ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อดีของความผิดหวังผิดหวังบ้างก็ดีเหมือนกัน  (อ่าน 990 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ 時々होशདང一རພຊຍ๛

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1011
  • พลังกัลยาณมิตร 1119
  • แสงทองส่องฟ้าคือชีวิต
    • ดูรายละเอียด

ชาวจีนมีภาษิตที่พูดกันติดปากอยู่บทหนึ่งว่าพอจะแปลความหมายเป็นภาษาไทยได้ว่า สิ่งที่ไม่สมหวังในชีวิต มักจะมีถึงแปดเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ ภาษิตบทนี้ เป็นข้อสรุปจากบทเรียนในชีวิตของชาวจีน ซึ่งใครที่ได้ฟังก็มักจะใจหายห่อเหี่ยว และรู้สึกว่าออกจะเป็นการมองโลกในแง่ลบมากไปสักหน่อย แต่เมื่อผมผ่านโลกมาจนถึงวัยนี้ และหันหลังกลับไป ทบทวนดู กลับพบว่าภาษิตบทนี้มีความลึกซึ้งกินใจ หากผู้ได้รับฟังมีอายุสี่สิบปีขึ้นไป ฟังแล้วน่าจะมีความรู้สึกเห็นพ้องไปด้วย เพราะคงจะได้ประสบกับสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองมามากพอ ส่วนผู้ที่มีอายุเพิ่งย่างเข้าสามสิบ ก็อยากให้รับฟังไว้เป็นคติเตือนใจก่อนที่จะได้พิสูจน์ความจริงของภาษิตบทนี้ด้วยตัวเอง

ผมคิดว่าคนที่ประสบความผิดหวังแปดเก้าครั้งในสิบครั้ง กลับเป็นเรื่องที่ดีเพราะเสมือนหนึ่งได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต อย่างแท้จริง เขาจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่า การไม่สมหวังนั้นก็มีเหตุผลในตัวของมันเองอยู่ ตั้งแต่เริ่ม ตั้งความหวังก็เกิดจากการคิดเองเออเองไปตามความอยากได้ใคร่มีต่าง ๆ โดยขาดประสบการณ์ชีวิตมากพอที่จะคัดกรองว่าเหมาะควรหรือไม่ ความหวังส่วนใหญ่จึงไม่สำเร็จอย่างที่คาดหวัง เพราะขาดเงื่อนไขและเหตุปัจจัยต่าง ๆ ช่วยสนับสนุน แต่ความผิดหวังต่าง ๆ เหล่านี้คือแบบฝึกหัดให้เขาได้ฝึกฝน จนเข้าใจวิธีตั้งความหวัง และการสร้างเหตุปัจจัยให้ความหวังนั้นบรรลุผล 
 
ตรงกันข้าม คนที่สมหวังแปดเก้าสิบเปอร์เซ็นต์อยู่เป็นประจำ เช่น ลูกคนมีอำนาจหรือร่ำรวย ทั้งพ่อแม่และคนอื่นๆที่หวังประโยชน์ก็จะคอยประเคนเอาใจ คนเหล่านี้เมื่อได้สิ่งต่างๆมาง่ายเกินไปก็จะไม่รู้ค่า ตั้งแต่เกิดจนตายไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ชีวิตที่แท้จริง ถ้าวันใดที่คนเหล่านี้โชคร้าย เมื่อผู้ที่คอยค้ำจุนช่วยเหลือมีอันต้องแปรเปลี่ยนอย่างรุนแรงและรวดเร็ว คนเหล่านี้จะปรับตัวได้ยากลำบากมาก อาจถึงขั้นนำพาชีวิตตัวเองไปไม่รอดเพราะไม่เคยได้เตรียมพร้อมมาก่อน 
 
ในครอบครัวที่ต่อสู้สร้างฐานะจนร่ำรวยในรุ่นพ่อ ถ้าเป็นลูกคนโตก็ยังพอได้เห็นได้ร่วมรับรู้ความยากลำบาก และความพลั้งพลาดผิดหวังของบุพการีมาบ้าง เป็นผลให้ลูกคนโตส่วนใหญ่สามารถเป็นหลักให้แก่ครอบครัวในรุ่นต่อไปได้ แต่ถ้าเป็นลูกคนถัด ๆ ไปมักจะไม่มีโอกาสได้เข้ามาใกล้ชิดกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับพี่คนโต เมื่อครอบครัวเริ่มมีฐานะ ลูกคนรองๆ ลงไปจนถึงลูกคนสุดท้อง มักจะถูกส่งไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศจนจบปริญญาโท ปริญญาเอกแล้วจึงกลับมาช่วยกิจการของครอบครัว โดยไม่เคยผ่านชีวิตการเป็นลูกจ้างระดับล่างในองค์กรอื่นมานานพอทำให้มองทุกอย่างง่ายไปหมด ไม่มีความอดทนรอบคอบ ทำอะไรก็เอาแต่ใจตัวเองเป็นหลัก
 
หากได้เป็นหัวหน้าคนก็เป็นหัวหน้าที่ไม่น่ารัก หลงตัวเองว่าเก่งเลอเลิศ เพราะไม่มีโอกาสทำอะไรที่ล้มเหลวมาก่อน เมื่อตำแหน่งสูงขึ้นก็ทำความผิดพลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางคนถึงกับทำให้กิจการที่บรรพบุรุษสร้างมาด้วยความเหนื่อยยากต้องยับเยินป่นปี้ลงไปด้วยน้ำมือของตัวเอง เพราะความเหิมเกริมและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งน่าเสียดายเหลือเกิน
 
ผมหวนนึกถึงถ้อยคำของปรมาจารย์ขงจื๊อที่ว่าอายุสามสิบ ยืนหยัดมั่นคง อายุ่สี่สิบ กระจ่างแจ้งในชีวิต อายุห้าสิบ ล่วงรู้ความลับสวรรค์   
 
คงจะหมายถึง อายุสามสิบเริ่มมีประสบการณ์ชีวิต มีทิศทางและเป้าหมายที่แน่นอน เมื่อถึงอายุสี่สิบผ่านประสบการณ์มามากพอ ก็จะไม่ถูกตัวเองครอบงำ รู้จักตั้งความหวังในสิ่งที่เป็นไปได้จึงผิดหวังน้อยลง ๆ ส่วนอายุห้าสิบจะตระหนักในสัจธรรมของชีวิต รู้ว่าตัวเองควรจะทำอะไรมากกว่าหวังว่าตัวเองจะได้อะไร การทำประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่นคือการสร้างบารมี และในที่สุดสังคมจะย้อนกลับมาตอบแทนเขาเองโดยไม่ต้องเรียกร้อง
 
ผู้ที่เตือนสติตัวเองอยู่เสมอด้วยภาษิตข้างต้น เมื่อผิดหวังก็จะไม่ส่งผลรุนแรงจนเกิดความท้อแท้ แต่จะเกิดการเรียนรู้และหาวิธีแก้ไขเหตุแห่งความผิดหวังเพื่อมิให้ซ้ำรอยเดิมอีก เมื่อผ่านกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้จนถึงวัยห้าสิบก็เสมือนหนึ่งเรียนจบหลักสูตร ได้รับปริญญาชีวิต ติดตัวไปตลอด เป็นภูมิคุ้มกันทางใจให้ไกลจากความทุกข์ สามารถมีความสุขในทุกสถานการณ์ แม้ว่าต้องเผชิญกับความผิดหวังถึงเก้าในสิบครั้งก็ตาม


ที่มา วารสาร เพชร ซีพี ออลล์

โดย คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 30, 2020, 07:36:51 pm โดย 時々होशདང一རພຊຍ๛ »
ชิเน กทริยํ ทาเนน