ประวัติและปฏิปทา
พระภาวนาวิเทศ
(หลวงพ่อเขมธัมโม)
วัดป่าสันติธรรม
เมืองวอริค ประเทศอังกฤษ พระเขมธัมโม เป็นชาวอังกฤษโดย กำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2487 ท่านได้ใช้ชีวิตทางโลกอยู่หลายปี และได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกสนใจ มากยิ่งขึ้น ดังนั้นในปี 2514 ท่านจึงได้ออกเดินทางเพื่อแสวงบุญไปยังดินแดนที่พุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองหลายแห่ง อาทิ อิหร่าน ปากีสถาน อาฟกานิสถาน และอินเดีย ท่านได้เดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานในอินเดีย ก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศ ไทย และในเดือนธันวาคม ปี 2514 นี้เองที่ท่านได้ตัดสินใจเข้าบรรพชาเป็น สามเณร ที่วัดมหาธาตุ กทม อยู่วัดมหาธาตุได้เพียง 1 เดือน จึงเดินทางไปศึกษาธรรมยังวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมี พระโพธิญาณเถร หรือหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระสายปฏิบัติรูปสำคัญรูปหนึ่ง เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในเวลานั้น ต่อมาปี 2515 ก่อนวันวิสาขบูชาเพียงไม่กี่วัน ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยมีหลวงพ่อชาเป็นพระอุปัชฌาย์
ตลอดเวลา 5 ปีที่พระเขมธัมโมอยู่ ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อชานั้น พระเขมธัมโมให้ความเคารพรักและศรัทธาในคำสอนและวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อชามาก ดังนั้น เมื่อท่านเดินทางกลับไปประเทศอังกฤษ ในปี 2520 ท่านจึงได้นิมนต์ หลวงพ่อชาไปกับท่านด้วย ครั้นหลวงพ่อชากลับเมืองไทยแล้ว ไม่นานนักพระเขมธัมโม ก็ได้ก่อตั้งวัดเล็กๆขึ้นแห่งหนึ่งที่เกาะไวท์ ในรูปแบบวัดป่าที่สงบ เรียบง่าย ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า “วัดป่าสันติธรรม”ซึ่งเป็นสาขาที่ 158 ของวัดหนองป่าพง ดำเนินการเผยแผ่ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2527 ได้รับนิมนต์จากกลุ่มชาวพุทธผู้สนใจในการปฏิบัติวิปัสสนาให้ไปถ่ายทอดความรู้อยู่หลายเดือน และได้ย้ายไปจำพรรษาที่แบนเนอร์ฮิลล์ ใกล้เมืองเคนิเวอร์ธ ที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสมาคมพุทธธรรมขึ้น และในปี 2530 สมาคมพุทธธรรมก็ได้รวบรวมเงินจากการบริจาคไปซื้อกระท่อมไม้ในชนบท ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ วัดป่าสันติธรรม เพื่อเป็นที่พักรับรองพระอาคันตุกะ และผู้สนใจที่เดินทางมาปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก
ส่วนภารกิจที่สร้างชื่อเสียงให้กับพระเขมธัมโมก็คือ การจัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า“องคุลิมาล” ขึ้น มีสำนักงานอยู่ที่วัดป่าสันติธรรม มีวัตถุ ประสงค์เพื่อเข้าไปให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งการฝึกหัดปฏิบัติธรรมแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งในเริ่มแรก พระเขมธัมโมประสบปัญหามาก เนื่องจากทุกเรือนจำต่างปฏิเสธที่จะให้เข้าไปสอน เพราะเห็นว่าไม่น่าจะมีประโยชน์และคงไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรผู้ต้องขังได้ อีกอย่างหนึ่งคือ ที่ผ่านมาไม่เคยมีพระรูปใดเข้าไปสอนในเรือนจำเลย
พระเขมธัมโมได้เพียรพยายามขอร้องชี้แจงถึงเหตุผลว่าการปฏิบัติธรรมนั้นจะช่วยลดปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ต้องขังได้มาก อันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ต้องขังเอง รวมทั้งเรือนจำที่จะไม่ต้องมาคอยตามแก้ปัญหาที่เกิดจากสภาพความกดดันทางจิตใจของผู้ต้องหา พระเขมธัมโมได้พยายามต่อรองกับเรือนจำขอทดลองสอนกัมมัฏฐาน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ให้กับผู้ต้องหา 34 คน ซึ่งในที่สุดก็มีเรือนจำ แห่งหนึ่งตกลงที่จะให้ท่านเข้าไปทดลองสอนดู ปรากฏผลว่า ผู้ต้องหามีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นมาก ดังนั้น ทางเรือนจำจึงเปิดโอกาสให้ท่านได้เข้าไปสอนอย่างเต็มที่ รวมทั้งเรือนจำแห่งอื่นๆที่ทราบข่าวต่างก็นิมนต์ให้ท่านไปสอนด้วยเช่นกัน จนปัจจุบัน มีเรือนจำถึง 2 ใน 3 ของเรือนจำทั้งหมด ในประเทศอังกฤษ ซึ่งท่านได้เข้าไปสอน และมีทีมงานอาสาสมัครทั้งพระและฆราวาสประมาณ 40 คนช่วยกันอีกแรงหนึ่ง องค์กรนี้มีบทบาทหน้าที่ ดังนี้คือ
1 แนะนำและจัดหาทีมงานเข้าไปช่วยเหลือทันทีที่ได้รับการติดต่อ
2 ให้คำปรึกษาในปัญหาต่างๆอย่างชัดเจน และประสานกับเจ้าหน้าที่ขององค์กรที่เป็นอนุสาวนาจารย์ รวมทั้งกับอนุสาวนาจารย์ในเรือนจำ
3 ให้คำแนะนำปรึกษากับผู้ต้องขังหลังได้รับการปลดปล่อย เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจ
การปฏิบัติตนตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดในแบบพระป่า รวมถึงวัตรปฏิบัติอันงดงาม ทำให้พระเขมธัมโม เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนเป็นอย่างมาก จนทำให้วัดป่าสันติธรรมเติบโตขยายตัวมากขึ้น
ปัจจุบันพระเขมธัมโม อายุ 59 ปี พรรษา 32 ท่านยังคงให้การอบรมบ่มธรรมและฝึกฝนปฏิบัติสมาธิภาวนาให้กับสาธุชนผู้สนใจ ทางธรรม ทุกวันจันทร์ และวันศุกร์ ในช่วงเย็น และใน พรรษานี้มีภิกษุ 3 รูป สามเณร 3 รูป และแม่ชี 3 รูป จำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าสันติธรรมแห่งนี้
วัดป่าสันติธรรมนี้เป็นวัดที่ลูกศิษย์ “พระฝรั่ง” รุ่นแรกของ “หลวงพ่อชา สุภัทโท” แห่งวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ไปจัดตั้งขึ้น คือ หลวงพ่อเขมธัมโม ซึ่งเป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด โดยปกติ หลวงพ่อเขมธัมโมจะไม่อยากพูดถึงประวัติความเป็นมาของตัวท่านเองมากนัก แม้แต่ชื่อเดิมของท่าน โดยท่านให้เหตุผลว่า ตอนนี้ท่านเป็น “พุทธบุตร” โดยแท้แล้ว มีนามฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า “เขมธัมโม” ขอให้รู้จักท่านในชื่อนี้ก็แล้วกัน ลูกศิษย์และผู้ที่เคยไปกราบไหว้ท่านจึงรู้จักท่านในชื่อ “หลวงพ่อเขมธัมโม” ตลอดมา
ตามประวัติโดยสังเขปของท่าน ทราบเพียงสั้นๆ ว่า ท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2487 ทางตอนใต้ของอังกฤษ เข้ารับการศึกษาตามเกณฑ์บังคับ พอถึงอายุ 17 ปีได้เข้าศึกษาต่อด้านการแสดงที่โรงเรียน Central School of Speech & Drama ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนการแสดงที่ดีที่สุดของประเทศนี้
2 ปีต่อมา ท่านได้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งศูนย์การแสดง Drama Centre London ในกรุงลอนดอน โดยใช้เวลาตรงนั้น 1 ปี ก่อนที่จะออกจากกลุ่มเพื่อไปตั้งกิจการบริษัทโรงภาพยนตร์ของตัวเอง ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิ เมื่อปี พ.ศ.2508 ท่านได้ออกเดินทางตระเวนทั่วสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 4 เดือน และในปี พ.ศ.2509 ท่านได้เข้าร่วมทำงานในบริษัท National Theatre Company อยู่กับบริษัทนี้เป็นเวลา 3 ปีครึ่ง ในช่วงนั้นท่านได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนเกิดความสนใจมาก จึงหันมานับถือศาสนาพุทธ และได้ตัดสินใจที่จะมาเมืองไทย เพื่อบำเพ็ญภาวนาในทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มตัว จึงได้ขายบ้านหลังหนึ่งที่เคยซื้อไว้ในอังกฤษ
หลวงพ่อเขมธัมโม เล่าว่า ความประสงค์ในการเดินทางครั้งนี้เพื่อเป็นการแสวงบุญโดยแท้จริง การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลครั้งนั้นได้ผ่านหลายประเทศอาทิ อิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย
สำหรับที่อินเดีย ท่านได้ใช้เวลา 2 เดือนในการเดินทางแสวงบุญไปยังสังเวชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา จากนั้นจึงได้เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย เมื่อราวต้นเดือนธันวาคม ปีพ.ศ.2514 แล้วได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาธาตุฯ ในกรุงเทพฯ ต่อมาในช่วงปีใหม่พ.ศ.2515 ท่านจึงได้ไปยัง จ.อุบลราชธานี
ย้อนไปเมื่อ 35 ปีที่แล้วท่านเป็นดาราทีวี สนใจเรื่องพระพุทธศาสนาจนได้พบหลวงพ่อชา นับเป็นศิษย์ฝรั่งรุ่นแรกๆ ที่ฉันปลาแดกข้าวเหนียวเป็น เหมือนกับลูกอีสานขนานแท้ ตอนไปอยู่เมืองดอกบัวใหม่ๆ ท่านพูดภาษาไทยไม่ได้สักคำ แต่ก็ฟังหลวงพ่อชารู้เรื่อง ด้วยการหมั่นสังเกตและปฏิบัติตาม แล้วก็สะสมวันละนิดจนเป็นความรักอันบริสุทธิ์จนมากเป็นหลายเท่าทวีคูณ ว่ากันว่าหลวงพ่อชานั้น ท่านมีเทคนิคการสอนธรรมที่ไม่ค่อยเหมือนใคร คือจะบอกให้รู้ ทำให้ดู เช่น บอกให้ยกท่อนไม้ขึ้น แล้วก็ให้หยุดอยู่ พอรู้ว่าเมื่อยแล้วก็จะใช้ภาษามือสื่อให้พระฝรั่งโยนท่อนไม้ทิ้งแล้วก็จะพูด สั้นๆ ว่า แบกไว้มันทุกข์ ทิ้งไปมันก็สุขเอง เพียงปริศนาธรรมเล็กน้อยแค่นี้ ทำให้ลูกศิษย์อึ้งถึงกับลงมือฝึกจิตตนเอง ไม่สนใจเปลือกนอก หลวงพ่อชาท่านช่างมีพรสวรรค์ในการปั้นคนจริงๆ
หลวงพ่อเขมธัมโม มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในหลวงพ่อชา มากเป็นพิเศษ เพราะได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงพ่อชา มาตั้งแต่ยังอยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยท่านได้เขียนบันทึกเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง ชื่อ “รำพึงถึงความหลังกับพระอาจารย์ชา” โดยสรุปได้ว่า
เมื่อตอนที่ท่านกำลังจะเดินทางมาบวชในประเทศไทย ซึ่งช่วงนั้น หลวงพ่อชา ยังไม่เป็นที่รู้จักกันดีนัก แต่ได้มีพระรูปหนึ่งซึ่งขณะนั้น กำลังพักอยู่ที่วัดไทยในกรุงลอนดอน ได้รู้จักหลวงพ่อชา มาก่อนแล้ว พระรูปนั้นได้แนะนำว่าท่านว่า เมื่อมาถึงเมืองไทยควรจะไปหาหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง ให้ได้
ต่อมาเมื่อท่านได้มาถึงเมืองไทยแล้ว และได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ปรากฏว่าพระภิกษุที่ท่านได้รู้จักในกรุงลอนดอนรูปนั้นก็ได้มาถึงเมืองไทย เช่นกัน และได้อยู่ควบคุมดูแลการบวชเณรของท่านด้วย
พระภิกษุรูปนั้นได้คะยั้นคะยอที่จะพาท่านไปกราบ หลวงพ่อชา ที่วัดหนองป่าพง ก่อนที่ท่านจะออกเดินทาง ท่านได้ออกไปยืนบนถนนอันวุ่นวายคับคั่งของกรุงเทพฯ เมื่อมองออกไปไกลก็ได้แลเห็นเพื่อนสนิทเก่าแก่คนหนึ่งซึ่งท่านเคารพเชื่อถือ ในความคิดเห็นตัดสินของเพื่อนท่านผู้นั้นมาก ตอนนี้ท่านผู้นั้นได้บวชเป็น พระสงฆ์ครองผ้าเหลือง มาแล้วเป็นเวลานานพอสมควร
และจากการได้เยี่ยมเยือนวัดมาหลายแห่ง พระสงฆ์รูปนี้ได้บอกท่านอย่างมั่นอกมั่นใจว่า สถานที่ดีที่สุดสำหรับ การบวชและฝึกอบรมเป็นพระภิกษุนั้นก็คือกับพระอาจารย์ชา วัดหนองป่าพง ดังนั้นในวันขึ้นปีใหม่ หลวงพ่อเขมธัมโม กับพระสงฆ์ไทยจากลอนดอนก็ได้เดินทางไปยัง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และได้เข้าไปกราบนมัสการ หลวงพ่อชา ณ วัดหนองป่าพงเป็นครั้งแรก
หลวงพ่อเขมธัมโม บันทึกถึงตอนนี้ว่า “...หลวงพ่อชา เดินลงบันไดมา ท่านนั่งขัดสมาธิบนม้านั่ง ยกสูงทำด้วยไม้แข็ง อยู่ต่อหน้าเราพร้อมกับจิบน้ำชาจากแก้วไปด้วย ขณะกำลังคุยกับเรา ท่าทางท่านดูเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ยิ้มแย้มร่าเริง เราได้พยายามสื่อสารอย่างเต็มที่กับท่าน โดยมีพระไทยซึ่งไม่สู้จะคล่องภาษา (อังกฤษ) นัก ช่วยเป็นล่าม...”
หลวงพ่อเขมธัมโม บันทึกต่อไปอีกว่า...เมื่อหลวงพ่อชาตอบรับท่านเป็นศิษย์แล้ว ท่านก็ได้เริ่มใช้ชีวิตภายใต้ การชี้นำของหลวงพ่อชา ซึ่งมิใช่เป็น ชีวิตบนแปลงดอกกุหลาบโดยสิ้นเชิงเสียทีเดียว ปัญหาทั้งหมดเกิดจากตัวของท่านเองทั้งสิ้น แต่นั่นมักจะเป็นสิ่งที่คนเรามักจะมองไม่เห็น อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อเขมธัมโม ก็ได้อยู่กับหลวงพ่อชาด้วยดีตลอดมา เพราะเริ่มปรับตัวเข้ากับสภาพสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น จนเกิดความซาบซึ้งใจในหลายสิ่งหลายอย่างของความเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
หลวงพ่อเขมธัมโม ได้เขียนบันทึกอย่างเปิดใจตอนหนึ่งว่า “...เมื่อหลายปีผ่านไป อาตมาก็หันมานิยมชมชื่น ในตัวหลวงพ่อชามาก อาตมาได้เรียนรู้และซึมซาบจากท่านมากขึ้นทุกทีทุกที ความรักของอาตมา ที่มีต่อหลวงพ่อชานั้นเกิดขึ้นช้าๆ ทว่ามันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ...”
พระป่าชาวอังกฤษ กล่าวว่า การใช้ชีวิต อยู่กับหลวงพ่อชานั้นก็มิใช่ง่ายเสมอไป บางอย่างดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เอาทีเดียว ท่านยังจำได้ดีถึงความอึดอัดใจที่ทำอะไรผิดๆ นับครั้งไม่ถ้วน และต่อหน้าผู้คนด้วย
การกระทำทุกอย่างนั้นมีวิธีการของมันอยู่ และมีมาก ทีเดียวที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย แต่บางอย่างนั้นก็เป็นของตัวหลวงพ่อเอง ในขณะที่หลวงพ่อสามารถที่จะบอกกับอาตมา ได้เสมอว่าอะไร ผิดแต่ท่าน ก็จะไม่บอกอาตมาเสมอไปว่าอะไรถูก ปล่อยให้ท่านเข้าใจเอาเอง
หลวงพ่อเขมธัมโม กล่าวว่า ในเวลาต่อมาท่านก็เข้าใจว่า อะไรถูกอะไร ผิดพร้อมกับยกย่องว่า หลวงพ่อชา มีลักษณะพิเศษเฉพาะตน ในการสั่งสอนอบรม ลูกศิษย์ได้เป็นอย่างดีเลิศ ทำให้เข้าใจในหลักธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างง่าย
พระป่าชาวอังกฤษ กล่าวถึงวิธีการทำสมาธิตาม แบบที่หลวงพ่อชา ส่งเสริมให้ปฏิบัตินั้น มักจะไม่รวมเอาการแผ่เมตตาเข้าไว้ด้วย แต่ก็ยังไม่เคยพบ ผู้ใดที่มีความเมตตา กรุณามากเท่ากับ หลวงพ่อชา มาก่อนเลย หลวงพ่อชาได้ดูแล ลูกศิษย์ทุกคนด้วย ความรักอันบริสุทธิ์ ตลอดเวลา แม้บางครั้งท่านจะดุด่าว่ากล่าวบ้างก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิด มาจากความห่วงใย อยากให้ลูกศิษย์ได้รับความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง มากกว่า ลูกศิษย์ที่เข้าใจในเจตนาอันดี นี้ต่างมีแต่ความปลาบปลื้มใจ ในตัวของหลวงพ่อมาก
หลวงพ่อชาชอบเดินเล่นรอบๆ วัดในตอนเช้า หลังจากออกบิณฑบาต ขณะที่พระรูปอื่นๆ ซึ่งออกไปบิณฑบาตไกลๆ เพิ่งจะกลับมา และมีการตระเตรียมอาหาร บางครั้งหลวงพ่อชาจะเดินตามลำพัง และมักจะกวักมือเรียกใครสักคนให้เดินไปกับท่าน เพื่อสนทนาธรรมไปในตัว
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเขมธัมโม กำลังมีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับคำสอน หลวงพ่อชาก็จะพาท่านไปเดินด้วย 2-3 วัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ การได้อยู่ใกล้ชิดกับหลวงพ่อชาเป็นส่วนตัวนี้ ทำให้หลวงพ่อเขมธัมโมมีความยินดีมาก
วันหนึ่ง มีกิ่งไม้หนักขวางทางอยู่ หลวงพ่อชาได้ยกไม้ท่อนนั้นขึ้น พร้อมกับบอกให้หลวงพ่อเขมธัมโม ยกอีกข้างหนึ่ง แล้วถามว่า “หนักไหมล่ะนี่ ?” และเมื่อได้เหวี่ยงท่อนไม้นั้นเข้าไปในป่าแล้วก็ถามอีกว่า “ตอนนี้ล่ะเป็นไง หนักไหม ?”
หลวงพ่อชาจะสอนลูกศิษย์ให้เห็นธรรมะในสิ่งที่พบเห็นใกล้ตัว ให้รู้จัก
“การปล่อยวาง” ถ้าทำได้ก็จะเบาตัว (เหมือนกิเลสตัณหา) การฝึกปฏิบัติกับหลวงพ่อชานั้น ทำให้กฎระเบียบพิธีการและรูปแบบของชีวิตนักบวชในวัด มิใช่เป็นเพียงประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาอย่างไม่มีจุดหมายเหมือนในวัดอื่นๆ การสอนของหลวงพ่อชาทุกอย่างเป็น “วิธีการอันแยบยล” ในการสร้างทัศนคติแห่งการรู้แจ้งเห็นจริง
หลวงพ่อเขมธัมโม บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “เราคือพระภิกษุผู้ซึ่งมิใช่อยู่เพื่อแสวงหาลาภสักการะ หรือชื่อเสียง มิใช่เพื่อความก้าวหน้าทางโลก เราเป็นพระภิกษุที่ต้องเผชิญกับกิเลส และสิ่งที่เป็นอิทธิพลทำลายหัวใจและจิตใจของ มองเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แล้วทิ้งมันไป เพื่อบรรลุถึงความสงบอันจริงแท้แน่นอน คือความสุขแห่งพระนิพพาน”
ครั้งหนึ่งเพื่อนของหลวงพ่อเขมธัมโมได้พูดถึงความประทับใจที่มีต่อหลวงพ่อชา ว่า ท่านเหมือนกับกบตัวใหญ่ ที่มีความสุขที่นั่งอยู่บนใบบัว เรามักจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับชีวิต ความเป็นอยู่เป็นเรื่องที่ถูกเมินเฉย เพราะพุทธศาสนาจะพูดเกี่ยวกับความทุกข์และแนวโน้มทางลบของใจ การวิเคราะห์จิตและสังขาร รวมทั้งคำนิยามต่างๆ ที่เข้าใจยาก
แต่สำหรับหลวงพ่อชาแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น หลวงพ่อจะแผ่ความสุขให้กับทุกคน ดึงดูดผู้คนเข้าหาท่าน และอยากจะอยู่กับท่าน แล้วท่านก็จะอบรมสั่งสอนธรรมแบบง่ายๆ โดยไม่ทำให้ผู้ฟังเบื่อหน่ายกับการเทศน์แบบแห้งแล้งที่มีแต่คำบาลียาวๆ แต่ท่านจะนั่งคุยกับผู้คนอย่างสนุกสนาน หัวเราะพูดเล่น และเมื่อมีจังหวะท่านก็จะสอดแทรกธรรมะที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตให้กับพวกเขา หลวงพ่อชาจะอบรมสั่งสอนชาวบ้านอย่างนี้ตลอดทั้งวัน หลังจากฉันอาหารจนกระทั่งดึกดื่นค่อนคืน ในขณะที่ผู้คนพากันมากราบไหว้ท่านอย่างต่อเนื่อง กลุ่มหนึ่งไปกลุ่มหนึ่งมาเป็นอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา หลวงพ่อมีความอดทนในเรื่องนี้มาก และไม่เคยเบื่อหน่ายเลย
หลวงพ่อเขมธัมโม ได้เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่างจากหลวงพ่อชา ที่ท่านได้หยิบยกเอาสภาพสิ่งแวดล้อมที่พบเห็นใกล้ตัวมา เป็นตัวอย่างในการสอนธรรมะ