ผู้เขียน หัวข้อ: หนึ่งจุดหมายหลายหนทาง สนทนาธรรมกับองค์ดาไลลามะ(พระ ดร.อนิล พระศากยะวงศ์วิสุทธิ์)  (อ่าน 1375 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด




<a href="https://www.youtube.com/v/tH_8qvCFc1Q" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/tH_8qvCFc1Q</a>
หนึ่งจุดหมายหลายหนทาง สนทนาธรรมกับองค์ดาไลลามะ (ดร.อนิล พระศากยะวงศ์วิสุทธิ์)

หนึ่งจุดหมายหลายหนทาง สนทนาธรรมกับองค์ดาไลลามะ
รายการหนี้แผ่นดิน ตอนเจียดเวลาหาสุข
ออกอากาศ ทุกวันพุธ เวลา 19.00-20.00 น.
ทาง True Vision 8
ผู้ร่วมสนทนา
พระ ดร.อนิล ธมฺมสากิโย (ศากยะ)


<a href="https://www.youtube.com/v/wlPsvw8Oh9Q" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/wlPsvw8Oh9Q</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/5Xp2PlZZDuY" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/5Xp2PlZZDuY</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/a2SutiGOKnU" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/a2SutiGOKnU</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/XJ1ONyJmhJM" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/XJ1ONyJmhJM</a>




     “หนึ่งจุดหมาย หลายหนทาง” เล่มนี้ เป็นหนังสือคู่มือการร่วมสนทนากับองค์ดาไลลามะของพระภิกษุและชาวไทยหลายร้อยรูป/คน ณ กรุงเดลี สาธารณรัฐอินเดีย แล้วร่วมเดินทางเรียนรู้ตามรอยพุทธศาสนาและศรัทธาของผู้คนบนชมพูทวีป ๘ เส้นทางทั่วประเทศอินเดีย ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๕ ที่ปรารภวาระพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ จากความสัมพันธ์ของครูบาอาจารย์ที่มีต่อกัน เพื่อสร้างความคุ้นเคยและแสวงหาความเข้าอกเข้าใจร่วมไม้ร่วมมือในงานธรรมต่อไป

       “หนึ่งจุดหมาย หลายหนทาง” เล่มนี้ ประกอบด้วยเนื้อหา ๓ ส่วน คือ
ส่วนนำ ซึ่งประมวลภาพความสัมพันธ์ของกันและกันผ่านครูบาอาจารย์ โดยอัญเชิญสาส์น ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเป็นประธาน
ส่วนเนื้อหา ได้ประมวลสาระว่าด้วยพระพุทธศาสนาในอินเดีย แดนหิมาลัย มหายานและประเทศไทยโดยสังเขป เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้และเข้าใจในการร่วมสนทนาและเรียนรู้ตามรอย
ในส่วนที่สาม ซึ่งนำประเด็นคำถามทั้ง ๓ กรอบ พร้อมประเด็นย่อยที่อาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ช่วยร้อยเรียงและนำเสนอต่อองค์ดาไลลามะสำหรับการแลกเปลี่ยนมาจัดพิมพ์เพื่อการติดตามและบันทึกได้อย่างเกาะติด

หนังสือที่เกี่ยวข้อง;
ดาไลลามะ สนทนาธรรมกับคนไทยที่ธรรมศาลา
ดาวน์โหลด http://www.bia.or.th/ebook/index.php?floor=7

http://www.ebooks.in.th/ebook/10586/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ธรรมท้ายปีที่อินเดีย ดาไลลามะ-พระไทย

ดวงตาทุกคู่จ้องไปยังองค์ดาไลลามะแห่งทิเบต ผู้เผยแผ่ธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระจายไปทั่วโลก

คนไทยราว 200 คนนั่งเงียบกริบ พระภิกษุสงฆ์จากประเทศไทยจากวัดต่างๆ อย่าง วัดหนองป่าพง วัดป่าสุขโต วัดชลประทานรังสฤษฏ์และวัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม มารวมกันอย่างมีการนัดหมาย

การสนทนาธรรมระหว่างพระภิกษุสงฆ์ไทยกับพระภิกษุสงฆ์ทิเบต โดยการประสานงานของหอจดหมายเหตุท่านพุทธทาส  อินทปัญโญ เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโรงแรมไฮแอท กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

องค์ดาไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณของทิเบต ประสูติเมื่อ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2478 ในแคว้นอัมโด หมู่บ้านตักเซอร์ อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต ทรงได้รับเลือกเป็นประมุของค์ใหม่ของทิเบตตั้งแต่อายุ 2 ขวบ โดยผ่านการพิสูจน์ตามธรรมเนียมของโบราณประเพณี ตามความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดของชาวทิเบต



ชาวทิเบตมีความเชื่อว่า องค์ดาไลลามะทุกพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์กลับชาติมาเกิด หลังผ่านการคัดเลือกแล้ว ประมุขทุกพระองค์จะประทับอยู่ ณ พระราชวังโปตาลา กรุงลาซา แต่องค์ดาไลลามะองค์ปัจจุบัน ทรงลี้ภัยการเมืองจากทิเบตมาอยู่ธรรมศาลา ประเทศอินเดียตั้งแต่ พ.ศ. 2505

ศาสนกิจในพระองค์ นอกจากเป็นผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบตโดยทั่วไปแล้ว ยังเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อชาวโลกอีกด้วย

ทรงเรียนรู้หลายแขนงอย่างแตกฉาน ไม่ว่าจะเป็นตรรกวิทยาแบบพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรมทิเบต ภาษาสันสกฤต การแพทย์ ปรัชญา นอกจากนี้ยังเรียนกวีนิพนธ์ ดนตรี ภาษาศาสตร์ เพื่อใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ทรงเสด็จประเทศไทยถึง 3 ครั้งคือ พ.ศ.2510, 2515 และ 2536 แต่ละครั้งได้พบกับสมเด็จพระสังฆราช และเดินทางไปพบท่านพุทธทาสภิกขุ ประทีปธรรมแห่งสวนโมกข์เพื่อสนทนาธรรม ก่อให้เกิดสายใยแห่งธรรม ระหว่างทิเบต-ไทยในกาลสืบมา



พระองค์ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อ พ.ศ.2532

องค์ดาไลลามะก้าวสู่ห้องประชุมพร้อมรอยยิ้มเปี่ยมเมตตา ในเวลาประมาณ 08.00 น. ทรงแสดงธรรมหัวข้อ หนึ่งจุดหมายหลายหนทาง หลังจากนั้นมีการซักถาม สนทนาธรรมกันอย่างออกรสตลอด เวลา 2 วัน สารธรรมในพระองค์น่าสนใจยิ่ง

องค์ดาไลลามะตรัสว่า แต่เดิมนั้นพุทธศาสนาพระมหากษัตริย์เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชู ทำให้ศาสนากระจายไปยังประเทศต่างๆมากมาย คนที่ลึกซึ้งกับศาสนาก็จะรักษาเอาไว้ แต่คนที่ไม่ลึกซึ้งก็อาจเปลี่ยนศาสนาไป  อย่างไรก็ตาม พระธรรมในศาสนาพุทธ ศาสนาอื่นๆ ยังนำไปปฏิบัติ อย่างเรื่องความเมตตา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี การที่พระองค์ได้พบปะพูดคุยกับศาสนาอื่นๆ มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ความคิดใหม่ๆ และได้ประโยชน์มาก

ภาษามีความสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

สมัยพุทธกาล แม้จะมีภาษาอื่นๆมากมาย แต่พระพุทธองค์ทรงใช้ภาษาบาลีเป็นหลัก เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพาน พระไตรปิฎกก็เกิดขึ้นให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งในมหาวิทยาลัยนาลันทา ตักศิลา ล้วนมีการเรียนรู้และปฏิบัติในทางเดียวกัน แปลกกันเพียงว่า สายนาลันทาใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก แต่มิว่าใช้ภาษาใดก็สอนเรื่องในพระไตรปิฎกเหมือนกัน

คนเราไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร  เราก็ต้องอยู่ในโลกเดียวกัน การอยู่ร่วมกันไม่ควรแตะต้องเรื่องศาสนา ต้องเมตตากัน จะได้มีความกลัวระหว่างกันน้อยลง ถ้าเราคิดถึงคนอื่น เข้าใจคนอื่น ความกลัวของเราก็จะน้อยลง มองในทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเรามีความกรุณา เลือดก็จะไหลเวียนดีขึ้น ถ้าเรามีความกลัว ความกลัวก็จะกัดกินความสุขของเรา

ดังนั้น คนเราต้องฝึกให้มีความกรุณา เพราะความกรุณาจะเป็นพื้นฐานที่ดี  แม้จะเป็นคนไม่มีศาสนาก็ตาม  เรื่องนี้ผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว เป็นประโยชน์มาก



พระองค์ถามอย่างอารมณ์ดีเรื่องคนไทยบวชต้นไม้ ต้นไม้มีจิตหรือเปล่า หรือต่อไปต้นไม้ต้องมีวินัยต้นไม้ด้วย ตรัสพลางหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนขยายความต่อว่า ในศาสนาชินโตของญี่ปุ่นก็ถือว่าต้นไม้ก็มีจิตวิญญาณด้วยเหมือนกัน เรื่องราวเหล่านี้ต้องคุยกัน

เรื่องพระสงฆ์ในพุทธศาสนา พระองค์ตรัสว่า คนที่ทิเบตบางคนก็ดูกันที่จำนวนม้า ว่าพระรูปใดมีม้ามากกว่ากัน นับว่าเป็นเรื่องโง่เขลาในสมัยก่อน สาเหตุเรื่องนี้มาจากอะไร ก็มาจากคนจำนวนมากมายมีอวิชชาอยู่ ยังไม่เข้าใจธรรมอย่างแท้จริงนั่นเอง

ปัญหาของโลกปัจจุบัน

พระองค์ตรัสว่า สถานการณ์โลกมีความรุนแรงของสงครามคน มากมายทุกข์ยากและคนเหล่านี้ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ของโลกได้เหมือนกัน  แต่เป็นทางที่ไม่ดี  เราต้องคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ เราจะนิ่ง เฉยไม่ได้ และยังมีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากอีกด้วย

ยังมีปัญหาเรื่องคอรัปชัน คอรัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของโลก อาจเกิดมาจากความยากจน เรื่องคนจนคนรวยเป็นปัญหาใหญ่ของอินเดีย แม้จะมีคนร่ำรวยแต่ก็มีคอรัปชันสูง เคยถามนักเรียนว่า คอรัปชันเป็นเรื่องปกติหรือเปล่า นักเรียนตอบว่า ถ้าไม่คอรัปชันก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก
คอรัปชันกำลังเป็นปัญหา มันไม่ใช่เรื่องถูกต้อง และเป็นโรคพุทธศาสนาก็ไม่อาจสามารถรักษาได้ง่ายๆ ระบบการตรวจสอบแทนที่จะทำงานกันก็ไม่ทำ





แนวทางแก้ปัญหานั้น ทรงแนะว่าคนเราต้องมีวินัยในตนเอง มีหลักศีลธรรม เพราะศีลธรรมทำให้มีการควบคุมตนเอง นี่ก็เป็นหลักหนึ่งของฆราวาส โลกภายหน้าเราฝันถึงสันติสุข แต่เราจะบรรลุถึงความฝันได้อย่างไร ทางหนึ่งคือ เราต้องให้การศึกษาต่อผู้คนโดย เฉพาะจิตใจของคนแต่ละคน
การแก้ปัญหาต้องเป็นไปอย่างจริงจัง  เรื่องศีลธรรมและจริยธรรมสมัยใหม่เป็นแบบเรื่องโลกวิสัยของฆราวาส และคิดแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงนั่นแหละ คนทั่วโลกต้องคิดหาทางร่วมกัน เพราะความรุนแรงต่างๆ ไม่เกิดผลดีอะไรเลย

เราต้องจับมือกันเพื่อสันติภาพ แต่ก่อนจะทำอย่างนั้นได้เราต้องมีความสงบภายใน  ความสงบภายในเกิดจากการคิดหาเหตุผลทำอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรง  ความรุนแรงเกิดจากความกลัว เรายิ่งให้ความสำคัญมัน มันก็ยิ่งเกิดมากขึ้น เหมือนเราให้อาหาร สุนัข เมื่อเราให้อาหารมัน ต่อไปมันเห็นเราหางมันก็จะแกว่ง

พระองค์เคยมาเมืองไทย เมืองไทยมียุงชุมมาก ยุงมันกินเลือด

แล้วมันก็ไป เราให้เลือดมัน มันก็ไม่เห็นความกรุณาเรา มองมาที่สัตว์ตัวใหญ่ขึ้น คือมองมาที่มนุษย์ด้วยกัน เมื่อก่อนเราอยู่ได้ด้วยตนเอง  แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น  เราต้องเป็นมิตรกับชาติอื่น อย่างจีนแม้ในความเป็นจริงในใจอาจมีความไม่ไว้วางใจอยู่ก็ตาม เพราะความสัมพันธ์นั้น แท้จริงอยู่ที่ความไว้วางใจกัน

ปัจจุบันสงครามเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว  การจับมือกันรับผิดชอบต่อโลกเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าส่งไปยังโลกอื่นได้ก็ดี.


จาก http://www.thairath.co.th/content/316563
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
“Need or Greed?: คำถามสำคัญจากองค์ดาไลลามะ”



ในเดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้จัดกิจกรรมให้คนไทยสนทนาธรรมกับองค์ดาไลลามะ ที่กรุงนิวเดลี โดยมีพระภิกษุที่เป็นผู้นำจากสำนักต่างๆ เกือบ 60 รูป และพุทธศาสนิกชนชาวไทยอีกกว่า 250 คน ไปร่วมงาน องค์ดาไลลามะทรงเมตตาจัดสรรเวลาให้ถึงสองวันเต็ม นับเป็นโอกาสพิเศษยิ่งที่ชาวพุทธไทยได้แลกเปลี่ยนความรู้ทางพุทธศาสนากับองค์ดาไลลามะ และพระภิกษุชั้นครูของทิเบตอีกหลายรูป สมดั่งเจตนารมณ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่ได้ทรงดำริเรื่องการจัดงานเช่นนี้ไว้ตั้งแต่ครั้งเมื่อองค์ดาไลลามะเสด็จเยือนประเทศไทยในปี 2536

ตลอดสองวัน องค์ดาไลลามะได้ทรงแสดงให้เห็นถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาที่เป็นสากล ไม่ขึ้นอยู่กับนิกาย หรือสังคมที่อาจจะมีวิถีทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หลักธรรมของพุทธศาสนาเป็นหลักความจริงของชีวิต และเป็นหลักที่จะทำให้ชีวิตทั้งในระดับบุคคลและสังคมสมบูรณ์ขึ้นและมีทุกข์น้อยลง องค์ดาไลลามะได้ทรงย้ำหลายครั้งถึงความจำเป็นที่พุทธศาสนาจะต้องประยุกต์เข้ากับความจริงของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้องเท่าทันพัฒนาการของโลก โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อที่พุทธศาสนาจะเป็นทางออกของปัญหาที่มนุษย์และสังคมโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ในบรรดาหลักธรรมหลายข้อที่องค์ดาไลลามะทรงอธิบายให้ฟังนั้น ผมคิดว่ามีหนึ่งคำถามที่สะท้อนต้นเหตุของความทุกข์และปัญหาสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คำถามนั้นคือ ให้เราพิจารณาว่าสิ่งที่กำลังทำ สิ่งที่กำลังอยากได้ หรือสิ่งที่กำลังเป็นทุกข์กับมันอยู่เป็น need (ความจำเป็น) หรือ greed (ความโลภ) ผมเชื่อว่าถ้าเราไตร่ตรองดีๆ แล้วจะพบว่า หลายอย่างที่เราพยายามหาให้ได้นั้นเป็นความโลภมากกว่าความจำเป็น และหลายอย่างที่เราคิดว่าเป็นความจำเป็นนั้นแท้ที่จริงแล้วกลับเป็นความโลภ

ในระดับบุคคล องค์ดาไลลามะทรงไม่ปฏิเสธว่าทุกคนมีความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำรงชีพ ที่ต้องจัดหามาให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มคิดถึงความพอเพียงและหยุดความโลภที่เกินควร ในระดับสังคม คำถามเรื่องความจำเป็นหรือความโลภนี้อธิบายถึงต้นเหตุของปัญหาสำคัญของโลกได้เกือบทุกปัญหา โดยเฉพาะ (1) ปัญหาความรุนแรง (2) ปัญหาโลกร้อนและความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ (3) ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน และ (4) ปัญหาคอร์รัปชันที่กำลังระบาดรุนแรงทั่วโลก องค์ดาไลลามะ ได้ทรงย้ำหลายครั้งถึงอันตรายของทั้งสี่ปัญหาที่ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้คนเบียดเบียนตัวเองและเบียดเบียนคนอื่นมากขึ้น เป็นทุกข์มากขึ้น สังคมเปราะบาง ทั้งสี่ปัญหานี้ต่างมีต้นตอมาจากความโลภที่เกินความจำเป็น

ถ้าเราทุกคนพิจารณาถึงสิ่งที่กำลังทำและความทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่ ว่ามีสาเหตุมาจากความจำเป็นหรือความโลภแล้ว ปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับบุคคล ระดับประเทศ และระดับโลกจะลดลงได้มาก แต่โจทย์ที่ยากกว่าคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้คนทั่วไปเห็นความแตกต่างระหว่างความจำเป็นและความโลภ และหันมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ องค์ดาไลลามะทรงย้ำกับคนไทยที่ไปร่วมฟังธรรมหลายครั้งว่า เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสงบและสันติในใจ เพราะจะช่วยให้สามารถบรรเทาความทุกข์ในโลกได้อย่างยั่งยืน ต่างจากการแก้ปัญหาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกิเลส ความโกรธ ความเกลียดชัง และความกลัว



องค์ดาไลลามะทรงให้แนวทางที่จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะความจำเป็นออกจากความโลภ และสามารถสร้างความสงบและสันติในใจได้ โดยจะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก องค์ดาไลลามะทรงย้ำถึงความสำคัญของการฝึกสมาธิภาวนา เพื่อให้แต่ละคนมีสติและสัมปชัญญะที่เท่าทันต่อจิต อารมณ์ และกิเลส ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมาก สมาธิจะทำให้เกิดปัญญาที่จะสามารถช่วยให้แยกแยะความโลภออกจากความจำเป็นได้ ทำให้รู้จักที่จะพอประมาณ และลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในรูปแบบต่างๆ และที่สำคัญ สมาธิจะช่วยให้เกิดความสงบและสันติในใจ ลดอารมณ์ที่เป็นบวกและลบ ลดความกลัว โดยเฉพาะความกลัวที่จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งมักส่งผลให้คนต้องดิ้นรน เบียดเบียนตนเองและเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ตนเอง

ประการที่สอง องค์ดาไลลามะทรงให้ความสำคัญต่อเมตตาและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น (compassion) เพื่อช่วยให้คนอื่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมตตาและความปรารถนาดีนี้ต้องตั้งอยู่บนความเข้าใจว่าทุกคนและทุกสิ่งในโลกนี้เกี่ยวเนื่องกัน (interconnected) เมตตาและความปรารถนาดีจะต้องไม่จำกัดอยู่เฉพาะคนในครอบครัว เพื่อนฝูง คนที่เป็นพวกเดียวกัน หรือคนเชื้อชาติเดียวกันเท่านั้น แต่จะต้องเป็นเมตตาและความปรารถนาดีสำหรับทุกคนที่อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ แม้ว่าจะเป็นศัตรูกันก็ต้องละวางความโกรธให้ได้ เพราะปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่เป็นปัญหาร่วมกัน ไม่มีพรมแดน ความทุกข์และความรุนแรงจะลดลงไปมากถ้าเราพยายามเข้าใจความจำเป็นของคนอื่น และไปช่วยตอบโจทย์ความจำเป็นของคนที่ขาดแคลน ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราใช้ชีวิตร่วมกันด้วยวิถีที่เบียดเบียนกันมากขึ้นแล้ว ไม่มีทางที่จะลดความรุนแรงและแก้ปัญหาต่างๆ ได้ แต่ถ้าเราใช้ชีวิตอยู่ด้วยหลักของเมตตาและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีวินัยที่จะลดการเบียดเบียนแล้ว สังคมโลกมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ความรุนแรงและความทุกข์มีโอกาสที่จะลดลง

ประการที่สาม การที่เราจะสามารถแยกแยะความจำเป็นออกจากความโลภ และมีหลักของการใช้ชีวิตที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มจากการจัดระบบการศึกษาให้ถูกต้อง เพราะหลักของชีวิตต้องใช้เวลานานกว่าจะตกตะกอน ต้องผ่านการบ่มเพาะพฤติกรรมตั้งแต่เด็ก ระบบการศึกษาจะต้องไม่เน้นเฉพาะการศึกษาความรู้โลกภายนอกเท่านั้น แต่จะต้องเป็นระบบการศึกษาที่เน้นการสร้างความเข้าใจเรื่องจิตใจภายในควบคู่กันไปด้วย จะต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ รู้จักความพอเพียงและพอประมาณ และจะต้องสอนให้เด็กสามารถเชื่อมโยงความเกี่ยวเนื่องกับคนอื่นๆ ในสังคมและในโลกนี้ได้ องค์ดาไลลามะทรงเน้นเรื่องระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญต่อจริยธรรมพื้นฐานของมนุษย์ที่ไม่ขึ้นอยู่กับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง (secular ethics) เด็กรุ่นใหม่จำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานจริยธรรมสูง และยึดมั่นในหลักจริยธรรมที่จะไม่โกหก ไม่ขโมย และไม่เบียดเบียนผู้อื่น สังคมโลกจึงจะเป็นสังคมที่ลดความรุนแรง ลดปัญหาคอร์รัปชัน และปัญหาต่างๆ ที่โลกเผชิญอยู่ได้

นอกจากนี้ องค์ดาไลลามะได้ทรงตั้งข้อสังเกตว่า พัฒนาการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Internet, Facebook หรือ Twitter อาจจะไม่เอื้อต่อการพัฒนาการศึกษาด้านจิตใจภายใน เพราะการศึกษาด้านจิตใจจะต้องมีเวลาพิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจิตอย่างลึกซึ้ง และค่อยเป็นค่อยไป จึงจะเกิดผลให้เด็กมีทัศนคติและพฤติกรรมที่ถูกที่ควร

ตลอดสองวันเต็มของการสนทนาธรรม องค์ดาไลลามะทรงแสดงให้เห็นความเป็นสากลและอกาลิโกของแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และทรงให้ข้อคิดที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมาก ผมเชื่อว่า ถ้าปีใหม่นี้คนไทยส่วนใหญ่หันมาพิจารณาว่าสิ่งที่กำลังคิด กำลังทำอยู่เป็นความจำเป็นหรือความโลภ ปัญหาความรุนแรง คอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่จะบรรเทาลงมาก และสังคมไทยอาจจะมีโอกาสที่จะก้าวไปสู่สังคมที่มีความสงบและสันติอย่างแท้จริง

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 9 มกราคม 2556

จาก http://thaipublica.org/2013/01/need-or-greed/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...