ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมนูญชีวิต ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  (อ่าน 981 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ธรรมนูญชีวิต ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

เรื่อง ภัทรภี  พุทธวัณณ  
ภาพ หนังสือ “วิถีแห่งปราชญ์ (ฉบับสมบูรณ์)”  
ภาพประกอบ รุจิกร ธงชัยขาวสอาด


เมื่อเอ่ยนาม “พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์  ปยุตฺโต)”  หรือที่รู้จักกันในนามปากกา “ป.อ. ปยุตฺโต” คำจำกัดความที่ถูกหยิบยกมาอธิบายนั้นคงหลากหลายกันไป  ไม่ว่าจะเป็น…

- พระสงฆ์ผู้สามารถสอบได้นักธรรมเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร

- พระนักวิชาการ นักคิด  นักเขียนงานทางวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก  รวมถึงงานชิ้นโบแดงที่ได้รับการยอมรับว่าทรงคุณค่ายิ่งอย่าง“พุทธธรรม” และ “ธรรมนูญชีวิต” จากผลงานจำนวนกว่า 100 เล่ม

- เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน  อำเภอสามพราน  จังหวัดนครปฐม

- ศาสตราจารย์พิเศษ  ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

- คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพจากองค์การยูเนสโก(UNESCO Prize for Peace Education) ฯลฯ

ด้วยข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมดก็คงเพียงพอและไม่ถือเป็นการเกินเลยเมื่อสื่อหลายแขนงได้ให้คำจำกัดความที่สามารถสรุปความเป็นตัวท่านได้อย่างตรงจุดและครอบคลุมว่า “ปราชญ์แห่งพระพุทธศาสนา” ผู้ซึ่งมีวิถีแห่งปราชญ์ที่น่าทึ่งและควรค่าแก่การเคารพยกย่อง…นับตั้งแต่จุดกำเนิดเมื่อกว่า 7 ทศวรรษก่อนหน้านี้



ชาติภูมิ

ย้อนกลับไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม  พ.ศ. 2481  ณ บ้านใกล้ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันออก (แม่น้ำสุพรรณบุรีในปัจจุบัน)  บริเวณตลาดศรีประจันต์อำเภอศรีประจันต์  จังหวัดสุพรรณบุรี

ลูกคนที่หกของครอบครัวอารยางกูรได้ถือกำเนิดขึ้น  หลังจากที่มีลูกผู้ชายมาแล้ว5 คน  และลูกสาวอีก 1 คนซึ่งเสียชีวิตไปเมื่ออายุเพียง 1 ขวบเท่านั้น  โดย นายสำราญและ นางชุนกี  ผู้เป็นคุณพ่อคุณแม่ได้ตั้งชื่อให้สมาชิกใหม่ผู้นี้ว่า “ประยุทธ์”

ถึงแม้ว่าเด็กชายประยุทธ์จะเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะมั่นคงจากกิจการมากมายไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าขายผ้าแพร  ผ้าไหมขายของชำ  และโรงสีไฟขนาดกลางซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 10 ไร่  แต่เส้นทางชีวิตของเขาก็ต้องพบกับบททดสอบอันหนักหนาสาหัสมาตั้งแต่เล็ก

ด้วยวัยเพียงไม่ถึงขวบ  เด็กชายประยุทธ์ก็ล้มป่วยด้วยโรคทางเดินอาหารมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงจนแทบจะเสียชีวิต  และแม้ว่าจะได้รับการรักษาจนกระทั่งหายดี  โรคร้ายนั้นก็ยังทิ้งร่องรอยเอาไว้ในร่างกายของเด็กน้อย  จนกลายเป็นคนที่มีสภาพร่างกายไม่แข็งแรง  ป่วยกระเสาะกระแสะจนเกือบตลอดชีวิต

ไม่เพียงเท่านั้น  ในช่วงเวลาหลังจากที่หายป่วยจากอาการท้องร่วงไม่นานนักนางชุนกีก็พลันล้มป่วยด้วยโรคเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์  ส่งผลให้ต้องถูกส่งไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช  ซึ่งอยู่ไกลจากบ้านเกิดนับร้อยกิโลเมตร  ทั้งยังต้องพักรักษาตัวอีกเป็นเวลาหลายเดือน  ส่งผลให้ลูกน้อยจำหน้าแม่ไม่ได้  จนต้องสร้างความคุ้นเคยกันใหม่อีกครั้ง

เด็กชายประยุทธ์เติบโตมาโดยได้รับการอบรมจากคุณพ่ออย่างใกล้ชิด  และได้รับอุปนิสัยที่ดีงามมาจากแม่  ขณะเดียวกันเขาก็มีความเป็นผู้นำ  มีเหตุมีผล  รักความยุติธรรม  เคร่งครัดในระเบียบวินัย  และใฝ่ศึกษาเป็นอย่างมาก  ซึ่งทั้งหมดถือเป็นจุดเด่นของเขาตั้งแต่ยังเด็ก  ทั้งยังยิ่งเด่นชัดขึ้นเมื่อเริ่มเจริญวัย

นอกจากนั้นด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนมีความคิดก้าวหน้า  เนื่องจากเคยบรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระสงฆ์  ทั้งยังสอบได้เปรียญธรรม5 ประโยค  ท่านจึงให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาและสนับสนุนลูก ๆ ทุกคนในด้านนี้อย่างเต็มที่  และลูกชายคนนี้ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เป็นพ่อต้องผิดหวังหรือกังวลใจใด ๆเพราะเด็กชายประยุทธ์เป็นเด็กที่เรียนเก่งหาตัวจับยาก  หลังจากที่เรียนจบระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลชัยศรี-ประชาราษฎร์  คุณพ่อสำราญก็ได้พาลูกตัวน้อยไปเรียนต่อระดับมัธยมในพระนคร(กรุงเทพฯในปัจจุบัน) ที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา  โดยคุณพ่อได้ฝากให้ลูกชายพักอยู่กับพี่ ๆ ที่วัดพระพิเรนทร์  ซึ่งขณะนั้นพระศรีขันธโสภิต เป็นเจ้าอาวาส (ภายหลังได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพคุณาธาร)

หลังจากต้องจากบ้านมาเรียนในเมืองหลวงได้ไม่นาน  เด็กชายประยุทธ์ก็ได้รับทุนเรียนดีจากกระทรวงศึกษาธิการจนถึงชั้นมัธยมศึกษาต้น  นอกจากใฝ่เรียนแล้ว  เขายังชอบนำความรู้มาถ่ายทอดต่อให้น้อง ๆ  โดยทุกครั้งที่กลับบ้านเกิดในช่วงปิดเทอม  เขาก็จะชวนน้อง ๆ มาเล่นสอนหนังสือกัน  โดยใช้พื้นที่และอุปกรณ์ของโรงเรียนบำรุงวุฒิราษฎร์ที่ในเวลานั้นไม่มีผู้ใช้งานแล้ว (โรงเรียนบำรุงวุฒิราษฎร์เป็นโรงเรียนมัธยมแห่งแรกของอำเภอศรีประจันต์  ซึ่งคุณพ่อสำราญได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เด็ก ๆ ที่พ่อแม่ไม่มีกำลังส่งไปเรียนต่อพระนคร  ได้มีโอกาสเรียนในระดับมัธยมก่อนจะปิดตัวลงเมื่อมีโรงเรียนมัธยมแห่งใหม่ขึ้นมา)

อย่างไรก็ดี  การ “เล่น” สอนหนังสือของเด็กชายประยุทธ์ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นการเรียนการสอนแบบจริงจัง  โดยเขาจะนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาถ่ายทอดให้กับน้อง ๆ  รวมถึงเด็ก ๆ ในละแวกบ้าน  ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์  จริยธรรมประวัติศาสตร์  วรรณคดี  ไปจนถึงการเล่นละคร  ซึ่งคุณครูประยุทธ์ของบรรดาลูกศิษย์ตัวน้อยเป็นผู้เขียนบท  ผู้กำกับ  พร้อมทั้งร่วมแสดงด้วยเสร็จสรรพ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสามก๊ก  ตอน โจโฉแตกทัพเรือ  ซึ่งเขารับบทขงเบ้ง  หรือเรื่อง รามเกียรติ์  ในบทท้าวมาลีวราช  เป็นต้น

ขณะเดียวกันเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นเด็กชายประยุทธ์ก็เริ่มให้ความสนใจในศาสตร์อีกแขนงหนึ่งซึ่งยังคงติดตัวมาโดยตลอดนั่นคือเรื่องของเครื่องใช้ไฟฟ้า  หลังจากที่มีความรู้เรื่องไฟฟ้าบ้างเล็กน้อย  เขาก็เริ่มนำไฟฉายที่เสียมารื้อซ่อมใหม่  และได้ลองดัดแปลงตะเกียงลานให้ใช้งานได้นานขึ้น  จนภายหลังเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่  เขาเคยกล่าวว่า  เขาคงจะเป็นนักประดิษฐ์ไปแล้ว  หากชีวิตไม่ได้ก้าวไปสู่อีกเส้นทางหนึ่งเสียก่อน…นั่นคือเส้นทางธรรม

(ขอขอบคุณ : คุณบุปผา  คณิตกุลสำหรับข้อมูลด้าน “ชาติภูมิ”)



บนเส้นทางธรรม

ชีวิตของเด็กชายประยุทธ์ที่กำลังโลดแล่นไปบนเส้นทางการศึกษาต้องมีอันหยุดชะงักลง  เมื่ออาการท้องร่วงได้กลับมากำเริบอย่างหนัก  ประกอบกับร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง  มีอาการเจ็บป่วยเรื่อยมา

ด้วยสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์  คุณพ่อกับพี่ชายจึงได้เสนอแนะและสนับสนุนให้ลูกชายคนเล็กก้าวไปอยู่ในเพศบรรพชิต  เพราะเห็นว่าน่าจะเอื้ออำนวยต่อการศึกษาได้มากกว่า  ด้วยเหตุนี้เด็กชายวัยเพียง 13 ปีคนนี้จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร  และก้าวเข้าสู่ทางธรรมอย่างเต็มตัว  ตั้งแต่วันที่ 10พฤษภาคม  พ.ศ. 2494  ณ วัดบางกร่าง  ที่บ้านเกิด  และย้ายไปอยู่ที่วัดปราสาททองอำเภอเมืองฯ  จังหวัดสุพรรณบุรี  เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม  รวมทั้งได้ฝึกวิปัสสนากรรมฐานในอีกหนึ่งปีต่อมา  ก่อนจะจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์  กรุงเทพมหานคร  จนสอบได้นักธรรมเอก  นับเป็นสามเณรรูปที่ 4 ในสมัยรัตนโกสินทร์  และเป็นรูปที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบันที่สามารถสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้

นอกเหนือจากการสนับสนุนของคุณพ่อและครอบครัว  แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้สามเณรน้อยสามารถดำเนินชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์ได้ยาวนานทั้งที่ยังอยู่ในวัยแรกรุ่นนั้น  ก็เนื่องจากการได้อ่านนวนิยายอิงธรรมะของ อาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ใต้ร่มกาสาวพัสตร์, กองทัพธรรม  หรือ อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก  จึงทำให้รู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

หลังจากนั้นท่านจึงได้อุปสมบทสมความตั้งใจ  โดยเป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์  เมื่อวันที่ 24กรกฎาคม พ.ศ. 2505  ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  มี สมเด็จ-พระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จ-พระสังฆราช (ปลด  กิตฺติโสภโณ)เป็นพระอุปัชฌาย์  และได้รับฉายาว่า “ปยุตฺโต”  แปลว่า  “ผู้เพียรประกอบแล้ว”

หลังจากนั้นพระปยุตฺโตก็เพียรศึกษาอย่างจริงจัง  จนกระทั่งได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต  เกียรตินิยมอันดับ 1  จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ก่อนหน้าที่ชีวิตบนเส้นทางธรรมของท่านจะเจริญก้าวหน้าเรื่อยมานับจากนั้น



ธรรมนิพนธ์

นับจากที่พระพรหมคุณาภรณ์(สมณศักดิ์ในปัจจุบัน) เริ่มเข้าสู่ร่มกา-สาวพัสตร์  ท่านก็ได้เรียนจนจบปริญญา

จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  จากนั้นท่านก็ได้เริ่มต้นงานสอนในแผนกบาลีเตรียมอุดมศึกษา  และยังได้เป็นอาจารย์สอนในชั้นปริญญาตรี  สาขาพุทธศาสตรบัณฑิต  ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอีกด้วย

ในขณะเดียวกันท่านยังมีงานบรรยายในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ  และได้เข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการกับนักวิชาการและปัญญาชนร่วมสมัยอย่างสม่ำเสมอ  ทั้งยังได้รับอาราธนาไปบรรยายทางวิชาการด้านพุทธศาสนาในต่างประเทศอีกด้วย  รวมถึงได้เดินทางร่วมคณะไปกับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยวอุปเสโณ)  และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง  วรปุญฺโญ)  นับเป็นย่างก้าวแรก ๆ ของการเผยแผ่พุทธศาสนาไทยในต่างแดน  ที่ต่อมาได้พัฒนาเป็นโครงการพระธรรมทูตในปัจจุบัน

นอกจากนั้นพระพรหมคุณาภรณ์ก็ยังมีงานเผยแผ่พุทธศาสนาผ่านการแสดงธรรมและการเขียนหนังสือนับร้อยเล่ม ซึ่งล้วนเป็นที่ยกย่องทั้งในประเทศและทั่วโลกว่าเป็นผลงานชั้นเยี่ยมที่ทรงคุณค่าอย่างอเนกอนันต์

ในที่นี้ Secret จะขอนำแนวคิดและแนวทางคำสอนของท่านเกี่ยวกับเรื่องราวร่วมสมัยที่น่าสนใจมาสรุปสั้น ๆ และเรียบเรียงเพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้
 

ชีวิตและการทำงาน

งานนั้นไม่ใช่เป็นตัวเรา  และก็ไม่ใช่เป็นของเราจริง  แต่งานถือเป็นกิจกรรมของชีวิต  เป็นกิจกรรมของสังคม  เป็นสิ่งที่ชีวิตของเราเข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้อง  แล้วก็ต้องผ่านกันไปในที่สุด  งานนั้นเราไม่สามารถทำให้สมบูรณ์ได้แท้จริง  เพราะล้วนขึ้นกับสิ่งอื่น  เช่น  ปัจจัยแวดล้อม กาลเทศะความเปลี่ยนแปลงของสังคม  และเป็นสิ่งที่คนอื่นจะต้องมารับช่วงทำกันต่อไป  ต่างกับชีวิตของเราแต่ละคน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้สมบูรณ์ได้ด้วยการปฏิบัติงานอย่างถูกต้องเมื่อเราปฏิบัติต่องานหรือทำงานอย่างถูกต้องมีทีท่าของจิตใจต่องานถูกต้องแล้ว  ชีวิตจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ในตัวในแต่ละขณะภาวะที่ชีวิต งาน  และธรรม ประสานกลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว แยกได้เป็น 2 ระดับ  คือ

ระดับที่หนึ่ง  การทำงานที่ชีวิตจิตใจกลมกลืนเข้าไปในงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  พร้อมทั้งมีความสุขพร้อมอยู่ในตัว  แต่กระนั้นลึกลงไปในจิตใจก็ยังมีความยึดติดถือมั่นในงานที่ทำ  ถือเป็นการแฝงเอาเชื้อแห่งความทุกข์ซ่อนไว้ลึกภายใน

ส่วนในอีกระดับหนึ่ง  ความประสานกลมกลืนของชีวิตจิตใจกับงานที่ทำ พร้อมไปด้วยความรู้เท่าทันตามความเป็นจริงในธรรมชาติของชีวิตและการงานที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยโดยไม่ต้องอยาก ไม่ต้องยึดถือสำคัญมั่นหมายให้นอกเหนือหรือเกินไปจากการกระทำตามเหตุผลด้วยความตั้งใจและเพียรพยายามอย่างจริงจัง  เรียกได้ว่าชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงาน  แต่เป็นอิสระอยู่เหนืองานนั่นเอง

เรียบเรียงจาก

งานเพื่อความสุขและแก่นสารของชีวิต, บริษัทสหธรรมิก จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 2 2537, หน้า 66 - 67 และ 68 - 69




การศึกษา

การพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นความหมายที่แท้ของการศาสนา…การศึกษานั้นเป็นทั้งตัวการพัฒนาและเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนา  คือเป็นการพัฒนาตัวบุคคลขึ้นไป  โดยพัฒนาตัวคนทั้งคนหรือชีวิตทั้งชีวิต  เมื่อผู้เรียนมีการศึกษาแล้วก็จะเอาคุณสมบัติที่ตัวมีซึ่งเกิดจากการศึกษาไปเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ

จุดมุ่งหมายของการศึกษาก็เพื่อพัฒนาครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ

1. พัฒนากาย  โดยนอกจากจะพัฒนาร่างกายให้มีสุขภาพดีแล้ว  ในทางพุทธศาสนายังหมายรวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ดีงาม  ด้วยการพัฒนากายที่เรียกว่า  กายภาวนา

2. พัฒนาศีล  หรือพัฒนาการทางสังคม  ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ทางพระว่า  ศีลภาวนา

3. พัฒนาจิต  หรือจิตตภาวนาเพื่อให้พร้อมสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ 3 ด้านคือ  คุณภาพจิต  สมรรถภาพจิต  และสุขภาพจิต

4. พัฒนาปัญญา  เรียกว่า  ปัญญาภาวนา  แบ่งได้เป็น

- ปัญญาขั้นแรก  คือ  ปัญญาที่เป็นความรู้ความเข้าใจในศิลปวิทยาการ

- ปัญญาขั้นสอง  คือ  การรับรู้เรียนรู้อย่างถูกต้อง

- ปัญญาขั้นสาม  คือ  การคิด การวินิจฉัยด้วยการใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ใจ

- ปัญญาขั้นสี่  คือ  ปัญญาที่รู้เข้าใจถึงสาระแห่งความเป็นไปของโลกและชีวิต

- ปัญญาขั้นห้า  คือ  ปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมดาของสังขาร  คือโลกและชีวิต

เรียบเรียงจาก

- การศึกษาที่สากลบนฐานแห่งภูมิปัญญาไทยโครงการตำราและเอกสารทางวิชาการคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2532, หน้า 70 - 71

- การศึกษา : เครื่องมือพัฒนาที่ยังต้องพัฒนา, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, พิมพ์ครั้งที่ 4 2536, หน้า 95 - 105


 

ความรัก

ความรักในความหมายที่แท้คือ  การอยากเห็นเขาเป็นสุข  เหมือนอย่างพ่อแม่รักลูก  ก็คืออยากเห็นลูกเป็นสุข  แต่ยังมีความรักอีกแบบหนึ่งคือ  ความรักที่อยากได้เขามาทำให้ตัวเป็นสุข  อย่างนี้ไม่ใช่รักจริงแต่เป็นความรักเทียม  ซึ่งก็คือราคะ  ดังนั้นจึงสามารถแบ่งความรักได้ 2 ประเภท  คือ

1. ความรักที่อยากได้เขามาทำให้ตัวเราเป็นสุข  ความรักแบบนี้อาจจะทำให้คนอื่นเป็นทุกข์  หรือต้องมีการแย่งชิงกัน

2. ความรักที่อยากเห็นเขามีความสุขพออยากเห็นคนที่เรารักเป็นสุขก็อยากทำให้เขาเป็นสุข  พอทำให้เขาเป็นสุขได้เราก็เป็นสุขด้วย  เหมือนพ่อแม่อยากเห็นลูกมีความสุขพอทำให้ลูกเป็นสุขได้  ตัวเองก็เป็นสุขด้วยจึงเป็นความรักที่พร้อมจะให้และสุขด้วยกัน

ด้วยเหตุนี้ความรักที่แท้จริงและควรน้อมนำเข้าสู่ชีวิตจึงเป็นความรักประเภทที่สอง  ซึ่งมุ่งเน้นการให้  เป็นความรักที่พร้อมพรั่งด้วยหลักธรรมทั้ง 4 ประการ คือสัจจะ  ทมะ  ขันติ  และจาคะ

เรียบเรียงจาก

- ความจริงเกี่ยวกับความรัก  ความโกรธและความเมตตา  เล่ม 2, สำนักพิมพ์สบายะ, พิมพ์ครั้งที่ 1 2549

- คู่มือชีวิต, พิมพ์ครั้งที่ 14 พฤษภาคม 2550, หน้า 91


 

ประชาธิปไตย

หลักธรรมทุกอย่างในพระพุทธศาสนานั้นถือเป็นหลักประชาธิปไตย  เนื่องจากเป็นเรื่องของการพัฒนาคนให้มีคุณภาพและให้รู้จักปกครองตนเองได้  แต่จะต้องมองให้ถูกแง่และปฏิบัติตามให้ถูก  หลักธรรมนั้นมีไว้ให้ทุกคนปฏิบัติ  และจะต้องมองหลักธรรมโดยมีความรับผิดชอบของตนเอง ไม่ใช่เรียกร้องจากผู้อื่น  ด้วยเหตุนี้หลักธรรมจึงทำให้เกิดประชาธิปไตยเช่น  คาระ  แปลว่า  ความเคารพ  หมายถึงการมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของผู้อื่น  รวมถึงความคิดของเขา  อันเป็นหลักสำคัญของประชาธิปไตยนั่นเอง

การปกครองที่ดีจะเกิดขึ้นได้เมื่อเจ้าของอำนาจสูงสุดมีธรรมาธิปไตยฉะนั้นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดอยู่ในมือประชาชน  ประชาชนจึงต้องมีความรับผิดชอบที่จะทำตนให้เป็นธรรมาธิปไตย  คือถือธรรมเป็นใหญ่  โดยแบ่งได้เป็น 2 ระดับ  คือ  ขั้นต้น  ได้แก่หลักการ กฎเกณฑ์  กติกาต่าง ๆอันชอบธรรมที่ได้ตกลงกันไว้  และขั้นสูงขึ้นไป  รวมถึงความจริงความถูกต้องดีงาม  และประโยชน์สุขที่เหนือกว่าขั้นต้นขึ้นไปจนสุดขีดแห่งปัญญาจะมองเห็นได้

เมื่อประชาชนถือธรรมเป็นใหญ่ ใช้ปัญญา  ไม่เอาแต่ใจหรือตามใจกิเลส ไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ก็จะส่งผลให้สามารถปกครองตนเองได้  และเมื่อบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนหรือใช้อำนาจในนามประชาชน คือผู้แทนและนักการเมืองทั้งหลายเป็นธรรมาธิปไตยด้วยแล้วประชาธิปไตยก็จะสามารถไปได้ดี  สังคมก็จะเป็นปกติสุข ไม่มีการเบียดเบียนข่มเหง เอารัดเอาเปรียบกัน

เรียบเรียงจาก

- พุทธศาสนากับสังคมไทย, มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2526, หน้า 10 - 11

- การสร้างสรรค์ประชาธิปไตย, ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภา, พิมพ์ครั้งที่ 7 2537, หน้า 67 - 69 และ 114 - 115


 

ความสุข

ความสุขในทางพุทธศาสนาสามารถแบ่งออกเป็น 5 ขั้น  คือ

ขั้นที่ 1  ความสุขจากการเสพวัตถุหรือสิ่งบำรุงบำเรอภายนอกที่นำมาปรนเปรอตา  หู  จมูก  ลิ้น  กายของเรา

ขั้นที่ 2  ความสุขขั้นนี้เกิดขึ้นได้เมื่อเจริญคุณธรรม  เช่น  มีเมตตากรุณามีศรัทธา

ขั้นที่ 3  ความสุขจากการดำเนินชีวิตได้ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ  ไม่หลงอยู่ในโลกของสมมุติ

ขั้นที่ 4  ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง  เช่น  ปรุงแต่งความคิด  ทำให้สร้างสิ่งประดิษฐ์  เกิดเป็นเทคโนโลยีต่าง ๆ

ขั้นที่ 5  ความสุขเหนือการปรุงแต่งคืออยู่ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต  การเข้าถึงความจริงด้วยปัญญาที่เห็นแจ้ง  ทำให้วางจิตวางใจ  ลงตัวสนิทสบายกับทุกสิ่งทุกอย่างอย่างผู้เจนจบชีวิต

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า  คนเราสามารถหาความสุขที่ประณีตกว่าการบำเรอตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ท่านเรียกความสุขแบบนั้นว่าเป็นความสุขที่ประณีตขึ้น  มีลักษณะสำคัญคือ เป็นอิสระ  มนุษย์จะมีความสุขได้โดยลำพังในใจและไม่ต้องขึ้นกับวัตถุภายนอก  หมายความว่า  แม้วัตถุภายนอกไม่มีอยู่  เราก็มีความสุขได้ข้อสำคัญคือ  มันเป็นความสุขพื้นฐานที่จะทำให้การแสวงหาหรือการเสพความสุขภายนอกเป็นไปอย่างพอดี  อยู่ในขอบเขตที่สมดุล  ทำให้มีความสุขแท้จริง  และไม่เบียดเบียนกันทางสังคม

คนที่ทำให้จิตใจตัวเองมีความสุขได้ทั้งทางจิตและทางปัญญา จะมีความสงบในใจตนเองและมีความสุขได้อย่างที่เรียกว่ามีสมาธิ  หรือมีความสุขจากการรู้เท่าทันและเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลายเป็นความสุขทางปัญญาเนื่องจากเห็นแจ้งความจริง  ถือเป็นความสุขภายในของบุคคล  ถ้าคนเรามีความสุขแบบนี้เป็นรากฐานแล้ว  การหาความสุขทางวัตถุมาบำเรอตา  หู  จมูก  ลิ้น กาย  ก็จะมีความรู้จักประมาณหรือมีขอบเขต

คนที่อยู่ในโลกด้วยความรู้ความเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง วางจิตลงตัวพอดี  เรียกได้ว่าเป็นจิตอุเบกขาส่งผลให้มีความสุขอยู่ประจำตัวตลอดเวลาเป็นสุขที่เต็มอิ่มอยู่ข้างใน ไม่ต้องหาจากข้างนอก และเป็นผู้มีชีวิตที่พร้อมจะทำเพื่อผู้อื่นได้อย่างเต็มที่  เพราะไม่ต้องห่วงกังวลถึงความสุขของตนและไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป

เรียบเรียงจาก

- คู่มือชีวิต, พิมพ์ครั้งที่ 14 พฤษภาคม 2550, หน้า 140 – 150

- ข้อคิดชีวิตทวนกระแส, ทุนส่งเสริมพุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 4 2536, หน้า 8 – 10


Secret Box

คนเราเรียนรู้ได้มากจากปัญหา ได้ศึกษาจากความทุกข์

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)



จาก http://www.secret-thai.com/article/inspiration-story/13233/9082559/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...