ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อ “สองกษัตริย์” ชวนกันไปชมปลา จุดเริ่มต้นของคำว่า “การทูตหยุดโลก”  (อ่าน 1235 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

เมื่อ “สองกษัตริย์” ชวนกันไปชมปลา จุดเริ่มต้นของคำว่า “การทูตหยุดโลก” พระอัจฉริยภาพแห่ง “ในหลวง รัชกาลที่ ๙”



ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักมีนวิทยา นักเขียน และ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

             กลั่นบทความจากหัวใจ บอกเล่าถึง พระราชอัจฉริยภาพและพระราชกุศโลบาย แห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อครั้งมีพระราชดำริ หาแนวทางด้านอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนราคาถูกให้คนไทย

             อันนำมาซึ่งการเชิญเสด็จฯ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะไป “ดูปลา” และ ขอพระราชทาน “ปลานิล” จากนั้นพระองค์ก็ทรงฟูมฟักเลี้ยงดู จนเพาะพันธุ์ และในที่สุดก็ได้พระราชทานแก่ประชาชน โดยโพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ความว่า




ทุกคนทราบว่าราชวงศ์ไทย-ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษ หลายคนทราบว่าปลานิลมาจากความสัมพันธ์ดังกล่าว

             แต่น้อยคนทราบว่า #ก่อนปลานิลยังมีปลาบู่ #เมื่อสองกษัตริย์ชวนกันไปชมปลา #การทูตหยุดโลก #คือความหมายของเหลือเชื่อ

            สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ทรงเป็น “มีนกร” (คำนี้หมายถึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลา เด็กประมง ม.เกษตรศาสตร์ เรียกตัวเองว่า “มีนกร” มาแต่ไหนแต่ไร)

            พระองค์สนใจเรียนรู้เรื่องปลา จนจบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ ขณะนั้นพระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นมกุฎราชกุมาร

            ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างสองกษัตริย์ เริ่มจากกษัตริย์ของไทย เสด็จเยือนญี่ปุ่นในพ.ศ. ๒๕๐๖ (๒๗ พฤษภาคม – ๓ มิถุนายน) ก่อนเชิญมกุฎราชกุมารเสด็จเยือนไทย




มกุฎราชกุมารจากญี่ปุ่นเสด็จเยือนไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ในครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ และจัดโปรแกรมช่วงหนึ่งให้ “ไปทอดพระเนตรปลา”

            หากอ่านผ่านๆ คุณอาจไม่คิดอะไร แต่ถ้าพิจารณาสักนิด มกุฎราชกุมารจากญี่ปุ่น มหาอำนาจแห่งเอเชีย เสด็จมาไทยเป็นครั้งแรก เราจะชวนไปดู “ปลา” ไหมครับ ? เป็นใครก็คงส่ายหน้า เป็นใครก็คงคิดไม่ถึง

            เขามาเยือนเป็นครั้งแรก เราต้องจัดประชุมให้หนัก พูดคุยกันเรื่องการบ้านการเมือง มีงานเลี้ยงใหญ่โต

           ใครจะคิดถึงโปรแกรม “ไปดูปลา” แต่มหากษัตริย์ไทยคิด และเป็นความคิดที่ “หลุดกรอบ” มากที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอะเจอ คนรุ่นนี้มักพูดกันถึงความคิดแปลกใหม่ เราเบื่อการยึดติด เบื่อโน่นนี่นั่น ถึงเวลานอกกรอบ

            เคยทราบไหมครับว่าใครคือผู้ “นอกกรอบ” ที่แท้จริง และนอกกรอบมาเมื่อกว่า ๕๐ ปีก่อน คนชอบปลามาเยือน ก็ต้องพาเขาไปดูปลาสิ เป็นความคิดที่ห้าวหาญจนสุดจะจินตนาการไหว

            เมื่อคิดว่าทั้งผู้ต้อนรับและผู้มาเยือนเป็นกษัตริย์ไม่มีใครทราบว่ามหากษัตริย์ของไทยคิดเช่นไร แต่ถ้าให้ผมวิเคราะห์ ผมคิดว่าท่านอาจคิดถึงประวัติศาสตร์ เพราะเคยมีคนทำมาก่อนหน้านั้น และทำจนสำเร็จ

              ย้อนไปเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย ตอบรับคำเชิญของรัชกาลที่ ๕ ถือเป็นครั้งแรกที่ราชวงศ์ชั้นสูงจากประเทศมหาอำนาจในยุโรป เสด็จมาเยือนไทย

             ในครั้งนั้นคือการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา รวมถึงการ “คล้องช้างครั้งสุดท้าย” ที่ช้างป่าถูกต้อนมากว่า ๓๐๐ ตัว

             กลายเป็นความประทับใจที่ไม่มีวันลืมของมกุฎราชกุมาร ผู้ต่อมาทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ซาร์นิโคลัสที่ ๒ และเมื่อสยามเดือดร้อนถึงขีดสุด รอบด้านล้วนตกเป็นอาณานิคม มหาอำนาจต่างชาติถึงขั้นเตรียมแบ่งประเทศเรา

           รัชกาลที่ ๕ จำเป็นต้องเสด็จยุโรปเพื่อแสดงว่าเราเจริญแล้ว มิใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน ประเทศเดียวที่ต้อนรับเราด้วยไมตรีจิตคือรัสเซีย




เมื่อภาพคิงจุฬาลงกรณ์ประทับคู่ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ยุโรป ประเทศอื่นถึงยอมรับและต้อนรับพระองค์

            จนทำให้ไทยยังคงเป็นไทยจนทุกวันนี้ และนั่นคือการทูตหยุดโลกที่เริ่มต้นจาก “ช้าง”

            การทูตหยุดโลกเริ่มต้นอีกครั้ง จาก “ปลา” ที่กษัตริย์แห่งไทยพามกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นไปทอดพระเนตร สถานที่คือพิพิธภัณฑ์ประมง ตั้งอยู่ในคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ที่ทำงานของผม

           บันทึกบอกไว้ มกุฎราชกุมารทรงพระสำราญมาก หยิบขวดโน้นยกขวดนี้ขึ้นมาดู (สังเกตในภาพ) รวมถึง “ปลาบู่”

            ปลาบู่ดังกล่าวเป็นปลาบู่ที่พบในเมืองไทยเป็นครั้งแรกของโลก ตัวแรกๆ ที่ค้นพบและถูกนำมาศึกษาจนเป็นตัวอย่างต้นแบบอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นั่นยังไม่แปลกอะไร แต่ความสำคัญมี ๒ ประการ

            ๑) ปลาบู่ชนิดนี้มีชื่อว่า “ปลาบู่มหิดล” ตั้งชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
             ๒) ปลาบู่ชนิดนี้ค้นพบและตั้งชื่อ โดยดร. ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ




มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นรักปลาเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อทราบว่า ปลาบู่ถูกตั้งชื่อตามพระราชบิดาของกษัตริย์ไทย ความประทับใจย่อมก่อเกิด

             อย่าเอาความคิดเราไปตัดสินครับ ในสายของนักอนุกรมวิธาน การที่จะมีชื่อใครสักคนเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของสัตว์ชนิดหนึ่ง เป็นเกียรติสุดๆ

             และชื่อนั้นถูกบันทึกไว้ในพ.ศ. ๒๔๙๖ นานแสนนานในครั้งที่โลกเรายังไม่ก้าวหน้าเช่นทุกวันนี้

             การตั้งชื่อสัตว์ต้องมีที่มาที่ไป ในครั้งนั้น ดร.สมิธ ถวายชื่อให้เพราะพระบรมราชชนกทรงช่วยกิจการประมงไทยให้ตั้งต้นได้ รวมถึงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ส่งคนไปเรียนเมืองนอกในสาขาวิชาด้านนี้ ก่อนกลับมาเป็นบรมครูสอนพวกเรารุ่นต่อมา

             ผมยังมีข้อ ๒ นั่นคือดร.สมิท ผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกา รัชกาลที่ ๖ ขอตัวมาเมื่อจัดตั้ง “กรมรักษาสัตว์น้ำ” เพื่อเป็นเจ้ากรมคนแรก เพราะคนไทยยังไม่มีความรู้ทางนี้เลย

            ดร.สมิท ถือเป็น “ระดับเทพ” แห่งวงการมีนวิทยาในยุคนั้น ใครศึกษาเรื่องปลา ล้วนต้องรู้จักท่าน จึงไม่น่าแปลกใจที่มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ทรงหยิบขวดนี้ขึ้นมาดู

            พร้อมอุทานว่า “นี่เป็นปลาที่ดร.สมิทเก็บหรือ ?” (มีบันทึกอ้างอิง มิใช่คิดเอาเองครับ) และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความประทับใจสุดๆ จนกลายเป็นความสนิทสนมเป็นการส่วนพระองค์

            เมื่อได้ใจ “คนรักปลา” ต่อมาในพ.ศ. ๒๕๐๘ พระองค์จึงขอพระราชทาน “ปลานิล” จากมกุฎราชกุมารญี่ปุ่น

           ผมเชื่อเหลือเกินว่า พระองค์ทรงเล็งเห็นอยู่แล้ว คนไทยต้องการโปรตีนเพื่อพัฒนาร่างกายพัฒนาสมอง แต่โปรตีนจากเนื้อสัตว์อื่นใดล้วนมีราคาแพงเกินกว่าที่ชาวบ้านสามัญชนจะหากินได้ทุกวี่วัน

           มีแต่ปลาและปลาเท่านั้น ที่ชาวบ้านจับได้กินได้ และคนไทยก็กินปลามาแต่โบราณ เพียงแต่ขาดปลาที่เลี้ยงง่ายโตไวอยู่ได้ในทุกแหล่งน้ำ และไม่รบกวนระบบนิเวศเกินไป

            ปลานิลอ้วน เนื้อเยอะและอร่อย ปลานิลที่มีถิ่นกำเนิดจากลุ่มแม่น้ำไนล์ จึงเป็นปลาที่น่าจะเหมาะสมที่สุด ตรงนี้มีข้อสงสัย พระองค์ทราบได้อย่างไรว่าต้องเป็นปลานิล ?

            คำตอบคือเรากำลังพูดถึงใคร ? กรุณาเข้าใจว่าเรากำลังพูดถึง “มหาปราชญ์” มกุฎราชกุมารถวายปลานิล 50 ตัวให้ด้วยความยินดี

             จากนั้นก็ตายไป 40 ตัว (ตามคำบอกเล่า) เหลือเพียง 10 ตัว พระองค์จึงรีบนำกลับมาเลี้ยงเองในวังสวนจิตรลดา

            หากใครสงสัยคำว่า “มหาปราชญ์” ที่ผมระบุไว้ น่าจะสิ้นสงสัยตรงนี้ คนที่แต่งเพลงได้เกือบ 50 เพลง สร้างและเล่นเรือใบก็ได้ ทำฝนเทียมก็ได้ เลี้ยงปลาที่คนอื่นเลี้ยงไม่รอดให้รอด คนแบบนั้นควรจะเรียกว่าอะไรครับ ?

             และอย่าลืมว่าท่านเป็นกษัตริย์ มีภารกิจมากมายมหาศาล มหาปราชญ์จึงเป็นคำที่ถูกต้องทุกประการ ไม่ได้มีการยอยศให้เกินเหตุ

             หนึ่งปีผ่านไป พระองค์ตั้งชื่อ “ปลานิล” ให้เชื่อมโยงกับชื่ออังกฤษ (Nilotica – ปลาแม่น้ำไนล์) ก่อนพระราชทานให้กรมประมง ๑๐,๐๐๐ ตัว เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนเลี้ยง ขอบอกวันที่สักนิด มกุฎราชกุมารถวายปลานิล ๕๐ ตัวในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๐๘ พระองค์มีปลาเหลือ ๑๐ ตัว เลี้ยงและขยายพันธุ์ พระราชทานให้กรมประมง ๑๐,๐๐๐ ตัว ในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๙ ในเวลาไม่ถึง ๑ ปี ปลา ๑๐ ตัวกลายเป็น ๑๐,๐๐๐ ตัว (ยังไม่รวมที่พระองค์เก็บไว้) ผมไม่ทราบจะอธิบายเช่นไร ? มีอิทธิฤทธิ์ บุญบารมี ?

               แต่มีคำบอกเล่าว่า พระองค์ไม่ทรงเสวยปลานิล ด้วยเหตุผลง่ายๆ “เลี้ยงมาเหมือนลูก จะไปกินลงได้อย่างไร” (ถ้อยคำจากคำบอกเล่า) บุญบารมีคงมีจุดเริ่มมาจาก “เลี้ยงมาเหมือนลูก” ทรงทุ่มเทฟูมฟัก เหมือนเศรษฐีดูแลเอาใจใส่ปลาราคาแพง เพื่อเลี้ยงไว้ประดับบารมี เผอิญพระองค์ฟูมฟักปลานิล ไม่ใช่เพราะสวยดีประดับบารมีได้ แต่เพราะปลานิลคือปลาที่พระองค์ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นทางออกให้ประชาชนชาวสยาม

              เวลาผ่านมา ๕๐ ปี ผมไม่ต้องหาตัวเลขใดๆ มายืนยันว่าพระองค์ประสบความสำเร็จ ขอเพียงคุณเดินไปตามตลาด คุณเห็นปลานิลย่างปลานิลทอดบนตะแกรงบ้างไหม ? มีปลาใดราคาถูกเท่านี้ มีเนื้อมากเท่านี้ และทุกคนกินได้กินดี ดังเช่นปลานิล

             ผมเพิ่มตัวเลขให้เพื่อความชัดเจน ปัจจุบัน เมืองไทยผลิตปลานิลได้ปีละ ๒๒๐,๐๐๐ ตัน จากฟาร์ม ๓๐๐,๐๐๐ แห่ง สร้างงานให้ผู้คนเรือนล้าน ประเทศไทยยังส่งออกปลานิลไปทั่วโลก สร้างรายได้มหาศาล จนเป็นปลาส่งออกลำดับต้นๆ ของเมืองไทย นำทุกอย่างกลับมาคิดใหม่

๒๕๐๖ เสด็จเยือนญี่ปุ่น
๒๕๐๗ มกุฎราชกุมารเสด็จมา พาไปดูปลาบู่
๒๕๐๘ ขอปลานิลมาเลี้ยง ๕๐ ตัว
๒๕๐๙ พระราชทานปลา ๑๐,๐๐๐ ตัวให้กรมประมง
๒๕๕๙ ปลามากกว่า ๒๒๐,๐๐๐ ตันต่อปี สร้างงานให้คนนับล้าน เป็นโปรตีนราคาถูกและดีที่สุดของประเทศนี้

             ผมพูดถึง “การทูตหยุดโลก” มาหลายครั้ง แต่ยังไม่อธิบายความหมายให้ชัดเจน ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว การทูตหยุดโลก = ปลาบู่ = ปลานิล = คนไทยมีกิน = คนมีงานทำเป็นสมการแสนง่าย แต่ใคร่ขอถามว่า แล้วใครจะคิดได้ ? แล้วใครจะคิดได้เมื่อกว่า ๕๐ ปีก่อน แล้วใครจะมองการณ์ไกลขนาดนั้น สมัยผมเป็นสปช. เราช่วยกันทำยุทธศาสตร์แห่งชาติ ๒๐ ปี แค่นั้นยังปวดหัวแทบตาย

              บางคนพูดว่าจะคิดไปได้ยังไงไกลขนาดนั้น บางคนบอกว่าสิงคโปร์มาเลเซียเขาทำหมดแล้ว เขาก้าวหน้าไปไกลกว่าเราตั้งนาน ๒๐ ปี ? ก้าวไกลไปกว่าเราตั้งนาน ? ๕๐ ปี ปลาบู่ ปลานิล คน ๖๖ ล้าน คิดคนเดียว ทำจนจบ

               ยังไม่พูดถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของสองประเทศ ไม่พูดถึงปรากฏการณ์ที่ไม่มีมาก่อน

              เมื่อองค์จักรพรรดิญี่ปุ่น “ไว้ทุกข์” ให้พระสหายผู้สนิทสนมกว่า ๕๐ ปี ไว้ทุกข์ให้คนที่พาเราไปดูปลาบู่ในวันนั้น ไว้ทุกข์ให้กับ “บุรุษผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดในเรื่องปลา” ไม่ใช่ค้นพบปลาสายพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่เชี่ยวชาญเก่งกาจในวิทยาศาสตร์เรื่องปลาแต่ทำให้ปลา ๑๐ ตัวกลายเป็น ๒๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี ทำให้ “ปลา” กับ “คน” มาเชื่อมต่อกันอย่างสุดที่ใครจะเปรียบได้

             ผมไม่ตั้งใจเขียนบทความนี้ให้คุณร้องไห้ เพราะผมเขียนไม่ไหวแล้ว บทความ “โลกร้อน” ทำเอาผมเกือบตาย

            ผมตั้งใจจะสื่อให้ชัดเจนว่า ทำไมผมถึง “กราบ” ? ผมไม่เคยกราบเพราะเขาบอกให้กราบ ไม่เคยกราบเพราะเขาสอนให้กราบ ไม่เคยกราบเพราะคนอื่นเขากราบกัน

            ผมไม่กราบอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ผมกราบ “ความจริง” เท่านั้น ผมกราบสยบแทบเท้า กราบด้วยหัวจิตหัวใจ กราบเพราะผมเห็นประจักษ์ กราบแทบเท้าพระองค์ท่าน

           คำว่า “เหลือเชื่อ” ถูกใช้กันจนเกร่อ แต่สำหรับผมแล้ว อย่างนี้สิถึงเป็น “เหลือเชื่อ” คิดได้ไง…ทำได้ไง…เหลือเชื่อ จึงทรุดกายกราบซบหน้าแนบดินด้วยความอาลัยบุรุษผู้สร้างสิ่งที่ไม่สามารถแม้แต่จะจินตนาการได้

          อย่างนี้สิมันถึงต้องกราบ อย่างนี้สิมันถึงต้องร้องไห้ ร้องให้ใจสลาย ร้องเพราะยิ่งค้นยิ่งเขียน จึงยิ่งรู้ว่า เราสูญเสียมากเกินไป มันมากเกินไปจริงๆ ! ทุกอย่างย่อมมีรากเหง้า ทุกเรื่องราวย่อมมีที่มา และนี่คือที่มา จากปลาบู่ถึงปลานิล

          หมายเหตุ :  ผมไม่เคยก้าวล่วงความคิดส่วนตัวของใคร จะคิดอย่างไรกับพระองค์ท่านเป็นสิทธิของคุณ ว่าแต่…คุณเคยกินปลานิลไหมครับ ?

           ที่มา : งานเขียนชุดนี้ผมตั้งใจทำเพื่อเป็นบทเรียนของนิสิต ม.เกษตรศาสตร์ ที่ผมกำลังจะนำไปสอน มีทั้งหมด 3 ตอน “โลกร้อน” “จากปลาบู่ถึงปลานิล” และ “จับปลาอย่างไร”


ผมใช้ถ้อยคำธรรมดาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากไม่ถนัดในการใช้ราชาศัพท์ และผมตั้งใจเขียนให้คุณอ่านเข้าใจง่าย

ผมยินดีให้คุณแชร์ไปใช้ประโยชน์ได้

แต่หากมีการตีพิมพ์ รบกวนติดต่อผมก่อนครับ

เพราะแต่ละเรื่องใช้เวลานานมาก และใช้เวลาร้องไห้นานกว่า

ขอขอบคุณ ข้อมูล : Thon Thamrongnawasawat

………………………….

ที่มา : Tsood.com  และ ทีนิวส์


จาก http://www.chaoprayanews.com/2016/10/21/ เมื่อ-สองกษัตริย์-ชวนก/


เพิ่มเติม

ร.๙ “พระองค์ผู้ทรงทำ” ความทรงจำที่ไม่มีวันเลือนจาง : ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ http://www.tairomdham.net/index.php/topic,12600.0.html

http://www.sookjai.com/index.php?topic=182353.0
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...