำลังแสดงความคิดเห็นนั้น ตกลงประเด็นที่แท้จริงเป็นอย่างไรแน่ การที่เราด่วนตัดสินอะไรง่าย ๆ แบบนี้แหละ คือ รากฐานของความรุนแรงในสังคมไทยของเรา.
ว.วชิรเมธี
จาก
http://www.dharma-gateway.com/ubasok/special-04.htmจาก
http://www.prachatai.com/journal/2014/11/56513http://pantip.com/topic/30473456/comment4http://pantip.com/topic/33699300https://www.youtube.com/v/6C1aBbRz-cw