ลูกไม้ใต้ต้น "พ่อภูมิพล" สอนลูกๆ สำนึกบุญคุณ "ข้าว" เป็นที่ทราบกันดีว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" มีความสนพระราชหฤทัยในเรื่อง "ข้าว" เป็นอย่างมาก และทรงอุทิศพระวรกายเพื่อช่วยเหลือชาวนาโดยพัฒนาข้าวไทยในทุกๆ ด้าน โดยเน้นย้ำถึงอย่างไรคนไทยต้องปลูกข้าวเพื่อรักษาความเป็นไทยด้วยการกินข้าวไทย เช่นเดียวกับการเลี้ยงดูพระโอรส และพระธิดาที่ทรงสอนให้เรียนรู้ ซึมซับวิถี "ชาวนา" ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถไถนา หว่านข้าว และเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยทำด้วยพระองค์มาหมดแล้ว ส่งผลให้พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ต่างให้ความสำคัญกับข้าว และชาวนาไทยมาโดยตลอด
"พระโอรส" กับวิถีเกษตร ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพความน่ารักของ
"ในหลวงรัชกาลที่ ๙" ที่ทรงขับ
"ควายเหล็ก" โดยมีพระโอรส
"สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" ประทับอยู่ด้านหน้าเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ แสดงถึงการเลี้ยงลูกให้ได้สัมผัสของจริง พร้อมๆ กับเรียนรู้วิถีชาวนาไปในตัวด้วย ส่งผลให้ทูลกระหม่อมฟ้าชายเจริญพระชันษาเป็นผู้ที่เรียนรู้จากประสบการณ์จริง
ในหนังสือ
"สี่เจ้าฟ้า" ฉบับเรียบเรียงใหม่โดย ลาวัณย์ โชตามระ นำเสนอเรื่องราวในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ช่วงพระเยาว์ที่น่าสนใจ โดยเขียนเล่าว่า นอกจากสนพระทัยในการวาดเขียน และปั้นรูปแล้ว ยังทรงโปรดเล่นเครื่องยนต์กลไกต่างๆ เช่น รถยนต์ เครื่องบิน รถถัง เรือ รวมไปถึงทรงโปรดทอดพระเนตรหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวกับการช่าง การก่อสร้าง
นอกจากนั้นยังทรงฝึกหัดทำสวนร่วมกับพระสหายที่ร่องผักแถวยาวๆ หลังโรงเรียน โดยผักที่ทรงปลูกร่วมกับพระสหายนั้นมีทั้งพริก มะเขือ บวบ ต้นหอม ผักกาด เป็นต้น ด้วยความซึมซับ
"วิถีเกษตร" มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารจึงให้ความสำคัญกับข้าว และชาวนาไทยเป็นอย่างมาก
เห็นได้จากภาพพระจริยวัตรอันงดงามในการเสด็จฯ ไปทรงสาธิตการทำนาในพื้นที่ต่างๆ อย่างในปี 2529 ทรงสาธิตการทำนาโดยใช้ปุ๋ยหมัก และนำพสกนิกรเก็บเกี่ยวข้าวแปลงนาสาธิตณ บึงไผ่แขก ต.ดอนโพธิ์ทอง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี หรือในปี 2555 เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชพิธีหว่านข้าวในแปลงนาส่วนพระองค์สวนจิตรลดาประจำปีโดยไม่สนอากาศร้อน หรือความเปรอะเปื้อนของโคลนในท้องนาแต่อย่างใด
สำนึกในคุณค่าชาวนาไทย เช่นเดียวกับ
"สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ตระหนัก และสำนึกในคุณค่าของข้าว และชาวนาไทย อีกทั้งยังเข้าพระทัยและเอาพระทัยใส่ในปัญหาการดำรงชีวิตของชาวนาไทยเป็นอย่างดีด้วย
ดังพระราชนิพนธ์เรื่อง
"ทุกข์ของชาวนาในบทกวี" ที่ทรงนำบทกวีของ "จิตร ภูมิศักดิ์" มาวิเคราะห์เกี่ยวกับความยากลำบากของชาวนาไทย และทรงแปลบทกวีจีนของหลี่เชินเป็นภาษาไทย ทำให้เห็นภาพชีวิตชองชาวนาไทยและชาวนาจีน ไม่ได้มีความแตกต่างกันเท่าใดนัก ดังนั้น จึงควรสำนึกในคุณค่า และความหมายของชาวนาที่ปลูกข้าวอันเป็นอาหารหลักเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดของคนไทย
เขียนถึงเรื่อง
"ข้าว" ก็ชวนให้นึกถึงมีเรื่องเล่าของสมเด็จพระเทพฯ เกี่ยวกับ
"ข้าวสาร" จากบทความตอนหนึ่งใน "บทเรียนจากการนับข้าวสาร" ที่เขียนไว้ในหนังสือความสุขของสมเด็จพระเทพฯ (โกวิท วงศ์สุรวัฒน์) โดยในครั้งนั้น สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 8 พรรษาเท่านั้น และได้ทูลถาม "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" ว่า ข้าวสาร 1 กระสอบมีกี่เม็ด
พระองค์ทรงอธิบายให้พระธิดาฟังว่า
ข้าวสาร 1 กระสอบมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม กิโลกรัมหนึ่งมีเครื่องชั่งวัดได้ 10 ขีด ดังนั้น ก็เอาภาชนะไปตวงข้าวสารมาชั่งได้ 1 ขีด แล้วก็นับข้าวสารที่ตวงมานั้นมีกี่เม็ด แล้วก็เอา 10 คูณ เสร็จแล้วเอา 100 คูณผลลัพธ์อีกทีก็จะได้จำนวนเม็ดข้าวใน 1 กระสอบ เมื่อได้ฟังดังนั้น สมเด็จพระเทพฯ ทรงทูลว่า
ไม่อยากรู้แล้ว พระองค์จึงสอนต่อไปว่า
ไม่ได้หรอก หากถามก็แสดงว่าอยากรู้ ดังนั้น จงไปหาข้าวสารมาตวงและนับเสีย เมื่อได้ผลเป็นอย่างไรให้มาบอกด้วยว่าข้าวสารหนึ่งกระสอบมีกี่เม็ด เพราะว่าก็อยากรู้เหมือนกัน นับเป็นบทเรียนสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานให้แก่สมเด็จพระเทพฯ ที่อ่านกี่ครั้งก็เรียกรอยยิ้มได้เสมอ
กินข้าวให้นึกถึงชาวนาด้วย ไม่เพียงแต่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
"ในหลวงรัชกาลที่ ๙" ยังทรงขอให้
"คนไทย" ทุกคนระลึกถึงชาวนาทุกครั้งที่กิน "ข้าว" ด้วย
ความสำคัญนี้ บอกเล่าได้จาก
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เคยกล่าวถึงพระราชดำรัสเกี่ยวกับข้าวของ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ซึ่งพอจะสรุปทิ้งท้ายได้เป็นอย่างดีว่า คนไทยต้องมีจิตสำนึกเรื่องข้าว และนำข้าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และทำอย่างไรจะช่วยปกป้องข้าวไทยได้
นอกจากนั้น ยังเคยทูลถามว่า ทรงโปรดอะไรมากที่สุด พระองค์ทรงตอบว่า "ข้าว" เพราะมีกลิ่นหอม และมีกระแสพระราชดำรัสว่า
ถ้ารับประทานข้าวให้นึกถึงชาวนาด้วย เพราะถ้าไม่มีชาวนา เราก็ไม่มีข้าวกิน ทั้งนี้ ดร.สุเมธยังทิ้งท้ายด้วยว่า ในเมล็ดข้าวมีสารตัวหนึ่ง ที่ชื่อว่า แกรมม่า ออริซานอล ที่ช่วยให้อารมณ์ดี เพราะฉะนั้นคนไทยรับประทานข้าววันละ 3 มื้อ จึงหัวเราะได้ทั้งวัน แม้ว่าเศรษฐกิจการเมืองไม่ดีก็ตาม
ขอบคุณภาพบางส่วนจากสำนักพระราชวัง และมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์จาก
http://astv.mobi/Ax5XQdN