ผู้เขียน หัวข้อ: โลกตะลึง! ทรงหยุดสงครามกลางเมือง พระราชดำรัสไม่กี่ประโยค! คนเดียวในโลกที่ทำได้!  (อ่าน 1113 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

โลกตะลึง! ทรงหยุดสงครามกลางเมืองที่กำลังร้อนแรง ด้วยพระราชดำรัสไม่กี่ประโยค!คนเดียวในโลกที่ทำได้!


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จบรมพระราชินีได้เสด็จมาเยี่ยมนิสิตนักศึกษาที่เข้าไปพึ่งพระบารมีในสวนจิตรลดา


แม้ระบอบการปกครองของไทย พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศก็ไม่เคยมีพระราชประสงค์ที่จะเข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมือง นอกจากการทรงงานเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พสกนิกรของพระองค์ แต่ในยามที่ประเทศชาติเกิดปัญหาวิกฤติ ถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมือง ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทุกฝ่ายจึงต้องพึ่งพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้วิกฤติการณ์ร้ายแรงนั้นยุติลงได้ราวปาฏิหาริย์ สร้างความประหลาดใจให้คนทั้งโลก ว่าเป็นไปได้อย่างไร ไม่มีใครทำได้เช่นนี้ ทั้งยังไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว
       
       เหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค”
       ในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ประชาชนมีความไม่พอใจในการปฏิรูปประชาธิปไตยซึ่งเป็นไปอย่างเชื่องช้า ประจักษ์ชัดว่ารัฐบาลต้องการจะผูกขาดการครองอำนาจ โดยถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญไปอีก ๓ ปี จึงเกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชน มีการเรียกร้องจากบุคคลหลายอาชีพรวมทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็ว แต่รัฐบาลกลับใช้วิธีจับกุมผู้เดินแจกใบปลิว ด้วยข้อหามั่วสุมทางการเมืองเกินกว่า ๕ คน พร้อมพ่วงข้อหาเป็นกบฏและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่ประชาชนและนักศึกษา เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหา แต่รัฐบาลไม่ยินยอม จึงเกิดการชุมนุมขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม
       
       ในวันนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อกราบบังคมทูลเกี่ยวกับเหตุการณ์และขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง และทรงแนะทางยุติความขัดแย้งอย่างสันติ แต่เหตุการณ์มิได้คลี่คลายไปได้โดยง่าย
       
       ในวันที่ ๑๒ ตุลาคมจำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นเป็นแสน เมื่อรัฐบาลยังไม่ยินยอมตามข้อเรียกร้อง การเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็เกิดขึ้นในวันที่ ๑๓ ตุลาคม มีนักศึกษาประชาชนเข้าร่วมกว่า ๕ แสนคน เคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นจุดแรก เพื่อรอคำตอบจากรัฐบาล ตอนค่ำวันนั้น รัฐบาลยอมปล่อย ๑๓ ผู้ต้องหา และรับว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญในอีก ๑ ปีถัดไป นักศึกษาและประชาชนไม่เชื่อคำสัญญาชองรัฐบาล ตัวแทนนักศึกษาจึงขอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยบ้าง
       
       เช้าตรู่ของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ขบวนได้เคลื่อนไปยังพระตำหนักสวนจิตรลดา เพื่อฟังผลที่ตัวแทนนิสิตนักศึกษาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เวลาประมาณ ๕ น. พ.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร นายตำรวจประจำราชสำนัก อัญเชิญพระบรมราโชวาทมาอ่านให้ที่ประชุมฟัง ว่ารัฐบาลได้ยินยอมตามคำเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาแล้ว ขอให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เพื่อยังความสงบเรียบร้อยให้เกิดแก่ประชาชน ผู้ชุมนุมต่างเปล่งเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนแยกย้ายกันกลับ
       
       แต่เมื่อนักศึกษาประชาชนส่วนหนึ่งจะกลับไปทางถนนพระราม ๕ จากสี่แยกราชวิถี ตำรวจก็ปิดกั้นไม่ยอมให้ผ่าน เพราะเป็นเส้นทางที่ไปทางบ้านจอมพลถนอม จึงมีการผลักดันกันขึ้น ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตายิงใส่กลุ่มประชาชนและนักศึกษา และใช้กระบองลุยตีไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย ทำให้กลุ่มนักศึกษาประชาชนต้องกระโดดหนีลงไปในคูน้ำรอบพระตำหนักจิตรลดา มีผู้เสียชีวิต ๓ คนบาดเจ็บนับร้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาให้เปิดประตูพระตำหนักให้นิสิตนักศึกษาเข้าไปลี้ภัย และเสด็จออกมาเยี่ยมด้วยพระองค์เอง
       
       ข่าวตำรวจทำร้ายนิสิตนักศึกษาแพร่สะพัดไปทั่ว ทำให้ผู้ชุมนุมที่สลายตัวไปแล้วกลับมาชุมนุมกันอีก และขว้างปากองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ผ่านฟ้าอย่างโกรธแค้น มีการเผาป้อมตำรวจที่ท่าพระจันทร์หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ที่ออกข่าวว่านิสิตนักศึกษาเป็นผู้ก่อการร้ายบุกรุกเข้าพระตำหนักสวนจิตร จากนั้นก็ลามเข้ายึดกรมสรรพากรที่อยู่ติดกัน และล้อมโรงพักชนะสงคราม
       รัฐบาลได้ส่งรถถังหลายคันออกปราบปรามนิสิตนักศึกษาและนักเรียนอาชีวะ มีเฮลิคอปเตอร์ทหาร ๓ ลำบินวนถนนราชดำเนินยิงปืนกราดและทิ้งระเบิดน้ำตาลงมา นักศึกษาประชาชนต้องเสียชีวิตจำนวนมากที่โรงพักชนะสงครามและกองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า ซึ่งตำรวจยิงต้านทานอย่างเหนียวแน่น
       
       ๑๘.๐๐ น.ของวันนั้น วิทยุประเทศไทยได้ออกข่าวว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว และตอนค่ำ ๑๙.๑๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ทรงเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “วันมหาวิปโยค” ขอร้องให้ทุกฝ่ายยุติการต่อสู้ ใช้สติยับยั้งเพื่อประเทศชาติกลับคืนสู่ปกติ ทรงแจ้งว่าได้แต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เหตุการณ์ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ผ่านฟ้าก็ยังไม่สงบ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในอารมณ์คลั่งแค้นที่ตำรวจยิงผู้ชุมนุมตายเป็นจำนวนมาก ไม่ได้รับฟังข่าวสารใดๆ จะบุกกองบัญชาการของตำรวจแห่งนี้ให้ได้ และทำสำเร็จเมื่อ ๑๓,๐๐ น.ของวันที่ ๑๕ ตุลาคม วางเพลิงเผาจนวอดรวมทั้งสถานีตำรวจนางเลิ้งที่อยู่ติดกัน ในเวลา ๑๘.๔๕ น.ของวันนั้น วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ประกาศว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ได้ลาออกจากราชการและเดินทางออกไปต่างประเทศแล้ว
       
       ในขณะที่สถาบันทางการเมืองล่มสลายไปหมดนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง สมัชชาแห่งชาติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของประชาชนทุกสาขาอาชีพ
       
       “เพื่อให้ได้มาซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันเป็นตัวแทนของผลประโยชน์ อาชีพ วิชาการ ตลอดจนทรรศนะ ความเห็นอันกว้างขวางในประเทศของเราอย่างแท้จริง”
       ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก พระราชดำรัสเปิดประชุมแสดงให้เห็นพระราชประสงค์ที่จะให้เกิดรัฐประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยแท้
       
       “ข้าพเจ้ามีความพอใจมากที่ได้เห็นว่า ผลแห่งการคัดเลือกนั้น ได้ทำให้สภามีสมาชิกที่มาจากคนหลายกลุ่มหลายอาชีพ ซึ่งตามปกติอยู่ห่างไกลกัน แต่ได้มาร่วมประชุมกันในสภานิติบัญญัตินี้ เพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังความเห็นของกันและกัน แล้วร่วมกันตัดสินใจในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองที่รักของเราต่อไป”
       หลังจากนั้น ประชาชนก็มีโอกาสใช้สิทธิของตนเองในการเลือกตั้ง กลไกของระบอบประชาธิปไตยก็กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง ทำให้ประชาชนเห็นชัดเจนว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มั่นคง ซึ่งทุกคนหวังพึ่งได้ เมื่อใดที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติจนประชาชนเห็นว่าหมดที่พึ่ง ก็จะหันไปพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       
       เหตุการณ์ “วันพฤษภาทมิฬ”
       ในปี ๒๕๓๔ ขณะที่ประชาชาวไทยเชื่อกันว่าการกบฏรัฐประหารของคนถืออาวุธนั้น เป็นอดีตที่ไม่หวนกลับมาของประเทศไทยอีก แต่แล้วในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ นายทหารคณะหนึ่งประกาศตัวเป็น “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ “รสช.” เข้ายึดอำนาจการปกครองโดยอ้างเหตุผลเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลที่กำลังอื้อฉาว
       
       รสช.ได้ตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นโดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก่อนที่จะประกาศใช้ได้ในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๓๕ ก็มีผู้เคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยว่าเป็นรัฐธรรมนูญผูกขาดอำนาจของ รสช. พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. หนึ่งในคณะ รสช. จึงยืนยันต่อผู้สื่อข่าวที่หอประชุมกองทัพบกว่า ทั้ง พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. จะไม่เป็นนายกฯสืบอำนาจ รสช.
       
       หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลได้จัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่มีพรรคไหนได้เสียงเกินครึ่งสภา พรรคสามัคคีธรรมที่มี รสช.หนุนอยู่จึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีมติจะให้นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ทันจะทูลเกล้าฯ ก็มีมือดีปล่อยข่าวว่า นายณรงค์เป็นผู้หนึ่งที่ “ต้องห้าม”เข้าอเมริกา เพราะมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด
       
       ในที่สุด พล.อ.สุจินดาก็หลั่งน้ำตายอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง โดยมี ๕ พรรคการเมืองสนับสนุน ซึ่ง ๓ พรรคหลังก็ถูกยึดอำนาจร่วมกับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ ทั้งยังมีรัฐมนตรีที่ถูกยึดทรัพย์ถึง ๓ คนร่วมคณะ
       
       กระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูงได้โหมแรงขึ้น เรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคฝ่ายค้านมีมติแต่งดำไว้ทุกข์ จัดปราศรัยเพื่อคัดค้านนายกฯ มีประชาชนออกมาชุมนุมกันที่สนามหลวงกว่า ๕ แสนคน มีการติดต่อประสานงานกันด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่จนถูกเรียกกันว่า “ม็อบมือถือ” โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ที่มีคะแนนนิยมสูงในขณะนั้นเป็นผู้นำ
       
       ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงไปตามถนนราชดำเนิน แต่ถูกรัฐบาลวางกำลังสกัดไว้ที่สะพานผ่านฟ้า เริ่มมีการปะทะ รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม และสั่งปราบปรามการชุมนุมอย่างรุนแรงด้วยแผนไพรีพินาศ ผู้คนในถนนราชดำเนินบาดเจ็บล้มตายกันไปหลายคน และผู้ที่หลบภัยเข้าไปในโรงแรมรัตนโกสินทร์ถูกลากตัวออกมาทุกห้อง สื่อมวลชนต่างประเทศได้แพร่ภาพการปราบปรามประชาชนนี้ออกไปทั่วโลก สร้างความสลดหดหู่ใจแก่ผู้พบเห็นความโหดร้าย และเรียกเหตุการณ์นี้ว่า“พฤษภาทมิฬ” เหตุการณ์รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อ พล.ต.จำลองถูกชิงตัวไปจากที่ชุมนุมนำไปขังไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจ บางเขน
       
       แต่ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายออกไปอีก ในเวลา ๕ ทุ่มครึ่งของวันที่ ๒๐ พฤษภาคม โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุทุกแห่งได้ถ่ายทอดข่าวสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พล.อ.สุจินดาและ พล.ต.จำลองเข้าเฝ้าที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงเริ่มพระราชดำรัสด้วยพระสุรเสียงเรียบๆ แต่หนักแน่นว่า
       
       “คงไม่เป็นที่แปลกใจ ทำไมจึงเชิญให้ท่านมาพบกันอย่างนี้”
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชาธิบายแก่บุคคลทั้งสองว่า แม้จะเป็นที่กระจ่างชัดตั้งแต่แรกว่า เหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันคืออะไร แต่
       
       “ก็มีความเสียหายในทางจิตใจ และในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างที่จะนับคณนาไม่ได้” และ
       
       “ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกหนทุกแห่ง มีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่าประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบาก”
       ทรงถามผู้นำทั้งสองฝ่ายด้วยคำถามที่คนทั้งชาติเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ว่า
       
       “แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วก็ที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ”
       
       ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างละทิษฐิมานะ ยอมปฏิบัติตามพระราชดำรัส
       พล.อ.สุจินดาและ พล.ต.จำลองได้ออกแถลงทางโทรทัศน์ร่วมกัน พล.อ.สุจินดารับว่าจะปล่อยตัว พล.ต.จำลองและจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุม ส่วน พล.ต.จำลองก็ขอให้ผู้ชุมนุมยุติความวุ่นวาย แม้ผู้ชุมนุมยังไม่พอใจที่ พล.อ.สุจินดาไม่ยอมลาออก แต่ก็พร้อมใจกันสนองพระบรมราโชวาท ยอมยุติการประท้วง
       การปราบปรามประชาชนที่ทำให้ชาวโลกสลดหดหู่ใจ ก็กลายเป็นเหตุการณ์ “โลกตะลึง” ที่ยุติลงทันทีทันใดด้วยพระราชดำรัสเพียงไม่กี่ประโยค ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอีกแล้วที่สามารถจะหยุดสงครามการเมืองได้เช่นนี้ ประชาชนชาวไทยต่างเทิดทูนในพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโลกก็ได้รับรู้ในพระบารมีของพระองค์
       
       ทรงยับยั้งการบุกสถานทูตเขมร
       ในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๖ มีเหตุการณ์จลาจลที่ชาวเขมรกลุ่มหนึ่งถูกปั่นหัวให้บุกเข้าเผาสถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ จนเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตต้องหนีตายไปได้อย่างฉิวเฉียด จากนั้นแก๊งมอเตอร์ไซด์ก็ตระเวนเผาโรงแรมและบริษัทธุรกิจของคนไทยวายวอดไปทั่วกรุงพนมเปญ
       กลางดึกของคืนวันนั้น ทันทีที่ทีวีแพร่ภาพจากสำนักข่าวรอยเตอร์ มีผู้หญิงกัมพูชาคนหนึ่งเหยียบย่ำพระบรมฉายาลักษณ์ คนไทยเลือดร้อนต่างก็มุ่งไปที่สถานทูตกัมพูชาที่ถนนราชดำริ และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆโดยไม่มีการนัดหมาย ยิ่งเมื่อภาพหมิ่นที่เคารพสักการะของคนไทยนี้ถูกแพร่ทางอินเตอร์เนต ชาวเว็บหลายคนก็ถึงกับหลั่งน้ำตา และมุ่งไปที่สถานทูตกัมพูชาด้วยความเคียดแค้น แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกันไว้ไม่ให้เข้าใกล้รั้วสถานทูต
       
       ๑๓.๒๐ น.ของวันที่ ๓๐ มกราคม กลุ่มผู้ชุมนุมหน้าสถานทูตกัมพูชาได้เรี่ยไรกันซื้อโลงศพและธงชาติกัมพูชา เขียนข้างโลงว่า “แด่ฮุนเซน” เผาไปพร้อมกับธงชาติเขมร ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้อง พร้อมกับร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี
       
       ขณะที่ผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอารมณ์ร้อนแรง มีการนำรูปผู้หญิงกัมพูชาที่กระทำไม่บังควรพิมพ์ออกมาจากอินเตอร์เนต แจกจ่ายแก่ผู้ชุมนุมและคนที่ขับรถผ่านไปมา ทำให้ความเคียดแค้นร้อนแรงยิ่งขึ้น ผู้ชุมนุมพยายามจะฝ่าแนวป้องกันของตำรวจเข้าไปทำลายสถานทูตกัมพูชาให้ได้
       
       จนกระทั่งในเวลา ๑๗.๐๐ น. พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผบ.ตร.ได้เดินทางมาถึง และกล่าวกับผู้ชุมนุมทางเครื่องขยายเสียงว่า นายอาสา สารสิน เลขาธิการสำนักพระราชวังได้แจ้งมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ทรงเป็นห่วงประชาชน เป็นห่วงบ้านเมือง เราเป็นพระเอกแล้วในสายตาชาวโลก เราเป็นฝ่ายถูก อย่าทำตัวให้กลายเป็นผู้ร้ายไปเลย ให้ประชาชนอยู่ในความสงบ อย่าทำอะไรรุนแรง ขอขอบใจในความจงรักภักดี
       
       อารมณ์ของคนที่กำลังคลั่งแค้น และเหตุการณ์ที่กำลังจะลุกลามใหญ่โต ก็สงบลงทันที ผู้ชุมนุมต่างสลายตัวกลับ แต่ก็ยังมีผู้ไม่ทราบเรื่องทยอยมาชุมนุมอีก ๔๐๐-๕๐๐ คน จนกระทั่งสลายไปทั้งหมดหลังจากร่วมกันร้องเพลงชาติในเวลา ๐๘.๐๐ น.ของวันที่ ๓๑ มกราคม
       
       การสลายตัวของผู้ชุมนุมหน้าสถานทูตกัมพูชาครั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศประโคมไปทั่วโลกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ช่วยยุติวิกฤติการณ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในครั้งนี้ ทรงขอร้องให้ผู้ชุมนุมหน้าสถานทูตกัมพูชาในกรุงเทพฯ สลายตัว เอเอฟพี.รายงานด้วยว่า พระเจ้าอยู่หัวของไทยเคยทรงเข้าช่วยคลี่คลายวิกฤติเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ซึ่งทหารยิงประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเสียชีวิตอย่างน้อย ๕๒ ศพในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕
       
       คนไทยที่ไปชุมนุมอยู่หน้าสถานทูตกัมพูชาในครั้งนั้น ได้แสดงให้โลกประจักษ์ถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง ทรงสยบผู้ชุมนุมที่กำลังคลั่งแค้นให้เย็นลงได้เพียงพระราชดำรัสเพียงไม่กี่ประโยค เหมือนที่ทรงระงับสงครามกลางเมืองเมื่อครั้งเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”
       
       ในวันนี้ หวังว่าคนไทยเราคงจะรำลึกถึงพระราชดำรัสในวันนั้นกันอีกครั้ง
       
       “เราเป็นพระเอกแล้วในสายตาชาวโลก เราเป็นฝ่ายถูก อย่าทำตัวให้กลายเป็นผู้ร้ายไปเลย”



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสทางทีวีในวันที่ ๑๔ ตุลาคม


พลตรีจำลอง ศรีเมือง ถูกบุกชิงตัวกลางที่ชุมนุมใน “พฤษภาทมิฬ”


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้พลเอกสุจินดาและพลตรีจำลองเข้าเฝ้า


กลุ่มผู้โกรธแค้นที่สถานทูตไทยในกรุงพนมเปญถูกเผา ไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตเขมร

จาก http://astv.mobi/AEKHrNk
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...