อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > ท่านพุทธทาสภิกขุ

การบวชอยู่ที่บ้าน ท่านพุทธทาส

<< < (2/5) > >>

ฐิตา:
นี่มัน เกิดโลภะ โทสะ โมหะ อย่างนี้แล้ว มันก็คือ เกิดไฟ, เกิดไฟขึ้นในจิตใจ ถ้ามีสติเสียแต่ในขณะผัสสะ แล้ว มันไม่เกิดอย่างนี้ มันกลายเป็นเกิดอีกทางหนึ่ง คือ ทางที่ให้รู้ว่า นี่อะไรนะ นี่อะไรนะ ควรทำอย่างไรนะ นี่ควรทำหรือไม่ควรทำ ควรทำอย่างไร ก็ทำไปตามที่ควรจะทำ ไม่มามัวยินดียินร้ายโกรธแค้นขัดเคืองอะไรอยู่ มันก็เลยไม่เกิดไฟ ไม่เกิดทุกข์ นี่เพราะ อำนาจสติ แท้ๆ ที่ป้องกันไว้ไม่ให้เกิดไฟขึ้นมา ในเมื่อมีการกระทบทางผัสสะ

เมื่อมีตัณหา เป็นความอยากแล้ว มันก็ ปรุงแต่ไปเป็น อุปาทาน คือ ผู้อยาก ความรู้สึกอยาก มันก็จะปรุง ให้เกิดความรู้สึกว่า มีผู้อยาก ซึ่งเป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนอะไร; พอมีผู้อยากแล้ว มันก็ถึงที่สุดแล้ว ที่มันจะเป็นเรื่องสำหรับจะเป็นทุกข์ทรมาน คือมันมีความรู้สึกหนัก ด้วยความมีตัวตน ความมีตัวตน, และเมื่อมีตัวตนแล้ว มันก็มีอะไรเป็นของตน.

เมื่อเกิดตนขึ้นมาอย่างนี้แล้ว เกิดตนในความรู้สึก ไม่ใช่ตัวจริงอะไร เพียงแต่ในความรู้สึกว่าตัวตน มันเกิดตัวตนอย่างนั้นแล้ว มันก็เอาอะไรๆ มาเป็นของตน ทั้งภายนอกและภายใน เช่น ยึดถือเอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มาเป็นของตน มันก็หนักเท่าไร ทุกข์เท่าไร ร้อนเท่าไร ทีนี้ ภายนอก มันก็ยึดถือเอา ทรัพย์สมบัติสิ่งของ บุตรภรรยาสามี เป็นต้นว่า เป็นของตน, มันก็หนักเท่าไร มันก็เลยหนักรอบด้าน หนักทุกทิศทุกทาง เพราะเมื่อผัสสะ ทำผิดเมื่อผัสสะ แล้วก็ ความทุกข์มันก็เกิด อย่างนี้.

ถ้ามีสติเมื่อผัสสะ คือได้ศึกษาฝึกฝนมาดี มีสติมีปัญญา แล้วก็มีสติมาทันเวลาที่มันมีอะไรมากระทบตา มันก็เป็นการกระทบที่ฉลาด เป็นสัมผัสที่ฉลาด คือสัมผัสด้วยสติ มันไม่หลงปล่อยให้กิเลสเกิด แต่มันกลับรู้ว่า ควรทำอย่างไร แล้วมันก็ทำไปในทางที่ควรทำ ให้เกิดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ไม่เกิดโทษ ถ้าไม่มีสติ มันก็ไปเกิดกิเลส แล้วมันก็เกิดโทษ มันเป็นได้อย่างนี้ทั้ง ๖ ทางคือ ทั้งทาง ตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ มีวิธีที่จะปรุงแต่งจนเกิดความทุกข์กันอย่างนี้

นี่เป็นวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ เรื่องของความทุกข์ ในเรื่องของความทุกข์ ตามหลักแห่งพุทธศาสนาเป็นหลักวิทยาศาสตร์ตามธรรมชาติ ในพระพุทธศาสนาว่ามีอยู่อย่างนี้ ความสุข และ ความทุกข์ มันเกิดขึ้น เพราะทำผิดหรือทำถูกในขณะแห่งผัสสะ; มันไม่ได้เกิดมาจากผีสางเทวดา เคราะห์ โชค ดวงดาวอะไรที่ไหน พระองค์จึงตรัสว่า มันไม่ได้เกี่ยวกับผลกรรมแต่ชาติก่อนด้วยซ้ำไป มันเกิดมาจากการกระทำผิดหรือกระทำถูก ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือผัสสะ นั่นเอง นี้เราก็มีผัสสะชนิดที่มีสติ เราจึงต้องมีสติ เพื่อจะได้ควบคุมผัสสะ

คำว่า สติ นั้นน่ะ มันประกอบอยู่ด้วยปัญญาเสมอ คำว่า สติ นั้น ต้องประกอบด้วยปัญญาอยู่เสมอ สติ คือ ระลึกได้ ระลึกก็คือ ระลึกความจริงของความจริงว่า เป็นอย่างไร นั้นคือ ปัญญา สติขนเอาปัญญามาทันเวลา ที่มีการกระทบทางอายตนะนี้, มันก็ รู้ว่าควรทำอย่างไร มันก็เลยทำไปในทางที่ไม่เกิดทุกข์ ไม่เกิดความรัก ไม่เกิดความโกรธ ไม่เกิดความเกลียด ไม่เกิดความกลัว ไม่เกิดความอิจฉาริษยา ไม่เกิดความหึงความหวง ไม่เกิดความอาลัยอาวรณ์ ไม่เกิดอะไรต่างๆ ที่เป็นที่ตั้งแห่งความทนทุกข์ทรมาน นี่เรียกว่า มีสติ

บวชอยู่ที่บ้าน แต่มีสติอย่างนี้ ลองคิดดูคำนวณดู; บวชอยู่ที่บ้านโดยการมีสติอย่างนี้ อยู่ที่บ้านมันดีกว่าที่บวชอยู่ที่วัดหลายๆ องค์ ที่ไม่ประสีประสาอะไร ไม่รู้จักแม้แต่ว่ามีสติคืออะไรด้วยซ้ำไป นี่ขอให้สนใจว่า ที่บ้านก็บวชได้ บวชได้อย่างยิ่ง ถ้ามีสติสมบูรณ์ ในลักษณะอย่างที่กล่าวมานี้.

เรามีหลักว่า ในขณะที่สัมผัส สัมผัสหรือกระทบต้องมีสติ เมื่ออะไรมากระทบจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องมีสติ ให้เป็นการสัมผัสสิ่งนั้นๆ ด้วยสติ ก็เรียกว่า สัมผัสด้วยวิชชา, สัมผัสด้วยปัญญา มีความลืมหูลืมตา ก็กระทำไปอย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาดใดๆ ไม่อาจจะเกิดทุกข์ได้ นี่เรียกว่า เราสัมผัสโลกด้วยสติปัญญาอยู่ทุกวันๆ ทุกวันๆ ทุกวันๆ สัมผัสโลก คือ สิ่งทั้งปวงที่มากระทบ ด้วยสติด้วยปัญญา อยู่ตลอดเวลา ก็ไม่เกิดความทุกข์

บวชอยู่ที่บ้าน เป็นนักบวชอยู่ที่บ้าน ทำได้อย่างนี้ ก็คือ ปฏิบัติสูงสุด ตามหลักพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว

นี่จำไว้ว่า ถ้าว่าทำผิดเมื่อผัสสะ คือเป็นสัมผัสด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา แล้วก็เกิดทุกข์ ถ้าสัมผัสด้วยวิชชา รู้จริงตามที่เป็นจริงอย่างไร เรียกว่า เป็นสัมผัสด้วยวิชชาแล้วก็ไม่เกิดทุกข์ ฉะนั้นอย่าได้มีการสัมผัสด้วยความโง่, อย่าได้มีการกระทบหรือรับอารมณ์ใดๆ ด้วยความโง่ แต่ให้รับหรือ รู้สึกอารมณ์นั้นๆ ด้วยสติ ด้วยปัญญา และให้ฝึกฝนอยู่เป็นประจำ

ฐิตา:


เรื่องนี้ พูดมันก็พูดได้ และพูดง่าย; แต่พอถึงคราวที่จะทำมันไม่ง่ายนัก มันอาจจะพลั้งเผลอ หรือทำไม่ได้ ต้องมีความทุกข์กันเสียก่อน ตั้งหลายครั้งหลายหนแล้วจึงค่อยๆ ทำได้ จึงค่อยๆ ทำได้ นี่มันจึงจะสำเร็จประโยชน์ ค่อยๆ ทำได้ ฉะนั้น จะต้องฝึกฝนอยู่ให้ดีที่สุด เหมือนที่เขาฝึกฝนอะไร ๆ ที่เขาพอใจ อย่างพวกที่เล่นกีฬา เล่นศิลปะหาเงินหาทอง เขาฝึกเหลือประมาณ เช่นว่าจะเตะตะกร้อลอดบ่วงได้ อย่างนี้ต้องฝึกเหลือประมาณ นี้ก็เหมือนกันแหละ เราก็ฝึกเหลือประมาณ ฝึกที่จะให้มีสติ ทุกครั้งที่ผัสสะ, แล้วถ้ามันล้มเหลว เผลอไป ก็ละอายๆ ละอายแก่ตัวเอง ว่าไม่สมควรแก่เราเลย ที่เป็นผู้ไม่มีสติ ขาดสติ พลั้งเผลอจนเกิดความทุกข์ เราไม่ได้เกิดมาเพื่อความทุกข์ แล้วทำไมจึงมากลายเป็นมาเกิดเพื่อความทุกข์อย่างนี้ ก็เสียใจอย่างยิ่ง ละอายอย่างยิ่ง ทุกๆ คราวที่พลั้งพลาด เผลอไป จนเกิดความทุกข์ ไม่เท่าไรมันก็จะไม่เผลอ ก็จะเผลอน้อยเข้าจนไม่เผลอ

อุปมาสมมติเหมือนอย่างว่า มันเดินตกร่อง ตกร่องที่นอกชาน หรือตกร่องที่ไหนก็ตาม มันเดินไม่ดี ไม่ดูให้ดี แล้วมันตกร่อง เดินตกร่องนั้นมันทั้งเจ็บด้วย แล้วมันทั้งน่าละอายด้วย ใครเห็นก็ละอายเขา ถ้าคอยสังวรอยู่ว่า มันเจ็บด้วย มันละอาย มันน่าละอายอย่างยิ่งด้วย ก็จะระวังดีขึ้น เมื่อระวังดีขึ้น มันก็ไม่ตกร่องอีกต่อไป นี่แหละการที่จะมีสติอย่างดีที่สุด ต่อสิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ นั้น ต้องตั้งใจอย่างนี้ ต้องอธิษฐานจิตอย่างดียิ่งที่จะไม่พลั้งเผลอ และกลัว ว่ามันเป็นทุกข์และละอาย ว่ามันเป็นสิ่งที่น่าละอาย

เดี๋ยวนี้เราไม่รู้สึกกันเสียทั้ง ๒ อย่าง หรือ ทั้งทุกอย่าง กลัวก็ไม่กลัว ละอายก็ไม่ละอาย มันก็เลยมีได้มากแล้วเป็นทุกข์อยู่ข้างใน; ก็เพราะว่าไม่มีใครรู้, แม้ว่าไม่มีใครรู้ แต่มันเป็นทุกข์อยู่ข้างใน ก็ขอให้กลัวและให้ละอายอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าที่มันมาข้างนอก จนคนอื่นเขารู้หรือเขาหัวเราะเยาะ

นี่ผู้ที่มีธรรมะแล้ว ก็จะต้องมีความกลัวและความละอายอย่างยิ่งอยู่ประจำตัว มีหิริ มีโอตตัปปะ ในธรรมะที่เป็นภายในอย่างนี้แหละ มีประโยชน์ดียิ่งกว่าที่เป็นภายนอก เป็นเรื่องภายนอก หมายความว่าที่ใครๆ เขารู้เขาเห็น ก็ยังไม่สำคัญเท่าที่ไม่มีใครรู้เห็น เรารู้เห็นของเราแต่คนเดียว นี่มันสำคัญมาก มันเสียหายมาก มันเป็นสิ่งที่จะยอมให้มีขึ้นมาไม่ได้

ขอให้สนใจ มีสติเท่านั้นแหละ มันก็รอดจากความทุกข์ในทุกกรณี มันไม่สร้างความทุกข์ขึ้นมาได้ เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ ไม่ต้องไปโทษผีสางเทวดา ซึ่งเป็นความโง่อย่างยิ่ง เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง มันโง่จนปล่อยให้ความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว นี้มันก็โง่หนึ่งแล้ว ทีนี้มันก็ไปโทษผีสางเทวดา มันก็เป็นอีกโง่หนึ่ง มัน ๒ โง่ ๓ โง่ ซ้ำเข้าไป แล้วมันก็น่าละอายสักเท่าไร ขอให้คิดดู

ความสุข และความทุกข์เกิดขึ้น เพราะเราทำผิดหรือทำถูกเมื่อมีผัสสะ ที่เรียกว่า ตามกฏอิทัปปัจจยตา, มีพระบาลีตรัสไว้ ซึ่งควรจะนึกถึงด้วยเหมือนกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า สุขทุกข์ไม่ได้เกิดมาจากพระเป็นเจ้า, สุขทุกข์ไม่ได้เกิดมาจากกรรมเก่า, และสุขทุกข์ก็ไม่ใช่ไม่มีเหตุ สุขทุกข์ก็มีเหตุ เหตุนั้นก็คือ ทำผิดหรือทำถูกต่อกฏอิทัปปัจจยตา ถ้าทำผิดต่อกฏอิทัปปัจจยตาก็เกิดทุกข์ ถ้าทำไม่ผิดก็ไม่เกิดทุกข์ ทำผิดต่อกฏอิทัปปัจจยตา ก็ทำเมื่อมีอารมณ์มากระทบนั่นเอง เมื่อมีผัสสะนั่นเอง, เป็นเวลาสำคัญที่สุด ที่จะต้องประพฤติให้ถูกต่อกฏอิทัปปัจจยตา แล้วมันก็ไม่เกิดความทุกข์

นี่ ถ้าทำสติได้ อย่างนี้ แม้บวชอยู่ที่บ้าน ก็ดีกว่าพวกที่บวชอยู่ที่วัดเป็นไหนๆ นี่พูดอย่างนี้มันชอบกลเหมือนกัน แล้วมันก็เสี่ยงอยู่ว่าจะอันตราย แต่ขอยืนยันว่า ถ้าบวชอยู่ที่บ้าน แล้วทำได้อย่างนี้ ดีกว่าพวกที่บวชอยู่ที่วัดโดยมากที่ไม่ทำอย่างนี้ ที่ไม่ได้ทำอย่างนี้ บวชละเมอๆ อยู่

ฐิตา:
๔. มีสมาธิ มุ่งนิพพานเป็นอารมณ์.

ทีนี้ อีกข้อต่อไป ก็ว่า มีสมาธิ กำหนดไว้ให้ดีๆ นะ

ข้อที่ ๑ มีสัทธา อย่างที่ว่ามาแล้ว
ข้อที่ ๒ มีวิริยะ
ข้อที่ ๓ มีสติ
นี้ข้อที่ ๔ มีสมาธิ, มีสมาธิ

สมาธิคืออะไร? ท่านบัญญัติความหมายไว้ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด เป็นสมาธิใหญ่หลวงมหาศาลเลยว่า สมาธิ คือ เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์, เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์. อาตมารู้สึกว่าบางคนฟังไม่ถูกก็งง ไม่รู้ว่าอะไร. เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ก็บอกเสียเลยว่า เอกัคคตาจิต คือ จิตที่มีความคิดเพียงสิ่งเดียว มุ่งเพียงสิ่งเดียว ตั้งอยู่ในสิ่งเดียว; เอกัคคะ แปลว่า มียอดยอดเดียว, เอกัคคตาจิต จิตที่มียอดยอดเดียว คือมันมุ่งอยู่ที่สิ่งสิ่งเดียว, นี้เรียกว่า เอกัคคตาจิต, และมัน มุ่งต่อพระนิพพานเท่านั้น, ไม่มุ่งต่ออันอื่น ก็เรียกว่ามันมีนิพพานเป็นอารมณ์. เอกัคคตาจิตที่มุ่งต่อพระนิพพานเป็นอารมณ์นั่นแหละคือใจความของสิ่งที่เรียกว่า สมาธิ มันจะทำสมาธิแบบไหน กี่แบบ กี่สิบแบบ ทำไปเถอะ ต่างๆ แปลกๆ กัน, ใจความของมัน มันก็อยู่ที่ความมุ่งพระนิพพานเป็นอารมณ์ของจิตที่ตั้งไว้ เป็นอารมณ์เดียว เป็นสิ่งเดียว.

จะพูดให้ง่ายที่สุดเดี๋ยวนี้ ก็พูดว่า หวังพระนิพพานเป็นอารมณ์อยู่ตลอดเวลานั่นแหละ; เมื่อรู้จักพระนิพพานพอสมควรแล้ว การที่หวังพระนิพพานอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละคือเอกัคคตาจิตที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์; อยู่ที่บ้านก็ทำได้, เมื่อกำลังเป็นทุกข์อยู่แล้วก็ยิ่งชวนให้ทำ, เป็นทุกข์ด้วยเรื่องใดๆ อยู่ ก็มุ่งต่อพระนิพพาน คือดับทุกข์เป็นอารมณ์. นี้โดยทั่วไปเราก็รู้ว่า เรามีชีวิตอยู่นี้เพื่อจะบรรลุนิพพาน จิตจึงมุ่งจ้องจดจ่ออยู่แต่พระนิพพานเพียงสิ่งเดียวเป็นอารมณ์ นี่คือความหมายของสมาธิ

ทีนี้ที่เขาทำสมาธิอย่างนั้น สมาธิอย่างโน้น เป็นขั้นตอนๆ หลายๆ ขั้นตอนน่ะ มันแยกซอยให้ละเอียด แต่เมื่อรวมความหมดแล้ว มันมุ่งต่อนิพพานเป็นอารมณ์. เช่นว่า สติกำหนดลมหายใจอยู่ ลมหายใจสั้น ลมหายใจยาว ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าก็ตามเถอะ, ทำจิตให้เป็นสมาธิด้วยการกำหนดอย่างนี้ แต่มันมีนิพพานเป็นอารมณ์ที่หวังอยู่ข้างหน้า, คือทำสมาธินี้เพื่อจะดับทุกข์สิ้นเชิงในปลายทาง ในจุดหมายปลายทาง, ทำสมาธิขึ้นมาแล้ว ก็ทำเป็นวิปัสสนา เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา. แล้วก็เบื่อหน่ายคลายกำหนัด ก็หลุดพ้น มีนิพพานเป็นอารมณ์ ฉะนั้น ความหมายนี้ดีที่สุดแล้วว่า สิ่งที่เรียกว่า สมาธินั้น คือ เอกัคคตาจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์.

ขอให้เราทุกคนดำรงจิตไว้ในลักษณะอย่างนี้ ในลักษณะอย่างนี้ คือว่ามีพระนิพพานเป็นที่หมาย มีพระนิพพานเป็นจุดหมาย, จะต้องถึงที่นั่นให้จงได้เร็วที่สุด โดยเร็วที่สุดเท่าไรก็ยิ่งดี. นี่คือ สมาธิที่มีประโยชน์ สมาธิโดยความหมายที่แท้จริง ที่มันมีประโยชน์ คือความมุ่งต่อพระนิพพานเป็นอารมณ์; อยู่ที่บ้านนั่นแหละ ทำอะไรก็ทำไปเถิด แต่ข้อใหญ่ใจความนั้นไม่ลืม ไม่ลืมว่าเรามีพระนิพพานเป็นที่จุดหมายปลายทาง ทั้งหมดที่เราทำนี้ มันจะรวมกันเข้า แล้วก็ไปสู่จุดหมายปลายทางคือนิพพาน.

ฐิตา:


สมมุติว่า จะทำนา มันก็หาข้าวให้ได้กินข้าว, ให้ได้กินข้าว แล้วก็มีชีวิตอยู่ แล้ว ก็ทำพระนิพพานให้แจ้ง. แม้แต่ ทำสวน ก็ได้เงินมากินมาใช้, ก็เพื่อจะมีชีวิตอยู่ เพื่อจะทำพระนิพพานให้แจ้ง. จะค้าขายหรืออาชีพอะไรอยู่ก็ตาม ต่อให้เป็นอาชีพถีบสามล้อเหงื่อไหลท่วมตัวอยู่ทั้งวันๆ มันก็ สามารถจะมีเอกัคคตาจิตที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้ โดยมุ่งหวังอยู่ว่า เราจะเลี้ยงชีวิตให้รอดอยู่ได้ เพื่อทำให้ปรากฏเฉพาะซึ่งภาวะที่ไม่มีความทุกข์เลย. ที่เรียกว่า นิพพาน คือชีวิตที่เยือกเย็น, ชีวิตที่เยือกเย็น ไม่มีความทุกข์เลย เรียกว่า นิพพาน เราจะมีที่นั่นเป็นจุดหมาย แม้ว่าจะทำงานอย่างต่ำ ล้างท่อถนน กวาดถนน ถีบสามล้อ แจงเรือจ้าง ก็ยังสามารถที่จะมุ่งพระนิพพานเป็นอารมณ์ ว่าจะต้องได้พบกันในโอกาสข้างหน้า

ทีนี้จะพูดให้สิ้นสุดเสียเลยว่า แม้เป็นคนขอทานนั่งขอทานอยู่ ก็ยังทำได้ เดี๋ยวนี้กูยังต้องขอทาน ก็ขอทานให้ชีวิตมันรอด ชีวิตมันรอดแล้วก็จะทำต่อไป, ปฏิบัติมีสติระวังสังวรเรื่อยไป แล้วก็จะมีนิพพานเป็นจุดหมายปลายทางได้เหมือนกัน. นี่ไม่ใช่แต่เป็นชาวบ้านธรรมดาแหละ; ให้เป็นขอทานอยู่ มันก็ยังมีโอกาส ยังมีความหวังจะมีสมาธิ; สมาธิ, สมาธิเรียกอย่างนี้แปลว่า เอกัคคตาจิตคือจิตดวงเดียว เดี่ยวโดด หนักแน่น มีพระนิพพานเป็นที่หมาย ฉะนั้น ใครๆ ทุกคน ที่เป็นฆราวาสอยู่ จงดำรงตนให้มีพระนิพพานเป็นที่หมาย เป็นจุดหมายปลายทาง ก็จะเรียกว่ามีสมาธิ เต็มตามความหมายของคำคำนี้

มีสติเป็นเครื่องชักนำให้จิตมีสมาธิ มีสติอย่างที่ว่ามาแล้ว ชักนำให้จิตมีสมาธิ รู้สึกตัวอยู่ เมื่อแรก ระลึกได้ แรกระลึกถึงความจริงความรู้อะไรได้ นี่ เรียกว่า มีสติ, ครั้นระลึกได้แล้ว รักษาความรู้นั้นไว้ ให้อยู่ยาวไป ก็เรียกว่า สติสัมปชัญญะ. สติกับสัมปชัญญะนั้น มันเป็นคู่แฝดกัน; สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว คือรักษาความระลึกได้นั้นให้ยังคงอยู่ เช่น สติระลึกถึงความถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา แวบขึ้นมาได้ แล้วก็รักษาไว้ นั่นก็คือ สัมปชัญญะ; สติกับสัมปชัญญะก็ต้องทำงานร่วมกันอย่างนี้ ฉะนั้นเรา ถ้ามีสติสัมปชัญญะแล้ว จะไม่ทำอะไรผิดพลาด จะทำอะไรถูกต้อง ได้รับผลดีของสิ่งที่ต้องทำ.

ฐิตา:
ทีนี้ก็ มีสมาธิ ก็หมายความว่า จิตมันมั่นคง ตั้งมั่น ขณะนั้นก็ไม่มีกิเลสรบกวน ขณะนั้นจิตก็ ว่องไวในการที่จะคิดจะนึก หรือจะทำหน้าที่ของจิต คำว่า ทำสมาธิ, ทำสมาธิไม่ใช่หมายถึงไปนั่งหลับตาตัวแข็งทื่อเป็นท่อนไม้, ไม่ใช่หมายความว่าอย่างนั้น หมายความว่า ทำทุกอย่างทุกทาง กล่อมเกลาจิตใจให้เป็นจิตที่มีจุดหมายเดียว อารมณ์เดียว ที่เรียกว่า เอกัคคตา, แล้วมันก็ปราศจากกิเลส แล้วมันก็เข็มแข็ง มันก็เข็มแข็ง เพราะมันรวมแสงรวมกำลัง แล้วมันก็ไวต่อหน้าที่ของมัน

จิตมีหน้าที่คิด จิตที่เป็นสมาธิจะไวต่อการคิด จิตที่ไม่เป็นสมาธิมันงุ่มง่ามเคอะคะ มันคิดไม่ได้ หรือมันไม่ไวต่อการคิด สมาธินั้นหมายความว่า จิตมีกำลังเข็มแข็งอยู่ที่จุดเดียว ไม่มีกิเลสรบกวน แล้วก็ว่องไวในหน้าที่ที่จะคิด จะนึก จะคิดจะนึก จะทำจะตัดสินใจ จะทำอะไรก็ตาม; ถ้าทำด้วยสมาธิมันทำได้ดี ทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ฉะนั้นคนที่มีหน้าที่จะต้องคิดจะต้องนึกจะต้องตัดสินใจ จะต้องสั่งงานผู้อื่น อะไรก็ตาม จะต้องทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิ

ทีนี้ก็ จะต้องฝึกให้เป็นสมาธิ มีสติชักหน่วงดึงจิตให้ติดอยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ตามเวลาที่ต้องการจะทำอะไร ตามเวลาที่ต้องการจะทำอะไร ทำด้วยสมาธิเสมอไป คือว่าจะมีสมาธิจิตตั้องแต่ก่อนทำ แล้วก็เมื่อกำลังทำ และทำเสร็จแล้วด้วย ตั้งแต่ก่อนทำ ก็มีสมาธิในเรื่องนั้น กำลังทำอยู่ ก็มีสมาธิในเรื่องนั้น ทำเสร็จแล้วก็มีสมาธิในเรื่องนั้น มันจะผิดได้อย่างไร ลองคิดดูเถอะ มันไม่มีทางที่จะผิดได้ มันมีแต่จะถูกถึงที่สุด

ทีนี้เรา บวชอยู่ที่บ้าน ก็หาโอกาสที่จะฝึกสมาธิ เวลาที่เอาไปใช้เหลวไหลเสียวันหนึ่งๆ ตั้งมากมาย ขอเปลี่ยนเอามาทำสมาธิ, และ เมื่อกำลังทำการงานอยู่ ก็ทำสมาธิได้ โดยทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ทำการงานอะไรอยู่ก็ตาม

ถ้าว่า เป็นชาวนา กำลังไถนาอยู่ กำลังไถนาอยู่ เดินตามหลังความยอยู่ ขอให้จิตมันอยู่ตรงที่ปลายไถนาอยู่ จิตอยู่ที่ปลายไถ ที่มันแหลมที่มันตัดดินอยู่ตรงนั้นเรื่อยไปมัน ก็เป็นการทำสมาธิตลอดเวลาที่ไถนา

ถ้าทำสวน เมื่อเอาจอบฟันดินลงไปกระทบดินยกขึ้นมานั้น ก็มีสมาธิอยู่ที่จอบมันตักดิน
เอาที่บ้านที่เรือนกันก็ได้, งานอื่นๆ นั่นมันมีค่า หรือว่ามันน่าดู. แต่เดี๋ยวนี้ เราเอางานชั้นต่ำสุดนะ ว่าถ้าเราจะต้องกวาดบ้าน กวาดพื้นบ้าน หรือกวาดลานบ้าน เมื่อกำลังกวาดอยู่นั้น ขอให้จิตมันกำหนดอยู่ที่ปลายไม้กวาดที่จดดิน ทำอย่างนั้นไม่ยาก จิตอยู่ที่ปลายไม้กวาด ที่จดดินอยู่เรื่อยไปๆ กวาดเรื่อยไป จิตอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา นี่เป็นสมาธิชั้นดี เป็นสมาธิชั้นดี

หรือว่าเมื่อล้างจาน, ก็ขอให้จิตมันอยู่ตรงที่ปลายนิ้วที่มันถูจาน เมื่อล้างจานธรรมดาสามัญ คนทั่วไปก็ต้องเอามือถูจาน ให้ปลายนิ้วที่ถูจานแตะจานอยู่ จิตกำหนดอยู่ที่ตรงนั้น จนกว่าจะล้างจานเสร็จ ก็เป็นการทำสมาธิที่ดีที่สุด เมื่อกำลังล้างจาน.

ทีนี้ เมื่อล้างหม้อ ล้างกะทะ ก็เหมือนกันนั่นแหละ; เมื่อเอาอะไรมาถูหม้อถูกะทะอยู่ เครื่องถูหม้อนั่นแหละ เมื่อมันจดจ่ออยู่กับหม้อหรือจดจ่ออยู่กับกะทะ มีจิตอยู่ที่ตรงนั้นสิ คุณก็เป็นผู้มีสมาธิ เหมือนกับนั่งสมาธิอยู่ในป่านั่นแหละ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ทำสมาธิที่บ้าน.

ถ้าว่าจะผ่าฟืน เอ้า, ผ่าฟืน สมาธิอยู่ที่คมขวาน เมื่อไม้ฟืนกระทบขวาน แล้วแต่จะผ่ากันท่าไหน แต่ที่ตรงคมขวานที่ชำแรกไม้ออกไปนั้น จิตอยู่ที่ตรงนั้น.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version