ผู้เขียน หัวข้อ: ธ ทรงเป็นธรรมราชาของชาวโลก  (อ่าน 1079 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ธ ทรงเป็นธรรมราชาของชาวโลก
« เมื่อ: พฤศจิกายน 08, 2016, 07:46:57 am »



ธ ทรงเป็นธรรมราชาของชาวโลก

โดย - บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

   หากเจาะลึกรายละเอียดของบรรดาโครงการในพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กว่า 4,500 โครงการ จะพบว่าทรงเน้นแนวทางการแก้ไขปัญหาใหญ่ 3 ปัญหาด้วยกัน นั่นก็คือดิน น้ำ และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมิใช่แต่เป็นปัญหาของประเทศเท่านั้นหากยังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกด้วย และแนวพระราชดำริของพระองค์เหล่านี้ยังสามารถปรับใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาของหลายประเทศ ยกระดับชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

  ประเทศแรกที่นำโครงการในพระราชดำริไปใช้ก็คือ ราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งแม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ดี แต่สืบเนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ปลูกพืชผลไม่ค่อยได้ผล ทำให้รายได้ของประชากรไม่มากนัก ความร่วมมือของสองประเทศเริ่มขึ้นตั้งแต่ครั้งที่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงเสด็จเยือนภูฏาน และได้เข้าเฝ้าพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ซึ่งมีรับสั่งถึงโครงการพัฒนาด้านเกษตรบนพื้นที่สูงร่วมกัน เนื่องจากโครงการหลวงมีประสบการณ์ยาวนานในการพัฒนาด้านเกษตรบนพื้นที่สูง หลังจากนั้น นักวิชาการ นักการทูต รัฐมนตรีด้านการเกษตรของภูฏาน ได้เดินทางมาศึกษาและเรียนรู้งานที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้โครงการหลวงใช้เป็นทุนรอนในการช่วยเหลือพัฒนาภูฏานมาหลายปี



  จากนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ครั้งที่เป็นมกุฎราชกุมารได้เสด็จเยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง รวมทั้งคราวเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จมาร่วมงานฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้เสด็จไปทอดพระเนตรแนวทางร่วมมือเพื่อการพัฒนาบนพื้นที่สูงที่ดอยอ่างขาง

   นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน นักวิชาการโครงการหลวงจากประเทศไทย ได้เดินทางไปแนะแนวการปลูกไม้ผลเมืองหนาวแก่ชาวภูฏาน ไม่ว่าจะเป็นการทดลองปลูกมะม่วงบริเวณพื้นที่ทางตอนล่าง หรือแนะแนวการปลูกพืชเมืองหนาวบริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือ ขณะเดียวกัน นักวิชาการจากภูฏานก็จะเดินทางมาฝึกงานที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นประจำทุกปี

   ราชอาณาจักรเลโซโท ประเทศเกษตรกรรมเล็กๆ ในทวีปแอฟริกาตอนใต้ เป็นอีกประเทศหนึ่งที่นำองค์ความรู้ด้านเกษตรแบบผสมผสานไปใช้ เพื่อแก้ปัญหาที่ประเทศนี้ผลิตอาหารได้เพียง 1 ใน 3 ของความต้องการทั้งหมด ที่เหลืออีก 70 เปอร์เซ็นต์ต้องนำเข้าจากประเทศอื่นๆ



     ความร่วมมือนี้มีขึ้นหลังจากสมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 ซึ่งเสด็จมาร่วมงานฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ จ.เชียงใหม่ ด้วยความประทับใจ พระองค์ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนำทฤษฎีการเกษตรแบบผสมผสานหรือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกลับไปช่วยเหลือชาวเลโซโท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาต อีกทั้งยังทรงให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านบุคลากร วิชาการ เงินทุน อุปกรณ์ รวมถึงการส่งวิทยากรไปฝึกอบรมให้แก่นักวิชาการ และเกษตรกรที่เลโซโท ปรากฏว่าการทดลองทฤษฎีการเกษตรแบบผสมผสานบนที่ดิน 40 ไร่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจุบันชาวนาชาวไร่เลโซโทปลูกพืชหลายชนิดในที่ดินแปลงเดียวกัน รวมทั้งยังรวมกลุ่มกันผันน้ำจากภูเขาในเวลาที่หิมะละลายที่เคยสูญเปล่า มาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก

    การเกษตรตามแนวพระราชดำริทำให้เกษตรกรเลโซโทมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถลดการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศลง ขณะเดียวกัน ยังสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรในราคาดีขึ้นด้วย



    โครงการพระดาบสที่ สวาซิแลนด์ ในส่วนของการเพาะเห็ด ซึ่งเป็นโครงการสนองพระราชดำริของพระราชชนนีอินด์โลวูคาซีแห่งราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ เพื่อพัฒนาการเพาะเห็ดให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้สำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มสตรี

     จอร์แดน เป็นประเทศล่าสุดที่จะนำเทคโนโลยีฝนเทียมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปใช้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ส่อเค้าว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นจากผลของสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้ฝนตกน้อยลง ทั้งนี้ กองทัพอากาศจอร์แดนจะเป็นกำลังสำคัญในการทำฝนเทียมซึ่งจะมีขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยถือเป็นโครงการระดับชาติที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

    นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการนำโครงการในพระราชดำริไปปรับใช้ในต่างประเทศเพื่อช่วยเกษตรกรในประเทศนั้นๆ ให้สามารถปลูกพืชผลได้มากขึ้นและมีรายได้ดีขึ้นด้วย



    ความสำเร็จนี้ ทำให้ในแต่ละปีจะมีข้าราชการ นักวิชาการ ทูตานุทูตและตัวแทนของประเทศต่างๆ เดินทางมาดูงานและศึกษาโครงการในพระราชดำริกว่า 4,500 โครงการ แต่ละคนล้วนแต่มองเห็นว่าสามารถนำแนวคิดของโครงการในพระราชดำริที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปปรับใช้ในประเทศของตน

    และนี่จึงทำให้องค์การระดับโลกได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติยศต่างๆ มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับโครงการในพระราชดำริว่าด้วยการแก้ไขปัญหาดิน น้ำ และทรัพยากรมนุษย์ อันเป็น 3 ปัญหาใหญ่ของโลก อาทิ

    รางวัลความสำเร็จสูงสุดจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) โดยสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติและยูเอ็นดีพีได้ร่วมกันตั้งรางวัลความสำเร็จสูงสุดในด้านการพัฒนามนุษย์ เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดมอบให้แก่ผู้ที่อุทิศแรงกายและแรงใจให้แก่การทำความเข้าใจและการวางรากฐานกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก และนายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติในเวลานั้น ได้เดินทางมาทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติยศอันทรงคุณค่าดังกล่าวแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วงที่มีงานฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีเมื่อปี 2549

    รางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด สมาคมควบคุมการสึกกร่อนระหว่างประเทศ (ไออีซีเอ) แห่งออสเตรเลีย ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536



   ต่อมาในวันที่ 30 ตุลาคม ปีเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์น้ำและดินของธนาคารโลก ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณความสำเร็จด้านวิชาการและการพัฒนาในการส่งเสริมเทคโนโลยีหญ้าแฝกระหว่างประเทศ

   รางวัลกังหันชัยพัฒนา สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์ของราชอาณาจักรเบลเยียม ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในยุโรป ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลบรัสเซลส์ ยูเรก้า แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2543 หลังจากสภาวิจัยแห่งชาติได้นำผลงาน “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เข้าประกวดในสิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 1 เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปรากฏว่า ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการจัดงานว่า เป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่งในการบำบัดน้ำเสีย

   นอกจากนี้ สมาพันธ์นักประดิษฐ์ระหว่างประเทศ (ไอเอฟไอเอ) ในฮังการี ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้านอัจฉริยภาพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากผลงานทฤษฎีใหม่สำหรับเกษตรกร และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550

   รางวัลเหรียญอากริโคลา องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญอากริโคลา แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2538 เพื่อเชิดชูพระเกียรติพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ที่ทรงส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยซึ่งส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตพึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก

    รางวัลรวงข้าวทองคำ สมาคมสินเชื่อการเกษตรและชนบทแห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (เอพีอาร์เอซีเอ) ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากโครงการพัฒนาพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ที่ยากจะเข้าถึง นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของพสกนิกร

    รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยชาติ คณะผู้บริหารของสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ แห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทูลเกล้าฯถวายรางวัลนี้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 เป็นพระองค์แรกของโลก พร้อมกับสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ ที่ทรงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรดิน และทรงสนับสนุนการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในประเทศและนานาประเทศ



ธ ทรงเป็นกษัตริย์นักการทูต

    อาจกล่าวได้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศน้อยครั้งมากเมื่อเทียบกับพระประมุขของหลายประเทศ โดยระหว่างปี 2502-2510 พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา รวม 27 ประเทศ เพื่อเจริญพระราชไมตรีให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

   จากนั้นก็ทอดเวลายาวนานถึง 27 ปีที่มิได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอีกเลย ขณะที่เสด็จฯ ไปทั่วทุกหัวระแหงในประเทศนี้ ก่อนจะเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นประเทศสุดท้ายระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2537

   ทั้งนี้ ประเทศแรกที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการก็คือประเทศเวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2502 พอปีต่อมา ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 8-16 กุมภาพันธ์ ตามด้วยสหภาพพม่า ระหว่างวันที่ 2-5 มีนาคม จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปรวม 14 ประเทศกับ 1 รัฐ ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน-18 พฤศจิกายน 2503 ได้แก่ อังกฤษ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน อิตาลี นครรัฐวาติกัน เบลเยียม ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และสเปน

   เว้นไป 2 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สหพันธรัฐมลายา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

    พอถึงปี 2506 ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่น สาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-5 ธันวาคม 2507 และได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐเยอรมัน และสาธารณรัฐออสเตรีย ซ้ำอีกครั้งในปี 2509

   ปี 2510 เป็นปีสุดท้ายที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ในปีนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนอิหร่าน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา

    กระนั้น ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กลับมีพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์จากทุกมุมโลกเสด็จและเดินทางมาเข้าเฝ้าฯ อยู่เสมอๆ ทุกครั้ง พระองค์เสด็จออกต้อนรับพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์เหล่านั้นอย่างสมพระเกียรติหรือสมเกียรติยิ่ง

    นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้บรรดาทูตานุทูตเข้าเฝ้าฯ ถวายสาส์นตราตั้งในการเข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทย และกราบบังคมทูลลาเมื่อครบวาระอีกด้วย ตลอดจนมีพระราชสาส์นต่อประมุข-ผู้นำรัฐต่างประเทศ แสดงความยินดี หรือแสดงความเสียใจในโอกาสต่างๆ ที่เกิดขึ้น

   นับเป็นพระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศที่ช่วยสร้างและกระชับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับประเทศที่มีสัมพันธ์อันดีกับไทย หรือยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างกัน

    เหตุนี้ ในงานพระราชพิธีฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2549 จึงมีพระราชอาคันตุกะจาก 25 ประเทศจากทั้งสิ้น 29 ประเทศทั่วโลกมาร่วมงานพระราชพิธีครั้งนี้ นับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่างๆ มากที่สุดในโลกอย่างแทบไม่เคยปรากฏมาก่อน

    สำหรับพระประมุขที่ไม่สามารถเสด็จฯ มาร่วมงานพระราชพิธีครั้งนี้ได้ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีคยาเนนทรพีรพิกรมศาหเทวะแห่งราชอาณาจักรเนปาล ซึ่งในตอนแรกทรงตอบรับว่าจะเสด็จฯ มาแล้ว แต่ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในประเทศ จึงต้องงดเสด็จฯ

    อีกพระองค์หนึ่งคือ มาลีเอตัว ตานุมาฟิลิ ที่ 2 ประมุขแห่งรัฐเอกราชซามัว เนื่องจากมีพระชนมายุ 93 พรรษาแล้ว และทรงไม่มีรัชทายาท หรือผู้แทนพระองค์เสด็จฯ มาแทน พระองค์สุดท้ายคือสมเด็จพระราชาธิบดีฟาฮัด บิน อับดุล อาซิซ อัล-ซาอิด แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับราชอาณาจักรไทย นับแต่เหตุการณ์คดีเพชรซาอุฯ

    ด้วยบทบาทการเป็นกษัตริย์นักการทูตผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงมีคุณูปการในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ จึงนำความเศร้าสลด และอาลัยยิ่งแก่พระประมุขและประมุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ส่งพระราชสาส์นและสาส์นแสดงความอาลัยยิ่งในคุณูปการของพระองค์ท่านในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น อันจะเป็นที่จดจำของประชาชนในประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสาส์นจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน จากนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น จากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย จากประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ฯลฯ

   เหนืออื่นใด ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับพระราชวงศ์ญี่ปุ่นและราชอาณาจักรภูฏานจนเป็นประจักษ์ชัดต่อสายตาของทั่วโลก ในส่วนของราชวงศ์เบญจมาศแห่งญี่ปุ่นนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ซึ่งทรงสนิทสนมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นมกุฎราชกุมาร ได้ทรงไว้ทุกข์ทันทีเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่ค่ำวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งไม่มีในธรรมเนียมของญี่ปุ่นมาก่อน นอกจากนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิยังทรงมีพระราชสาส์นส่วนพระองค์แสดงความเสียพระราชหฤทัยส่งถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วย

     ด้านสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ซึ่งมีความผูกพันเป็นพิเศษกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งยังเป็นมกุฎราชกุมาร และทรงเจริญรอยตามพระองค์ในการอุทิศพระวรกายเพื่อประชาชนโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยใดๆ มีพระบรมราชโองการให้จัดสวดมนต์รำลึกเป็นกรณีพิเศษและจุดประทีปที่วัดทุกแห่งทั่วประเทศ ทรงประกาศให้วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันไว้ทุกข์ของชาวภูฏาน ลดธงครึ่งเสา ถือเป็นวันหยุดราชการ โรงเรียนสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศปิดการเรียนการสอน เพื่อไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

      นอกจากนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ คณะสงฆ์ คณะรัฐบาล และชุมชนคนไทยในภูฏาน ร่วมจุดประทีปและสวดมนต์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังทาชิโซชอง ในกรุงทิมพู

      ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงร่วมงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงวางพวงมาลาเบื้องหน้าพระบรมโกศ พร้อมกับทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดลงนามหลวง ทรงพระอักษรแสดงความอาลัยว่า "แด่พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งหาที่เปรียบปานมิได้ ผู้ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ผู้ทรงเป็นดังอัญมณีมีค่าสูงสุด และผู้เข้าถึงพระปรินิพพาน หม่อมฉันขอส่งความเคารพอย่างสุดซึ้งและภาวนาจากหัวใจ ขอให้พระองค์ทรงจุติเป็นดั่งธรรมราชาทุกชาติไป เพื่อประโยชน์สุขของสรรพสิ่งทั้งมวล”

จาก http://www.komchadluek.net/news/scoop/247521
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...