https://www.youtube.com/v/F2KRUR4VNH0จาก
https://www.youtube.com/user/VisitTzuchiThailand/videosพระโพธิสัตว์แห่งไต้หวัน ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนโดย มนทิรา จูฑะพุทธิ
โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ15 ปีมาแล้ว...
ฉันได้อ่านนิตยสารเล่มหนึ่งที่ตีพิมพ์เรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง
ขณะพลิกหนังสือทีละหน้า...ทีละหน้า สายตาก็ต้องมาหยุดอยู่ที่ภาพของผู้หญิงคนหนึ่ง
มองด้วยสายตาทางโลก เธอเป็นผู้หญิงสวย ร่างโปร่งระหง ชวนมอง
มองด้วยสายตาทางธรรม ภิกษุณีพุทธชาวไต้หวันท่านนั้น มีใบหน้าสงบงามด้วยความเมตตา จีวรสีเทาที่ท่านสวมใส่ทำให้ท่านดูสำรวมและเคร่งขรึม
ทว่าสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันไม่ว่าจะมองจากมุมไหน คือแววตาที่ฉายความมุ่งมั่น
ชื่อของท่าน คือ
ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน
เนื้อเรื่องในบทความบรรยายถึงการอุทิศตนเพื่อสาธารณกุศลของท่าน ทั้งเรื่องของการช่วยเหลือคนยากไร้ การให้การศึกษา การพยาบาลผู้เจ็บป่วย และการสร้างสื่อคุณธรรมเพื่อใช้พุทธธรรมนำสังคม ภายใต้องค์กรทางศาสนา ชื่อ
"มูลนิธิเมตตาสงเคราะห์ (ฉือจี้) พุทธศาสนาไต้หวัน"ฉันหวังว่าสักวันคงมีโอกาสได้กราบภิกษุณีรูปนี้ และได้ไปไต้หวันเพื่อเรียนรู้วิธีการทำงานของท่าน
เช้าวันหนึ่ง ฉันได้รับโทรศัพท์จากท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ถามว่า
"ยังสนใจที่จะไปไต้หวันอยู่หรือเปล่า"
"แล้วเราจะได้พบ "ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน" หรือเปล่าคะ"
"แน่นอน" คือคำตอบรับทั้งของท่านและของฉัน
และแล้ววันนั้นก็มาถึง
พระโพธิสัตว์แห่งไต้หวัน ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนห้องรับรองภายในโรงพยาบาลไถจง
ห้องสี่เหลี่ยมนั้นกว้างขวาง ชุดรับแขกใหญ่วางอยู่กลางห้อง อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฉือจี้ และอาคันตุกะจากประเทศไทยยืนเรียงแถวเป็นระเบียบ
ห้องแบบนี้ บรรยากาศแบบนี้ ให้ความรู้สึกคุ้นเคยยิ่งนัก
ฉันเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว เมื่อครั้งเข้าเฝ้าองค์ทะไล ลามะ ที่ 14 ที่ประเทศอินเดียเมื่อ 9 ปีก่อน
แต่กระนั้น ฉันก็ยังคงรู้สึกตื่นเต้นซะไม่มี
ไม่เกินสิบนาที ภิกษุณีที่ฉันตั้งตารอคอยมา 15 ปี ก็ก้าวเท้าออกมาจากช่องประตู "ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน"
ฉันทราบมาก่อนหน้านี้แล้วว่าท่านธรรมาจารย์อายุ 71 ปี เข้าแล้ว จึงคาดหวังว่าจะได้เห็นนักบวชหญิงซึ่งชราตามวัย ที่ไหนได้ ร่างบอบบางหากสูงโปร่งที่เดินมาทักทายผู้มาเยือนนั้น ดูกระฉับกระเฉง แข็งแรง และมีพลังเหลือเกิน ท่านเดินหลังตรง สง่า และใบหน้ายังคงสงบงามด้วยความเมตตา
ไม่ต่างจากภาพในหนังสือที่ฉันเคยเห็นมาก่อน แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแล้วก็ตาม
ฉันอ่านหนังสือชีวประวัติและคำสอนของท่านหลายเล่ม กระนั้น ก็ยังมีคำถามในใจว่า นักบวชหญิงร่างโปร่งบางท่านนี้สร้างงานมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ที่ช่วยเหลือผู้คนนับล้านได้อย่างไร
ยอมรับอย่างไม่อายว่า ฉันไม่รู้จักมูลนิธิฉือจี้มาก่อน ไม่รู้ว่ามูลนิธินี้ยิ่งใหญ่แค่ไหน ไม่รู้ว่ามูลนิธินี้ทำอะไรบ้าง ไม่รู้แม้กระทั่งว่ามีมูลนิธิฉือจี้ที่ประเทศไทยด้วย (เชยจริงๆ ค่ะ)
มารู้ก็เมื่อมาเห็นดีวีดีพรีเซ้นเทชั่นที่ไต้หวัน เป็นเรื่องราวว่าด้วยการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของมูลนิธิฉือจี้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ภาพเก่าเล่าเรื่องเปิดฉากดังนี้…
ต้นฤดูฝน ปี พ.ศ.2506 (ท่านธรรมาจารย์อายุ 26)ท่านมหาเถระอิ้นซุ่นได้รับลูกศิษย์ไว้ท่านหนึ่ง และได้ตั้งฉายาว่า "เจิ้งเหยียน" พร้อมให้โอวาทลูกศิษย์ว่า
"ทำเพื่อพุทธศาสนา เพื่อมวลชีวัน"
นับแต่นั้นมา ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนก็ทำงานสงเคราะห์ที่ชนบทภาคตะวันออกของไต้หวันอย่างจริงจัง
เดือนมีนาคม ปีพ.ศ.2509 (อายุ 29)มูลนิธิพุทธฉือจี้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จากเงินบริจาคของแม่บ้านที่เป็นลูกศิษย์ 30 คน โดยการประหยัดเงินค่ากับข้าววันละ 50 สตางค์ทุกวันมาเป็นทุนการกุศล
หลังสั่งสมประสบการณ์นับ 10 ปี ท่านธรรมาจารย์ค้นพบว่าการเจ็บป่วยเป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ และเป็นสาเหตุของความยากจน
เมื่อล่วงรู้ปัญหาแล้ว...
ในฤดูร้อนปีพ.ศ.2522 (อายุ 42)ท่านธรรมาจารย์รายงานมหาเถระอิ้นซุ่นว่า ท่านอยากก่อสร้างโรงพยาบาลที่สมบูรณ์แบบที่ฮวาเหลียน มหาเถระอิ้นซุ่นได้ฟังปณิธานของลูกศิษย์ด้วยความสงบ ได้เตือนด้วยเสียงเบาๆ ว่า
"งานนี้เปรียบเสมือนทางลำบากและยาวไกลมาก"
ท่านธรรมาจารย์รับฟังด้วยคัมภีรภาพ มั่นใจในปณิธานไม่คลอนแคลน ไม่คิดว่าตั้งแต่อิฐก้อนแรก...งานก่อสร้างโรงพยาบาลจะต้องพบกับอุปสรรคอย่างมาก หากท่านธรรมาจารย์ก็ไม่ย่อท้อ ปณิธานอันแรงกล้าทำให้เศรษฐีและชาวบ้านนับจำนวนไม่ถ้วนซาบซึ้งใจในมหาเมตตาของท่าน จึงได้ชักชวนผู้คนให้มาร่วมกันสร้างโรงพยาบาล
วันนี้ โรงพยาบาลฉือจี้ทั่วทั้ง 6 แห่งในไต้หวัน ได้ใช้วิทยาการและเมตตาจิตถักทอเป็นเครือข่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งไม่เพียงจะบำบัดความทุกข์ที่ไต้หวันเท่านั้น หากยังเยียวยาความเจ็บปวดของชาวโลกด้วย
พลังความรักที่ยิ่งใหญ่นี้มีต้นกำเนิดจากประเทศไต้หวัน แถมส่งมอบความรักต่อไปยัง 5 ทวีป ใน 39 ประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย...
ความรักความเมตตาของท่านธรรมาจารย์มิได้จำกัดเพียงแค่การช่วยเหลือชีวิตผู้คนด้วยการสร้างโรงพยาบาลเท่านั้น หากท่านยังสร้างชีวิตด้วยการสร้างโรงเรียนด้วย
ท่านธรรมาจารย์เชื่อว่า...
ความหวังของสังคมอยู่ที่เด็กๆ ความหวังของเด็กๆ อยู่ที่การศึกษา
ปัจจุบันโรงเรียนของฉือจี้มีตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย และเป็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญด้านความรู้ควบคู่จริยธรรม
จากงานการกุศลเมื่อ 10 ปีแรก มาถึงงานด้านรักษาพยาบาลใน 10 ปีที่สอง จนถึงงานให้การศึกษาใน 10 ปีที่สาม และงานด้านจริยศาสตร์คืองานใน 10 ปีที่สี่ของมูลนิธิฉือจี้
1 มกราคม ปีพ.ศ.2548 (อายุ 68)ศูนย์จริยธรรมฉือจี้ได้เปิดทำการที่ไทเป ท่านธรรมาจารย์หวังว่า การปลูกฝังด้านจริยธรรมนี้จะสร้างกระแส "จริง ดี งาม" ให้แก่มวลมนุษย์ไปทั่วโลก
ไม่มีใครล่วงรู้ว่า...
เมื่อ 40 ปีก่อน ฝีก้าวที่ไร้เสียงและสั้นๆ ฝีก้าวนั้น จะทำให้ฝีก้าวคนจำนวนมากทั่วโลกต่างพากันก้าวเดินตาม หากด้วยดวงจิตที่มุ่งมั่น และด้วยปณิธานที่ไม่เคยคลอนแคลนของท่านธรรมาจารย์ ทำให้มูลนิธิพุทธฉือจี้กลายเป็นตำนานแห่งความจริงที่ปรากฏแก่สายตาชาวโลกตราบจนทุกวันนี้
ฉันมีโอกาสได้ฟังธรรมบรรยายที่ท่านธรรมาจารย์กล่าวกับคณะแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครของท่าน ความว่า
"มูลนิธิฉือจี้เริ่มต้นเมื่อ 42 ปีที่ผ่านมา จนมาถึงปัจจุบัน จากจุดเริ่มต้นก็ค่อนข้างที่จะลำบาก ตอนที่เริ่มต้นจะเป็นรุ่นบุกเบิกที่ลำบากมากๆ เราเริ่มต้นจากไม่มี...กระทั่งมี บางคนบอกว่าฉือจี้ใหญ่โตมาก แต่เขาไม่รู้ว่าตอนที่เริ่มต้นนั้นฉือจี้ไม่มีอะไรเลย
"องค์กรของฉือจี้ใหญ่ขนาดนี้แล้วเป็นระเบียบเรียบร้อยได้อย่างไร ก็ด้วยการใช้ศีลเป็นตัวกำหนด และใช้ความรักเป็นตัวปกครอง
"ทุกๆ การกระทำจะต้องเริ่มจากจิตใจที่งดงาม เราต้องรู้จักอดกลั้น และรู้จักมารยาทเพื่อที่จะถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามของฉือจี้ให้สืบเนื่องต่อๆ ไป เพื่อให้มีจิตวิญญาณของความเป็นฉือจี้"
"ตอนนี้มีมูลนิธิพุทธฉือจี้ 45 ประเทศทั่วโลก เราจะบริหารให้คนมีจริยธรรมได้ ก็ด้วยการใช้ศีลเป็นตัวกำหนด ใช้ศีลเป็นหลักในการบริหาร คนของฉือจี้ไม่ว่าจะอยู่ที่นี่หรือที่ต่างประเทศ จิตใจต้องงดงาม ความดี ความงาม ความจริงจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการอบรม การอุทิศตนเป็นพื้นฐานของอาสาสมัคร และต้องการการศึกษามาช่วยพัฒนาด้วย การช่วยเหลือผู้คนต้องเกิดจากจิตใจอย่างแท้จริง ความซื่อสัตย์สามารถทำให้จิตวิญญาณของฉือจี้เป็นหนึ่งเดียว
"ขอบคุณแพทย์พยาบาลทุกคนที่เดินมาเส้นทางนึ้ เราไม่ได้ช่วยเหลือผู้คนแค่ชาวไต้หวันเท่านั้น แต่ช่วยคนทั้งโลก ช่วยมนุษยชาติ คือต้องช่วยให้คนมีความสุข นี่คือภารกิจที่เราต้องแบกเอาไว้ โรงพยาบาลเป็นของพวกเรา ผู้ป่วยเป็นญาติของเรา เป็นครอบครัวของเรา จงดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจกรุณา เราต้องช่วยคนยากไร้ด้วยหัวใจ ต้องร่วมมือร่วมใจกัน ทำได้มั้ย"
มีเสียงตอบรับจากแพทย์พยาบาลโดยพร้อมเพรียงกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
สุดท้าย ท่านธรรมาจารย์กำชับว่า ต้องตั้งใจนะ...ต้องตั้งใจ
จากนั้น ท่านธรรมาจารย์ได้มอบของที่ระลึกให้กับคณะแพทย์และพยาบาล ความเมตตาของท่านเผื่อแผ่มายังทุกคน ด้วยการมอบของที่ระลึกให้คณะจากเมืองไทย
ฉันซึ่งกำลังกดชัตเตอร์เก็บภาพอยู่ ได้รับการเรียกให้เข้าไปรับของ ฉันแบมือออกทั้งสองมือด้วยความเคารพ ท่านวางของที่ระลึกให้ ครั้นถึงสร้อยข้อมือ ท่านสวมให้เรียบร้อย
ใจกระหวัดไปถึงตอนรับของที่ระลึกจากองค์ทะไล ลามะ ฉันแบมือออกทั้งสองข้างด้วยความเคารพเพื่อรับมอบพระพุทธรูปองค์เล็กจากท่าน พระองค์เห็นสายสิญจน์ทิเบตที่ฉันผูกอยู่ที่ข้อมือ ท่านจึงชี้แล้วสรวลเล็กน้อยเป็นทำนองว่าเราเป็นชาวทิเบตเหมือนกัน
ฉันยิ้มด้วยความปลื้มใจ...ต่อทั้งสองเหตุการณ์ ที่แม้จะเกิดขึ้นต่างกรรม ต่างวาระ แต่ก็ให้ความรู้สึกเต็มตื้น
พบเพื่อพราก จากเพื่อเริ่มต้น
ฉันยังคงรู้สึกประทับใจไม่หายแม้ขณะนั่งอยู่บนเครื่องบินในยามค่ำคืนที่เครื่องกำลังทะยานขึ้นจากพื้นมองจากช่องหน้าต่าง เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่กำลังวิบวับด้วยแสงไฟค่อยๆ กลายเป็นจุดเล็กๆ และมืดหายไปในที่สุด
หลับตาพลางนึกถึงบ่ายวันสุดท้ายในไต้หวัน
นึกถึงความตรากตรำของท่านที่ต้องเดินทางไปทั่วทั้งเกาะไต้หวันเพื่อช่วยเหลือผู้คน แม้ว่าท่านจะขึ้นเครื่องบินไม่ได้ ด้วยว่าเป็นโรคหัวใจ กระนั้นเมตตาธรรมของท่านก็ยังแผ่ไพศาลไปยังประเทศต่างๆ
นึกถึงปณิธานอันแรงกล้าของท่าน นับแต่การก้าวสู่เส้นทางธรรม การเริ่มต้นก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้ตั้งแต่ไม่มีอะไร ทั้งชื่อเสียง สานุศิษย์ หรือเงินทอง จวบจนกระทั่ง "หนึ่งก้าวย่างแปดภารกิจ" อันได้แก่ การกุศล การรักษาพยาบาล การศึกษา การบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศ การบริจาคไขกระดูก การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาสาสมัครชุมชน และการมีมนุษยธรรม-จริยธรรม กลายเป็นรูปธรรมของการทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่ก่อเกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติบนโลกใบนี้
นึกถึงภาพท่านธรรมาจารย์ขอบคุณผู้คนด้วยการส่งภาษามือโดยการยกแขนแล้วชูนิ้วโป้งกระดกขึ้นลง ก่อนจะขึ้นรถกลับสมณาราม
นึกถึงแล้วก็รู้สึกศรัทธาท่านเหลือเกิน
เสียงสัญญาณไฟดับลง หากฉันลืมตาขึ้น สร้อยข้อมือเนื้อเขียวใสราวหยกที่ได้รับจากท่านธรรมาจารย์สว่างท่ามกลางความมืด ฉันยกข้อมือขึ้นเพื่อดูใกล้ๆ มารู้ (ความจริง) ในภายหลังว่าเป็นสร้อยรีไซเคิล ทำมาจากหน้าจอโทรทัศน์
มิน่า ถึงได้เรืองแสงได้!
ฉันจับลูกปัดกลมๆ บนสร้อยเส้นนั้นหมุนไปมา
แล้วยิ้ม
หมายเหตุ : บทความนี้มาจากส่วนหนึ่งของหนังสือ "บันทึกแห่งรักและเมตตา ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน" โดย มนทิรา จูฑะพุทธิ รายได้จาการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้มอบให้ "เสถียรธรรมสถาน" และ "มูลนิธิพุทธฉือจี้ ในประเทศไทย" หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไปหน้า 20 มติชนออนไลน์