ผู้เขียน หัวข้อ: “ทวารทั้ง 6 นรกสวรรค์ เกิดอยู่ที่นั่น ดับมันนิพพาน”  (อ่าน 1237 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



“ทวารทั้ง 6 นรกสวรรค์ เกิดอยู่ที่นั่น ดับมันนิพพาน”

โดย...ไพรัตน์ แย้มโกสุม
     
จิตของมนุษย์ทุกคนมีความว่างเป็นพื้นฐาน เพียงแต่ผัสสะจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เข้ามาก่อกวน ทำให้ความว่างของจิตเสียไป ถ้าเราสามารถสกัดผัสสะเหล่านี้ทางทวารทั้ง 6 ได้ จิตจะว่างเข้าสู่สุญญตาเองโดยอัตโนมัติ
       
กลวิธีในการสกัดไม่ใช่การเข้าไปทำลาย เพียงแต่กำหนดสติเฝ้าดูผัสสะทั้งหลายที่เกิดจากทวารทั้ง 6 จนหยั่งรู้เกิดปัญญาว่าสิ่งที่รับรู้นั้นเป็นมายา ไม่มีอยู่จริง เกิด-ดับ เกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่เฝ้าดูไม่ต้องต่อสู้หรือทำลายสิ่งเร้าและผัสสะทั้งหลาย มันก็พร้อมจะสลายตัวไปเองอยู่แล้วตามธรรมชาติ
       
ความผิดพลาดของมนุษย์คือ ไม่รู้เท่าทัน การเกิด-ดับของสิ่งที่เกิดขึ้น และรับเอาสิ่งนั้นเข้าสู่ใจ ก่อให้เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน (ตัวกู-ของกู) ตามมา ซึ่งจะดับยากกว่าผัสสะที่ได้รับมา และแม้ภายหลังสิ่งเร้าอายตนะทั้งหลายดับไปแล้ว เวทนา ตัณหา ก็ไม่ได้ดับตามไปด้วย ยังคงแฝงตัวอยู่ในจิต และพร้อมจะแสดงออกมาในรูปของวิบากกรรมต่อไปในอนาคต
       
หัวใจสำคัญของการตัดกรรมอยู่ที่ทวารทั้ง 6 นี่เอง ใช้สติสัมปชัญญะเฝ้าดูบริเวณปากทวาร อย่าให้กระทบเข้าสู่ใจ แม้บางครั้งจะมีหลุดลอดเข้าสู่สมองบ้าง แต่อย่าให้หลุดเข้าสู่ใจ สมองเป็นเรื่องของความคิด แต่ใจเป็นเรื่องของความรู้สึก ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ อยาก ไม่อยากทั้งหลายเหล่านี้ คือจุดเริ่มต้นของกรรมทั้งสิ้น

       
       ...(ทันตแพทย์สม สุจีรา, ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง, สำนักพิมพ์อมรินทร์)




ทวารทั้ง 6
       
“ทวาร” แปลว่า ประตู, ช่อง, ทาง   
   
“อายตนะ 12” คือสิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ หรือแดนต่อแดนเกิดแห่งความรู้มี 2 อย่างคือ อายตนะภายใน 6 และอายตนะภายนอก 6
       
“อายตนะภายใน 6” คือที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือแดนต่อความรู้ฝ่ายภายใน ได้แก่... ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง 6 นี้เรียกอีกอย่างว่า อินทรีย์ 6 เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนแต่ละอย่าง เช่น ตา เป็นเจ้าการในการเห็น เป็นต้น
       
“อายตนะภายนอก 6” คือที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือแดนต่อความรู้ฝ่ายภายนอก ได้แก่... รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ทั้ง 6 นี้เรียกทั่วไปว่า อารมณ์ 6 คือเป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง
       
“ผัสสะ หรือ ผัสสะ 6” คือความกระทบ หรือความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ ได้แก่...       
       1. จักขุสัมผัส (ความกระทบทางตา) คือ ตา+รูป+จักขุวิญญาณ     
       2. โสตสัมผัส (ความกระทบทางหู) คือ หู+เสียง+โสตวิญญาณ     
       3. ฆานสัมผัส (ความกระทบทางจมูก) คือ จมูก+กลิ่น+ฆานวิญญาณ       
       4. ชิวหาสัมผัส (ความกระทบทางลิ้น) คือ ลิ้น+รส+ชิวหาวิญญาณ     
       5. กายสัมผัส (ความกระทบทางกาย) คือ กาย+โผฏฐัพพะ+กายวิญญาณ     
       6. มโนสัมผัส (ความกระทบทางใจ) คือ ใจ+ธรรมารมณ์+มโนวิญญาณ

อายตนะภายใน ผัสสะ อายตนะภายนอก วิญญาณ 4 อย่างนี้เป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าไปต่อ สวรรค์ นรก อยู่ที่นั่น ถ้าไม่ไปต่อ นิพพาน อยู่ที่นั่น
       
       “ล้อผัสสะ” ผมเขียนชื่อเพื่อให้จำง่าย เข้าใจง่าย ผ่อนคลาย สบายๆ ว่า...       
       1. ตากระทบรูป สักแต่ว่า รูป ฮ่าๆๆ ตถตา เช่นนั้นเอง     
       2. หูกระทบเสียง สักแต่ว่า เสียง ฮ่าๆๆ ตถตา เช่นนั้นเอง       
       3. จมูกกระทบกลิ่น สักแต่ว่า กลิ่น ฮ่าๆๆ ตถตา เช่นนั้นเอง       
       4. ลิ้นกระทบรส สักแต่ว่า รส ฮ่าๆๆ ตถตา เช่นนั้นเอง     
       5. กายกระทบโผฏฐัพพะ สักแต่ว่า โผฏฐัพพะ ฮ่าๆๆ ตถตา เช่นนั้นเอง       
       6. ใจกระทบธรรมารมณ์ สักแต่ว่า ธรรมารมณ์ ฮ่าๆๆ ตถตา เช่นนั้นเอง     
       (ขยายความข้อ 1 ตาคืออายตนะภายใน กระทบคือผัสสะ รูปคืออายตนะภายนอก สักแต่ว่าคือวิญญาณหรือตัวรู้ เป็นต้น)
       
“ตถตา” ความเป็นเช่นนั้นเอง ถ้าเป็นสังขาร ก็ปรุงแต่งต่อไป ทุกข์ต่อไป ถ้าเป็นวิสังขารก็หยุดการปรุงแต่ง หมดทุกข์หมดโศก มีแต่โล่ง โปร่ง เบา เห็นสรรพสิ่งแล้วก็น่าสงสาร และอดขำไม่ได้ฮ่าๆๆ




เรื่องทวารทั้ง 6 ผู้ที่อธิบายได้ลึกซึ้ง เข้าใจง่าย อีกท่านหนึ่งคือ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร พระบูรพาจารย์ ท่านกล่าวว่า...
       
    ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เลื่อมประภัสสรแจ้งสว่างมาเดิน แต่อาศัยอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เป็นอาคันตุกะ สัญจรมาปกคลุมหุ้มห่อ จึงทำให้จิตมิส่องแสงสว่างได้ ท่านเปรียบไว้ในบทกลอนหนึ่งว่า...   
 
    “ไม้ชะงกหกพันง่า (กิ่ง) กะปอมก่า (กิ้งก่า) ขึ้นมื้อฮ้อย กะปอมน้อยขึ้นมื้อพัน ครั้นตัวมาบ่ทัน ขึ้นนำคู่มื้อๆ” 
   
    โดยอธิบายว่า คำว่าไม้ชะงก 6,000 ง่านั้น เมื่อตัดศูนย์ 3 ศูนย์ออกเสีย เหลือแต่ 6 คงได้ความว่า ทวารทั้ง 6 เป็นที่มาแห่งกะปอมก่า คือของปลอม ไม่ใช่ของจริง
       
กิเลสทั้งหลายไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งสัญจรเข้ามาในทวารทั้ง 6 นับร้อยนับพัน มิใช่แต่เท่านั้น กิเลสทั้งหลาย ที่ยังไม่เกิดมีขึ้น ก็จะมีทวียิ่งๆ ขึ้นทุกๆ วัน ในเมื่อไม่แสวงหาทางแก้
       
ธรรมชาติของจิต เป็นของผ่องใส ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด แต่อาศัยของปลอม กล่าวคือ อุปกิเลสที่สัญจรเข้ามาปกคลุม จึงทำให้หมดรัศมี ดุจพระอาทิตย์เมื่อเมฆบดบัง ฉะนั้น อย่าพึงเข้าใจว่า พระอาทิตย์เข้าไปหาเมฆ เมฆไหลมาบดบังพระอาทิตย์ต่างหาก
       
ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลาย เมื่อรู้โดยปริยายนี้แล้ว พึงกำจัดของปลอมด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย ตามที่อธิบายแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาข้อ 9 นั้นเถิด
       
เมื่อทำจิตให้ถึงขั้นฐีติจิตแล้ว ชื่อว่าย่อมทำลายของปลอมได้หมดสิ้น หรือว่าของปลอมย่อมเข้าไม่ถึงฐีติจิต เพราะสะพานเชื่อมต่อถูกทำลายขาดสะบั้นลงแล้ว แม้ยังต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของโลกอยู่ ก็ย่อมเป็นดุจน้ำกลิ้งบนใบบัว ฉะนั้น

       
       ...(บูรพาจารย์ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต)





นรกสวรรค์
       
นรก หมายถึง ความร้อนใจ ผู้ใดมีความร้อนใจที่ไหน เมื่อไร ผู้นั้นตกนรกที่นั่น และเมื่อนั้นไม่ต้องรอต่อเมื่อตายแล้ว นรกที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ ความแผดเผาในจิตใจ ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู ว่าของกู นั่นเอง

นรก คือ ความเดือดร้อนอยู่เหมือนไฟเผา มองดูตัวเองแล้วขยะแขยง ไม่เคารพตัวเองได้     
นรก คือ ความร้อนใจ เดือดร้อนใจ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ มันก็มาจากความเห็นแก่ตัว
       
สวรรค์ คือ ความพอใจในตัวเองอย่างยิ่ง สวรรค์ในภาษาคน ก็หมายถึงเทวโลกอันงดงามอยู่เบื้องบน ที่ใฝ่ฝันกันนัก ทำบุญสักบาทหนึ่ง ก็จะเอาวิมานหลังหนึ่ง มีนางฟ้าเป็นร้อยๆ พันๆ     
 
สวรรค์ในภาษาธรรมะ หมายถึง กามคุณ หรือยอดสุดของกามคุณ เป็นต้น ที่ทำให้คนลุ่มหลงนี้เรียกว่า สวรรค์ชั้นกามาวจร ถ้าเป็นสวรรค์ชั้นพรหมโลก ก็หมายถึงความว่างจากกามารมณ์ มีความสบายใจเพราะไม่ถูกกามารมณ์รบกวน เหมือนอย่างว่า คนคนหนึ่งเมื่อมีความหิวในกามารมณ์ บริโภคกามารมณ์เสร็จแล้ว ไม่อยากแตะต้องกามารมณ์อีกต่อไป ในเวลานั้นต้องการอยู่ว่างๆ เงียบๆ จืดๆ นี้ก็คือความรู้สึกที่ว่างจากกามารมณ์ ที่พอจะเทียบกันได้กับคุณสมบัติของพวกพรหม หรือพรหมโลก
       
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า สวรรค์ชั้นธรรมดา ก็คือสมบูรณ์ไปด้วยกามารมณ์ สวรรค์ชั้นสูงสุด เช่น ปรนิมมิตวสวัตดี ก็คือสมบูรณ์ไปด้วยยอดสุดของกามารมณ์ สวรรค์ชั้นพรหมโลก ก็คือว่างจากการเบียดเบียนของกามารมณ์ แต่ยังมีตัวตน มีตัวกูอยู่
       
นรก-สวรรค์ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า นรกอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ที่ว่า ทำผิด หรือทำถูก อาตมาไม่ได้ยกเลิกนรกสวรรค์ แต่บอกนรกหรือสวรรค์ที่จริงกว่า ที่แท้กว่า ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ แล้วมันก็ควบคุมไปถึงนรกสวรรค์ต่อตายแล้ว นรกสวรรค์ชนิดอื่น ที่ไหนก็ตามขึ้นอยู่กับนรกสวรรค์นี้

       
       ...(พจนานุกรมธรรม ของท่านพุทธทาส)



เกิดอยู่ที่นั่น
       
นรก สวรรค์ เกิดอยู่ที่นั่น ก็คืออยู่ที่ทวารทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นแล
       
เมื่ออายตนะภายใน กระทบกับอายตนะภายนอก เกิดวิญญาณ แล้วไม่ยอมหยุด สืบต่อเป็นเวทนา รู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ไม่หยุด ต่ออีก เป็นตัณหา อุปาทาน ไปเรื่อยๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น
       
ถ้าเรารู้ทัน มันก็หยุด ถ้าไม่รู้ทันมันก็ไหลไปเรื่อยๆ สมมติตากระทบรูป ก็สักแต่ว่ารูป ฮ่าๆๆ ตถตาเช่นนั้นเอง
       
ฮ่าๆๆ กะปอมก่า มาทำไม ฮ่าๆๆ มายาเจ้าขามาอีกแล้ว ฮ่าๆๆ มาล่าเหยื่อรึ ฉันไม่หลงกับแกหรอก ฯลฯ อย่างนี้ เรียกว่ารู้ทัน เพราะมีสติเฝ้าดูอยู่ที่ทวารทั้ง 6
       
สมมติ ตากระทบรูป ไม่หยุด ไปต่อ เกิดเวทนา ยินดีก็เป็นสวรรค์ ยินร้ายก็เป็นนรก อย่างนี้คือไม่รู้ทัน
       
สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ หรือสุขทุกข์อยู่ที่ใจตนเอง ก็อยู่ตรงนี้ ตรงทวารทั้ง 6 เมื่อผัสสะเกิดเวทนา สุขก็สวรรค์ ทุกข์ก็นรก ทั้งสุขและทุกข์ ก็เป็นสิ่งเดียวกัน คือสุข เพราะมีทุกข์น้อย และทุกข์เพราะมีทุกข์มาก หรือมีสุขน้อย
       
พุทธศาสนา สอนเรื่องทุกข์ และการดับทุกข์ การปล่อยให้ทุกข์ไปต่อเรื่อยๆ แสดงว่าไม่รู้ไม่เข้าใจพุทธศาสนา รู้แต่พุทธพาณิชย์กระมัง?

   


ดับมันนิพพาน
       
ทวารทั้ง 6 นอกจากจะเป็นที่เกิด นรก สวรรค์แล้ว ยังเป็นที่เกิดนิพพานด้วย คือ เมื่อผัสสะหรือกระทบ มีสติรู้ทัน หยุดอยู่ที่นั่น ไม่ไปต่อ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ฯลฯ
       
ตากระทบรูป สักแต่ว่ารูป หูกระทบเสียง สักแต่ว่าเสียง เป็นต้น ทุกประตู ทุกช่อง ทุกทาง หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ไปต่อ ไม่ปรุงต่อมี 6 ประตูก็เหมือนไม่มี เพราะคำว่า “สักแต่ว่า” เพียงคำเดียว “สักแต่ว่า” ก็เหมือนคำว่า “ดับ” นั่นเอง
       
ดับอะไร? ดับทวารทั้ง 6 คือทวาร 6 ไม่หลงไปตามกิเลส ไม่ยอมเป็นเหยื่อของปลอม ได้แก่ เฝ้าดู และขบขัน
ท่านผู้รู้ทั้งหลาย อาจจะย้อนแย้งสงสัยว่า นิพพานอะไร มันจะง่ายอย่างนั้น       
ก็ขอตอบว่า...มันก็เพียงแค่ความคิดธรรมดาๆ ของคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง
   
   
ลองฟังความคิดของท่านผู้รู้จริง หรือผู้ตื่นรู้บ้าง...     
 
นิพพาน แปลว่าเย็น พูดให้ชัดลงไปว่า นิพพานนั้นคือภาวะที่อายตนะเป็นของเย็น อายตนะก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เป็นสื่อ หรือทางสำหรับติดต่อกับภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อยู่ข้างนอก

นิพพาน คือ ภาวะที่อายตนะนั้นเป็นของเย็น ถ้าเราปล่อยไปตามความโลภ โกรธ หลง อายตนะจะเป็นของร้อนตลอดเวลา   
   
นิพพาน หมายถึง เย็นหรือดับ เย็นลงเหมือนกับไฟที่เย็นลง หรือของร้อนๆ เย็นลงนั่นแหละคือ อาการของนิพพานล่ะ
       

       ...(พจนานุกรมธรรม ของท่านพุทธทาส)



ปราชญ์ทางพุทธปรัชญาคนหนึ่ง ถามอาจารย์ไดสุ ว่า...   
   
“อะไรคือมหานิรวาณ” (นิพพาน)       
“คือการไม่ผูกพันตัวเองอยู่กับกรรมที่ก่อให้เกิด ความเกิดและความตาย” อาจารย์ไดสุ ตอบ

“อะไรคือกรรมที่ก่อให้เกิดความเกิดและความตาย” นักปราชญ์ถามต่อ       
“การแสวงหามหานิรวาณ (นิพพาน) คือกรรมที่ก่อให้เกิด ความเกิดและความตาย การสละกิเลส และยึดมั่นอยู่กับความบริสุทธิ์ คือกรรมที่ก่อให้เกิด ความเกิดและความตาย ที่ใดประกอบด้วยความปรารถนา และการบรรลุถึงความปรารถนา ที่นั่นย่อมมีกรรมที่ก่อให้เกิด ความเกิดและความตาย การไม่ยอมขจัดความคิดที่แบ่งแยกสิ่งต่างๆ ออกเป็นสิ่งตรงกันข้ามกันออกไป คือกรรมที่ก่อให้เกิด ความเกิดและความตาย”
       
“ดังนั้น เราจะเข้าถึงการไถ่ถอนซึ่งผลกรรมทั้งสิ้นได้อย่างไร เราจะหลุดพ้นได้อย่างไร” นักปราชญ์ถามต่ออย่างสงสัย
       
อาจารย์ไดสุ ตอบว่า... “เราบริสุทธิ์ตั้งแต่แรกมาแล้ว เราไม่ได้ตกอยู่ในห้วงกรรม หรือพันธนาการใดๆ เลย ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องแสวงหาความหลุดพ้น “เพียงแต่ใช้”... “เพียงแต่กระทำ” นี่แหละไม่อาจหาสิ่งใดเปรียบด้วยได้”
       
คำว่า “เพียงแต่ใช้”... “เพียงแต่กระทำ” ของอาจารย์ไดสุ หมายถึงอะไรเล่า เหตุใดจึงยิ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น ยิ่งใหญ่อย่างไม่มีอะไรเปรียบปาน ที่จริงอาจารย์ไดสุ เพียงต้องการพูดกับเราว่า...
       
“จงหยุดนิสัยที่ใคร่รู้ของเธอเสีย จงหยุดความคิดที่วุ่นวายสับสนของเธอเสีย หยุดการแสวงหาไขว่คว้าอันว่างเปล่านั้นเสียด้วย จงมองดูซิ จงมองดูนกที่เหินบินอยู่ในท้องนภา มองดูปลาที่แหวกว่ายอยู่ในสายน้ำ มันช่างอิสระ และมีความสุขยิ่ง หากเธอเป็นได้เพียงแค่นกและปลา เธอคงจะมีความสุขยิ่งใหญ่กว่านี้”

       
      ...(ปรัชญาแห่งนิกายเซน โพธิสัตวธรรม โดย พจนา จันทรสันติ สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)




“ทวารทั้ง 6 นรกสวรรค์ เกิดอยู่ที่นั่น ดับมันนิพพาน”
     
ชีวิตนี้ช่างรอบรู้มาก และยิ่งใหญ่เสียจริงๆ ต่างคนต่างแสวงหา เพื่อให้รู้มากๆ และยิ่งใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นไป การแสวงหานั้น เป็นสิ่งที่ดี และมีคุณค่า แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่เราแสวงหานั้น มันคือความว่างเปล่า แล้วแสวงหา-ไปหาอะไร?


จาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000014391
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...