ผู้เขียน หัวข้อ: อ.บูม คอสเพลย์ พลิกโฉม การสอนประวัติศาสตร์  (อ่าน 1169 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ก่อนจะตั้งคำถามว่า, วิชาประวัติศาสตร์จำเป็นด้วยหรือ ขอเกริ่นต้นด้วยประโยคนี้ว่า เขาไม่เพียงแต่งตัวแบบนั้นไปสอนวิชาประวัติศาสตร์ แต่ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่เขาก็แต่งตัวแบบนั้นในชีวิตจริงๆ อินขนาดที่ว่าแทบทุกองค์ประกอบเสื้อผ้า ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ที่สุดเท่าที่หาได้

กลับมาที่แก่นของวิชาประวัติศาสตร์ น้อยคนที่คิดว่ามันเป็นวิชาที่สำคัญ แต่หารู้ไม่ว่าแก่นแท้ของการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์นี่แหละที่เป็นรากฐานสำคัญของความรู้ แต่ข้อจำกัดก็คือวิชานี้ เต็มไปด้วยสาระหนักๆ ฟังนานๆ อาจจะหลับได้ 

ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้พูดคุยกับ อาจารย์บูม สิทธารถ ศรีโคตร เจ้าของฉายา 'อ.บูมคอสเพลย์' หรือที่นักศึกษาเรียกกันอย่างชินปากว่า 'อาจารย์พี่บูม' ปัจจุบันอาจารย์สอนอยู่ที่ คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
อาจารย์บูมจบการศึกษา ศิลปศาสตรบัณฑิต ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต โบราณคดีและประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เป็นวิชาประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าเบื่อ ทั้งวิธีการเล่า และย่อยเนื้อหาให้น่าสนใจ และที่ขาดไม่ได้ เขาแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสมัยโบราณไม่ใช่แค่ในห้องเรียน แต่เป็นการแต่งกายตั้งแต่หัวจรดปลายเท้าด้วยเสื้อผ้าโบราณในชีวิตประจำวันด้วยความหลงใหลจริงๆ 







เร่ิมต้นด้วยประวัติศาสตร์

ที่ห้องทำงาน, เขาออกตัวก่อนที่ประตูห้องจะเปิดออก "ห้องผมรกหน่อยนะครับ" รกจริง แต่เป็น 'รก' ที่ไม่ทำให้ผิดหวัง เป็น 'ความรก' ที่เต็มไปด้วยสิ่งของทางประวัติศาสตร์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นดาบบ้าง รูปปั้น รูปภาพต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย คล้ายพิพิธภัณฑ์ย่อส่วน

หนังเรื่อง Indiana Jones เชื่อว่าหลายคนก็คิดอย่างนั้น...! อาจารย์คอสเพลย์บอกว่าดูหนังเรื่องนี้มาตั้งแต่ ม.1 และตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ไม่เคยคิดอยากเรียนอย่างอื่นเลยนอกจากประวัติศาสตร์ เล่าจุดเริ่มต้นของการเป็นอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์จากภาพยนตร์ดัง

'พูดไปแล้วก็แปลกดี ผมคุยกับเด็กที่เรียนโบราณคดี ว่าทำไมมาเรียน เด็กหลายคนตอบว่าเพราะดูหนังเรื่องอินเดียนาโจนส์ ก็ตลกดีนะ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจไม่รู้ แต่มาถึงจุดนี้ เราเดินตามรอยคนๆ หนึ่ง ซึ่งไม่มีตัวตนเรียนโบราณคดี เป็นอาจารย์ และสอนโบราณคดีเหมือนเขา แต่จะได้เป็นศาสตราจารย์เหมือนเขาหรือเปล่าไม่รู้ครับ (หัวเราะ) แต่มันคือแรงบันดาลใจ อีกอย่างที่บ้านเป็นครูมาด้วย ก็เลยรู้สึกว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่เหมาะ"

อาจารย์คอสเพลย์ บอกว่า วิชาที่สอนอยู่มีวิชาอารยธรรมตะวันตก-ตะวันออก เป็นการเรียนเรื่องทั่วไปๆ และประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่เน้นตะวันตก จริงๆ อยากใช้คำว่า History of Western Art วิชานี้เป็นวิชาที่บริการคณะสถาปัตย์ คือวิชานี้สำหรับนักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์และเด็กสถาปัตย์ เข้ามาเรียนด้วย


แสดงว่าจริงๆ แล้วสอนหลายคณะ-เราถาม ? เขาบอกว่า แล้วแต่รับเชิญ บางทีคณะมนุษย์ฯ เชิญไป อย่างเช่น สาขาดนตรีตะวันตกเชิญไปบรรยายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุโรปในช่วงที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการดนตรีช่วงบารอกกับคลาสสิก ในศตวรรษที่ 17 และ18 เขาก็เชิญไปบรรยายสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองช่วงนั้น ว่าส่งผลต่อดนตรียังไง สอนคละๆ กันระหว่างปี 1-4 แต่ส่วนใหญ่จะสอนปีต้นๆ อย่างอารยธรรมตะวันตก ตะวันออก จะสอนปี 1 ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี อันนี้จะเน้นเอเชียและในไทย ล้านนา ชวา เขมร





แปลก เก่ง รู้จริงและมีกุศโลบาย

ขณะที่เรานั่งคุยกันอย่างออกรสหลายจังหวะ เด็กนักเรียนของเขาก็เข้ามาพูดคุย ในลักษณะที่เป็นกันเองมาก ทำให้อดถามไม่ได้ว่าเขานิยามตัวเองว่าเป็นอาจารย์ประเภทไหนกันแน่


"ใจดีไหม ต้องนิยามก่อนว่าใจดีคืออะไร ผมต้องถามว่าดีสำหรับใครและดีกับอะไร ถ้าถามว่าเป็นอาจารย์ที่ใจดีไหม ก็คงจะใจดีแหละมั้ง (หัวเราะ) ถ้านิยามคำว่าใจดีคือเป็นคนที่คุยง่าย คุยได้เรื่อยๆ คุยได้ทุกเรื่อง ผมเป็นคนที่ใจดี แต่ถ้าตอนที่ตรวจรายงานตัดเกรดผมก็อาจจะไม่ได้เป็นคนที่ใจดีก็ได้ (เสียงเข้ม) เอาเป็นว่าต้องนิยามกันก่อนว่าคำว่าดีคืออะไร นี่ก็เป็นหนึ่งในเนื้อหาที่ผมสอนเด็ก

คุณมีฉายาไหม? เขาคิดก่อนตอบแบบยิ้มว่า ไม่ค่อยนะ แต่ส่วนใหญ่เขาเรียกว่า อาจารย์คอสเพลย์ ซึ่งไม่เชิงเป็นฉายา แต่มันเป็นการบอกคุณสมบัติเรามากกว่า แต่ถ้าจะมีฉายา พี่ๆ ข้างล่างเขาเรียกว่าอาจารย์บูมรักษ์โลก เพราะตนเองปั่นจักรยานจากบ้านมาทำงาน

ลักษณะการแต่งตัวที่แปลกตาออกไป ซึ่งคงไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ นัก นอกจากในละครย้อนยุค แต่ชีวิตจริงๆ บ่อยครั้งที่เขาแต่งตัวแบบนี้มาสอน และแต่งตอนพานิสิตไปลุยภาคสนามด้วยความชื่นชอบและอยากให้รูปลักษณ์ช่วยให้คนสนใจเนื้อหา

"จริงๆ ผมไม่เคยใส่ Full Gear ซึ่ง Full Gear คือ ศัพท์ในวงการ Reenactor (ผู้จำลองประวัติศาสตร์) เป็นการแต่งตัวเต็มรูปแบบ มีสาย มีแจ็กเก็ตนะ ที่ใส่อยู่คือชุดอ่อน ส่วนมากจะใส่ชุดแบบนี้เวลาพานิสิตไปภาคสนาม ถามว่า
แล้วทางมหา'ลัยอนุญาตให้ใส่ไหม เอาจริงๆผมต้องยอมรับตรงๆ ว่ามีทั้งผู้ใหญ่ที่เข้าใจและไม่เข้าใจ ตามปกติสังคม จะให้เห็นเป็นทางใดทางหนึ่งทั้งหมดไม่ได้ คนที่เข้าใจ เขาก็เข้าใจ แต่ผมบอกเลยว่าผมไม่เคยแต่ง Full Gear พร้อมดาบ พร้อมอะไรอย่างเงี้ยไม่เคย อย่างมากก็แค่แจ็กเก็ตคลุมตัวหนึ่ง หรือไม่ก็หมวก ผมว่ามันก็เข้ากับแคมเปญที่ผมว่ามันไม่แฟร์ถ้าจะให้เด็กมาสนใจ สิ่งแรกที่ทำให้เด็กสนใจคือเขาเห็นเราแล้วคิดว่าทำไมแต่งตัวอย่างงี้ เราก็ทำตัวน่าสนใจ"





กุศโลบาย ประวัติศาสตร์ไม่น่าเบื่อ

เมื่อโลกเปลี่ยนไปการสอนประวัติศาสตร์ยากขึ้น ทำอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ เวลาสอนตนเป็นคนไม่มีสไลด์ มีแต่รูปกับแผนที่ แล้วก็เล่าเรื่องราวไป มีคำสำคัญก็จะเขียนบนกระดานและวิพากษ์

"ถามว่าทำไมต้องทำแบบนี้ เด็กเดี๋ยวนี้สำนึกการเป็นลูกค้าสูงมาก พอมาถึงห้อง อาจารย์หนูขอสไลด์หน่อย ขอไฟล์ได้ไหม ขอเสร็จนั่งเล่นโทรศัพท์ ไม่จดพอเปลี่ยนสไลด์ถ่ายรูปเอา พอถ่ายเสร็จเล่นโทรศัพท์ต่อ วิธีการสอนคือต้องทำให้เด็กสนใจผม ผมถือว่ามันไม่แฟร์ถ้าจะให้เด็กตั้งใจฟังถ้าเราสอนน่าเบื่อ ผมว่ามันครึ่งทาง สมัยผมเป็นเด็กปี 1 ตัวหนังสือเยอะไปหมดก็ไปละ เลยคิดว่าถ้าวันหนึ่งเป็นอาจารย์จะสอนประวัติศาสตร์ยังไงให้น่าสนใจ"

ผมมาตกผลึกได้ว่าเราบังคับให้เด็กสนใจเราทั้งๆ ที่เราสอนน่าเบื่อมันไม่แฟร์...อาจารย์บูมบอกว่า เราต้องสอนให้น่าสนใจ แล้วเด็กเขาจะสนใจเราเอง ดังนั้นวิธีการแรกที่ทำให้น่าสนใจเราต้องมาจับก่อนว่าเด็กจะเบื่ออะไร เบื่อตัวหนังสือเยอะๆ ไง ก็ไม่ต้องมี สไลด์ตนทุกวิชาจะเริ่มที่แผนที่ก่อน ต้องรู้ก่อนว่าประเทศอะไร อยู่ตรงไหน ทวีปอะไร จะดึงประเด็นจากภาพเหล่านั้น แผนที่เหล่านั้น แล้วคุยไปด้วยกัน ถกเถียง แลกเปลี่ยนประเด็นกัน

"ลูกกระสุนปืนใหญ่ผมถือไปสอนวิชาประวัติศาสตร์กับภาพยนตร์ ถือไปแล้วถามว่ารู้ไหมนี่อะไร เอาไปดู ลองจับดู ผมซื้อมาเป็นสื่อการสอน"


นอกจากกระสุนปืนยังมีสื่อการสอนอื่นๆ ไหม? เราถาม อาจารย์บูมบอกว่า มีดาบของทหารญี่ปุ่นซึ่งเราเอาไปให้ดูว่าวิธีคิดของสิ่งนี้คืออะไร มันคืออะไร มันคือสัญญะที่แสดงให้เห็นความเป็นชาตินิยมทางทหารของญี่ปุ่นอย่างรุนแรงที่สุด

"การถือดาบทำให้คุณรู้สึกภาคภูมิใจว่าคุณเป็นซามูไรได้แม้คุณจะเป็นชนชั้นชาวนา ทำให้ทหารของญี่ปุ่นรบแบบไม่ลืมหูลืมตาเพราะเขาได้รับเกียรตินั้น ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาใช้ปืนกันหมดแต่ทหารญี่ปุ่นชั้นประทวนและสัญญาบัตรจะถือ เพราะว่านายทหารชั้นสัญญาบัตรหลายคนก็เป็นชาวนามาก่อนแล้วเขาจะถือดาบที่ได้รับพระราชทานจากพระจักรพรรดิไปไหนมาไหนแม้ไม่ได้จะเอาไปฟันศัตรู แต่มันเป็นขวัญกำลังใจและทำให้เขารบอย่างหนัก ซึ่งก็สามารถดึงเข้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้จากการใช้ดาบอันนี้เป็นสื่อการสอน
"





"อันนี้ 1 ตำลึง..." เขาเล่าต่ออย่างออกรส พลางหยิบของเก่าขึ้นมาโชว์ จะเห็นได้ว่ามันมีปูดๆ ขึ้นมาคือการหยดเติมน้ำหนัก เพราะตอนทำน้ำหนักมันไม่ได้มาตรฐาน เขาต้องเติมไปให้มันเท่า ผมจับก็รู้เลยว่าของจริง วาวโดยไม่ต้องขัด นี่คือเงินบริสุทธิ์ 1 ก้อน หนัก 1 ตำลึง แล้วเราก็พูดเรื่องเศรษฐกิจจีนต่อว่ามีการค้าขายอย่างไร ระบบเศรษฐกิจจีนสมัยราชวงศ์ พูดทั้งหมดได้โดยเริ่มจากเงินก้อนนี้ ระหว่างที่พูดก็ให้เขาดู เด็กจะรู้สึกว่าประวัติศาสตร์มันมีชีวิตชีวา ไม่ใช่แค่อยู่ในหนังสือแล้วมานั่งอ่าน คือถ้าเราทำตัวให้น่าสนใจเด็กก็สนใจ ตื่นเต้นว่ามันคือประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้แล้วมันก็จะสนุก

"ผลตอบรับ เขาก็ชอบนะครับ ผมเคยถือดาบครูเซเดอร์ไป ผมสอนประวัติศาสตร์สมัยกลาง เอาไปให้ลองจับดู ว่าใหญ่ไหม หนักไหม นี่คือดาบของอัศวินสมัยกลาง แล้วผมก็เปิดรูปดาบของมุสลิม แล้วเปรียบเทียบให้เห็นว่าดาบทั้งสองแบบอยากใช้อะไรรบมากกว่า นักศึกษาก็ตอบว่าดาบของอิสลามดูโอเคกว่า ผมบอกว่าเพราะอย่างนี้ไงถึงแพ้สงครามครูเสด ก็ดึงเข้าเรื่องนี้ แค่อาวุธก็ผิดกันแล้ว มันสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง สื่อพวกนี้ทำให้มันเป็น living history มันเป็นประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าจาก object จากสิ่งที่อยู่ในประวัติศาสตร์จริงๆ ซึ่งมันบอกอะไรได้หลายอย่าง"





คลังความรู้ทางประวัติศาสตร์

อาจารย์บอกกับเราว่าสื่อการสอนที่อาจารย์ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ถือเป็นของสะสมอย่างหนึ่งเพราะอาจารย์มีความชอบในการสะสมของเก่าอยู่แล้ว


"ของพวกนี้เป็นเงินส่วนตัว ผมจะซื้อแล้วเก็บไว้ที่บ้านก็ได้แต่ผมเอามาใช้สอนมันได้ประโยชน์มากกว่า เด็กก็จะตื่นเต้นว่ามันคือประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้แล้วมันก็จะสนุก ของสะสมส่วนตัวพวกนี้บางคน ถ้าเขาหวงเขาไม่เอามาให้ดูแน่ๆ เวลาผมเจอของผมก็คิดว่าจะเอาไปสอนอะไรได้บ้าง ยังมีหมวกเหล็กคณะราษฎร อันนี้แบกะดินได้มาในราคา 2,500 แต่สภาพดีมาก สายเดิมแต่แค่ขาดและยิ่งหายากคือนี่คือหมวกของ สห. ซึ่งทรงนี้เป็นทรงของหมวกเหล็กฝรั่งเศส ถามว่าทำไมทหารไทยต้องใช้หมวกแบบฝรั่งเศส ผมก็ดึงเข้าเนื้อหาได้ ผมว่าการแสดงออกทางประวัติศาสตร์ที่แสดงออกผ่านของมันทำให้เราได้เห็นตัวตนของประเทศนั้น ทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้น แต่ตัวเนื้อหาประวัติศาสตร์ผมก็สอนไปแล้วเอาพวกนี้มาสอนเสริม"

'ผมไม่ได้มีวิธีคิดในการสอนเป็นหลักวิชาอะไร เพราะผมไม่ได้เรียนทางครู ผมออกแบบการสอนเองจากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้เรียนมาก่อน ไม่ชอบยังไงก็ไม่ต้องทำ' เขาว่า

เปลือกนอก คำนินทา เป็นปกติของโลก

เคยมีคนมองว่าอาจารย์เป็นคนแปลกไหม...? เจ้าของฉายาอาจารย์คอสเพลย์บอกว่า เป็นปกติอยู่แล้ว ใช้คำนี้เลยว่ามันเป็นปกติของโลก ตนไม่อยากเก็บมาใส่ใจ จะไปให้คนเขาคิดเหมือนเราหมดทั้งโลกก็เป็นไปไม่ได้ คือคนที่เขามองว่าเราแปลก คนเขามองว่าคณะจะเสื่อมเสียเพราะผมไหม แต่ผมก็บอกอยู่ว่าผมไม่ได้เชิดชูอาชญากรสงคราม และประเด็นคือเราไม่ได้เชิดชูอุดมการณ์ เราเป็น Reenactor คือ ผู้จำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

“ผมได้เห็นข้อความหนึ่งที่มีคนแชร์ในเฟซบุ๊กว่า ผมพยายามที่จะแสวงหามาทั้งชีวิตเพื่อที่จะทราบในตอนบั้นปลายชีวิตว่าเรื่องบางเรื่องก็ไม่ต้องเข้าใจและไม่ต้องไปแสวงหามันก็ได้ บางเรื่องเราไม่ต้องไปเข้าใจมันหรอกไม่ต้องไปแสวงหามันหรอก ก็ใช้ชีวิตไปอย่างนี้ ที่ผมเป็นอยู่ ผมพอใจ เราทำงานหรือทำหน้าที่ในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุดแค่นั้นก็พอแล้ว"

ความคิดผมนะ เขาหยุดจังหวะเล่า มีวิชาสอน ไปสอน ตนเป็นกิจการนิสิต ก็ดูแลเด็ก ตนเป็นพี่ของน้องๆ ยังเป็นอยู่ และยังเป็นพี่ที่นี่ ก็ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัว ซึ่งคือพวกเด็กๆ เป็นพี่ใหญ่ของเขาและเป็นอาจารย์ด้วย เพราะว่าเราไม่ใช่อาจารย์รุ่นโบราณที่เรียกร้องการเคารพกราบกราน ไม่ได้ต้องการให้ใครมาหมอบคลานกราบไหว้ ไม่รู้นะงานไหว้ครูคณะ เด็กมากราบเท้าก็รู้สึกว่าตนเป็นใคร ถ้าไม่โดนกับตัวไม่รู้หรอกครับถ้าวันหนึ่งมีคนมากราบเรา แต่คือเขาก็ทำตามหน้าที่เขา แต่แค่เคารพกันในฐานะมนุษย์ต่อมนุษย์ก็พอแล้ว เราต้องการแค่นั้น

"ถามว่าการที่เรารู้ประวัติศาสตร์เยอะ เคยเจอเรื่องราวชวนขนลุกบ้างไหม
อย่างไปขุดค้นหลายคนก็เจอกันนะ แต่ผมก็ไม่เคยเจออะไร แต่ว่า ประเด็นคือประวัติศาสตร์ที่ผมจับต้องมันเป็นวิชาชีพที่ผมต้องหากินด้วย สองก็คือความชอบถึงแม้ไม่ใช่วิชาชีพผมก็ยังชอบอันนี้ซึ่งผมคิดว่าผมเป็นหนึ่งในคนจำนวนไม่มากที่ผมสามารถทำมาหากินในสิ่งที่ผมชอบได้ มีคนมากมายอิจฉาผม ตรงที่ว่าผมรู้ว่าความสุขของตัวเองคืออะไร บางคนยังแสวงหาอยู่เลย"

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ จริงๆ แล้วคืออะไร? 
มันมี method (ระเบียบวิธี) กับ result (ผลลัพธ์) สิ่งที่ประวัติศาสตร์ให้มากสุดคือ method (ระเบียบวิธี) ถามว่าประวัติศาสตร์ให้คำตอบไหม ก็ไม่เสมอไป แต่ที่ผมชอบคือ method (ระเบียบวิธี) ปัญหาอย่างหนึ่งของคนไทยคือเชื่อสิ่งที่อยากเชื่อมากกว่าสิ่งที่มีข้อมูลหลักฐาน นี่เป็นปัญหาพื้นฐานทางโครงสร้างของคนไทย

"ผมว่ามันเป็นความคิดที่แย่ คือต้องการผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการโดยไม่สนวิธีการ ว่ามันทำให้เกิดอะไรขึ้น ผมคิดว่าคงมองออก การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่การท่องจำแต่เป็นการเรียนรู้ที่จะแสวงหาความจริง และเรียนรู้วิธีการในการวิพากษ์องค์ความรู้ และมันจะทำให้เราสนใจสังคมมากขึ้น ตอนเรียนป.ตรีผมเรียนประวัติศาสตร์ วิชาโทรัฐศาสตร์การปกครอง แล้วตอนป.โทไปเรียนโบราณคดี เพราะรู้สึกอิ่มตัวแล้ว อิ่มตัวคือไม่ใช่ไม่ชอบแต่เรารู้สึกว่าเราเข้าใจแล้ว ทีนี้พอไปเรียนโบราณคดีมันจะเป็นพวกวัตถุ สิ่งของ ที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร วิธีการมันไม่เหมือนกัน แต่ผลลัพธ์มันเหมือนกัน คือทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของคนในอดีตในด้านต่างๆ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเชื่อ"





ประวัติศาสตร์ยังจำเป็นไหม

เราศึกษาไปเพื่ออะไร เขาบอกว่า เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ทุกมิติในอดีต แต่จากการที่ผมเรียนมาสามอย่าง รัฐศาสตร์ทำให้เรารู้หลักการ ประวัติศาสตร์ทำให้รู้ภูมิหลัง โบราณคดีทำให้เรารู้รากเหง้า ดังนั้นถ้าคุณมีความรู้ความเข้าใจได้ทั้งสามอย่าง ซึ่งผมมี จะสามารถนำมาซึ่งบทวิเคราะห์ทางสังคมที่นุ่มลึก ในความคิดของผม แต่ผมไม่ได้บอกว่าเรียนแบบผมเป็นสูตรสำเร็จ แต่จากทั้งสามศาสตร์นำมาประยุกต์ใช้ในการสอนได้

ถามอาจารย์ต่อว่าประวัติศาสตร์ สำหรับในตอนนี้ยังมีความจำเป็นอยู่ไหมเพราะเหมือนว่ามันจะเลือนหายไป? 


สิ่งที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นอยู่คืออะไร คือ plight แปลว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ คำว่าที่เป็นอยู่มันอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างแย่ ผมใช้คำนี้ ถามว่าวิธีแก้ plight จะแก้ได้ยังไงก็ตามหลักพุทธศาสนา ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก่อนจะรู้ว่าวิธีแก้เป็นยังไงก็ต้องรู้ว่าปัญหามันคืออะไร เหตุแห่งปัญหาคืออะไรเราถึงจะรู้สมุทัยคือวิธีแก้และมรรคผลการแก้ ดังนั้นประวัติศาสตร์คือการเข้าใจเหตุแห่งปัญหา แต่การเข้าใจไม่ได้หมายความว่าต้องรู้วิธีแก้เดี๋ยวนั้น แต่การเข้าใจว่าเกิดจากอะไร อย่างน้อยก็เป็นนัยสำคัญหนึ่งที่จะบ่งได้ว่าเราจะให้วิธีคิดอย่างไรกับคนที่เขามีหน้าที่ในการแก้ปัญหาแค่นั้น ผมมองแค่นี้ ผมไม่ได้มองว่าผมใหญ่โตขนาดไปช่วยในการแก้ปัญหาอะไรได้

"คิดว่ามีประวัติศาสตร์อะไรของไทยที่หลายคนยังไม่รู้ และต้องรู้ไหม
พูดยากนะ เพราะผมบอกเลยว่าแม้แต่เรื่องพื้นฐานที่สุดในทางประวัติศาสตร์ ฐานคิดประวัติศาสตร์ของคนไทยอ่อนด้อยต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากเพราะกรอบคิดทางประวัติศาสตร์ แต่ผมโทษระบบการศึกษา คนที่อยู่ในระบบการศึกษาของประเทศนี้ผ่านการเรียนประวัติศาสตร์มาจะได้ผลลัพธ์เป็นแบบสำเร็จเลย ดังนี้คือ พม่าคือศัตรู ลาวคือขี้ข้า เขมรคือหมาลอบกัด มลายูคือแขกขี่ฉ้อ เวียดนามคือแขกคอมมิวนิสต์ล้มเจ้า แล้วก็จะมีประเทศที่เป็นเทวดา แล้วแบบนี้จะไปอยู่กับใครได้ประวัติศาสตร์แบบนี้ ผมไม่ได้มองว่าไม่ได้มีอะไรที่คนควรจะรู้แล้วไม่ได้รู้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคงพูดไม่หมด"

อาจารย์บูมบอกว่า แต่ตนมองว่าสิ่งที่รู้ใช่แค่ไหน 
ผมต้องมานั่งปรับวิธีคิดของเด็ก ถามว่าประเทศไทยเคยเสียดินแดนไหม เด็กตอบกลับมาอย่างมั่นใจว่า เสียซิอาจารย์ เสียตั้งเยอะสมัย ร.5 ผมถามกลับว่า ตรงไหนบ้างที่ว่าเสีย ลาวไง

"สมมติว่าเราวางโทรศัพท์มือถือทิ้งไว้ มีคนมาหยิบไป พอเสร็จคนที่หยิบไปก็วางไว้ แล้วลืม มีคนมาขโมยต่อ ถามว่าใครบ้างที่เป็นขโมยเฉพาะคนที่เอาไปล่าสุดหรือทั้งคู่ สิ่งที่ร้องแรกแหกกระเชอ ในตำราเรียนคือคำโอดครวญของโจรคนที่หนึ่ง เคยมีใครคิดอยากถามเจ้าของมือถือบ้างไหม เราฟังคำร้องแรกแหกกระเชอของโจรคนแรกจนคิดซะว่าโจรคนแรกเป็นผู้ถูกกระทำ ถามว่าใครเป็นผู้ถูกกระทำ อาจารย์ก็ยกมือถือขึ้นแล้วบอกว่า ถามบ้างไหมว่ามันรู้สึกยังไง คุณค่าของลาวกับเขมรคือการเป็นขี้ข้าของเราเหรอ คิดงี้ไม่ได้นะ"






ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย

มีคนเคยถามว่าอาจารย์บูมไม่กลัวเหรอ เขาย้อนคำพูด กลัวอะไรผมพูดความจริง มันใช่ไหมละ หรือเราจะอยู่กับประวัติศาสตร์แบบนี้ เราอยากได้เอกราช แล้วลาวจะอยากได้เอกราชบ้างไม่ได้หรือ คือผมสนใจเรื่องนี้มากกว่าว่าอะไรที่ควรรู้แล้วยังไม่รู้ แล้วที่รู้เข้าใจแค่ไหน ผมไม่ได้บังคับให้ทุกคนเป็นนักประวัติศาสตร์ แต่ผมแคร์สิ่งที่เป็นฐานคิดเดิมของเขามากกว่าแล้วฐานคิดเดิมจะนำไปสู่อะไร และบ้านเมืองนี้เป็นอะไรอยู่ ผมช่วยให้มันดีขึ้นไม่ได้ ผมก็คงไม่ส่งเสริมให้มันแย่ลงกว่าเดิม

“ผมเป็นแค่อาจารย์มหา'ลัยตัวเล็กๆ ผมจะไปทำให้ประเทศนี้มันดีขึ้นโดยเปลี่ยนแปลงฉับพลัน มันทำไม่ได้หรอก แต่เท่าที่ผมทำและผมตอบโจทย์ตัวเองว่าผมไม่ได้ทำให้มันแย่ลง ให้ที่มันควรจะแย่มันไม่แย่เท่านั้น ผมก็ตอบตัวผมได้ว่าอันนี้คือฐานคิด คือคุณค่าที่ผมคิดว่าผมทำได้ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนนี้ ซึ่งในตัวของผมก็รู้บทบาทของตัวเองว่าทำอะไรได้แค่ไหน ก็คงไม่คาดหวังที่จะทำไปมากกว่านี้”

สุดท้ายอาจารย์พูดประโยคสุดท้ายชวนให้เราคิดด้วยประโยคหนึ่งที่ว่า ผมไม่ได้พูดว่าสิ่งที่ผมทำเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการสอนประวัติศาสตร์ มันคือสิ่งที่ผมดีไซน์ออกมาให้น่าสนใจ ผมคงไม่ใช่คนที่สอนประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุด แต่ผมคิดว่าผมมีวิธีพูดที่ทำให้คนเข้าใจได้ว่าเนื้อแท้ของประวัติศาสตร์คืออะไร คุณค่าที่จริงของประวัติศาสตร์ให้อะไร





จาก http://www.thairath.co.th/content/705419


<a href="https://www.youtube.com/v/RdWW57P2n58" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/RdWW57P2n58</a>
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...