รับมือกับความเศร้าโศกในยามสูญเสีย...ธรรมะจากพระไพศาล วิสาโล เพื่อให้สามารถผ่านพ้นความเศร้าโศกไปได้รับมือกับความเศร้าโศกในยามสูญเสีย…
พระไพศาล วิสาโล
ธรรมบรรยายหลังทำวัตรเย็น วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ พวกเราในที่นี้บางคนเคยสูญเสียพ่อแม่ หลายคนเคยสูญเสียญาติผู้ใหญ่ เช่นปู่ย่าตายาย แต่ว่าแทบไม่มีใครเลยสักคนที่เคยสูญเสียในหลวงมาก่อน จนกระทั่งเมื่อวานนี้ ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ ๘ สวรรคตก็เป็นเวลา ๗๐ ปีมาแล้ว คนที่อายุ ๘๐ ปีถึงจะจำความได้ แต่ก็ยังเด็กอยู่ อาจจะไม่รู้สึกอะไร ต้องเป็นคนที่อายุ ๘๕-๙๐ ปี ถึงจะเคยรู้สึกว่าสูญเสียในหลวงมาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เมื่อวาน แต่คนที่อายุ ๘๕-๙๐ ปีทุกวันนี้เหลือน้อยเต็มที ที่นี่ก็มีไม่กี่คน จึงพูดได้ว่าคนไทยเกือบทั้งประเทศเพิ่งรู้จักกับความสูญเสียในหลวงจากเหตุการณ์เมื่อวานนี้
คนไทยส่วนใหญ่เกิดมาก็มีในหลวงแล้ว อยู่ใต้บารมีของพระองค์มาตั้งแต่เกิด ไม่ว่ายามสุขหรือยามทุกข์ก็มีพระองค์อยู่เหนือหัวเรา หลายคนคงรู้สึกว่าในหลวงจะอยู่กับเราไปจนตลอด เพราะตั้งแต่เกิดมาก็มีในหลวงแล้ว หลายคนพ่อแม่ตายไปแล้ว ญาติผู้ใหญ่หลายคนก็ตายไปแล้ว แต่ก็ยังมีในหลวง เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต อาตมาเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อย เรียกว่าคนเกือบทั้งประเทศก็ได้รู้สึกว่าตนเป็นกำพร้าทันที เป็นกำพร้าพร้อมกันทั้งประเทศเลย
การเป็นกำพร้า เช่น กำพร้าพ่อ กำพร้าแม่ ปกติเราผลัดกันเป็น ไม่ได้เป็นกันทีเดียวทั้งประเทศ
แต่การสูญเสียในหลวงครั้งนี้ พูดได้ว่าพวกเรากำพร้าทั้งประเทศพร้อมๆ กันเลย ทำให้รู้สึกว่ามีบางสิ่งที่ทรงคุณค่าหายไปจากชีวิต รู้สึกได้ถึงความสูญเสียอันใหญ่หลวงในจิตใจของเรา เกิดความรู้สึกเคว้งคว้าง ว่างโหวง ขาดที่พึ่ง
ความรู้สึกเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าเป็นเหตุการณ์ที่พวกเราไม่เคยประสบมาก่อน คนที่สูญเสียพ่อทีแรกอาจจะเศร้าโศกเสียใจมาก แต่เมื่อผ่านประสบการณ์นี้แล้ว พอสูญเสียแม่ก็ทำใจได้ บางคนสูญเสียแม่มาก่อนก็เสียอกเสียใจมาก แต่ก็ทำให้พอมีประสบการณ์อยู่บ้าง ครั้นสูญเสียพ่อก็ทำใจได้
แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ เป็นความสูญเสียที่คนเกือบทั้งชาติไม่เคยผ่านพบมาก่อน ซึ่งอาจมีถึง ๙๙ เปอร์เซนต์ของคนทั้งประเทศ จึงย่อมมีความเศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์เป็นธรรมดา ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมเรามีความเสียใจอาลัยอาวรณ์ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าในหลวงทรงประชวรมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว การประชวรกับการสวรรคตนั้นแตกต่างกันมากทีเดียว ก็เหมือนกับเวลาพ่อแม่ของเราล้มป่วย แม้ป่วยหนัก ถึงขั้นเข้าห้องไอซียู แม้สถานการณ์จะเลวร้ายอย่างไร ก็แตกต่างอย่างมากกับเวลาที่ท่านสิ้นลม ตอนที่ท่านยังมีลมหายใจอยู่ เราก็ยังรู้สึกอบอุ่น รู้สึกว่าเรายังมีที่พึ่ง ยังมีคนรักอยู่ใกล้ๆ ยังมีคนที่เราจะพูดคุยได้ รวมทั้งยังมีความหวังด้วย แม้จะริบหรี่เพียงใด ก็มีความหมายต่อจิตใจของเรา แต่พอท่านสิ้นลมไป ความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่างกันมากเลย ความโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ย่อมท่วมท้นเป็นธรรมดา เพราะความหวังดับสิ้นแล้ว เป็นการขาดเสาหลักของชีวิตไปอย่างถาวร
ดังได้กล่าวแล้วความโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ที่เกิดจากการสูญเสียพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ ปกติแล้วเกิดขึ้นกับคนไม่กี่คน แล้วก็ผลัดกันโศกเศร้า ผลัดกันสูญเสีย แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่คนทั้งประเทศสูญเสียพร้อมๆ กันอย่างนี้ บางคนก็ทำใจได้ ไม่โศกเศร้า ไม่ร้องห่มร้องไห้ ก็ดีแล้ว แต่ก็ควรเข้าใจคนที่เสียอกเสียใจ ร้องไห้ น้ำตานองหน้า ต้องเข้าใจเขา เห็นอกเห็นใจเขา อย่าไปตำหนิหรือต่อว่า ว่าทำไมเธอเศร้าโศกเสียใจ ไม่รู้หรือว่ามันเป็นธรรมดาของโลก อาจะมีบางคนที่คิดแบบนั้น
อาตมาอยากให้เรามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่มีความเศร้าโศกเสียใจ อย่าไปสำคัญตนว่าฉันมีธรรมะสูง ทำใจได้ พวกเธอเป็นชาวพุทธเสียเปล่า เข้าวัดเสียเปล่า ยังอดกลั้นหรือข่มใจไม่ได้ ความคิดแบบนี้เป็นอกุศลนะ เพราะว่ามันแสดงถึงการยกตนข่มท่านอยู่ในที ในยามนี้ถ้าเราไม่เศร้าโศกเสียใจ เพราะทำใจได้ ก็อย่าคิดว่ากูเก่งกูแน่ ให้มีเมตตาต่อเขา เห็นอกเห็นใจที่เขายังทำใจไม่ได้ ไม่ต่อว่าเขา ในทางตรงข้ามกลับควรให้กำลังใจ เพื่อให้เขาสามารถผ่านพ้นความเศร้าโศกไปได้
ส่วนคนที่เศร้าโศกเสียใจก็ให้รับรู้และยอมรับว่ามีความเศร้าเกิดขึ้นในใจ ไม่ต้องปฏิเสธผลักไสความรู้สึกนั้น ที่จริงมันก็มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะเวลาที่เราเศร้าโศก แล้วคนอื่นเศร้าโศกกับเรา เราจะรู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อนทุกข์ คนที่เคยกินแหนงแคลงใจกัน ที่เคยบาดหมางใจกัน ความเศร้าจะเชื่อมให้เราเข้ามาใกล้กัน เพราะว่าเรามีความรู้สึกเหมือนกัน หัวอกเดียวกัน ความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจหรือเป็นปฏิปักษ์ก็จะบรรเทาเบาบางลง เพราะว่าเราเป็นเพื่อนทุกข์กัน พยายามใช้ความรู้สึกนี้มาเป็นประโยชน์ เมื่อพบคนที่เคยผิดใจกัน เกลียดชังกัน ในยามนี้อยากให้มองว่า เขาเป็นเพื่อนทุกข์ของเรา
ในประเทศอเมริกามีปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิวมาก โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งอยู่ในย่านคนจน มีวัยรุ่นที่เป็นผิวขาวกับผิวสี เรียนอยู่ในห้องเดียวกัน แต่ว่าเกลียดชังกัน กลั่นแกล้งกัน บางทีถึงกับทำร้ายกัน ครูสาวพูดอย่างไรนักเรียนก็ไม่สนใจ วันหนึ่งครูชวนนักเรียนทำกิจกรรมง่าย ๆ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าแม้จะต่างผิว แต่ก็มีบางอย่างที่เหมือนกัน นั่นคือ เคยผ่านการสูญเสียมาเหมือนกัน บางคนสูญเสียพ่อ บางคนสูญเสียแม่ บางคนก็สูญเสียเพื่อนจากการยกพวกตีกัน วิธีการก็คือ ให้นักเรียนผิวขาวอยู่มุมหนึ่ง นักเรียนผิวสี ทั้งดำและเหลืองอยู่อีกมุมหนึ่ง พอครูถามว่า ใครเคยสูญเสียพ่อหรือแม่ ก็ให้คนนั้นมายืนอยู่กลางห้อง ใครบ้างที่มีเพื่อนติดคุก ก็ให้มายืนอยู่กลางห้อง ใครที่สูญเสียเพื่อนเพราะถูกทำร้าย ก็ให้มายืนอยู่กลางห้อง ทุกครั้งที่ครูถาม ก็จะมีนักเรียนทั้งผิวขาวและผิวสีมายืนอยู่ด้วยกันกลางห้อง มากบ้าง น้อยบ้าง ทำให้หลายคนพบว่า เอ๊ะ เราก็สูญเสีย เขาก็สูญเสีย เรียกว่าหัวอกเดียวกัน แล้วเราจะโกรธเกลียดกันทำไม ในที่สุดนักเรียนทั้งห้องก็รักกันสามัคคีกัน เลิกทะเลาะเบาะแว้งกัน
นี้คือประโยชน์อย่างหนึ่งของความเศร้าโศกที่เกิดจากความสูญเสีย ช่วยทำให้คนที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเปลี่ยนมาเป็นเพื่อนทุกข์ แต่ถ้าหากว่าสูญเสียเหมือนกันแล้วยังทะเลาะเบาะแว้งกัน นี่แสดงใช้ไม่ได้แล้วนะ เพราะว่าความเศร้าโศกควรจะทำให้เรารู้สึกว่าเป็นหัวอกเดียวกัน มีใจเดียวกัน
ความเศร้าโศกยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้อัตตาเราเล็กลง อันนี้มีประโยชน์มากสำหรับคนที่มีอัตตาพองโต หลายคนที่รู้สึกว่ากูเก่ง กูแน่ อัตตาจะพองโต โดยเฉพาะคนเก่งหรือคนที่เรียนสูงหรือร่ำรวย แต่เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกเศร้าโศก อัตตาเราจะเล็กลง ช่วยให้เรารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น ไม่อวดเก่ง วางก้าม อันนี้ก็เป็นประโยชน์นะ เพราะคนเราควรมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ดังนั้นเมื่อใดที่เราเกิดความเศร้าโคกเสียใจขึ้นมาก็ขอให้มองว่า มันก็มีข้อดีเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี อย่าจมอยู่ในความเศร้าโศกเสียใจนาน เมื่อเราเศร้าโศกเพราะรักในหลวง ก็อย่าให้ความเศร้าโศกนั้นทำให้เราหลงลืมหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือการเป็นพสกนิกรที่ดีของในหลวง พสกนิกรที่ดีย่อมไม่ละเลยโอกาสในการบำเพ็ญประโยชน์ สร้างสรรค์คุณงามความดี ให้แก่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ ถ้าเรามัวแต่โศร้าโศก ซึมเซา เจ่าจุก หมดเรี่ยวแรงทำอะไร วันสองวันก็ไม่เป็นไรนะ มันเป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่ถ้าเป็นนานกว่านั้น ก็หมายความว่าเราละเลยหน้าที่ของเรา เรากำลังทำตัวให้เป็นภาระของคนอื่น
พยายามสลัดความเศร้าโศกออกไป เพื่อที่เราจะได้กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ ซึ่งหมายถึงการดูแลครอบครัว ทำหน้าที่การงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อประเทศชาติ อันนี้จึงจะเรียกได้ว่าเราเป็นพสกนิกรที่ดีของพระองค์ การรักในหลวงที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่แค่รักแต่ปาก หรือสักแต่ว่ารัก แต่ต้องพยายามทำตัวให้เป็นพสกนิกรที่ดี สืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ตามกำลังที่มี
อย่างไรก็ตาม อาตมายอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะสลัดความเศร้าโศกทิ้งไป คนเราเมื่อเศร้าโศกเพราะสูญเสีย ปกติจะมีคนอื่นมาช่วยเราทำกิจการงานต่าง ๆ คนที่สูญเสียลูก หรือสูญเสียพ่อแม่ ช่วงแรก ๆ อาจจะทำอะไรไม่ได้เลย ซึมเศร้า เจ่าจุก ไม่มีเรี่ยวแรงทำอะไรเลย แต่ก็มักมีเพื่อนบ้านหรือมิตรสหาย ที่เขาไม่ได้สูญเสียเหมือนเรา มาให้กำลังใจ มาช่วยเหลือเจือจุน มาช่วยจัดบ้าน มาช่วยหุงหาอาหารให้ ทำให้เราดำเนินชีวิตต่อไปได้
แต่ว่าตอนนี้ พวกเรากลายเป็นกำพร้ากันทั้งประเทศ คนที่อยู่รอบข้างไม่ว่าใกล้หรือไกลก็ล้วนสูญเสียทั้งนั้น จะหวังให้คนอื่นมาช่วยเราก็คงไม่ได้ เพราะเขาเองก็รู้สึกแย่เหมือนกัน ตกที่นั่งเดียวกับเรา ดังนั้นเราต้องรู้จักพึ่งตัวเอง ช่วยตัวเองได้ให้ เพราะฉะนั้นจึงอย่าเศร้าโศกเสียใจนาน ถึงแม้ว่าเป็นธรรมดาที่จะรู้สึกอาลัยอาวรณ์ก็ตาม
ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จสรรคต คือ เมื่อ ๑๐๖ ปีที่แล้ว มหาราชสองพระองค์ของไทยเสด็จสวรรคตเดือนเดียวกันแต่ห่างกัน ๑๐๖ ปี พระปิยมหาราชเสด็จสวรรคตปี ๒๔๕๓ ตอนนั้นอย่าว่าแต่ฆราวาสเลยนะ แม้แต่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ก็เศร้าโศกเสียใจมาก
ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เล่าว่า คืนแรกที่นิมนต์พระสงฆ์มาสดับปกรณ์ คือ สวดมาติกาและบังสุกุลในพระบรมมหาราชวัง แม้แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสก็เสียงสั่นเครือและสะอื้นเป็นบางครั้ง กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ซึ่งภายหลังได้เป็นสังฆราชต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ก็สวดไม่ค่อยออก ส่วนสมเด็จพระวันรัต วัดมหาธาตุ เสียงเครือเกือบจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดอรุณ สวดพลางน้ำตาไหลพราง ยิ่งพระธรรมวโรดม วัดเบจมบพิตรด้วยแล้วถึงกับร้องไห้เหมือนฆราวาสเลย ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ รู้ธรรมมาเยอะ แต่ก็หักห้ามความเศร้าโศกเสียใจไม่ได้
นับประสาอะไรกับฆราวาสอย่างพวกเรา ถ้าจะเศร้าโศกเสียใจ น้ำตาไหล หรือร้องไห้สะอึกสะอื้นก็เป็นธรรมดา แต่ก็อย่างที่บอก อย่าเศร้าโศกนาน เพราะว่ามันจะทำให้เราละเลยสิ่งที่ควรจะทำ ไม่ว่าการดูแลลูก ดูแลพ่อแม่ ดูแลตัวเอง ทำหน้าที่การงานของตน บางคนมัวแต่เจ่าจุกอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรือเอาแต่ดูโทรศัพท์มือถือ อ่านเรื่องราวของผู้คนที่เล่าถึงความรู้สึกในยามนี้ มันก็ดีนะ จะได้เกิดความรู้สึกร่วมกัน แต่ถ้าเราทำอย่างนั้นนาน ๆ ก็จะจมอยู่ในความเศร้า และถลำลึกขึ้น จนไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน
ที่จริงการลุกขึ้นมาทำงานก็ช่วยได้ มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นหมอเล่าว่า เขารู้สึกเศร้าโศกเสียใจมาก ตั้งแต่เมื่อวานแล้ว วันนี้พอตื่นขึ้นมาก็ไม่มีเรี่ยวแรง แต่ว่ามีหน้าที่ต้องไปสอนนักศึกษาแพทย์ ทีแรกก็ไม่รู้ว่าจะสอนได้หรือเปล่า เพราะเรี่ยวแรงไม่ค่อยมี คือ กายมีแรงแต่ใจเหนื่อย ตอนแรกที่สอนก็ฝืดนะ พอสอนไป ๆ เรี่ยวแรงก็กลับมา รู้สึกกระตือรือร้นในการสอน ความเศร้าความอาลัยก็หายไป เกิดความสนุกที่ได้พูดคุยกับนักศึกษา (แต่ว่าพอสอนเสร็จกลับไปอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ความเศร้าก็กลับมาใหม่)
เราต้องรู้จักสลัดความเศร้าออกไป อย่ามัวแต่เจ่าจุกหน้าคอมพิวเตอร์ อย่าใช้เวลากับมันนานไป จะรู้สึกห่อเหี่ยว ต้องลุกขึ้นมาทำงาน ไม่ว่าเป็นงานบ้านที่เราเคยทำ กิจวัตรที่เราเคยปฏิบัติ รวมทั้งงานการที่ต้องใช้ความคิดสติปัญญา อย่าละเลย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเราละทิ้งหน้าที่ของเรา
ในหลวงของเรา พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยอย่างไร ก็ทรงเหนื่อยแค่กาย แต่ว่าใจไม่ยอมเหนื่อย พวกเราก็ควรพยายามรักษาใจของเราอย่าให้เหนื่อย แม้จะมีความอาลัยอาวรณ์เพราะความสูญเสียก็อย่าจมอยู่ในอารมณ์นี้นาน
สำหรับพวกเราที่เป็นนักปฏิบัติ ก็ให้ถือว่าความเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ เป็นแบบบฝึกหัดของเรา เขามาเพื่อให้เราได้ฝึกสติ เรียนรู้การมีสติรู้ทันท่วงที ให้ถือว่าความเศร้าโศกเป็นการบ้าน แม้ว่าเป็นการบ้านที่ยาก เปรียบเสมือนพายุลูกใหญ่ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต กระหน่ำจิตใจของเรา แต่เราก็อย่าท้อแท้ ถือว่าการรับมือความเศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการบ้านของเรา เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราก็ยอมรับว่า มันเป็นธรรมดาของปุถุชน เพราะแม้กระทั่งพระสงฆ์องค์เจ้าก็ยังมีความเศร้าโศก แต่ว่าเราจะไม่ยอมให้มาเล่นงานเราเฉยๆ หรือมาครอบงำจิตใจ ให้ถือว่านี่เป็นโอกาสให้เราฝึกสติเพื่อสร้างความรู้สึกตัว เพื่อรู้วิธีในการรับมือกับความเศร้าโศก
ความเศร้าโศกเมื่อเกิดขึ้น หากเราคิดจะกดข่มมัน ไม่ได้ผลนะ สิ่งที่เราต้องทำคือ รู้ทันมัน
เคยมีคนถามหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ซึ่งเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ว่าหลวงปู่ ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้ หลวงปู่ตอบว่า “ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง” ความโกรธฉันใด ความเศร้าก็ฉันนั้น มันมาเพื่อให้เราเรียนรู้ เพื่อให้เราได้ฝึกสติ เพื่อให้เรารู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร
หลวงพ่อคำเขียนเคยพูดว่า “ในความทุกข์มีความไม่ทุกข์” ฉันใดก็ฉันนั้น ในความเศร้าก็มีความไม่เศร้า อันนี้เป็นการบ้านให้เราลองหาคำเฉลยดูว่า ทำอย่างไร เมื่อมีความเศร้าเกิดขึ้นเราจึงจะพบความไม่เศร้า ที่จริงสติช่วยได้มากเลย เมื่อมีความเศร้าเกิดขึ้น ถ้าเราไม่มีสติเห็นมัน ก็จะกลายเป็นผู้เศร้าเลย แต่ถ้ามีความเศร้าเกิดขึ้นแล้วเราไม่เข้าไปเป็น เราเห็นมัน ความเศร้าก็หายไป ความไม่เศร้ามาแทนที่ มันอยู่ที่เรานะ เมื่ออารมณ์อกุศลเกิดขึ้นแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร ถ้าเรารับมือไม่เป็น เช่น กดข่ม มันก็จะครองจิตใจเรา กลายเป็นผู้เศร้าไปโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าหากว่าเราเกี่ยวข้องกับมันถูก เช่น เห็นมัน ความเศร้าจะกลายเป็นความไม่เศร้า ทำให้เราพบว่า ในความเศร้านั้นมีความไม่เศร้า
อะไรเกิดขึ้นก็ตามไม่ว่าภายนอกหรือจิตใจเรา มันไม่สำคัญเท่ากับว่าเราจะวางใจอย่างไร มีความเจ็บความปวด แม้เป็นความเจ็บความปวดที่กาย แต่ถ้าหากว่าเรามีสติรู้ทัน มันก็มีแต่ความปวดกายแต่ใจไม่ปวด เราก็สามารถเปลี่ยนความปวดให้กลายเป็นความไม่ปวดได้ คือปวดกายแต่ใจไม่ปวด ความเศร้าก็เช่นกัน ให้ถือว่านี่เป็นการบ้านที่เราจะต้องเรียนรู้เพื่อใช้มันให้เป็นประโยชน์
ขอให้พวกเราใช้โอกาสนี้พิจารณาถึงความจริงที่เรียกว่า อนิจจัง หรือที่คนไทยสมัยก่อนเรียกว่าพระอนิจจลักษณะ คนไทยสมัยก่อนเรียกไตรลักษณ์ ด้วยความเคารพว่า พระอนิจจา พระอนัตตา เรียกอย่างนี้เพี่อเตือนใจว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ มีค่ามาก ถ้าเราเกี่ยวข้องกับอนิจจังหรือพระอนิจจาถูก มันก็ทำให้เราไม่ทุกข์ จริงอยู่อนิจจาบ่อยครั้งทำให้เกิดความเจ็บปวด เพราะหมายถึงความพลัดพรากสูญเสีย ความเสื่อมสลาย ความวิบัติ ไม่พักต้องพูดถึงความแก่ ความเจ็บ และความตาย แต่ว่าถ้าเราเข้าใจพระอนิจจาอย่างแจ่มแจ้ง เราก็จะวางใจกับสิ่งต่าง ๆ ถูกจนพ้นทุกข์ได้ หรือถ้าเราเข้าใจพระอนัตตาอย่างแจ่มแจ้ง ก็จะพ้นทุกข์ได้เช่นกัน
คนโบราณถึงเรียกความจริงเหล่านี้ว่าเป็นพระ เสมือนเป็นของสูงที่ควรเคารพยำเกรง คือ พระอนิจจา พระอนัตตา ซึ่งเป็นธรรมะที่แสดงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งแสดงให้เราเห็นเมื่อวานนี้ด้วย ถ้าเราใคร่ครวญพิจารณา ก็จะเกิดปัญญา ยกจิตใจให้อยู่เหนือความทุกข์ได้ ความทุกข์ที่เกิดจากอนิจจัง ความทุกข์ที่เกิดจากทุกขัง ความทุกข์ที่เกิดจากอนัตตา สามารถทำให้เราพ้นจากความทุกข์ได้ หากเราใคร่ครวญจนเกิดปัญญา
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : visalo.org
จาก
http://panyayan.tnews.co.th/contents/209095/