มีเรื่องดีๆ ที่ท่าน ว. วชิรเมธี นำมาฝากอีกครั้ง
เรื่องนี้ท่านเก็บเกี่ยวมาจากยอดศิลปินเอกของโลก "ลีโอนาร์โด ดาวินชี" เจ้าของ ผลงาน "โมนาลิซา" ศิลปะชิ้นงามอันลือลั่นเป็นเอก ที่ได้รับการดูแลรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์
เบื้องหลังความเป็นเอกของชิ้นงานนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ ที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและการดำเนินชีวิตของศิลปินเอกดาวินชีคนนี้
ดาวินชีเป็นชาวอิตาลี ที่เกิด เติบโต และทำงานอยู่ที่อิตาลี เขาอยู่อย่างลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอดชีวิต ยิ่งในช่วงตอนปลายของชีวิตยิ่งลำบากหนัก ถึงขนาดต้องทำงาน ทุกชนิด ไปเป็นสถาปนิกบ้าง วิศวกรบ้าง หรือบางทีก็ไปอยู่แนวหน้ากับทหารในสงครามบ้าง กระทั่งกษัตริย์ ฟรังซัวส์ที่ 1 ของฝรั่งเศส ขึ้นครองราชย์และได้เห็นความสามารถพิเศษของเขา จึงเชื้อเชิญให้มาอยู่ที่ฝรั่งเศส ในฐานะจิตรกรเอกแห่งราชสำนัก สถาปนิกหลวง และพระสหายของกษัตริย์
ผลงานชิ้นเอกของเขาจึงถูกสร้างสรรค์มาในช่วงเวลานี้ ดังนั้น เมื่อเขาสิ้นชีวิตลง ผลงานของเขาจึงตกเป็นสมบัติของฝรั่งเศสไปโดยปริยาย แม้รัฐบาลอิตาลีพยายามที่จะขอภาพคืนหลายครั้ง แต่ก็ไม่บรรลุผลเลยสักครั้ง
กระทั่งสุดท้าย คำตอบที่ฝรั่งเศสตอกกลับไป
"ช่วยไม่ได้ ผู้นำของคุณไม่มีวิสัยทัศน์เอง" ทำเอาอิตาลีเลิกทวงโดยบัดดล
ท่าน ว. วชิรเมธี กล่าวไว้อีกด้วยว่า การที่ดาวินชีประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงนั้น ไม่ใช่เพียงเพราะผลงานระดับอัจฉริยะของเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะเขารู้จักเลือกที่จะอยู่ในที่ "ที่มีคนเห็นคุณค่า" ของเขา
การได้อยู่ในที่มีคนเห็นคุณค่า นับว่าเป็นเคล็ดลับแห่งความสำเร็จที่สำคัญมาก พระพุทธองค์ถึงกับตรัสเรื่องนี้ไว้ในมงคลสูตร (พระสูตรที่ว่าด้วยเคล็ดลับแห่ง ความสุขแลความสำเร็จ 38 ประการ) ว่า "การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นมงคลอันสูงสุด"
เรื่องนี้สะท้อนมาได้ถึงโลกของการทำงาน
มีคนทำงานมากมายที่เป็นคนเก่ง มีอัจฉริยภาพขั้นเทพ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ ทำงานหนักแทบล้มประดาตาย แต่เงินเดือนน้อยนิดเดียว ตำแหน่งไม่ขยับ เจ้านายไม่รัก คนแวดล้อมริษยา เรียกว่า ยิ่งทำงาน คุณภาพชีวิตยิ่งตกต่ำลง
นั่นอาจเป็นไปได้ว่า เพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้ทำงาน อยู่ในที่มีคนเห็นคุณค่าเหมือนกับดาวินชี
แต่การที่เราแต่ละคนจะได้อยู่ในที่มีคนเห็นคุณค่า ได้นั้น มีเหตุปัจจัย 2 ประการ
1.เราเป็นฝ่ายถูกเลือกโดยคนที่เห็นคุณค่า ประการนี้ เราสามารถเลือกและปฏิบัติได้เลย ถ้าเราค้นพบว่า การอยู่ในที่เดิมรังแต่จะไม่มีอนาคต เหมือนดาวินชีอยู่ในอิตาลีแล้ว มีแต่ความลุ่มๆ ดอนๆ
2.จะมีคนที่เห็นคุณค่าของเราเมื่อไร ถ้ามีก็ดีไป ถ้าไม่มี ก็ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมของชีวิตไป
ดังนั้น คนทำงานทุกคน คงต้องย้อนกลับมา ถามตัวเองว่า เราเป็นมนุษย์ทำงานที่มีความสามารถเพียงใด และความสามารถของเรานั้นได้รับการยกย่องส่งเสริมให้เต็มภาคภูมิอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่
ถ้าเราเก่ง เราเป็นเลิศ แต่เรายังคงแป้กอยู่กับที่ ไม่มีอนาคต หากรู้สึกว่ากำลังเป็นเช่นนั้น ก็ควรจะรีบมองหา "ที่มีคนเห็นคุณค่า" ให้ตัวเองได้แล้ว
แต่ถ้ามองหาแล้วไม่เจอ
เราก็ต้องสร้าง "ที่มีคุณค่าเช่นนั้น" ขึ้นมาด้วยตัวเอง
ที่มา...ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4136