"พระมงคลวิเสสกถา"!! พระธรรมเทศนาในพระราชสำนัก...ที่ "สมเด็จพระญาณสังวรฯ" เทศน์ถวายต่อหน้าพระพักตร์ "ในหลวงรัชกาลที่ ๙"“พระมงคลวิเสสกถา” เป็นพระธรรมเทศนาสำคัญซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นธรรมเนียมพระราชประเพณีและมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน พระสงฆ์ผู้ที่จะรับพระราชทานถวายพระธรรมเทศนานี้ ส่วนใหญ่จะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าจะต้องเป็นสมเด็จพระสังฆราช นอกเสียจากว่าพระสังฆราชประชวร จึงจะขอพระบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นสมเด็จพระราชาคณะองค์อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
หลักการสำคัญสำหรับพระสงฆ์มหาเถระที่จะยึดถือเป็นหลักในการถวายพระธรรมเทศนาพระมงคลวิเสสกถาคือ เมื่อถวายพระธรรมเทศนาจะต้องพรรณนาพระราชจรรยาอันวิเศษโสภณที่พระเจ้าแผ่นดินได้ปฏิบัติแล้วเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและปวงประชาราษฎร์ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงสดับฟังแล้วก็ทรงพิจารณาอยู่เนือง ๆ เมื่อพิจารณาอยู่เนือง ๆ แล้ว ทรงตระหนักรู้ถึงประโยชน์และผลดีของพระราชจรรยานั้น ๆ แล้วทรงเกิดพระปีติปราโมทย์ในคุณธรรมความดีนั้น ๆ และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงเกิดปีติปราโมทย์ตื้นตันใจในผลดีแห่งพระราชจรรยานั้น ๆ แล้วก็จะเป็นเหตุให้พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญปฏิบัติพระราชจรรยานั้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป
นอกจากนี้ พระมงคลวิเสสกถายังมีนัยสำคัญที่ซ่อนเอาไว้ก็คือ เป็นพระธรรมเทศนาที่แยบคาย สอดแทรกด้วยกุศโลบาย เพื่อถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าแผ่นดิน
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสว่า
“อันพระเจ้าแผ่นดินย่อมเป็นผู้สูงสุดในมนุษยนิกาย ยากที่จะมีใครกล้าถวายโอวาทได้จังๆ ถึงอย่างนั้น ผู้หวังประโยชน์ในพระองค์จึงหาช่องทางที่จะถวายด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง อันการกล่าวพระราชจรรยานั้นเป็นอุบายถวายโอวาทอย่างละเมียด จึงเป็นแบบที่โบราณบัณฑิตได้ใช้มาประการหนึ่ง เมื่อว่าถึงการพระศาสนาก็เป็นหน้าที่พระธรรมกถึกจะถือโอกาสนั้นๆ ชักประชุมชนตั้งแต่พระมหากษัตริยเจ้าเป็นต้นไป ให้ตั้งอยู่ในกุศลสมาทาน”สำหรับเนื้อหาและรูปแบบในพระมงคลวิเสสกถาที่ได้ยึดถือเป็นหลักต่อ ๆ กันมาก็คือ เนื้อหาของพระธรรมใน
“ทศพิธราชธรรม” โดยจำแนกมาอธิบายต่าง ๆ กันไป ส่วนรูปแบบนั้น เดิมทีไม่ปรากฏชัดว่าจัดรูปแบบเป็นอย่างไร แต่เริ่มมีการจัดรูปแบบที่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามสืบต่อกันมาในสมัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นผู้ทรงริเริ่มขึ้น โดยแบ่งรูปแบบเนื้อหาออกเป็น ๓ ส่วน ดังนี้
๑. อัตตหิตสมบัติ ได้แก่ การพรรณนาพระราชจรรยา พระคุณธรรมที่ได้ทรงยึดถือปฏิบัติและบำเพ็ญ เพื่อยังความแช่มชื่นเฉพาะพระองค์ โดยเป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลให้ทรงมีพระราชปณิธานในการประกอบพระราชกรณียกิจอันดีงามนั้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป
๒. ปรหิตปฏิบัติ ได้แก่ การพรรณนาพระคุณธรรมที่ได้ทรงยึดถือปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่พสกนิกร
๓. รัฏฐาภิปาลโนบาย ได้แก่ การพรรณนาพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงปฏิบัติแก่ประเทศและพสกนิกร
สำหรับในรัชกาลปัจจุบันนั้น
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทรงมีความผูกพันกับ
“สมเด็จพระญาณสังวรฯ” เพราะทรงเคยเป็น “พระอภิบาล” หรือ “พระพี่เลี้ยง” (ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นเทพ โดยมีชื่อตามสมณศักดิ์คือ “พระโศภณคณาภรณ์”) ในช่วงที่พระองค์ทรงออกผนวชเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ก่อนหน้าที่สมเด็จพระญาณสังวรฯ จะทรงดำรงตำแหน่งพระสังฆราช (ในช่วงเวลานั้นยังคงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะอยู่) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระญาณสังวรฯ รับพระราชทานถวาย
“พระมงคลวิเสสกถา” ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาหน้าพระที่นั่งในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๕
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระญาณสังวรฯ จึงทรงทำหน้าที่รับพระราชทานถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์พิเศษนี้แก่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นประจำเรื่อยมา จนเมื่อสุขภาพของสมเด็จฯ ท่านไม่เอื้ออำนวย จึงไม่ได้รับพระราชทานถวายพระธรรมเทศนาในพระราชพิธีนี้อีก
ที่มา : หนังสือ “มหาบพิตร : ในหลวงทรงถาม พระอรหันต์ตอบ”, วีระวัฒน์ ชลสวัสดิ์.
ติดตามเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับเหล่าพระอริยสงฆ์อีกมากมายได้ในหนังสือ “มหาบพิตร : ในหลวงทรงถาม พระอรหันต์ตอบ” โดย “วีระวัฒน์ ชลสวัสดิ์”สนใจหนังสือสั่งซื้อได้ที่ Line ID: @gppbook
โทรศัพท์. 0 2525 4242 ต่อ 201-203
จาก
http://panyayan.tnews.co.th/contents/210748/