ผู้เขียน หัวข้อ: พระไพศาล วิสาโล แนะ ’ใจกว้างและมีเมตตาต่อกัน’  (อ่าน 1908 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



visalo.org เผยแพร่ธรรมบรรยายก่อนฉันเช้า วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ พระไพศาล วิสาโล พระนักเผยแผ่ที่เป็นที่รู้จักดีรูปหนึ่งของเมืองไทยในปัจจุบัน ปัจจุบันพระไพศาลเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ชื่อบทความ ใจกว้างและมีเมตตาต่อกัน

ตอนเด็กๆ อาตมาเคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ ๕ เขาเล่าว่าตอนที่พระองค์เสด็จสวรรคตว่า ชาวไทยโศกเศร้าเสียใจมากมายอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ตอนอ่านก็นึกภาพไม่ออก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังเด็กด้วย แต่ที่สำคัญคือไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนั้น นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อ ๑๐๖ ปีที่แล้ว แต่ว่ามาถึงวันนี้ก็นึกภาพออก แล้วก็เข้าใจความรู้สึกของคนไทยสมัยนั้น เพราะมีความรู้สึกร่วมด้วย เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดในครั้งนั้นได้เกิดขึ้นแล้วในตอนนี้ วันนี้คนไทยเศร้าโศกเสียใจกันทั้งแผ่นดินเนื่องจากการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะว่าไปแล้วบรรยากาศแห่งความเศร้าโศกตอนนี้น่าจะยิ่งกว่าเมื่อร้อยปีที่แล้ว เพราะว่าสมัยก่อน คนที่ผูกพันกับในหลวงรัชกาลที่ ๕ มีอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ

สมัยก่อนเมืองไทยไม่ได้เป็นประเทศที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนสมัยนี้ ตอนนั้นเชียงใหม่ก็ยังเป็นประเทศราช ปกครองโดยเจ้าเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นความเศร้าโศกเสียใจเมื่อสูญเสียในหลวงรัชกาลที่ ๕ จึงจำกัดอยู่ในพื้นที่หนึ่ง ไม่เรียกว่าทั้งประเทศ แต่ก็มากพอที่จะทำให้ผู้คนบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ว่าเป็นความเศร้าโศกเสียใจครั้งใหญ่หลวง แต่ว่าสิ่งที่เกิดกับเราวันนี้ มันยิ่งใหญ่กว่า เพราะว่าคนไทยมีรู้สึกร่วมกันทั้งประเทศ เนื่องจากข้อมูลข่าวสารเชื่อมโยงกันหมด โทรทัศน์ วิทยุ รวมทั้งสื่ออินเตอร์เน็ต ทำให้คนไทยทั้งประเทศ ทั้งเหนือใต้ออกตกมีความรู้สึกผูกพันกับในหลวง ตั้งแต่เมื่อตอนที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ รวมถึงช่วงที่พระองค์ประชวรด้วย พอพระองค์สวรรคต ผู้คนก็ยิ่งเศร้าโศกเสียใจเป็นล้นพ้นยิ่งกว่าร้อยปีที่แล้ว

เมื่อร้อยปีที่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ประชวรแค่ ๔ วัน แม้ทรงมีอาการมาหลายปี แต่ว่าก็ยังไม่ถึงกับต้องพักรักษาตัว แต่พอประชวรจนถึงขั้นต้องรักษาตัว ไม่กี่วันก็สวรรคต จึงนับว่าเร็วมากในความรับรู้ของคนไทยสมัยนั้น และก็ไม่มีการออกข่าวด้วย เพราะสมัยนั้นไม่มีวิทยุ โทรทัศน์ แต่กรณีในหลวงรัชกาลที่ ๙ เรารับทราบข่าวการประชวรของพระองค์มาหลายปีแล้ว เราสวดมนต์ถวายพระพรหลายครั้งในหลายปีที่ผ่านมา ในที่สุดจิตใจเราก็ยอมรับความจริงได้ว่า สักวันหนึ่งวันนี้ก็จะมาถึง แม้เตรียมใจไว้แล้ว แต่ก็ยังมีความโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์เมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ แต่ว่าคงไม่ถึงกับช็อกความรู้สึกเหมือนตอนสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งตอนนั้นแม้กระทั่งพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ก็ยังทำใจไม่ทัน พระราชาคณะชั้นพระสมเด็จ ที่มาสดับปกรณ์หรือสวดมาติกาบังสุกุลในคืนแรก หลายท่านสวดพลางน้ำตาไหลพลาง บางท่านก็สวดไม่ออก บางท่านก็เสียงสั่นเครือ อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ ๑๐๖ ปีที่แล้วเมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๕ สวรรคต แต่ถึงอย่างไร วันนี้แม้ว่าเราจะเตรียมใจไว้แล้ว แต่ก็ยังคงมีความเศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ นี้เป็นเรื่องธรรมดาเพราะพวกเรามีความรักและผูกพันในหลวงมาก

แม้ว่าบางคนทำใจได้ แต่ก็ไม่ควรตำหนิหรือค่อนขอดคนที่เสียใจจนถึงกับร้องห่มร้องไห้ ว่าเธอปฏิบัติธรรมอย่างไรกัน ทำไมถึงยังร้องไห้ นี่ไม่ใช่เวลาที่จะมาตำหนิกัน แต่เป็นเวลาที่ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกัน ถ้าเราไม่เศร้าโศกก็ดีแล้ว แต่คนที่เศร้าโศก เราก็ควรเห็นใจ มีเมตตาต่อเขา คอยให้กำลังใจเขา

ขณะเดียวกัน คนที่เศร้าโศกเสียใจ ซึ่งมีทั้งแผ่นดินก็ต้องตระหนักว่า คนเรามีวิธีการแสดงความเศร้าโศกไม่เหมือนกัน เหมือนกับเวลาพ่อหรือแม่ตาย ลูกแต่ละคนก็แสดงความเศร้าโศกไม่เหมือนกัน บางคนก็เศร้าซึมไม่เป็นอันทำอะไร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ แต่บางคนก็ยังไปทำงานได้ คนที่เศร้าโศกมากๆ จนทำอะไรไม่ได้ ไม่ควรไปต่อว่าพี่น้องคนอื่นที่ยังไปทำงานได้ว่า เธอไม่เสียใจที่พ่อแม่ตายหรือไง ความจริงเขายังเสียใจอยู่ แต่อดกลั้นไว้ได้ หรือทำใจได้ แต่ถึงยังทำใจไม่ได้ เขาอาจถือว่าการไปทำงาน หรือการใช้ชีวิตตามปกติเป็นสิ่งสำคัญ

การแสดงความเศร้าโศกนั้นมักมีธรรมเนียมประเพณีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประเพณีนั้นมีประโยชน์ตรงที่ช่วยให้เราแสดงความเศร้าโศกได้อย่างเป็นที่ยอมรับกัน เช่น เวลาไว้ทุกข์หรือแสดงความอาลัย เราควรแต่งกายอย่างไร อย่างไรก็ตาม สมัยนี้ไม่ว่าอะไรก็ตาม รวมทั้งธรรมเนียมประเพณี ผู้คนก็มักจะมีความเห็นแตกต่างกันออกไป มีการประพฤติปฏิบัติแตกต่างกันออกไป เราไม่ควรให้ความแตกต่างนั้นเป็นเหตุของการทะเลาะเบาะแว้งกัน เช่น บางคนมีความเห็นว่าการไว้ทุกข์หรือการแสดงความอาลัยต่อในหลวง ควรจะใส่ชุดขาวตามประเพณีไทย แต่หลายคนก็คิดว่าควรใส่ชุดดำ เรื่องแบบนี้แม้มีความเห็นต่างกัน ถกเถียงกันได้ แต่ก็ไม่ควรถึงขั้นทะเลาะกันว่าทำไมเธอไม่ใส่ชุดขาว ทำไมใส่ชุดดำ หรือบางทีก็ต่อว่าคนที่ไม่ใส่ทั้งขาวและดำ ถึงกับกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี อยากให้ตระหนักว่าเวลานี้ไม่ควรเป็นเวลาที่เราจะทะเลาะกัน ตอนนี้ผู้คนทั้งประเทศก็มีความทุกข์พอแรงแล้ว อย่าเพิ่มความทุกข์ ด้วยการตำหนิติเตียนหรือกล่าวหากันเพียงเพราะเขาปฏิบัติไม่เหมือนเรา ควรมีความเห็นอกเห็นใจกันให้มาก เพราะเราต่างเป็นเพื่อนทุกข์กันทั้งนั้น

ตอนนี้เป็นเวลาที่เราควรดูแลจิตใจของตัวเองให้ดี ไม่ควรมองคนที่ปฏิบัติแตกต่างจากเรา ว่าเป็นคนที่ไม่จงรักภักดี เขาอาจจะมีความจงรักภักดีและเศร้าโศกไม่น้อยกว่าเรา แต่มีวิธีการแสดงออกต่างจากเราก็ได้ อันนี้ควรถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่ควรเข้าใจกันให้มาก

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระหลายรูปเศร้าโศกเสียใจมาก อยู่ในที่ประชุม ไม่ไปไหน นั่งปรับทุกข์กันเพราะว่าทำใจไม่ได้ แต่มีพระรูปหนึ่งชื่อพระอัตตทัตถะ เห็นว่าเวลาเราเหลือน้อยแล้วต้องรีบทำความเพียร จึงตั้งใจปฏิบัติให้บรรลุอรหัตผลในขณะที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ท่านจึงหลีกเร้นไปทำความเพียรอยู่ผู้เดียว พระที่เหลือพอเห็นว่าพระรูปนี้ไม่มานั่งปรับทุกข์เหมือนคนอื่น ก็ตำหนิหาว่าท่านไม่จงรักภักดีในพระพุทธเจ้า ถึงกับไปทูลฟ้องพระองค์ พระองค์จึงรับสั่งให้เรียกตัวมาและสอบถาม เมื่อทราบเหตุผลพระองค์ก็ทรงอนุโมทนาสาธุการ และตรัสให้พระภิกษุทั้งหลายถือเป็นแบบอย่าง

ตอนนี้ก็เช่นกัน คนเรามีความเศร้าก็แสดงความเศร้าด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน มีการประพฤติปฏิบัติที่แตกต่างกัน อย่าไปมองว่าใครที่เศร้าไม่เหมือนเรานั้นไม่ภักดี ใครที่ใส่เสื้อไม่เหมือนเราเป็นคนที่ไม่จงรักภักดี ตอนนี้ก็เริ่มมีหลายคนที่เปลี่ยนภาพโพรไฟล์เป็นสีดำบ้าง หรือเป็นภาพที่มีข้อความแสดงความจงรักภักดีบ้าง เช่น “ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” ก็ดีแล้ว แต่หากคนอื่นไม่ทำ ก็อย่าไปมองว่าเขาไม่เศร้าโศก เขาไม่ภักดี เขาก็มีวิธีของเขาในการแสดงความเศร้าโศก ซึ่งไม่เหมือนกับเรา ก็อย่าไปค่อนขอดต่อว่าเขา

ตอนนี้มีธรรมเนียมประเพณีหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ซึ่งคนไทยเราเดี๋ยวนี้ก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง ถ้อยคำบางอย่างก็มีการถกเถียงว่าควรใช้ไหม เช่น “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” บางคนก็บอกว่าจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีการพระราชทานเพลิงศพ บางคนก็บอกว่าใช้ได้ คำว่า “ถวายความอาลัย” บางคนก็บอกว่าไม่ถูกเพราะไม่มีในโบราณราชประเพณี เรื่องแบบนี้ถกเถียงกันได้ ทำให้เกิดสติปัญญา แต่ แต่อย่าถึงขั้นโกรธเกลียดกัน เพราะว่าคิดไม่เหมือนกัน อย่ายึดติดถือมั่นกับประเพณีตามความคิดของตนจนลืมไปว่าบรรยากาศตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่คนไทยจะมาทะเลาะกัน เราทุกข์กันมากแล้วกับการสูญเสียในหลวง อย่าเพิ่มความทุกข์ให้แก่กันอีกเลยในเรื่องแบบนี้

ในขณะเดียวกัน เมื่อเห็นใครไม่แสดงความเศร้าโศกเสียใจออกมา ก็อย่าไปต่อว่าเขาว่า เธอไม่รักในหลวงหรือไง ถึงไม่เศร้าโศก เราแต่ละคนไม่เหมือนกัน เป็นธรรมดาที่จะคิด หรือรู้สึกแตกต่างกัน ใครไม่เศร้าโศก ก็เป็นเรื่องของเขา เขาอาจเคยเศร้าโศกแต่ทำใจได้แล้ว ตอนนี้เริ่มมีปรากฏการณ์แบบนี้คือ คนที่ทำใจได้ ก็ตำหนิคนที่เศร้าโศกว่า เธอปฏิบัติธรรมอย่างไร ไม่รู้จักวางใจ ส่วนคนที่ทำใจไม่ได้ ก็ตำหนิคนที่ทำใจได้ว่า ไม่รักในหลวงหรือไง อย่างนี้ผิดทั้งคู่นะ เพราะแสดงว่าไม่รู้จักดูจิตดูใจของตน ทั้งยังเป็นการไปด่วนตัดสินคนอื่น

เรื่องนี้ก็ทำนองเดียวกับเวลาเรามาวัดปฏิบัติธรรม เห็นบางคนไม่ยกมือสร้างจังหวะ ไม่เดินจงกรมก็ไปตำหนิเขา พูดให้เขาได้ยินหรือตำหนิในใจ ว่าทำไมเธอไม่ปฏิบัติธรรม ให้ตระหนักว่านั่นไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราก็คือปฏิบัติธรรม ถ้าสมมุติว่าเขาเป็นอย่างนั้นจริง คือไม่ปฏิบัติธรรมก็เป็นเรื่องของเขา ในทำนองเดียวกันใครจะแสดงความจงรักภักดี แสดงความเศร้าโศกต่างจากเราก็เป็นเรื่องของเขา หากเขาจะไม่เศร้าโศกเพราะทำใจได้ หรือเพราะเหตุผลอันใดก็เรื่องเขา มันไม่ใช่เรื่องของเรา เราควรทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ไม่ว่าในฐานะชาวพุทธ หรือในฐานะที่เป็นพสกนิกร


จาก มติชน
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...