ผู้เขียน หัวข้อ: "ทรงตั้งพระราชปณิธาน ต้องยังประโยชน์สุขสู่ราษฎรให้จงได้" น้ำพระทัย สมเด็จพระเทพฯ  (อ่าน 1087 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


"ทรงตั้งพระราชปณิธาน...ต้องยังประโยชน์สุขสู่ราษฎรให้จงได้" น้ำพระทัยสุดงดงามของเจ้าหญิงแห่งสยาม ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ด้วยพระราชภารกิจนานัปการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทุกหนแห่งเพื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขต่อปวงชนชาวไทยมาตลอดตั้งแต่ทรงพระเยาว์ที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ จนถึงปัจจุบันที่พระองค์ปฎิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เอง

      ประชาชนชาวไทยจะเห็นภาพที่พระองค์ทรงเคียงข้างพระราชบิดาและพระราชมารดา เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องที่ต่างๆ ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลเพียงใด ไม่ว่าจะทรงบุกป่าฝ่าดงทรงตรากตรำแค่ไหนก็มิทรงย่อท้อ  ด้วยทรงตั้งพระราชปณิธานว่าต้องยังประโยชน์สุขสู่ราษฎรให้จงได้

     พระราชวิริยอุตสาหะมุ่งมั่นของพระองค์เรียกได้ว่าอาจถูกถ่ายทอดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างมิได้ทรงคำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย

     ในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 2559  วันอันเป็นสิริมงคลที่คนไทยถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งเวียนมาบรรจบอีกวาระ  โดยทรงเจริญพระชนมายุ 61 พรรษา  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยที่ยิ่งใหญ่ต่อพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า  ได้ทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างหนักหน่วงอย่างทรงตรากตรำมิได้ทรงคำนึงถึงความยากลำบาก  และความสุขส่วนพระองค์แม้แต่น้อย

     ด้วยทรงมุ่งหวังที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ดำรงชีวิตอย่างพออยู่พอกินมีความสุขอย่างยั่งยืน อีกทั้งเพื่อทรงสืบสานพระราชปณิธานยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ปวงชนชาวไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถอย่างแท้จริง

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498  ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระนามเดิม ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์  แต่ข้าราชบริพารเรียกกันทั่วไปว่า “ทูลกระหม่อมน้อย”

      ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”  เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม  2520

     ทรงเริ่มต้นการศึกษาระดับอนุบาล เมื่อพุทธศักราช 2501 ณ โรงเรียนจิตรลดา ในเขตพระราชฐาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยทรงศึกษา ต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ตลอดระยะเวลาที่ทรงศึกษา ทรงเอาพระทัยใส่ในการเรียน โปรดการอ่าน และการศึกษาวรรณคดี ทั้งของไทยและต่างประเทศ

      ทรงเริ่มแต่งคำประพันธ์ต่างๆ ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง ตั้งแต่ยังทรงศึกษาในชั้นประถมศึกษา ทรงโปรดการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ทั้งด้านกีฬา ดนตรี บันเทิง และกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ จนทรงสำเร็จการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ จากโรงเรียนจิตรลดา








  เมื่อพุทธศักราช 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบเข้าศึกษาต่อ ในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะมีพระราชภารกิจ โดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆเนืองนิตย์

      แต่ก็ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ในการเรียนอย่างยิ่ง ด้วยทรงตระหนักว่าการศึกษาเป็นความสำคัญอย่างยิ่งและยังทรงร่วม กิจกรรมของคณะ และของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับนิสิตทั่วไป

     ในปีการศึกษา 2519 ทรงสำเร็จการศึกษา และทรงเข้ารับพระราชทานปริญญา อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง สาขาวิชาประวัติศาสตร์

     ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสมัครเข้าศึกษาต่อ ระดับมหาบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันทั้งสองแห่ง ทรงสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีการศึกษา 2522

     หลังจากนั้น ทรงสำเร็จการศึกษา อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลี – สันสกฤต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2524

      ต่อมา ด้วยความสนพระทัยงานด้านการพัฒนา โดยอาศัยหลักวิชาการศึกษา หรือการเรียนรู้เป็นแกน จึงทรงสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงสำเร็จการศึกษา และรับพระราชทานปริญญา การศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ในปีการศึกษา 2529

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ครอบคลุมงานสำคัญ ๆ อันเป็นประโยชน์หลักของบ้านเมือง เกือบทุกด้าน และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ให้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ทรงสืบสานต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ มอบหมาย

     โดยเฉพาะการทรงงาน ด้านการบริหารองค์การ และมูลนิธิ เพื่อสาธารณกุศล ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในโอกาสต่าง ๆ

     ระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ละช่วงเวลา แต่ละปีที่ผ่านไป พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้านด้วยความทุ่มเท ด้วยความวิริยะและอุตสาหะ ด้วยความสนพระทัย สร้างคุณประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ชีวิตของเหล่าราษฎร ประโยชน์เกิดแก่สังคมและประเทศชาติมากมาย

      ทรงเป็นเจ้าฟ้าในดวงใจของพสกนิกร ทรงได้รับการยกย่องจากนานาประเทศจำนวนมาก  พระราชดำริต่างๆของพระองค์ล้วนเกิดคุณประโยชน์อย่างยิ่งในด้านการพัฒนาประเทศชาติสู่ความเจริญตลอดจนก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า




   จะเห็นได้ว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความสนพระทัยในด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก ทำให้พระองค์มีพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอ จึงทรงนับว่าเป็นต้นแบบด้านการศึกษา ที่ดีแก่เยาวชนในประเทศ

     เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ทรงเข้ารับราชการเป็นพระอาจารย์ประจำกองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของพลตรียุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในขณะนั้น ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา

      พระองค์จึงทรงเป็น “ทูลกระหม่อมอาจารย์” สำหรับนักเรียนนายร้อยตั้งแต่นั้น

     ต่อมา เมื่อมีการตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันและทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นศาสตราจารย์ ส่วนการศึกษา ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2529และเป็นศาสตราจารย์ ส่วนการศึกษา ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (อัตราจอมพล) เมื่อปี พ.ศ. 2543

     นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงได้รับเชิญเป็นพระอาจารย์สอนในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนั้น พระองค์ทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาพัฒนาศึกษาศาสตร์ด้วย




ในปี พ.ศ. 2525 ทรงพระราชดำริให้ก่อตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับบุตรหลานข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป เปิดทำการสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2525 โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ประธานกรรมการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และทรงเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกครั้ง

      รวมถึงเสด็จพระราชดำเนินไปในงานปิดภาคเรียนของโรงเรียนทุกครั้ง เพื่อพระราชทานทุนส่งเสริมการเรียนดี และพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานจากสถานศึกษาต่าง ๆ คือ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ วิทยาลัยในวังชาย วิทยาลัยในวังหญิง โรงเรียนผู้ใหญ่พระดาบส ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) กาญจนาภิเษกวิทยาลัย (ช่างทองหลวง)




นอกจากนี้ยังแผ่พระเมตตาไปสู่เยาวชนในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเช่นในปี พ.ศ. 2533 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยือนประเทศลาวครั้งแรกระหว่างวันที่ 15-22 มีนาคม ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน 12 ล้านกีบ

      จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินไปก่อสร้างเรือนนอนให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางทิศเหนือประมาณ 67 กิโลเมตร

      พระราชทานชื่อว่า “อาคารสิรินธร” โดยมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในรูปแบบของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยทรงนำแนวทางที่ดำเนินการในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ และสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริม

     พ.ศ. 2535 ทรงพระราชดำริพระราชทานความช่วยเหลือกัมพูชาในการก่อตั้งวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ณ จังหวัดกำปงธม ประเทศกัมพูชา โดยพระราชทานเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ เสด็จฯ ไปทรงเปิดวิทยาลัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนแก่นักเรียนเพื่อให้มาศึกษาต่อในประเทศไทยในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อนำความรู้กลับไปสอนและพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัย รวมทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาด้านนาฏศิลป์และดนตรี

     ในปี พ.ศ. 2549 พระองค์ทรงมีแนวความคิดจัดตั้งโครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ขึ้น โดยความร่วมมือของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างนักอักษรศาสตร์ที่มีมุมมองและแนวคิดใหม่เพื่อเป็นกำลังของชาติ ทรงสนับสนุนการช่วยเหลือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ให้เป็นโรงเรียนผลิตนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ สร้าง”องค์ความรู้”ให้แก่ประเทศไทย

     จะเห็นได้ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาไม่แพ้พระราชกรณียกิจด้านอื่นๆ เลย

     ในวโรกาสมหามงคลวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ในนามหนังสือพิมพ์สยามรัฐและพสกนิกรไทยทั้งประเทศขอพระราชทานพระราชานุญาตถวายพระพรชัยมงคล ขอทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ มีพระวรกายแข็งแรง ทรงสถิตเป็นพระมิ่งขวัญสิริมงคลแก่ประชาชน และประเทศชาติยาวสืบไปตราบนานเท่านาน ทรงมีพระราชดำริประสงค์สิ่งใด ขอให้ทรงสมพระประสงค์จำนงหมายจงทุกประการ   ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

“ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน”




จาก http://panyayan.tnews.co.th/contents/207279/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...