ผู้เขียน หัวข้อ: มองเป็นเห็นธรรม : อาฏานาฏิยปริตร นอบน้อมพุทธะ... ชนะมาร  (อ่าน 1949 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด




มองเป็นเห็นธรรม : อาฏานาฏิยปริตร นอบน้อมพุทธะ... ชนะมาร

        ปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพล ผู้กว้างขวาง อันธพาล เป็นปัญหาหนึ่งของสังคมในโลก ที่ดำรงอยู่มายาวนาน การแก้ไขปัญหาก็ยากที่จะดำเนินการให้สงบเรียบร้อยได้อย่างเบ็ดเสร็จ ส่วนใหญ่เป็นการป้องปรามด้วยอำนาจของกฎหมาย ซึ่งก็ได้ผลเพียงระดับหนึ่ง ทำอย่างไรสังคมจึงไม่มีอันธพาล? จึงเป็นคำถามที่รอคำตอบอยู่เสมอ
       
       ถ้ามาพิจารณาถึงการป้องปรามอันธพาลที่ปรากฏอยู่ใน “อาฏานาฏิยปริตร” อาจจะทำให้เห็นแนวทางการตอบคำถามนี้ก็ได้
       
       อาฏานาฏิยปริตร เป็นคาถาที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ของสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา คือ “ท้าวธตรฐ” จอมคนธรรพ์ “ท้าววิรุฬหก” จอมกุมภัณฑ์ “ท้าววิรูปักษ์” จอมนาค และ “ท้าวเวสสุวรรณ” จอมยักษ์ ผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ร่วมกันแต่งขึ้น ด้วยหวังป้องปรามไม่ให้บริวารของตนที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไปรบกวนการปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์
       
       ครั้นแต่งมนต์บทนี้เสร็จ ก็ประกาศแก่บริวารของตนว่า เวลาใดที่ได้ยินเสียงผู้สวดสาธยายอาฏานาฏิยปริตรนี้ ให้ถือว่าผู้นั้นได้อยู่ในเขตรักษาของธรรม ห้ามพวกเจ้าเข้าไปทำอันตราย ใครไม่เชื่อฟังจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง เพราะถือว่าได้ทำร้ายบุคคลผู้เลื่อมใสพระรัตนตรัยเช่นกับเรา
       
       เมื่อป่าวประกาศแก่บริวารแล้ว ท้าวเธอทั้ง ๔ ก็มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อถวายมนต์บทนี้ให้พระสงฆ์นำไปสวดสาธยาย พระพุทธองค์ทรงแจ้งให้พระสงฆ์ได้ทราบ และพระสงฆ์ได้นำไปสาธยายจนเป็นที่นิยม และกลายเป็นตำนานสวดภาณยักษ์ เพื่อกำจัดสิ่งชั่วร้ายในปัจจุบัน
       
       สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบรรยาย อาฏานาฏิยสูตร ไว้ว่า
       
       “สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนภูเขาชื่อว่าคิชฌกูฏ ในกรุงราชคฤห์ ในครั้งนั้นท้าวมหาราชทั้งสี่ ผู้เป็นโลกบาล ได้เข้าไปเฝ้าในเวลากลางวัน เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พร้อมกับพวกเสนาทั้งหลาย
       
       ท้าวเวสวัณมหาราชได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า บรรดายักษ์ทั้งหลายที่เป็นพวกมีอำนาจมากก็มี มีอำนาจปานกลางก็มี มีอำนาจน้อยก็มี ไม่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มีอยู่ ที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มีอยู่
       
       ที่ไม่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เพราะโดยมากพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เว้นจากปาณาติบาต ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เว้นจากอทินนาทาน ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เว้นจากกามมิจฉาจาร ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เว้นจากมุสาวาท ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เว้นจากน้ำเมาคือสุราเมรัย อันเป็นฐานแห่งความประมาท
       
       แต่ว่าพวกยักษ์โดยมากไม่เว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น จึงไม่เป็นที่ชอบใจ ไม่เป็นที่พอใจของพวกยักษ์เหล่านั้น สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีอยู่ที่เข้าไปอยู่ในป่า และบรรดายักษ์ทั้งหลายที่มีปกติอยู่ในป่านั้น พวกที่ไม่เลื่อมใสในปาพจน์ คือในพระธรรมวินัย หรือในพุทธศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ก็มี
       
       ฉะนั้น ก็ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอนุเคราะห์ ทรงรับฟัง รักขา(รักษา) เครื่องรักษาหรือปริตร เครื่องป้องกันอันชื่อว่า “อาฏานาฏิย” เพื่อความเลื่อมใสของบรรดายักษ์ทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อคุ้มครองรักษา เพื่อความไม่ต้องถูกเบียดเบียน เพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายดั่งนี้
       
       พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงรับโดยอาการดุษณีภาพคือนิ่ง
       
       ท้าวเวสวัณมหาราชครั้นทราบการรับของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงได้กล่าว อาฏานาฏิยรักขา หรือ อาฏานาฎิยปริตรนี้ในเวลานั้น ว่า
       
       ..ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้มีจักษุ ผู้มีสิริ
       ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระสิขีพุทธเจ้า ผู้มีปกติอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง
       ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้มีกิเลสอันล้างแล้ว ผู้มีตบะ
       ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระกกุสันธพุทธเจ้า ผู้ย่ำยีเสียซึ่งมารและเสนา
       ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระโกนาคมนพุทธเจ้า ผู้มีบาปอันลอยเสียแล้ว ผู้มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว
       ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระกัสสปพุทธเจ้า ผู้พ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง
       ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระอังคีรสพุทธเจ้า ผู้เป็นโอรสแห่งศากยราชผู้มีสิริ
       พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ได้ทรงแสดงแล้วซึ่งธรรมนี้ เป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวง
       
       อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดก็ดี ที่ดับกิเลสแล้วในโลก เห็นแจ้งธรรมตามเป็นจริง
       
       พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้ไม่มีความส่อเสียด เป็นผู้ใหญ่ ผู้มีความครั่นคร้ามไปปราศแล้ว เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย นอบน้อมอยู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้เป็นโคตมโคตร ผู้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เทพดา และมนุษย์ทั้งหลาย ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ใหญ่ ผู้มีความครั่นคร้ามไปปราศแล้ว
       
       ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนมัสการพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้โคตมโคตร ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ พระพุทธเจ้าเหล่านี้ก็ดี เหล่าอื่นก็ดี หลายร้อยโกฏิ พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ทั้งหมดเสมอกัน ไม่มีใครเหมือนฯ...
       
       ...ข้าพเจ้าขอวันทาพระบาทของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยเศียรเกล้า และขอวันทาพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้เป็นบุรุษอันอุดม ผู้เป็นตถาคต ด้วยวาจาและใจทีเดียว ในที่นอนด้วย ในที่นั่งด้วย ในที่ยืนด้วย แม้ในที่เดินด้วย ในกาลทุกเมื่อ พระพุทธเจ้าผู้กระทำความระงับ จงรักษาท่านด้วยสุข ในกาลทุกเมื่อ
       
       ท่านผู้อันพระพุทธเจ้าเหล่านั้นรักษาแล้ว จงเป็นผู้ระงับพ้นแล้วจากภัยทั้งปวง และพ้นแล้วจากโรคทั้งปวง เว้นแล้วจากความเดือดร้อนทั้งปวง ล่วงเสียซึ่งเวรทั้งปวง ท่านจงเป็นผู้ดับทุกข์ทั้งปวงด้วย ความจัญไรทั้งปวงจงเว้นไป โรคทั้งปวงจงฉิบหายไป อันตรายจงอย่าได้มีแก่ท่าน ขอท่านจงเป็นผู้มีสุข มีอายุยืน
       
       ธรรมทั้งหลาย ๔ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้อภิวาท กราบไหว้ต่อบุคคลควรอภิวาทกราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อบุคคลผู้เจริญเป็นนิตย์”
       
       บุรพชนผู้ฉลาด จึงได้นำ อาฏานาฏิยสูตร มาเป็นบทสวด เริ่มด้วยนมัสการพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ มีพระวิปัสสีพุทธเจ้าเป็นต้น ซึ่งขึ้นว่า “วิปสฺสิสฺสนมตฺถุ จกฺขุมนฺตสฺสิรีมโต”
       
       และโดยมากนั้นการสวดมนต์ในพิธีต่างๆ ก็มักจะสวดไปจนถึงพระองค์ที่ ๗ คือพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายที่มีพระนามว่า พระโคดมศากยบุตร และลงด้วยคำว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน พุทธํ วนฺทามิ โคตมนฺติ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนมัสการพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้โคตมโคตร ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ”
       
      อาฏานาฏิยสูตร ได้แสดงให้ทราบถึง การนอบน้อมในคุณพระพุทธเจ้า นำให้เกิดความปลอดภัยจากเหล่าภูตร้ายที่เป็นอันธพาล ด้วยประกาศิตของนายตน
       
       เมื่อเราหมั่นปฏิบัติตนเป็นผู้นอบน้อมในพระพุทธเจ้า ย่อมทำให้เราไม่เบียดเบียนใคร อันเป็นการนำตนให้พ้นจากอิทธิพลของอันธพาล ยังความปลอดภัยให้เกิดขึ้นแก่ตน ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวว่า นอบน้อมพุทธะ ย่อมชนะมาร
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 189 กันยายน 2559 โดย พระครูพิศาลสรนาท วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)

จาก http://astv.mobi/ALGkblE
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...