ผู้เขียน หัวข้อ: จิตวิวัฒน์ : ผู้ประกอบการความสุข (วิศิษฐ์ วังวิญญู)  (อ่าน 1930 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ผู้ประกอบการความสุข

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2556

แนวคิดเรื่องผู้ประกอบการความสุข คือค่ายเรียนรู้สำหรับผู้บริหารองค์กรที่ประสงค์จะพัฒนาตัวเองไปในแนวทางจิตตปัญญา หรือในแนวทางวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ด้วยวัตถุประสงค์ ๔ ประการ คือ


การฟังดุจห้วงมหรรณพ

คือการฟังอย่างไม่มีขอบเขต สุดหยั่งคาด ครั้งหนึ่งมีรุ่นน้องคนหนึ่งบอกผมว่า ครั้่งหนึ่งที่ผมเคยฟังเธอเล่าความทุกข์ของเธอ มันทำให้เธอเลิกคิดฆ่าตัวตาย เธอเล่าว่า มันเป็นการฟังอย่างไม่มีขอบเขต ฟังได้ทั้งหมด ฟังอย่างที่ได้ยินเสียงของเธอเรื่องราวของเธอจริงๆ มันเปิดโอกาสให้เธอเหมือนได้กลับมาใคร่ครวญเรื่องราวทั้งหมดอย่างลึกซึ้ง และทำให้เธอสามารถปลดเปลื้องปมที่เธออยากจะฆ่าตัวตายออกไปได้

ส่วนใหญ่ เรามักจะคิดว่าเราฟังเป็นแล้ว แต่เวลาประชุม ทำไมลูกน้องจึงเงียบงันไม่มีใครออกความเห็น นั่นแหละคุณรู้หรือเปล่าว่า คุณฟังไม่เป็น

การฟังดุจห้วงมหรรณพคือการฟังด้วยตัวตนทั้งหมดของเรา ซึ่งจะเชื่อมโยงสมองซีกขวาเข้ากับซีกขวา หรืออีกนัยหนึ่ง เชื่อมหัวใจเข้ากับหัวใจ เป็นการฟังที่ทำให้เรามีพลังดึงดูด มีเสน่ห์ สามารถเชื่อมร้อยคนพูดให้ตรึงอยู่กับเรา ณ ขณะที่พูด และอาจจะตรึงเขาให้มีความสัมพันธ์อย่างดีเยี่ยมกับเราตลอดไป


การหล่อเลี้ยงบ่มเพาะผู้บริหารระดับกลาง

ทำไมเราจึงต้องลงไปทำเองเสียทุกเรื่อง ลงไปตัดสินใจเสียทุกอย่าง ทำไม? มันไม่ใช่ว่าเราเก่งหรอก แต่เรากำลังมีปัญหา กำลังไร้สมรรถภาพในการสร้างทีมผู้บริหารระดับกลาง หรือเรามอบหมายงานไม่เป็นต่างหาก

หากมองผ่านเลนส์แห่งปัญญาของศาสดาทั้งหลาย อาจจะตอบได้ว่า เป็นเพราะเราไปยึดติดอัตตา ที่ีเรียกว่า อัตวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น พอได้ขึ้นเป็นผู้บริหาร เราก็ไปคิดว่าเราเป็นคนเหนือคน และมักจะเห็นทีมงานด้อยกว่าโง่กว่าเรา โดยไม่ได้ปฏิสัมพันธ์และรู้จักพวกเขาอย่างเพียงพอ เราปฏิบัติต่อพวกเขาประดุจดั่งว่าเป็นวัตถุ เป็นเพียงฟันเฟืองของเครื่องจักร ไม่เคยฟังความคิดเห็นของพวกเขาเลย ที่อาจจะทำให้เราได้รู้ว่า พวกเขาก็อยากออกแบบและตัดสินใจเรื่องงานด้วยตัวเองเหมือนกัน

ที่จริงมนุษย์ทุกคน มีศักยภาพมหาศาล หากไม่สามารถใช้ออกมาได้ อุปสรรคหนึ่งก็คือการถูกกดข่ม ไม่ว่าจะจากบุพการี ระบบการศึกษาและความเชื่อ ตลอดจนค่านิยมของสังคม เมื่อเราไม่มีเครื่องมืออะไรที่ดีกว่า เราก็มักจะใช้อำนาจ แต่อำนาจที่แท้จริงคืออะไร ปราชญ์สายสันติวิธีกล่าวไว้ว่า อำนาจคือการยอมรับ หากผู้คนไม่ยอมรับ แสดงว่าเราไม่ได้มีอำนาจอย่างที่ตัวเองคิดว่ามี


การหลอมรวม

องค์กรส่วนใหญ่มักจะแตกเป็นเสี้ยวๆ ไร้พลังเรี่ยวแรงที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ละแผนกดูแลแค่ตัวชี้วัดผลสำเร็จของงาน (KPI) ของแผนกตัวเอง แต่ไม่มีใครสนใจห่วงใยภารกิจโดยรวมขององค์กร หากการเชื่อมต่อของแต่ละคนในแผนกยังเป็นปัญหา แล้วการเชื่อมต่อระหว่างแผนกจะดีได้อย่างไร

ไดอะล็อก หรือการสนทนา หรือการสื่อสาร ระหว่างคนสองคน และคนในกลุ่ม ในแผนก ระหว่างแผนกและในองค์กร จะให้สัมฤทธิผล เราจะต้องสร้างวินัยพื้นฐานของการฟังอย่างไม่สอดแทรกตัดตอนขึ้นก่อน แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือความศรัทธาในมนุษย์ทุกๆ คนที่อยู่ต่อหน้าเรา เวลาจัดค่ายไดอะล็อก จะเห็นได้ว่า ผู้เข้าร่วมจะฟังเฉพาะกระบวนกรหรือวิทยากร ไม่ค่อยฟังกันเอง เพราะเรามักจะไม่นับถือคนกันเองในองค์กร เราคิดว่าพวกเขาไม่มีอะไรชาญฉลาดให้ต้องรับฟัง กระบวนการเรียนรู้จะสำเร็จต่อเมื่อเราสามารถปลุกเร้าให้พวกเขาฟังกันเอง และเชื่อมั่นศรัทธาว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นจากการฟังกันและกันเอง

อีกระดับหนึ่งของการฟังกันดีๆ เราจะค้นพบความมหัศจรรย์ของปัญญาที่เกิดขึ้นจากกลุ่ม จะเกิดสภาวะสานพลัง (synergy) ที่ทุกคนมีสมาธิได้ง่ายๆ อย่างเป็นธรรมชาติ ทุกคนให้ถ้อยคำและความหมายไหลผ่านเข้ามาในตัวตนอย่างเปิดรับ ปัจเจกหลอมรวมเป็นชีวิตแห่งกลุ่ม อันยิ่งใหญ่และสลับซับซ้อนกว่าเดิม ผลลัพธ์รวมของกลุ่มไม่ใช่เป็นเพียงผลบวก หากกลายเป็นผลคูณหรือเลขยกกำลังด้วยซ้ำไป

การสานพลังที่เกิดขึ้น หากทำซ้ำอย่างสม่ำเสมอ จะค่อยๆ ซึมซับกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร การประสานงานในแผนกและระหว่างแผนกจะเป็นไปอย่างราบรื่น ความผิดพลาดจากการสื่อสารที่ทำให้งานผิดพลาดจะเกิดขึ้นน้อยลงมาก และปัญญาร่วมของกลุ่มจะก่อเกิด ยังผลให้มีนวัตกรรมมากมายและตลอดเวลา กลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีชีวิตได้จริงๆ


บ่มเพาะ หล่อเลี้ยง ฝึกฝน

คือการบ่มเพาะหล่อเลี้ยงให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลาตลอดชีวิต ในทุกขณะของลมหายใจเข้าออก แม้เมื่ออายุเก้าสิบแล้วก็ตาม

ทำไมผู้คนจึงหยุดเรียนรู้ ข้อหนึ่งเป็นเพราะคงคิดว่าการเรียนรู้มีข้อยุติ มีการจบสิ้น การเรียนรู้เป็นเรื่องของวัยเรียน หมดวัยเรียนก็ไม่ต้องเรียนอีกต่อไป

อีกข้อหนึ่งคือ เราเข้าใจการเรียนรู้ผิดๆ คิดว่าการเรียนรู้คือสิ่งที่เคยทำมาในโรงเรียน และคนส่วนมากจะรู้สึกล้มเหลวในระบบโรงเรียน ทำให้เขาประทับตราไว้ที่หน้าผากตัวเองว่าไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้อีกแล้ว เขาไม่เก่ง เขาโง่ ซึ่งยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่

สิ่งที่ต้องทำอันดับต้นๆ คือการเคลียร์ของเก่า ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงใจว่า การเรียนรู้ที่แท้ไม่ได้เกิดขึ้นในระบบโรงเรียน คือกระบวนการคืนการเรียนรู้กลับสู่ผู้เรียน กลับไปหาแบบแผนการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ กลับมาสังเกตสังกาใหม่ กลับมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ ศิลปินและนักคิดสร้างสรรค์ซึ่งมีอยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว ดึงพวกเขาออกมาสัมผัสกับความมหัศจรรย์เมื่อการเรียนรู้ของตัวเองระเบิดออกมาจากภายใน

การเรียนรู้คือการฝึกฝนตลอดเวลา ทุกๆ กาลเทศะ เพียงแต่เราจะต้องอนุญาตให้ตัวเองคิด ตั้งข้อสังเกต ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ พร้อมจะรื้อความคิดความเชื่อเดิม เปิดหัวสมอง หัวใจ และเซลล์ทุกเซลล์ในกายของเรากับการสร้างใหม่ คือรื้อและสร้างใหม่ตลอดเวลา เหมือนเด็กๆ ที่เล่นกองทราย

จอจ เลียวนาร์ด ผู้ฝึกฝนไอคิโด ผู้เขียน Mastery ซึ่งผมแปลว่า "สู่ความเป็นเซียน" กล่าวว่า ในการฝึกฝน "ดูเหมือนว่าเราเสียเวลา แต่แล้วเราก็จะได้เวลามาอีกมากมาย ดูเหมือนว่าเราเสียแรง แต่แล้วเรากลับมีแรงมากยิ่งกว่าเดิม"

เขาพูดอีกว่า คนจำนวนไม่น้อยชอบชอปปิ้งสำนักฝึกฝนแบบต่างๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น เอ็นวีซี ซาเทียร์ ไดอะล็อก และอื่นๆ แต่เข้าไปด้วยอาการโฉบ จึงไม่สามารถก้าวย่างสู่ความเป็นเซียนได้ เพราะได้แต่โฉบไปโฉบมา ส่วนอีกพวกหนึ่ง เวลาทำอะไรจะจริงจังมาก จนเครียด สภาวะจิตแบบนั้นทำให้พวกเขากลับแย่ลงยิ่งกว่าเดิม เลยล้มเลิกการฝึกฝนไปเลย กลายเป็นผู้ที่ไม่เชื่อว่าการพัฒนาบุคลากรจะเป็นไปได้

จาก http://jitwiwat.blogspot.com/2013/08/blog-post_30.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...