ผู้เขียน หัวข้อ: ในหลวง ร.9 กับ พระอริยสงฆ์ ตอน 2. พระราชปุจฉา จากพระราชา เพื่อปวงราษฎร์  (อ่าน 1027 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

ในหลวง ร.9 กับ พระอริยสงฆ์ ตอน 2. พระราชปุจฉา จากพระราชา เพื่อปวงราษฎร์

เมื่อวานนี้ (28 ต.ค.59) ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอ เรื่องราวความสัมพันธ์ของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 กับความศรัทธาเกจิสายวัดป่าสายกรรมฐาน “ในหลวง ร.9 กับพระอริยสงฆ์ ตอน 1 'นึกว่าจะใส่ชฎา' 2 หลวงปู่ผู้ไม่รู้จักพ่อหลวง” โดยนำเรื่องราวมาจากหนังสือ "ในหลวง กับพระป่ากรรมฐาน" และตอนนี้คือเรื่องราวของ 3 พระเกจิดัง ที่มีพรหมลิขิตในฐานะศิษย์และอาจารย์....

‘พระมหากษัตริย์’ ไม่ทรงทิ้งพระธรรม เป็นคนมีบุญเสด็จอวตารจากสวรรค์มาเกิด

หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้อบรมสั่งสอนบรรดาศิษยานุศิษย์ ให้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์อยู่เสมอ โดยหลวงปู่ได้บันทึกว่า...




“...อยู่หัวหิน อยู่ใกล้แล้ว มักจะเกิดธรรมแปลกๆ เป็นอัศจรรย์ เป็นเพราะทั้งสองพระองค์ทรงมีพรหมวิหารอยู่ในน้ำพระทัยของทั้งสองพระองค์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินี ที่เพียบพร้อมทุกอย่าง ไม่ทรงทิ้งพระธรรม เป็นคนมีบุญเสด็จอวตารมาจากสววรค์มาเกิด มาบริหารชาติ ทำนุบำรุงศาสนาให้เจริญ ประเทศไทยไม่สิ้นจากคนดีนี้ เป็นอัศจรรย์ประการหนึ่งของประเทศไทย”

หลวงปู่หลุย จันทสาโร มีนามเดิมที่บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า “วอ” ภายหลังเข้าโรงเรียน ท่านมีนิสัยช่างซักช่างถามเหมือน “ครูบา” จึงถูกเรียกว่า “บา” ในช่วงวัยหนุ่มท่านนับถือศาสนาคริสต์ ลุงของท่านจึงเรียกว่า “เซนต์หลุย” ท่านจึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า “หลุย” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา



หลวงปู่หลุย จันทสาโร

หลวงปู่หลุย เกิดวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2444 ณ ตำบลกุดป่อง อ.เมือง จ.เลย อุปสมบทครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2466  ณ อ.แซงบาดาล จ.ร้อยเอ็ด ญัตติเป็นธรรมยุตที่วัดศรีสะอาด จ.เลย และได้ญัตติใหม่ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2468 โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์บุญ ปญญาวุโธ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ณ วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี 


หลวงปู่หลุย มรณภาพในวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2532 เวลา 00.43 น. ณ โรงพยาบาลหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สิริรวมอายุได้ 88 ปี 10 เดือน 14 วัน พรรษา 64



ตอบปัญหาธรรม ทำอย่างไร ประเทศชาติ ประชาชน จะอยู่ดีกินดี มีความสามัคคีปรองดองกัน


ถ้ามองจากแง่ของโลกธรรม ความคลี่คายสำคัญที่สุดในชีวประวัติของท่านพระอาจารย์ คือ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินต้นที่วัดป่าอุดมสมพร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ.2516

บรรดาศิษยานุศิษย์ก็พากันตื่นเต้น เพราะถือว่าเป็นนิมิตดีสำหรับบ้านเมืองด้วย ความคาดหมายนั้นคงไม่ผิดพลาดมากนัก เพราะปรากฏว่าล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ทรงสนพระทัยในธรรมะของท่านพระอาจารย์เป็นอันมาก ดังที่เห็นได้จากการได้ทรงนิมนต์ ท่านพระอาจารย์เข้าไปแสดงธรรมที่กรุงเทพฯ หลายครั้ง และเสด็จเยี่ยมถึงวัดเป็นการส่วนพระองค์ก็มี แม้ในคราวอาพาธครั้งสุดท้าย ก็ได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ตั้งแต่ต้นจนตลอด






หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ได้ตอบปัญหาทางธรรมในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ครั้งแรกมีใจความดังนี้...

นมัสการถาม : ทำอย่างไร ประเทศชาติ ประชาชน จะอยู่ดีกินดี มีความสามัคคีปรองดองกัน

ถวายวิสัชนา : ให้เข้าหาพระศาสนา เพราะศาสนาสอนให้ละชั่ว กระทำความดี ทำใจให้ผ่องใส


นมัสการถาม : คนส่วนมากทำดี คนส่วนน้อยทำชั่ว จะทำให้คนส่วนมากเดือดร้อนไหม ทำอย่างไรจึงแก้ไขได้

ถวายวิสัชนา : ขอถวายพระพร ทุกวันนี้คนไม่รู้จักศาสนาจึงเบียดเบียนกัน ถ้าคนเรานึกถึงตนแล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน เพราะต้องการความสุขความเจริญ คนอื่นก็เช่นกัน ทุกคนวันนี้เข้าใจว่าศาสนาว่าอยู่กับวัด อยู่ใตตู้ ในหีบ ในใบลาน อยู่กับพระพุทธเจ้าประเทศอินเดียโน่น จึงไม่สนใจบ้านเมืองจึงเดือดร้อนวุ่นวาย มองหน้ากันได้ ถ้าคนเราถือกันเป็นบิดา มารดา เป็นพี่ เป็นน้องกันแล้วก็สบาย ไปมาหาสู่กันได้ เพราะใจเราไม่มีเวร เวรก็ไม่มีใจ เราไม่มีกรรม กรรมก็ไม่มี ฉะนั้นให้เรามีพรหมวิหารธรรม อย่างมหาบพิตรเสด็จมานี้ทุกอย่างเรียบร้อยหมด (จากหนังสืออนุสรณ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร)




หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นบุตรของเจ้าไชยกุมาร (เม้า) และ นางนุ้ย สุวรรณรงค์ เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2442 ณ บ้านม่วงไข่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร บรรพชาเมื่ออายุ 19 ปี ที่วัดโพนทอง อุปสมบทครั้งแรกอายุ 20 ปี ณ วัดสิทธิบังคม มีพระครูป้องเป็นพระอุปัชฌาย์ญัตติ เป็นพระธรรมยุต เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2468 ณ วัดโพธิสมภรณ์ โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนธโล) เป็นพระพระอุปัชฌาย์ พระรถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ มรณภาพลงในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2520 สิริอายุรวมได้ 77 ปี 4 เดือน 15 วัน พรรษา 52


หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

เมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระราชินี ทรงทราบข่าว ก็เสด็จฯ ไปยังวัดป่าอุดมพร วันที่ 5 มกราคม พระราชทานสรงน้ำศพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานหีบทองทึบ

ในการสรงน้ำศพของพระอาจารย์ฝั้นครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของเมืองไทย ไม่ว่ากรณีศพของบุคคลใดก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพแล้ว จะไม่มีการรดน้ำศพอีก 
แต่กรณีพระอาจารย์ฝั้น ในหลวง ทรงโปรดเกล้าฯ ด้วยพระแสรับสั่งของพระองค์เองว่า

“...ขออย่าได้ห้ามประชาชนสรงน้ำศพท่านอาจารย์ จงให้เขาได้สรงน้ำกันต่อไปตามแต่ศรัทธา...”

 พระราชกระแสรับสั่งของ สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายหลังจากการสรงน้ำศพพระอาจารย์ ฝั้น อาจาโร ความว่า

“...ในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์ ขอให้ทุกคนได้สามัคคีกัน อย่าให้เกิดความแตกแยก และขอให้ยึดมั่นในคำสอนของท่านไว้ให้มั่นคง...”

“...ขอให้เก็บอัฐิของท่านพระอาจารย์ไว้แห่งเดียวกัน...” และ “...เครื่องอัฐบริขารของท่านพระอาจารย์ ถ้าสามารถเก็บรวมรักษาไว้เป็นที่เดียวกันได้ก็จะดี...”

วันที่ 20 มกราคม 2521 สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร เป็นกรณีพิเศษโดยส่วนพระองค์



ทศพิธราชธรรม ราชธรรม 10 ประการของ ในหลวง

“พระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประเทศไทย ที่ประชาชนเลื่อมใสและนับถือ ท่านมีชื่อเสียงในด้านการพัฒนาประเทศช่วยเหลือประชาชนอย่างถูกต้อง เพราะพระองค์ยึดหลักทศพิธราชธรรมและธรรมทางพุทธศาสนา...”




ครั้งหนึ่ง หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ แห่งวัดป่าเขาน้อง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 พร้อมกับกล่าวต่อว่า

“พระองค์ทรงหนักแน่น นำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปใช้กับพระองค์เอง และไปใช้กับประชาชนคนไทย ซาบซึ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความเคารพในศาสนา และตั้งอยู่ในศีลธรรมทางศาสนา เชื่อมั่นตลอดเวลาว่าพระองค์ทรงตั้งอยู่ในศีลและสมาธิปฏิบัติอย่างเคร่งครัด” (สัจธรรม, หน้า 29)

สำหรับ “ทศพิธราชธรรม” นั้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ราชธรรม 10 ประการ” ได้แก่
     1.ทาน 2.ศีล 3.บริจาค 4.ความซื่อตรง 5.ความอ่อนโยน
     6.ความเพียร 7.ความไม่โกรธ 8.ความไม่เบียดเบียน 9.ความอดทน และ 10.ความยุติธรรม

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ หรือ พระโพธิธรรมาจารย์ วัดป่าเขาน้อย อ.เมืองบุรีรัมย์ และ วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีนามเดิมว่า “สุวัจน์ ทองศรี” เกิดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2462 ที่บ้านตากูก อ.เมือง จ.สุรินทร์ บรรพชา เมื่ออายุ 19 ปี และ อุปสมบทเมื่ออายุ 20 ปี ณ วัดกระพุมรัตน์ บ้านเตากูก จ.สุรินทร์ อันเป็นวัดบ้านเกิดนั่นเอง



หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

ในปี พ.ศ.2484 ได้ญัตติเป็นพระธรรมยุต ที่วัดสุทธจินดา อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมีพระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ทองดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลวงปู่สุวัจน์ ได้จำพรรษากับหลวงปูฝั้น ที่ถ้ำขาม และวัดป่าอุดมสมพร และยังจำพรรษาที่วัดถ้ำศรีแก้วด้วย จวบจนหลวงปู่ฝั้นมรณภาพ หลวงปู่สุวัจน์ ได้เรียบเรียงอาจารย์มหาเถระประวัติลงในหนังสืออาจาราภิวาท ที่ระลึกในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุอัฐิ และทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร (9 มกราคม 2525)

หลังจากนั้น ได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยก่อตั้ง วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่พระโพธิธรรมาจารย์

หลวงปู่สุวัจน์ ได้มรณภาพเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2545 สิริอายุได้ 82 ปี 7 เดือน 7 วัน พรรษา 61

ในตอนหน้า ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ยังมีเรื่องราวดี ๆ มาให้ได้อ่านกันอีก โปรดติดตามวันพรุ่งนี้


จาก http://www.thairath.co.th/content/764902
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...