ผู้เขียน หัวข้อ: Exclusive! ที่สุดในชีวิต เปิดใจอดีตเด็กก้มกราบพระบาทในหลวง ร.๙  (อ่าน 1135 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



    "พยุงศักดิ์ กาฬมิค" ชื่อนี้เคยเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่ม ก่อนจะกลายมาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะเขาคือ "เด็กน้อย" ในรูปถ่ายอันเป็นตำนาน และเชื่อว่าใครหลายคนคงเคยเห็นภาพสุดคลาสสิกนี้ผ่านการแชร์ในโลกออนไลน์ หรือตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์
       
       เรากำลังพูดถึง "เด็กชาย" ในภาพถ่ายพระราชกรณียกิจ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ที่คุกเข่าโน้มตัวเข้าไปก้มกราบพระบาทระหว่างเสด็จฯ จังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2516 แม้เรื่องราว "ข้างหลังภาพ" ของเขาจะถูกตีแผ่มาบ้างแล้ว แต่บรรทัดต่อจากนี้คือฉบับเอ็กซ์คลูซีฟที่บางเรื่อง บางมุมยังไม่เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อที่ไหนมาก่อน
       
       "ข้างหลังภาพ" ในวันนั้น
       
      "แม่ไม่ได้ผลักผมออกไปนะ" เขาเริ่มต้นเล่าด้วยอารมณ์ขันเพื่อแก้ข่าวที่หลายสื่อได้นำเสนอออกไป ก่อนจะถ่ายทอดสิ่งที่แม่เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า "ตอนนั้นผมอายุแค่ 4 ขวบ (ปัจจุบันอายุ 47 ปี) ความรักของแม่ที่มีต่อในหลวง คือสิ่งที่ผมสัมผัสได้มาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อในหลวงท่านเสด็จมา แม่จึงบอกผมว่า แม่อยากให้ลูกเข้าไปกราบในหลวงนะ แต่ผมก็ไม่ได้ทำทันทีหรอกนะครับ (ยิ้ม)
       
       กระทั่งวันหนึ่ง ผมกับแม่ได้มีโอกาสไปรับเสด็จกันอีก คราวนี้ผมตัดสินใจคลานออกไปก้มกราบพระบาทด้วยตัวเอง พอกราบเสร็จก็มีเด็กคนอื่นๆ เข้าไปก้มกราบด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ได้ถูกถ่ายภาพเอาไว้ ส่วนที่มีคนไปบอกว่าแม่ผลักให้ออกไปนั้น ไม่ได้ผลักครับ (หัวเราะ) ถ้าลองดูจากภาพ ระยะที่ผมกับแม่นั่งรับเสด็จอยู่ห่างจากพระบาทไม่ไกลมากนัก ทำให้ผมสามารถคลานเข้าไปก้มกราบได้ง่าย ๆ"



       อดีตเด็กน้อยก้มกราบพระบาท เล่าต่อไปว่า นอกจาก "ในหลวง" แล้ว ยังคลานเข้าไปก้มกราบพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จตามมาในแต่ละครั้งด้วย "จริงๆ แล้วผมเข้าไปก้มกราบพระบาทมากกว่า 1 ครั้งนะ และไม่ใช่แค่ในหลวง ผมยังเข้าไปก้มกราบพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จมาในแต่ละครั้งด้วย"
       
       แน่นอนว่า หลังจากเข้าไปก้มกราบพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ปฏิกิริยาของพระองค์ต่อเด็กชายวัย 4 ขวบในวันนั้น คือสิ่งที่ใครหลายคนอยากรู้
       
       "แม่บอกว่า ในหลวงท่านนิ่งๆ ครับ ไม่มีมาลูบหัวอะไรนะ (ยิ้ม) แต่ครั้งหนึ่งแม่เล่าให้ฟังว่า พระราชินีเคยตรัสถาม วันนี้ไม่พาหน้ากากมดแดงมาด้วยเหรอ ซึ่งปกติเวลาที่ผมไปรอรับเสด็จกับแม่ ผมจะมีหน้ากากไอ้มดแดงไปด้วย สมัยนั้นถ้าใครเกิดทันก็คงจะเคยใส่วิ่งเล่นเป็น V1 V2 V3 (หัวเราะ) แต่ครั้งนั้นผมไม่ได้ใส่ไป ซึ่งพอแม่เล่าให้ฟังก็รู้สึกปลาบปลื้มใจอย่างมากที่พระองค์ทรงจำได้"
       
      ที่สุดในชีวิต! รูปอันเป็นตำนาน
       
       "ถ้าช่างภาพไทยรัฐไม่ได้ถ่ายเอาไว้ ก็คงไม่ได้ภาพนี้ออกมา" เป็นคำพูดที่อดีตเด็กน้อยในภาพถ่ายอันเป็นตำนานเผย ก่อนจะขยายความให้ฟังตามมา



    "หลังจากที่ผมเข้าไปก้มกราบพระบาทในหลวง วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็ลงข่าว และภาพข่าว พอแม่เห็นก็ซื้อมาตัดใส่กรอบแขวนไว้บนฝาบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และครอบครัวว่า ครั้งหนึ่งลูกชายของบ้านนี้ได้เคยเข้าไปก้มกราบพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 (ยิ้มด้วยความปลื้มปีติ) ส่วนฟิล์มในตอนนั้น แม่ขอไม่ทัน ได้แต่ภาพหนังสือพิมพ์มาตัดใส่กรอบเอาไว้ ซึ่งแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับครอบครัวผม"
       
       สำหรับภาพถ่ายสุดประทับใจนี้ ได้ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งใน 5 ภาพพิเศษที่คณะกรรมการจัดงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อนำมาจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยใช้ชื่อว่า "ตามหาบุคคลในภาพถ่าย"
       
       ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมไปถึงภาพถ่ายที่ชวนให้ใครหลายคนอดอมยิ้มไม่ได้กับความน่าเอ็นดูของเด็กน้อยในวันนั้น
       
       ทั้งนี้ นอกจากภาพของเขาแล้ว ยังเคยปรากฏภาพเด็กน้อยก้มกราบพระบาทเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต 7 (ปัจจุบันเป็นศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี) ในปี 2512 ด้วย โดยหลังจากมีการตามหาบุคคลในภาพ ทราบว่าเป็นบาทหลวงชื่อ "วัชระ พฤกษาโรจนกุล" เจ้าอาวาสวัดนักบุญอังเยลาซอนต้า ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
       
      ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป



      ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นประมุขแห่งประเทศไทย พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยตลอดพระชนมายุของพระองค์ พร้อมกับทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และชาติบ้านเมือง ดังนั้นคงไม่ต้องถามถึงเหตุผลว่าทำไมคนไทยถึงรักในหลวงสุดหัวใจ
       
       "ผมซึมซับการทรงงานหนักของในหลวงมาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งจากที่แม่เล่า และดูจากสื่อโทรทัศน์ จนกระทั่งตอนโต ผมก็ยังเห็นท่านทรงงานหนักอยู่ ไม่ว่าถิ่นทุรกันดารที่ไหนท่านลุยไปดูด้วยตัวเองหมด ดังนั้น ถ้าถามถึงเหตุผลที่รักในหลวง บางคน รวมถึงผมตอบไม่ได้นะ ไม่รู้ทำไม แต่ผมรู้ว่ารักพระองค์มาก รักสุดหัวใจ
       
       ตอนเด็กๆ เท่าที่ผมจำความได้ ผมเคยถามแม่ว่า ในหลวงคือใคร ทำไมต้องมีคนมาคอยรับเสด็จกันมากมายขนาดนี้ด้วย แม่ก็อธิบายว่า ในหลวงคือพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งตอนนั้นอาจยังไม่ได้คำตอบ หรือเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ แต่พอโตขึ้นกลับยิ่งซึมลึกอยู่ในความรู้สึก และหัวใจของผม"
       
       ดังนั้น "King" ในความหมายของเขาที่มีต่อพระองค์ท่าน คือ "King of the King" ที่ไม่เพียงแต่ความยิ่งใหญ่ในความเป็น "กษัตริย์" เท่านั้น แต่ยังยิ่งใหญ่ใน "การกระทำ" รวมไปถึงเป็น "แบบอย่างที่ดี" ให้แก่ราษฎร ทั้งหลักคิด และมุมชีวิตในหลายๆ ด้าน



      ปัจจุบัน เด็กน้อยผู้ก้มกราบพระบาทในวันนั้น คือข้าราชการใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในวันนี้กับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภาค 4 สงขลา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ และบริการประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เช่น รับปรึกษาด้านกฎหมาย รับเรื่องราวร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส ยื่นคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหาย ยื่นค่าทดแทนแก่จำเลยในคดีอาญา กองทุนยุติธรรม จัดหาทนายความ และอื่นๆ
       
       "หน้าที่หลักๆ คือ ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย มีเรื่องการเยียวยาจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม เช่น ถูกยิง ถูกข่มขืน กรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรมก็จะมีเงินเยียวยาเบื้องต้น กรณีเสียชีวิตจากการเป็นตกเหยื่อดังกล่าว รวมไปถึงการตกเป็นแพะ และคุ้มครองพยานในคดีอาญา ประชาชนสามารถยื่นคำขอคุ้มครองได้" เขาแจกแจงภาระหน้าที่ในส่วนงานที่รับผิดชอบให้ฟัง ก่อนจะเผยถึงความสุขที่ได้ช่วยเหลือ และเยียวยาชาวบ้านให้พ้นทุกข์
       
       "อย่างกรณีที่ จ.ตรัง มีหนังสือฉบับหนึ่งส่งเข้ามา แต่เป็นลายมือนะ หลังจากส่งให้เจ้าหน้าที่ลงไปดู ปรากฎว่าพ่อแม่ขับซาเล้งขายของเก่า ส่วนลูกชายพิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ในขณะที่อีกคนถูกยิงตาย ผมและทีมงานก็เข้าไปช่วยประสานเรื่องบัตรคนพิการจนได้รับความช่วยเหลือรายเดือน ส่วนน้องชายที่ถูกยิงตายก็ช่วยให้ครอบครัวได้เข้าถึงสิทธิเยียวยา อันนี้เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยแล้วรู้สึกดี แต่ถ้าช่วยไม่ได้ บางทีก็ทุกข์เหมือนกันนะ (ยิ้มแห้งๆ"



    ฝังอยู่ในหัว! รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
       
       เมื่อย้อนกลับไปยังสถานที่ที่สร้างเขาขึ้นมาอย่าง "ครอบครัว" ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ คือสิ่งที่เขา และน้องๆ ถูกปลูกฝังจากพ่อแม่มาโดยตลอด
       
       "ผมเป็นพี่คนโต มีน้องชาย และน้องสาว ปัจจุบันมีผมรับราชการคนเดียว พวกเราเติบโตในครอบครัวที่มีพ่อเป็นทหารครับ ดังนั้นจึงรายล้อมไปด้วยระเบียบวินัย ถึงเวลาตื่นก็ต้องตื่น ถึงเวลาขึ้นรถไปโรงเรียนก็ต้องตรงเวลาเป๊ะๆ ทำให้ทุกวันนี้ผมยึดหลักของความมีระเบียบวินัย นอกจากนั้นที่บ้านยังสอนให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามคำนี้มันฝังอยู่ในหัว และซึมลึกเข้าไปในจิตใจตั้งแต่เด็กๆ
       
       นอกจากนั้น พ่อกับแม่ยังเป็นต้นแบบให้ลูกๆ ในหลายๆ ด้าน อย่างแม่ผม ท่านขยันมากๆ อยู่เฉยๆ ไม่เป็น (หัวเราะ) ตั้งแต่ผมเด็กๆ ผมจะเห็นแม่ทำโน่นนี่นั่นตลอดเพื่อจะให้มีเงินเข้ามาในบ้าน ผมก็เคยถามนะว่า ทำไมแม่ต้องทำ มันแค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เอง เหนื่อยเปล่าๆ แม่ก็บอกว่า แม่ทำเพื่อลูก และครอบครัว พูดง่ายๆ คือ ทุกอย่างที่ทำเงินได้ แม่ผมทำหมด ซึ่งผมได้เห็น และซึมซับจนยึดเป็นแบบอย่าง
       
       ส่วนคุณพ่อ ด้วยความเป็นทหารจึงค่อนข้างมีระเบียบวินัยสูง เรื่องเหล้า บุหรี่ แม้จะเคยเอาตัวเองเข้าไปยุ่ง แต่ถึงช่วงเวลาหนึ่งก็เลิก นอกนั้นยังเป็นในเรื่องของการดูแลสุขภาพ ปลูกฝังในเรื่องความเข้มแข็ง ไม่หลุดกรอบความดีงามโดยให้ความสำคัญกับชาติ ศาสนา พระมหาษัตริย์"
       
       ในวันที่เป็น "พ่อของลูก"



 คำสอนดี ๆ เหล่านี้ซึมลึกอยู่ในสายเลือด และได้กลายมาเป็นวัสดุชั้นดีในการสร้างบ้านของเขาในวันนี้
       
       "ผมมีลูกชาย (12 ขวบ) และลูกสาว (8 ขวบ) ครับ ผมให้ความสำคัญในเรื่องของความรับผิดชอบ และถ้าคิดจะทำอะไร ขอให้เต็มที่ ผมให้ความสำคัญกับความสุขของลูกๆ มาก พ่ออย่างผมมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน เช่น ถ้าเล่นดนตรีก็เต็มที่ไปเลย ส่วนตัวจะไม่กดดันลูก หรือคาดหวังว่าจะต้องเจริญรอยตามผม แค่ไม่หลุดกรอบความดีงามก็พอ อย่างช่วงนี้ก็ติดเกม เราจะมีการทำข้อตกลงกันว่า เล่นได้ แต่ต้องอยู่ในช่วงเวลาไหนบ้าง
       
       นอกจากนั้น ผมจะพยายามปลูกฝัง และให้ความเชื่อมั่นเขาอยู่ตลอดว่า ป๊ารู้ว่าสักวันลูกจะต้องประสบความสำเร็จ ผมไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะต้องสอบได้ที่หนึ่ง ถ้าเขารู้สึกผิดหวัง หน้าที่ของพ่อคือ ให้กำลังใจ ไม่พูดในเชิงลบ คำว่าทำไมเรียนโง่จัง ไม่เคยหลุดออกจากปากผม ดังนั้นเลี้ยงลูกสำหรับผมเหมือนสร้างประติมากรรมชีวิต ไม่ได้หวังว่าจะต้องสมบูรณ์แบบ คือกับลูก เราต้องคุยกันบ่อย ถ้าไม่คุยเขาจะยิ่งห่าง และไปคุยกับคนอื่น ซึ่งมันน่ากลัวมาก
       
       ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น ความเพียร ซึ่งหลักในคำสอนของในหลวง ผมก็น้อมนำมาสอนลูกๆ เช่นเดียวกับการคิดดีทำดี ผมจะพยายามบอกให้ลูกๆ คิดดีไว้ก่อน ถึงวันนี้ลูกไม่สามารถทำดีได้ ให้ลูกคิดดีไว้ก่อน เพราะถ้าคิดดีเป็นนิสัย เวลาทำชั่วมันจะยั้งคิด ยั้งทำได้ เหมือนเรามีต้นทุนของการคิดดีอยู่ในตัว และซึมลึกอยู่ในหัวสมอง ซึ่งการเป็นคนคิดดีมันจะแสดงออกเป็นการกระทำด้านดีมากกว่าด้านร้าย"



 สุดท้ายนี้กับข่าว "เสด็จสวรรคต" เขาเปิดใจถึงช่วงเวลาร่ำไห้ด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในวันนั้น
       
       "น้ำตาผมไหลตั้งแต่เปิดอ่านข่าวด่วนในไลน์ จนมาเปิดโทรทัศน์เพื่อดูความแน่ใจอีกครั้ง คือ...(น้ำเสียงสั่นเครือ) โลก ณ ตอนนั้นมันเงียบไปชั่วขณะ ซึ่งผมก็เหมือนกับคนไทยทุกคน น้ำตามันไหลออกมาทันที (นํ้าตาเริ่มเอ่อคลอเบ้า) แต่ก็พยายามเรียกสติกลับคืนมาให้เร็วที่สุด และเชื่อว่าเราจะผ่านจุดนี้ไปด้วยกันครับ เก็บพระองค์ไว้ในหัวใจ และเดินหน้าทำตามคำพ่อสอนต่อไป โดยเฉพาะหน้าที่ และความรับผิดชอบบนพื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรม"
       
      "คำพ่อสอน" ประทับในดวงใจ
       
       ทุกวันนี้ นอกจากจะเก็บทุกเรื่องราวที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ (ภาพถ่าย) พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ (ภาพวาด) ยังมีพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสเก็บไว้อ่านจนท่องได้ขึ้นใจ และนี่คือ "คำพ่อสอน" 3 เรื่องหลักๆ ที่เขาหยิบยกมานำเสนอไว้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นหลักที่เขายึดมั่นมาโดยตลอด
       
        ความดี
       
      "...การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี..." พระบรมราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร 14 สิงหาคม 2525
       
       การทำดี
       
       "…การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งดงามบริบูรณ์ไม่ได้..." พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2506



   ความเพียร
       
       "...ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้นคือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม ให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไปอย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อม ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม..." พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ ครบ 50 ปี พ.ศ.2539
       
       นอกจากนั้นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความ "ความเพียร" อยู่ในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ดัง ส.ค.ส. พระราชทานปีใหม่ 2558 ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ขณะเรือที่กำลังแล่นไปสุวรรณภูมิล่ม พระมหาชนกต้องอดทนว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรนานถึง 7 วัน 7 คืนจนนางมณีเมขลาได้มาอำนวยพรให้ โดยตรงกลางของ สคส. มีพรพระราชทานจากพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ด้วยว่า "ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์"
       
       เรื่อง : ปิยะนันท์ ขุนทอง
        ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช และขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Jaroensook Pone Limbanchongkit

จาก http://astv.mobi/A8P2oqR
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...