ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมบันเทิง :Train To Busan แบบจำลองชีวิตคนในสังคม  (อ่าน 1414 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ธรรมบันเทิง :Train To Busan แบบจำลองชีวิตคนในสังคม

  Train To Busan ภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในประเทศบ้านเกิด ทั้งยังข้ามมาสร้างปรากฏการณ์จนได้รับการกล่าวขวัญในไทยด้วย และหากมองแบบผิวเผิน ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นแนวสยองขวัญ ว่าด้วยซอมบี้ แต่ทว่าสาระสำคัญที่เป็นแก่นหลักของเรื่อง คือ การนำเสนอพฤติกรรมของมนุษย์ที่เราเห็นได้ไม่ยากในปัจจุบัน
       
       จุดเริ่มต้นความสยองขวัญของ Train To Busan เผยให้เห็นเป็นนัยว่า อาจเกิดการรั่วไหลของไวรัสบางอย่างในเขตอุตสาหกรรมนอกเมือง และมันก็ทำให้ผู้ติดเชื้อกลายร่างเป็นซอมบี้กระหายเลือด ที่พร้อมจะกระโดดขย้ำมนุษย์ทุกคนที่อยู่ตรงหน้า
       
       ก่อนที่วิกฤตการณ์อันร้ายแรง จะขยายออกเป็นวงกว้าง หนังตัดภาพมาให้รู้จักกับ “ซอกวู” หนุ่มนักธุรกิจ ตำแหน่งผู้จัดการกองทุน ที่บ้างานจนทำให้ชีวิตสมรสสั่นคลอน โดยแสดงเป็นนัยว่าเขามีปัญหาระหองระแหงกับภรรยา ที่แยกไปอยู่ต่างเมือง แถมยังห่างเหินกับ “ซูอา” ลูกสาววัยประถม อย่างชนิดที่ลืมไปแล้วว่า ตัวเองเคยซื้อของขวัญอะไรให้ลูกไปบ้าง จนถึงวันเกิดลูกก็ยังซื้อของเล่นแบบเดิมให้ แถมยังทำให้เด็กสาวน้อยใจ เมื่อพ่อไม่ยอมสละเวลางาน มาดูเธอร้องเพลงที่โรงเรียน
       
       ของขวัญวันเกิดที่สาวน้อยซูอาต้องการมากที่สุด คือ การเดินทางไปหาแม่ที่เมืองปูซาน ซึ่งตอนแรกซอกวูไม่เห็นด้วย เพราะไม่อยากให้ลูกสาวนั่งรถไฟไปไกลๆ คนเดียว แต่สุดท้าย..เพื่อชดเชยความผิดหลายครั้งหลายครา เขาจึงยอมลางาน แล้วนั่งรถไฟไปกับลูกสาว โดยมีจุดหมายปลายทางที่เมืองปูซาน
       
       บนขบวนรถไฟเที่ยวนั้น มีหนึ่งในสาวผู้เคราะห์ร้ายที่โดนซอมบี้กัด วิ่งหลบเข้ามา ก่อนที่เธอจะกลายร่างเป็นดั่งอสูรร้าย ไล่กัดทุกคนที่ขวางหน้า ในแต่ละห้องโดยสาร แพร่เชื้อให้คนที่ถูกกัด กลายสภาพเป็นซอมบี้ไปด้วย
       
       ในขณะที่สถานการณ์วิกฤต ค่อยๆ คืบคลานมาทีละตู้ขบวน ตัวละครใหม่ๆก็ค่อยๆปรากฏขึ้น ได้แก่ “ซางฮวา” หนุ่มร่างบึกบึน มาดเหมือนนักเลงโต แต่ทว่าเนื้อแท้เป็นคนจิตใจดี กล้าหาญ และมีน้ำใจ เขาเดินทางมาพร้อมกับ “ซองจียอง” ภรรยาสาวที่ท้องได้ไม่กี่เดือน ซึ่งเป็นคนใจดี อ่อนโยน ไม่ต่างจากสามี
       
       นอกจากนี้ ยังมี “ยองกุ๊ก” กับ “จินฮี” หนุ่มสาววัยรุ่นวัยมัธยมที่ปิ๊งกัน ทั้งคู่อยู่ในชมรมเบสบอล เดินทางมาพร้อมกับเพื่อนๆ “ชายนิรนาม” ที่ดูคล้ายคนสติไม่ค่อยดี และเกือบโดนเจ้าหน้าที่ประจำรถไฟไล่ลงจากรถ หากไม่เกิดเหตุการณ์ซอมบี้ซะก่อน รวมทั้ง “ป้าสองคน” ที่เป็นพี่น้องรักใคร่ดูแลกันเป็นอย่างดี และ “ยงซุก” ประธานบริหารบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ดูเป็นคนขี้โมโห เกรี้ยวกราด และพร้อมจะสติแตกได้ก่อนใครๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้าย
       
       ตัวละครทั้งหมดที่กล่าวมา ค่อยๆแสดงธาตุแท้ออกมาให้ผู้ชมได้เห็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และภายใต้สถานการณ์ที่ต้องเอาชีวิตให้รอดตายของตัวละครแต่ละคนนี่เอง ที่ช่วยให้ผู้ชมได้คิดตามอย่างสนุก
       
       เริ่มตั้งแต่ตัวเอกอย่าง “ซอกวู” ที่ไม่ใช่เป็นพระเอก จิตใจดี ขาวบริสุทธิ์ ตามกรอบของพระเอกหนังไทยที่คุ้นชิน เพราะมีด้านมืดและแสดงความเห็นแก่ตัวออกมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการบอกลูกสาวว่า ไม่จำเป็นต้องเสียสละให้คนอื่นซะทุกเรื่อง หรือเมื่อรถไฟเคลื่อนขบวนมาถึงเมืองแห่งหนึ่ง เขาเชื่อว่าเพื่อนฝูงที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะช่วยหาทางหนีจากฝูงซอมบี้ได้ เขาก็ตัดสินใจเดินเลี่ยงออกมาอีกเส้นทางกับลูกสาว โดยไม่ได้บอกผู้รอดชีวิตรายอื่นๆ ให้เดินตามมาด้วย เพราะเกรงว่าจะเป็นภาระของตัวเอง รวมทั้งจังหวะที่ฝูงซอมบี้กำลังวิ่งไล่ซางฮวา หนุ่มใหญ่ใจดี ซอกวูกลับเลือกปิดประตูใส่หน้า เพราะกลัวว่าซางฮวาอาจหนีไม่ทัน แล้วฝูงซอมบี้จะเข้ามาทำร้ายเขาได้
       
       อย่างไรก็ตาม หลังจากฟันฝ่านาทีเฉียดตายมาหลายครั้ง ซอกวูก็ค่อยๆเรียนรู้ว่า การเอาตัวรอดเพียงคนเดียวนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เขายังต้องอาศัยเรี่ยวแรงจากผู้อื่น อาศัยความสามัคคีของการทำงานเป็นทีม เพื่อก้าวผ่านอุปสรรคที่เผชิญเบื้องหน้า ดังนั้น ในช่วงหลังของภาพยนตร์ เขาจึงร่วมต่อสู้ และช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น
       
       “ซูอา” เด็กสาวผู้เสมือนตัวแทนความดีที่ยังมีอยู่ในสังคม ไม่ต่างจากคำเปรียบที่มักบอกกันว่า เด็กคือผ้าขาวบริสุทธิ์ เธอเป็นคนมีน้ำใจ แสดงออกมาให้ผู้ชมได้เห็นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการลุกให้หญิงชรานั่ง การไม่มองคนอื่นในแง่ร้ายเพียงเพราะรูปร่างหน้าตาภายนอก หรือการตั้งคำถามกับพ่อของตนเอง เมื่อเห็นว่าทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม สอดคล้องกับ “ซองจียอง” สาวสวยว่าที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เธอมีน้ำใจให้กับคนอื่นเสมอ เป็นคนมองโลกในแง่ดี และเป็นกำลังใจให้สามีผู้เสียสละ
       
       “ซางฮวา” เป็นตัวแทนของคติที่ว่า อย่ามองคนแค่ภายนอก เพราะบุคลิกที่ดูแข็งกร้าว เป็นนักเลงของเขานั้น กลับแฝงไปด้วยความเสียสละกล้าหาญ เขาแทบจะเป็นทัพหน้าในการต่อสู้กับฝูงซอมบี้ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ติดอยู่อีกขบวนรถไฟ และแม้กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ยินยอมสละชีพเพื่อปกป้องให้คนที่ตนรักหนีรอดไปได้ คล้ายกับ “ชายนิรนาม” ที่ภายนอกเหมือนเป็นคนสติไม่ค่อยดี เนื้อตัวมอมแมม แต่เมื่อสถานการณ์จวนตัวในขั้นวิกฤต เขาก็ตัดสินใจยอมสละชีวิต เพื่อช่วยปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่าเช่นกัน


       
       ตัวละครที่โดดเด่นที่สุดในอีกด้าน คือ “ยงซุก” เขาเป็นตัวแทนของมนุษย์ผู้เห็นแก่ตัวที่สุด ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไร เขาต้องไม่เสียเปรียบ และต้องเอาตัวรอด โดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร
       
       ยงซุกสั่งให้ผู้โดยสารคนอื่นปิดประตู ไม่ให้ผู้รอดชีวิตกลุ่มหนึ่งเข้ามาในตู้เดียวกัน เพราะกลัวว่าอาจจะติดเชื้อซอมบี้ ขณะเดียวกันเขาก็พร้อมที่จะผลักไสให้คนอื่นรับเคราะห์เป็นเหยื่อซอมบี้แทนตัวเอง เพียงเพื่อให้ตัวเองรอดตาย
       
       Train to Busan จำลองชีวิตต้นแบบบุคคลในสังคม ซึ่งหากเชื่อมโยงกับหลักพุทธศาสนา ก็นับว่าสอดคล้องกับอุปมาเรื่อง “บัวสี่เหล่า” ซึ่งได้แก่
       
       อุคคฏิตัญญู ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ฟังธรรมก็เข้าใจได้ทันที เสมือนดอกบัวพ้นน้ำที่เมื่อได้รับแสงอาทิตย์ก็พร้อมเบ่งบาน
       
      วิปจิตัญญู นับเป็นกลุ่มบุคคลที่มีพื้นฐานที่ดี แต่จำต้องได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม เสมือนบัวปริ่มน้ำ ที่อาจต้องใช้เวลาสักนิด เพื่อจะเบ่งบานในวันถัดไป
       
       เนยยะ เสมือนบัวใต้น้ำ ซึ่งก็ไม่หมดหวังในการโผล่พ้นจากน้ำเสียทีเดียว แต่อาจเป็นกลุ่มที่สติปัญญาน้อย และต้องอาศัยความพยายามมากสักหน่อย
       
      ปทปรมะ บุคคลที่ไร้ปัญญา ซ้ำยังเต็มไปด้วยมิจฉาทิฐิ (ความผิดไปจากทำนองคลองธรรม) เสมือนบัวใต้ตม รอเพียงวันเป็นอาหารของเต่าปลา จัดเป็นบุคคลที่ไม่อาจสั่งสอนอะไรได้
       
       ผู้ชมจะได้เห็นภาพของบัว 4 ประเภท ผ่านลักษณะนิสัยของตัวละครหลักในขบวนรถไฟ โดยเฉพาะเมื่อภัยมาถึงตัว การแสดงออกต่างๆก็ค่อยปรากฏชัดขึ้น
       
       บัวสี่เหล่า หรือบุคคลทั้ง 4 ประเภทนี้ คล้ายคลึงกับตัวละครหลักในภาพยนตร์ และคนในสังคม ที่เรามักเห็นคนดี คนเลว หรือ คนที่ก้ำกึ่งไม่ดีไม่ชั่ว ปะปนกันในชีวิตประจำวัน
       
       สำหรับตัวละครที่ชัดสุดว่าอยู่ในประเภท “ปทปรมะ” คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ยงซุก” นักธุรกิจที่เห็นแก่ตัวแบบเสมอต้นเสมอปลาย ตั้งแต่ต้นเรื่องจนท้ายเรื่อง บุคคลประเภทนี้ไม่ต่างจากบัวใต้ตม ที่ไม่อาจไปสั่งสอน แนะนำใดๆได้ เพราะทำอย่างไรก็ไม่มีปัญญา รังแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น จัดเป็นบุคคลที่พึงหลีกเลี่ยงเข้าไปสัมพันธ์ในชีวิต
       
       ผู้เขียนให้น้ำหนักที่ตัวละครสำคัญ คือ “ซอกวู” ที่เป็นบุคคลประเภท “วิปจิตัญญู” เพราะเชื่อว่า กลุ่มบุคคลบัวปริ่มน้ำนั้น มีอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ตกอยู่ในอำนาจของวัตถุนิยม การแข่งขัน ช่วงชิง ในโลกปัจจุบัน แต่ทว่าหากได้เรียนรู้ ศึกษาหลักธรรม ขัดเกลาจิตใจ ก็พร้อมที่จะเบิกบาน โผล่พ้นน้ำออกไปได้ไม่ยากเลย
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 190 ตุลาคม 2559 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)

จาก http://astv.mobi/AQRQvWA

<a href="https://www.youtube.com/v/pyWuHv2-Abk" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/pyWuHv2-Abk</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/1d4DACwz49o" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/1d4DACwz49o</a>
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...