โรงเรียนทอสีได้จัดสัมมนาเรื่อง
“เลี้ยงลูกแบบสมเด็จย่า” โดยคุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา อดีตข้าหลวงในพระองค์มาร่วมเล่าประสบการณ์และแบ่งปันคำสอนของ
สมเด็จ พระศรีนครินทราพระบรมราชชนนีหรือสมเด็จย่า ของปวงชนชาวไทยเมื่อฟังแล้วรู้สึกอยาก จะบอกต่อ ถึงวิธีการเลี้ยงดูลูกของพระองค์ ที่มีทั้งความปราดเปรื่องหลักแหลมและมีเป้าหมายที่ชัดเจนสมควรใช้เป็นแบบอย่างเป็นอย่างยิ่ง
ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น : คำพังเพยที่เราได้ยินบ่อยๆ แต่น้อยครั้งนักจะทำความเข้าใจอย่างจริงจังในขณะที่ตัวอย่างมีให้เห็นทั้งในทางที่ดีและทางที่ไม่ดีในเรื่องของการเลี้ยงดูบุตร
สมเด็จย่าทรงเริ่มจากการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ทำเป็นต้นแบบในเรื่องของ
การมีวินัย การรักการค้นคว้าศึกษาหาความรู้ การประพฤติตัวที่ถูกต้องตามธรรมนองคลองธรรม ทั้งหมดนี้คือการตั้งตนเป็นต้นแบบให้กับลูกเพราะเด็กเล็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบจากคนใกล้ชิดเพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องลองตั้งคำถามกลับมาที่ตัวเองว่าทุกวันนี้ที่เราอยากให้ลูกเป็นแบบนั้นแบบนี้แล้วเราล่ะเป็นแล้วหรือยัง
ตั้งเป้าหมายในการเลี้ยงลูก: สมเด็จย่าทรงเป็นพระมารดาที่มีเป้าหมายในการเลี้ยงลูกอย่างชัดเจนคือทรงตั้งใจอบรมพัฒนาลูกๆ ให้ดีในทุกๆ ด้านเพื่อให้เป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง ทรงไม่คิดถึงประโยชน์ของพระองค์เอง ประโยชน์ของพระโอรส หรือพระธิดา แต่ทรงมองถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ในปัจจุบันหลายครั้งที่เราเห็นพ่อแม่ส่งลูกเรียนพิเศษในทุกวิชาโดยที่ไม่ได้ถามลูกว่าลูกอยากเรียนอะไร หรือพ่อแม่ที่คาดหวังเรื่องผลการเรียนสูงๆ จากลูกเหล่านั้นคือการตั้งเป้าหมายกับลูกซึ่งเป็นการเอาความคาดหวังของตัวเองไปให้กับลูก เราจึงต้องมองย้อนกลับมาดูใหม่ว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้หรือความคาดหวังนั้นเป็นไปเพื่อใคร เพื่อลูก เพื่อตัวเราเอง หรือเพื่อคนอื่นๆ ด้วย ถ้าพ่อแม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเลี้ยงลูกก็จะทำให้เราสามารถพัฒนาประสิทธิภาพของเด็กๆ ได้สูงยิ่งขึ้น
จัดแบบแผนและสร้างระเบียบวินัยตั้งแต่ลูกยังเล็ก:
สมเด็จย่าทรงวางแผนการดำเนินชีวิตให้กับพระโอรสพระธิดาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เนื่องจากต้องทรงเป็นทั้ง “พ่อ” และ “แม่” ในเวลาเดียวกันทรงจัดการทุกอย่างเป็นเวลา โดยมีผู้ช่วยคือพระพี่เลี้ยงเพียงหนึ่งคนเท่านั้นเนื่องจากในเวลาที่เด็กยังเล็กเขาไม่มีความรู้เรื่องขอบเขตของเวลา พ่อแม่จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดเวลาให้กับพวกเขาเช่นนอน รับประทานอาหาร เล่น ไปโรงเรียน อาบน้ำ ออกกำลังกาย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะสร้างวินัยให้กับลูกซึ่ง
สมเด็จย่าทรงเน้นเรื่องวินัยในการดำเนินชีวิตพระองค์รับสั่งถึง
คำว่า “ระเบียบวินัยอย่างมีหลักการ” คือการกำหนดขอบเขตของเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความสมดุลให้กับชีวิตซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเติบโตของเด็กๆ ต่อไป เล่นอย่างถูกวิธี : เมื่อถึงเวลาเล่นจะทรงปล่อยให้พระโอรสและพระธิดาเล่นอย่างอิสระ โดยจะทรงให้เล่นกับธรรมชาติ ต้นไม้ น้ำทรงเน้นให้เล่นกับสิ่งที่มีในธรรมชาติมากกว่าของเล่น ทรงอนุญาตให้พระโอรสเล่นจุดไฟแต่จะทรงบอกวิธีในการเล่นที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย ผลจากการที่พระโอรสและพระธิดาได้ทรงเล่นคลุกดินคลุกทรายหรือได้ทำการทดลองกับธรรมชาติเหล่านี้ส่งผลให้ทั้งสามพระองค์ได้พัฒนาความคิดและความสามารถโดยที่ไม่ทรงรู้ตัว
ตัวอย่างเช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างหลุมที่เกิดจากการปลูกต้นไม้ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ทดลองขุดดิน ใส่น้ำ ปลูกต้นไม้ จะสามารถสร้างแอ่งน้ำขึ้นมาได้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งนั่นเป็นรากฐานที่ดีงามที่พระองค์นำมาใช้พัฒนาประเทศชาติจนถึงทุกวันนี้ การเล่นอย่างถูกวิธีจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะการเล่นกับธรรมชาติที่เด็กๆ ชาวเมืองยุคใหม่อาจจะขาดไป คุณพ่อคุณแม่จึงควรจัดเวลาเพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับลูกในส่วนนี้เช่นกัน
ประหยัดอดออมไม่ฟุ่มเฟือย :
สมเด็จย่าทรงสอนพระโอรสพระธิดาให้รู้จักใช้เงิน ของขวัญ ที่ทั้งสามพระองค์จะได้มีวันเดียวคือวันคล้ายวันประสูติ ถ้าพระองค์ใดอยากได้สิ่งใดนอกจากนั้น ต้องทรงเก็บเงินเพื่อซื้อหรือทรงได้รับอนุญาตให้หุ้นกันเพื่อซื้อมาได้หรือจะทรงซื้อให้ก็ต่อเมื่อต้องใช้ประโยชน์ เช่น แผ่นเสียงถ้าเป็นเพลงโปรดของแต่ละพระองค์จะทรงให้เก็บสตางค์ซื้อเอง แต่ถ้าเป็นเพื่อการศึกษาเช่นเพลงคลาสสิคจะทรงซื้อให้
เรียนไปพร้อมๆกับลูก :
สมเด็จย่าจะไม่เคยเน้นเรื่องคะแนนของพระโอรสและพระธิดาแต่ทรง “ช่วย” ในทุกขั้นตอนของการเรียนไม่ว่าจะช่วยทำการบ้าน ช่วยศึกษาค้นคว้า จะทรงใช้วิธีทำให้ลูกดูเพื่อให้ลูกได้ทำตาม เช่น ถ้าไม่ทรงทราบเรื่องไหนจะต้องไปค้นคว้าจาก Encyclopedia หรือมีครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องทรงท่องกลอนเป็นภาษาเยอรมันแต่ไม่ทรงโปรดที่จะท่อง
สมเด็จย่าทรงไม่เคยเรียนภาษาเยอรมันมาก่อนได้เสด็จไปหาคุณครูเพื่อเรียนท่องคำกลอนนั้นจนคล่องและนำมาท่องให้พระโอรสฟัง ทำให้ พระโอรสรู้สึกประหลาดใจที่เห็นพระชนนีท่องได้ และเป็นแรงบันดาลใจให้ทรงหันมาเริ่ม ท่องกลอนนั้น การสอนของ
สมเด็จย่าจึงเน้นที่กระบวนการหรือวิธีการมากกว่าคำตอบ ทำให้พระองค์รวมถึงพระโอรสพระธิดาทั้งสามพระองค์เป็นผู้ที่ทรงรู้อะไรรู้ลึกและรู้จริงในทุกๆ เรื่อง ที่ทรงค้นคว้า
เน้นการพัฒนา EQ มากกว่า IQ : ทรงสอนให้ลูกพระโอรสพระธิดารู้จักความรับผิดชอบ นั่นคือมาตรฐานในการใช้ชีวิตที่ทรงอบรม เวลาพระโอรสพระธิดาทรงทำผิดจะทรงเรียกมาอธิบายเหตุผลให้เข้าใจเสียก่อน ทรงเน้นในเรื่องการทำตัวเป็นคนดีซื่อสัตย์มีระเบียบวินัยและแข็งแรง โดยทักษะเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการเผชิญกับโลกเมื่อลูกโตขึ้น ทรงมีหลักในการพัฒนาพระโอรสพระธิดาเช่นต้องมีจริยธรรมซื่อตรง ที่สำคัญคือทรงเน้นเรื่องการพัฒนาจุดแข็งมากกว่าจุดอ่อน โดยทรงตรัสไว้ว่าในโลกนี้ไม่มีใครดี 100% ต้องหาจุดอ่อนและจุดแข็งของลูกให้เจอเพื่อพัฒนาในส่วนนั้นได้ตรงจุดนั่นเอง
นอกจากนี้ยังทรงเน้นในอีกหลายเรื่องเช่น ต้องเสวยให้หมดจาน ห้ามทิ้งอาหาร หรือช่วยให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองได้ คำสอนของพระองค์ทรงเป็น Practical Wisdom คือทำตามได้อย่างง่ายดาย เหล่านี้เป็นสิ่งเล็กๆ ที่เราอาจจะลืมเพราะไปโฟกัสในสิ่งอื่นๆ ในชีวิต วิธีการเลี้ยงลูกของ
สมเด็จย่าเป็นวิธีที่พ่อแม่ทุกคนสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างง่ายดายและแน่นอนว่ามีประสิทธิภาพโดยสามารถดูได้จากพระโอรสและพระธิดาทั้งสามพระองค์ที่เติบโตมาเป็นบุคคลทรงคุณภาพที่สุดสามพระองค์เท่าที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยเคยมีมา
จาก
http://women.sanook.com/53381/