ผู้เขียน หัวข้อ: The Light of Asia ประทีปแห่งทวีปเอเชีย : ปริเฉทที่ 1 ชาติกถา  (อ่าน 1973 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ผู้แต่ง : Sir Edwin Arnold (first published 1879)
ผู้แปล : เจ้าศักดิ์ประเสริฐ นครจำปาศักดิ์ 2483


การที่ข้าพเจ้าสามารถประพันธ์เรื่องพระจรรยาและพระลัทธิ อีกทั้งสามารถเผยแผ่พระอัธยาตมวิทยาแห่งพระองค์สมเด็จพระสมณโคมดม ผู้เป็นเจ้าแห่งชนชาติฮินดู ซึ่งเป็นผู้ทรงพระคุณธรรมอันสุขุมคัมภีรภาพ และผู้ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนา อันประกอบด้วยสัมมาสัมโพธิญาณในกาพย์คดีเล่มนี้ได้นั้น ก็โดยได้อาศัยการถ่ายเทมาจากพุทธศาสนิกชน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมะอันเคร่งครัดผู้หนึ่ง

แม้ว่าพระพุทธศาสนาได้อุบัติมาแล้วตั้งแต่ 2,400 ปีกว่า ก็ยังมีผู้ที่เคารพนับถือมากมาย ทั้งยังคงเจริญอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ อีกทั้งได้ไพศาลไปในเหล่าประเทศทั้งปวงมากหลายจนแม้แต่ในประเทศ ซึ่งมีความเชื่อถือในลัทธิอย่างอื่น ก็ได้ไพศาลไปในประเทศเหล่านั้นเหมือนกันก็ดี แต่ว่าในประเทศยุโรปนั้น นับแต่กาลสมัยก่อนๆ เป็นลำดับมา จนกระทั่งกาลสมัยที่พึ่งล่วงมาแล้วนี้เอง ไม่ทราบหรือแทบจะไม่เข้าใจเลยว่า เรื่องราวของพระพุทธศาสนาอันเจริญรุ่งเรืองอยู่ในทวีปอาเซียนี้ เป็นอย่างไรบ้าง จำนวนคนตั้ง 470 ล้านคน เป็นและตายอยู่ภายใต้ธรรมะบรรทัดฐานแห่งองค์สมเด็จพระสมณโคดม และความไพศาลอันรุ่งเรืองด้วยความศรัทธาในพระศาสนาของพระองค์ ซึ่งเป็นพระบรมศาสดาจารย์แต่โบราณกาล

ณ กาลทุกวันนี้ ก็กำลังเจริญอยู่ในแว่นแคว้นเนปาล เกาะลังกา ทั่วทุกคาบสมุทรแห่งภาคบุรพทิศ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน ทวีปอาเซียภาคกลาง ประเทศไซบีเรีย และตลอดจนกระทั่งแม้แต่ที่ลาโปเนียของสวีเด็น ส่วนในประเทศอินเดียที่เป็นประเทศซึ่งแต่เดิมก็นับเนื่องอยู่ในพระราช อาณาจักรอันรุ่งเรือง ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งพระพุทธศาสนา แต่บัดนี้ พระพุทธศาสนาแทบจะเสื่อมความนิยมนับถือเสียสิ้นแล้วก็ดี แต่โดยเหตุที่พระพุทธศาสนานี้ ประกอบด้วยพระคุณธรรมอันจะลบล้างล้มเลิกเสียมิได้ พระโอวาทของสมเด็จพระสมณโคดมยังจารึกอยู่จึงสามารถแทรกแซงอยู่เหนือลัทธิ ประเพณีพราหมณ์สมัยใหม่ได้ บรรดาความนิยมและความเชื่อถือของชาวฮินดูซึ่งปรากฏเด่นชัดยิ่ง ก็นอบน้อมอย่างละมุนละม่อมไปข้างลัทธิของพระพุทธเจ้า

เมื่อเป็นดังนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า มีมหาชนมากกว่าเศษหนึ่งส่วนสามของจำนวนมนุษย์ทั้งโลก ต้องนับถือเคารพในพระจรรยานุวัตร และพระศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงไว้ซึ่งบารมีพระองค์นี้ ซึ่งแม้แต่เรื่องราวของพระองค์จะมีความบกพร่อง โดยเหตุที่จำลองให้แจ้งแสดงให้ปรากฏไม่ได้บริบูรณ์สืบๆ กันมาก็ดี ก็ยังกระทำให้น่าเชื่อว่า พระองค์เป็นเอกอัครมหาบุรุษในตำนานแห่งความคิดทางใจ เป็นองค์ที่ควรได้รับความรัก ความเคารพอย่างเอก เป็นองค์ผู้ทรงบริสุทธิ์ มีธรรมเมตตากรุณาเอ็นดูแก่สัตว์โลกทั้งปวงอย่างยิ่ง จนหาผู้ใดในประวัติแห่งผู้ทรงไว้ซึ่งความคิด ความวิจารณ์ทางใจมาเสมอเหมือนพระองค์เสียมิได้

ถึงแม้ว่าพระคัมภีร์ทั้งปวง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของพระพุทธศาสนา มีแตกต่างกันบ้างเฉพาะในพลความบางข้อ จนกระทั่งถึงบางข้อบางเรื่อง กระทำให้เป็นมลทินมัวหมองแก่พระศาสนา โดยเกิดจากการประดิษฐ์ต่อเติมด้วยความหวังอันผิดและความบกพร่องในการตกแต่งคัดลอกก็ดี ก็ไม่มีข้อใด คำใดที่อาจทำให้ความบริสุทธิ์อันสดใสยิ่งลดน้อยลง โดยพระบารมีของพระบรมศาสดาจารย์ของชาวอินเดีย ผู้มีพระปัญญาอันทรงพระคุณธรรมวิเศษอย่างล้ำเลิศและเคร่งครัดยิ่ง ในการที่ทรงทรมาน (ซึ่งแม้พระองค์เป็นถึงลูกกษัตริย์ก็ดี) เพื่อประโยชน์แก่มนุษยโลกทั่วไป

อนึ่ง ถึงแม้ว่ามองสิเออร์บาร์เทเลอมี-แซงต์อีแลร์ ได้มีอรรถาธิบายในเรื่องพระพุทธศาสนาผิดถนัดไปบางข้อก็ดี ศาสตราจารย์ มักซ์มุลเลช์ ก็ยังรับรองว่าถูกต้อง ในตอนที่มองสิเออร์บาร์เทเลอมี-แซงต์อีแลร์ กล่าวถึงพระสิทธัตถะว่า "พระจรรยาของพระองค์หามลทินมิได้เลย พระวิริยภาพของพระองค์กับความมั่นของพระองค์มีน้ำหนักเทียบเท่ากัน หากว่าตำหรับที่มีอยู่นั้นคลาดเคลื่อนก็ดี แต่อาการที่พระองค์ทรงประพฤติด้วยพระวรกายของพระองค์เองให้เป็นตัวอย่างทั้งปวง ก็ล้วนแต่เป็นแบบ ซึ่งไม่มีที่ตำหนิติเตียนได้ทั้งสิ้น"

พระองค์เป็นผู้สำเร็จแล้วในตัวอย่างทั้งปวง ซึ่งพระองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้ การสละเสียซึ่งความสุขในส่วนพระองค์กับความเมตตาของพระองค์ กับทั้งพระอริยคุณสมบัติอันบริสุทธิ์ของพระองค์ไม่มีที่วิปริตไปเลย จนแม้แต่ในขณะใดทั้งสิ้น ก่อนที่พระองค์จะแสดงลัทธิของพระองค์ให้ปรากฏแก่สัตว์โลกทั้งปวงนั้น พระองค์ได้เสด็จออกทรงบรรพชา ทำทุกรกิริยาเป็นเวลา 6 ปี เพื่อพิจารณาค้นหาความจริงแห่งโลก

"ครั้นตรัสรู้แล้วก็ได้เผยแผ่ศาสนาของพระองค์ โดยพระอาการสงบเงียบในทางวาจา คือ การเทศนาสั่งสอนสรรพสัตว์โลกทั้งปวงเท่านั้น เป็นเวลาถึง 45 ปีเศษ ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จสู่ปรินิพพาน อยู่ในระหว่างหัตถ์แห่งสาวกทั้งปวงของพระองค์ ก็ทรงประกอบพร้อมด้วยพระลักษณะอันบริสุทธิ์เป็นเอกอัครมหาบุรุษ ผู้ซึ่งได้ทรงกระทำความดีมาแล้วตลอดพระชนมชีพของพระองค์ และแสดงว่า คือพระองค์นั่นแหละ ซึ่งเป็นองค์ผู้ทรงพบแล้วซึ่งความจริงทั้งปวงแห่งโลก"



ดังนี้จึงเป็นอันว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ทรงบรรลุแล้วซึ่งผลสำเร็จในมรรคผลแห่งธรรมวิเศษ อันน่าพิศวงสำหรับมนุษย์ และถึงแม้ว่าพระองค์ไม่ทรงเห็นพ้องด้วยกับจารีตบางอย่างและพระองค์ตรัสว่า พระองค์เป็นผู้ซึ่งทรงได้บรรลุแล้วซึ่งนิพพาน แต่พระองค์ก็ยังได้ตรัสเหมือนกันว่า "ผู้อื่นก็อาจสามารถสร้างกุศลให้บรรลุถึงซึ่งนิพพานได้เหมือนกัน" วันแล้ววันเล่ากองบุปผชาติก็มีแต่เดียรดาษเหนือปูชนียสถานแห่งพระองค์ และทุกๆ วันมนุษยโลกอันอักโขก็มีแต่ภาวนาออกจากปากของตนซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยประโยคอันนี้ว่า "ข้าพเจ้าขอพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง"

พระพุทธเจ้าซึ่งออกพระนามในกาพย์คดีนี้ต้องมีจริงโดยไม่ต้องสงสัย พระองค์ทรงสมภพในแดนเนปาล (เชิงเขาหิมพานต์) ก่อนพระเยซูเกิดราว 623 ปี และเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานในราว 543 ปี ก่อนคริสตกาล ที่เมืองโกสินาราในเขตแขวงมณฑลอุทธะ ดังนี้เมื่อนำศาสนาอื่นมาเปรียบเทียบกับพระศาสนาอันน่าเคารพ กอปรด้วยความนับถือของหมู่ชนทั่วโลก และชั่วนิรันดรนี้แล้ว จักบังเกิดความรักและความนับถืออของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด

อันคุณสมบัติที่กระทำให้เชื่อถือในผลแห่ง ความดีซึ่งไม่มีอะไรที่จะทำลายลงได้ อีกทั้งความมั่นคงในข้อที่ว่า มนุษย์ทั้งหลาย ยอมมีธรรมะแห่งความอิสระของตน ซึ่งไม่เคยมีสอนมาแต่ไหนแต่ไรเลยนี้แล้ว พึงเห็นว่าศาสนาอื่นล้วนแต่พึ่งอุบัติขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เอง แต่ความวิปริตแปลกประหลาดทั้งปวง ซึ่งกระทำให้ประวัติ และลัทธิแห่งพระพุทธศาสนาบกพร่องไปนั้น ต้องเกิดจากความเสื่อมอันไม่สามารถจะหลีกให้พ้นได้ โดยเหล่าภิกษุสงฆ์มักแก้ไขไปตามความคิดความเห็นที่ใหญ่โตต่อๆ กันมาเสมอนั้น พระบารมีและพระธรรมรสแห่งลัทธิเดิมของพระพุทธเจ้าต้องถูกดัดแปลงแก้ไข โดยความคิดความเห็นของเหล่าภิกษุสงฆ์ หาใช่เป็นโดยผู้แปลคำสั่งสอนของพระองค์ หรือธรรมเทศนาของพระองค์อันหามลทินมิได้นั้นไม่ และเมื่อคราวมีการสังคายนา คงเลินเล่อ และนึกตกแต่งให้ไพเราะเสียมาก

การที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงสิริลิขิตเล่มนี้ ต้องเรียบเรียงตามปากคำของพุทธศาสนิกชนผู้หนึ่ง เพราะว่าเพื่อจะได้อนุโลมให้เห็นความคิด การวิจารณ์แห่งชนชาวอาเซีย ก็ต้องอาศัยความเพ่งเล็งดูความเห็นของชาวชนเบื้องบุรพทิศ และถึงแม้ว่าในที่นี้ มีเรื่องราวกล่าวถึงความอัศจรรย์ หรืออัธยาตมวิทยาปรากฏอยู่ด้วยก็ดี ก็คงจะไม่กระทำให้บังเกิดความเข้าใจผิดไปอย่างอื่นได้ นอกจากจะกระทำให้เข้าใจว่า เป็นธรรมดาลัทธิอันว่าด้วยการเวียนเกิดเวียนตายแห่งวิญญาณเป็นต้น ถึงหากว่า ไม่ต้องด้วยความเชื่อถือของบุคคลสมัยใหม่ก็ดี แต่ลัทธิความเชื่ออันนี้ ก็ได้มีรกรากและได้รับความเคารพรับถือจากชาวฮินดูมาแล้ว ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งขณะนั้นเมืองนินิฟกำลังตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกเมเด้ส และพวกโฟเซียนสร้างเมืองมาร์ไซร์ (ในประเทศฝรั่งเศส)

เรื่องนี้เป็นเรื่องโบราณคดี เพราะฉะนั้น ตามที่ข้าพเจ้าบรรยายในที่นี้ อย่างไรก็ดี ก็ต้องมีความไม่บริบูรณ์อยู่เอง และถ้ายิ่งไปคิดถึงกฎของการประพันธ์สิริลิขิตด้วยแล้ว จะเป็นข้อความซึ่งเกี่ยวกับอัธยาตมวิทยาก็ดี หรือจะเป็นข้อความซึ่งเกี่ยวกับเวลาอันยืดยาว ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธกิจของพระองค์นั้นก็ดี ข้าพเจ้าต้องออกตัวว่า ข้าพเจ้าคงได้ข้ามเรื่องตอนสำคัญๆ มากมายเป็นแน่

แม้แต่กระนั้นก็ดี หากว่าเท่าที่ข้าพเจ้าได้ประพันธ์นี้พอที่จะกระทำให้ท่านทั้งหลายสามารถทราบพระธรรมจริยานุวัตร อีกทั้งพระลัทธิของพระพุทธเจ้าได้พอสมควรแล้ว ก็ต้องนับว่าข้าพเจ้าสามารถทำการได้ผลสมความมุ่งหมายแล้วเหมือนกัน อนึ่งเฉพาะพระลัทธิของพระพุทธเจ้านั้น มีนักปราชญ์มากหลายได้เยินยอเป็นปุจฉาวิสัชนามามากแล้ว

สำหรับข้าพเจ้า จึงขอกล่าวว่า ข้าพเจ้าเองก็ได้ความรู้มาจากทางอื่น ซึ่งกล่าวถึงเรื่องพระพุทธศาสนานี้ไม่บริบูรณ์เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนกัน มีจากข้อความซึ่งปรากฏในหนังสือของสเป็นซ์ ฮาร์ดี เป็นต้น และการดัดแปลงเรื่องราวให้เป็น "การเล่าเรื่องธรรมดา" นั้น ข้าพเจ้าเองก็ไม่ปฏิเสธว่าข้าพเจ้าไม่ได้ทำมาแล้วมากมายเหมือนกัน

แต่อย่างไรก็ดี คำอธิบายของข้าพเจ้าสำหรับเรื่องซึ่งเกี่ยวกับ นิพพาน, ธรรม และ กรรม, กับเรื่องอื่นอันเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ซึ่งข้าพเจ้าได้นำมาอธิบายในหนังสือเล่มนี้ อย่างน้อยก็คงจะเป็นประโยชน์แก่การศึกษามากมายอยู่กับทั้งอาจเป็นประโยชน์แก่การพิจารรา ความเชื่อถืออันมั่นคงของมนุษยโลกตั้งหนึ่งในสามส่วนของโลก ซึ่งอย่างไรก็ดี คงจะไม่มีอะไรที่อาจกระทำให้เขาเชื่อว่า วิญญาณ เป็นของดับสูญในชั่วกำเนิดครั้งเดียวเป็นแน่.

ในที่สุดนี้ โดยความเคารพต่อพระอิสสริยบารมีแห่งพระองค์ในเรื่อง "ประทีปอาเซีย" นี้ อีกทั้งโดยความนับถือแก่บรรดาท่านนักปราชญ์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ประพันธ์เรื่องราวอันควรเคารพของพระองค์และเป็นผู้ทรงไว้ ซึ่งปัญญาความเฉลียวฉลาดเปรื่องปราชญ์ปรีชายิ่งกว่าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอได้รับอภัยในความบกพร่องอันพึงมี ในความรู้อันเป็นเครื่องกระทำให้ข้าพเจ้าประพันธ์กาพย์คดี อันอุปมาเหมือนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าเร่งทำอย่าง "สุกก่อนห่าม" นี้ด้วย

ที่ข้าพเจ้ากล่าวดังนี้ก็เพราะเวลาของข้าพเจ้าจำกัดที่สุด แต่ที่ทำสำเร็จลงไปได้ ก็โดยได้ อาศัยความเจตนาที่จะให้ความรู้ของทวีปอาเซีย ได้รู้ไปถึงยุโรป เป็นเครื่องดลใจ และเร่งเร้าความอุตสาหะของข้าพเจ้าเสมอเท่านั้นเอง เมื่อได้กล่าวมาถึงเพียงนี้แล้ว คงจะเป็นการพอที่จะกระทำให้ข้าพเจ้าอาจภูมิใจได้แล้วว่า หนังสือเล่มนี้ซึ่งเป็นชิ้นเอกของเรื่องอินเดียเรื่องหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าได้ประพันธ์ร้อยกรองขึ้นดังประหนึ่งเป็น "วิหาระดุริยางค์แห่งดุริยางค์ของอินเดีย" ของข้าพเจ้า หวังว่า (หนังสือเล่มนี้) คงอาจสามารถที่จะช่วยเชิดชูสติปัญญาของผู้ที่รักประเทศอินเดีย และทวยนิกรชนชาวอินเดียได้เป็นแน่.

เอดวิน อาร์นอลด์




ปริเฉทที่ 1 ชาติกถา
(พระมหาบุรุษประสูติและทรงศึกษาวิชา)


พระคัมภีร์แห่งประวัติของพระพุทธเจ้าผู้ทรงโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ ทรงพระนามในโลกนี้ว่า สิทธัตถะ ไม่มีผู้ใดจะเสมอเหมือนพระองค์ได้ในไตรภพ เป็นที่เคารพบูชาทั่วไปทั้งสิ้น ทรงพระคุณธรรมอย่างประเสริฐ ทรงตรัสรู้ในธรรมวิเศษ พระองค์เป็นผู้ทรงสั่งสอน ชี้ทางพระนิพพาน และวินัยบัญญัติทั้งปวง

เดิมเมื่อจะเกิดมีพระพุทธสมภพอุบัติมา เพื่อโปรดมนุษยโลกทั้งหลายนั้น มีเรื่องราวดังต่อไปนี้คือ :-

ถัดจากเบื้องสวรรค์ชั้นสูงสุดมาชั้นหนึ่ง (คือชั้นตาวตึส) มีจตุโลกบาลสถิตอยู่ 4 องค์ และถัดลงมาจากสวรรค์ซึ่งเป็นที่สิงสถิตอยู่ของจตุโลกบาลทั้ง 4 นั้นมาอีก แต่ซึ่งนับว่าเป็นสวรรค์ชั้นที่สูงเหมือนกัน ก็เป็นที่สิงสถิตอยู่ของวิญญาณแห่งผู้มีบุญซึ่งมีกำหนดสิงสถิตอยู่ ณ โลกนั้นถึงตรีคูณแห่ง 10 พันปี (คือ 3 หมื่นปี) แล้วจึงจุติมาได้กำเนิดใหม่อีก

ดังนั้น ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จจุติลงมาทรงกำเนิดในมนุษยโลกนั้น จึงมีนิมิตเบญจลักษณะตกลงมา ปวงเทวดาทั้งหลายย่อมรู้จักเบญจลักษณะนั้นได้ดี จึงมีวาทะไปว่า "พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงไปโปรดสัตว์ทั้งปวงในมนุษยโลกอีกแล้ว" พระพุทธเจ้าตรัสว่า "จริงแล้ว, บัดนี้เราจะลงไปโปรดสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกและเป็นครั้งที่สุดด้วยเพราะว่า เมื่อเราได้โปรดสัตว์ทั้งหลายแล้ว ความเกิดและความตายเป็นอันไม่มีสำหรับเราอีกต่อไป ทั้งสำหรับผู้ซึ่งได้ศึกษาปฏิบัติบัญญัติของเราด้วย เราจะไปปฏิสนธิในตระกูลศากยะ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้แห่งเขาหิมพานต์ ณ นครซึ่งทวยนาครมีความเลื่อมใส และพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม"

ณ ราตรีกาลครั้งนั้น ขณะที่พระนางศรีมหามายาผู้เป็นพระอัครมเหสีของพระสุทโธทนะกำลังบรรทมอยู่ เคียงข้างพระสวามี พระนางได้ทรงพระสุบินนิมิตแปลกประหลาดอย่างหนึ่ง ในพระสุบินนั้นมีอยู่ว่า มีดาราลอยเด่นอย่างเปล่งปลั่งอยู่กลางเวหาดวงหนึ่ง กอปรด้วยรัศมี 6 อย่าง และดุจไข่มุกสีดอกกุหลาบ ณ เบื้องบนรัศมีแลสีอันวิจิตรนั้น ปรากฏว่ามีเศวตกุญชรตัวหนึ่ง มีงาถึง 6 งา และมีสีขาวประดุจน้ำนมแห่งกามธึก (Kamadhuk - ชื่อโคในตำนานซึ่งฮินดูเทพทั้งหลายใช้น้ำนมผสมกับน้ำอมฤตแล้ว เป็นน้ำเสวย) เศวตกุญชรนั้นค่อยๆ เลื่อนเคลื่อนมาจากเวหาต่ำลงมาทุกที ครั้นแล้วก็ยุรยาตรเข้าสู่พระครรภ์เบื้องขวาของพระนาง

เมื่อพระนางตื่นบรรทมขึ้น ก็ให้ทรงรู้สึกว่า พระนางปรีดิ์เปรมเกษมสันต์อย่างเหลือล้นพ้นประมาณ และคราเมื่อดวงสุริโยทัยไขแสงขึ้นเป็นประถมกาล รัศมีแจ่มจรัสอันมหัศจรรย์ก็รุ่งโรจน์ โชตนาการไปครึ่งหนึ่งของพิภพ บรรดาภูผามหาคีรีทั้งปวงก็กัมปนาทหวาดหวั่น

บรรดา คลื่นแห่งทะเลมหาสมุทรอันมหึมา ก็ราบรื่นดุจธาราของบ่อน้อย ปวงบุปผชาติทั้งหลายก็แย้มกลีบกระจาย รสสุคนธ์กลิ่นหอมตรลบอบอวลทั่วไป จนแม้แต่ ณ กลางแดดในเวลาเที่ยงวัน และจนแม้แต่ในโลก นรกสุดแสนลึกก็ได้เห็นแสงสว่างส่องลงไป ดุจแสงทองอันส่องลอดทะลุเข้าไปในไพรพฤกษ์อันหนาทึบฉะนั้น

สัตว์นรกจึงร้องสาธุด้วยคำโอดครวญว่า " สาธุ สัตว์นรก และสัตว์โลกทั้งหลายที่ถึงแล้วซึ่งความมรณะต่างก็จะได้มีโอกาสลุกขึ้นสดับ ตรับฟังพระธรรมเทศนาแห่งองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้พ้นจากกองทุกขเวทนานี้ เพราะบัดนี้ พระองค์ได้เสด็จมาทรงอุบัติในมนุษยโลกแล้ว ความสุข สันติภาพจักได้แผ่ไพศาล ไม่เพียงแต่ในมนุษยโลก ยังในโลกใต้บาดาลทั้งหลาย ก็มีสันติสุขอย่างราบรื่นยิ่งเหมือนกัน" บรรดาดวงกมลแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ก็ตื่นเต้นไปด้วยความโสมนัสปลาบปลื้มยินดี อำนาจแห่งมหาวาโยก็บรรเทาเบาลงจนโชยมาสู่พื้นธรณีและทะเลมหาสมุทรทั้งหลาย แต่น้อยที่สุดที่จะน้อยได้พอเฉื่อยๆ ละมุนละไมอย่างไม่เคยมี ครั้งเมื่อพระอาทิตย์อุทัยไขแสงเต็มดวง และเมื่อพระนางได้ทรงเล่าพระสุบินนิมิตนั้นแล้ว

เหล่าโหราผู้มีอายุและทรงไว้ซึ่งวุฒิยิ่ง จึงทำนายถวายว่า "พระสุบินของพระนางนี้ประเสริฐยิ่งนัก ดาวหางกับดวงพระอาทิตย์ติดต่อกัน เป็นศุภนิมิตอันหมายความว่า พระนางจะมีพระราชโอรส พระโอรสผู้ทรงญาณ ทรงญาณในธรรมวิทยาวิเศษทั้งปวง อันเป็นประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งหลาย จะเป็นองค์ผู้ทรงธรรมเมตตา เพื่อโปรดสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นจากกองทุกข์ หรือมิฉะนั้นจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิกษัตริย์ปกครองโลกทั้งมวล หากพระองค์ต้องพระประสงค์"

ครั้นถึงเมื่อเวลาที่สมเด็จพระพุทธเจ้าจะเสด็จสมภพมานั้น ให้มีนิมิตดังนี้คือ บ่ายแห่งวันอันถึงกาลกำหนดที่พระพุทธเจ้าประสูตินั้น พระนางมายาเสด็จไปในพระอุทยาน ประทับอยู่ภายใต้ต้นรังต้นหนึ่งซึ่งมีลำต้นแข็งแรง และตรงดิ่งดุจเสาพระวิหาร กิ่งสาขาอุดมดกดื่นไปด้วยใบอันสดใสและดอกอันมีรสสุคนธ์ เมื่อพฤกษชาติต้นนั้น (เพราะสิ่งทั้งหลายย่อมรู้ได้ด้วยพุทธบารมี) รู้สึกว่าจวนจะถึงกาลกำหนดแล้ว ก็น้อมกิ่งสาขานั้นมาปกป้องเหนือพระนาง ฝ่ายจากพื้นธรณีก็มีบุปผชาติงอกขึ้น รองรับเป็นเครื่องผดุงพระครรภ์ ก้อนศิลาอันแข็งสุดแข็งก็ปล่อยธาราอันใสดุจแก้วเจียรไนออกมาเพื่อทรงสระสรง ในที่สุดพระนางก็ประสูติพระโอรสซึ่งประกอบด้วยศุภลักษณ์ทั้ง 32 มา

ครั้นแล้วข่าวก็ปรากฏไปทั่วทั้งพระบรมมหาราชวัง และเมื่อถึงเวลาที่จะมีพระเสลี่ยงมารับพระกุมารไปสู่พระราชสำนักนั้น ผู้หามก็คือจตุโลกบาลทั้ง 4 ผู้จารึกความประพฤติแห่งมนุษยโลกในแผ่นสัมฤทธิ์ลงมาจากเขาพระสุเมรุ หมู่เทวดาแห่งทิศบูรพาซึ่งสวมเสื้อเงินก็ถือโล่สีมุก เหล่าเทวดาทิศใต้ซึ่งเป็นกองทัพม้า คือ กุมภัณฑ์ ขี่ม้าสีเขียวและถือโล่สีนิล, เทวดาฝ่ายทิศอัสดงค์มีฝูงนาคเป็นบริวาร ขี่ม้าสีแดงถือโล่ประดับไข่มุก, เทวดาฝ่ายเหนือมียักษ์เป็นบริวารสวมเสื้อทองคำ ขี่ม้าสีเหลืองถือโล่ทอง บรรดาเทวดาทั้งหลายเหล่านี้ แม้แต่มีอำนาจและเดชศักดานุภาพใหญ่ยิ่งเพียงใดก็ตาม ต่างก็รีบคุมพวกแห่งตนมาแห่แหนพระพุทธกุมาร นอกจากเหล่าเทวดาทั้งหลายที่กล่าวแล้ว ผองเทพเจ้า ผู้ทรงสถิตอยู่ทั่วทุกสถานและทิศานุทิศ ต่างก็มาแสดงความชื่นชมยินดีด้วยพระพุทธกุมาร โดยความเคารพวันทาเหมือนกัน แต่ประพฤติการณ์ทั้งหลายแหล่เหล่านี้ ฝ่ายมนุษยโลกหาได้มองเห็นไม่ ทั้งนี้ก็เพราะว่าฝ่ายเมืองสวรรค์ ต่างก็ชื่นชมยินดีด้วยพระพุทธสมภพมาในมนุษยโลกนี้อย่างยิ่งเหมือนกัน

ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะหาได้ทรงทราบว่า พระกุมารนั้นจะมีบุญบารมีอย่างไรไม่ จนโหรทำนายถวายพระองค์จึงทรงทราบว่า พระโอรสจะได้เป็นใหญ่ในสากลโลก และถึงสมบัติแห่งจักรพรรดิราช ซึ่งต้องสมภพมาสู่โลกนี้ทุกๆ หลายพันปี เพื่อปกครองโลก มีของวิเศษ 7 ประการ คือ จักรวิเศษ เรียกว่าจักรรัตน์ เพชรวิเศษ เรียกว่ามณีรัตน์ ม้าวิเศษ เรียกว่าอัศวรัตน์ซึ่งเหาะเหินเดินอากาศได้ ช้างเผือกสีขาวดุจหิมะ เรียกว่า หัตถิรัตน์ อุบัติมาเพื่อเป็นพระที่นั่งแห่งพระองค์ อำมาตย์ผู้ฉลาดเฉลียว เสนาผู้ชาญชัย พระมเหสีผู้เป็นเอกอัครกัลยาณี คือ สตรีรัตน์ งามแสนงามยิ่งกว่าแสงอรุณ เมื่อพระบิดาทรงทราบดังนี้ก็มีพระทัยยินดียิ่ง จึงประกาศแด่อำมาตย์มุขมนตรี และอาณาประชาราษฎรของพระองค์ ให้พร้อมกันทำการสมโภชเป็นการใหญ่

ดังนั้น บรรดาถนนหนทางน้อยใหญ่ทั้งปวงก็จัดสะอาดสะอ้านตระการตา และมีน้ำราดสาดพรม ล้วนแต่เชื้อแห่งน้ำดอกกุหลาบ กลิ่นหอมตรลบอบฟุ้งจรุงนาสิกเป็นที่เจริญรื่นชื่นใจยิ่งนัก ตามต้นไม้ก็ประดับไปด้วยโคมและธงทิว ส่วนอาณาประชาราษฎร์นั้น บ้างก็ร้องรำทำเพลง บ้างก็เต้น บ้างก็กระโดดโลดเล่นและไต่เชือก บ้างก็ประดับลูกกระพรวนชวนเร่งจังหวะดุจจังหวะของกรับทอง รวมความก็คือว่า ในงานสมโภชพระพุทธกุมารครั้งนี้ มีการเล่นการกีฬาสารพัดอย่าง จนกระทั่งสู้เสือ สู้สัตว์ร้ายต่างๆ เหลือที่จะกล่าวเป็นอเนกปริยาย พวกพ่อค้าวาณิชต่างด้าวท้าวต่างแดนก็ปรีดาปราโมทย์ต่อพระพุทธสมภพจึงต่าง ท้าวต่างคนก็จัดเครื่องราชูปโภคและอุปโภค กับเครื่องรูปพรรณเพชรนิลจินดาเงินทองมากมายมาถวาย และบ้างก็นำผ้าห่มทำด้วยขนแกะ พรมเจียมสีฟ้า ผ้าเนื้อละเอียดบาง แม้แต่พับเป็น 12 ชั้นแล้วก็ยังอาจมองเห็นตลอดอีกข้างหนึ่งได้ กับเข็มขัดประดับมุก ไม้หอม ไม้จันทน์ ทั้งนี้ล้วนแต่สำหรับถวายขวัญพระราชกุมารซึ่งต่างก็เรียกว่า "พระสรวารถสิทธะ" คือองค์ผู้กระทำความเจริญและความสำเร็จ หรือเรียกพระนามย่อว่า พระสิทธัตถะ

ในหมู่ไท้ต่างดาวต่างแดน ซึ่งต่างก็แห่แหนกันมาชมพระบารมีของพระพุทธกุมารนั้น มีดาบสรูปหนึ่งนามว่า "อสิตะ" เป็นผู้ซึ่งบำเพ็ญตนโดยปิดทวารแห่งโสตประสาท เพื่อให้พ้นจากสรรพสำเนียงของโลกมาเป็นเวลาอันนานแล้ว กำลังนั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นไทรต้นหนึ่ง ต่อเมื่อปวงเทวดาทั้งหลายบรรเลงดุริยางค์และร้องยอพระเกียรติแห่งพระพุทธ สมภพ เธอจึงได้ยิน แม้เธอจะเป็นดาบสผู้กอปรด้วยความรู้ในนานาวิทยาทั้งปวง อันรู้ได้จากการบำเพ็ญตบะของเธอก็ดี เธอก็มีความปรีดาปราโมทย์ยิ่งนัก จึงได้มาหมายจะเฝ้าพระพุทธกุมารเหมือนกัน

เมื่อเธอมาถึง พระสุทโธทนะทรงรู้จัก จึงน้อมพระองค์ทรงเคารพเธอ เธอก็ไม่เกรงขามอะไรในพระสุทโธทนะ แต่ครั้นเหลือบแลไปเห็นพระพุทธกุมาร ดาบสรูปนั้น เธอก็น้อมเศียรกราบถวายบังคม 8 ครั้ง แล้วก็เปล่งอิสิวจนะเป็นความว่า "โอ! พระกุมาร! ข้าพเจ้าบูชาเคารพพระองค์ เพราะพระองค์คือองค์พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ประจักษ์แล้วซึ่งรัศมีของพระองค์ ฝ่าพระบาทของพระองค์ปรากฏแล้วซึ่งพระลักษณะวิเศษและพระทวัตตึสะ 32 ประการ กับพระลักษณะประกอบอีก 80 อย่าง พระองค์คือองค์พระพุทธเจ้า พระองค์จะเป็นผู้ทรงสถาปนาพระพุทธบัญญัติ และโปรดสัตว์โลกที่ถือบัญญัติของพระองค์ให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง แต่ข้าพระเจ้าจะไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์เสียแล้ว เพราะอายุขัยของข้าพระเจ้าก็ชรา ความมรณะจะมาปลิดชีวิตข้าพระองค์ภายในไม่ช้านี้เสียแล้ว ที่ไหนเลยข้าพระเจ้าจะมีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ได้ แม้แต่กระนั้น ข้าพระองค์ก็ได้ปลาบปลื้มยินดีที่ได้มาเห็นพระองค์นี้อย่างเหลือล้นพ้น ประมาณ"

แล้วเธอกล่าวกับพระสุทโธทนะว่า "ดูกรองค์พระราชา ขอทรงราบไว้เถิดว่า พระกุมารพระองค์นี้แหละ คือปทุมอันเป็นธรรมแห่งมนุษย์ซึ่งหอมทนอยู่ทั่วทุกนิรันดร รสสุคนธ์ของปทุมนี้ก็คือ พระภิยโยญาณ ตรัสรู้เล็งเห็นชี้หนทางให้แก่มนุษยโลก อา! พระองค์จะสันติสุขเสียนี่กระไร แต่นั่นแหละพระราชา น่ากลัว สันตินั้นจะกลายเป็นประหนึ่งว่า ความปราโมทย์ของพระองค์นี้จะกลับเป็นได้ผล ดุจได้พกกฤชมาไว้เพื่อทรงอาดูรด้วยกฤชนั้นทิ่มแทงพระหฤทัยของพระองค์ ฝ่ายพระนาง โอ! พระนาง พระโอรสของพระนางนี้มีบุญหนักเหลือ ฉะนั้น ภายใน 7 วัน พระนางก็จะถึงซึ่งกาลสิ้นพระชีวี"

ครั้นถึงสัปตกาลกำหนด (7 ราตรี) พระนางศรีมหามายาก็สิ้นพระชนม์ มีพระวรลักษณ์อันปราศจากพระอาการกระวนกระวาย ริมฝีพระโอษฐ์ก็ยังทรงยิ้มพริ้มพรายประดุจแสดงพระอาการอันบรมสุขในยามบรรทม หลับ ฝ่ายพระวิญญาณก็เสด็จขึ้นไปบังเกิดเบื้องบนสวรรค์ชั้นดุสิต มีหมู่เทพธิดาเป็นบริวาริณี

เมื่อพระพุทธฏุมารเจริญชนมายุได้ 8 พรรษา พระบิดาก็ทรงจัดให้พระองค์ทรงศึกษาราชวิทยาอุปถัมภ์ คือวิชาซึ่งคู่ควรเป็นเครื่องประดับพระวุฒิเกียรติแห่งพระราชโอรส และทั้งเพื่อจะป้องกันมิให้พระองค์มีโอกาสทรมานพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ตามที่โหรและอสิตอิสีทำนายไว้นั้นด้วย เมื่อมีพระจำนงดังนี้แล้ว พระบิดาจึงทรงประชุมบรรดาเสวกามาตย์ชั้นผู้ใหญ่ เป็นอัครมหาเสนาบดีสภา แล้วมีพระราชดำรัสถามว่า "โอรสของเราจะต้องศึกษาราชวิทยาการ ฉะนั้นอาจารย์ใดหนอจึงจะคู่ควรแก่โอรสของเรานี้?" อำมาตย์ทั้งปวงทราบถึงตรงนี้จึงทูลสนองเป็นคำเดียวกันว่า "วิศวามิตรนั้นแลพระพุทธเจ้าข้า ซึ่งควรยิ่งแล้วที่จะเป็นพระอาจารย์ของพระราชโอรส เพราะเธอเป็นผู้เยี่ยมแล้วในอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทั้งปวง" ดังนั้นครูวิศวามิตรจึงได้รับพระราชโองการให้มาเฝ้า เพื่อฟังพระราชกระแสรับสั่ง แล้วก็รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ถวายพระอักษรแก่พระราชโอรส

ตั้งแต่บัดนั้นมา พระพุทธกุมารเมื่อได้ทรงศึกษาวิชาดังนั้นแล้ว ณ กาลครั้งหนึ่ง จึงพระอาจารย์ทูลว่า ขอทรงพระอักษรด้วยดินสิหินวิเศษนี้ บนแผ่นกระดานของพระองค์ท่าน" แล้วก็ทูลเป็นประโยคๆ ไปเรียกว่า คายตรี ซึ่งทราบได้แต่เฉพาะผู้ที่มีภูมิรู้สูงแล้ว และที่วิศวามิตรถวายบทนี้ให้เขียน ก็โดยเห็นพระปัญญาอันมหัศจรรย์ของพระองค์แล้ว มีความว่า

โอมฺ ตตฺสวิ ตุรฺวเรณยมฺ
ภรฺโค เทวสฺย ธีมหิ
ธิโย โย น ปฺรโจทยาตฺ

" อาจารย์ ฉันจะเขียนตามประสงค์ของท่าน" พระพุทธกุมารรับสั่งแล้วก็ทรงเขียน แต่พระองค์จะทรงเขียนเฉพาะลายลักษณ์อักษรธรรมดาหามิได้ ทรงเขียนเป็นอักขระ นาครี ทักษิณยะ มงคล ปรุษา ยวะ ตีร์ถี อุรคะ ทรทะ สิขยานิ มนา มาธยาจาร ประกอบด้วยลวดลายและเครื่องหมายสำคัญต่างๆ บ้างก็เป็นศัพท์ภาษาของชาวถ้ำ ภาษาทะเล ภาษาของชาวชนที่บูชานาคใต้บาดาล ภาษาผู้บูชาพระเพลิง บูชาพระอาทิตย์ บูชาเวทมนตร์ คาถาต่างๆ ตลอดจนกระทั่งภาษาของจำพวกบุคคลซึ่งใช้ป้อมปราการเป็นที่อาศัย พระองค์ทรงเขียนเป็นบทๆ ต่อๆ กันมา อย่างต่างภาษาแล้วก็ทรงอ่านคาถาของพระอาจารย์เหล่านี้

พระอาจารย์จึงทูลว่า "พระองค์ทรงรู้อักขระบริบูรณ์ยิ่งแล้ว ทีนี้จงทรงศึกษาวิชาเลขต่อไป จงว่าตามให้ถึงจำนวนหลักหนึ่ง สอง สาม สี่...พัน...หมื่น...แสน..." พระองค์ก็ว่าตามจนถึงหลัก แต่แล้วพระองค์ก็เผยพระโอษฐ์นับด้วยพระองค์เองอย่างค่อยๆ ต่อไป "โกฏิ นหุต นินนหุต ขัมพ วิสขัมพ อพพ อัตตตะ จนถึงกุมุท คุนธิก และอุตปล ปุณฑรีก และปทุม ซึ่งใช้นับปรมาณู ซึ่งละเอียดที่สุดแห่งธรณีหัสตินาคีร์ และผงธุลีทั้งหลายที่เล็กกว่านั้นไปอีก เมื่อพระองค์นับคณนาวีนี้แล้ว ก็ทรงนับถึงดาราคณนาวิธี (คือวิธีนับดาวในรัตติกาล) โกฏิคาถา สำหรับคณนาหยดน้ำแห่งมหาสมุทร อิงค์ สำหรับนับวงกลม สร์วนิกเษปะ สำหรับนับทรายในแม่น้ำคงคา แล้วก็ถึง อันธกัลป์ คือนับธุลีของทรายแห่งแม่น้ำคงคา หากว่าอยากใช้มาตราส่วนใหญ่ขึ้นไปอีก ก็ใช้เลขวิธีอสงไขย คือคณนาแยกหยดหยาดของน้ำซึ่งตกลงมา ณ โลก โดยไม่หยุดหย่อนตั้ง 10 พันปี ในที่สุดก็ถึงซึ่งมหากัลป์ซึ่งเทพเจ้าทรงใช้นับอดีต และอนาคตกาลของพระองค์


"ดีทีเดียว พระกุมารผู้ทรงปรีชา" วิศวามิตรกล่าวว่า "เมื่อพระองค์ทรงมีความรู้ถึงเพียงนี้แล้ว จะให้ข้าพระพุทธเจ้าสอนมาตราวัดเส้นต่อไปอีกหรือไม่?" พระพุทธกุมารจึงทรงตอบโดยสุภาพว่า "ขอท่านอาจารย์จงฟังฉันเถิด 10 ปรมาณูเป็น 1 ปะราสุกษมะ 10 ปะราสุกษมะ เป็น 1ตราสะเรนะ 7 ตราสะเรนะ มีขนาดเท่ากันกับปรมาณูซึ่งลอยอยู่ในแสงของดวงอาทิตย์ 7 ปรมาณู เท่ากับเส้นหนวด 1 ของมุสิกะ(หนู) 10 เท่าของเส้นหนวดมุสิกะเท่ากับ 1 ลิขิยะ 10 ลิขิยะเป็น 1 ยุกะ 10 ยุกะเป็น 1 ใจเมล็ดข้าว ซึ่งมี 7 เท่าอยู่ในตัวแตน 1 ตัว ครั้นแล้วก็ถึงเมล็ดมุงและมัสตาดและเมล็ดข้าว ซึ่ง 10 เท่าของเมล็ดเหล่านี้เท่ากับ 1 องคุลี 12 องคุลีเท่ากับ 1 คืบ แล้วก็ถึงศอก วา และความยาวของธนู ความยาวของหอก 20 เท่าของความยาวแห่งหอกเท่ากับระยะซึ่งคนวิ่งอึดใจได้ระยะหนึ่ง 40 เท่าระยะซึ่งคนวิ่งอึดใจได้ระยะ 1 เท่ากับ 1 โคว 20 โควเป็น 1 โยชน์ และถ้าหากว่าท่านอาจารย์ต้องการ ฉันจะว่าให้ฟังอีกในโยชน์หนึ่งมีปรมาณูกี่มากน้อย" ตรัสแล้ว พระพุทธกุมารก็ตรัสได้ถูกต้อง

ฝ่ายวิศวามิตรผู้เป็นพระอาจารย์ เมื่อได้ยินดังนั้นก็กราบถวายบังคมพระองค์พลางทูลว่า "พระองค์เป็นพระอาจารย์ของอาจารย์พระองค์แล้ว พระองค์นี้แหละเป็นครุ หาใช่ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ โอ! ข้าพระพุทธเจ้าขอบูชาพระองค์ พระองค์เป็นพระกุมารอันอ่อนโยนสุขุมคัมภีรภาพ ซึ่งเสด็จมาในสำนักศึกษาของข้าพระพุทธเจ้า เฉพาะสำหรับที่จะทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงทราบทุกสิ่งทุกอย่าง โดยไม่ต้องอาศัย ตำรับตำรากับทั้งทรงรู้จักแสดงพระจรรยา การปฏิบัติเคารพเป็นอย่างยิ่งด้วย"

พระจรรยาความเคารพที่กล่าวนี้ พระ พุทธเจ้าย่อมปฏิบัติต่อพระอาจารย์ของพระองค์ทุกๆ คน แม้พระองค์ทรงรู้ดีกว่าพระอาจารย์ของพระองค์ก็ดี ถึงพระองค์จะทรงเฉลียวฉลาดกว่าพระอาจารย์ของพระองค์ พระองค์ก็ตรัสแก่พระอาจารย์ของพระองค์โดยคารวะ พระองค์ทรงลักษณะเป็นเจ้า ซึ่งกอปรด้วยพระอาการอันอารีจริง พระองค์มีพระจรรยาอันสุภาพเรียบร้อย มีพระราชหฤทัยละมุนละไม แต่แสดงมานะเชี่ยวชาญยิ่ง ไม่มีอัศวานึกใดเชี่ยวชาญในการไล่เนื้อทรายที่มีฝีเท้าเร็วยิ่งเท่าพระองค์ ไม่มีสารถีใดจะชำนาญในการขับแข่งราชรถในสนามแห่งพระราชวังดีเท่าพระองค์

แต่ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงเชี่ยวชาญอย่างไรก็ดี ในขณะที่ทรงเล่นกีฬาไล่สัตว์นั้น พระองค์มักหยุดแล้วปล่อยให้เนื้อทรายไปเสีย มีอยู่เนืองๆ เมื่อพระองค์ทรงม้าแข่งหรือวิ่งแข่งที่จวนจะชนะเด็ดอยู่แล้วนั้น พระองค์กลับหยุดเสีย เพราะทรงเห็นว่าม้าเหนื่อยจนหอบ หรือมิฉะนั้น เมื่อทรงเห็นว่าบรรดาเจ้าผู้เป็นพระญาติที่ทรงเล่นด้วยนั้น จะเสียพระทัยโดยเหตุที่แพ้พระอง5 หรือมิฉะนั้นก็เป็นเพราะพระองค์ทรงซึมด้วยความฝันอะไรในพระองค์อย่างหนึ่ง ครั้นยิ่งปีทวีขึ้น ประดุจต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งซึ่งงอกขึ้นจากหน่ออันอ่อนละมุนแล้ว ในที่สุดก็แผ่ความร่มรื่นไปในที่อันกว้าง แต่พระพุทธกุมารแทบจะไม่ทรงรู้เห็นในเรื่องความกลัดกลุ้ม ความเร่าร้อนและความเศร้าโศกอะไรนั้นเลย ถึงพระองค์ทรงทราบก็คล้ายๆ กับทรงทราบ ซึ่งอะไรที่แปลกประหลาดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดากษัตริย์ทั้งหลายไม่ จำเป็นต้องทรงกังวลหรือทรงรู้สึก

อยู่มาวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ ฝูงหงส์ฝูงหนึ่งบินข้ามพระราชอุทยานไปทางทิศเหนือ เพื่อไปสู่รัง ณ ใจกลางแห่งเขาหิมพาน นกบินพลางร้องด้วยเสียงอันเยือกเย็น เพื่อให้รู้ว่ามันได้บินไปแล้ว ตามวิถีทางของมันในเวหาอันขาวดุจหิมะ โดยความจูงนำความรู้สึกรัก

ฝ่ายเทวทัตซึ่งเป็นพระญาติของพระพุทธกุมารก็ขึ้นธนูแล้วยิง ไปที่หงส์ตัวที่หนึ่ง ถูกตรงปีกอันบริสุทธิ์จนเลือดออกถึงต้องกางปีกแฉลบถลาตกลงมาสู่พื้นดิน

พระสิทธัตถะเมื่อทรงเห็นดังนั้น จึงทรงเก็บนกนั้นขึ้นมากอดไว้ยังพระอุระ แล้วก็ทรงนั่งขัดสมาธิเพื่อจะปลอบมิให้นกหวาดกลัว พระองค์ค่อยๆ ประคองจัดปีกให้เรียบร้อย แล้วก็ค่อยๆ ทรงลูบคลำนกนั้น ด้วยพระหัตถ์อันเบาและอ่อนนุ่มประดุจใบตองอ่อน และขณะที่พระหัตถ์เบื้องซ้ายทรงประคองนก พระหัตถ์เบื้องขวาก็ทรงถอนลูกศรเหล็กอันร้ายนั้น และทรงพอกแผลด้วยใบไม้อันอ่อนกับน้ำผึ้ง พระองค์ไม่เคยทรงประสบความเจ็บปวด พระองค์ทรงกำลูกศรนั้นโดยแรง บังเอิญปลายลูกศรถูกพระหัตถ์น้อยหนึ่ง ก็ทรงรู้สึกว่าเจ็บปวด ดังนั้นพระองค์จึงทรงเริ่มกอดนกนั้นอีก พลางทรงพระกรรแสงไห้

ลำดับนั้นมีคนๆ หนึ่งได้มาทูลแก่พระองค์ว่า "เจ้าของข้าพระพุทธเจ้าได้ยิงนกตกลงมาที่กลางสวนต้นกุหลาบนี้ตัวหนึ่ง ท่านจึงใช้ให้ข้าพระพุทธเจ้ามา ขอให้พระองค์ส่งนกนั้นไปให้ พระองค์จะโปรดส่งให้หรือไม่" "มิได้" พระสิทธัตถะตรัสตอบ "หากว่านกนี้ตาย การที่จะส่งไปให้แก่ผู้ที่พิฆาตนั้นก็ควรอยู่ แต่นี่หงส์นั้นยังมีชีวิต พี่น้องของฉันได้พิฆาตแต่เพียงกำลังความเร็วแห่งการบิน ทำให้ขนหลุดมาเท่านั้น" เทวทัตจึงตอบไปโดยทันควันว่า "นกป่าจะเป็นหรือตาย ก็ต้องได้แก่ผู้ที่ยิงมัน บนเวหานั้นไม่ได้เป็นของใครเลย แต่เมื่อตกมาแล้ว มันก็เป็นของเรา จงส่งนกที่เป็นอาหารมาให้แก่เราเถิด" พระพุทธกุมารทรงประคองนกประทับที่พระปรางค์แล้ว ทรงตอบแก่เทวทัตว่า "เราบอกว่าไม่ได้! นกนี้เป็นของเรา เพราะเป็นสิ่งแรกแห่งสิ่งทั้งหลายอันเหลือที่จะคณานับซึ่งเป็นของเราโดย อำนาจแห่งธรรมเมตตา

เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วว่าอะไรที่ดลใจ กระทำให้เราจะสั่งสอนความเมตตาแก่มนุษย์ทั้งหลาย และกระทำให้เราต้องเป็นผู้อธิบายความมืดมนอนธการแห่งโลก และจำทำให้อำนาจแห่งความทุกข์อันชั่วร้ายแห่งโลกลดน้อยถอยลง แต่ถ้าเจ้าของท่านมิยอม ก็ให้นำเรื่องไปสู่ผู้รู้หลักเถิด แล้วเราก็จะคอยฟังคำตัดสินของผู้รู้หลักนั้นก่อน" ดังนั้นเรื่องนี้จึงตกไปอยู่ในความตัดสินของสภาอัครมหามนตรี ซึ่งต่างคนก็มีความเห็นต่างกัน

ในที่สุดมีฤษีซึ่งไม่มีใครรู้จักรูปหนึ่งมาแล้วก็กล่าวว่า "ถ้า หากว่าชีวิตย่อมมีค่า ผู้ซึ่งช่วยชีวิตก็ต้องมีสิทธิเป็นเจ้าของสิ่งที่มีชีวิตนั้นมากกว่าผู้ที่ พยายามฆ่าสิ่งที่มีชีวิตนั้น ผู้พิฆาตเป็นผู้นำทำความมลทินและล้างผลาญ ส่วนผู้ปกป้องกันนั้นเป็นผู้ผดุงช่วยเหลือ จงให้นกแก่ผู้ที่ช่วยนกนั้นเถิด" ทุกๆ คนก็เห็นเป็นการยุติธรรม

แต่เมื่อพระมหากษัตริย์มีพระราชประสงค์หาตัวผู้ทรงธรรมนั้น เพื่อยกยอเกียรติคุณ ฤษีนั้นก็ได้หายไปเสียแล้ว แต่มีคนๆ หนึ่งเห็นงูตัวหนึ่งเลื้อยออกไปข้างนอก เทพเจ้ามักจำแลงตัวมาเช่นนี้ ดังนี้พระพุทธเจ้าจึงเริ่มทรงปลงธรรมเมตตาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ถึงกระนั้น วาระนั้นพระองค์ยังไม่ทรงทราบอะไรอื่นอีกนอกจากความเจ็บปวดทุกข์ร้อนของนก ซึ่งเมื่อหายแล้วก็บินกลับไปสู่พวก พ้องของมันด้วยความปลาบปลื้ม แต่มาอีกวันหนึ่งมีการวัปปมงคลแรกนาขวัญอันเป็นนักขัตฤกษ์ของบ้านเมือง พระราชบิดามีพระราชดำรัสว่า "จงมาเถิดลูกรัก เพื่อไปชมดูสิ่งที่น่าดูแห่งฤดูใบไม้ผลิ ดูพื้นดินอันอุดมสมแก่การซึ่งจะบังเกิดความมั่งมีให้แก่ขาวนา ดูราชอาณาจักรของบิดา อาณาจักรซึ่งเมื่อไฟฟืนจะบังเกิดเป็นเปลวเผาร่างของพ่อแล้ว ก็ตกเป็นของลูก จะหล่อเลี้ยงตัวของทวยประชาทุกรูปทุกนาม และบำเพ็ญความเจริญให้แก่คลังของกษัตริย์ ฤดูงามด้วยความประดับแห่งใบไม้อ่อน ด้วยปวงบุปผชาติอันมีสีงาม และด้วยหญ้าอันเขียวชะอุ่ม จงฟังเสียงขับร้องของคนไถนา"

ตรัสดังนั้นแล้ว พระบิดาก็ทรงพาพระโอรสเสด็จไป ณ ตำบลหนึ่งซึ่งมีกระแสน้ำและสวนแล้วก็ทอดพระเนตรโคซึ่งเดินในทุ่งอันอุดม โดยใช้คอของมันลากไถ โดยอำนาจแห่งไถดินก็ถูกขุดออกเป็นแผ่นๆ และเป็นแถวเป็นแนว ฝ่ายคนไถก็พยายามกดคันไถ เพื่อให้ไถกินดินลึกไปอีก ที่ท่ามกลางแห่งต้นตาล ลำธารก็ทรงศัพท์สำเนียงเสียงน้ำไหลดังพึมพำ ที่บางแห่งก็มีต้นเทียนแลต้นตะไคร้งอกขึ้นเป็นเครื่องประดับ บางแห่งก็มีคนกำลังหว่านข้าวอยู่ ส่วนในป่าก็มีเสียงขับร้องแห่งนก ณ รังของมัน ในพงในหนามก็มีสัตว์ที่เล็ก เช่นกิ้งก่า ผึ้ง แมลงปอ และสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย เพระในฤดูใบไม้ผลินี้ อะไร ๆ ก็บันเทิงร่าเริงใจทั้งสิ้น ณ กิ่งของต้นมะม่วงก็มีนกคีรีบูนยอสีอันงาม กระรอกก็ไต่เต้นเอาการเอางานของมัน ตัวแตนปากงุ้มก็ร่อนตามผีเสื้อที่มีสีต่างๆ เคียงข้างกระแตที่กำลังแล่นไล่ขับแมลง เหล่ามะอิสนา (ภาษาปัญจาปว่า นกกระทง) ก็เร่ร่อนหาอาหารพลางปัดเป่าเกาคอเจ้าหมู่ 7 สีเทา (ซึ่งเป็น นกชนิดหนึ่ง มักไปเป็นฝูงๆ 7 ตัวเสมอ) ก็ไต่อยู่ภายในพุ่มต้นหนาม เสือปลามีสีลายกินปลาก็จดจ้องย่องอยู่ ณ ริมหนอง เหล่านกยางมากหลายก็เดินอยู่บนหลังกระบือ นกเหยี่ยวหมุนเคว้งอยู่กลางเวหาอันมีสีดุจแสงทอง

ณ ใกล้โบสถ์ซึ่งมีสีอันกล้าก็มีนกยูงบินไปมา เหล่านกพิราบก็ขันคูอยู่ทุกด้านทุกมุม ณ ที่ไกลๆ ไปอีก ก็มีเสียงกลองแห่งงานวิวาหมงคลดังกระหึ่ม ทุกสิ่งทุกเหล่านี้ล้วนแต่แสดงว่า มีความสงบสันติภาพและความไพบูลย์ทั้งสิ้น

ฝ่ายพระสิทธัตถะกุมาร เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นสิ่งเหล่านี้ก็ทรงเพลินพระทัย แต่เมื่อทรงมองดูให้ซึ้งถึงอาการภายในแล้ว ก็ทรงปรากฏว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีประดุจหนามซ่อนอยู่ภายใต้ดอกกุหลาบแห่งชีวิตทั้งสิ้น พระองค์ทรงเห็นว่าชาวชนบทที่กรอบเกรียมได้รับจ้างโดยอาศัยที่ต้องอาบเหงื่อ แห่งตนเป็นสิ่งที่ต้องกังวล เพื่อมีช่องทางเลี้ยงชีพแห่งตน ต้องขับเคี่ยวโคของตนให้ทำงานกลางแดดกล้า ด้วยตาอันโพลงและด้วยปะฏักที่ใช้ทิ่มแทงสีข้างของโคนั้น ๆ พระองค์ยังทรงสังเกตเห็นอีกว่า กิ้งก่านั้นกินมด เหยี่ยวกินทั้งกิ้งก่าและมด ทั้งโฉบเอาอาหารซึ่งเสือปลาจับได้ไปเสียจากเสือปลา พระองค์ทรงเห็นนกกางเขนไล่นกบุลบุล (นกเล็กๆ ชนิดหนึ่งจำพวกนกปรอดหัวโขน?) ซึ่งไล่จับผีเสื้อแปลกๆ เท่ากับว่าทุกแห่งๆ ใครๆ ก็ฆ่าผู้ที่ฆ่าเขาแล้ว ตัวเองก็ถูกฆ่าตามลงไปอีก คือฆ่าชีวิตแห่งความเป็นอยู่ซึ่งยอมตาย ดังนี้ สิ่งที่แลเห็นว่ารื่นเริงนั้นก็เพียงแต่เป็นเครื่องกำบังไม่ให้แลเห็นได้ แจ้งชัดว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีแต่ปองที่จะพิฆาตฆ่ากันทั้งสิ้นเท่านั้น นับตั้งแต่มดจนกระทั่งถึงคนซึ่งฆ่าเพื่อนมนุษย์กันเองอย่างร้ายกาจน่ากลัว โดยไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อทรงประจักษ์ เป็นต้นคนไถนาย่อมหิวโหย และโคของตนบ่าก็ถลอกปอกเปิกด้วยความกดขี่โหดร้ายของตนเป็นกรณีย์ซึ่งกระทำ ให้ความต้องการมีชีวิตคงดำรงอยู่ด้วยลักษณะอันโหดร้ายนั่นแหละที่กระทำให้ สัตว์โลกถึงกับเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่ากัน พระสิทธัตถะจึงทรงถอนพระทัยแล้วทรงบ่นว่า "พื้นธรณีที่ให้ดูนี้หรือ ที่เรียกว่ากอปรด้วยความสุข? ชาวชนบทที่อาศัยข้าวสุกอันโอชากับเกลือ การใช้วัวช่างหนักมือเสียนี่กระไร การต่อสู้ในระหว่างผู้ที่มีเรี่ยวแรงและอ่อนแอในกลางรกกลางหนาม ดูช่างร้ายกาจจริง ทางอากาศก็มีการเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่ากัน แม้แต่ในน้ำก็ไม่มีพ้นภัย" เมื่อได้ทรงทอดพระเนตรเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้ว จึงกราบทูลพระบิดาว่า

"ขอพระบิดาได้โปรดเสด็จไปให้ห่างข้าพระพุทธเจ้าหน่อย ปล่อยให้ข้าพระพุทธเจ้าได้พิจารณาสิ่งทั้งหลายที่พระองค์ชี้ให้ข้าพระ พุทธเจ้าดูนี่โดยลำพังเถิด"

ตรัสแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงนั่งขัดสมาธิพิจารณาดูความทุกข์ยากแห่งชีวิตอย่างลึกซึ้ง ตลอดถึงบ่อเกิดอันลึกลับของความเป็นอยู่ จนยากที่จะบำบัดหรือบรรเทาความทุกข์ยากเหล่านั้น เมื่อทรงพิจารณาแล้ว ความเมตตาก็บังเกิดขึ้นแก่พระทัยของพระองค์ พระองค์ทรงรู้สึกรักสัตว์โลกทั้งปวงอย่างใหญ่ยิ่งอันเป็นความรู้สึกที่ทำให้ ทรงต้องการแต่ช่วยบรรเทาทุกข์และโดยอำนาจแห่งฌาน พระองค์ก็พ้นจากมลทินอันเกลือกกลั้วด้วยความมรณะในความรู้สึกแห่งรูปกาย ดังนั้นพระองค์ก็ทรงบรรลุถึงซึ่งปฐมฌาน เป็นวิถีแรกที่พระองค์จะทรงดำเนินต่อไป

ในวาระนั้น ณ เบื้องบนเวหาอันสูงสุด มีเบญจเทวดาเขจรมาในอากาศ เมื่อเหาะมาเหนือต้นไม้ซึ่งพระองค์ประทับอยู่นั้น ให้รู้สึกเรรวนจึงกล่าวแก่กันว่า "มหาบารมีอะไรหนอที่ทำให้เราต้องหยุดเหาะดังนี้?" นี่ก็เพราะเทวดาย่อมรู้ได้ว่ามีอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ ณ เบื้องล่าง จึงมองดูลงไปก็เห็นพระพุทธกุมาร มีรัศมีเปล่งปลั่งและกำลังทรงรำพึง ช่วยสัตว์โลกให้พ้นจากกองทุกข์ ครั้นแล้วก็มีเสียงออกจากพุ่มไม้ร้องขึ้นไปว่า "เทวะ! นี่แหละคือผู้ซึ่งจะทรงช่วยสัตวโลก จงลงมาบูชาพระองค์เถิด" เทวดาเหล่านั้นจึงเหาะลงมาฟ้อนรำขับร้องยอพระบารมีของพระองค์ แล้วจึงเหาะเลยไปเพื่อนำข่าวดีอันนี้ไปประกาศแก่ฝูงเทวบุตร เทวธิดาทั้งหลายต่อไป

เมื่อมหาดเล็กซึ่งพระบิดาทรงใช้ให้มาดูพระองค์มาได้เห็น ขณะที่พระองค์ทรงสมาธิอยู่ แม้ว่าเที่ยงล่วงแล้ว และดวงพระอาทิตย์เอนเอียงลงไปสู่เขาแห่งทิศอัสดง ถึงแม้เงาอื่นก็ย่อมเคลื่อนไปตามแสงแห่งดวงอาทิตย์นั้น แต่กระนั้นเงาแห่งชมพูพฤกษ์ซึ่งพระพุทธกุมารประทับอยู่ภายใต้นั้น ก็ดำรงคงที่เพื่อบังมิให้แสงแดดเป็นราคีแก่พระองค์ เมื่อปรากฏมหัศจรรย์ดังนั้น ผู้ซึ่งประจักษ์ได้ยินเสียงออกจากพุ่มกุหลาบว่า "จงปล่อยให้พระราชโอรส ประทับอยู่โดยลำพังพระองค์เถิด ตราบใดที่ไม่มีพระทัยพรากจากเงาไม้นี้ไป เงาของข้าพเจ้าจะไม่ย้ายให้เคลื่อนไปที่อื่นอีกเป็นอันขาด"

จาก http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/light_of_asia/01.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...