ผู้เขียน หัวข้อ: กินผักให้ได้บุญมาก ต้องทำควบคู่ไปกับ การปฏิบัติธรรม  (อ่าน 2114 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


อย่างที่กล่าวไปตามความหมายและจุดประสงค์ที่แท้จริงของการกินมังสวิรัติและกินเจนั้นต้องมีสัมมาทิฐิควบคุม คือไม่ใช่แค่กินผักแต่ปากแต่ข้อวัตรอื่นๆ เราไม่ได้สนใจเลยอย่างนี้ก็ไม่เกิดผลอะไรในทางปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้บุญอย่างที่ต้องการ

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างอธิบายความหมายของ “อาหารเจ” โดยเฉพาะความหมายของตัวอักษร “เจ” คือผู้ที่จะกินเจนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การรับประทานอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ ผักฉุน หรือ ของที่สะอาดตามที่กล่าวมาทั้งหมดเท่านั้น แต่หมายถึงการกระทำที่เป็นศีลเป็นตัวกำหนด คือการควบคุมกาย วาจา และ ใจด้วย

การกินเจคือ “กายเจ” หมายถึง การถือศีลที่ต้องระมัดระวังในทางกายคือ การไม่ฆ่าสัตว์ไม่เบียดเบียนสัตว์ทุกชนิด การไม่ล่วงละเมิดเอาสิ่งของที่เป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นและการไม่ถือแย่งเอาในบุคคลอื่นผู้เป็นที่รักใคร่ของคนอื่นมาเป็นของตนคือการไม่ทำผิดประเวณี

การกินเจคือ “ปากเจ” คือ การถือให้ปากสะอาดอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การงดเว้นเนื้อสัตว์แต่หมายถึง ต้อง ไม่พูดเท็จไม่หลอกลวง ไม่พูดยุแหย่ให้คนเขาแตกร้าวกันหรือแตกความสามัคคี ไม่พูดคำพูดหยาบคายให้ระคายหูของผู้อื่น และ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระอันจะเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียเวลาฟังเรื่องราวอันเปล่าประโยชน์แทนที่จะได้ทำกิจประโยชน์อย่างอื่น

การกินเจ คือ “ใจเจ” คือ การรักษาจิตใจของตนเองให้สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากมลทินกิเลสใด ๆคือ ไม่คิดโลภอยากได้ของๆ ผู้อื่น ไม่คิดอาฆาตพยาบาท อิจฉาริษยาปองร้ายผู้อื่น และการมีความเห็นที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมไม่เห็นผิดเป็นชอบ ซึ่งข้อสุดท้ายนี้นับว่าสำคัญที่สุด เพราะแม้จะบอกว่าปากของตนเองไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่ หากจิตยังฟุ้งซ่านกลับไปกลับมาอาจจะต้องกลืนน้ำลายตนเอง ทำให้กลับไปหลงทำผิดในด้านอื่นๆ ได้อีก

ผู้ที่ถือศีลกินผักที่แท้จริง จึงต้องฝึกฝนทั้งกาย วาจาและใจให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลาจึงได้ชื่อว่าได้สร้างบุญเต็มที่อย่างแท้จริง

จะเห็นได้ว่าจากที่กล่าวมาว่าการถือ กายเจ ปากเจ นั้นเป็นข้อวัตรเพื่อให้เราได้ดำรงตนอยู่ใน “ศีล” ทั้งสิ้นอันเป็นพื้นฐานที่จะทำให้กระทำ “ใจเจ” คือการเจริญสมาธิให้เกิดปัญญาต่อไป

แต่ทว่าการถือศีลเพื่อให้ได้บุญตามที่เราตั้งใจจะทำนั้น เราควรจะถือศีล 5 หรือ ศีล 8 ดี เพราะมีความเข้าใจที่ว่า เมื่อถึงเทศกาลกินเจแล้วก็ควรถือศีล 8 ให้เคร่งครัดไปเลย หรือว่าเป็นเพียงการถือรักษาศีล 5 ก็เพียงพอแล้วเพราะว่าตามศาลเจ้าและโรงเจที่เปิดเลี้ยงให้ผู้คนเข้าไปทำพิธีกรรมล้วนแต่มี “อาหารมื้อเย็น”ให้กับผู้ที่เข้าไปถือศีล และยิ่งเป็นวันที่มีการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ด้วยแล้วตอนค่ำก็จะยังมีอาหารบริการเสริมเป็นพิเศษอีกด้วย

ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้หากถือศีลแปดก็จะขัดกับหลักในศีลวัตรในข้อที่ 6 คือที่ผู้ถือศีลต้องถือ “วิกาลโภชนา” คือการงดเว้นในการกินของขบเคี้ยวทุกชนิดหลังเที่ยงวันไปด้วย เรื่องนี้ทำให้มีความเข้าใจที่สับสนกันอยู่มาก

จริงๆ แล้วคำว่า เจ หรือ แจ ในภาษาจีนนั้นมีความหมายว่า การรักษาความบริสุทธิ์ทั้งกายและใจเพื่อเป็นการสักการะและการปฏิบัติบูชาถวายเทพยดา ซึ่งนั่นเป็นความหมายทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานผู้ที่ถือศีลนั้นขอเพียงครองศีล 5 ให้เป็นนิจศีลก็เพียงพอ

แต่ในฝ่ายเถรวาทแล้วตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวไทยมักจะคุ้นชินกับศีลแปดที่หมายถึง อุโบสถศีลที่คนโบราณมักจะไปอาราธนาศีลแปดจากพระสงฆ์ในวันธรรมสวนะภายในพระอุโบสถจึงถือเอาว่า ศีลแปดคืออุโบสถศีลไปด้วย ดังนั้นในช่วงเทศกาลกินเจสำหรับผู้ที่เคร่งในศีลวัตรทางสายนี้ก็มักจะทำการตั้งจิตอธิษฐานว่าจะครองศีลแปดไปเลย
 

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นถือครองศีล 5 หรือศีล 8 ก็ตามย่อมมีผลดีและมีอานิสงส์สูงมากด้วยกันทั้งสิ้น

คำว่าศีล นั้นแปลว่า “ความเป็นปกติ” คือสิ่งที่คนเราต้องให้ความระมัดระวังรักษาตามเพศและฐานะการรักษาศีลให้ดีจึงถือเป็นการระงับโทษทางกายและวาจาที่เป็นกิเลสหยาบในตัวของเราให้กำเริบขึ้นมาอันเป็นพื้นฐานสำคัญให้จิตใจสงบระงับซึ่งความอยากในกิเลสทั้งหลายซึ่งอย่างน้อยก็ควรจะรักษาให้ได้ 5 ข้อคือ

1. การละเว้นจากการฆ่าและเบียดเบียนชีวิต

ข้อนี้เรียกได้ว่าเป็นโอกาสอันดีอยู่แล้วที่จะได้ละเว้นการฆ่าสัตว์เพราะในขณะที่เรางดเว้นการกินเนื้อสัตว์นี้เราก็ได้ละเว้นชีวิตสัตว์ต่างๆ ไปทางอ้อมแล้ว นอกจากนั้นการละเว้นการกินเนื้อสัตว์ยังเป็นการแสดงความกตัญญูต่อสัตว์ผู้มีคุณด้วยโดยเฉพาะสัตว์อย่าง วัว ควาย ที่เป็นแรงงานให้มนุษย์เราเสมอมา รวมไปถึงสัตว์อย่างสุกร ไก่ หรือปลาทั้งหลายที่มีส่วนเลี้ยงดูให้เรามีร่างกายที่แข็งแรงดังเช่นทุกวันนี้

แต่การรักษาศีลข้อนี้ ไม่ใช่เพียงการกินอาหารผักเท่านั้นเราก็จะได้ชื่อว่ารักษาศีลข้อที่ 1 ได้ดีแล้ว เพราะบางทีเราอาจเผลอฆ่าหรือไปทำร้ายสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อื่นๆ ตามความเคยชินก็เป็นได้ เช่น เผลอไปตบยุง เผลอไปเหยียบมดฆ่ามด เอาน้ำราดให้มันไหลไปตามน้ำ ฯลฯ เพราะนี่คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตของเราและคิดว่าไม่เป็นไรเพราะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ความจริงแล้ว นี่เป็นการเบียดเบียนชีวิตเช่นกัน

2. การละเว้นจากการถือเอาทรัพย์สินคนอื่นโดยเขาไม่เต็มใจให้

การระมัดระวังรักษาศีลในข้อนี้ เราอาจมีความสงสัยว่าเราจะไปถือเอาทรัพย์สินของผู้อื่นได้อย่างไรเพราะเราไม่ได้มีนิสัยชอบขโมยของหรือเป็นมิจฉาชีพใดๆ แต่เราอาจเคยชินในการหยิบของใช้คนอื่นไปโดยไม่ขออนุญาตโดยคิดว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวจะนำกลับมาคืน แต่บางทีก็หลงลืมกลายเป็นความผิดศีลข้อนี้โดยไม่ตั้งใจ ดังนั้นเมื่อถือปฏิบัติรักษาศีลแล้ว ก็ต้องให้ความสำรวมระมัดระวังกายให้มากขึ้นอย่าได้เผลอสติเอาของผู้อื่นไปใช้โดยไม่ขออนุญาตแม้จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

3. การระมัดระวังรักษาศีลในข้อที่ 3 คือ การยึดถือพรหมจรรย์

ศีลข้อนี้มีความน่าสนใจมากตรงที่ว่าหากเป็นผู้ที่ถือศีล 8 นั้นจะใช้ข้อศีลที่ว่า “อะพรัหมะจริยา” ซึ่งมีความแตกต่างกับคำว่า “กาเมสุมิจฉาจารา” ข้อนี้แปลว่าการถือประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางเพศโดยสิ้นเชิง ต่างกับการอยู่โดยถือผัวเดียวเมียเดียวแบบศีลข้อปฏิบัติทางศีล 5 คือยังสามารถยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางเพศได้แต่ต้องเป็นภรรยาหรือสามีของตนเองเท่านั้น

ซึ่งการถือศีลในข้อนี้ขอให้เป็นไปตามความเชื่อและสิทธิส่วนบุคคลเพราะผู้ที่ต้องการรักษาข้อวัตรในศีลนั้นมีความเคร่งครัดไม่เท่ากัน โดยเฉพาะบางรายที่ปกติถือกินผักเป็นประจำอยู่แล้ว พอถึงเวลาในเทศกาลที่ต้องถือศีลกินผักแบบเป็นทางการ อย่างเช่น ในช่วงเทศกาลกินเจ ก็ต้องถือเคร่งให้สะอาดบริสุทธิ์ทุกอย่างแต่บางรายก็ขอถือเพียงศีล 5 ก็พอ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วในช่วง 9 วันในเทศกาลก็อาจจะมีความเชื่อตรงกันที่ว่า ยิ่งรักษากายให้บริสุทธิ์มากเท่าใดก็ยิ่งได้บุญมาก จึงพลอยรักษาศีลข้อ 3 โดยถือพรหมจรรย์กันไปเลย เพราะถือเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

แต่อานิสงส์ที่แท้จริงในการถือพรหมจรรย์ก็คือ จิตจะได้ระงับความต้องการทางกามกิเลสไม่ให้ลุ่มหลงติดอยู่ในเพศรสอันจะนำไปสู่ความลุ่มหลงอย่างอื่นๆ นั่นเอง

4. การระมัดระวังรักษาศีลในข้อที่ 4 คือ การงดเว้นจากการพูดเท็จ

ศีลข้อนี้ดังที่กล่าวรวมถึงความหมายของคำว่า “ปากเจ” คือเป็นการควบคุมความประพฤติทางวาจาทั้ง 4 แบบคือ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย และไม่พูดเพ้อเจ้อ

เราอาจสงสัยว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องพูดโกหกอันใดแล้วคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ด้วยจริตและปกติวิสัยของแต่ละคนอาจมีเหตุให้ผิดศีลข้อนี้ก็ได้ทางใดทางหนึ่ง เช่นคนที่มีอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้าซึ่งต้องทำมาค้าขายนั้นต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการพูดดึงดูดใจลูกค้าอาจต้องโกหก อาจต้องมีเหตุให้พูดหยาบคาย หรือการพูดเล่นไร้สาระใดๆ บ้างเพราะเหตุแห่งความเคยชิน

เพราะฉะนั้นการรักษาศีลด้วยปากไม่ใช่แค่กินอาหารผัก แต่ต้องตั้งใจสมาทานรักษาศีลให้ดีแล้วก็ต้องพึงระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องคำพูดเพราะ หากพูดดีคือ พูดความจริง พูดไพเราะ ไม่พูดส่อเสียด และไม่พูดไร้สาระอันจะเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียเวลาด้วยแล้วก็จะเป็นผลดีต่ออาชีพและชีวิตส่วนตัวเป็นอันมาก

5. การระมัดระวังรักษาศีลในข้อที่ 5 คืองดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดให้โทษทุกชนิดที่จะทำให้ขาดสติ

บางคนมักจะมีความเห็นผิดที่ว่า เมื่อตนเองได้ถือรับประทานอาหารมังสวิรัติหรือเจมาตลอดก็น่าจะเพียงพอแล้วแต่ ก็พบว่ามีคนที่ถือกินผักไม่กินเนื้อแต่ก็เป็นนักเลงสุราได้เช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่ามีผู้ที่เข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงของการถือกินมังสวิรัติและกินเจไปผิดทิศทางมากมาย

ยิ่งในช่วงที่เป็น “เทศกาล” อันมีความหมายว่า “งานรื่นเริง” หรืองานเฉลิมฉลอง มักจะทำให้ผู้คนที่ขาดความเข้าใจถึงเนื้องานของเทศกาลที่แท้จริงไปเพราะเทศกาลที่เป็นบุญ อย่างเช่นการกินเจนั้นไม่ได้งดเว้นแค่เพียงเนื้อสัตว์แต่ต้องงดเว้นสุรารวมทั้งสิ่งเสพติดให้โทษทั้งหลายด้วย

ผู้ที่ถือศีลในเทศกาลกินผักนั้นสมควรอย่างยิ่งที่จะงดเว้นการดื่มสุราและของมึนเมาทุกชนิดที่มีผู้เข้าใจผิดนำมาเฉลิมฉลองในงาน เพราะเป็นสาเหตุให้ขาดสติ และเมื่อคนเราเผลอขาดสติไปแล้วย่อมสามารถทำผิดศีลข้ออื่นๆ ได้ และหากได้เผลอทำไปแล้ว การที่เราอุตส่าห์ถือศีลข้อต่างๆ มาก็กลายเป็นการศีลขาดไปอย่างน่าเสียดาย
 

นอกจากการรักษาศีลที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีข้อปฏิบัติที่เป็นการสร้างบุญให้ได้ผลมากในช่วงกินเจนี้ก็คือการปฏิบัติธรรมในด้านการเจริญปัญญา อันได้แก่ การสวดมนต์ การแผ่เมตตาจิตและการเชื่อมบุญอุทิศบุญกุศล



การสวดมนต์

การสวดมนต์นั้นเป็นอุบายที่ดีที่จะทำให้จิตเกิดสมาธิเพราะในขณะที่สวดมนต์อยู่จิตจะจดจ่ออยู่ที่บทสวดอันเป็นอารมณ์เดียวในขณะที่ปฏิบัติการสวดมนต์นั้น ซึ่งในคติทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้นก็จะมีบทสวดมนต์ที่ใช้กันในวัดฝ่ายมหายานและในโรงเจด้วยอันเป็นการสวดบูชาเทพเจ้า

แต่ถ้าเป็นหลักคติธรรมของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแล้ว จะมุ่งเน้นให้เกิดสมาธิและถือเป็นการทบทวนบทคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ท่านได้ประทานโอวาทสั่งสอนธรรมแก่พุทธบริษัททั้ง 4 เอาไว้ ซึ่งมีบทสวดที่เป็นบทมหามงคลมากมาย เช่น บทสวดพระพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงมหากาฯ) และบทสวดโพชฌงคปริตร อันเป็นบทสวดมนต์ที่มีความมุ่งหมายให้เกิดสุขภาพกายที่ดีและช่วยบรรเทาความเจ็บไข้ได้ป่วยได้ (ดูในภาคผนวก)

การแผ่เมตตาจิต

หลังจากที่ได้รักษาศีลและสวดมนต์ให้จิตสงบเป็นสมาธิแล้วก็ต้องมีการแผ่เมตตาจิตให้เหล่าสัตว์ทั้งหลายด้วย การที่เราได้ละเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ได้ก็นับเป็นการให้ทานมหาศาลที่ยิ่งใหญ่ เมื่อสวดมนต์แล้วก็ให้แผ่เมตตาจิตไปให้เหล่าสัตว์ทั้งหลายที่เรา “เคย” ได้นำเลือดและเนื้อของเขามารับประทานเป็นอาหาร

เพราะหากลองคิดให้ดีๆ แล้วสัตว์ที่เราได้รับประทานเข้าไปทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ได้ตายอย่างผิดธรรมชาติด้วยกันทั้งสิ้น เหล่า หมู ไก่ วัว ควาย ทั้งหลายต่างก็ถูกแทงถูกเชือดให้ต้องตายโหงเช่นกัน จิตวิญญาณของสัตว์เหล่านั้นอาจเต็มไปด้วยแรงอาฆาตพยาบาทเราที่ได้นำเนื้อของเขามารับประทานแม้จะเป็นเพียงการกินเพื่อให้อิ่มปากท้องก็ตามอันเป็นที่มาของ คำว่า “ร่างกายของคนเรานั้นเปรียบเหมือนป่าช้าที่ใหญ่ที่สุดของเหล่าสัตว์”

การแผ่เมตตานั้น ขอให้กระทำอย่างตั้งใจและทำการส่งความปรารถนาดี ความเมตตาไปให้สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นให้ได้อยู่เป็นสุข และยังเป็นผลให้จิตใจของเรามีความอ่อนโยนลงด้วยโดยขอให้ตั้งใจกล่าวคำแผ่เมตตาในบทที่ว่า

            “ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขๆ เถิด จงละเวรซึ่งกันและกัน อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลายทั้งปวง ให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไปยังแดนนิพพานโดยถ้วนทั่วพร้อมเพรียงกันทุกรูปทุกนามเทอญ”

            หรือจะใช้บทแผ่เมตตาที่นิยมใช้กันในปัจจุบันก็ได้ว่า

            “สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมด ทั้งสิ้น อะเวรา โหตุ จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวร แก่กันและกันเลย

อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียน ซึ่งกันและกันเลย

อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด”

 

การเชื่อมบุญ

การเชื่อมบุญนั้นเรียกอีกอย่างได้ว่า เป็นการอุทิศบุญหรือส่งบุญให้กันซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดารหรือลี้ลับใดๆ ทั้งสิ้น เปรียบเสมือนบุญที่เราได้ทำมาแล้วทั้งการถือศีลให้เคร่งครัด การสวดมนต์แผ่เมตตาทั้งหลายเป็น ดวงไฟ ที่เราจะทำการมอบหรือส่งต่อไปให้ผู้อื่นได้รับแสงสว่างแห่งบุญ ซึ่งก็คือความสุขความอิ่มเอมใจทั้งหลายไปให้ผู้อื่น

คุณผู้อ่านที่มีความคุ้นเคยในการไปทำบุญที่วัดแล้วพระท่านจะบอกให้ทำการกรวดน้ำส่งบุญอุทิศบุญไปให้บุคคลที่เราต้องการคือพ่อแม่ญาติพี่น้อง นั่นก็คือความหมายเดียวกัน

เหตุที่เราต้องทำการเชื่อมบุญนั้นก็เพราะว่า เหล่าสรรพสัตว์ที่สละเลือดเนื้อให้เราเป็นอาหารนั้นมีเป็นจำนวนมากเขาเหล่านั้นย่อมได้รับความทุกข์ทรมานจากการที่ต้องเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเหล่ามนุษย์โดยที่สัตว์บางชนิดเกิดมาเพื่อสิ่งนั้นจริงๆ คือ ถูกเลี้ยงมาในฟาร์มขุนให้อ้วนแล้วก็ถูกจับขายทอดมาโรงฆ่าสัตว์ ถูกชำแหละและกลายเป็นชิ้นเนื้อให้มนุษย์เราได้บริโภคกัน

สัตว์เหล่านี้ไม่มีทางเลือกในการใช้ชีวิตตามปกติเลยเกิดแล้วก็ตายไม่มีโอกาสได้สร้างบุญเช่นมนุษย์ เราจึงควรทำการอุทิศบุญที่ได้ทำมาเพื่อให้เขาได้มีความสุขเพื่อจะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีต่อไปและเป็นการขออโหสิกรรมต่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายนี้ไปด้วย ซึ่งการเชื่อมบุญหรือยกบุญให้นี้มีความแตกต่างจากการแผ่เมตตา เปรียบเสมือนว่า เมื่อเราได้เผลอทำร้ายคนอื่นแล้วทำการขอโทษขออภัยเพียงอย่างเดียวมันอาจไม่เพียงพอกับความต้องการ การยกบุญให้เขาก็เปรียบเหมือนนอกเหนือจากคำขอโทษแล้วยังแถมเงินทองของมีค่าไปให้เขาอีกด้วย

            หลังจากแผ่เมตตาแล้วก็ให้นึกกล่าวอุทิศบุญในบทที่ว่า

            อิทัง เม มาตาปิตุนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข

อิทัง เม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข

อิทัง เม คุรุปัชฌายาจริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คุรุปัชฌายาจริยา ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า จงมีความสุข

อิทัง สัพพะ เทวานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเทวา ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เทวดาทั้งหลาย ของให้เทวดาทั้งหลาย จงมีความสุข

อิทัง สัพพะ เปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเปตา ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เปรตทั้งหลาย ขอให้เปรตทั้งหลาย จงมีความสุข

อิทัง สัพพะ เวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเวรี ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงมีความสุข

อิทัง สัพพะสัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพสัตตา ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่สัตว์ทั้งหลาย ขอให้สัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุข

จาก https://torthammarak.wordpress.com/2011/10/26/ กินผักให้ได้บุญมากต้อง/

http://www.sookjai.com/index.php?topic=180863
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...