ผู้เขียน หัวข้อ: คิดถึงพ่อ "ภูมิพล" ในวันที่ลูก (ชาวนา) น้ำตาไหล  (อ่าน 1007 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


คิดถึงพ่อ "ภูมิพล" ในวันที่ลูก (ชาวนา) น้ำตาไหล

      ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตั้งแต่ที่ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นประมุขแห่งประเทศไทย พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยตลอดพระชนมายุของพระองค์ หนึ่งในนั้นคือทรงอุทิศพระวรกายเพื่อช่วยเหลือชาวนาโดยพัฒนาข้าวไทยในทุก ๆ ด้าน
       
        ทว่า วันนี้ชาวนาหลายรายกำลังรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง เพราะต้องประสบกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งนอกจากภาครัฐ และภาคประชาชนพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ชาวนาจำนวนหนึ่งลุกขึ้นสู้สุดหัวใจ คงหนีไม่พ้น ความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวนาทั้งแผ่นดิน
       
      "คนไทยต้องมีข้าว..."
       
       "ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชากรคนไทยไม่ยอม คนไทยต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราต้องปลูก"
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการโคกภูแล จ.นราธิวาสพ.ศ.2536 แสดงให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยในเรื่อง "ข้าว" โดยเน้นย้ำถึงอย่างไรคนไทยต้องปลูกข้าวเพื่อรักษาความเป็นไทยด้วยการกินข้าวไทย
       
       ด้วยความสำคัญของ "ข้าวไทย" พระองค์จึงทรงค้นหาวิธีที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำนา เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของข้าวให้สูงขึ้น ทั้งการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวที่ปลูกบนที่ราบ ที่สูง (ภูเขาและหุบเขา) รวมถึงที่ดอน เนื่องจากในแต่ละพื้นที่นั้นมีสภาพแตกต่างกัน มีความต้องการน้ำแตกต่างกัน และพันธุ์ข้าวตามแนวพระราชดำริที่มีการศึกษาวิจัยในสภาพพื้นที่ต่างๆ ก็กลายมาเป็นข้าวที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ ทำให้ชาวนาสามารถมีรายได้สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามมา



      โดยในปี พ.ศ. 2504 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าว (ปัจจุบันเรียกกรมวิชาการเกษตร) ดำเนินการจัดทำแปลงนาในบริเวณสวนจิตรลดา และนำพันธุ์ข้าวต่าง ๆ มาปลูกทดลอง ซึ่งในครั้งแรก ทรงขับรถไถนาเตรียมแปลง หว่านข้าว และทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง
       
       นอกจากนั้น ยังทำการศึกษาจนได้พันธุ์ข้าวที่ดี รวมทั้งใช้เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทานในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และนำไปบรรจุซองเล็ก ๆ จัดเป็น "พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน" แจกจ่ายให้แก่พสกนิกร และเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพ
       
       ต่อมาในปี พ.ศ.2518 ทรงจัดสร้าง "โรงบดแกลบ" ขึ้น เพื่อนำแกลบที่ได้จากโรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดามาใช้ประโยชน์ ซึ่งนอกจากการทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับปรับปรุงดินแล้ว แกลบยังถูกนำมาอัดผ่านกระบอกเหล็กที่ได้รับความร้อนออกมาเป็นแท่งเมื่อนำไปเผาจะได้ถ่านแกลบอัดแท่งใช้เป็นเชื้อเพลิง ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าอีกด้วย เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าของแกลบซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการสีข้าว โดยถูกนำมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
       
       อีกหนึ่งโครงการที่สำคัญ คือ "การจัดตั้งธนาคารข้าว" เพื่อเป็นการเก็บรักษาข้าวไว้บริโภคเมื่อขาดแคลน เห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแนวทางดำเนินแก่ราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. 2519 (จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 8)
       
       "ธนาคารข้าว ให้มีคณะกรรมการควบคุม ที่คัดเลือกจากราษฎรในหมู่บ้าน เป็นผู้เก็บรักษา พิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับข้าวคืน ตลอดจนจัดทำบัญชีทำการของธนาคารข้าว ราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคยามจำเป็นให้คงบัญชียืมข้าวไปใช้จำนวนหนึ่ง เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วก็นำมาคืนธนาคาร พร้อมด้วยดอกเบี้ย (ข้าว) จำนวนเล็กน้อยตามแต่ตกลงกัน ข้าวซึ่งเป็นดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะเก็บรวบรวมไว้ในธนาคาร และถือเป็นสมบัติของส่วนรวม



      ราษฎรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้งที่แข็งแรง ทั้งนี้หากปฏิบัติตามหลักการที่ทรงวางไว้ จำนวนข้าวที่หมุนเวียนในธนาคารจะไม่มีวันหมด แต่จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น และจะมีข้าวสำหรับบริโภคตลอดไปจนถึงลูกหลาน ในที่สุดธนาคารข้าวจะเป็นแหล่งที่รักษาผลประโยชน์ของราษฎรในหมู่บ้าน และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านด้วย"
       
       ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงทุ่มเทพระวรกาย อุทิศกำลังความคิด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยังมีอีกหลายโครงการที่ทรงให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงานวิจัยวิจัยและพัฒนาข้าวพระราชดำริ, โครงการฝนหลวง รวมไปถึงเกษตร "ทฤษฎีใหม่" ที่มุ่งหมายให้ราษฎรมีความเป็นอยู่อย่าง "พอดีและพอเพียง" ด้วยการบริหารจัดการที่ดิน และแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาชีวิต และอาชีพของเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัด
       
       ดีพระทัย "สิทธิบัตรยีนข้าวหอม"
       
       ไม่เพียงแต่ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่อง "ข้าว" เป็นอย่างมากแล้ว พระองค์ยังทรงส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการผลิตข้าวไทยในทุกๆ ด้านด้วย
       
       เห็นได้จากงานวิจัยเพื่อคนหายีนความหอมในพันธุ์ข้าวของไทย เช่น ข้าวหอมมะลิที่ทรงมีพระราชดำรัสถามเกี่ยวกับการทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด และทรงดีพระทัยอย่างมากที่คณะนักวิจัยไทยสามารถค้นพบยีนความหอมในข้าวไทยได้สำเร็จ โดยสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกสิทธิบัตรให้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 รวมไปถึงสิทธิบัตรของยีนที่ควบคุมความหอมในข้าว อันจะมีประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และพืชอื่นๆ ต่อไป
       
      "ขอบใจที่นำสิทธิบัตรนี้ ซึ่งถือว่าเป็นหลักประกันว่า ข้าวไทยเป็นของไทยแท้ ซึ่งคนหนักใจว่าเรากินข้าวไทยมานานแล้วจะกลายเป็นต้องไปกินข้าวฝรั่ง เพราะว่าสิทธิบัตรนี้เป็นของฝรั่ง แต่ว่ามาอย่างนี้ เราถือว่าเราได้รับประกันว่าเราเป็นข้าวไทย และจะกินข้าวไทยต่อไป ฉะนั้นการที่มีสิทธิบัตรนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ และหวังว่าทุกคนจะรักษาความเป็นไทยได้ด้วยรับประทานกินข้าวไทย ไม่ต้องกินข้าวฝรั่ง



     "ขอขอบใจทุกคนที่ได้จัดการเกี่ยวข้องกับเรื่องประกันนี้ สำหรับในนามของคนไทยทั้งหลายที่มีความภูมิใจได้กินข้าวไทย ขอบใจทุกคนที่ตั้งใจการทำงานเพื่อการนี้ ขอให้ท่านช่วยกันทำให้ เราสามารถสืบของไทย และกินข้าวไทยแท้ ไม่ใช่ต้องไปกินข้าวฝรั่ง เชื่อว่าการกินข้าวไทยนี้ทำให้คนไทยมีความภูมิใจในความเป็นไทยได้ ขอขอบใจทุกท่านที่ทำงานเพื่อการนี้ต่อไป และจะได้เป็นคนไทยต่อไป" พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานแก่คณะนักวิจัยไทย และทรงย้ำให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับข้าวไทย
       
      พระบิดาพัฒนาข้าวไทย
       
       ถึงวันนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อยกย่องในพระปรีชาสามารถของพระองค์ ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็น "พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย" และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เป็น "พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย" เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี งานวิจัยข้าวไทย ในปี 2559
       
        สำหรับการวิจัย และพัฒนาข้าวไทยนั้น ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงการเพาะปลูกข้าว และพัฒนาข้าวของประเทศไทยให้มีคุณภาพ โดยให้มีการขุดคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านชลประทานที่ใช้ในการปลูกข้าวของชาวนา และจัดให้มีการประกวดพันธุ์ข้าวจากทุ่งหลวงซึ่งอยู่ในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
       
       ต่อมาในปี 2459 มีการก่อตั้งหน่วยงานวิจัยด้านข้าวขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย คือ "นาทดลองคลองรังสิต" ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการปฏิรูปข้าวไทย



       เมื่อมาถึงยุคสมัยในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย โดยทรงพระราชดําริ และทรงดําเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาข้าวทรงมุ่งมั่นทุ่มเทกําลังพระวรกายในการปรับใช้ผลการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแก่เกษตรกร เช่น
       
      - ทรงสร้างขวัญ และกำลังใจแก่เกษตรกร ด้วยการฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
       
       - ทรงพระราชดำริแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งเสริมการทำนาขั้นบันได โครงการฝนหลวง การสร้างความร่วมมือในระดับชุมชน
       
       - ทรงให้ความสำคัญด้านการเพิ่มปริมาณและคุณภาพข้าว กำเนิดธนาคารเมล็ดพันธุ์ การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เรียกว่า "แกล้งดิน" เป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการปลูกข้าว รวมทั้งการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีสู่เกษตรกรที่เรียกว่า "พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน"
       
       - ทรงพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยศึกษาวิจัยและทดสอบเทคโนโลยีการปลูกข้าวและแปรรูปผลผลิตข้าวผ่านศูนย์ศึกษาและพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง เป็นการสนับสนุนอาชีพให้แก่เกษตรกร

       
       นอกจากนั้น พระองค์ยังพระราชทานแนวทางวิจัย และพัฒนาข้าวในโอกาสต่างๆ โดยให้คำนึงถึงต้นทุนการผลิต ระยะเวลาการปลูก แรงงาน ปริมาณน้ำ ปริมาณปุ๋ย และภาวการณ์ด้านตลาด อีกทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรวิจัยและพัฒนาข้าวทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงพระราชทานทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านข้าวผ่านทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นประจำทุกปีด้วย
       
      แม้วันนี้ "พ่อหลวง" ไม่ได้อยู่ให้ความร่มเงาเหมือนที่ผ่านมา แต่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อ "ชาวนาไทยทั้งแผ่นดิน" จะยังคงเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตลอดไป...
       
        ขอบคุณภาพ และข้อมูลบางส่วนจากมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สำนักพระราชวัง
       

จาก http://astv.mobi/A8P2o94
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...