ผู้เขียน หัวข้อ: กำไลต้นหญ้า แด่มหากัลยาณมิตร ณ...ดอยอ่างขาง  (อ่าน 1053 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



กำไลต้นหญ้า แด่มหากัลยาณมิตร ณ...ดอยอ่างขาง

ชิบุแคทำจากก้านของช่อดอกหญ้าที่เรียกว่า “หญ้าชิ” นำมาถักเป็นกำไลข้อมือด้วยลวดลายและสีสันต่างๆ

มีที่มาจากธรรมเนียมการต้อนรับอาคันตุกะของชาวมูเซอดำ คือเมื่อมิตรสหายมาเยือนก็ผูกกำไลข้อมือต้อนรับเหมือนการสู่ขวัญ เพื่อให้เกิดสิริมงคลทั้งผู้ให้และผู้รับ

นอกจากนี้ยังมีตำนานว่าชิบุแคเป็นเครื่องรางของขลังของชาวมูเซอดำในสมัยโบราณเมื่อยามเข้าป่าล่าสัตว์หรือเดินทางไกล ชิบุแคจึงเป็นของที่ระลึกที่สร้างสรรค์ได้เข้าท่าเข้าทางทีเดียว สวย ดูดี ไม่แพง แล้วยังเป็นตัวแทนความทรงจำว่าครั้งหนึ่งได้มาเยือนถิ่นชาวมูเซอดำแห่งดอยอ่างขาง



1


วันหนึ่ง บนอาคารสโมสรดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ผมยืนจ้องภาพถ่ายเก่าบนฝาผนังภาพหนึ่งด้วยความตื่นเต้น ราวกับว่าเหตุการณ์และบุคคลในภาพยังเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวาอยู่เบื้องหน้า ประหนึ่งคือ ความทรงจำอันงดงามที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันวาน ทั้งๆ ที่หากจะนับอายุกันจริงๆ ภาพนี้ก็ผ่านกาลเวลามาถึงสองทศวรรษแล้ว พิจารณาด้วยมุมมองของช่างภาพ ผมพบว่านี่คือศิลปะการบันทึกภาพที่สมบูรณ์แบบ ทั้งการจัดวางองค์ประกอบ แสงเงา อากัปกิริยาของบุคคลในภาพ และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องราวของภาพ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าหน้าหนึ่งของสังคมไทย ประวัติศาสตร์แห่งพระมหากษัตริย์นักพัฒนา คุณค่าแห่งกัลยาณมิตร ปฐมบทของงานพัฒนาทั้งปวง

นี่คือพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินดอยอ่างขางในราวปี พ.ศ. 2512 ช่วงเวลาที่งานพัฒนาชาวเขาตามแนวพระราชดำริกำลังเริ่มต้นขึ้นโดยมีผู้นำชาวมูเซอดำชื่อ “จะหลู” รับเสด็จด้วยการผูก ชิบุแค หรือกำไลต้นหญ้า ที่ข้อพระหัตถ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หรือ “เจ้าแม่หลวง” ของพวกเรา ซึ่งกำลังแย้มพระโอษฐ์และยื่นพระหัตถ์ให้โดยไม่ถือพระองค์ โดยมี “เจ้าพ่อหลวง” ประทับยืนทอดพระเนตรอยู่เบื้องขวาของพระบรมฉายาลักษณ์ ในขณะที่ด้านซ้ายสุดมีเด็กหญิงชาวมูเซอ สันนิษฐานว่าเป็นลูกของจะหลูยืนดูอยู่อย่างตั้งอกตั้งใจ ช่างเป็น “ภาพ” ที่ "ลงตัว” อะไรเช่นนี้

นับเป็นภาพสัญลักษณ์แห่งการก่อเกิดสถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขางโดยแท้ ทว่าน่าเสียดายที่ยังไม่สามารถสืบค้นได้ว่าใครเป็นผู้บันทึกพระบรมฉายาลักษณ์นี้ ไม่ไกลกันจากพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว... มีแผ่นป้ายจารึกข้อความอธิบายที่มาของของชื่อ “มิตรานุสรณ์” อันเป็นชื่อของอาคารสโมสรดอยอ่างขางแห่งนี้ว่า... “...อุ้ยเตอะ ปุกู ปี้อิ่วหลิน...(ขงจื๊อ) ผู้บำเพ็ญธรรม ย่อมไม่โดดเดี่ยว ต้องมีกัลยาณมิตรเกื้อกูลเสมอ...”

บรรทัดต่อมายังขยายความอีกว่า... “ช่วงปี 2515 คณะกรรมาธิการส่งเสริมอาชีพทหารนอกประจำการแห่งสาธารณรัฐจีน ได้รับมอบหมายจัดส่งคณะเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญการเกษตรมาถึงไทย เพื่อถวายความร่วมมือแด่กษัตริย์ภูมิพล ในการก่อตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ณ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่ทรงมีพระราชดำรัสให้มีขึ้น เพื่อยกระดับการมีอาชีพ และส่งเสริมสัมมาชีพทางการเกษตรกรรม แด่พสกนิกรของพระองค์ในภาคเหนือ

ในการนี้ คณะเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจีนได้เริ่มดำเนินการโดยบุกเบิกป่าพง ตลอดจนทดลองปลูกพันธุ์ไม้พืชไร่ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 ปีเต็ม โครงการจึงบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายสมบูรณ์ บัดนี้ บรรดาพันธุ์พืชไม้ผลที่ทดลองปลูกมาด้วยความยากลำบาก มีลูกท้อ ลูกพลับ สาลี่ แอปเปิล เห็ดหอม และผักสดนานาพันธุ์ ต่างเจริญงอกงามบานสะพรั่งเป็นพุ่มพวง เป็นที่น่าเจริญตาเจริญใจยิ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความร่วมมืออันน่าภาคูมิใจนี้ จึงได้สร้างสโมสรนี้ขึ้นเพื่อเป็นที่พักผ่อนแก่เจ้าหน้าที่ของสถานี และอาคันตุกะผู้มาเยือน โดยใช้ชื่อเป็นสำเนียงจีนว่า ‘บ้านเตอะหลิน’ ซึ่งเป็นคำย่อมาจากสุภาษิตของท่านขงจื๊อที่ได้กล่าวไว้เมื่อ 2,000 ปีก่อนว่า...อุ้ยเตอะ ปุกู ปี้อิ๋วหลิน...ผู้บำเพ็ญธรรมย่อมไม่โดดเดี่ยว ต้องมีกัลยาณมิตรเกื้อกูลเสมอ และตั้งชื่อเป็นไทยว่า ‘บ้านมิตรานุสรณ์’ เพื่อเป็นที่ระลึกแก่มิตรภาพที่กล่าวนี้ชั่วกาลนาน

ดร.จ้าว จู่ยู่ ประธานคณะกรรมาธิการส่งเสริมอาชีพทหารนอกประจำการสาธารณรัฐจีน 21 กุมภาพันธ์ 2523”




2

ใครที่เดินทางไปเที่ยวสถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขางจะต้องพบกับบรรดาแม่ๆ ลูกๆ ชาวมูเซฮดำยืนขาย “ชิบุแค” หรือกำไลต้นหญ้าอยู่แถวข้างทางและที่หน้าอาคารมิตรานุสรณ์ เป็นของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ แค่อันละ 3-5 บาท ซึ่งทำให้ใครก็อดไม่ได้ที่จะซื้อไว้เป็นความทรงจำหรือไปแจกเพื่อนๆ ชิบุแคทำจากก้านของช่อดอกต้นหญ้าที่เรียกว่า “หญ้าชิ” นำมาถักเป็นกำไลข้อมือด้วยลวดลายและสีสันต่างๆ มีที่มาจากธรรมเนียมการต้อนรับ

อาคันตุกะของชาวมูเซอดำ คือเมื่อมิตรสหายมาเยือนก็ผูกกำไลข้อมือต้อนรับเหมือนการสู่ขวัญ เพื่อให้เกิดสิริมงคลทั้งผู้ให้และผู้รับ นอกจากนี้ยังมีตำนานว่าชิบุแคเป็นเครื่องรางของขลังของชาวมูเซอดำในสมัยโบราณเมื่อยามเข้าป่าล่าสัตว์หรือเดินทางไกล ชิบุแคจึงเป็นของที่ระลึกที่สร้างสรรค์ได้เข้าท่าเข้าทางทีเดียว สวย ดูดี ไม่แพง แล้วยังเป้นตัวแทนความทรงจำว่าครั้งหนึ่งได้มาเยือนถิ่นชาวมูเซอดำแห่งดอยอ่างขาง

ทุกวันนี้บรรดาแม่บ้านและเด็กๆ มูเซอจึงพากันหารายได้พิเศษด้วยการถักชิบุแคขาย วิธีการถักก็น่ารักไม่เบา เพราะพวกเขามีเทคนิคพิเศษขนาดเดินไปก็ยังใช้มือกับปากที่ยังว่างๆ ถักชิบุแคไปด้วย โดยพัฒนาแบบให้ทันสมัย จากดั้งเดิมที่มีเชือกผูกเป็นเงื่อนตายจนแกะออกยาก (คล้ายการผูกสายสิญจน์สู่ขวัญ) เปลี่ยนเป็นแบบเย็บตรึงให้เป็นกำไลถอดใส่ได้ง่าย และเติมสีสันยิ่งขึ้น เท่านี้ บรรดาสาวๆ นักท่องเที่ยวก็มะรุมมะตุ้มซื้อกันคนละ 10-20 อัน จนทุกวันนี้หญ้าชิร่อยหรอจากดอยอ่างขางจนต้องเดินไปเก็บหญ้ากันไกลถึงดอยอินทนนท์ แต่ไกลเท่าไหร่ก็ไม่เป็นไร เพราะพอเก็บหญ้าเสร็จ ระหว่างเดินทางกลับเจ้าหล่อนทั้งหลายก็ถักชิบุแคได้นับสิบอันแล้ว จะเรียกว่าเป็นพวก...ปากถัก ตีนเดิน...ก็น่าจะได้

จากต้นหญ้าที่ไร้ค่า ชิบุแคในความรู้สึกของผมมีความหมายที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวมูเซอดำ โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำใจไมตรีของพวกเขาถวายแด่...มหากัลยาณมิตร กษัตริย์นักพัฒนาพระองค์หนึ่ง



3

ราวปี พ.ศ. 2512 โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา จัดตั้งขึ้นโดยมีหม่อมเจ้าภีศเดชรัชนีเป็นผู้อำนวยการ เริ่มจากการมีสถานีวิจัยการปลูกพืชและผลไม้เมืองหนาวบนดอยปุย เรียกกันว่า “สวนสองแสน” ด้วยเพราะพระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนสองแสนบาทซื้อที่ดินจำนวน 200 ไร่เศษเพื่อการนี้ จะประสบความสำเร็จในการปลูกพืชเมืองหนาวจำพวกท้อ บ๊วย แอปเปิล อันเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามทำให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น ยุติการถากถางป่าทำลายต้นน้ำลำธาร ซึ่งประโยชน์ในบั้นปลายไม่ใช่เพื่อชีวิตทีดีกว่าของชาวเขาเท่านั้น หากยังเอื้ออำนวยต่อชาวเราบนพื้นที่อยู่ตรงปลายน้ำอีกด้วย

แล้วในปีเดียวกันนั้นเอง วันหนึ่งเมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทอดพระเนตรเห็นหุบเขาแห่งหนึ่งในอำเภอฝางเต็มไปด้วยต้นฝิ่นออกดอกสะพรั่งไปทั้งดอย ทรงมีพระราชดำริว่าภูมิประเทศเช่นนี้น่าจะเป็นทำเลปลูกพืชเมืองหนาวได้ดี เพราะทรงสังเกตเห็นดอกท้อป่าขึ้นอยู่ด้วย จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่จากชาวไร่ 10 ไร่ ในราคา 1,500 บาท นับแต่นั้นตำนานหน้าแรกแห่งดอยอ่างขาง หรือ “สวนพันห้า” จึงถูกบันทึกไว้ เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินอ่างขางอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก อันเป็นที่มาของ “ภาพเก่าที่ลงตัว” ดังกล่าว

คำว่า “อ่างขาง” หมายถึงลักษณะพื้นที่หุบเขาที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาว พรมแดนธรรมชาติกั้นแผ่นดินไทย-พม่าในจุดเหนือสุดของจังหวัดเชียงใหม่ เขตอำเภอฝาง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เฉลี่ย 1,400 เมตร อุณหภูมิในฤดูหนาวต่ำกว่าศูนย์จนเกิดน้ำค้างแข็ง

ความงดงามของสภาพพื้นที่นี้ทำให้มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อนักบินเฮลิคอปเตอร์ชาวอเมริกันช่วยขนต้นกล้าสนมาลงบนดอยอ่างขางเมื่อปี 2517 ถึงกับอุทานว่าลาวกับเป็น Shangri – La...หรือ...ดินแดนลี้ลับที่อลังการดั่งสวรรค์บนโลก ทว่า...ในความเป็นจริง ดอยอ่างขางใน พ.ศ. นั้นเป็นทั้งตลาดค้าฝิ่น เป็นป่าช้าของชาวมูเซอ และเป็นหมู่บ้านที่มูเซอยังต้องหนีความหนาวเย็นไปอยู่ที่ขอบดอยอ่างขาง ซึ่งก็คือหมู่บ้านมูเซอ “บ้านขอบด้ง” ในปัจจุบัน “...ไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า การขนส่งต้องใช้ม้าต่าง ลาต่าง บ้านพักปลูกเป็นกระต๊อบแล้วช้ตะเกียงน้ำมันให้แสงสว่าง...”

จำรัส อินทร หัวหน้าแผนกไม้ดอกไม้ประดับ วัย 39 ร่วมงานุกเบิกสถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขางตั้งแต่เรียนจบวิทยาลัยเกษตรลพบุรีเมื่อวัยเพียง 19 เล่าขานตำนานอ่างขางเบื้องหน้าแปลงเพาะชำ “เบิร์ด ออฟ พาราไดส์” ไม้ดอกงาดั่งปักษาสวรรค์จากอังกฤษที่มาเบ่งบานฟ้องความสำเร็จของอ่างขางในวันนี้ “ระยะเวลาราว 18 กิโลที่ต้องเดินเท้า 3-5 ชั่วโมง แต่ถ้าคนไม่เคยอาจใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมง มีเพียง ฮ. ของ ตชด. บริการขนส่งเสบียงและเมล็ดพันธุ์เดือนละ 2 ครั้ง นอกจากนั้นถ้าจะไปไหนก็เดินตลอด ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ที่มีถนนเข้ามาถึงสถานีสะดวกสบาย สมัยนั้นผมเดินขึ้นลงจนชิน ถึงขนาดเดินลงไปเที่ยวงานฤดูหนาวที่ฝาง เริ่มเดินตั้งแต่เลิกงานตอนห้าโมงเย็น เที่ยวกันจนถึงตีสองแล้วเดินขึ้นอ่างขาง ถึงราวๆ ตีห้าก็ทำงานต่อ”

วันนี้ ชีวิตทรหดของนักบุกเบิกรุ่นเก่าแม้กลายเป็นตำนาน แต่ความยากลำบากด้วยสภาพอากาศยังเป็นรสชาติของอ่างขางที่เจ้าหน้าที่รุ่นใหม่อย่างฐิติพร ทองดีพันธุ์ บัณฑิตหนุ่มจากวิทยาลัยเกษตรแม่โจ้ได้สัมผัสเช่นเดียวกับคนรุ่นก่อน “ผมประทับใจช่วงที่หนาวที่สุดของอ่างขาง ช่วงปลายธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาจนถึงติดลบ จำได้ว่าปี 2533 ถึงขั้นลบ 7 องศา ผมใส่เสื้อ 3 ชั้น ผ้าผวย 7 ผืน หมวก ถุงมือ ถุงเท้าอีกต่างหาก”

...เรียกว่าหนาวกันจนปวดข้อเลยละครับ...



4

วันนี้ สถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขางนับเป็น “แม่แบบ” ของสถานีเกษตรที่สูงจำนวนมาก จากความสำเร็จในการทดลองปลูกพืชเมืองหนาวหลากหลายชนิด ซึ่งครั้งหนึ่งผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตกบางคนเคยปรามาสไว้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ผลไม้เมืองหนาวจะเติบโตจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจได้ในเขตร้อนอย่างประเทศไทย พันธุ์บ๊วย ท้อ สาลี่ พลับ พลัม แอปเปิล และไม้ดอกสารพัดชนิดถูกกระจายออกไปสู่ชาวเขาเผ่ามูเซอที่ละเลิกการปลูกฝิ่นและผู้อพยพย้ายถิ่นจากแดนไกลอีกหลายเผ่า เช่น ชาวปะหล่องหรือดาละอั้งที่หนีภัยสงครามจากแดนพม่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และชาวจีนฮ่อ อดีตทหารกลุ่มกองพล 93 ของเจียงไคเช็กซึ่งอพยพลี้ภัยมาตั้งแต่คอมมิวนิสต์ยึดประเทศเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน

จนถึงวันนี้ อดีตนักรบอย่างคุณปู่เฟิ้งเจี่ยว แซ่เหมา มีอายุปาเข้าไป 74 ปีแล้ว พระมหากรุณาธิคุณดั่งพิรุณพรำฉ่ำเย็นทั่วถ้วนทุกชนเผ่าเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนไต้หวันเปรียบเทียบพระองค์ดั่งภาษิตของท่านขงจื๊อว่า...ผู้บำเพ็ญธรรมย่อมไม่โดดเดี่ยว ต้องมีกัลยาณมิตรเกื้อกูลเสมอ...ทั้งนี้เพราะทรงวางพระองค์เยี่ยง “กัลยาณมิตร” ของทุกชนชาติศาสนาที่หนีร้อนเข้ามาพึ่งความร่มเย็นแห่งพระบรมโพธิสมภาร มิใช่ดั่งผู้ที่เหนือกว่ากระทำต่อผู้อ่อนด้อยเลยแม้แต่น้อย

วันนั้น บนอาคารสโมสรดอยอ่างขาง... ผมจ้องภาพประวัติศาสตร์บนฝาผนังภาพหนึ่ง และแผ่นป้ายอธิบายที่มาแห่งชื่ออาคาร “มิตรานุสรณ์” แผ่นหนึ่งด้วยความปลาบปลื้ม แล้วในใจก็นึกย้อนกลับไปถึงวันที่พระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดสะพานมิตรภาพไทย – ลาว เมื่อต้นปี 2537 โดยเสด็จประทับแรมที่กรุงเวียงจันทน์ 1 คืน และพระราชทานโอกาสให้ชาวไทยที่ประกอบธุรกิจการงานในเวียงจันทน์เข้าเฝ้าฯ โดยมีพระดำรัสตอนหนึ่งที่ประทับอยู่ในความทรงจำของผมแนบแน่นเนิ่นนาน...

เพราะในขณะที่ท่าทีของสื่อมวลชนไทยสายหนังสือพิมพ์หลายฉบับยังใช้คำว่า...บ้านพี่เมืองน้อง...ในความหมาว่าไทยเป็นพี่ ลาวเป็นน้อง หรือบ้างก็ใช้คำว่า “อ้ายน้องลาว” อย่างจงใจ แต่พระองค์กลับตรัสถึงประเทศลาวว่า... “ในโอกาสที่มาเยือนลาวครั้งนี้ ได้เห็นภูมิประเทศ ได้พบประชาชนลาว เหมือนเป็นการมาเยี่ยม มิตรสนิท คนไทยที่อยู่ในประเทศลาวนั้น ถือเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศ ทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตนให้เป็นที่รักใคร่ของรัฐบาลและประชาชนลาว เพื่อให้มิตรภาพเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป”

ด้วยความวางพระองค์เยี่ยงมหากัลยาณมิตรเช่นนี้ จึงทรงมีกัลยาณมิตรที่เกื้อกูลดั่งคำของท่านขงจื๊อเสมอมา



จาก http://bit.ly/2e2IrNG
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...