ผู้เขียน หัวข้อ: “นิรามิสา” ภิกษุณีแห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส  (อ่าน 1282 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


“นิรามิสา” ภิกษุณีแห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส

“หลวงปู่เป็นพระที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย มีพลังเมตตาอันยิ่งใหญ่ มีสติและปัญญาชัดเจน...เป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้พบท่าน” ภิกษุณีนิรามิสา พูดถึง “ท่านติช นัท ฮันห์” พระมหาเถระฝ่ายมหายานนิกายเซน ชาวเวียดนาม ซึ่งบรรดาศาสนิกชนทั่วโลกไม่ว่าจะศาสนาใดต่างให้ความนับถือ

โอกาสที่ท่านติช นัท ฮันห์ พร้อมด้วยภิกษุ-ภิกษุณีแห่งหมู่บ้านพลัม เดินทางมาประเทศไทยเพื่อแสดงปาฐกถาธรรม และเข้าร่วมงานวันวิสาขบูชาโลก ระหว่างวันที่ 19-31 พฤษภาคม พ.ศ.2550 ภิกษุณีนิรามิสา หนึ่งในนักบวชแห่งหมู่บ้านพลัม ได้ช่วยเป็นอีกแรงในการดำเนินการ-ตระเตรียมงานให้ทุกสิ่งผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น

ทั้งเมื่อท่านติช นัท ฮันห์ แสดงปาฐกถาธรรมตามที่ต่างๆ ภิกษุณีนิรามิสาก็ได้ทำหน้าที่ถ่ายปาฐกถาธรรมนั้นจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยได้สัมผัสรสธรรมของท่านติช นัท ฮันห์ อย่างทั่วถึง

จากชีวิตทางโลกที่ประสบความสำเร็จในการเรียนและหน้าที่การงาน วันนี้ “สมพร พันธจารุนิธิ” คือ “ภิกษุณีนิรามิสา” ที่ค้นพบว่าความสุขที่แท้จริงของตน คือ การมีชีวิตอยู่ใต้ร่มแห่งธรรม


• ชีวิตตอนเด็ก?

เกิดในครอบครัวที่มีพี่น้อง 4 คน เป็นพี่สาว 2 คนและน้องชาย 1 คน ที่บ้านทำโรงพิมพ์ คุณพ่อคุณแม่ท่านมีความเข้มงวดอยู่ แต่ก็ค่อนข้างจะใจกว้างด้วย เรียนจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์และมาแตร์เดอีวิทยาลัย ไปเข้าโรงเรียนคริสต์เพราะที่บ้านเป็นครอบครัวค้าขาย คุณพ่ออยากให้เรียนโรงเรียนดีๆ ได้ภาษาอังกฤษ มีเพื่อนฝูงในเครือข่ายที่อาจมีฐานะและทำธุรกิจในอนาคตได้ดี

ตอนเรียนก็สนใจถามมาเซอร์ว่าอยากเรียนรู้เรื่องของพระผู้เป็นเจ้า พอเรียนจบก็สนใจทางพุทธมากขึ้น

• สนใจศาสนาพุทธตั้งแต่เด็กเลยหรือ

ค่ะ แต่เล็กๆ เลยอาจยังไม่ได้สนใจมาก ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นปลายๆ จะชอบอ่านหนังสือธรรมะ อ่านแล้วรู้สึกดี เล่มแรกที่ชอบมาก คือ “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” ของท่านติช นัท ฮันห์ ก่อนหน้านั้นมีอ่านอยู่เล่มหนึ่งเป็นการ์ตูน พูดเรื่องตัวกูของกู แต่จำไม่ได้แล้วว่าใครเขียน

ไปปฏิบัติธรรมครั้งแรกที่สวนโมกข์ ตอนนั้นอยู่ ม.ศ.ปลาย อายุประมาณ 16 พี่สาวอยู่ชุมนุมพุทธและเพื่อนๆ เขาที่อยู่มหาวิทยาลัยจัดไป เราก็ตามไป อยู่ที่นั่นประมาณอาทิตย์หนึ่ง ได้พบท่านพุทธทาสแต่ไม่ได้สนทนาธรรมกับท่าน เพราะเรามีกลุ่มของเรา และมีพระที่เป็นศิษย์ของท่านมาสนทนาด้วย

การไปครั้งนั้นทำให้คิดว่าพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของคนแก่ ทำให้เห็นว่าพุทธเป็นวิทยาศาสตร์ และทำให้เข้าใจว่าทุกคนต้องมีพื้นฐานทางจิตวิญญาณที่ช่วยให้มีชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ข้างในกลวง และขอเลือกทางพุทธศาสนาเพราะเป็นชาวพุทธ กลับมาจิตใจก็สงบขึ้น ได้ค้นพบพุทธศาสนาในแง่ใหม่ เหมือนเรามีเครื่องยึดเหนี่ยว และคงเป็นวัยที่กำลังหาว่าเราจะทำอะไรในชีวิต

• ทำไมเลือกเรียนต่อด้านพยาบาล?

ต้องการเรียนอะไรที่ออกไปแล้วได้ช่วยเหลือคน เลือกไปหลายอย่าง ทั้งหมอ เภสัช พยาบาล แล้วก็ติดพยาบาล ที่มหาวิทยาลัยมหิดล จบแล้วไปทำงานในค่ายผู้อพยพ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เป็นค่ายผู้อพยพอินโดจีน ได้ช่วยคนที่ทุกข์ยาก เห็นทั้งคนที่เจ็บป่วย คนที่ตายอยู่กับมือเรา ได้ผ่านประสบการณ์มากมายในเรื่องความทุกข์ยากของผู้อพยพ ทั้งเรื่องสุขภาพ เรื่องชีวิตที่เขาประสบ เราได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ความทุกข์ยากของคนอื่น ขณะเดียวกันเราก็มีความสุขเบิกบานกับการได้ช่วยเขา เป็นช่วงที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตเรามีความหมาย

ช่วงนั้นพอได้ศึกษาธรรมบ้าง แต่ไม่ชัดเจน ได้แต่นำความรู้สึกดีๆ จิตใจดีๆ ให้เขา ทำอยู่ 4 ปีก็ไปเรียนต่อปริญญาโท สาขาการศึกษาเด็กเล็ก มหาวิทยาลัยมิเนโซต้า มินนีอาโปลิส ที่สหรัฐอเมริกา

เลือกเรียนสาขานี้เพราะตอนทำงานเรารู้แล้วว่าอยากทำงานที่แก้ไขหรือช่วยเหลือสังคมที่รากฐาน และคิดว่าถ้าเริ่มตั้งแต่เด็กคงง่าย ซึ่งการป้องกันอย่างหนึ่งคือเน้นเรื่องการศึกษา

ช่วงนั้น 2 ปี ในส่วนหนึ่งคือมีความสุขที่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เวลาทำเปเปอร์ก็มีความสุข แต่เห็นได้ถึงความทุกข์ของคนตะวันตกที่กลวงข้างใน ไม่มีพื้นฐานหนักแน่นในเรื่องของจิตวิญญาณที่สัมผัสได้ ทำให้เรารู้สึกเหมือนกลวงข้างในด้วย ไม่เชื่อมโยงกับอะไรสักอย่าง เป็นช่วงที่อ้างว้างว้าเหว่

• จากนั้นแล้วทำอะไร?

เรียนจบได้งานทำเป็นผู้อำนวยการโครงการของ อเมริกัน เฟรนด์ เซอร์วิส คอมมิตตี (American Friend Service Committee) ช่วยเหลือคนยากจนที่ลาว ต้องไปทำงานที่นั่น

เนื้องานแตกต่างจากที่เคยทำค่ายผู้อพยพมาก ได้ทำอะไรที่รากฐานจริงๆ อย่างที่ค่ายผู้อพยพเหมือนช่วยชั่วครั้งชั่วคราว เขามาแล้วก็ไป แต่ที่ลาวเราช่วยคนที่อยู่ตรงนั้น ทุกข์กับตรงนั้น และต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปที่ตรงนั้น ช่วยบริหารจัดการโครงการ ให้คนลาวทำโครงการช่วยเหลือตนเองเรื่องการพัฒนาชนบท งานเด็ก งานผู้หญิง งานการศึกษาเราก็ช่วย อยู่ได้ปีสองปีมีโอกาสไปรายงานผลการทำงานที่ยุโรป เลยถือโอกาสไปไขว่คว้าพุทธศาสนาในตะวันตก เพราะหลังจากเรียนหนังสือ ผ่านการทำงานช่วงหนึ่ง เรียนต่อเมืองนอก กลับมาเหมือนชีวิตขาดช่วงเรื่องการปฏิบัติธรรมหรือทางจิตวิญญาณ

• ได้ไปปฏิบัติธรรมที่ยุโรปด้วย?

คิดไว้ว่าจะไปอยู่ 2 แห่งคือ หมู่บ้านพลัมของท่านติช นัท ฮันห์ ที่ฝรั่งเศส และสถานปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์ชา สุภัทโท ที่สวิตเซอร์แลนด์ เพราะมีคนบอกว่าพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองในยุโรป และในอนาคตคนไทยหรือชาวเอเชียอาจต้องเรียนพุทธศาสนาจากทางยุโรป เลยติดต่อไปที่หมู่บ้านพลัม แต่ทางนั้นบอกให้ไปที่เยอรมนี เพราะหลวงปู่ (ท่านติช นัท ฮันห์) ไปสอนที่นั่น

ตอนนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนของชีวิต ได้ฟังท่านเทศน์ครั้งแรกน้ำตาไหล รู้สึกว่าท่านคลายสิ่งต่างๆ ที่เป็นปมในตัวเรา ท่านเป็นผู้เปิดตาน้ำให้เรา ให้ลำธารของจิตวิญญาณล่องไหล แล้วก็เปิดชีวิตเราขึ้นมาใหม่ด้วยคำสอนที่ง่ายๆ เป็นรูปธรรมแต่ลึกซึ้ง มีการปฏิบัติที่ชัดเจน นำมาใช้ได้ คิดว่าทำไมท่านสอนได้ลึกซึ้งจัง ท่านย่อยอะไรมาให้เสร็จแล้ว เรารับได้เลย ไม่ได้ฟังยากอะไร

ตอนไปไม่ได้สนใจว่าจะเป็นเซนหรืออะไร ไม่รู้ด้วยว่าท่านเป็นเถรวาทหรือมหายาน แต่ด้วยความไม่รู้มากมายทำให้เข้าถึงง่าย (ยิ้ม) พอกลับเมืองไทยคนถามว่าเป็นอย่างไรไปฝึกมหายาน เราก็งง เพราะไม่รู้

กลับมาเมืองไทยก็ลาออกจากงาน แล้วได้งานใหม่ขององค์การยูนิเซฟ เป็นโครงการเออร์ลี่ ไชลด์ฮูด แฟมิลี่ ดีเวลอปเมนต์ (Early Childhood Family Development) ได้ทำงานและมีเวลาไปปฏิบัติธรรมที่หมู่บ้านพลัมทุกปี


ภิกษุณีนิรามิสา (Sister Niramisa)

• จุดที่ทำให้อยากก้าวเข้าสู่ธรรมอย่างเต็มตัว?

หลังจากเจอหลวงปู่เมื่อปี 2536 ก็ไปหมู่บ้านพลัมทุกปี พอปี 2540 เริ่มตัดสินใจว่าจะไปอยู่เลย รู้แล้วว่าจะบวช ความรู้สึกมาเอง เป็นทางที่เราจะไปต่ออย่างแน่นอน จะได้สัมผัสกับความสุขอย่างแท้จริง อยากมีชีวิตแบบนี้ทุกวัน เป็นชีวิตที่หามานาน

แต่ต้องกลับมาดูแลตัวเองก่อน เพราะที่ผ่านมาช่วยเหลือคนอื่น แต่ไม่ได้ดูแลตัวเองอย่างลึกซึ้ง การจะช่วยเหลือผู้อื่นได้ดีเราต้องวางรากฐานตัวเองก่อน คือการปฏิบัติธรรม

ตอนนั้นอยู่ในภาวะที่เป็นภวังค์ ไม่ใช่หลับ ผุดขึ้นมาในใจว่าตอนที่เราอยู่ ป.1 ป.2 คุณย่าเสียชีวิต แล้วทำพิธีกงเต๊ก มีนักบวชหญิงมาสวด รู้สึกประทับใจในความสงบและความเบิกบานที่เขามี แวบขึ้นมาว่าอยากดำรงชีวิตแบบนั้น...อาจเป็นเงื่อนไขของตัวเองที่ทำให้บวช เรียกว่า “บุญบารมี” ก็ได้ จากนั้นก็ไปบวชที่หมู่บ้านพลัม และพำนักที่นั่น มีความสุขกับชีวิตทางธรรมมาก

ถึงตอนนี้อายุทางโลก 46 ปี ส่วนอายุทางธรรม 9 พรรษา

• เสียดายทางโลกไหม?

การได้ไปหมู่บ้านพลัม ทำให้ได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องสนใจว่าใครจะมองเราอย่างไร ไม่ต้องทำตัวให้สมกับความคาดหวังของใคร เราได้ผ่อนคลาย ทำให้สลายเกราะกำบังไปเรื่อยจนตัดสินใจบวช

บวชเป็นสามเณรีก่อน ต้องรักษาศีล 10 ข้อ และมีข้อจริยวัตรทางธรรมที่ต้องปฏิบัติ 39 ข้อ มีพระพี่เลี้ยงคอยพูดคุยและให้คำตักเตือน สามเณรีต้องเปิดใจกับตัวเอง ถ้าคนอยู่ทางโลกมานานต้องฝึกมาก ต้องยอมกะเทาะเปลือกตัวเอง ยอมถูกตำหนิ ตักเตือน ยอมถูกสอนถูกขัดเกลาใหม่

เป็นนักบวชแล้วก็ยังต้องฝึก อยู่ในชุมชนสังฆะหรือนักบวชก็ยังมีปัญหา มีนิสัยที่ไม่ดีต่อกัน แต่ที่ดีมากคือเวลามีปัญหาหรือความขัดแย้งได้คุยกัน มีการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา ความสมานฉันท์ก็เกิดขึ้นใหม่ ความรักยิ่งเข้มแข็งมากขึ้น ตรงนี้ผิดกันมากกับตอนทำงาน ตอนนั้นเราอยากฝึกปฏิบัติ แต่คนอื่นไม่ฝึกด้วยก็ยาก

• มีการกำหนดอายุของผู้ที่บวชหรือไม่?

ถ้าที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส อายุเกิน 50 มาอยู่เป็นฆราวาสได้ แต่บวชไม่ได้ ส่วนที่ประเทศเวียดนามผู้ที่บวชต้องอายุไม่เกิน 25 แต่ละที่มีข้อกำหนดต่างกันไป

สาเหตุที่ต้องกำหนดอย่างนี้ เพราะหากบวชเรียนตั้งแต่อายุยังน้อยก็สัมผัสโลกภายนอกน้อย ถ้าสัมผัสกับสิ่งภายนอกมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องมาขัดเกลาใหม่มากขึ้น

• ในหมู่บ้านพลัมที่ฝรั่งเศสเป็นอย่างไรบ้าง?

สังคมในหมู่บ้านพลัมเป็นสังคมนานาชาติ มีนักบวชหลายเชื้อชาติจากราว 20 ประเทศ ราว 200 รูป ส่วนฆราวาสก็แล้วแต่ช่วง ปกติมีไม่กี่สิบคน แต่ถ้ามีงานที่จัดเป็นพิเศษจะมีคนมาเข้าร่วมเป็นพันคน

ผู้ที่ไปหมู่บ้านพลัมไม่จำเป็นต้องเป็นชาวพุทธ จะนับถือยิว อิสลาม คริสต์ ฯลฯ ไปได้หมด ชาวพุทธอาจน้อยด้วยซ้ำ เพราะชาวตะวันตกส่วนมากเป็นคริสต์

สิ่งที่ทำให้คนศาสนาอื่นเข้ามาปฏิบัติธรรม เพราะโดยเนื้อแท้ของพุทธไม่ได้แบ่งแยก ศาสนาพุทธใจกว้างมาก และอีกประการศาสนาพุทธเน้นเรื่องปัญญาและความเข้าใจ เน้นการตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น มีสติ มีสมาธิ บางคนปฏิบัติธรรมกับหมู่บ้านพลัมแล้วก็กลับไปสู่ศาสนาตัวเอง เราทำให้เขากลับสู่รากของเขา

ตอนนี้ที่หมู่บ้านพลัมมีคนไทยเป็นสามเณรี 1 รูป ภิกษุ 1 รูป และภิกษุณี 1 รูป ส่วนฆราวาสคนไทยมีไปปฏิบัติธรรมบ้างแต่ไม่มาก

• มีโครงการตั้งหมู่บ้านพลัมที่ประเทศไทย?

จะใช้พื้นที่ 26 ไร่ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ สงฆ์ในเมืองไทยบางส่วนก็ให้การสนับสนุน เพราะประชาชนจะได้มีสถานที่ฝึกเจริญสติ ฝึกปฏิบัติธรรม ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการ เปิดรับบริจาคทุนเพื่อจัดสร้างอยู่

• ท่านติช นัท ฮันห์?

หลวงปู่เป็นพระที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย มีพลังเมตตาอันยิ่งใหญ่ มีสติและปัญญาชัดเจน...เป็นโอกาสดีที่คนไทยได้พบท่าน หลวงปู่ท่านเป็นกันเองกับทุกคนมาก ท่านดูแลลูกศิษย์เหมือนดูแลลูก ถ้านักบวชมีปัญหาก็สามารถปรึกษาท่านได้ ท่านเปิดรับเสมอ ส่วนใหญ่พวกเราใช้วิธีเขียนจดหมายหาท่าน เพราะทำให้เรามีสติในการเขียนและยังได้ขัดเกลา หลวงปู่ก็จะตอบให้

หลวงปู่เดินทางไปเกือบทั่วโลกเพื่อฝึกสอนการเจริญสติ เน้นธรรมะที่นำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน มีผู้คนให้ความสนใจเยอะมาก ท่านเน้นเรื่องการเจริญสติ การกลับมาอยู่กับลมหายใจ ตระหนักรู้ในสิ่งที่เราทำอยู่ ความสุขที่แท้จริงให้เห็นว่าเราไม่มีตัวตน เป็นความว่างจากการมีตัวตน ไม่ใช่ความว่างที่ไม่มีอะไรเลย และเราเชื่อมกับสรรพสิ่งไม่แยกจากธรรมชาติ ภาษาของท่านเรียกว่า “อินเตอร์บีอิ้ง” (interbeing) หรือ “เป็นดั่งกันและกัน” ถ้าเป็นแบบนี้ได้โลกก็จะมีความสุข

หลวงปู่เคยมาเมืองไทยเมื่อ 31 ปีก่อน ครั้งนี้ท่านมาอย่างเป็นทางการ มาฝึกเจริญสติแก่คนไทย

• คำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ ที่บอกว่าศาสนาพุทธต้องรับใช้สังคม?

ศาสนาพุทธเป็นวิถีชีวิต จะนั่ง เดิน ยืน นอน ต้องมีสติ พอเข้าใจอย่างนี้จะเห็นว่าพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิต ไม่ได้แยกจากสังคม ถ้าปฏิบัติแล้วมีความสุข ความสุขก็จะเกิดกับตนเองและผู้คนรอบข้าง รอยยิ้มก็เกิดโดยปริยาย พอเรายิ้มปุ๊บคนอื่นก็สุขไปด้วย เป็นสิ่งที่ทำง่ายมาก

อีกอย่างเมื่อเราดูแลและเข้าใจตนเอง เราก็จะเข้าใจคนอื่น เข้าใจสังคม เข้าใจโลก เป็นการรับใช้สังคมทางหนึ่ง ถ้าพูดแต่ว่าพุทธศาสนาต้องรับใช้สังคมแต่ไม่ออกมาดูแลตนเอง ถึงจุดหนึ่งจะเกิดทุกข์ ยิ่งไปรับความทุกข์ข้างนอกเข้ามามาก ไม่รู้วิธีเยียวยาตนเอง ความทุกข์ก็เพิ่ม ทำให้ทำอะไรออกไปด้วยความทุกข์ นั่นเท่ากับไม่ได้ช่วยสังคมอย่างแท้จริง

• จะนำวิธีปฏิบัติมาสู่ชีวิตประจำวันได้อย่างไร?

ตอนนี้โลกเป็นยุคบริโภคนิยม แต่เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถตื่นรู้ เพียงแต่เราไม่มีกระแสแรงพอในการดึงดูดความสนใจทำให้คนมาคิดถึงธรรมะ

ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน พ่อแม่ ผู้ปกครอง สื่อ ฯลฯ เมื่อพูดถึงเรื่องวัดกับเด็ก เด็กจะแพ้วัด เดี๋ยวนี้เด็กไม่ค่อยเข้าใจบาปกรรม ถ้าเราปรับคำสอนให้เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเคยปฏิบัติ หยั่งรู้จิตของแต่ละคนว่าต้องการธรรมะอย่างไร (ญาณทัศนะ) ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

คือต้องปรับวิธีการเข้าหาเด็ก และนำเสนออะไรที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ ต้องคุยธรรมะด้วยภาษาวัยรุ่น

ไม่ไปโปรยเมล็ดพันธุ์แห่งความอยากให้เด็ก แต่เอาวัดไปอยู่ในใจเขาโดยที่ไม่ใช่รูปแบบวัด


ท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) นำพาปฏิบัติธรรมเดินสมาธิ
ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร. วิทยาเขตวังน้อย)
อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ในระหว่างวันที่ 4-8 เมษายน 2556


หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 33
เรื่องโดย สุทธาสินี จิตรกรรมไทย

จาก http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=21765&f=7




นิรามิสา : สตรีดีเด่นแห่งบ้านพลัม

“นิรามิสา” คือนามทางธรรมของภิกษุณีนิรามิสา แปลว่า “ผู้หมดแล้วซึ่งกิเลส” ภิกษุณีชาวไทยผู้นี้บวชเรียนกับหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) พระมหาเถระชาวเวียดนามแห่งหมู่บ้านพลัม (Plum Village) เมืองบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส ร่วม 8 ปีเต็ม บนเส้นทางธรรมสายนี้ เธอได้เติมเต็มชีวิตทางจิตวิญญาณจนได้รับ “รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา” จากองค์การสหประชาชาติ เนื่องในวันสตรีสากล (8 มีนาคม) ประจำปี พ.ศ.2550 ลองฟังมุมมองการดำเนินชีวิตเชิงลึกที่เชื่อมโยงกับพุทธธรรมตามทางหมู่บ้านพลัมจากภิกษุณีผู้นี้

• วิถีของนักบวช

ภิกษุณีนิรามิสาเติบโตและร่ำเรียนในประเทศไทย เธอเล่าว่า วัยเด็กเธอก็เหมือนเด็กทั่วไปที่นับถือพุทธศาสนาตามบรรพบุรุษ ทั้งยังไม่เข้าใจในศาสนาพุทธมากนัก จนอายุ 16 ปี เธอมีโอกาสไปสวนโมกขพลารามกับพี่สาวและเพื่อนๆ จึงได้เห็นอีกมุมของศาสนาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

“เราได้เปิดหูเปิดตา เห็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจพุทธศาสนา ได้เรียนรู้ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่แค่เรื่องของคนแก่ คนหนุ่มสาวมากมายก็ไปศึกษาที่นั่น ศาสนาไม่ใช่วัดที่ต้องกราบไหว้ แต่เป็นธรรมชาติ เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่มีเหตุมีผล จากตรงนั้นเลยคิดว่า คนเรามีจิตวิญญาณเป็นพื้นฐานของชีวิต ถ้าเราไม่มี ชีวิตคงตายด้าน ถึงมีชีวิต แต่ก็ไม่มีชีวา” ความคิดที่เป็นเสมือน “เมล็ดพันธุ์แห่งการตื่นรู้” นี้ได้ติดตัวเธอมา

สมัยนั้น เธอเองยังไม่คิดบวช ด้วยยังไม่เห็นแนวทางของนักบวชชัดนัก กระนั้นเธอก็ตั้งใจมั่นทำงานช่วยเหลือผู้คน โดยเลือกศึกษาต่อการพยาบาลผดุงครรภ์ และทำงานเพื่อสังคมในองค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) ปี พ.ศ.2536 ในวัยทำงาน หลังเสร็จภารกิจรายงานผลการดำเนินงานที่ยุโรปแล้ว เธอได้วางแผนเที่ยวแหล่งศึกษาธรรมะต่อ “หมู่บ้านพลัม” คือแห่งแรกที่เธอไปถึง ทั้งยังเป็นสถานศึกษาธรรมะสำหรับชีวิตของเธอตั้งแต่นั้นมา

“I have arrived. I am home. เราเรียนรู้จากหลวงปู่ว่า อยู่ตรงไหนก็เป็นบ้าน เมื่อเราได้กลับมาอยู่บ้านที่แท้จริงคือตัวของเราเอง”

การปฏิบัติภาวนาครั้งนั้นถือเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอ เมื่อเธอกลับคืนสู่ชีวิตประจำวัน เธอได้หยุดทำงานประจำ เลือกทำงานอิสระ และหาโอกาสเรียนรู้พุทธศาสนามากขึ้น และสามปีให้หลังเธอจึงออกบวช เป็นภิกษุณีที่มีความสุขภายใน เห็นได้จากรอยยิ้มบนใบหน้าและดวงตาใสคู่นั้นของเธอ

“การเป็นนักบวชมีความสุข สบาย เป็นอิสระ เราได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ได้ดูแลตัวเอง ได้ช่วยเหลือคนอื่น สิ่งนี้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่หลวงพี่มีอยู่ในตัว จึงสัมผัสธรรมะง่าย พอมาเจอหลวงปู่ ได้พบวิธีการปฏิบัติ มันเลยง่ายมาก มหัศจรรย์ มีความสุข เราคิดว่า ถ้าอายุ 16 ได้เจอหลวงปู่ ได้เจอหมู่บ้านพลัม เราคงบวชเลย แต่เหตุปัจจัยตอนนั้นยังไม่เกิดเท่านั้นเอง”

เธอเล่าว่า แรงบันดาลใจจากหลวงปู่คือความสามารถที่ทำให้ผู้อื่นเบิกบานและมีแรงบันดาลใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะผ่านการสอนด้วยการปฏิบัติให้เห็นจริง หรือผ่านท่าที การพูดจา และการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อใครพบเห็นย่อมเกิดกำลังใจ “สิ่งหนึ่งที่หลวงพี่ชอบมากคือ หลวงปู่บอกว่าการเป็นนักบวชที่ออกไปช่วย ไปสอนคนอื่นนั้น สิ่งที่เราทำคือไปสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เขา โดยตัวเราคือเครื่องมือ (Inspiration instrument) เราไม่ได้สอนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก หรือเปลี่ยนแปลงใคร แต่เราไปจุดประกายให้เขามีแรงบันดาลใจ หลวงพี่เคยเป็นพยาบาล แต่ตอนนี้เป็นพยาบาลทางจิตใจ เป็นวิชาชีพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

• จุดร่วมของนักบวชทุกเพศวัย

เมื่อเธอออกบวชได้ 5 ปีก็มีประเด็นผู้หญิงกับการบวชปรากฏในสังคม สื่อมวลชนหันมาให้ความสนใจกระทั่งสังคมเห็นว่า “ผู้หญิงก็มีวิถีทางจิตวิญญาณได้เช่นกัน”

ทุกวันนี้ หากพิจารณาสถานะของหญิงไทยในบริบทของศาสนาพุทธ ภิกษุณีนิรามิสาเอ่ยรับว่าดีใจที่เห็นหญิงไทยสนใจพุทธศาสนามากขึ้น ผู้หญิงหลายคนต้องการศึกษาเพื่อค้นหาความหมายของชีวิตและการดำรงอยู่ ทั้งๆ ที่ภาพรวมของสังคม ดูเหมือนผู้หญิงยังตกอยู่ในสถานะที่ได้รับโอกาสน้อยกว่าผู้ชายก็ตาม

ส่วนภาพการอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านพลัมนั้น เธอเล่าว่าเป็นชุมชนของพุทธบริษัท 4 (สังฆะ) อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี และฆราวาสหญิง-ชาย ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ต่างก็มีหน้าที่เหมือนกันคือการดูแลวัด

นักบวชทั้งหญิงและชายเกือบ 200 รูป มาจากประเทศต่างๆ ทุกรูปเดินทางมาเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างศานติ มีสติและเป็นสุข โดยจะให้ความเคารพและดูแลกันเสมือนสมาชิกในครอบครัว

“ภิกษุเหมือนพี่ชาย เหมือนพ่อทางธรรม ส่วนเรื่องการแบ่งแยกชายหญิง ส่วนใหญ่มาจากการสั่งสมของเราเอง เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังเรามา ด้วยวิถีชีวิตในชุมชนเรื่องการแบ่งแยกจึงไม่เกิด เราโอบรัดกันและกัน อยู่ร่วมกันเหมือนพี่น้อง เป็นพลังอันอบอุ่น เพื่อขัดเกลาให้มีสติ สมาธิ และปัญญา”

• รางวัลของสังฆะแก่เราทั้งผอง

รางวัลที่เธอได้รับในวันสตรีสากลนี้ ภิกษุณีนิรามิสาเผยความรู้สึกว่าแปลกใจ ด้วยไม่คาดคิดมาก่อน เพราะสิ่งที่ทำไป ล้วนอยู่ในวิถีชีวิตทั้งสิ้น

“หลวงพี่แปลกใจว่าทำไมจึงได้ เราไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อได้รับอะไร สิ่งที่ทำไปล้วนอยู่ในวิถีชีวิต มันเกิดขึ้นเองเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ถึงหลวงพี่จะได้รับรางวัลนี้ แต่มันไม่ใช่รางวัลของหลวงพี่คนเดียว เพราะเวลาหลวงพี่ทำ หลวงพี่ไม่ได้ทำคนเดียว ครูบาอาจารย์ หลวงปู่ สังฆะ เพื่อนพี่น้องในเมืองไทยก็ทำด้วย เป็นมือที่ช่วยเกื้อกูลกันและกัน เราเป็นดั่งกันและกัน ฉะนั้น ความสำเร็จจึงไม่ใช่ของหลวงพี่คนเดียว” ภิกษุณีสรุปทิ้งท้าย

พิธีมอบรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ สำหรับปีนี้จะมีขึ้นในวันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2550 เวลา 08.00-16.00 น. ที่องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ รางวัลนี้องค์การสหประชาชาติมอบให้สตรีนักบวชและฆราวาสทั่วโลก เพื่อยกย่องผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนา และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่สตรีทั่วโลก ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้มีทั้งสิ้น 25 ท่าน

ท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) แห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส เป็นพระมหาเถระชาวเวียดนาม ในพุทธศาสนานิกายเซนมหายานองค์สำคัญ มีผลงานด้านสันติภาพมากมายจนได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (Nobel Peace Prize) โดย มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ ท่านเป็นผู้นำพุทธธรรมสู่วิถีชีวิตร่วมสมัย พัฒนาแนวทางแห่งสติแพร่หลายไปทั่วโลก สร้างงานเขียนอันทรงคุณค่าหลายเล่ม เช่น ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ, สันติภาพทุกย่างก้าว และคือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่ เป็นต้น

ในวันที่ 19-31 พฤษภาคม พ.ศ.2550 ท่านติช นัท ฮันห์ และคณะภิกษุ-ภิกษุณีแห่งหมู่บ้านพลัม กว่า 80 รูป จะเดินทางจาริกธรรมมายังประเทศไทย เพื่อ “สู่ศานติสมานฉันท์” หรือ “Toward Peace & Harmony” โดยเอื้อให้คนไทยได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีทางแห่งการอยู่ร่วมกัน ด้วยความรัก ความเมตตา และความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง สนใจติดต่อ http://www.thaiplumvillage.org/ หรือ อีเมล awakeningsource@yahoo.com หรือ โทรศัพท์ กรุงเทพฯ 08-5318-2938, 08-5318-2939 เชียงใหม่ 08-6910-9611, 08-9700-8720


ศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติ หมู่บ้านพลัม เมืองบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส
(Plum Village Meditation Practice Center, Bordeaux, France)


ชีวิตรื่นรมย์/โพสต์ทูเดย์/ฉบับวันอังคารที่ 6 มีนาคม 2550
พรรัตน์ วชิรชัย media4joy@hotmail.com
กลุ่มสื่อสร้างสรรค์ http://www.happymedia.blogspot.com
(http://www.happymedia.blogspot.com)
และศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

 :13: ประวัติและปฏิปทาท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21739

 :13: รวมคำสอน “หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=45472
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...