“หลวงพ่อจรัญ” พระดีในใจคน การละสังขารของ “พระธรรมสิงหบุราจารย์(จรัญ ฐิตธมฺโม)” หรือที่พุทธศาสนิกชนและลูกศิษย์ลูกหาเรียกกันสั้นว่า “หลวงพ่อจรัญ” เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2559 สิริรวมอายุ 87 ปี นั้น ถือเป็นการสูญเสีย “พระดีที่น่ากราบ” ในยุคนี้สมัยนี้ไปอีกรูปหนึ่ง
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโมเป็นพระที่มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหาที่ศรัทธาในแนวทางการสอนอยู่ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาจิตใจคนด้วยการทำวิปัสสนากรรมฐานด้วยหลักสติปัฏฐาน 4 แบบพองหนอ-ยุบหนอ ตลอดรวมไปถึงการสั่งสอนเรื่องกฎแห่งกรรม โดยยกเหตุการณ์ที่ประสบขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์อยู่เสมอ
ที่สำคัญคือ หลวงพ่อจรัญนั้นยังเป็นผู้ที่ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนหมั่นสวดมนต์ด้วย “พุทธชัยมงคลคาถา” หรือ “คาถาพาหุงมหากา” เพื่อเป็นเครื่องเจริญสติ ซึ่งส่งผลทำให้มีการตีพิมพ์คาถาพาหุงมหากากันอย่างแพร่หลายในช่วงหลายต่อหลายปีที่ผ่านมา จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีใครในประเทศไทยไม่รู้จักพระคาถาบทนี้เลยก็ว่าได้
ขณะที่วัดอัมพวันซึ่งได้รับการพัฒนาจากหลวงพ่อให้มีความสัปปายะเหมาะแก่การเจริญภาวนา ก็เนืองแน่นไปด้วยพุทธศาสนิกชนที่พร้อมใจกันเดินทางไปศึกษาธรรมะจากหลวงพ่อและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่ออย่างไม่ขาดสาย ยิ่งในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ด้วยแล้ว จำนวนยิ่งมากเป็นพิเศษ โดยก่อนที่หลวงพ่อจะเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ทุกๆ วัน ช่วงเวลาประมาณสิบโมงเช้าและบ่ายสองโมง หลวงพ่อจะออกมาให้พรและพบปะกับญาติโยมเป็นกิจวัตร
วันนี้ “พระดีในใจคน” ได้ละสังขารไปแล้ว แต่วัตรปฏิบัติและคำสั่งสอน ตลอดรวมถึงข้อธรรมะต่างๆ ยังคงตราตรึงให้หัวใจของพุทธศาสนิกชนอย่างไม่มีวันเสื่อมคล้าย
ชีวิตเด็กชายจอมเกเรหลวงพ่อจรัญเกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2571 เวลา 7.10น. ปีมะโรง ณ ตำบลม่วงหมู่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวน 10 คน ของนายแพและนางเจิม จรรยารักษ์

หนังสือชีวประวัติหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม พระราชสุทธิญาณมงคล (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมสิงหบุราจารย์) วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ได้ร้อยเรียงเรื่องราวเมื่อเยาว์วัยของ เด็กชายจอมเกเรที่กลับตาลปัตรมาเป็น พระอริยะผู้ปฏิบัติดี ได้รับความเลื่อมศรัทศรัทธาจากปุถุชนทั่วฟ้าเมืองไทย เอาไว้อย่างน่าสนใจ
ชีวิตช่วงเยาว์วัย ด.ช.จรัญอาศัยอยู่กับยาย วัย 80 ปี ณ เรือนทรงไทยหลังใหญ่ ติดลำน้ำลพบุรี ได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีวินัย รู้จักหน้าที่ของตน เช้ามืดของทุกวันยายจะลุกขึ้นสวดมนต์ภาวนา เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ส่วน ด.ช.จรัญ จะลุกขึ้นก่อไฟหุงข้าวให้ยายใส่บาตร ช่วยงานยายให้เสร็จสรรพแล้วจึงไป โรงเรียนวัดพรหมสาคร
ในวัยที่กำลังเรียนหนังสือ เด็กชายจรัญไม่เคยสนใจเรียนหนังสือเลย มักชวนเพื่อนๆ ไปยิงนกตกปลา ถูกย้ายโรงเรียนหลายแห่ง เพราะทางโรงเรียนทนความประพฤติของเด็กชายจรัญไม่ไหว ทั้งๆ ที่ยายพร่ำสอนแต่สิ่งดีๆ ให้ เด็กชายจรัญ แต่เขากลับไม่เคยรับฟังอย่างใส่ใจเลย
“ยายให้เอาข้าวไปถวายพระแทน เพราะยายไม่ค่อยสบาย ระหว่างทางเจอเพื่อนนักเรียนที่สร้างวีรกรรมหนีโรงเรียนด้วยกันมา เพื่อนบอกว่า.. ยังไม่ได้กินข้าวเลย เด็กชายจรัญ ก็นึกไปว่าจะเอาไปให้พระทำไม พระก็มีของกินตั้งเยอะแยะแล้ว
“เลยตั้งวงกินกันเองกับเพื่อน พอกลับถึงบ้าน ยายถามก็บอกว่า ถวายแล้ว วันต่อมาก็ทำอีก บังเอิญ อยู่มาวันหนึ่ง สมภารได้แวะมาเยี่ยมยายที่บ้าน ความเลยแตก ถูกยายดุด่าและตีด้วยไม้เรียว พร้อมทั้งพูดสั่งสอน.. เอ็งทำแบบนี้ มันเป็นบาปต้องเป็นเปรตปากเท่ารูเข็มรู้ไม๊”
ด.ช.จรัญ มีวีรกรรมแสบติดตัวมากมาย
“ทุกๆ ปี ปีละ 2 ครั้ง ยายจะจัดให้มีการเทศน์มหาชาติขึ้นที่บ้าน ลูกๆ หลานๆ ก็มาพร้อมหน้ากัน ยายจะนิมนต์พระมา 3 รูป ขึ้นเทศน์ 3 ธรรมาสน์ เทศน์โต้ตอบกันเรียกว่า เทศปุจฉาวิสัชนา เด็กๆ จะพากันวิ่งซุกซน ยายจะจับผูกขาล่ามไว้กับเสาเรือนเป็นการบังคับให้ฟังเทศน์ ด.ช.จรัญ เป็นหนึ่งในจำนวนเด็กที่ถูกผูกขาล่ามเชือกไว้ด้วย
หรืออย่าง เมื่อตอน ม.2 เขาได้รับเงินค่าจ้าง 1 บาท จากพวกขี้เหล้า เพื่อนำเต่า 7 ตัวไปต้ม แน่นอน เขารับคำแล้วก่อไฟต้มน้ำจนเดือด ก่อนที่จะนำเต่าใส่ลงหม้อขณะน้ำเดือดพล่าน เต่าทั้งหมดพากันดิ้นทุรนทุรายจนหม้อแตก พวกมันตะเกียกตะกายหนีเอาชีวิตรอดเข้าไปในกอไผ่ใกล้ๆ ด.ช.จรัญ ตามไปเพื่อจะจับมันกลับต้มอีกครั้ง แต่พบภาพที่น่าเวทนายิ่งนัก เต่าทั้ง 7 ตัว น้ำตาไหลพราก ใช้ขาสองขาหน้าของตนปาดน้ำตาเป็นพัลวัน จึงได้ปล่อยไป โดยที่ไม่รู้ว่ากรรม ที่ได้สร้างขึ้นมานั้น จะตามมาถึงในวันข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม จากผลกรรมที่หลวงพ่อได้การกระทำ เมื่อเข้าสู่สมณเพศท่านตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า จะสร้างขัดเกลาผู้คนโดยใช้วิธีการให้การศึกษาอบรมและสอนวิปัสสนากรรมฐาน และนำผลกรรมเก่ามาสอนในหนังสือกฎแห่งกรรมด้วย
หลังจบชั้น ม.4 หลวงพ่อจรัญได้ศึกษาวิชาต่างๆ หลากหลายแขนง ทั้งวิชาช่างกลจากอาจารย์เลื่อน พงษ์โสภณ และวิชาดนตรีจากหลวงประดิษฐ์ไพเราะ นอกจากนี้ยังเคยเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่เรียนได้สามเดือนก็ลาออกเพราะเกิดเหตุวิวาทกับรุ่นพี่
หลังจากนั้น หลวงพ่อจรัญจึงเดินทางกลับมายังบ้านเกิดที่สิงห์บุรีและนำวิชาดนตรีที่ได้ร่ำเรียนมาประกอบอาชีพอยู่ที่อำเภอพรหมบุรี โดยออกงานดนตรีกับคณะจรรยารักษ์ซึ่งมีอยู่เดิมจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว
นอกจากฝีมือทางดนตรีแล้ว หลวงพ่อจรัญยังมีฝีมือทางการเขียนหนังสือ โดยสามารถประพันธ์เรื่องนางอรพิมกับท้าวปาจิตต์จนมีคณะลิเกขอลอกบทเพื่อนำไปแสดงเป็นลิเกหลายคณะ
สู่พระสุปฏิปฏิปัณโณ เพชรเม็ดงามประดับวงการสงฆ์
ในวัยหนุ่ม อาจกล่าวได้ว่า หลวงจรัญไม่ได้มีความสนใจในพระพุทธศาสนาเลยแม้แต่น้อย ออกจะไม่ชอบเสียด้วยซ้ำไป เพราะครั้งหนึ่งในขณะที่เป็นนักดนตรีเคยไปเล่นดนตรีที่วัดโตนดแต่พระวัดนี้กลับมาศิษย์วัดกว่า 10 คนมารุมทำร้ายเนื่องจากท่านเคยด่าพระว่าอาศัยผ้าเหลืองหากินและไม่ปฏิบัติตามพระวินัย ทำให้เกือบถูกแทงตายและถูกรุมทำร้ายจนสะบักสะบอม แต่โชคดีที่มีคนมาช่วยทัน ตั้งแต่นั้นหลวงพ่อจึงไม่ชอบพระ

กระทั่งเมื่อหลวงพ่ออายุได้ 20 ปี โยมแม่ได้ล้มป่วยลง หลวงพ่อจึงคิดที่จะบวชทนแทนพระคุณสักหนึ่งพรรษา โดยอุปสมบทเมื่อปี 2491 ที่วัดพรหมบุรี โดยมีพระพรหมนคราจารย์ เจ้าอาวาสวัดแจ้งพรหมนครเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูถาวรวิริยคุณ วัดพุทธารามเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐิตธมฺโม”
เมื่อครบ 1 พรรษา ในวันที่จะสึกหลวงพ่อรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนขึ้นมาแล้วก็ได้ยินเสียงประหลาดว่า “คุณบวชแบบนี้ดีแล้ว จะสึกก็ไม่เป็นไร แต่นะโมยังไม่ได้ ได้นะโมแล้วค่อยสึก” ขณะที่ท่านกำลังนึกสงสัยว่าเป็นเสียงใคร ก็ได้ยินเสียงดังตามมาอีกว่า “คุณสึกไม่เป็นไร ไม่ยากอะไรนักหนา แต่ขอถามว่าพุทธคุณได้หรือยัง ธรรมคุณได้หรือยัง สังฆคุณได้หรือยัง” ซึ่งเป็นเพราะเสียงประหลาดนี้ที่ทำให้หลวงพ่อจรัญครองเพศบรรพชิตอยู่จนไม่สามารถดำรงธาตุขันธ์ต่อไปได้
หลังอุปสมบทหลวงพ่อจรัญได้ธุดงค์ไปตามป่าเขา ลำเนาไพร และที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความรู้ และประสบการณ์ทั้งทาง สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน และได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิชากับพระอาจารย์หลายท่าน อาทิ ศึกษาวิชากรรมฐานกับพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม) วัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.พยุหคีรี(ในขณะนั้น) ปัจจุบันอยู่ใน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

ศึกษาและปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิชชาธรรมกายกับพระมงคลเทพมุนี (สด จันทรสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ อำเภอภาษีเจริญ ศึกษาการทำเครื่องรางของขลัง น้ำมันมนต์ กับ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ พระครูวินิจสุตคุณ (หลวงพ่อสนั่น) วัดบางกระเบา อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน กับ เจ้าคุณอาจารย์พระอุดมวิชาญาณเถระ หรือเจ้าคุณโชดก วัดมหาธาตุ ฯ ซึ่งต่อมาเป็นพระธรรมธีรราชมหามุนีเจ้าคณะภาค 9 (พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ)
ศึกษาพระอภิธรรมกับ อาจารย์เตชิน ( ชาวพม่า ) วัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี ศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาศาสตร์ทางจิตกับอาจารย์พันเอกชมสุคันธรัต ศึกษาพยากรณ์จาก สมเด็จพระสังฆราช ( อยู่ ญาโณทโยมหาเถระ) วัดสระเกศ
รวมทั้งได้ออกเดินธุดงค์ไปจำศีลภาวนยังสถานที่อันเงียบสงบ ตามป่าเขาลำเนาไพรทางภาคเหนือ จนพบพระอาจารย์ผู้ทรงคุณที่ดอยภูคา จังหวัดน่าน และเดินธุดงค์ข้ามไปยังประเทศเมียนมาร์ ฯลฯ
เมื่อศึกษาสั่งสมความรู้จนสมควรแก่เวลา ทางคณะสงฆ์ฯ ได้เชิญให้ หลวงพ่อจรัญ ไปเป็นเจ้าอาวาส วัดอัมพวัน อ. พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โดยขณะนั้นยังเป็นวัดโบราณทรุดโทรม มีพระบวชจำพรรษาเพียง 2 รูป ซึ่ง หลวงพ่อจรัญ ได้เข้าไปพัฒนา ตั้งเมื่อปี 2500 โดยบริหารพัฒนาวัดจนเจริญก้าวหน้า กระทั่ง ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘นักพัฒนาตัวอย่าง’ จากกรมการศาสนา และกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ ปี 2512
โดยทุกวันนี้วัดอัมพวันมีความสัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติภาวนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งบรรยากาศที่ร่มรื่น ศาลาปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ ลานจอดรถกว้างขวางสะดวกสบาย และห้องน้ำห้องท่าที่สะอาดสะอ้านถึงกว่า 500 ห้อง รวมถึงโรงทานที่มีอาหารและน้ำดื่มไว้คอยให้บริการผู้มาทำบุญและปฏิบัติธรรมไม่เคยขาด
สำหรับการปกครองและสมณศักดิ์ ปี 2542 หลวงพ่อจรัญ ได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ “พระธรรมสิงหบุราจารย์” เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2547

ส่วนแนวทางการสืบทอดพระพุทธศาสนานั้น หลวงพ่อจรัญท่านเน้นหนักที่การสั่งสอนเรื่องกฎแห่งกรรม ด้วยการยกเหตุการณ์ที่ท่านประสบและนับเป็นกฎแห่งกรรมขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์อยู่เสมอ และเน้นการพัฒนาจิตใจคนด้วยการทำวิปัสสนากรรมฐานด้วยหลักสติปัฏฐาน 4 แบบพองหนอ-ยุบหนอ
นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ที่ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนหมั่นสวดมนต์ด้วยพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงมหากา) เพื่อเป็นเครื่องเจริญสติอย่างแพร่หลาย โดยพระคาถานี้ ครั้งหนึ่งหลวงพ่อจรัญฝันว่า ได้พบกับสมเด็จพระพนรัตน์ แห่งวัดป่าแก้วกรุงศรีอยุธยา โดยในฝันสมเด็จพระพนรัตน์ได้แนะให้หลวงพ่อจรัญเดินทางไปยังวัดใหญ่ชัยมงคล เมื่อตื่นขึ้นมาหลวงพ่อจรัญก็ได้เดินทางไปยังวัดนี้และได้พบบทสวดมนตร์ที่สมเด็จพระพนรัตน์ถวายให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวดเป็นประจำ นั่นคือ “พาหุงมหาการุณิโก” ซึ่งเป็นบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณและพระสังฆคุณ

ตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่อจรัญก็สอนการสวดพาหุงมหากาฯให้แก่ญาติโยมเรื่อยมาจนเป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศ
ขณะเดียวกัน หลวงพ่อจรัญได้สร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นสาขาของ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี สำหรับเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรม สร้างกุศลผลบุญให้กับตัวเอง โดยสอนกรรมฐานคติธรรมจนเป็นประโยชน์แก่คนมากมายจบจนปัจจุบัน
สำหรับ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จ.ขอนแก่น ตั้งอยู่บนพื้นที่ 293 ไร่ เปิดอบรมแก่นักเรียนนิสิต นักศึกษา ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป ด้วยหลักวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวทางสติปัฏฐาน 4 โดยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อจะคอยมาตรวจดูท่านที่มาปฏิบัติธรรมตลอดเวลา
ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลวงพ่อจรัญได้เรียบเรียงหนังสือธรรมะที่มีคุณค่ายิ่งไว้เป็นจำนวนมาก แต่ละปีท่านแจกหนังสือเป็นธรรมะวิทยาทานมากกว่า 1.5 แสนเล่ม ด้วยคุณงามความดีนี้ทำให้ท่านได้รับการถวายเกียรติคุณมากมาย แต่เหนืออื่นใด หลวงพ่อจรัญทำให้คนไทยหลายแสนหลายล้านคนเข้าถึงธรรมะที่แท้ของพระพุทธเจ้า และทำให้คนไทยเข้าใจ “กฎแห่งกรรม” ดังที่ท่านกล่าวว่า
“ผู้เป็นชาวพุทธทุกคนควรเชื่อและพยายามศึกษาทำความเข้าใจในกฎแห่งกรรม อาตมาอยากจะกล่าวว่า ชาวพุทธที่ไม่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมนั้น หาใช่ชาวพุทธไม่…เพราะที่สุดแล้วต่อให้เหนือฟ้ายังมีฟ้า แต่ไม่มีอะไรเหนือกฎแห่งกรรม”
บทความเรื่อง กาลเวลาได้พิสูจน์หลวงพ่อจรัญของพวกท่านแล้ว… โดย ชินวัฒก์ รัตนเสถียร กล่าวถึงพระเดชพระคุณของหลวงพ่อจรัญ ความว่า
“ตลอดชีวิตของพระเดชพระคุณ หลวงพ่อท่านใฝ่หาครูอาจารย์เพิ่มพูนความรู้ตลอด ดังนั้นแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ที่เราทั้งหลายได้ยินได้ฟังมานั้น หลวงพ่อปฏิบัติมาแล้วทั้งสิ้น และเป็นผลจริงตามแนวทางนั้น ๆ การปฏิบัติของหลวงพ่อจะไม่ปฏิบัติในลักษณะปะปนกันแบบจับปลาหลายมือ แต่หลวงพ่อจะปฏิบัติจริงจังจน ได้ผลในแนวทางนั้น ๆ แล้ว จึงไปศึกษาหรือปฏิบัติแนวทางอื่นต่อไป ซึ่งในที่สุดแล้ว หลวงพ่อก็มาหยุดที่ สติปัฏฐาน 4 อันเป็นทางสายเอกของพระพุทธเจ้า”

“ในด้านการเรียน พระเดชพระคุณหลวงพ่อค้นคว้าตลอดเวลา หลวงพ่อเป็นทั้งนักเขียน และ นักพูดอย่างแท้จริง หลวงพ่อไม่เคยว่างจากการแสดงธรรมเลยแม้แต่วันเดียว ในแต่ละวันมีประชาชนไปกราบนมัสการไม่เคยขาด คำสอนของหลวงพ่อถูกบันทึกลงในแถบบันทึกเสียงไว้ให้ผู้สนใจได้ทบทวน หลายสำนักพิมพ์นำไปถอดความพิมพ์จำหน่ายร่ำรวยไปตามกัน บางท่านก็ขอบันทึกทั้งภาพ และ เสียง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นำไปออกเผยแพร่ทั้งทางวิทยุ และ โทรทัศน์ ทุกสื่อที่นักธุรกิจจัดทำแล้วนำไปจำหน่าย ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ บางรายหลวงพ่อก็จ้างพิมพ์ในราคาตลาด เพื่อนำมาแจกในโอกาสต่างๆ เพราะชีวิตหลวงพ่อมีแต่ให้ กับ ช่วย ไม่เคยเบียดเบียนใคร”
หลวงพ่อจรัญ สืบแนวทางปฏิบัติสานต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสาะแสวงหาความรู้เพิ่มพูนประสบการณ์ นำมาสั่งสอนสาธุชนให้รู้ตระหนักเรื่อง กฎแห่งกรรม รวมทั้งการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ การบำเพ็ญภาวนา ตั้งมั่นในศีล ฝึกสมาธิ เจริญปัญญา จึงได้รับการยกย่องเป็น พระสุปฏิปฏิปัณโณ เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั่วประเทศ
ข้อมูล : หนังสือชีวประวัติหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม พระราชสุทธิญาณมงคล วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี,
www.dhammajak.net,
www.jarun.orgที่มา : ผู้จัดการสุดสัปดาห์


จาก
http://dhammapiwat.com