ความหลุดพ้นปรากฏในพระบาลีพระบาลีที่ว่า
สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย - ธรรมทั้งหลายทั้งปวง คือทุกสิ่งไม่ควรที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น;
อภินิเวส แปลว่า ฝังตัวเข้าไป, จิตไม่ควรจะฝังตัวเข้าไปในสิ่งใด โดยความยึดมั่นว่าตัวตนหรือของตน. นี่เรียกว่าไม่ยึดมั่นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นตัวตนของตน; แม้แต่พระนิพพานซึ่งเป็นความหลุดพ้นอันดับสุดท้าย ก็ไม่ยึดมั่นว่าเป็นตัวตนของใคร, หรือว่าเป็นตัวตนของพระนิพพานเอง, คงถือให้เป็นสภาพธรรม สภาวะตามธรรมชาติ. พูดตามวิทยาศาสตร์ก็ว่า เป็นธาตุชนิดหนึ่ง นิพพานนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่งเหมือนกับธาตุทั้งหลาย, ได้ชื่อว่าเป็นธาตุ แต่มีความหมายเฉพาะว่าเป็นธาตุที่ไม่มีการปรุงแต่ง ปราศจากการปรุงแต่งโดยประการทั้งปวง, เป็นวิสังขาร.
คำว่าสังขาร, สังขาร แปลว่า ปรุงแต่ง; และรู้จักแยกออกให้ชัดว่า ผู้ปรุงแต่ง ก็เรียกว่า สังขาร. สิ่งที่ถูกปรุงแต่งก็เรียกว่า สังขาร. กิริยาอาการที่ปรุงแต่ง ก็เรียกว่า สังขาร. สังขารมันมีความหมายอย่างนี้. เดี๋ยวนี้มักจะมีความรู้แค่หางอึ่งว่า สังขาร คือร่างกาย; นี่มันรู้แค่หางอึ่ง ว่าสังขารคือร่างกาย. สังขารคือการปรุงแต่ง, อยู่ในลักษณะของผู้ปรุงแต่ง ก็เรียกว่าสังขาร, ถูกปรุงแต่งออกมา ก็เรียกว่าสังขาร, กิริยาอาการที่ปรุงแต่ง ก็เรียกว่าสังขาร; เตส วูปสโม สุโข - ระงับสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นความสุขอย่างยิ่งคือหยุดการปรุงแต่งเสียได้, หยุดการปรุงแต่งเสียได้ เรียกว่าวิสังขาร, วิสังขารไม่มี การปรุงแต่ง เหนือสภาพการปรุงแต่ง. เมื่อจิตถึงวิสังขาร อะไรปรุงแต่งจิตอีกไม่ได้ จิตก็ถึงภาวะที่เรียกว่านิพพาน, ไม่มี ความทุกข์อีกต่อไป.
เดี๋ยวนี้มัน มีการศึกษากันน้อยเกินไป เรื่องการปรุงแต่ง เรื่องการยึดมั่นถือมั่น เรื่องการหลุดพ้น, แล้วก็บอกกันว่าไม่ให้ เอามาสอนเสียด้วย ห้ามสอนเสียด้วย. นี่หลักปฏิบัติที่ห้ามสอน เป็นหัวใจของพุทธศาสนา. นี่ขอพูดเสียเลยว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนาโดยพฤติการณ์ในปัจจุบันจริง ๆ กลับถูกห้ามนำมาสอน. มันเป็นอย่างไร คิดดูซิ.
เรื่องอนัตตา-ไม่ใช่ตน เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา แต่กลับถูกห้ามนำมาสอน, เรื่องสุญญตา-ว่างจากตัวตน ก็ถูกห้ามนำมาสอน, ตถาตา-เช่นนั้นเอง ฟังดูเป็นเรื่องพูดเล่นเสียอีก ห้ามนำมาสอน, อิทัปปัจจยตา ไม่ต้องเอามาสอนประชาชน. นั่นเป็นคำพูดที่อันตรายที่สุด เพราะเรื่องอิทัปปัจจยตา คือมันเรื่องทุกสิ่งที่เป็นทุกข์และดับทุกข์ เป็นเรื่องของชีวิตจิตใจโดยตรง กลับห้ามไม่ให้นำมาสอนเสียอีก. ถ้าพูดว่ามัชฌิมาปฏิปทา ก็เห็นเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับเราชาวบ้านไปเสียอีก; ที่ จริงมันเกี่ยวตั้งแต่จุดตั้งต้นถึงจุดสุดท้าย. เรื่องสามัญญลักษณะ : อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ไม่ให้นำมาสอนกันเสียอีก, หรือมาสอน มาพูดล้อเล่นกันเสียมากกว่า.
นี้เรื่องวิสังขาร เรื่องวิสังขารที่จิตจะต้องถึงนั่นกลับมืดมน ไม่ต้องการเสียด้วย; เพราะว่าไม่ปรุงแต่งนั้น เขาไม่สนุกสนาน, เขาต้องการการปรุงแต่งที่สนุกสนาน. แล้วในที่สุดเรื่องนิพพาน นิพพานก็มืดมิด อยู่ในที่ลับในที่มืด, ไม่เอามาเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าเรารอดตัวอยู่ได้นี้ เพราะพระนิพพานน้อย ๆ. นิพพานตัวอย่างในชีวิตประจำวัน คือความเยือกเย็นที่คอยเกิดขึ้นเป็นระยะยาวพอสมควร เพื่อจะดับความร้อนที่เกิดขึ้นเป็นประจำวัน มี ความเย็นที่ควบคุมอยู่เป็นประจำวัน.
เรื่องอนัตตา หัวใจของพระพุทธศาสนา อย่าเข้าใจเป็นเรื่องพูดเล่น หรือรังเกียจ. คนหนุ่มนักศึกษาปัจจุบันมองคำว่าอนัตตาเป็นเรื่องเหลือวิสัยบ้าง, เป็นเรื่องของคนโง่คร่ำครึอยู่แต่ในวัดบ้าง, แล้วก็อ้างตัวเองจะเป็นผู้แก้ปัญหาของสังคม แก้ปัญหาของโลก นี่บรมโง่ ที่เกลียดเรื่องอนัตตา, แล้วมันตั้งตัวเป็นผู้แก้ปัญหาของสังคมหรือเรื่องของโลก.
ถ้าคนในโลก มีความรู้เรื่องอนัตตา ก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว; เมื่อไม่มีความเห็นแก่ตัว ปัญหาใด ๆ วิกฤตการณ์ใด ๆ ไม่อาจจะเกิดขึ้นในโลก เพราะไม่มีใครเห็นแก่ตัว ตัวเองก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่ทำผู้อื่นให้เป็นทุกข์; เพราะรู้เรื่องอนัตตา มิใช่ตนจนไม่มีความเห็นแก่ตน, ตัดความเห็นแก่ตนได้ ก็ด้วยความรู้เรื่องอนัตตา, ถ้าโลกมีความรู้เรื่องอนัตตาก็จะไม่มีความเห็นแก่ตนในโลกเหลืออยู่. ทำไมองค์การสหประชาชาติไม่สนใจเรื่องนี้ จะมาแก้ปัญหาของโลก มัวแต่นั่งจับปูใส่กระด้ง กี่ ชาติ ๆ มันก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่รู้ธรรมะที่จะมาแก้ปัญหาของโลกอันสำคัญ, เหตุสำคัญก็คือความเห็นแก่ตัว มันต้องสอนเรื่องอนัตตา. องค์การสหประชาชาติ ควรจะใช้สาขายูเนสโกเผยแผ่เรื่องอนัตตา ให้มากออกไป. มากออกไป ความเห็นแก่ตัวก็จะลดลง, ปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดลง จะแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น.
นี้เรื่องสุญญตา เรื่องสุญญตาก็เหมือนกัน เมื่อเห็นความว่างจากตน มันก็ลดความเห็นแก่ตน, ลดความเห็นแก่ตนแล้วความเห็นว่าตัวว่าของตัว มันจะลดความรู้สึกเลวร้ายว่าตัวกูว่าของกู ออกไปเสียได้ ด้วยความรู้เรื่องสุญญตา, แล้วมันก็ รักผู้อื่นโดยอัตโนมัติแหละ; ข้อนี้เป็นหน้าที่ของพระธรรม. เราปฏิบัติพระธรรมเพียงว่าลดความเห็นแก่ตัว ความรักผู้อื่นก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ; เดี๋ยวนี้มัวแต่สอนให้รักผู้อื่น รักผู้อื่นแต่ไม่ได้สอนให้ทำลายความเห็นแก่ตัว มันก็เรื่องละเมอเพ้อฝัน; ให้รักผู้อื่น มันต้องสอนให้รู้จักทำลายความเห็นแก่ตัว.
อาตมาชอบใจสัญญลักษณ์ของศาสนาคริสเตียนคือไม้กางเขน สัญญลักษณ์กางเขนอันยืนเป็นอัตตา เป็นตัว I, แล้วก็ตัดเสียซึ่งอัตตา คือ I นี้จะเป็นหลักการที่ช่วยโลกได้. ตัดความเห็นว่าเป็นตัวตน และความเห็นว่าของตนได้ มันก็รักผู้อื่นโดยอัตโนมัติ; ทำลายความเห็นแก่ตัวเถอะจะรักผู้อื่นโดยอัตโนมัติ.
ตถาตานี้ก็เหมือนกัน มันก็ไม่มีตน, ตถาตาไม่มีอะไรที่เป็นตน มันเป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง, เช่นนั้นเอง ตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ. ถ้าทุกคนเห็นตถาตาเช่นนั้นเองแล้ว ก็ไม่มีใครคิดเป็นเจ้าโลก; เดี๋ยวนี้มีคนคิดจะครองโลก แบ่งค่ายจะครองโลกจะช่วยกันเอาโลกมาเป็นของกู แล้วครองโลก เพราะมันไม่เห็น ตถาตา คือเช่นนั้นเอง ถ้ามีความรู้เรื่องตถาตามาแล้วคนที่คิดจะเป็นเจ้าโลกและครองโลกมันก็ไม่มี.
นี่ อาตมาจึงยืนยันว่า หัวใจยอดสุดของพระพุทธศาสนานั้นช่วยโลกได้ ตถาตา สุญญตา อนัตตา ไม่ให้เกิดความเห็นแก่ ตน มันก็รักผู้อื่นได้ เศรษฐีจะรักขอทานก็ได้ ขอทานจะรักเศรษฐีได้ กรรมกรจะรักนายทุนได้ นายทุนจะรักกรรมกรได้ แม้แต่สิงห์โตก็จะรักลูกแกะได้ ลูกแกะก็จะรักสิงห์โตได้ นี้มันจะหมดปัญหาถึงขนาดนี้ แต่เขาห้ามไม่ให้เอามาสอน เรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตา.
เราเป็นพุทธบริษัท จงเป็นให้สมชื่อ คือเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้สิ่งที่ควรจะรู้อย่างครบถ้วน สิ้นเชิงแล้วก็ตื่นจากหลับคือความโง่ มันก็เบิกบานเหมือนดอกไม้ที่บาน ไม่รู้จักโรย บานด้วยธรรมะแล้วมันเป็นการบานที่ไม่รู้จักโรย นี่มันจะมาแก้ปัญหาของโลกได้ ด้วยหัวใจของพระพุทธศาสนา คืออนัตตา คือสุญญตา คือตถาตา ถ้ามีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา จะแก้ปัญหาได้หมด ไม่ว่าปัญหาชนิดไหน ปัญหาทุกชนิดอยู่ในอำนาจของอิทัปปัจจยตา ถ้าเรามีความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา จะแก้ปัญหาได้หมด ปัญหาขี้ปะติ๋ว ปัญหาอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ จนกระทั่งเป็นปัญหาสูงสุด เป็นปัญหาของกิเลส ก็แก้ได้ ด้วยความรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา สามารถที่จะควบคุมให้เป็นไปแต่ในทางที่ดับทุกข์.
ส่วนมัชฌิมาปฏิปทานั้น ไม่ต้องพูดถึง อยู่ตรงกลาง ถ้าคนมีความรู้เรื่องมัชฌิมาปฏิปทา มันก็จะไม่โง่ ไม่หลงไปอยู่ใต้ ความหมายของสิ่งที่เป็นคู่ เดี๋ยวนี้มันโง่ มันหลง ไปอยู่ใต้อิทธิพลใต้ความหมายของสิ่งที่เป็นคู่ เช่น ชั่ว ดี บุญ บาป สุขทุกข์ นี้ มันไปหลงยึดติดในความหมายใดความหมายหนึ่งจนเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา คือว่าโดยทั่ว ๆ ไปนี้ ไปหลงติดในความหมายของคำว่า มั่งมี-ยากจน แพ้-ชนะ ได้เปรียบ-เสียเปรียบ กำไร-ขาดทุน; นี่ความหมายเหล่านี้มันครอบงำจิตใจของคนธรรมดาสามัญ ไม่ให้อยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาหรือตรงกลาง.
ศึกษาเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา รู้จักอยู่ตรงกลาง มันเป็นเช่นนั้นเองแหละ ดีหรือชั่ว มันก็เรื่องบ้าเท่ากันแหละ. นี่ขออภัยนะพูดอย่างนี้ ไม่ใช่ทำลายกำลังใจของผู้ที่จะตั้งใจทำดี, ถูกแล้ว มันยังทำอะไรมากไปกว่านั้นไม่ได้ ก็จงทำดีไปเถิด, ละชั่ว แล้วก็ทำดี, ทำดีแล้วก็อย่าบ้าดี อย่าเมาดี อย่าติดดี จึงจะเป็นพุทธศาสนา.
ฉะนั้น ผู้รู้พุทธศาสนา จึงพูดว่า ทั้งชั่ว ทั้งดี ล้วนแต่อัปรีย์; ฟังดูแล้วมันน่าสะดุ้ง ยิ่งเข้าใจคำว่าอัปรีย์ไม่ถูกต้องแล้ว ก็ยิ่งสะดุ้งเป็นการใหญ่ เพราะเรากำลังรักดี หลงดี บูชาดีกันอยู่, ท่านต้องการให้มองเห็นว่า ชั่วมันก็ยุ่งไปตามแบบชั่ว, ดีมันก็ ยุ่งไปตามแบบดี; ไม่ดีไม่ชั่วก็อยู่ตรงกลาง นั่นแหละสบายที่สุด หรือเป็นพระนิพพาน.
ความชั่วนั้นไม่ใช่ความสงบ ถูกแล้ว เห็นได้ง่าย, แต่ความดี ก็มิใช่ความสงบ เพราะมันเป็นสังขาร. ความดีก็เป็นสังขารเท่ากับความชั่ว; เมื่อเป็นสังขารก็มีการปรุงแต่ง มีสิ่งที่ปรุงแต่ง มีสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง มันก็วุ่นไปตามแบบหนึ่ง; แม้ว่าจะตรงกันข้ามกับความชั่ว มันก็มิใช่ความสงบ มันต้องเหนือดีขึ้นไปอีกทีหนึ่ง จึงจะถึงความว่าง แล้วก็เป็นความสงบ; ฉะนั้นจากชั่วถึงดี จากดีถึงความว่าง.
ทีนี้ ความว่างนั้นน่ารัก, ความชั่วความดีนั้นอัปรีย์ คือไม่น่ารัก. อัปรีย์ ตัวหนังสือแปลว่า ไม่น่ารัก : อัป แปลว่า ไม่ ปรีย์ แปลว่า น่ารัก, อัปรีย์ แปลว่า ไม่น่ารัก, ทั้งชั่ว ทั้งดีล้วนแต่ไม่น่ารัก ไปยึดมั่นถือมั่นแล้วมันกัดเอาทั้งนั้น. นั่นแหละทั้งชั่วและทั้งดี อย่าไปยึดมั่นเข้า, อยู่ตรงกลางระหว่างชั่วระหว่างดี นั่นแหละไม่ถูกกัด คือไม่เป็นทุกข์. ฉะนั้น ไม่สุขไม่ทุกข์ดี กว่า; ทุกข์มันก็ยุ่งไปตามทุกข์, สุขมันก็บ้าไปตามสุข, มันเป็นการปรุงแต่งที่นั่งก้นไม่ติดพื้นเหมือนกัน. ทั้งสุขทั้งทุกข์มันก็ล้วนแต่อัปรีย์ คือมองดูแล้วมันไม่น่ารัก, มันว่างจากความสุขความทุกข์ คือความว่างนั่นแหละ. ถ้าว่าสุขก็กระโดดโลดเต้นไปตามแบบของความสุข, ทุกข์ก็นอนร้องไห้ไปตามแบบของความทุกข์; ไม่สุขไม่ทุกข์นั้นคือว่าง นั้นน่ะคือเวลาที่เราจะเป็นสุขที่สุด. เวลาที่เราไม่รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เราจะรู้สึกเป็นสุขอีกชนิดหนึ่ง. สุขชนิดที่ไม่ค่อยมีใครรู้ จักเป็นสุขที่ไม่ประกอบด้วยเหยื่อ เป็นนิรามิสสุข เป็นโลกกุตตรสุข.
โลกุตตรสุขคือไม่สุขและไม่ทุกข์ อย่างในโลกนี้อยู่เหนือความหมายของสุขและทุกข์ทุกชนิดในโลกนี้; นี่คือมัชฌิมาปฏิปทา. อย่าไปหลงของคู่ ดี-ชั่ว แพ้-ชนะ เสียเปรียบ-ได้เปรียบ กำไร-ขาดทุน, นี้มีหลายสิบคู่นะ ซึ่งมนุษย์ในโลกหลงกันจนเป็นบ้าเป็นหลัง. ถ้าเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า มีมัชฌิมาปฏิปทา มีสัมมาทิฏฐิ; เห็นว่าตถาตา ตถาตา มึงก็อย่างนั้น กูไม่เอากับมึง, ก็เลยหลีกออกมาได้ ถอนตัวออกมาได้ เป็นความสงบสุข และอยู่ตรงกลางเป็นมัชฌิมาปฏิปทา.
ดังนั้นคำว่า มัธยัสถ์ มัธยัสถ์ ขอให้ใช้ในขอบเขตที่กว้างขวาง, อย่าเป็นเรื่องเงินเรื่องทองอย่างเดียวเลย ให้เป็นเรื่องของธรรมะทั้งหมด. มัธยัสถ์อยู่ตรงกลาง, อยู่ตรงกลาง ไม่ดี-ไม่ชั่ว ไม่สุข-ไม่ทุกข์ ไม่บุญ-ไม่บาป ไม่แพ้-ไม่ชนะ ไม่กำไร-ไม่ขาดทุน ไม่เอาเปรียบ-ไม่ถูกเอาเปรียบ ไม่อะไรทุก ๆ คู่ ทุก ๆ คู่ที่มนุษย์รู้จัก กระทั่งว่าไม่เป็นหญิงไม่เป็นชาย. คิดดู เถอะ หมดความรู้สึกในความเป็นหญิงเป็นชาย มันก็ปราศจากปัญหาในชั้นลึก, บางทีก็จะเลยไปถึงว่า ไม่ใช่คนและมิใช่ ไม่ใช่คน คือไม่เป็นทั้งคนและทั้งมิใช่คน, ไม่เป็นอะไรไปหมดทุกอย่าง เป็นความว่าง, เป็นความว่าง นั่นสภาพเดิมแท้ คือความว่าง; สภาพเดิมแท้เป็นความว่าง ถูกปรุงแต่งเป็นความวุ่น, สุดเหวี่ยงเข้ามันก็กลับเป็นความว่าง.
ฉะนั้น ชีวิตตั้งต้นด้วยความว่าง ไม่มีตัวตน; คลอดออกมาจากท้องแม่ มันมีตัวตน ๆ มีตัวตน; แล้วมันจะดับทุกข์ได้ ก็ ต้องกลับไปสู่ความว่าง อีกทีหนึ่ง; แต่เป็นความว่างที่กลับวุ่นไม่ได้. ทีแรกมันเป็นความว่างที่วุ่นได้ ครั้นวุ่นได้ แล้วก็ทำให้หายวุ่น, เป็นความว่าง เป็นพระนิพพาน ว่างอย่างธรรมชาติธรรมดาที่ยังปรุงแต่งได้ มันไม่ใช่ว่างจริง เพราะมันว่างชนิดที่วุ่นได้ นี้ต้องอบรมจิตประภัสสรชนิดนี้ยิ่งขึ้น ๆ ๆ จนเป็นประภัสสรถาวร ก่อนนี้ประภัสสรชั่วคราว คือกลับวุ่นได้ ทีนี้อบรม ๆ อบรมตามหลักธรรมะ จนประภัสสรถาวรเป็นพระอรหันต์ ประภัสสรถาวรคือจิตพระอรหันต์ ประภัสสรชั่วคราว ล้มลุกคลุกคลานนั้นเป็นประภัสสรของปุถุชน หรือตามธรรมชาติจิตเป็นประภัสสร ก็เรียกว่ามันตั้งต้นจากประภัสสร ไปสู่ความวุ่นแล้วมันก็กลับไปสู่ประภัสสรถาวรนี้ก็เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่เราจะต้องรู้จัก.
หัวใจพระพุทธศาสนา เรื่องสามัญญลักษณะนี้ คนหนุ่มนักศึกษาสมัยปัจจุบันเห็นว่าเป็นของยายแก่ครึคระ; รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นแหละ มันจะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเพื่อน, เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายกันได้. เรามี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา บีบคั้นย่ำยีอยู่ตลอดเวลา เราเป็นเพื่อนกัน มีหัวอกอย่างเดียวกัน มีทุกข์อย่างเดียวกัน หรือสุข ๆ ทุกข์ ๆ อย่างเดียวกัน, เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็จะเห็นอกเห็นใจกัน, กลายเป็นคนคนเดียวกัน จนกระทั่งว่าชีวิตทั้งหมด ทั้งสัตว์มนุษย์เดรัจฉาน ต้นไม้ต้นไล่ ชีวิตทั้งหมดเป็นชีวิตเดียวกัน มันก็ปลอดภัย ก็รอดตัว.
ทีนี้มาถึงคำว่าวิสังขารคตจิต, วิสังขารคตัง-จิตที่ถึงวิสังขาร จิตอบรมดีแล้ว อะไรปรุงแต่งให้เป็นอย่างไรไม่ได้ ไม่เกิดความรู้สึกเป็นชั่ว-เป็นดี เป็นบุญ-เป็นบาป เป็นสุข-เป็นทุกข์ แก่จิตนั้นอีกต่อไป. จิตนั้นดำรงอยู่ในสภาพอะไรปรุงแต่งไม่ได้, ปรุงแต่งไม่ได้; อันนี้ก็คือพระนิพพานนั่นแหละ; เมื่อถึงวิสังขารก็สัมผัสกับพระนิพพาน อะไรปรุงแต่งไม่ได้.
คำว่าพระนิพพานนั้น เป็นสิ่งที่ถึงได้ สัมผัสได้ รู้ได้; พระพุทธเจ้าทรงยืนยันข้อนี้อย่างหนักแน่นที่สุดว่า อตถิ ภิกขเว ตทายตน - อายตนะนั้นมีอยู่ ซึ่งท่านหมายถึงนิพพาน. ท่านจึงตรัสว่า มันมิใช่ดิน มิใช่น้ำ มิใช่ไฟ มิใช่ลม มิใช่อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ มิใช่การไป มิใช่การมา มิใช่การหยุด, คือมิใช่อะไรทุกอย่าง นั่นแหละคือพระนิพพาน ที่จะลุถึงได้, สัมผัสได้ ด้วยจิตที่เป็นวิสังขารคต, ถึงแล้วซึ่งความเป็นจิตที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้ มันก็ปรุงแต่งไม่ ได้ ปรุงแต่งไม่ได้. จิตชนิดนี้จะไม่มีอะไรมาโฆษณาชวนเชื่อให้หลงไปได้, และไม่มีอะไรเป็นของแปลกด้วย. จิตที่ถึงภาวะที่ปรุงแต่งไม่ได้นี้ มันจะรู้สึกไม่มีอะไรถูกปรุงแต่ง; ฉะนั้นการไปโลกพระจันทร์หรืออะไรน่าประหลาดน่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นสักร้อยเท่าพันเท่า. จิตนี้ก็รู้สึกว่าเป็นของเด็กเล่นอยู่นั่นแหละ, ไม่มีอะไรมายั่วให้จิตรู้สึกประหลาดหรืออัศจรรย์ใด ๆ ได้. นี่จิตของพระอรหันต์จะไม่มีความรู้สึกประหลาดใจอะไรได้; ส่วนจิตของปุถุชนนี้แม้แต่ดาวหางฮัลเล่ย์ ก็ทำให้บ้ากันทั้งบ้านทั้งเมือง, มันปรุงแต่งได้อย่างนี้.
ฉะนั้นขอให้มุ่งหมายถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาว่าจิตอยู่ในสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้ แล้วก็เป็นนิพพาน คือสภาวะที่เป็นอายตนะ. คำว่า อายตนะ นั้นมันแปลว่า สิ่งที่สัมผัสได้; อายตนะชั้นทั่วไป คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เป็นสิ่งที่จิตสัมผัสได้ จึงเรียกมันว่าอายตนะ ๖ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์, นี้โดยพื้นฐาน ที นี้อายตนะที่สัมผัสได้ดีไปกว่านั้น สูงไปกว่าระดับธรรมดาก็คืออากาสานัญจายตนะ, วิญญานัญจายตนะ, อากิญ จัญญายตนะ, เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี้ก็เป็นอายตนะที่สัมผัสได้ แต่เป็นสังขาร ยังเป็นสังขาร. แล้วมีอายตนะชั้นวิสังขารคือพระนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อตถิ ภิกขเว ตทายตน, อายตนะนั้นมีอยู่; ถ้าเรารู้เรื่องอายตนะอย่างถูกต้อง เราก็จะรู้จักอายตนะตามธรรมชาติ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์, นี่เป็นอายตนะชั้นที่เป็นความรู้. การศึกษาของคนยุคหนึ่งที่เรียกว่าดีเลิศ คืออรูปฌานทั้ง ๔; แต่ถ้าอย่างของพระพุทธเจ้าแล้ว มีพระนิพพานอย่างเดียว เป็นอายตนะสูงสุด ๑๐๑ ที่ต้องเข้าถึงให้ได้.
ฉะนั้น ขอให้เราเข้าถึงภาวะที่จิตใจมีอะไรปรุงแต่งไม่ได้ ไม่มีอะไรน่ารัก น่าโกรธ น่าเกลียด น่ากลัว น่าวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวงเป็นต้น, ไม่มีอะไรแปลก ไม่มีอะไรน่าเกลียด ไม่มีอะไรน่ากลัว ไม่มีอะไรน่ารัก ไม่มีอะไรน่าอัศจรรย์, ไม่มีอะไรน่าอัศจรรย์ แม้แต่ความรู้ความคิดเรื่องอวกาศ เรื่องปรมาณู อะไรอีกร้อยเท่าพันเท่า ก็เป็นของเด็กเล่น, ไม่น่าอัศจรรย์สำหรับบุคคลผู้มีจิตลุถึงแล้วซึ่งวิสังขารคตะ คือจิตถึงแล้วซึ่งวิสังขาร; นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นผลของการปฏิบัติ, ยอดสุดของหัวใจของพุทธศาสนาในชั้นที่เป็นผลของการปฏิบัติ.
เราจงรู้จักหัวใจในขั้นปริยัติ สอนเรื่องความหลุดพ้น, รู้จักหัวใจในขั้นปฏิบัติ คือปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น. รู้จักหัวใจแห่งผลของการปฏิบัติ คือปฏิเวธว่าหลุดพ้นแล้ว มันเป็นเรื่องหลุดพ้นอย่างเดียว, หลุดพ้นอย่างเดียว; ทำให้หลุดพ้นอย่างเดียว จะเป็นความรู้ก็ได้, เป็นการปฏิบัติก็ได้, เป็นผลของการปฏิบัติก็ได้, ก็เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาทั้งนั้น.
ดังนั้นขอให้มีความรู้เรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนากันอย่างนี้ สำหรับพุทธบริษัทเราทุกคน ที่จะต้องเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตน ๆ. ส่วนศาสนาอื่น ศาสนิกของเขาก็เข้าถึงหัวใจของศาสนาของเขาไปตามเรื่องตามราว; แต่เรา พวกเราที่ เป็นพุทธบริษัทนี้ ขอให้เข้าใจถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา กันในลักษณะอย่างนี้เถิด, จะเป็นพุทธบริษัทเต็มตัว หรือว่าค่อย ๆ เต็ม ค่อย ๆ เต็ม ค่อย ๆ เต็มจนเต็มตัว นี่ความสำคัญที่จะต้องรู้จักหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา อาตมาจึงได้ยกเอาขึ้นมาเป็นปณิธานข้อแรก, ข้อแรกให้ทุกคนเข้าใจถึงหัวใจแห่งศาสนาของตน แล้วก็จะหมดปัญหา.
นี่ การบรรยายในวันนี้ ก็บรรยายขยายความเรื่องปณิธานข้อแรก ให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตน ๆ หวังว่าท่านทั้งหลายที่ได้มาร่วมประชุมกัน ให้ของขวัญแก่อาตมา งดอาหารกันเสียวันหนึ่งนี้ ก็ขอให้มันรวมอยู่ในการประพฤติ ปฏิบัติ ที่จะเข้าถึงหัวใจแห่งพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น. เห็นไหมว่า มันไม่ตายดอก, แล้วมันก็คลายความยึดมั่นถือมั่นลงไปได้ไม่น้อยเหมือนกัน คือจะไม่แยแสกับกิเลสตัณหาหรือความเคยชินของกิเลสตัณหา; วันนี้ล้อมันเล่น ล้ออายุมันเล่นเสียด้วยการไม่กินอาหารเสียสักวันหนึ่ง, หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้รับประโยชน์ จากการกระทำบุญชนิดที่เรียกว่า ล้ออายุ ล้อเลียนอายุ ที่มันน่าล้อด้วยกันได้จงทุก ๆ คนเถิด, จะได้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระพุทธศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา, มีความก้าวหน้าในทุกวิถีทาง มีความสุขสวัสดีอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ.
ขอยุติการบรรยายภาคเช้า.