ผู้เขียน หัวข้อ: เมนูโปรดแสนเรียบง่าย...พระราชาผู้เสวยอย่างสามัญ  (อ่าน 1026 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


เมนูโปรดแสนเรียบง่าย...พระราชาผู้เสวยอย่างสามัญ

       คำว่า “กินอย่างราชา” อาจทำให้ใครหลายๆ คน นึกถึงอาหารการกินที่ต้องเริดหรูอลังการ ให้วัตถุดิบหายากและมีราคาแพง และถูกจัดวางอยู่บนโต๊ะสวยหรู แต่สำหรับพระราชาผู้ยิ่งใหญ่อย่าง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช นั้น พระกระยาหารที่พระองค์ทรงโปรดกลับไม่ใช่อาหารที่วิจิตรพิสดาร หากแต่เป็นเพียงแค่พระกระยาหารที่แสนเรียบง่าย ไม่ต่างไปจากอาหารที่สามัญชนรับประทานกันแม้แต่น้อย…
       
       ข้าวกล้องและผัก...อาหารหลักของพระราชา
       
        เรื่องราวพระกระยาหารนั้น ถูกถ่ายทอดผ่าน “หนังสือใกล้เบื้องพระยุคลบาท โดย…ลัดดา ซุบซิบ” บางช่วงบางตอนตอนได้มีการบอกเล่าถึงเมนูต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดและมักจะเสวยอยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่เรียบง่ายและรสไม่จัดมาก และที่สำคัญที่ต้องเน้นผักและข้าวกล้องแทบทุกมื้ออาหาร




      “ในหลวงโปรดเสวยอาหารอ่อนแบบอาหารฝรั่ง อาหารไทยโปรดผัดผักทุกชนิด เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตา โดยให้ใส่ผักมากๆ หมูเนื้อใส่ให้น้อย ถ้าใส่มากเคยรับสั่งว่า นี่ผัดถั่วงอกหรือผัดหมู กุ้ง หากผัดถั่วงอกก็ควรจะผัดตามชื่อ

        ส่วนอาหารว่างเคยโปรดหูฉลามและบะหมี่ จะใส่หน้าหมูแดง หน้าเป็ด หน้าปู ได้ทั้งนั้น แต่ต้องไม่ใส่ผักชี ใบหอม ต้นหอม และตังฉ่าย พระกระยาหารหรือเครื่องเสวยประจำวันมีเครื่องกลางวัน ซุปอาสาเรน (ซุปใสใส่ไข่) สปาเกตตีมิลานเนส แกงจืดเซ่งจี๊ ผัดไก่เล่าปี่ ปูเค็มต้มกะทิ หากเป็นเครื่องดื่ม พระองค์จะทรงโปรดโอวัลตินเป็นพิเศษ เคยเสวยวันหนึ่งๆ หลายครั้ง น้ำ ชา กาแฟ ไม่มากนัก”



     ในขณะที่อาจารย์วันดี ณ สงขลา อาจารย์ประจำวิทยาลัยในวังหญิง เจ้าของหนังสือตำนานอาหารสามแผ่นดิน ได้เล่าถึงเรื่องราวพระกระยาหารทรงโปรดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้ว่า “พระกระยาหารทรงโปรดในรัชกาลที่ ๙ นั้น หลักๆ พระองค์ทรงโปรดผักทุกชนิด มาทำอาหาร เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตา และจะใส่ผักให้มาก ส่วนเนื้อสัตว์จะน้อย โดยจะเสวยกับข้าวกล้องเป็นหลัก หลนปลากุเรา ผัดเผ็ดปลาดุกทอดฟู กล้วยหักมุกเชื่อม ไอศกรีม ผลไม้



     นอกจากนี้ ยังมีคำยืนยันจากคุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล หัวหน้าต้นเครื่องของพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ตอนแรกถึงของเสวยสำหรับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดชเอาไว้ ผ่านหนังสือ "เครื่องต้น ก้นครัว" ที่จัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ระบุไว้ว่า “ท่านเสวยง่าย เสวยได้ทุกอย่างที่ตั้งเครื่องถวาย เพียงแต่ไม่ทรงโปรดรสจัด ทุกประเภท ไม่โปรดรสจัด ไม่ว่าเครื่องต้นเกี่ยวกับอะไร”



        คุณหญิงประสานสุขเล่าไว้ว่า “อย่างมื้อเช้าจะเป็นข้าวต้มสองแบบสลับกันไป ระหว่างข้าวต้มเครื่องกับข้าวต้มกับ กับข้าวต้มนี่ก็ธรรมดามาก อย่างที่เรารับประทานกันนี่แหละค่ะ เช่น หัวไชโป๊วผัดไข่ ไข่เค็ม ยำปลาสลิด ผัดหนำเลี้ยบ หรือไข่เจียว ทรงโปรดเสวยง่ายๆ เหมือนสามัญชน โดยทุกอย่างต้องรสกลมกล่อมพอดี ไม่จัดมากค่ะ

        ยิ่งข้าวต้มเครื่องด้วยแล้ว ก็ธรรมดาเหมือนกันอีกแหละค่ะ ข้าวต้มกุ้ง หมู ไก่ และก็ ปลา สลับกันไป แต่ดิฉันจะปรุงแต่งให้ดูแปลกตาไป บ้าง ก็อย่างชิ้นของกุ้ง หมู ไก่ หรือปลา โดยเราจะประดิดประดอยเป็นรูปทรงต่างๆ แล้วก็ทุกพระองค์จะทรงเสวยหมดค่ะ”
       
        สำหรับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น ทรงโปรดเสวยเพียงชามเดียว ไม่ตักเติมอีก เพราะฉะนั้นเมื่อตักทีแรก จะต้องกะให้พอดีกับภาชนะ หมดแล้วไม่ทรงเติม

        ส่วนเวลาและเมื่อต้องเสด็จพระราชดำเนินต่างจังหวัด หรือแปรพระราชฐานไปตามเมืองอื่นนั้น เครื่องต้นก็จะเปลี่ยนเป็นของเสวยของภาคต่างๆ เรียกว่า ไม่ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินภาคไหน ก็จะเสวยอาหารประจำภาคนั้น เสวยกันได้ทุกพระองค์
       


       แต่มีอาหารอยู่ชนิดหนี่ง ที่พระองค์ไม่เสวยอย่างเด็ดขาด นั่นก็คือ “ปลานิล”

        ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้ทรงเลี้ยงปลานิล ทำให้พระองค์ทรงไม่โปรดเสวยปลานิล เวลาที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลถามพระองค์ว่า เพราะเหตุใดพระองค์จึงไม่โปรดเสวย ปลานิล ท่านทรงมีรับสั่งว่า

        “ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร”
       
      “ไข่พระอาทิตย์” และ “ไข่พระจันทร์” เมนูพอเพียงจากพ่อและแม่
       
        พระกระยาหารที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปรดนั้น นอกจากพระองค์จะทรงโปรดพระกระยาหารที่มีความเรียบง่ายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย และมีอยู่เมนูหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยทรงประกอบอาหารพระราชทานให้แก่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อทรงพระเยาว์ คือเมนู “ไข่พระอาทิตย์หรือไข่เจียวพระอาทิตย์” นั่นเอง



         ที่มาและวิธีทำของสูตรอาหารพระราชทาน “ไข่พระอาทิตย์” กรมการค้าต่างประเทศได้อัญเชิญลายพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาบันทึกไว้ในหนังสือ สูตรอาหารต้นตำหรับข้าวหอมมะลิไทยในครัวนานาชาติ ความว่า

        “เมื่อข้าพเจ้ายังเด็ก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงประกอบอาหารพระราชทานเรียกว่า ไข่พระอาทิตย์ ไข่ฟองหนึ่ง ตีให้ไข่ขาวและไข่แดงเข้ากันเหมือนเวลาจะตีไข่ทำไข่เจียว (ไม่ตีมากเหมือนทำเค้ก) ใส่ข้าวสุกประมาณทัพพีหนึ่ง เครื่องปรุงรสใส่แม็กกี้ (ที่เมืองนอกสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเยาว์ หาน้ำปลาได้ยาก แต่สมัยนี้เราชอบใส่น้ำปลามากกว่า)





    ตั้งกระทะใส่น้ำมันเล็กน้อยไม่ใส่มากเหมือนทำไข่เจียว เทไข่ผสมข้าวลงไป จนสุกตรงขอบกรอบๆ ตรงกลางแฉะๆสักนิดก็ได้ใส่จาน   มีผู้ถามว่าทำไมเรียกว่าไข่พระอาทิตย์?  ข้าพเจ้าทูลถาม ‘ทรงเล่าว่า เมื่อส่องกล้องแล้ว พื้นผิวดวงอาทิตย์มีลายเหมือนเมล็ดข้าว ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า Grain de riz’ ”
       
        นอกจากไข่พระอาทิตย์แล้ว ในหนังสือ “กินตามแม่” ซึ่งจัดพิมพ์ครั้งแรก โดยกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้หยิบยกเมนู “ไข่พระจันทร์” ที่เกิดขึ้นจากพระจริยวัตรด้านอาหารและโภชนาการของพระนางสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยและดูแลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ซึ่งพระองค์โปรดให้เสวยพระกระยาหารอย่างเหมาะสม โดย “ไข่พระจันทร์” ก็เป็น 1 ในเมนูที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงคิดขึ้นมาใหม่อีกด้วย




ไข่พระจันทร์ เฟซบุ๊ก "สร้างสรรค์เมนูไข่" ] https://www.facebook.com/Sangsanmenukai/videos/581405482046164/

     วิธีทำไข่พระจันทร์ ไม่มีอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อนเช่นเดียวกับไข่พระอาทิตย์ โดยมีส่วนผสมเพียงแค่ ไข่ไก่และข้าวสวย ส่วนวิธีทำก็แสนง่าย เพียงทอดไข่ดาว แล้วนำข้าวสวยมาวางรอบๆ ไข่ขาว พลิกไข่กลับด้านไปมาให้สุก เมื่อเสร็จแล้วก็จะมีลักษณะคล้ายกับพระจันทร์ที่ล้อมรอบด้วยข้าว และถือได้ว่าเป็นการเพิ่มคุณค่าอาหารด้วยไข่ ซึ่งมีสารอาหารครบถ้วนสำหรับทูลกระหม่อม ในช่วงที่กำลังเจริญพระวัย



  จากส่วนผสมเพียงแค่ไข่และข้าว กลายมาเป็นเมนูพระราชทานที่มากด้วยคุณค่า แม้พระองค์จะเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่การดำเนินชีวิตของพระองค์กลับตั้งอยู่บนความเรียบง่ายและพอเพียง แม้แต่พระกระยาหารที่ทรงโปรด รวมถึงอาหารที่ทรงประกอบพระราชทานแก่พระราชโอรสและพระราชธิดา ก็ยังเป็นอาหารที่เรียบง่ายและเน้นความพอเพียง ยิ่งเป็นสิ่งยืนยันได้แน่ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ตั้งมั่นอยู่บนความพอเพียงที่แท้จริง…       

จาก http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000111312
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...