ผู้เขียน หัวข้อ: "ภูทอก"...รุกขมูลเสนาสนัง ( พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ )  (อ่าน 1175 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด




















"ภูทอก"...รุกขมูลเสนาสนัง

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เทศนาอบรมจิตใจให้อยู่ในศีลธรรม เพิ่มสติปัญญา ก่อให้เกิดความคิดเห็นถูกต้องตามทำนองครองธรรม อีกทั้งภาวนากระทำ อันเป็นแบบอย่าง พร้อมกับนำคำสอน องค์สัมมาสัมมาพุทธเจ้า อบรมลูกศิษย์เสมอมา

ทั้งให้รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ 3 ประการ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายภาคหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง โดยมนุษย์ควรกระทำพร้อมๆกัน ซึ่งประโยชน์ปัจจุบัน หมายถึงการให้ประโยชน์แก่โลก แก่ส่วนรวม แก่ญาติมิตร หรือแก่ญาติร่วมโลก

ส่วนประโยชน์ภายภาคหน้า หมายถึงการบำเพ็ญประโยชน์ เป็นที่พึ่งแห่งตน เมื่อร่างกายแตกดับ สิ่งติดตัวมีแต่บุญ-บาป ทำบาปไปสู่ทุคติ เมื่อทำบุญทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตายก็ไปสู่สุคติ คือมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ

และประโยชน์อย่างยิ่ง หมายถึงการรู้จักดับกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าดับกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ หมดสิ้นแล้ว ก็ถึงพระนิพพาน

นี่เพียงส่วนเล็กน้อย ในหลักคำสอน ของ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ถึงแม้ว่าพระอาจารย์ได้ละสังขาร แต่คำสอนยังแจ่มชัดในจิตใจศิษยานุศิษย์

ด้วยอานุภาพแห่งคุณพุทธรรม เลื่องลือขจรไปทั่วดินแดนอีสาน บรรดาอุบาสก-อุบาสิกาทั้งหลาย ต่างเดินทางด้วยความศรัทธามุ่งเข้าสู่ "วัดภูทอก" หรือ "วัดเจติยาคีรีวิหาร" บ้านคำแคนพัฒนา ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ

วัดภูทอก...เป็นวัดกรรมฐานอันเคร่งครัด ด้วยศีลาจริยวัตรอันสมบูรณ์ พร้อมจัดสร้างให้เป็น...รุกขมูลเสนาสนัง ท่ามกลางพื้นที่ป่ารกทึบ อยู่สุดเขตชายแดนภาคอีสานเหนือ เพื่อการรักษาพื้นที่ป่าราว 1,700 ไร่ ให้ธรรมชาติคงสภาพสมบูรณ์

ปัจจุบันแม้ความเจริญทางวัตถุของบ้านเมือง กำลังแผ่ขยายไปทั่วประเทศไทย รวมที่มาถึงรอบวัดภูทอก แต่วัดภูทอก...ก็คงความเป็นสันโดษได้

สำหรับการมาสั่งสมบุญบารมี อริยทรัพย์ภายใน และภายนอกแก่ตนเอง และเป็นอาจารยบูชาในพระคุณอันประมาณมิได้ ต่อ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ของผมและผองเพื่อนในครั้งนี้ ได้การรับอนุเคราะห์จาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

เรื่องของการเดินทางนั้น มาเริ่มจากอำเภอบึงกาฬ แล้วไปเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 222 มาถึงอำเภอศรีวิไล จะมีทางแยกซ้ายอีก 30 กิโลเมตร แล้วไปผ่านที่หมู่บ้านอู่คำ บ้านนาสิงห์ บ้านสันทรายงาม บ้านแสงเจริญ และบ้านนาคำแคน

ตั้งแต่แรกลงมาย่ำเท้า ณ บริเวณอารามอันวิเวก ผมก็ขอเริ่มต้น "เรียนรู้เรื่องราว" ซึ่งคำว่า ภูทอก ในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว โดยมี 2 ลูกด้วยกัน คือ ภูทอกใหญ่...ที่เห็นห่างไกลออกไป ยังไม่เปิดโอกาสให้ชมได้ตามปกติ ส่วนภูทอกน้อย...บรรดานักแสวงบุญ หรือนักท่องเที่ยวทั่วไป อย่างผมและกลุ่มเพื่อนฝูง สามารถเข้าไปชื่นชมได้ ด้วยเป็นแหล่งเชิงพุทธรักษ์ คือ ท่องเที่ยวเชิงแสวงบุญ หรือธรรมจารึก พร้อมกับชมธรรมชาติ

ก่อนอื่น...ควรมารับรู้ข้อปฏิบัติ ก่อนขึ้นภูทอก เนื่องด้วยเป็นสถานที่อันยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของชาวพุทธเป็นสำคัญ ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมหรือกราบไหว้ ควรปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ทางวัดตั้งไว้อย่างเคร่งครัด คือ 1. ห้ามนำสุรา-อาหาร ไปรับประทานบนยอดเขาโดยเด็ดขาด 2. ห้ามส่งเสียงดังรบกวนพระ-เณร ที่กำลังภาวนา 3. ห้ามขีดเขียนสลักข้อความบนหิน 4. ห้ามทำลามกอนาจารฉันชู้สาว และควรแต่งกายให้สุภาพ

เริ่มเดินทางกันเถอะ...เพื่อนมันเอ่ยเปรยขึ้นมา

ผมนำกล้องคล้องไว้ที่คอ แล้วก็ก้าวย่างตามไป

ก้มเดินท่ามกลางบรรยากาศที่ครึ้มมาจากร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ เบื้องล่างมีทางเดินปูนแทรกตัว แลเห็นพืชชั้นล่างอย่างมอสขึ้นปะปนอยู่ข้างทางด้วย

พอเงยใบหน้าหล่อขึ้นมา ก็เห็นบันไดไม้พุ่งทะยานสูง มีผู้คนหลากวัยหลายเพศ ค่อยๆก้าวเท้าอย่างระมัดระวัง บางคนที่ยังเรี่ยวแรงดีอยู่ ก็สาวเท้าไปได้อย่างรวดเร็ว ส่วนผมและกลุ่มเพื่อนๆหลังจากหยุดถ่ายภาพชั่วขณะ ก็เร่งก้าวเท้าขึ้นบันได

เวลาผ่านไปไม่นานนัก ตรงที่พักระหว่างบันได เราต้องมาหยุดยืนพักเหนื่อย แล้วตัดสินใจแยกกันเดิน ตามกำลังวังชาของแต่ละคน ซึ่งพอผมเดินไปตามลำพังกลับให้รู้สึกได้ว่า การหักโหม การเร่งรีบ หรือการก้าวเดินรวดเร็วมิช่วยให้ถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น เพราะต้องมาเสียเวลาพักเหนื่อย แต่การย่างไปเบื้องหน้าสม่ำเสมอ ทำให้ไม่เหน็ดเหนื่อยเกินไป แล้วก็ยังถึงเป้าหมายได้เช่นเดียวกัน แถมยังมีเวลาสัมผัสธรรมชาติที่รายล้อมรอบกาย



การเดินขึ้นสู่ยอดภูทอก พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้ก่อสร้างเป็นบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไป เมื่อปี 2512 มีทั้งหมด 7 ชั้นด้วยกัน ใช้เวลาในการก่อสร้างยาวนานถึง 5 ปีเต็ม ซึ่งบันไดแต่ละชั้นแตกต่างกัน โดยชั้นบันไดที่ 1-2 เป็นบันไดสู่ชั้นที่ 3 เรายังเห็นผืนป่าเขียวขจี เกลื่อนด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ เมื่อเดินมาสุดทางบันไดชั้น 3 จะมีทางเดินแยก 2 ทาง ทางซ้ายมือเป็นทางลัด คนที่เดินสวนมาเค้าบอกว่าลัดขึ้นไปถึงชั้น 5 ได้เลย แต่เป็นทางที่ชันมาก และต้องเดินผ่านอุโมงค์ที่มืดด้วย ส่วนทางเดินขวามือเป็นทางนำสู่ชั้นที่ 4 ได้คือกัน

ครุ่นคำนึงอย่างลังเลพักหนึ่ง เมื่อเห็นคนเดินแซงไปทางขวาก็เลยตัดสินใจเดินตามหลังไป โดยบันไดชั้นที่ 4 เป็นสะพานแคบๆเวียนรอบเขา ผมต้องหยุดเดินชั่วครู่ ยามที่มีคนเดินสวนทางมา พลันก็ให้มองไปเบื้องหน้า จะแลเห็นเนินเขาเตี้ยๆสลับกัน ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ดงชมพู เป็นสภาพป่าอยู่ทางทิศตะวันออก จรดกับภูลังกาเขตอำเภอเซกา

และเล่าต่อกันมาว่า พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ที่สร้างสะพานขึ้นภูทอก และสะพานเดินรอบๆเขานั้น หลังจากที่เกิดนิมิตว่า มีเหล่าเทวดามาบอกว่าขอน้อมถวายภูเขาลูกนี้ให้แก่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดรักษาไว้ พวกข้าพเจ้าจะลงไปอยู่ข้างล่าง และขอให้ท่านประกาศแก่มนุษย์โลกที่มาเที่ยวภูเขาลูกนี้ต่อไปว่า ขอได้อย่ากล่าวคำหยาบ อย่าส่งเสียงดังอึกทึก อย่าถ่มน้ำลายลงไปข้างล่าง อย่างได้ขว้าง หรือทิ้งขยะบนเขา

หลังจากฟังความเบื้องหลังจากกัลยาณมิตรที่เพิ่งรู้จัก ผมก็เริ่มก้าวเดินหน้าต่อไปบนระยะทางราว 400 เมตร มาผ่านที่พักของแม่ชี แล้วเดินเลยขึ้นมาสู่ชั้นที่ 5 ก็ได้มาเห็นกับกุฏิพระ และกลายถ้ำตามช่องทางเดิน โดยเส้นทางของชั้น 5 ที่มุ่งไปสู่ชั้นที่ 6 ในระหว่างเส้นทาง มีที่ให้ได้พักผ่อน เป็นลานกว้างขวางหลายแห่ง แล้วก็มีหน้าผาสูงชัน มีชื่อเรียกต่างๆ อย่างเช่น ผาเทพนิมิต ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต ซึ่งผมก็หยุดถ่ายรูปเหมือนเคย

วัยรุ่นหนุ่มสาวสองคน ให้ผมช่วยถ่ายรูปหน่อย ด้วยเป็นบริเวณริมหน้าผาชัน ที่มีทิวทัศน์งดงามเหลือเกิน แต่ความสวยงามบริเวณนี้ ก็ให้รู้สึกหวาดเสียวได้เหมือนกัน ยิ่งมองลงในแนวดิ่งด้วยแล้ว ก็ให้เข้าใจสัจธรรมที่ว่า ยิ่งสูงยิ่งหนาวเย็น แล้วยังให้รู้สึกเลยไปอีกว่า ยิ่งสูงก็ยิ่งสั่นเทาเช่นกัน เห็นจากขาของตัวเองกำลังสั่นเป็นเจ้าเข้าเลย

ผมเดินเลี่ยงมาทางด้านเหนือ ได้เห็นสะพานหินธรรมชาติ ทอดตัวข้ามไปสู่พระวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พอมองเลยออกไปอีกไกล แลเห็นแนวของภูทอกใหญ่ อย่างชัดเจนตาที่สุด และคนส่วนใหญ่ ก็มักหยุดเดินทางแค่นี้

หลังจากที่นึกถึงคำเตือนจาก พี่บอย-อุภัย สาระศาลิน หัวหน้างานสื่อมวลชนสัมพันธ์ในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ว่าชั้นที่ 6 สู่ชั้นที่ 7 เป็นสะพานไม้ยาวราว 400 เมตร เวียนรอบเขา เป็นหน้าผาชันมาก พอสุดทางชั้นที่ 7 เป็นป่ารกชัฏ ทั้งงูเงี้ยวเขี้ยวขอชุกชุม เมื่อนึกถึงอย่างนั้น...ขอเผ่นเถอะ

อีกทั้งว่ากันว่า เป็นปากทางเข้าเมืองพญานาค ซึ่งจะมีบ่อน้ำเล็กๆขังอยู่เกือบตลอดปี และบนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ จะไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆเลย มีเพียงก็ป่าไม้ทึบๆที่คนท้องถิ่นล่ำลือว่า เป็นวิมานของเทวดาอารักษ์ คนทั่วไปอย่างเรามองไม่เห็น

ผมเลือกเดินลงมาอีกหนึ่งชั้น ด้วยความเลื่อมใสแรงกล้า เข้าสู่ "พระวิหาร" ที่มีความหมายว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้ตรัสรู้แล้ว ก็อย่างที่เกริ่นไปสักครู่ว่า เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่พระอริยะหลายองค์ มาพักผ่อนและละสังขาร โดยมีลักษณะที่น่าแปลกตา หรือให้รู้สึกน่าอัศจรรย์ใจ ด้วยคล้ายกับพระธาตุอินทร์แขวนในพม่า ซึ่งเป็นก้อนหินทรายใหญ่โต แยกตัวออกมาอิสระ แต่กลับไม่ตกลงไป ด้วยตั้งฉากกับพื้นโลกพอดี

เดินกลับลงสะพานไม้ ที่สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาจากพระ เณร และชาวบ้าน ซึ่งบันไดขึ้นลงสู่ภูทอกนั้น เปรียบเสมือนเส้นทางธรรมที่น้อมนำสัตบุรุษ ให้พ้นโลกแห่งโลกียะ สู่โลกแห่งกุตระ หรือโลกแห่งการหลุดพ้น ด้วยการเพียรพยายามและมุ่งมั่น

จาก http://www.sakulthaionline.com/magazine/reader/13373/124
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 17, 2016, 06:06:43 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...