ผู้เขียน หัวข้อ: 89 เรื่องของในหลวง แรงบันดาลใจของพสกนิกรไทยทั้งชาติ  (อ่าน 1089 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


89 เรื่องของในหลวง แรงบันดาลใจของพสกนิกรไทยทั้งชาติ

อันว่าพระนาม “ภูมิพล” แปลว่า กำลังของแผ่นดิน ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำให้พสกนิกรประจักษ์ชัดเสมอมาว่าพระองค์ทรงใช้ธรรมาภิบาลในการสร้าง “ชนเจริญ ชาติจรุง กรุงจรัส” อย่างแท้จริง



‘สมเด็จย่า’ ต้นแบบแห่งชีวิต

1. ตลอดระยะเวลาของการทรงเป็นยุวกษัตริย์ ในหลวงทรงเชื่อฟังพระราโชวาทของสมเด็จพระบรมราชชนนีเป็นอย่างดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นจอมปราชญ์ที่ทรงพระอัจฉริยภาพในหลากหลายศาสตร์ศิลป์นั้น ล้วนเกิดจากการน้อมนำเอาพระราโชวาทของพระราชมารดามาปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชปณิธานที่ทรงปรารถนาให้พสกนิกรไทยอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้า

2. ถ้อยรับสั่งสอนของสมเด็จย่าที่มีต่อในหลวงนั้น มักทรงเน้นย้ำในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมในด้านความรับผิดชอบเป็นหลัก ดังพระราโชวาทหนึ่งที่มีความว่า “ในครอบครัวเรา ความรับผิดชอบเป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันแรกคือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย ถ้าไม่มีความรับผิดชอบจะไปช่วยเมืองไทยได้อย่างไร…”

3. ทุกครั้งที่สมเด็จย่าตรัสสอนไม่ว่าเรื่องใด ในหลวงจะทรงนำกระดาษมาจดและมีพระราชดำรัสตอบว่า “อยากฟังแม่สอนอีก” อยู่เสมอ




‘วินัย อดออม ให้’ พร 3 ประการ คัมภีร์แห่งความพอเพียง

4.ในหลวงทรงเป็นตัวอย่างของการรู้จักอดออม เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ได้กราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากได้รถจักรยาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆ เขามีกัน สมเด็จย่ารับสั่งตอบว่า “ลูกอยากได้ก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มาก ค่อยเอาไปซื้อ”

5.เมื่อพระชนม์เพียง 8 พรรษา ในหลวงทรงซื้อกล้องถ่ายรูปกล้องแรกด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์

6.ในหลวงทรงได้ค่าขนมอาทิตย์ละครั้ง กระนั้นพระองค์ก็ยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย และเมื่อทรงได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม

7.ความมัธยัสถ์ถือเป็นคุณูปการสำคัญที่ทำให้ในหลวงทรงเรียนรู้หลักความพอเพียงสมถะมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ จนกระทั่งสมเด็จย่ามีพระดำรัสในเวลาต่อมาว่า “ในสวนจิตรเนี่ย คนที่ประหยัดที่สุดคือ ในหลวง ประหยัดที่สุดทั้งน้ำ ทั้งไฟ เรื่องฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไม่มี”

8.ในหลวงทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก “การให้” โดยสมเด็จย่าทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า “กระป๋องคนจน” เอาไว้ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก “เก็บภาษี” หยอดใส่กระปุกนี้ 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุม เพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนคนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้าหรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

9.ตราบจนเสด็จขึ้นครองราชย์ ในเรื่องของใช้ส่วนพระองค์ พระองค์ก็ยังทรงไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องใช้ของแพง หรือต้องเป็นแบรนด์เนม ไม่โปรดสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่างๆ ยกเว้นนาฬิกา

10.เรื่องหนึ่งที่มีคนพูดกันแพร่หลาย แต่ความจับจิตจับใจก็ไม่เคยเสื่อมคลาย นั่นคือเรื่องหลอดยาสีพระทนต์ที่พระองค์ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดที่ปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด ซึ่งเป็นผลจากพระองค์ทรงใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีด และกดเป็นรอยบุ๋มนั่นเอง

11.พระองค์ไม่โปรดการใช้ปากการาคาแพง ในปีหนึ่งๆ ทรงเบิกดินสอแค่ 12 แท่งเท่านั้น โดยใช้เดือนละแท่งจนกุด

12.อาจพูดได้ว่า การถวายของแด่ในหลวงนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นของแพง อะไรที่มาจากน้ำใจจะทรงใช้ทั้งนั้น

13.ในหลวงทรงงานด้วยพระองค์เองทุกอย่าง แม้กระทั่งการโรเนียวกระดาษที่จะนำมาให้ข้าราชการที่เข้าเฝ้าฯถวายงาน

14.ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์อเมริกาลงข่าวลือเกี่ยวกับพระองค์ว่าแซ็กโซโฟนที่ทรงอยู่เป็นประจำนั้นทำด้วยทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์ จึงมีพระราชดำรัสว่า “อันนี้ไม่จริงเลย สมมุติว่าจริงก็จะหนักมาก ยกไม่ไหวหรอก”





พระราชาผู้ทรงธรรม

15.ช่วงเวลาที่ทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2499 ถือเป็นช่วงเวลาของการบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมในพระราชหฤทัยได้อย่างดียิ่ง ซึ่งเป็นไปตามพระราชปณิธานที่ตั้งมั่นในการทรงผนวชมาก่อนหน้านี้แล้วว่า “…พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเอง ก็เห็นเป็นศาสนาดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบธรรม คำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล ซึ่งเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี…”

16.แม้พระองค์ทรงผนวชในระยะเวลาอันสั้น แต่ธรรมะที่ทรงน้อมนำมาใช้ในการปกครองไพร่ฟ้าประชาชนกลับสืบทอดยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่ได้ทรงผนวชด้วยพระวรกายแค่เพียงอย่างเดียว ทว่ากลับทรงผนวชด้วยพระราชหฤทัยที่ถึงพร้อม ดังพระโอวาทของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ความว่า “…การทรงผนวชวันนี้เป็นประโยชน์มาก…บวชด้วยกายอย่างหนึ่ง บวชด้วยใจอย่างหนึ่งถ้าทั้งสองอย่างผสมกันเข้าแล้วจะเป็นกุศล…”

17.ในหลวงทรงมีความสนพระราชหฤทัยในธรรมะชั้นสูงในขั้นปฏิบัติกรรมฐาน เพื่อให้ทรงมีสมาธิตั้งมั่นอยู่กับการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรได้อย่างเต็มพระกำลัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักบำเพ็ญธรรมส่วนพระองค์ไว้ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นสถานที่วิเวก เหมาะอย่างยิ่งแก่การเจริญภาวนา ทั้งนี้ทรงปฏิบัติสมาธิเป็นประจำและประทับเป็นเวลานานด้วย

18.ก่อนที่จะทรงงานทุกครั้ง พระองค์จะเสด็จเข้าห้องสวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิจิตใจให้สงบระยะหนึ่งแล้วจึงทรงงาน ทรงเคยมีพระราชปรารภว่า การที่พระองค์ทำเช่นนั้นรู้สึกว่างานได้ผลดี เพราะเมื่อมีสมาธิในการทำงาน งานที่ทำก็ทำได้อย่างมีระเบียบเรียบร้อยได้คุณภาพดี และจิตใจก็ปลอดโปร่งแจ่มใสด้วย

19.ในหลวงมีพระราชจริยวัตรที่พิเศษอีกประการหนึ่งซึ่งคนทั่วไปปฏิบัติได้ยากคือ ในคืนวันธรรมสวนะ (วันพระ) พระองค์จะทรงรักษาอุโบสถศีลอย่างเคร่งครัด

20.ทุกวันจันทร์พระองค์จะทรงถวายสังฆทานเป็นนิตย์ ด้วยตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ ซึ่งราชกิจวัตรนี้ได้ทรงกระทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยทรงอาราธนาพระสงฆ์จากวัดต่างๆ มารับสังฆทานภายในพระตำหนัก

21.ยามใดที่มีพระอาจารย์ที่มีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใสเดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานคร พระองค์จะทรงอาราธนาภิกษุเข้าไปแสดงธรรมหรือร่วมสนทนาธรรมในพระราชฐานทุกครั้ง

22.ทาน หรือการให้ของในหลวงมีอยู่หลากหลายรูปแบบ ซึ่งทานประเภทแรกที่พระองค์พระราชทานให้แก่นิกรชนมาโดยตลอดคือ “ธรรมทาน” เห็นได้จากหลายหลากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่มีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรทุกวุฒิวัยน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ คุณธรรมด้านความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา ความมีเมตตา และความเสียสละ เป็นต้น

23.ทรงเปี่ยมไปด้วยพระราชจริยวัตรที่สุขุมคัมภีรภาพ มีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรอย่างเป็นกันเองและไม่ทรงถือพระองค์ถึงแม้บุคคลผู้นั้นจะต่างชั้นชนหรือมีฐานะยากจนสักเพียงไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสงฆ์หรือนักบวชในแต่ละศาสนา พระองค์จะทรงให้เกียรติเป็นอย่างมาก ดังเช่นตอนที่องค์กรพุทธศาสนาฝ่ายฆราวาสในประเทศไทยได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์จากต่างประเทศเข้ามาถวายพระพร ในพิธีนี้พระเถระชั้นผู้ใหญ่เข้ามาเป็นประธานในพิธีด้วย กล่าวคือ สมเด็จพระญาณสังวรและสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่ามกลางเถรานุเถระมากมาย พระองค์ทรงพระดำเนินเข้าไปตรงที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช พร้อมทรงคุกเข่าลงนมัสการ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการ เถรานุเถระทั้งหลายต่างสรรเสริญชื่นชมในพระราชจริยวัตรอันอ่อนโยนว่า “เกิดมาไม่เคยเห็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรุดพระองค์ลงกราบพระภิกษุ ที่บ้านเมืองเขาไม่เคยเห็น เป็นที่ประทับใจมาก”

24.ในหลวงทรงเป็นผู้ครองธรรมโดยแท้ ทรงเปี่ยมไปด้วยสายธารพระราชหฤทัย อันเป็นดั่งน้ำใส ดับไฟแห่งความโกรธให้กลับเยือกเย็นสุขุมคัมภีรภาพ ทรงแก้ไขสรรพปัญหาบนพื้นฐานของความมีเหตุผลมากกว่าอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์พิโรธอันเป็นบ่อเกิดแห่งหายนะนั้นไม่เคยทรงบังเกิดขึ้นเลยในน้ำเนื้อ เพราะทรงครองสติสัมปชัญญะเป็นที่ตั้ง

25.บทเพลงพระราชนิพนธ์ แสงเทียน ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมานั้น ทรงอุปมาแสงเทียนเสมือนชีวิตของมนุษย์ที่ทุกคนเกิดมาล้วนต้องตาย เพราะสังขารคือสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ อันประกอบด้วย “อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา” ตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา อนึ่ง คำร้องในบทเพลงพระราชนิพนธ์นี้ยังชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการกระทำ หากผู้ใดกระทำกรรมดีย่อมได้รับผลดีเป็นการตอบแทน แต่หากผู้ใดคิดต่ำ ทำชั่ว ย่อมทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานเป็นเงาตามตัว สอดรับกับคำร้องท่อนหนึ่งของบทเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า “โอ้ชีวิตหนอล้วนรอความตายทุกคน หลีกไปไม่พ้นทุกข์ทนอาทรร้อนใจต่างคนเกิดแล้วตายไป ชดใช้เวรกรรมจากจร นิจจังสังขารนั้นไม่เที่ยงเสี่ยงบุญกรรม ทุกคนเคยทำกรรมไว้ก่อน”
 

ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

26.แม้ในหลวงจะทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ หรือธรรมทายาททางพระพุทธศาสนา แต่ก็ทรงดำรงพระองค์ในฐานะอัครศาสนูปถัมภกควบคู่กันไปด้วย เพราะทรงให้อิสระแก่ราษฎรในการเลือกครรลองเสริมสร้างความปกติสุขในชีวิตด้วยหลักคำสอนของแต่ละศาสนาอย่างเท่าเทียม ด้วยทรงตระหนักดีว่า จุดมุ่งหมายของแต่ละศาสนาล้วนแล้วแต่ปรารถนาให้ศาสนิกชนดำรงตนเป็นคนดี มีจริยธรรมด้วยกันทั้งสิ้น นี่เป็นเหตุว่า ทำไมพระองค์จึงทรงส่งเสริมทะนุบำรุงทุกศาสนาโดยทั่วถึงกันมาตลอด

27.ครั้งหนึ่งในหลวงมีพระราชกระแสให้จุฬาราชมนตรีแปลความหมายของคัมภีร์อัลกุรอานจากฉบับภาษาอาหรับให้เป็นภาษาไทยและได้พิมพ์แจกจ่ายแก่มัสยิดหลายแห่งทั่วราชอาณาจักร โดยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอานตอนหนึ่ง ความว่า “…คัมภีร์อัลกุรอานมิใช่จะเป็นคัมภีร์สำคัญในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยังเป็นวรรณกรรมสำคัญของโลกเล่มหนึ่ง ซึ่งมหาชนยกย่องและได้แปลเป็นภาษาต่างๆ การแปลออกเผยแพร่เป็นภาษาไทยครั้งนี้ เป็นการสมควรชอบด้วยเหตุผลอย่างแท้จริง เพราะจะเป็นการช่วยเหลือในอิสลามิกบริษัทในประเทศไทยที่ไม่รู้ภาษาอาหรับ ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะในศาสนาได้สะดวกและแพร่หลาย”







ทรงพระอัจฉริยภาพในศาสตร์และศิลป์

28.ในหลวงทรงสนพระทัยการวาดภาพตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาและฝึกหัดการวาดภาพ ด้วยการทรงซื้อตำราการเขียนภาพมาศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง และทรงฝึกหัดวาดภาพเรื่อยมา กระทั่งเสด็จนิวัตประเทศไทยก็โปรดให้จิตรกรที่มีความสามารถเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อให้เหล่าศิลปินร่วมโต๊ะเสนอและทรงให้แต่ละบุคคลวิจารณ์ผลงานฝีพระหัตถ์ ซึ่งทรงเปิดพระทัยรับคำติชมอย่างไม่มีอคติ

29.เมื่อพระองค์เสด็จฯไปยังที่ใดก็มักจะทรงนำกล้องถ่ายภาพติดพระองค์เสมอ โปรดที่จะถ่ายภาพบันทึกความก้าวหน้าของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่เนืองๆ และบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ทรงสนับสนุนให้ใช้การถ่ายภาพเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือสังคม ไม่ใช่เพียงเพื่อบันทึกความสวยงามหรือเพียงเพื่อความรื่นเริงใจ ดังพระราชดำรัสว่า…“ศิลปะเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาประเทศได้อีกทางหนึ่ง”

30.การถ่ายภาพยนตร์ เป็นอีกพระอัจฉริยภาพหนึ่งของในหลวงโดยเมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครนั้นทรงนำกล้องถ่ายภาพยนตร์มาทรงถ่ายประชาชนที่เฝ้าฯรับเสด็จอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ทรงริเริ่มให้สร้างภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีคือ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ซึ่งได้มีการจัดฉายเพื่อหารายได้จากผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลโดยทรงนำไปช่วยเหลือพสกนิกรในด้านต่างๆ เช่น สภากาชาดไทย โรงพยาบาลภูมิพล กิจกรรมป้องกันรักษาโรคโปลิโอ เป็นต้น

31.ในหลวงทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงศึกษาวิชาดนตรีขั้นพื้นฐานอย่างจริงจังตามคำแนะนำจากพระอาจารย์อย่างเข้มงวดนานกว่า 2 ปี ทรงได้รับการฝึกฝนตามแบบการดนตรีอย่างจริงจัง เครื่องดนตรีที่โปรดคือเครื่องเป่าทุกชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต และยังทรงกีตาร์ ทรงเปียโนได้ด้วย โปรดการทรงดนตรีมาก โดยเฉพาะดนตรีแจ๊ส ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีประเภทนี้มาก โดยหนังสือพิมพ์ โฮโนลูลู แอดเวอร์ไทซิ่ง ได้ถวายพระนามว่าพระองค์ทรงเป็น “ราชาแห่งดนตรีแจ๊ส”

32.ในหลวงทรงตั้งวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ สำหรับการทรงดนตรีกับวงนี้ เพื่อพระองค์จะได้ทรงใช้เวลานี้เป็นการทรงพระสำราญพระอิริยบถและบรรเลงดนตรีออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีวิทยุ อ.ส.ที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารกับพสกนิกรของพระองค์ในอีกทางหนึ่ง





ทรงอุทิศทั้งชีวิตเพื่ออาณาประชาราษฎร์

33.หลังขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้เสด็จฯกลับไปยังสวิสอีกครั้ง เพื่อทรงศึกษาวิชากฎหมายและการปกครอง เนื่องจากต้องรับพระราชภาระเป็นพระมหากษัตริย์ ในด้านวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ทรงตั้งพระทัยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศเกี่ยวกับพื้นฐานและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เพื่อนำมาเป็นแนวปรับปรุงแก้ไขประเทศไทยให้เจริญขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

34.ทรงเป็นตัวอย่างของผู้ที่เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมอย่างแท้จริง ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ คอยบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะทรงถือว่า “การให้และการเสียสละเป็นการกระทำอันมีผลกำไร” กล่าวคือ กำไรแห่งความอยู่ดีมีสุขของปวงประชา ซึ่งไม่สามารถประเมินเป็น “มูลค่า” แต่กลับมี “คุณค่า” ทางจิตใจมากกว่าเข้าทำนองที่ว่า “ขาดทุนคือกำไร”

35.ในหลวงทรงมีความเพียรพยายามอันเป็นหนึ่งในคุณธรรมจริยธรรมที่บริบูรณ์ยิ่ง สังเกตได้จากหลากหลายโครงการพระราชดำริที่ทรงริเริ่มขึ้น ล้วนประสบสัมฤทธิผลได้ด้วยพระราชวิริยอุตสาหะเป็นสำคัญ สอดคล้องกับวิริยบารมีของพระโพธิสัตว์ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง มหาชนก แปลว่า “พ่อผู้ยิ่งใหญ่” ซึ่งมีพระราชประสงค์ในการปลูกฝังให้คนไทยทุกภาคส่วนมีความเพียรพยายามในการทำงานและทำความดี สอดคล้องกับพระราชปรารภที่ว่า “ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์”

36.พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เคยเล่าถึงการจดจ่อทรงงานของในหลวงว่า “พระองค์ทรงประยุกต์พระสมาธิในการประกอบพระราชกรณียกิจทุกอย่างทั้งน้อยและใหญ่ จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนัก ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้โดยไม่ทรงสะทกสะท้านหรือหวั่นไหว ไม่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไปไกลๆ อย่างเลื่อนลอยและเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงอาลัยอดีตหรืออนาคต ไม่ทรงเสียเวลาหวั่นไหวไปกับความสำเร็จ หรือความล้มเหลวอันเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทรงจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แต่กับพระราชกรณียกิจเฉพาะพระพักตร์เท่านั้น

37.ในหลวงทรงตระหนักอยู่เสมอว่า ความทุกข์ยากของพสกนิกรย่อมเปรียบเสมือนความทุกข์ยากของพระองค์เอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนไทยจึงมักเห็นภาพพระพักตร์ของพระองค์ที่เต็มไปด้วยหยาดพระเสโท อันเป็นผลมาจากความตรากตรำพระวรกาย จนไพร่ฟ้าประชาชนต่างกล่าวขานกันว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ทรงเอาพระราชหฤทัยจดจ่อไม่ทรงยอมให้ขาดจังหวะจนกว่าจะเสร็จ และไม่ทรงทิ้งขว้างแบบทำ หยุดๆ ดังนั้นพระราชกรณียกิจทั้งหลายนั้นจึงสำเร็จลุล่วงไปเป็นส่วนใหญ่

38.ภาพที่พระองค์มักทรงถือแผนที่ด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงจับปากกา พระศอสะพายกล้องถ่ายรูป ได้กลายเป็นภาพที่ชินตาและอยู่ในหัวใจของราษฎรไทยทุกภาคส่วน อุทิศพระองค์เพื่อทรงงานหนัก โดยไม่ทรงเห็นแก่ความตรากตรำพระวรกาย ในบางครั้งรถพระที่นั่งต้องฝ่าเข้าไปในกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก หากรถไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ พระองค์ก็เสด็จฯลงจากรถเพื่อทรงพระดำเนินต่อไปด้วยสองพระบาท

39.พระองค์มีพระราชประสงค์ในการใช้ “สายพระเนตร”สอดส่องสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตราษฎร ใช้ “สองพระกรรณ”สดับรับฟังความเดือดร้อนของพสกนิกรจากปากของพวกเขาเอง แล้วทรงใช้ “พระปัญญา” คิดวิเคราะห์หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา จากนั้นทรงใช้ “พระหัตถ์” ลงมือปฏิบัติทดลองด้วยพระองค์เอง ทั้งหมดนี้ด้วยทรงเล็งเห็นว่าความทุกข์ยากของประชาชนนั้น หากไม่ลงมือแก้ไขให้เป็นรูปธรรมก็ย่อมไม่เกิดคุณประโยชน์อันใดขึ้นมา

40.ทุกครั้งที่เสด็จฯไปเยี่ยมเยือนราษฎรในท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จะทรงไต่ถามทุกข์สุขหรือความต้องการของประชาชน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกร ทรงมีเป้าหมายหลักคือ ต้องการเห็นประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่ผู้อื่น

41.ในหลวงมีพระราชภาระอันใหญ่ยิ่งในการดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรทั่วทั้งประเทศ ซึ่งการทรงงานของพระองค์นั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้ในยามที่ทรงพระประชวรก็ยังไม่เคยละเว้นจากการปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพ่อแห่งแผ่นดินที่ต้องดูแลลูกไทยมากกว่าหกสิบล้านคนให้อยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้า ดังเหตุการณ์เมื่อปี 2518 พระองค์ทรงพระประชวรด้วยเชื้อไมโคพลาสมา พระอาการหนักมากจนเป็นที่วิตกของคณะกรรมการแพทย์ที่ถวายการรักษา แต่ทรงห่วงใยราษฎรมากกว่าความปลอดภัยของพระองค์เอง ถึงกับรับสั่งกับนายแพทย์ว่า “จะใช้เวลารักษานานเท่าไร ขอรอไว้ก่อนนะ ฉันทนได้ วันนี้ขอไปดูราษฎรและช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมก่อน”

42.ในหลวงทรงมีกระบวนการพระราชดำริอย่างเป็นระบบและมีเหตุผล เห็นได้จากพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองหลายกรณี อาทิ แนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวพระราชดำริ “บวร” หมายถึง บ้าน วัด และโรงเรียน เพื่อร่วมสร้างความสมานฉันท์ภายในสังคม แม้แต่แนวพระราชดำริ “ระเบิดจากข้างใน” ก็เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาชุมชนจากภายในสู่ภายนอกสังคมตามลำดับ

43.ครั้งหนึ่งที่พระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมโครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเปียกฝนกันทุกคน เมื่อทรงเห็นดังนั้นจึงรับสั่งให้องครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงเยี่ยมข้าราชการและราษฎรทั้งกลางสายฝน

44.ในหลวงทรงนึกถึงแต่ประชาชน แม้กระทั่งวันที่พระองค์ทรงกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลังเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ก็ยังรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์ไว้เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ เพื่อพระองค์จะได้ทอดพระเนตรมอนิเตอร์เผื่อน้ำท่วมจะได้ช่วยเหลือทัน

45.ในหลวงทรงตระหนักว่าทุกข์ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั้นเป็นทุกข์ดังพุทธพจน์ที่ว่า “อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคย่อมเป็นลาภอันประเสริฐ ทำให้พระองค์ทรงส่งเสริมพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของไทยให้เกิดความเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง

46.ครั้งหนึ่งพระองค์มีพระราชดำรัสว่า “ข้าวกล้องมีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเม็ดสวยแต่เขาเอาของดีออกไปหมดแล้ว มีคนบอกว่าคนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้อง เรานี่ก็คนจน” สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ราษฎร ไม่เว้นกระทั่งเรื่องสุขอนามัย

47.ในหลวงทรงให้ก่อตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมโครงการหรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการพัฒนาตนเองและพัฒนาชุมชน จนกระทั่งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สอดรับกับพระราชดำรัสเกี่ยวกับมูลนิธิชัยพัฒนาตอนหนึ่งความว่า “มูลนิธิชัยพัฒนาซึ่งมีหน้าที่ที่เขาตั้งไว้สำหรับมูลนิธิ ให้พัฒนาประเทศจนมีชัยชนะ ชัยของการพัฒนานี้มีจุดประสงค์คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดีของประชาชน…”

48.ในหลวงทรงมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในระดับรากหญ้าตามพื้นที่ชนบท ด้วยทรงเล็งเห็นว่า ความเป็น “รากหญ้า” ย่อมเต็มเปี่ยมด้วย “รากเหง้า” ทางภูมิปัญญาอันเป็น “รากฐาน” ทางสังคมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อุปมาดั่งต้นไม้ที่มี “รากแก้ว” ซึ่งสามารถเจริญเติบโตไปเป็น “รากแกร่ง” ที่ลำเลียงธาตุอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นจนแตกกิ่งก้านสาขาผลิร่มเงาได้อย่างยั่งยืน เป็นที่มาของโครงการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ โดยมีพระราชประสงค์ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งจนชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

49.โครงการตามพระราชดำริทุกโครงการล้วนเกิดขึ้นจากพระราชหฤทัยที่ทรงพระเมตตาต่อพสกนิกรเป็นสำคัญ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า “…การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศ ทางภูมิศาสตร์ และทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศตามสังคมวิทยาคือนิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราต้องเข้าไปช่วย โดยที่จะดัดเขาให้เข้ากับเราไม่ได้ แต่เราต้องเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ หลักการของการเข้าไปพัฒนาจึงจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง”

50.บทเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด เป็นอีกบทเพลงหนึ่งที่แฝงเร้นไว้ด้วยหลักธรรมคำสอน มุ่งปลูกฝังให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน ดังเนื้อร้องตอนหนึ่งที่ว่า “นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง หมายผดุงยุติธรรมอันสดใส ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน”

51.ครั้งหนึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามว่า เคยทรงเหนื่อยทรงท้อบ้างหรือไม่ ทรงตอบว่า “ความจริงมันน่าท้อถอยอยู่หรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั้งประเทศ”

52.เรียกได้ว่าตลอดพระชนมายุ ในหลวงทรงยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อมวลพสกนิกรไทย โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทนอื่นใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความโปร่งใสแห่งห้วงพระราชหฤทัยที่ใฝ่เมตตาธรรมเป็นสำคัญ


การศึกษาคือสิ่งที่ทำให้ประเทศยั่งยืน

53.ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีพระมหากษัตริย์พระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง แน่นอนว่าปัญญาชนที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีย่อมมีปริมาณมากมายมหาศาล บ่งชี้ถึงพระราชภาระในการยื่นพระหัตถ์เพื่อส่งมอบพระราชภาระให้แก่ปัญญาชนได้มีส่วนช่วยแบ่งเบาความทุกข์ยากของประชาชน ด้วยการนำวิชาความรู้กลับไปใช้ในการพัฒนาแผ่นดินถิ่นมาตุภูมิ ซึ่งการได้รับฟังพระบรมราโชวาทและรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระองค์ ย่อมถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิต อีกทั้งยังสร้างขวัญและกำลังใจให้สำเร็จการศึกษาไปเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศชาติให้เกิดความเจริญมั่นคง

54.ในหลวงมีพระราชปณิธานเด่นชัดว่า “การสร้างศรัทธานิยมด้วยปัญญาย่อมดีกว่าการสร้างประชานิยมด้วยวัตถุ” เพราะถ้าหากเราช่วยเหลือประชาชนด้วยการให้แต่วัตถุสิ่งของ ย่อมเป็นการให้ที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งตรงกันข้ามกับการให้วิชาอาชีพที่ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่ผู้อื่นและสังคม ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมั่นคงถาวรมากกว่า สอดรับกับพุทธภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

55.“โรงเรียนพระดาบส” เป็นการศึกษานอกระบบที่ทรงริเริ่มก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความปรารถนาของราษฎรไทยที่ต้องการมีวิชาความรู้แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยพระองค์ได้พระราชทานสถานที่และทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย และมีข้อตกลงสำคัญคือ การดำเนินงานของโรงเรียนพระดาบสจะต้องเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องไม่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงด้านธุรกิจ ซึ่งสาระวิชาที่โรงเรียนพระดาบสเปิดการเรียนการสอนมักเกี่ยวข้องกับการอาชีพในหลากหลายสาขา เพื่อให้ศิษย์ของพระดาบสที่สำเร็จการศึกษาออกไปสามารถนำวิชาความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบสัมมาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว


ทรงเห็นคุณค่าของหนังสือและภาษาไทย

56.แม้ในหลวงจะทรงเจริญพระชันษาในต่างประเทศ ทรงศึกษาวิชาการโดยทรงใช้ภาษาอื่นๆ แต่ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงมีพระราชดำริในเรื่องภาษาไทยและการใช้ภาษาไทยที่ก่อให้เกิดความตื่นตัวในการอนุรักษ์ภาษาไทยให้มีแบบแผนไม่ผิดเพี้ยนไปตามความสะดวกหรือตามความพอใจของผู้ใช้ภาษา ทรงให้ความสำคัญถึงกับเสด็จฯไปทรงร่วมการประชุมของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 มีพระราชดำรัสที่แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยที่ทรงมีต่อภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เริ่มมีการปรับตัวเข้ากับภาษาและวัฒนธรรมต่างชาติ ดังความตอนหนึ่งว่า “เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองมาแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้”

57.ในหลวงทรงเป็นนักอ่าน รวมทั้งทรงสนับสนุนให้เห็นคุณค่าของการอ่านอย่างมาก ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า “…หนังสือเป็นเหมือนคลังที่รวบรวมเรื่องราว ความรู้ ความคิด วิทยาการทุกด้านทุกอย่าง ซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้ ได้คิดอ่าน และเพียรพยายามบันทึกภาษาไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร หนังสือแพร่ไปถึงที่ใด ความรู้ ความคิดก็แพร่ไปถึงที่นั่น หนังสือจึงเป็นสิ่งมีค่าและมีประโยชน์ที่จะประมาณมิได้ในแง่ที่เป็นบ่อเกิดการเรียนรู้ของมนุษย์…”

58.พระราชนิพนธ์แปล นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นเรื่องราวของสัตบุรุษผู้มีความเสียสละ กล้าหาญ ยอมอุทิศชีวิตของตนเองเพื่อความถูกต้องยุติธรรม โดยไม่มุ่งหวังว่าจะมีผู้ใดมารับรู้ความดีของตนเข้าทำนองที่ว่า “ปิดทองหลังพระ” ถือเป็นพระราชนิพนธ์เตือนใจให้ประชาชนไทยทุกภาคส่วนได้ตระหนักว่าการทำความดีย่อมเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าความดีที่ทำนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่มหาศาล เราสามารถทำความดีได้ในทุกกาล ทุกสถาน และทุกโอกาส ถึงแม้ว่าความดีที่เราทำนั้นจะไม่มีใครรู้เห็น แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมได้แก่ความสุขกายสบายใจ


พระเมตตาต่อผู้พิการ

59.ในหลวงทรงห่วงใยคุณภาพชีวิตของ “คนพิการ” ในฐานะทรัพยากรบุคคลที่มีความบกพร่องทั้งทางร่างกายและสติปัญญา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่พระราชทานโอกาสให้คนพิการ ทั้งที่พิการทางกาย ทางจิต และทางสังคมได้เข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังทรงพระกรุณาเสด็จฯไปทรงเยี่ยมคนพิการ มีพระราชปฏิสันถารและพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่คนพิการมาโดยตลอด

60.เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบว่าโรคไขสันหลังอักเสบ ซึ่งระบาดในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2495 ทำให้เกิดความพิการถาวรที่แขน ขา และลำตัว ทำให้กล้ามเนื้อลีบเคลื่อนไหวไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจะมีอันตรายถึงชีวิตได้ และถึงแม้พ้นขีดอันตรายก็มักเป็นอัมพาต จำเป็นต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟู จึงพระราชทานทุนประเดิมสำหรับจัดตั้ง “ทุนโปลิโอสงเคราะห์” ขึ้น และให้สถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต ออกประกาศชักชวนประชาชนโดยเสด็จพระราชกุศลได้เงินจำนวนมาก ส่งไปพระราชทานแก่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลศิริราช เพื่อนำไปสร้างตึกและจัดซื้อเครื่องอุปกรณ์เครื่องเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย

61.ในสมัยที่ประเทศไทยยังมีโรคเรื้อนเป็นภัยคุกคาม เมื่อพระองค์ทรงทราบปัญหาและอุปสรรคในเรื่องการรักษาและป้องกันโรคจากอธิบดีกรมอนามัย จึงได้พระราชทานเงินจากกองทุนอานันทมหิดล เพื่อขยายสถานพยาบาลที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งทำการวิจัยเรื่องโรคเรื้อน โปรดเกล้าฯให้ขยายงานออกไปทำในภาคอีสาน รวมทั้งได้เสด็จฯ ด้วยเรือยนต์พระที่นั่งไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารใหม่ และทรงเยี่ยมเยือนผู้ป่วยโรคเรื้อน ต่อมาได้พระราชทานชื่อโรงพยาบาลใหม่ จากโรงพยาบาลโรคเรื้อนเป็น “สถาบันราชประชาสมาสัย” มีความหมายว่า “พระราชากับประชาชนมีความสมัครสมานพึ่งพาอาศัยซึ่งกันแล
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 20, 2016, 03:19:12 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
62.ในหลวงพระราชทานโอกาสให้นักเรียนตาบอดมาร่วมขับร้องเพลงบันทึกเสียงออกอากาศทางวิทยุ โดยเสด็จฯมาทรงบันทึกเสียงด้วยพระองค์เอง ทรงสอนดนตรีพระราชทานแก่คนตาบอดหลายรายประกอบกับพระราชทานบทเพลงพระราชนิพนธ์ให้เป็นเพลงประจำโรงเรียนคนตาบอดกรุงเทพฯ คือ เพลงพระราชนิพนธ์ ยิ้มสู้ เพราะมีพระราชประสงค์ให้กำลังใจแก่พสกนิกรคนพิการที่ด้อยโอกาสและขาดการยอมรับจากคนในสังคม ให้มีกำลังใจในการดำรงชีวิตต่อไปอย่างมีคุณค่า เพราะคนพิการต่างมีความรู้ความสามารถไม่น้อยไปกว่าคนปกติธรรมดาทั่วไป หากสมาชิกในสังคมให้โอกาสและเคารพในสิทธิของกันและกัน สมดังใจความดังปรากฏในเนื้อร้องของบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ว่า “คนเป็นคน จะจนหรือมี ร้ายหรือดีคงมีหวังอยู่ ยามปวงมารมาพาลลบหลู่ ยิ้มละมัยใจสู้หมู่มวลเภทภัย”

63.ทรงพระราชดำรัสถึงคนพิการได้อย่างลึกซึ้งกินใจมากว่า “งานช่วยเหลือผู้พิการมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าผู้พิการมิได้เป็นผู้ที่อยากจะพิการ แต่อยากช่วยตนเอง ถ้าเราไม่สามารถช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไร เพื่อมีชีวิตและมีเศรษฐกิจของครอบครัว จะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่สังคม ฉะนั้น นโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยเขาให้ช่วยตัวเองได้ เพื่อที่จะให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม…”

64.“โรงพยาบาลราชานุกูล” เป็นชื่อที่พระราชทานใหม่แทน“โรงพยาบาลปัญญาอ่อน” ในโอกาสที่พระราชทานเงินรายได้จากการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์เมื่อปี 2507 ให้สร้างอาคารขึ้นในเขตโรงพยาบาลและเสด็จฯไปทรงเปิดอาคาร ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแผ่ปกเกล้าฯไปถึงเด็กและผู้ปกครองของเยาวชนที่มีความบกพร่องทางปัญญา ยังความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้แก่พสกนิกรคนพิการทั้งชาติ





พระเมตตาต่อสัตว์และธรรมชาติ

65.ในหลวงทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาต่อสัตว์โลก เห็นได้ชัดจากสุนัขทรงเลี้ยงที่ชื่อว่า “ทองแดง” ซึ่งเคยเป็นสุนัขจรจัดบริเวณซอยศูนย์แพทย์พัฒนา ถนนพระราม 9 มาก่อน โดยนายแพทย์ท่านหนึ่งได้นำคุณทองแดงมาทูลเกล้าฯถวายให้ทอดพระเนตร ซึ่งพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นสุนัขทรงเลี้ยงโดยมิได้ทรงรังเกียจว่าเป็นสุนัขที่ด้อยคุณค่าผิดจากค่านิยมของชนชั้นสูงทั่วไปในสังคมที่มักเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีสายพันธุ์มาจากต่างประเทศและมีราคาแพง คุณทองแดงจึงนับเป็นการปลุกกระแสให้คนไทยหันมารักสุนัขสายพันธุ์ไทยกันมากยิ่งขึ้น โดยลูกทั้งเก้าของคุณทองแดงได้รับพระราชทานนามเป็นชื่อขนมไทยที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทอง”ทั้งเก้าชนิด และได้พระราชทานนามสกุลว่า “สุวรรณชาด”

66.ในหลวงทรงตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้และป่าไม้มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยดำเนินรอยตามพระจริยวัตรของสมเด็จพระบรมราชชนนีที่โปรดการปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ และชื่นชมความงดงามตามธรรมชาติ ทั้งยังทรงจดจำคำสอนของพระอาจารย์ในเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ ดังใจความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสที่ว่า “จำได้เมื่ออายุสิบขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่งสอนเรื่องการอนุรักษ์ ครูบอกว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้…จะทำให้เดือดร้อนตลอด…”

67.ในหลวงทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาป่าไม้ ดังพระราชกรณียกิจในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติผ่านโครงการในพระราชดำริมากมาย โดยทรงเน้นย้ำให้ฟื้นฟูคุณภาพของทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ และคน ควบคู่กันไป เพราะทรัพยากรเหล่านี้ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คน” ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดไม้ทำลายป่า จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาจิตใจให้เกิดสำนึกที่ดี เพื่อประโยชน์ในการให้ทั้งคน น้ำ และป่า พึ่งพากันได้อย่างยั่งยืน

68.นับตั้งแต่ พ.ศ. 2477 – 2493 เป็นเวลานานถึง 16 ปีที่ประเทศไทยว่างเว้นจากการมีพระมหากษัตริย์ประทับในประเทศ ทำให้การพระราชพิธีต่างๆ ในพระราชสำนักที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาขาดหายไป ครั้นในหลวงเสด็จนิวัตประเทศไทยและมีพระราชดำริฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง นับเป็นพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่ทรงปลุกจิตวิญญาณแห่งความเป็นไทยซึ่งเคยหลับใหลให้ตื่นฟื้น อีกทั้งยังเป็นการปูพื้นฐานไปสู่ความเป็นชนชาติที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกันก็ทรงสร้างความประทับใจแก่คนต่างชาติไปพร้อมกัน เพราะในโลกนี้ไม่มีประเทศใดที่จะมีพระราชพิธีในพระราชสำนักที่งามพร้อมเท่าประเทศไทย ต่อมาพระราชพิธีต่างๆ ได้กลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติทั่วโลกมาตราบจนทุกวันนี้

69.พระราชพิธีหนึ่งที่มีความสำคัญและในหลวงโปรดเกล้าฯให้รื้อฟื้นขึ้น คือ พระราชพิธีสังเวยป้าย ซึ่งทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยความหมายของพระราชพิธีนี้มีอยู่ว่า “พระป้าย” หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “เกสิน” หมายถึงป้ายชื่อของบรรพบุรุษบุพการีที่ตั้งไว้สำหรับบูชาประจำบ้าน การบูชาเซ่นสรวงจึงแสดงว่าเป็นคนดีมีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ปฏิบัติ โดยพระราชพิธีนี้จะจัดขึ้นในช่วงวันตรุษจีนของทุกปี และได้เสด็จฯไปในพระราชพิธีเสมอมาหรือไม่ก็โปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน


ทรงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของชาติ

70.กระแสความนิยมในสิ่งแปลกใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาจากประเทศทางตะวันตกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ครั้นถึงรัชกาลของในหลวง จึงมีแนวพระราชดำริที่จะทรงปลูกฝังความสำนึกและความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติแก่พสกนิกร ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “…การสร้างอาคารสมัยนี้คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่าควรช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯแล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย ไม่ควรจะเอาของใหม่ไปปนกับของเก่า ควรจะรักษาของเก่าไว้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของพลเมือง และสิ่งเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษจึงควรรักษาไว้…”

71.มีพระราชดำริที่จะให้มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ

72.ในการดูแลรักษามรดกของชาติมีแนวพระราชดำริที่ชัดเจนในความแตกต่างกันของการฟื้นฟูการอนุรักษ์และการสร้างสรรค์ว่าไม่ควรจะเอาของใหม่ไปปนกับของเก่า เพราะหากนำมาปรุงแต่งหรือประยุกต์อย่างไม่เหมาะสม ทำให้ทุกอย่างดูเป็นไทยอย่างฉาบฉวย ก็อาจทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ของชาติและจะกลืนศิลปะประจำชาติที่มีมาแต่เดิมให้จมหายไป


ขอตามรอยพระบาท

73.ชัยพจน์ สิริศักดิ์ธเนศ ชาวกาญจนบุรี แม้จะจบเพียงชั้น ม.6 แต่พอมีความรู้เกี่ยวกับไฟฟ้า จึงได้ทดลองประดิษฐ์เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้านานกว่า 6 ปี จนคิดได้ว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากแรงดันของน้ำ เพราะไม่ต้องใช้ทุนมากมาย ในที่สุดสามารถประดิษฐ์เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้สำเร็จ ซึ่งเขากล่าวว่าได้แรงบันดาลใจเดินตามรอยของในหลวงที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่

74.ผู้กำกับโฆษณาชั้นแนวหน้าของโลกอย่างต่อ – ธนญชัย ศรศรีวิชัย บอกว่า เขามีบุคคลที่นับถือเป็นแบบอย่างอยู่ไม่กี่คน ซึ่งหนึ่งในผู้ที่เขานับถือมากที่สุดคือในหลวง “ท่านเป็นกษัตริย์ที่เก่ง เก่งไม่พอ ยังอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านคุกเข่าคุยกับชาวบ้านธรรมดาๆ เห็นราษฎรเป็นผู้ที่ท่านต้องช่วยเหลือ ไม่ใช่เอาเปรียบ ผมไม่เคยเห็นใครมอบความรักให้ผู้อื่นได้ตลอดเวลาเท่ากับท่าน ทั้งยังอดทนต่อการศึกษาหาความรู้จนแก้ปัญหาได้มากมายนับไม่ถ้วน ในหลวงสำหรับผม ท่านคือมนุษย์คนหนึ่ง เป็นมนุษย์ธรรมดาที่ศึกษาเรียนรู้จนกลายเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ ทำให้ผมคิดว่า เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราก็สามารถพัฒนาตัวเองแบบในหลวงได้ เราต้องพยายามทำให้ได้แบบในหลวง หน้าที่ของเราที่เกิดเป็นคนไทยคือต้องทำ”

75.จากการที่คนึงนิตย์ อันโนนจารย์ ชาวจังหวัดลำปาง แต่ได้ย้ายมาทำมาหากินที่ราชบุรี ได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงทรงนั่งดื่มกาแฟเมื่อครั้งเสด็จฯไปบนเขาทุรกันดาร เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาและให้ชาวเขาหันมาปลูกกาแฟแทนการปลูกฝิ่นหรือกัญชา จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เธอทำรถขายกาแฟสไตล์ญี่ปุ่นตระเวนขายตามที่ต่างๆโดยนำเมล็ดกาแฟจากชาวเขาที่บ้านเกิดมาใช้เพื่อคืนรายได้สู่ชุมชนชาวเขา

76.สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เจ้าของบริษัททีวีบูรพา ผู้ผลิตรายการคุณภาพหลายรายการบอกว่า “…คำสอนของในหลวงก็เหมือนพ่อแม่ที่สอนเรา ทรงเป็นพ่อแม่ของลูกหลายสิบล้านคนในประเทศนี้ ค่อยๆ เรียนรู้จากสิ่งที่พ่อพร่ำสอน คิดให้ดีว่าสิ่งที่เรากำลังพาชีวิตไปหามัน มั่นคงจริงหรือไม่ ลองชั่งตาชั่งความสุขนั้นดู ทำให้มันสมดุล จะได้ไม่ต้องพาชีวิตไปเจอความผิดพลาดเสียก่อนแล้วค่อยคิดได้ทีหลัง…”

77.ศูนย์ผ่าตัดต้อกระจก บริการแก่ผู้ป่วยที่ยากไร้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) และบริษัท ทาสของแผ่นดิน จำกัด เกิดขึ้นจากความคิดของธานินทร์ พันธ์ประภากิจ ที่ว่า “แรงบันดาลใจอย่างหนึ่งของผมมาจากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือตั้งแต่โตมา ผมก็เห็นภาพพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปทรงงานช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้ในชนบทมาตลอด และสมัยหนุ่มๆ ผมเคยเดินตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งท่านพูดเสมอว่า ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน ทุกข์ของแผ่นดินคือทุกข์ของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงเหนื่อยยากเพื่อพวกเรามามาก ผมจึงอยากเดินตามรอยพระบาทของพระองค์ท่าน ช่วยเหลือคนที่เขาด้อยโอกาสเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งปณิธานตรงนี้ทำให้มีกำลังใจขึ้นมาว่า เราจะต้องเดินให้ได้ ต้องอดทน เพราะมีสิ่งสำคัญรอเราอยู่ และก็มาตกผลึกว่า จะเปิดศูนย์รักษาผู้ป่วยต้อกระจก เพราะบ้านเรามีคนที่เป็นโรคนี้เยอะ”

78.เมื่อครั้งที่ นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่านในยุคที่การสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลกับกองทัพปลดแอกประชาชนเป็นไปอย่างเข้มข้น ทหารตำรวจที่บาดเจ็บจากการสู้รบถูกส่งเข้ามายังโรงพยาบาล ทำให้บุคลากรทุกฝ่ายของโรงพยาบาลในจังหวัดเล็กๆ ห่างไกลขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัย ต้องทำงานอย่างหนัก เมื่อในหลวงทรงทราบจึงพระราชทานอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์มากมาย และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 4 แสนบาทให้โรงพยาบาลน่านสร้างตึกพิทักษ์ไทย โดยมีพระราชดำรัสกับหมอบุญยงค์ว่า “เงินที่ขอไปนั้น ฉันนำมามอบให้แล้ว ขอให้หมอดำเนินการก่อสร้างเองนะ ไม่ต้องผ่านราชการ ฉันไว้ใจเธอ” พระราชดำรัสครั้งนั้นยังคงก้องอยู่ในหัวใจหมอบุญยงค์ ทำให้เขายังคงทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของเมืองน่าน ไม่เฉพาะแต่ด้านการแพทย์ แต่หลังเกษียณอายุราชการก็ยังทำงานในทุกสถานะที่จะทำประโยชน์ให้แก่เมืองน่านได้

79.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ผู้รังสรรค์วัดร่องขุ่นกล่าวว่า “วัดร่องขุ่นมีที่มาจากตอนที่ผมยังเรียนอยู่ที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยได้ยินครูบาอาจารย์ผมพูดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า พระองค์เคยรับสั่งว่า ‘งานศิลปะประจำรัชกาลของเราทำไมไม่เห็นมี ทุกรัชกาลเขามีงานศิลปะที่แสดงเอกลักษณ์กันทุกรัชกาล วัดวาอารามที่สร้างกันใหม่ๆ ก็ยังยึดอิทธิพลศิลปะเก่าๆ อยู่’” ต่อมาเขามีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ถวายงานในหลวงหลายครั้ง และจากการพบเห็นพระอัจฉริยภาพทางศิลปะและพระเมตตาของพระองค์ท่าน ทำให้เขารักและประทับใจพระองค์ท่าน จนบังเกิดความตื้นตัน ปรารถนาที่จะสร้างงานพุทธศิลป์ถวายเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลพระองค์ท่าน ในที่สุดเขาก็ได้ถ่ายทอดผลงานนั้นออกมาที่วัดร่องขุ่นแห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540“ ผมตั้งความปรารถนาที่จะถวายชีวิต ใช้ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของตนเองสร้างงานพุทธศิลป์ เพื่อเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลท่านให้ได้ และจะถวายชีวิตไปจนตายคาวัด…”

80.สงคราม โพธิ์วิไล ศิลปินนักถ่ายภาพและผู้ทรงคุณวุฒิทางการถ่ายภาพของไทย ได้มีโอกาสถวายกล้องแด่ในหลวง มีรับสั่งถามว่า “คุณทำอาชีพอะไร…ผมตอบท่านว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ในหลวงจึงรับสั่งต่อว่า ถ้าอย่างนั้นไปบอกพวกเราด้วยว่าเราเป็นคนถ่ายภาพด้วยกัน ผมตื้นตันมาก เราแค่สามัญชน แต่ในหลวงทรงใช้คำว่า ‘พวกเรา’ ผมจึงนำคำนี้ไปบอกกับช่างภาพว่าในหลวงใช้คำว่าพวกเรากับช่างภาพ เราในฐานะประชาชน เราจะต้องถ่ายภาพให้ดีๆ แล้วกัน…”

81.ศิลปินยอดนิยมอมตะ – เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ มีโอกาสได้เข้าไปถวายงานร้องเพลงเฉพาะพระพักตร์เนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส 50 ปี หลังจากร้องเสร็จได้เข้าเฝ้าฯส่งเสด็จฯกลับและวันนั้น “…เบิร์ดลงกราบพร้อมกับถือโอกาสจับพระบาทของทั้งสองพระองค์เอาไว้ สมเด็จพระนางเจ้าฯมีรับสั่งว่า ‘ร้องเพลงไพเราะมาก’ แต่ที่เหนือความคาดหมายคือ ในหลวงรับสั่งว่า ‘ปลูกข้าวที่เชียงรายอยากให้ทำต่อไปนะ เบิร์ดเป็นคนดีที่หนึ่ง’ เบิร์ดกราบทูลตอบว่า ‘รับใส่เกล้าพระพุทธเจ้าข้า’ เนื้อตัวตอนนั้นขนลุกไปหมด ในใจปลื้มจนไม่รู้จะปลื้มอย่างไร เพราะหมายถึงพระองค์ท่านทรงอ่านเรื่องที่เบิร์ดเคยให้สัมภาษณ์ไว้ใน แพรว จึงทรงทราบว่าบ้านที่เชียงรายปลูกข้าว…พอส่งเสด็จฯเสร็จแล้วกลับขึ้นรถได้เท่านั้น เบิร์ดร้องไห้ซะ กลับถึงบ้านรีบจุดธูปเล่าให้แม่ฟัง “แต่แม่คงเห็นแล้ว เพราะเบิร์ดพารูปแม่ติดใส่กระเป๋าเสื้อตรงหน้าอกซ้ายเข้าวังด้วย พลังใจจากการได้เข้าเฝ้าฯครั้งนั้น ทำให้ใจเบิร์ดที่เคยหดหายเพราะแม่เพิ่งจากไปไม่นาน กลับมาสดใสอีกครั้ง ซึ่งชีวิตนี้คิดว่าครั้งนั้นคือสูงสุดแล้ว…”


พระราชดำรัสที่ควรยึดเป็นแนวคิด

82.ในการทรงงานเพื่อการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชน ในหลวงทรงระลึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเสมอ ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “…ใครต่อใครบอกว่าขอให้เสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวมอันนี้ฟังจนเบื่อ อาจจะรำคาญด้วยซ้ำว่า ใครต่อใครมาก็บอกว่าขอให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม อาจมานึกในใจว่า ให้ๆ อยู่เรื่อยแล้วส่วนตัวจะได้อะไร ขอให้คิดว่าคนที่ให้เพื่อส่วนรวมนั้นมิได้ให้ส่วนรวมแต่อย่างเดียวเป็นการให้เพื่อตัวเองสามารถที่จะมีส่วนรวมที่จะอาศัยได้…”

83.พระองค์ทรงมีความสุขทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือประชาชน ดังพระราชดำรัสครั้งหนึ่งความว่า “…ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเท่านั้น…”

84.ในหลวงทรงเน้นย้ำถึงเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตจริงใจต่อกันตลอดมา เพราะทรงเห็นว่าหากคนไทยทุกคนได้ร่วมมือกันพัฒนาชาติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจริงใจต่อกันแล้ว ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ดังพระราชดำรัสว่า “…คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่ายไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ…”

85.ตลอดพระชนม์ชีพทรงดำเนินพระราชจริยวัตรอย่างสมถะพอเพียง ซึ่งความพอดี มีความพอประมาณในพระราชหฤทัยได้ถูกนำมาใช้ในการแก้วิกฤติทางเศรษฐกิจของชาติ ท่ามกลางความมืดมนของวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 ได้ปรากฏแสงสว่างส่องทางหวังจากการที่พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ประชาชนได้ตั้งมั่นอยู่บนครรลองของความมีเหตุผล ความพอประมาณและการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารเอาไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”

86.ในหลวงทรงมีความชาญฉลาดในการบำรุงข้าราชบริพารด้วยการส่งเสริมคนดีมีความสามารถเข้ามาบริหารราชการบ้านเมือง สอดคล้องกับพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”

87.ในหลวงมีพระราชดำรัสถึงหลักการทำความดีที่จับใจและเป็นสิ่งจริงแท้มากๆ ว่า “การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทันรู้สึกตัว “การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญ และไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงแม้จะมีใครร่วมมือด้วยหรือไม่ก็ตาม ผลดีจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน…” ความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสที่จับใจและเป็นสิ่งจริงแท้มาก ๆ

88.เมื่อมีความโสมนัสย่อมต้องมีความโทมนัสควบคู่กันไปเป็นสัจธรรม จากเหตุการณ์ที่สมเด็จย่าทรงพระประชวร ในหลวงได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมและมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จย่าว่า “อยากให้แม่สอนอีก” เหมือนเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ สมเด็จย่าตรัสกลับไปว่า “จะให้สอนอีกหรือ พระองค์ทรงภูมิรู้ เปี่ยมคุณธรรมสอนคนได้ทั้งประเทศ จะฟังคำสอนอะไรจากคนอายุมากคนหนึ่งอีกเล่า” พระองค์ทรงมีพระราชปรารภอย่างอภิชาตบุตรว่า “ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร สอนคนมากสักแค่ไหน แต่คำสอนของแม่ก็เป็นคำสอนที่ดีที่สุดของลูก คำสอนของแม่เหนือกว่าลูกเสมอ ลูกอยากฟังแม่สอนอีก”

89.“การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา
 

ทั้ง 89 เรื่องของในหลวงที่เชิญประมวลมานี้ หากพสกนิกรไทยน้อมนำมาใช้ปฏิบัติจริงในชีวิต สังคมย่อมเกิดความสุข ความรุ่งเรืองอย่างแน่นอน

จาก http://www.praew.com/60005/king-of-thailand/inspiration-89-story-thailands-king-bhumibol/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...