พระภิกษุณีธัมมนันทา ภิกษุณีสายเถรวาทรูปแรกของเมืองไทย"แม่" คือเรื่องราวอันสำคัญยิ่งจากคำบอกเล่าหลวงแม่ ในวันเกิด 70 ปีพระภิกษุณีธัมมนันทา ภิกษุณีสายเถรวาทรูปแรกของเมืองไทย (บวชมาจากศรีลังกา) นุ่งห่มครองกายด้วยจีวรสีเหลืองอร่าม พร้อมสะพายบาตรที่ทำด้วยโลหะสีดำติดตรึงอยู่ด้านหลัง ในเส้นทางภิกษุณี-พระผู้หญิงในพุทธศาสนาที่ท่านเลือกเส้นทางเดินตามรอยเท้าแม่ ซึ่งเป็นภิกษุณีรูปแรกของเมืองไทย (บวชมาจากไต้หวัน) โปรไฟล์ชีวิตของพระภิกษุณีธัมมนันทา ได้รับการบันทึกอย่างสวยงามที่ต้องจดจำในประวัติศาสตร์ก็คือ ท่านได้รับเลือกเป็นสตรีชาวพุทธดีเด่นขององค์การสหประชาชาติ (UN Outstanding Buddhist Women Award) เมื่อพ.ศ.2547 ท่านเป็นหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกผู้รับรางวัลนิวาโน สันติภาพ ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ.2545-2549 ท่านเป็นหนึ่งในหนึ่งพันสตรีเพื่อสันติภาพ ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในพ.ศ.2549 ได้รับรางวัล Prestige Woman ในฐานะนักการศึกษา และBangkok Post ได้คัดเลือกท่านเป็นหนึ่งในห้าสิบผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในโอกาสหนังสือพิมพ์ฉลองครบรอบ 50 ปี และท่านยังได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในสามสิบ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในโอกาสหนังสือพิมพ์ The Nation ฉลองครบรอบ 30 ปี ซ้ำในปีเดียวกันด้วย พ.ศ.2552 ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลเกียรติยศประจำปี จากมูลนิธิโกมล คีมทอง พ.ศ.2553 ได้รับรางวัลหนึ่งในยี่สิบสตรี ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากโรงเรียนสุโขทัย และนิตยสาร Thailand Tatler พ.ศ.2555 ท่านได้รับรางวัลนักแปลดีเด่น พ.ศ.2555 ท่านได้รางวัล Sakyamuni Buddha International Award 2012 จากประเทศอินเดียประมวล เพ็งจันทร์ เขียนคำนิยมในหนังสือผู้หญิงในพุทธศาสนา ของ ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ศูนย์อาเซียนและเอเชียศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ว่าความทรงจำที่ประทับตราตรึงอยู่ในใจผมตลอดมาคือ ภาพพระภิกษุ พระภิกษุณีที่เดินมาเป็นแถวยาว และภาพที่ทำให้ผมมีหยาดน้ำตาแห่งปีติเอ่อล้นออกมา คือ ภาพหลวงแม่ธัมมนันทา พระภิกษุณีไทยเดินอยู่ในแถวของพระภิกษุ พระภิกษุณี ด้วยเป็นการประชุมองค์กรพุทธศาสนานานาชาติ ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ คณะกรรมการผู้จัดประชุมได้นิมนต์พระภิกษุ พระภิกษุณีนานาชาติผู้เข้าร่วมประชุมให้ออกบิณฑบาตจากประชาชนชาวเชียงใหม่ เริ่มจากหน้าวัดสวนดอก บนถนนสุเทพ สิ้นสุดที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาจากที่สูง เป็นความปีติเบิกบานที่ได้เห็นพุทธบริษัทไทย มีครบทั้ง 4 ตามพุทธประสงค์ สังคมไทยมีพุทธศาสนาประจำสังคมเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เรายังไม่เคยมีพระภิกษุณี การได้เห็นพระภิกษุณีเถรวาทไทย เดินรับอาหารบิณฑบาตต่อแถวจากพระภิกษุในครั้งนั้น เป็นทัศนานุตริยะโดยแท้ นี่คือการได้เห็นพุทธบริษัทไทยมีครบทั้ง 4 เป็นครั้งแรก พระพุทธองค์ทรงมีพุทธประสงค์ที่จะสถาปนาพุทธบริษัททั้ง 4 ให้มั่นคง คือ พุทธประสงค์ที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดหมายไว้ก่อนการประกาศพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา บรรดาลูกศิษย์และผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระภิกษุณีธัมมนันทา ทยอยกันเดินทางมาที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม 195 ถนนเพชรเกษม ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000ท่ามกลางบรรยากาศ "มีโอกาสเป็นผู้ให้ ดีกว่ามีโอกาสเป็นผู้รับ" ในช่วงเช้า ภิกษุณีทั้งหมดของวัตรทรงธรรมกัลยาณีฯ เริ่มต้นสวดคาถาบูชาพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาพุทธเจ้า นะโม ภะคะวะเต ไภษัชยะคุรุไวฑูระยะประภา ราชายะตะภาคะตายะ อะระถะตะ สัมยักสัมพุทธายะ ตัตถะยะถา โอม ไภษัชเย ไภษัชเย สมุทะคะเต สะวาหา มีความหมายว่า ขอนมัสการพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาพุทธเจ้า ผู้ทรงฤทธานุภาพ มีแสงสว่างดั่งแก้วไพฑูรย์ (สีฟ้า) เป็นราชาผู้บรรลุถึงความหลุดพ้นสู่ความเป็นพระพุทธเจ้า ขอบารมีพระไภษัชยคุรุฯ ให้ข้าพเจ้าพ้นสังสารวัฏด้วยเทอญ พระคาถานี้ปรากฏในพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตสูตร สวด3จบ หรือ9จบ อธิษฐานขอพึ่งพระบารมี หรือมาร่วมสวด 108 จบที่วิหารพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาพุทธเจ้า ทุกวันพระ หลังทำวัตรเย็น
คำกราบถวายภัตตาหารพระพุทธเจ้าว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งภัตตาหารอันได้ตกแต่งไว้ดีแล้วนี้ แด่องค์สมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระอรหันต์โพธิสัตว์ พระอรหันต์พระสาวกสาวิตา ตามลำดับ กราบทูลเชิญเทพ พรหม และพระมหากษัตริย์ทุกๆพระองค์ที่รักษาพระศาสนา และบ้านเมือง ตามลำดับ กราบทูลเชิญสมเด็จพระยามัจจุราช และเจ้าหน้าที่ทางเมืองล่างเสวย ตามลำดับ กราบเรียนเชิญบิดา มารดาของข้าพเจ้าทุกชาติ อีกทั้งญาติมิตรของข้าพเจ้า ทรงพระราชทานตามลำดับ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของข้าพเจ้า และสรรพสัตว์ทั้งปวง ตลอดสิ้นกาลนานเทอญ
จากนั้น พระภิกษุณีธัมมนันทา ค่อยๆเล่าเรื่องเบื้องหลังการกำเนิดกุมารี ลูกๆที่เคยบวชสามเณรีมาร่วมฉลองวันคล้ายวันเกิดวันแม่ ในวันที่ 6 ตุลาคม เหตุการณ์ที่ได้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ วันที่ 6 ตุลาคม 2487 ศตวรรษก่อนแม่เจ็บท้องมาหลายวัน เราอยู่จังหวัดตรังเข้ากรุงเทพฯ แม่เริ่มเจ็บท้องตั้งแต่อยู่ปากพนัง ตอนนั้นไปอยู่ที่บ้านคุณนายห่วง สถิรกุล เป็นแม่ของแพทย์หญิงวัชรี คุณแม่แพทย์หญิงสริกพันธุ์เพิ่งผ่าท้องหลวงแม่เมื่อต้นปีนี้เอง หลวงแม่ขอเล่าเรื่องคุณนายห่วง เป็นแม่ม่ายลูก 5 คน ที่บันทึกไว้ในหนังสือเรียนของ คุณกำจร สถิรกุล โรงพิมพ์คุรุสภา มีลูกชาย 3 คน ลูกสาว 2 คน เป็นหมอทั้งคู่ แม่ของหลวงแม่ท้องใหญ่มาก ใช้ผ้าถุงผืนเดียวไม่ได้ ต้องใช้ผ้าโสร่ง แม่เจ็บท้องที่บ้านนี้ ตอนแรกคิดว่าเป็นท้องแฝด คุณนายห่วงจะขอไว้ 1 คน เกือบเป็นลูกคุณนายห่วงเพราะเด็กไม่ยอมคลอด เมื่อเข้ากรุงเทพฯท้องใหญ่ผิดปกติ เดินเข้าไปในตึก 1 ข้างโรงพยาบาลศิริราช สถานที่เกิดเรื่องโกโบริ-อังศุมาลินโยนระเบิดใกล้ๆกับโรงพยาบาลศิริราช เดินข้ามอีกระเบียงทางเดินระหว่างสองตึก
กลับมานอนเตียงเด็กหัวแข็งมากไม่ยอมคลอดออกมา รู้ตัวว่าเป็นแฝดน้ำ หมอจับเด็กเอาหัวลง หมอเอาลูกประคบเพื่อให้เด็กออกมาเด้งดิ้น จนหมอกระเด็นต้องตัดสินใจผ่าออกแบบซิซาร์เรียน ผ่าตัดวางยาสลบ แม่สลบ ลูกก็สลบไปด้วย แม่เล่าในภายหลังว่าแม่กลัวมาก พยายามจับมือพยาบาล แต่พยาบาลก็สลัดมือออก ที่จริงแล้วการTouching เป็นการเยียวยา หมอตีก้นให้เด็กร้อง คลอดผ่านหน้าท้อง หมอให้แยกแม่แยกลูก ตอนนั้นแม่มีลูกสาว 1 คน มันดารัตน์ (แม่เลี้ยงเป็นลูกสาวคนโต) วัย 4 ขวบ ตอนนั้นระเบิดลง แม่คลอดลูกได้ 2-3 วัน บรรดาแม่ๆถึงได้อุ้มลูก แม่ผ่าท้องตาลายไม่รู้จะไปทิศไหน ตอนนั้นด.ญ.มันดารัตน์จูงแม่ไปห้องที่ไว้น้อง แล้วก็รายงานแม่แบบพูดไม่ชัดว่า "น้องมีไป๋" (น้องมีไฝที่แขน) โรงพยาบาลมีหลุมหลบภัย เมื่อมีเสียงหวอเตือนภัย เมื่อเสียงหวอเงียบหลังจากเหตุการณ์สงบปลอดภัยแล้วก็กลับมาที่ห้องตัวเอง มีหลายคนคว้าลูกคนอื่นเข้ามากกกอดไว้ ตอนที่แม่ผ่าท้องคลอด เป็นวันที่ 6 ตุลาคม 2487ในช่วงเวลาห้าโมงเย็นห้าสิบห้านาที ออกจากโรงพยาบาลศิริราช ไปพักที่บางรัก ตลาดบางรักตอนนี้เป็นร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นอยู่ฝั่งตรงข้าม เป็นบ้านของป้า เมื่อแม่แข็งแรงแล้วก็กลับไปจังหวัดตรัง เด็กทุกคนโตที่จังหวัดตรัง เมื่ออายุ 3 ขวบ จึงอพยพกลับมาอยู่กรุงเทพฯ
การบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ไม่ใช่เป็นการเกิดอย่างธรรมดา แต่เป็นการเกิดที่มีความยากลำบาก หมอดูแลแม่ให้กำเนิดเรา เมื่อถึงเวลาเกิดให้เราได้กราบแม่เป็นคนแรกให้ได้ระลึกถึงบุญคุณ แม่ที่ฟูมฟักเลี้ยงเรามาช่วงอยู่ในท้องแม่ ในช่วงที่แม่แพ้ท้อง แม่จะเหม็นกะปิ แม่อยากกินน้ำร้อนชงกับน้ำตาล แต่ความอยากในสมัยช่วงสงคราม น้ำตาลหายากมาก บ้านของคุณป้าขายน้ำตาล คนแพ้ท้องอยากกินน้ำตาล ใส่ปั๊บ ตักมา 1 ช้อน ผ้าซับเลือดก็เป็นของหายากในสมัยสงคราม ต้องใช้ใยสับปะรดมาทอผ้า สมัยสงครามลำบากไปทุกสิ่ง เราทึกทักว่าสมัยนี้มีหมดทุกอย่าง เราเกิดมาในสังคมอุตสาหกรรม จึงอยากเตือนลูกๆที่ยังมีแม่ให้รำลึกถึงบุญคุณของแม่ ไม่เพียงเฉพาะวันเกิดของเราเท่านั้น แต่ให้ระลึกถึงในวันอื่นๆด้วยว่าแม่เป็นปูชนียบุคคลตลอดทั้ง 365 วัน แม่ทุกคนมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ภายในตัวเอง ข้อเสียของแม่เมื่อนำท่านไปฌาปนกิจแล้วก็เท่ากับว่าเผาข้อเสียไปพร้อมกับร่างกายของท่าน แม่มีข้อดีเป็นสิ่งที่เราน้อมนำเข้ามาใช้ในชีวิตในการทำความดีให้ปรากฏ แม่ยังทำอะไรไม่เสร็จค้างคาอยู่ก็ควรจะช่วยกันทำให้เสร็จสิ้น จึงจะเรียกว่าเราเป็นลูกกตัญญูกตเวทิตา
ความกตัญญูรู้คุณกตเวทิตาด้วยการตอบแทนบุญคุณท่าน คนที่ไม่มีแม่แล้ว แต่แม่ก็ยังอยู่ในตัวเราเสมอDNAของแม่จากบรรพชนส่งผ่านมาที่ตัวเรา ทำให้ DNAของท่านทั้งหลายเป็นส่วนกุศลที่งอกงามปรากฏเป็นจริง การแสดงความกตัญญูกตเวทิตาที่สมบูรณ์แบบที่สุด ต้องพยายามทำให้ได้ ช่วยกันสื่อสาร มนุษยชาติเป็นวิวัฒนาการ เราจะคงไว้สิ่งที่เป็นกุศล รักษาสิ่งที่เป็นกุศลให้พัฒนา มีวิวัฒนาการยิ่งขึ้นๆ ด้วยให้เราน้อมรำลึกถึงด้วย ขอขอบคุณอนุโมทนาบุญด้วยกัน
ตอนเช้า หลวงแม่ขอจากพญามัจจุราชให้หลวงแม่มีชีวิตต่ออีกปีหนึ่ง มีสุขภาพแข็งแรง ลำพังเจ็บไข้ได้ป่วย ย่อมไม่มีพลังรับใช้คุณพระศาสนา การที่เราโกนหัวบวช เราอยู่ในฐานะกำแพงพระศาสนา ทำงานให้ปรากฏ มิฉะนั้นเขาจะพูดกันได้ว่าเสียดายผ้าเหลือง ถึงจะเจ็บป่วยก็ต้องนำไปสู่ภาคปฏิบัติ ตระหนักถึงภาระหน้าที่ให้ชัดเจนที่ได้รับมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุ สาธุ
ในวันเกิด ถ้าใครยังมีแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ให้เข้าไปกราบแม่ ทางที่ดีก็ควรเข้าไปดูแลแม่ทุกวันด้วย แม่แท้ๆของหลวงแม่เป็นภิกษุณี ถ้ามีชีวิตถึงวันนี้ จะมีอายุ 106 ปี ทุกคนที่ระลึกถึงแม่จะพยายามทำให้สิ่งที่พร่องอยู่ โดยการเติมเต็มชีวิต เมื่อแม่ละสังขาร เราต้องมีความเข้มแข็งเป็นพลังร่วมกัน ได้พลังแม่มาเพิ่มที่ตัวเรา DNAครึ่งหนึ่งมาจากแม่ทำให้ชีวิตสมบูรณ์และง่ายขึ้น แม่อยู่กับเราตลอดเวลา แม่สิ้นแล้วก็ยังมีพลังอยู่ในตัวเราโดยไม่เคยรู้สึกว้าเหว่ รู้สึกว่าแม่อยู่กับเราเสมอ พลังของท่านมาปรากฏอยู่ที่ตัวเราด้วย แม่ละสังขารแล้วมาเพิ่มพลังในตัวเรา เมื่อย้อนรำลึกถึงวันเกิดกลับมาสู่ชีวิตในวันแรก ฉลองวันเกิดเป็นการปลดเปลื้องภาระ ดอกไม้ไปกราบเท้าแม่ ล้างเท้าแม่ เพื่อความเป็นสิริมงคล ตั้งจิตให้ก้าวหน้า ปีใหม่ตั้งจิตอธิษฐานให้เริ่มต้นใหม่ในชีวิตให้กับพ่อแม่ บรรพชนผู้ที่ให้กำเนิดปู่ย่า ตายาย มีแม่ช่วยประคับประคอง
เมื่อค.ศ.1993 หลวงแม่ประชุมชาวพุทธ คริสต์ที่ชิคาโก ได้พบกับคุณฮาร์ดี้ เจ้าของผมบรอนซ์ยาว เล่าชีวิตที่แสนรันทดของเธอด้วยน้ำตานองหน้า เธอเติบโตมาในบ้านที่พ่อแม่ทะเลาะวิวาทกันเสมอ พ่อของเธอดุด่าว่ากล่าวแม่โดยตลอด ทุกครั้งที่พ่อเข้าบ้าน ลูกจะหลบเข้าห้องตัวเอง เพราะไม่อยากเห็นพ่อตีแม่ของตัวเอง ทำให้รู้สึกเดือดดาลยิ่ง มีอยู่วันหนึ่งพ่ อหายไปจากบ้านไม่กลับบ้านอย่างทุกครั้ง แม่ลูกก็ถอนใจด้วยความโล่งอก แต่คิดอีกทีไม่มีเงินเข้าบ้าน พ่อหาเงินเข้าบ้านมาโดยตลอด แม่ไม่สามารถหาเงินมาให้ลูกใช้ได้ ที่แล้วมานั้นแม่หาเงินผ่านทางพ่อโดยตลอด แต่ในต่างประเทศ คนตกงาน รัฐจะเป็นผู้เลี้ยงดูเพราะมีระบบรัฐสวัสดิการ แม่หาเงินเล็กๆน้อยๆเพื่อส่งลูกเรียนหนังสือจนถึงระดับมหาวิทยาลัย
ในที่สุด พ่อของฮาร์ดี้ก็กลับมา ในขณะที่ฮาร์ดี้เป็นสาว ขณะกำลังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย พ่อมาในสภาพที่อิดโรยไม่สบาย ฮาร์ดี้พาพ่อไปหาหมอ จึงรู้ว่าพ่อป่วยเป็นโรคมะเร็งขั้นสุดท้าย พ่อบอกว่าฉันไม่เคยทำความรุนแรงหรือก่อเรื่องเลวร้ายให้กับใครเลย ฮาร์ดี้และแม่มองหน้ากัน พ่อทำร้ายแม่และลูกมาโดยตลอดยังจะพูดได้อีกว่าไม่เคยทำความเลวร้ายให้กับใครเลย ในระหว่างที่พ่อรับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล แม่ และลูกก็ทำหน้าที่ในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ไม่ได้รู้สึกเป็นกังวล เป็นความผูกพันที่ปฏิบัติต่อพ่อซึ่งเป็นชาวพุทธที่พึงปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ ฮาร์ดี้และแม่ไปเยี่ยมพ่ออย่างสม่ำเสมอ ดูแลอาการเจ็บป่วย จนวันหนึ่งพ่อพูดแทบไม่มีเสียงเล็ดลอดออกจากคอ หน้าตาของพ่อเสมือนหนึ่งเป็นกองกระดูกที่ตายแล้ว เพียงแต่ลืมตาถึงจะรู้ว่ายังมีชีวิตอยู่ พ่อบอกว่าไม่ต้องให้มอร์ฟีนพ่ออีกแล้ว สิ่งที่พ่อพยายามพูดแต่ไม่มีเสียงออกมาก็คือว่า I Love You ฮาร์ดี้ พ่อรักลูกนะ ฮาร์ดี้รู้สึกว่าที่ผ่านมานั้นผู้ชายคนนี้ไม่เคยมีความรู้สึกจะรักใครได้เลย ไม่เคยคิดว่าจะได้ยินประโยคนี้ออกมาจากปากของพ่อ ไม่กี่วันพ่อก็ตายในอ้อมกอดของฮาร์ดี้ ฮาร์ดี้จึงนำพ่อไปฝัง
ฮาร์ดี้ได้รับธรรมะจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พ่อเป็นคนมีปมและสัมผัสความรักครั้งสุดท้ายก่อนจะตาย จึงได้พบเรื่องราวที่น่าสงสารในชีวิตของพ่อ พ่อเป็นลูกชายคนเล็ก ตอนนั้นลูกชายคนโตอายุ 5 ขวบ พ่ออายุ 4 ขวบ รถชนลูกชายคนโตเสียชีวิตเมื่อทุกคนกลับบ้าน แม่ตบตีลูกชายคนเล็กแล้วต่อว่าต่อขานทำไมเรื่องนี้เกิดขึ้นกับลูกชายคนโต เมื่อพ่อของฮาร์ดี้เติบโตจนมีครอบครัว พ่อก็ตบตีแม่และลูก กลายเป็นเรื่องปกติ ผู้ชายคนนี้ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจมาตั้งแต่เด็กโดยตลอด ไม่เคยรู้จักความรักอย่างแท้จริง รักไม่เป็น ฮาร์ดี้เริ่มเข้าใจว่าชีวิตย่อมเป็นเช่นนี้ วัฏฏะ วัฏจักรแห่งความรุนแรง พ่อนำวัฏจักรแห่งความรุนแรงมาทำให้ชีวิตของเธอรู้สึกว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอบแทนความเกลียดชัง กลายมาเป็นความรัก ทำให้พ่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง พูดว่า I Love You เป็นการเปลี่ยนแปลงให้คนถูกกระทำหล่อหลอมสัมผัสความรักเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ พ่อรักลูกเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ กลายเป็นคนรักเป็นในช่วงสุดท้ายของชีวิต
มีอีกเรื่องราวหนึ่งเกี่ยวกับแม่ชีเทเรซา ย้อนไปในศตวรรษที่17 เธอเป็นชีมืดในอารามคอนแวนต์ เธอต้องนั่งติดกับแม่ชีอีกคนหนึ่งที่รู้สึกเกลียดมาก ทำอะไรก็ไม่น่ารำคาญไปทั้งหมด แม่ชีเทราซาคิดว่าอย่างไรก็ตาม เราต้องอยู่กับแม่ชีคนนี้ตลอดไป นั่งติดกันใช้ชีวิตด้วยกัน ก็ต้องเริ่มต้นคิดใหม่ว่าเราจะต้องทำดีกับเธอแบบเสแสร้ง ถามไถ่ตอบแบบเสแสร้งแล้วกลับกลายมาเป็นความจริงใจ ที่คนหนึ่งจะต้องดูแลอีกคนหนึ่งอย่างใกล้ชิด ในที่สุดแม่ชีคู่กัดรายนั้นก็ถามแม่ชีเทเรซาว่า ทำไมเธอดีกับฉันอย่างนี้ล่ะ ซิสเตอร์เทเรซาสามารถรักซิสเตอร์คนนี้ได้อย่างแท้จริง เราจะต้องใช้ความฉลาดไม่ตอบแทนความโกรธให้มีความเมตตากรุณาต่อคนรอบข้าง เราต้องเริ่มต้นจากตัวเราเองด้วยการยึดถือธรรมะของพระพุทธองค์ พิจารณาจากคนในบ้าน ทุกอย่างย่อมเกิดแต่เหตุ เราต้องย้อนไปพิจารณาที่เหตุ นำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องด้วย ในเมื่อเรามีความโกรธความเกลียด เราย่อมเป็นทุกข์ เป็นการบั่นทอนตัวเราเอง เราต้องฉลาดคิดให้เป็น การที่เราเกลียดใครสักคน ก็เท่ากับว่าเป็นการทำร้ายตัวเอง เราจะต้องไม่ให้จมอยู่กับความอิจฉาริษยา ก็จะทำให้เรามีความสุขด้วย มิฉะนั้นก็จะเกิดความรู้สึกว่าทุกข์เหลือเกิน เราต้องคิดใหม่ทำใหม่ ปฏิบัติกับคนใกล้ตัว พ่อแม่คนรอบข้างอย่างดี เป็นอานิสงส์สูงสุด
การผลัดผ่อนให้ตัวเองเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตัวเรา ในขณะที่เราเป็นมนุษย์ เราอยู่ในพระศากยมุนีแล้ว เราอยู่ใกล้กับความจริงแล้ว จึงไม่ควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะไม่แน่ว่าการที่เราอธิษฐานขอให้เกิดมาอยู่ในยุคพระศรีอริยเมตไตรย์ให้หมดทุกข์โศกนั้น ในขณะที่จิตกำลังจะดับเป็นตัวกำหนด การที่เราจะขึ้นไปข้างบนสวรรค์หรือจะลงล่างสู่นรก ขึ้นอยู่กับการทำชีวิตของเราเอง จิตขาวจิตดำ กุศลหรืออกุศล ประตูจะถูกเปิดออกไปสู่ภายนอกได้นั้น วัวก็ต้องออกได้ทีละตัว ถ้าวัวแออัดยัดเยียดเพื่อจะออกจากประตู วัวดำหลุดออกไป ในขณะที่จิตฝ่ายกุศลวัวขาวเสวยกรรมดี เป็นเรื่องที่เราต้องรักษาจิตให้เป็นกุศลให้มากที่สุดผลิตวัวขาว ให้กายวาจาใจเป็นวัวขาวช่วยกันเพิ่มประชากรวัวขาวให้มากขึ้นในขณะที่ประตูเปิดออก เมื่อเราจะตายเมื่อไหร่พระองค์สร้างจิตกุศลสร้างวัวขาว เมื่อประตูเปิดวัวขาวหลุดออกไปเป็นความน่าจะเป็น ทั้งหมดนี้คือเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกขณะที่กำลังดับจิต ดังนั้น ขอให้เราช่วยกันรักษาจิตให้อยู่ในกุศลตลอดเวลา เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราดับจิตให้เป็นกุศลเสมอ จิตฝ่ายกุศลจะนำไปสู่สุคติได้
หลวงแม่ธัมมนันทา (บวชมาจากศรีลังกา) ก่อนบวชคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม2487 ที่โรงพยาบาลศิริราชในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บิดาคือ ก่อเกียรติ ษัฏเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง 3 สมัย สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ.2489-2501) หลังจากที่บิดาวางมือทางการเมือง ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุและมรณภาพภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ มารดาคือ
วรมัย กบิลสิงห์ ในเวลาต่อมา ในปี 2514 อุปสมบทเป็น ภิกษุณีวรมัย ได้ฉายา มหาโพธิธรรมาจารย์ อุทิศตัวรับใช้พระศาสนา และก่อตั้งวัตรทรงธรรมกัลยาณีฯ ด้วยทุนส่วนตัวของครอบครัว เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและเผยแพร่พระธรรมคำสอนให้แก่ลูกผู้หญิงที่สนใจศาสนา เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เห็นบทบาทบนวิถีพุทธธรรมมาตั้งแต่เยาว์วัย บรรพบุรุษทางคุณทวด หลวงเรืองฤทธิ์เดชะ ราชรองเมือง (แหลม) คุณปู่คือ หลวงพิทักษ์เหลียน สถาน (รื่น ษัฏเสน) ษัฏเสน เป็นนามสกุลพระราชทาน ในพ.ศ.2458 บรรพบุรุษทั้งสองท่านเป็นนายอำเภอครบทุกอำเภอจังหวัดตรัง
ด.ญ.ฉัตรสุมาลย์ ในวัยเพียง 11 ขวบ ช่วยมารดาทำหนังสือรายเดือน วิปัสสนา และบันเทิงสารเป็นการเรียนรู้ และสั่งสมประสบการณ์ในการเป็นนักเขียน และด้วยพรสวรรค์บวกกับประสบการณ์ที่มีทำให้เริ่มต้นงานเขียนด้วยอายุเพียง 19ปี เป็นผลงานแปลเรื่อง ตาที่สาม หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มแรกคือ ปรัชญาจากภาพ ติดอันดับหนึ่ง ในสิบหนังสือขายดีของร้านหนังสือดอกหญ้า ปี2525 ทั้งยังเป็นบรรณาธิการให้แก่หนังสือจดหมายข่าวภาษาอังกฤษ YASODHARA ที่จัดพิมพ์ต่อเนื่องมาถึง 30 ปีมาแล้ว
ในวัย 13 ปี ด.ญ.ฉัตรสุมาลย์ ปลงผมบวชชีสวมชุดนักบวชสีเหลืองอ่อนได้รับฉายา การุณกุมารี ในวัยเด็ก เธอเติบโตในรอบรั้วภิกษุณีอารามได้รับการหล่อหลอมให้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวโพธิสัตว์ ครอบครัวใหญ่ของชาววัตรทรงธรรมกัลยาณีฯ ที่มีหลวงย่าเป็นมารดาแห่งธรรมของคนทั้งวัตร ตลอดเวลาท่านได้ทำงานเพื่อสังคมรับเลี้ยงดูเด็กกำพร้าและผู้หญิงด้อยโอกาสจำนวนมาก
ฉัตรสุมาลย์ ศึกษาในระดับมัธยมที่โรงเรียนราชินีบน ได้รับการสนับสนุนจากมารดาให้ไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย จบปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาวิชาเอกปรัชญา วิชาโทประวัติศาสตร์ ในเวลาเพียง 3 ปี เนื่องจากภาษาอังกฤษดีมาก ทั้งยังเรียนภาษาจีน จากProf.Tan Yun Shan ซึ่งเป็นทูตวัฒนธรรมจีนที่ตั้งรกรากอยู่ในอินเดีย เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ฉัตรสุมาลย์ได้ทำงานกับสมาคมไทยอเมริกัน แต่รู้สึกตัวว่ายังสั่งสมความรู้ไม่เพียงพอจึงตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขาศาสนา ที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ทั้งนี้ต้องศึกษาปริญญาตรีสาขาศาสนาปีสุดท้ายไปด้วย ในช่วงที่เรียนปริญญาโทและปริญญาเอกท่านได้รับทุนจากรัฐบาลแคนาดา
ตลอดเวลาที่ศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาศาสนา และทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบภิกขุนีปาฏิโมกข์ (วินัยของภิกษุณี) การเรียนที่ประเทศแคนาดาเป็นการเปิดโลกทัศน์เรื่องการศึกษาพุทธศาสนาให้แก่ท่านเป็นอย่างมาก ทั้งยังได้รับคำตอบว่า ตัวเราเองเป็นชาวพุทธ เกิดในเมืองพุทธ แต่ได้เรียนรู้ศึกษาวิชาพุทธศาสตร์จนจบชั้นปริญญาเอกจากประเทศที่ไม่ใช่เมืองพุทธเลย ในช่วงปี 2513-2515 รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ ได้เริ่มงานสอนที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ต่อมาพ.ศ.2516-2543 รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ ได้เข้าเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งยังเป็นอาจารย์ดูแลวิทยานิพนธ์ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2518-2544 ดำรงตำแหน่งภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน สาขาศาสนศาสตร์ และอนุกรรมการบัญญัติศัพท์ศาสนาสากล ราชบัณฑิตยสถาน
ผลงานเด่นๆชิ้นสำคัญ คือ เมื่อพ.ศ.2523 แผนกศาสนาและวัฒนธรรมของรัฐบาลทิเบตได้ส่งจดหมายเชิญให้ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ ร่วมเป็นกรรมการพิจารณาการบวชภิกษุณีของทิเบต และด้วยความเคลื่อนไหว เป็นการประชุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาลา ครั้งนั้นทำให้องค์ทาไลลามะองค์พระประมุขของทิเบต ทรงพิจารณาเปิดโอกาสให้ผู้หญิงทิเบตมีทางเลือกบนเส้นทางของนักบวชหญิงมากยิ่งขึ้น
พ.ศ.2526 รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดให้บรรยายเรื่อง "อนาคตของภิกษุสงฆ์ในประเทศไทย" ส่งผลให้ท่านสำนึกได้ว่าถ้าไม่ลงมือเคลื่อนไหวหรือกระทำสิ่งใด ความรู้ในเรื่องภิกษุณีไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงในหลักคิดได้ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ออกจดหมายข่าวชื่อ NIBWA (News-Letter on International Buddhist Women's Activitiesเพื่อเป็นสื่อกลางในการติดต่อกับสตรีชาวพุทธทั่วทุกมุมโลก มีสมาชิก37คนในช่วงปฐมฤกษ์ และขยายตัวจนเป็นเครือข่ายผู้หญิงที่จัดประชุมระดับโลกหลายครั้ง
พ.ศ.2531 ท่านได้ก่อตั้ง องค์กรศากยธิดานานาชาติ หรือ International Buddhist Women Association และได้รับเลือกเป็นประธานองค์กร ในปี 2534-2538 ท่านยังเป็นบรรณาธิการให้หนังสือจดหมายข่าวพุทธศาสนาภาคภาษาอังกฤษ YASODHARA จัดพิมพ์ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันและเมื่อเครือข่ายของผู้หญิงเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มพลังที่เข้มแข็งมากขึ้นจึงได้ร่วมกันก่อตั้งชมรมสตรีชาวพุทธนานาชาติสมาคมศากยธิดา ในพ.ศ.2532 ทางวัตรทรงธรรมกัลยาณีฯ ได้เริ่มต้นจัดการอบรมพุทธสาวิกาเพื่อกระตุ้นให้สตรีไทยได้ตื่นตัวในเรื่องนี้ด้วย
พ.ศ.2534 ท่านได้รับเลือกเป็นผู้จัดการประชุมทางวิชาการนานาชาติ เรื่องสตรีชาวพุทธ พ.ศ.2534-2543 ท่านได้เข้าสอนโครงการวัฒนธรรม โรงแรมโอเรียนเต็ล พ.ศ.2537-2538 ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานโครงการสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2539-2543 เป็นประธานศูนย์อินเดียศึกษาและเป็นกรรมการโครงการจีนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2539 เริ่มก่อตั้งโครงการบ้านศาสติ์รักษ์ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและสตรีมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น พ.ศ.2542 ท่านได้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธสาวิกา
ท่านยังเขียนบทความคอลัมน์ ธรรมลีลาในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ คมชัดลึก และยังมีผลงานแปลอีกร้อยกว่าเล่ม ให้ความรู้ทางด้านวิชาการ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ การอ่านหนังสือและเดินทางไปทั่วโลก สาระที่ถ่ายทอดออกมาในสื่อรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นธรรมะที่ย่อยและกลั่นกรองจากมุมมองของนักอ่าน นักเขียน นักประวัติศาสตร์ นักสตรีนิยม นักสิ่งแวดล้อม นักปฏิบัติ ผลงานลุ่มลึกในสำนวนภาษาและวิถีการถ่ายทอดเป็นการสร้างศรัทธาและสาระให้นักอ่านเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ ยังเป็นพิธีกรรับเชิญในรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับศาสนาเรื่อง "ชีวิตไม่สิ้นหวัง" ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง3 รายการนี้ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องถึง 7 ปี และได้รับรางวัลรายการธรรมะยอดเยี่ยมถึง 2 ปีซ้อน (พ.ศ.2543-2544)
ชีวิตครอบครัว รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ สมรสกับ นาวาอากาศโทพรพจน์ มีบุตรชาย 3 คน เอกฉัตร วรฉัตร ฉัตรฐากูร กบิลสิงห์ เหลนย่าทวด 2 คน คือ ด.ญ.นนท์ชนก กบิลสิงห์ และ ด.ช.ปารมี กบิลสิงห์
"ถ้ารู้จักแม่แท้จริง โลกจะมีสันติภาพ ถ้าหากว่าในโลกนี้คนทั้งโลกต่างรู้จักแม่ รู้จักลูก ต่อกันและกันเป็นอย่างดีและประพฤติต่อกันและกันให้เป็นอย่างดี ระหว่างแม่กับลูกแล้ว โลกนี้ก็จะมีสันติภาพสันติสุขมหาศาลถึงที่สุด ไม่มีอะไรเปรียบได้" พุทธทาสภิกขุ
โปรดอ่านต่อฉบับหน้าจาก
http://www.sakulthaionline.com/magazine/reader/13876/124