ผู้เขียน หัวข้อ: มัคคุเทศก์น้อยพาทัวร์ “ป้อมมหากาฬ” ปราการสุดท้ายแห่งพระนคร  (อ่าน 1852 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


มัคคุเทศก์น้อยพาทัวร์ “ป้อมมหากาฬ” ปราการสุดท้ายแห่งพระนคร

      ภายใต้เบื้องหลังป้อมปราการสีขาวอันเก่าแก่ย่านพระนคร สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ยังเหลือให้คนรุ่นหลังได้เห็นอยู่ สถาปัตยกรรมโบราณกว่า200 ปี ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม ต้นไม้อันศักดิ์สิทธิ์อายุนับร้อยที่กำลังต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มาพร้อมกับการพัฒนาเมือง
       
        ทว่าการรวมใจรักษาบ้านเกิดผ่านรูปแบบ “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” จะต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายที่กำลังรวยรินของพวกเขาได้หรือไม่นั้นคงเป็นคำถามที่ไม่อาจรู้ได้ . .

       
        หากใครเคยได้เดินทางผ่านหรือแวะเวียนไปยังบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ คงจะชินตากับภาพป้อมปราการสีขาวทรงสง่า หรือที่เรียกกันว่า “ป้อมมหากาฬ” ตั้งอยู่ตรงเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สิ้นสุดบริเวณฝั่งตรงข้ามวัดราชนัดดา ถือได้ว่าเป็นป้อมปราการอันเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 รวมระยะเวลามาแล้วกว่า 200 ปี
       
        “ป้อมมหากาฬ” เป็น 1 ใน 14 ป้อมที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันรักษาพระนคร ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ป้อมที่ยังคงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ (อีกป้อมหนึ่งคือป้อมพระสุเมร) ซึ่งทางกรมศิลปากรได้บูรณะซ่อมแซมและประกาศขึ้นทะเบียนป้อมมหากาฬไว้เป็นโบราณสถานแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว



       ด้วยระยะเวลามากกว่าร้อยปีที่เมืองเก่าแห่งนี้ยังมีชีวิตอยู่ได้ด้วยวิถีชีวิตชุมชน รวมถึงยังเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน วิถีการดำรงค์ชีวิตของชาวบ้านในชุมชนที่มีความผูกพันกับสถานที่ที่ถูกเรียกว่า “บ้าน” ในวันนี้กลับหายใจอ่อนลงทุกที และยังมองไม่เห็นอนาคตที่กำลังจะเกิดต่อจากนี้
       
        จากสาเหตุที่ทางกรุงเทพมหานครได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ทำให้ชุมชนในป้อมมหากาฬต้องถูกไล่รื้อเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ภาครัฐได้เสนอเงินค่าทดแทนและช่วยจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้ชาวบ้าน
       
        โดยบางส่วนรับข้อเสนอพร้อมย้ายออก แต่มีชาวบ้านบางส่วนที่ยืนหยัดตั้งมั่นว่าจะไม่ไปไหน เพราะที่แห่งนี้คือบ้านเกิดของเขา และได้มีการรวมพลังกันของเหล่าชาวบ้านพร้อมภาคประชาชนกลุ่มอื่นๆ ช่วยกันพัฒนาชุมชนหลังป้อมมหากาฬให้กลายเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” หรือที่เรียกว่า “Living Heritage Museum”
       
        แม้ลมหายใจจะรวยรินและยังไม่รู้ชะตากรรม แต่ในฝันร้ายที่ต้องเผชิญ ยังมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นเสมอ เห็นได้จากการรวมตัวช่วยเหลือของทั้งภาคประชาชน นักอนุรักษ์ นักวิชาการจากหลายส่วนที่เข้ามาช่วยพัฒนาให้ชุมชนแห่งนี้เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวชุมชน และแสดงให้เห็นว่าคนชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานและร่วมกันพัฒนาได้ ผ่านรูปแบบ “Mahakan Model”






       แน่นอนว่าเบื้องหลังปราการสีขาวยังเต็มไปด้วยวิถีชีวิตของผู้คนดั้งเดิม ทั้งบ้านเกิดของลิเกทรงเครื่องพระยาเพชรปาณี บ้านผลิตเครื่องดนตรีไทย ภูมิปัญญาด้านศิลปวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นการปั้นเศียรพ่อแก่ การทำกรงนกเขาชวาที่ยังมีชีวิตอยู่ให้เห็นในปัจจุบันนี้
       
        FEEL GOOD ได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนป้อมมหากาฬ แม้บรรยากาศจะดูซบเซาไปบ้าง แต่ความสดใสก็ยังมีให้เห็นอยู่ ผ่านมัคคุเทศก์ตัวน้อยที่ยืนประจำที่รอให้ความรู้แก่ผู้เยี่ยมชมในทุกซอกทุกซอย ไกด์นำเที่ยวของเราวันนี้คือ “น้องโอม-ชวินธร ธูปทอง” นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนวัดราชบพิธ หลังจากพาเราเดินชมบ้านโบราณและกิจกรรมภูมิปัญญาต่างๆ เราจึงอดถามไถ่เรื่องราวการเป็นมัคคุเทศก์น้อยไม่ได้ บทสนทนาระหว่างเราจึงเริ่มต้นขึ้น
       
        “ผมเริ่มเป็นมัคคุเทศก์น้อยมาเมื่อ 1ปีก่อนครับ คุณตาผมเขาเป็นประธานเริ่มโครงการมัคคุเทศก์น้อย เขาอบรมให้เด็กๆ รู้ประวัติความเป็นมาของบ้านเราครับ จะมีบ้านตำรวจวัง บ้านประปา บ้านหลอมทอง บ้านทำเครื่องดนตรีไทย และบ้านปั้นเศียรพ่อแก่ครับ”
       
        โอมเริ่มเล่าให้ฟังถึงการมาเป็นมัคคุเทศก์น้อยที่ชุมชนหลังป้อมมหากาฬ โดยเริ่มมาจากคุณตาซึ่งเป็นผู้นำโครงการมัคคุเทศก์น้อยให้เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ ก่อนจะบอกถึงจุดที่เขาได้ยืนประจำนั่นคือบริเวณต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่ชุมชนมายาวนาน และภารกิจสำคัญที่โอมต้องทำในฐานะมัคคุเทศก์ตัวจิ๋ว






      “ปกติผมจะประจำอยู่ที่ต้นโพธิ ไทร ไกร กร่าง ครับ เป็นต้นไม้ที่อนุรักษ์ไว้ มีความเชื่อว่ามีเทพสิงสถิตย์อยู่ในต้นไม้ครับ ส่วนมัคคุเทศก์น้อยที่ผมทำคือไม่ได้ทำ 2-3คนนะครับ ผมทำเกิน 50 คนขึ้นไป แต่ตอนนี้ร่อยหรอเหลือ 10 คน
       
        เวลาคนมาที่นี่ขอให้ผมเป็นไกด์นำทัวร์ ผมก็ทัวร์ให้ได้ครับ แต่ถ้าฝรั่งมายังยากไป ได้แค่คำทักทายครับ ผมเดินนำทัวร์ตั้งแต่ 8 โมง ถึง 6 โมงเย็น ผมจะเป็นไกด์วันเสาร์-อาทิตย์ และวันธรรมดาถ้าเขามีจัดงานผมก็มาเป็นมัคคุเทศก์น้อยให้ด้วยครับ”
       
        แม้โอมจะอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เป็นเวลาเพียงแค่ 10 ปี ทว่าความรักและความผูกพันที่โยงใยกับสถานที่ที่เรียกว่าบ้าน แทบจะไม่ได้มีขนาดเล็กไปกว่าผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่อาศัยในชุมชนแห่งนี้ เด็กชายบอกกับเราด้วยคำพูดและท่าทีที่ใสซื่อ
       
        “ผมอยากให้อยู่ครับ เพราะนี่คือบ้านเกิดของผมครับ ผมรักที่นี่ไม่อยากให้มันหายไป ถ้าหายไปมันก็ไร้ค่า ไม่เหลือแม้แต่บ้านหนึ่งหลัง แม้แต่เศษไม้หนึ่งก้อนก็จะไม่เหลือครับ แล้วพวกเราก็จะไม่ได้เจอกันอีกเลย”-โอม มัคคุเทศก์ตัวน้อยบอกกับเราผ่านแววตาที่โศกเศร้า
       
        อย่างไรก็ตาม การร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อที่จะสร้าง Mahakan Model ทำให้เราเห็นถึงความตั้งใจที่จะพัฒนาและอนุรักษ์รักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิต ความดั้งเดิม บนสถานที่ที่ถูกรายล้อมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของชุมชนเก่าย่านชานนคร
       
        แม้ลมหายใจเบื้องหลังป้อมปราการแห่งนี้อาจได้ยินเสียงเบาบางลงทุกที แต่กำลังใจอันยิ่งใหญ่ที่คนในชุมชนหยิบยื่นให้กันนั้น แสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขารักสถานที่ที่เรียกว่า “บ้าน” มากถึงเพียงใด
       
  ชมภาพ




































จาก http://astv.mobi/AJsrdg5

เพิ่มเติม รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เท่ากับ ลบ ประวัติศาสตร์ของ กรุงเทพฯ http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11742.0.html

http://www.sookjai.com/index.php?topic=178664.0
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...