เปิดประสบการณ์นักบินฝนหลวง ร.อ.รณชัย ยอดไกรศรี “ผู้โจมตีหมู่เมฆ” มาแล้วเกือบหมื่นชั่วโมง โครงการพระราชดำริฝนหลวงเกิดขึ้นจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงคิดค้นและได้ทดลองปฏิบัติการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาในพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งและขาดแคลนน้ำในการเกษตร จนเป็นที่มาของ
“ฝนหลวง” หรือ
“ฝนเทียม” การทำงานตรงนี้ นอกจากเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ต้องให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอาชีพที่มีหน้าที่สำคัญตรงนี้นั่นก็คือนักบินฝนหลวงนั่นเอง
เราพาไปทำความรู้จักกับ
ร.อ.รณชัย ยอดไกรศรี หนึ่งในนักบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ผู้ทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมากว่า 23 ปี ผ่านชั่วโมงบินทำฝนหลวงมาแล้วกว่า 8,000 ชั่วโมง
• กว่าจะมาเป็นนักบินฝนหลวง ผมเข้ามาทำงานเป็นนักบินฝนหลวงได้ประมาณ 23 ปี ผ่านชั่วโมงบินทำฝนหลวงมาแล้วกว่า 8,000 ชั่วโมง บินมาครบแล้วทุกภาค สมัยก่อน การเป็นนักบินฝนหลวงจะต้องมีประสบการณ์ครับ อย่างสมัยผมต้องมีชั่วโมงบินเกิน 1,000 และต้องมีระยะเวลาประสบการณ์ในการทำงานมาแล้ว 5 ปี ถึงจะเข้ามาทำงานที่กรมฝนหลวงได้ แต่ว่าปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้วครับ สมัยนี้กฎเกณฑ์เปลี่ยนไป เนื่องจากว่าถ้าตั้งกฎเกณฑ์นี้จะไม่ค่อยมีนักบินมาสมัคร เขาก็เลยปรับกฎเกณฑ์ใหม่ คือจบมาจากโรงเรียนการบินก็สามารถที่จะเข้ามาทำงานได้เลย แต่ก็จะต้องมาฝึกกับนักบินอาวุโส ตอนนี้เราก็ยังมีนักบินใหม่ๆ ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ถือว่าไม่ขาดแคลน แต่ที่เราขาดแคลนคือคนที่จะมาทำหน้าที่กัปตันและมีประสบการณ์ครับ
• การเป็นนักบินฝนหลวง มีภารกิจอย่างไรบ้างคะ หน้าที่ผมจะเป็นนักบินเป็นหลักนะครับ แต่ว่างานก็จะมีหลากหลาย แล้วแต่ว่าจะไปทำอะไร แต่ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่แทบจะเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ คืองานทำฝนนะครับ นักบินมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้คือ เมื่อได้แผนมา ต้องเปิดแผนการบิน แล้วก็นำเครื่องบินบินไปในพื้นที่ที่เราวางแผนไว้ แล้วก็ไปทำงานตามขั้นตอนต่างๆ โดยส่วนตัวนักบินจะต้องรู้หลักการด้วยนะครับ ก็จะมีการอบรมซึมซับเพื่อให้ทราบและรู้จักวิธีการ แต่จริงๆ เรื่องการปฏิบัตินี่จะเป็นนักบินรุ่นเก่าๆ เขาจะถ่ายทอดกันมาด้วยครับ (ยิ้ม) ส่วนการวางแผน กับการบริหารว่าจะต้องใช้สูตรอะไรก็จะเป็นเรื่องของนักวิชาการครับ นักวิชาการจะเป็นคนดูข้อมูลข่าว อากาศ แล้วก็เป็นคนวางแผน แต่เราต้องรู้ว่าเขาใช้สูตรอะไร ขั้นตอนไหนทำอะไร จะต้องไปหย่อนที่ความสูงเท่าไหร่ ซึ่งแผนพวกนี้นักวิชาการเขาจะวางมา จากการที่เขาศึกษาข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ข้อมูลพวกข่าวพยากรณ์อากาศของอุตุนิยมวิทยาอะไรต่างๆ แล้วทางฝนหลวงก็ได้มีการตรวจวัดอากาศเองบ้างในบางพื้นที่ประมาณนี้ครับ
อีกอย่าง เจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงก็จะออกไปพบปะกับประชาชน พวกที่เขาเรียกว่าเป็นอาสาสมัครฝนหลวง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะให้ความรู้ และในขณะเดียวกันก็อาศัยอาสาสมัครฝนหลวงพวกนี้ เพื่อที่จะเป็นหูเป็นตารายงานข่าว อะไรต่างๆ เรื่องสภาพอากาศหรืออะไรที่มีประโยชน์ต่อทางกรมฝนหลวง ก็เป็นการแลกเปลี่ยนข่าวสารกัน
การวางสถานที่ทำงาน ทางศูนย์ฝนหลวงเขาจะแบ่งศูนย์แต่ละภาค แต่ละภาคก็จะแบ่งเป็นหน่วยกระจายไป ว่าจะไปในพื้นที่ไหน สมมติว่าศูนย์ภาคเหนือตอนนี้ เราก็กระจายไปที่จังหวัดตากกับพิษณุโลก เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะไม่ให้เครื่องบินขึ้นไปทำงานไกลเกินไป แล้วก็ขัดต่อสภาวะอากาศ ก็จะวางพื้นที่ไม่ให้ไกล คือใครอยู่ในพื้นที่ไหนก็รับผิดชอบพื้นที่ตรงนั้น แต่ตัวนักบินอาจจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นตลอด เพียงแต่ว่ามาชั่วครั้งชั่วคราว มาทีนึงก็อาจจะเป็นเดือน สองเดือน สามเดือน อะไรก็แล้วแต่
นักบินส่วนใหญ่จะประจำอยู่ที่ส่วนกลางแต่อาจมีคำสั่งให้ออกเดินทางไปทำงานประจำ อย่างของผมปกติผมอยู่ที่กรมฝนหลวงแถวๆ บางเขน แต่ปัจจุบันนี้เมื่อมีคำสั่งให้มาทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ต้องเอาเครื่องบินมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เอามาทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทีนี้จะมีงานที่อื่นก็จะย้ายกันไปเรื่อยๆ แต่ก็จะอยู่ในศูนย์ในพื้นที่ ที่เขาตั้งหน่วยทำฝนหลวง ก็จะอยู่ตามคำสั่งไป คำสั่งละหนึ่งเดือน แล้วแต่ว่าจะให้อยู่ต่อกี่เดือน หรือจะให้ย้ายไปที่ไหน ก็ไปทั่วประเทศครับ นักบินก็จะไปทั่วประเทศ • ความยากง่ายในการปฏิบัติงานตรงนี้ล่ะคะมีความเสี่ยงหรืออุปสรรคอะไรบ้างไหม การเตรียมตัวก่อนขึ้นบินในแต่ละครั้งนี่ต้องทำอย่างไรบ้างคะ ส่วนใหญ่แล้วนักบินก็จะมีความพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าทุกวันเราก็จะต้องมีการมาบรีฟฟังข่าวสภาพอากาศ ว่าวันนี้อากาศเป็นยังไง คาดว่าจะมีเป้าหมายอะไรตรงไหน ทราบทิศทางความเร็วลมอะไรต่างๆ สภาพอากาศเป็นยังไงบ้างวันนี้ ถ้าบินไปแล้วจะเจอกับอะไรบ้างที่คาดการณ์ไว้
การขึ้นบินต้องคำนึงถึงสภาพอากาศ การที่เราจะทำทุกวันหรือไม่ อยู่ที่สภาพอากาศซึ่งนักวิชาการก็จะเป็นผู้บริหารตัดสินใจตรงนี้ อย่างช่วงนี้สภาพอากาศดี มีความชื้น เพราะมันจะเป็นช่วงการเปลี่ยนฤดู เราก็จะทำงานช่วงนี้ได้เรื่อยๆ เหมือนเป็นการฉกฉวยโอกาส หรือถ้าอากาศช่วงไหนดี เราก็จะรีบทำ ถ้าช่วงไหนอากาศไม่ดี ขึ้นไปไม่มีความชื้น ก็ไม่มีประโยชน์ เราก็ไม่ได้ทำครับ
อุปสรรคส่วนใหญ่จะเกิดจากสภาพอากาศ งานส่วนใหญ่จะมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพอากาศ ในขั้นตอนสุดท้ายคือการโจมตี ซึ่งลักษณะการบินของนักบินฝนหลวงก็จะแตกต่างจากการบินธรรมดาบ้าง ตรงที่เขาจะไม่ได้บินเข้าหาเมฆ เขาจะต้องหลบ แต่ของเราจะต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีเมฆ เพราะว่าอันนั้นคืองานของเรา เราต้องไปในพื้นที่ที่มีเมฆ เพื่อเข้าไปโจมตี ถ้าเป็นสภาพอากาศที่ไม่ค่อยดี การจะเข้าไปถึงที่อะไรต่างๆ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะลำบากสำหรับนักบิน เพราะลำพังเครื่องบินเขาก็จะไม่บินในสภาพอากาศที่มีเมฆมีอะไรอยู่แล้ว ฟ้าใสๆ อะไรนี่ แต่เราจะต้องเข้าไปในพื้นที่ ที่มันมีการรวมเมฆแล้วมีโอกาสที่จะเกิดฝน โจมตีเพื่อให้เกิดฝนในพื้นที่ที่เราต้องการ อันนี้ก็คืออุปสรรคของขั้นตอนสุดท้าย แต่ขั้นตอนอื่นก็ไม่ค่อยมีปัญหานะครับ พอปฏิบัติได้ครับ (ยิ้ม)
• อยากให้พูดถึงประโยชน์ของฝนหลวงเผื่อมีใครที่อาจจะยังไม่ทราบหน่อยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นฝนหลวง หรือจะเป็นฝนธรรมชาติ จริงๆ ประโยชน์การใช้สอยอะไรเหมือนกันเลยนะครับ จะเรียกว่าเป็นอันเดียวกันเลยก็ได้ เพราะว่าเราไม่ได้ไปสร้างขึ้นมาใหม่ เราเพียงแต่ว่าไปเร่งกระบวนการที่จะทำให้มันเกิดฝนขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเราไปทำให้มันเกิดใหม่ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีพวกสารเคมีอะไรต่างๆ ไม่ใช่โปรยไปแล้วแปรสภาพเป็นน้ำฝน มันไม่ใช่ มันเป็นกระบวนการไปเร่งให้เกิดการก่อตัวของเมฆ เร่งการเกิดฝนขึ้น แค่นั้นเองครับ ซึ่งไม่มีผลอะไรที่จะเป็นอันตรายต่อประชาชน เพราะฉะนั้นแล้ว ในทางวิจัย ก็จะมีการเก็บน้ำฝนจากการทำพื้นที่ฝนหลวง เอามาวิจัยแล้วว่าไม่มีอะไรที่เป็นพิษ ทุกอย่างปกติเหมือนธรรมชาติ เรื่องนี้ก็เคยทำมาแล้ว แล้วก็ยืนยันได้ว่าเป็นธรรมชาติจริงๆ ไม่มีสิ่งตกค้าง ถึงบอกว่ามันก็คืออันเดียวกัน เราไปทำให้ธรรมชาติมันเกิดเร็วขึ้นครับ
• ความรู้สึกในฐานะที่เป็นนักบินฝนหลวงมานาน เป็นอย่างไรคะ ภูมิใจครับ ความภูมิใจลำดับแรกของผมเลยก็คือการทำงาน คือเจ้าหน้าที่ทุกคนเมื่อทำงานแล้ว ประสบความสำเร็จ มีฝนตกลงมา เราก็มีความสุขที่ได้ลดความเดือดร้อนแล้วก็ทำให้ประชาชนมีความสุข ที่ได้รับประโยชน์จากน้ำฝน มันเป็นความภูมิใจ ความสุขทางใจในส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ อีกอย่าง
สำหรับหน่วยงานของเราก็ถือว่าเป็นเกียรติที่เราได้มาทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท อันนี้คือความภูมิใจของเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ได้มีโอกาสมาทำงานในกรมฝนหลวงครับ • เคยได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ บ้างไหมคะ แล้วซาบซึ้งใจหรือประทับใจอะไรในตัวพระองค์ท่านบ้าง ผมเคยเข้าเฝ้าฯ ท่านครับ เมื่อครั้งที่มีการสาธิตของโรงเรียนวังไกลกังวล ประมาณปี พ.ศ. 2542 ที่พระองค์ทรงสอนการทำฝนหลวงให้กับนักเรียนที่โรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งผมมีความภาคภูมิใจและประทับใจมากๆ ที่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ท่าน เพราะน้อยคนที่จะมีโอกาสตรงนี้ ทุกวันนี้รูปก็ยังเอาไว้ที่หัวนอนอยู่เลยครับ • ท้ายนี้ เราตั้งปณิธานอะไรต่อไปในอนาคตกับหน้าที่ตรงนี้บ้างคะ ส่วนตัวผมยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตและการทำงานครับ เราทำอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ให้เกินตัว ทุกอย่างก็จะประสบความสำเร็จ ถ้าทุกคนคิดแต่จะไขว่คว้าหาอะไรมาที่เกินตัว ก็เสมือนว่าสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเอง สังคมก็มีผลกระทบ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมว่าเป็นหลักที่สำคัญที่สุดเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่ดีเลยครับ
ยอมรับนะครับว่าตอนที่ทราบข่าวว่าท่านสวรรคตผมก็รู้สึกเสียใจเป็นเรื่องปกติ ก็เหมือนพ่อเรา เสมือนคนในครอบครัวที่เราเคารพนับถือ ก็มีเสียใจ ขวัญกำลังใจอาจจะลดลงบ้าง แต่ก็เป็นอยู่ช่วงหนึ่งครับ เพราะเราก็จะต้องดำเนินชีวิตต่อไป คนที่มีหน้าที่ต้องทำหน้าที่ต่อไป ในจุดนี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดาของการเสียใจที่เราสูญเสียคนที่รักไป แต่ว่าเราก็จะต้องตั้งหน้าตั้งตาทำตามสิ่งที่ท่านวางไว้ เพื่อให้ประชาชนมีความสงบสุข ความสุขในการที่จะกินดีอยู่ดีต่อไป เพราะผมว่าโครงการฝนหลวงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากๆ เพราะฉะนั้น ถ้าหน่วยงานนี้มีการพัฒนาต่อไปในภายภาคหน้า อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนผมก็ว่าน่าจะดี
ดังนั้นตัวผมและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ก็คงจะต้องตั้งใจทำงาน เพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เป็นการตอบสนองคุณแผ่นดินเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีความสุข แค่นี้แหละครับคือความตั้งใจจากนี้ต่อไป (ยิ้ม) โครงการพระราชดำริฝนหลวง ข้อมูลจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร (http://www.royalrain.go.th/) เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร ๑๕ จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ ในวันจันทร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์เดลาเฮย์ ซีดานสีเขียว จากจังหวัดนครพนมไปกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดสกลนครและเทือกเขาภูพาน ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรและนักประดิษฐ์ควายเหล็กที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ แล้วพระราชทานแนวความคิดนั้นแก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล
จากทฤษฎีเริ่มแรกที่เกิดขึ้นหลังจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงใช้เวลาอีก ๑๔ ปี ในการวิเคราะห์วิจัย ทบทวนเอกสาร รายงานผลการศึกษาและข้อมูลต่างๆ พระราชทานให้ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เพื่อประกอบการค้นคว้าทดลองมาโดยตลอด จาก พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นต้นมา ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปลงสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้ และเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จนทรงมั่นพระทัย จึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ในปีถัดมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้
การทดลองในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๒ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าว และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการสนองพระราชประสงค์ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบว่า พร้อมที่จะดำเนินการตามพระราชประสงค์แล้ว ดังนั้นในปีเดียวกันนั้นเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑-๒ กรกฎาคม ๒๕๑๒ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองเป็นคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรก
โดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง (dry ice หรือ solid carbondioxide) ขนาดไม่เกิน ๑ ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลอง ในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆทดลองเหล่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆอย่างเห็นได้ชัดเจน เกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็วแล้วเคลื่อนตัวตามทิศทางลมพ้นไปจากสายตาไม่สามารถสังเกตได้ เนื่องจากยอดเขาบัง แต่จากการติดตามผล โดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
เรื่อง : วรัญญา งามขำ, อภิษฎา แพภิรมย์รัตน์
ภาพ : facebook : ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จาก
http://astv.mobi/Ax5XQM4