ผู้เขียน หัวข้อ: 'ทำความดีเดี๋ยวมันหล่อเอง' หมอล็อต - น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน  (อ่าน 1691 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
'ทำความดีเดี๋ยวมันหล่อเอง' หมอล็อต - น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน

       เรื่อง : วรชัย รัตนดวงตา
       ภาพ : พาณุวัฒน์ เงินพจน์
       
       มีคนในเมืองใหญ่ตั้งคำถามขึ้นมาว่า
       เห็นข่าวช้างลงมากินพืชไร่ของชาวบ้านแล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรา?
       ไฟในบ้านดับยังกระทบซะมากกว่า!
       
       ซึ่งนั่นก็จริง แต่มันเป็นความจริงเพียงแค่คืบทันทีเมื่อเราได้มานั่งพูดคุยกับชายหนุ่มที่เชื่อมข้อเท็จจริงของป่าและเมืองเข้าไว้ด้วยกัน
       
       หมอล็อต หรือนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน คือนักอนุรักษ์และหมอรักษาสัตว์ป่าคนแรกของประเทศไทย ที่ทำงานเพื่อการรักษาสัตว์ป่ายังถิ่นอาศัยมานานกว่า 10 ปี บอกกับเราว่าป่ากับเมืองนั้นไม่เคยแยกจากกัน เพราะเรายังอยู่บนโลกใบเดียวกัน อะไรที่เกิดขึ้นในป่านั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมของมนุษย์ในเมืองทั้งสิ้น แต่เรามักจะไม่เห็นทันทีทันใดเพราะโครงข่ายแบบโดมิโนนี้มีขนาดมหึมามาก ซึ่งเมื่อโดมิโนตัวเล็กๆ ได้ล้มลง ตัวที่เหลือก็จะล้มตาม เพียงแต่ว่ากว่าเราจะรู้สึกตัวได้นั้นก็ต้องใช้ระยะเวลายาวนานหลายสิบปี ซึ่งทุกวันนี้เราได้สัมผัสแล้วกับภาวะโลกร้อนและการระบาดของโรคร้ายแรง

       ป่าและเมืองจึงไม่ใช่เรื่องไกลกัน พอๆ กับหัวใจไม่ไกลจากดวงตา เพียงแต่ว่าเรามองไม่เห็นเท่านั้นเอง แต่ที่น่ากลัวกว่าการมองไม่เห็นก็คือ ‘โลก’ ที่เรารุกรานเริ่มสะท้อนความร้ายกาจกลับมาแต่เราดันไม่รู้สึก

       ยังทันไหมที่จะกลับตัวกลับใจ? ยังทันไหมที่เราจะฟื้นฟู? และยังทันไหมที่เราจะสำนึกว่ามันคือเรื่องใกล้ตัว?
       ลุกจากโต๊ะทำงาน เก็บของใส่เป้มุ่งหน้าสู่เขาใหญ่ ไปนั่งคุยกับหมอล็อตกัน



  เมืองกับป่าเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร แล้ววันนี้มันมีความสำคัญแค่ไหนในแง่การอนุรักษ์

       ผมเพิ่งกลับมาจากกรุงเทพฯ ตอนที่อยู่กรุงเทพฯ มองซ้ายมองขวาก็จะเห็นคน แน่นอนมันคือโลกมนุษย์ เรามองเป็นโลกมนุษย์ แต่เพียง 2 ชั่วโมงกว่าๆ ที่เราเดินทางมาเขาใหญ่ เราจะเห็นนก เห็นลิง เห็นฝูงชะนี เห็นช้าง เห็นกระทิง เห็นวัวแดง เห็นงู เห็นต้นไม้ เห็นสิ่งมีชีวิตต่างๆ นานาชนิด เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ออกไปดาวดวงอื่นนะ เรายังอยู่บนโลกใบนี้ สิ่งที่มันบอกเราเมื่อเข้ามาที่เขาใหญ่ก็คือ มันคือโลกของสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่โลกมนุษย์
       
       เมื่อเราบอกว่าโลกนี้เป็นของมนุษย์ เราจะใช้ตัวเราเองเป็นศูนย์กลางของโลก คิดที่จะทำอะไรต่างๆ นานา มนุษย์อาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการสูงที่สุด เพราะคำว่ามนุษย์มาจากคำว่ามโนสนธิกับคำว่าอุษย์ ก็คือผู้ที่มีจิตใจสูงส่ง รู้จักใช้อย่างมีเหตุมีผล นั่นคือนิยามของมนุษย์ แต่ดูสิ่งที่มนุษย์ทำกับโลกใบนี้สิ การทำลายทรัพยากร การทำลายธรรมชาติ การเบียดเบียนคุกคาม การล่าสัตว์ป่า นั่นคือสิ่งที่นำมาสู่การสูญเสีย ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งมีชีวิตสิ่งใดก็ตามที่อยู่บนโลกใบนี้มันเกี่ยวโยงเชื่อมต่อกัน ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้รับผลกระทบหรือสูญหายไปมันก็จะส่งผลเป็นลูกโซ่มาสู่สิ่งมีชีวิตอีกสิ่งหนึ่ง
       
       ณ เวลานี้เราต้องการให้สังคมรู้ว่านี่คือโลกของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า Planet ไม่ใช่โลกมนุษย์ แล้วมันมีความเชื่อมโยงกันยังไง? เมื่อสักครู่นี้เราบอกแล้วว่าเราอยู่ในโลกเดียวกัน สิ่งแวดล้อมเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งแวดล้อมมันเกิดการเปลี่ยนแปลง มันก็ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งที่อยู่ในโลก
       
       อย่างเมื่อวานนี้ (30 พ.ย. 2558) ท่านนายกฯ ท่านไปประชุมสภาพภูมิอากาศโลกที่มันสูงขึ้นจนมีความกังวลกันว่าถ้ามันสูงขึ้นเกิน 2 องศา เราจะหยุดยั้งไม่อยู่ เพราะว่าถ้ามันเตลิดไป 3 ไป 4 ไป 5 ไป 6 เราจะหยุดยั้งไม่ได้ แค่ 1 องศาเราก็สัมผัสได้แล้ว ตอนนี้มันกำลังไต่ไปถึง 2 ทุกประเทศในโลกเริ่มเห็นสอดคล้องร่วมกันเรื่องของคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด) เรื่องภาวะเรือนกระจก ทีนี้ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าแต่ละประเทศจะลดลงได้กี่เปอร์เซ็นต์
       
       เรื่องภาวะเรือนกระจกนี่เราก็ได้ยินมานานมากพอสมควร ถามจริงๆ ว่าวันนี้เราเอามันอยู่ไหม

       เอาไม่อยู่แล้ว เขามีการแถลงมาว่าอุณหภูมิโลกหรือภาวะเรือนกระจกครั้งนี้มันสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มันบ่งบอกว่าในบางพื้นที่ของโลกยังไม่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง หรืออาจจะมีปัญหาอุปสรรค หรืออาจจะมองเรื่องการพัฒนาเป็นประเด็นแรกๆ มากกว่า เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศไหน เล็กหรือใหญ่ ถ้าคุณไม่ให้ความร่วมมือ ผลกระทบมันก็ถึงกันแน่นอน เพราะอยู่ในเรือนกระจกเดียวกัน
       
       เราจะได้รับผลกระทบยังไง? มันก็ออกมาแล้วไงเรื่องของสภาพอากาศที่ไม่ตรงตามฤดูกาล ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น มันบอกแล้วว่าโลกเปลี่ยนตั้งแต่ชั้นบรรยากาศจนมาถึงใต้ทะเลและพื้นดินตรงแกนโลกที่มีการเคลื่อนไหว นอกจากนั้นยังมีเรื่องของโรคระบาดโรคติดต่อ อย่าลืมว่าพอโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตทุกอย่างมันก็เกิดการปรับตัวเองให้อยู่ได้สบายขึ้น เชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อไวรัสมันก็ปรับตัวให้อยู่รอดได้ แล้วมันยังมีความสามารถในการกลายพันธุ์ ซึ่งสิ่งที่ตามมาในการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดก็คือศักยภาพในการก่อโรคจะรุนแรงขึ้น ฉะนั้นโอกาสที่มนุษย์จะติดต่อโรคก็ง่ายขึ้น



แล้วเชื้อโรคพวกนี้มันไปอยู่ที่ไหน ทำไมเราจึงค้นหามันก่อนและป้องกันมันไม่ได้

       ส่วนใหญ่โรคอุบัติใหม่หรือเชื้อโรคที่เกิดขึ้นใหม่ๆ จะอยู่ในสัตว์ป่า เพราะเป็นแหล่งรวมโรคอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเชื้อโรคเหล่านี้ไม่ทำให้สัตว์ป่าแสดงอาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด พอมนุษย์ไปทำลายทรัพยากร ไปทำลายธรรมชาติ ไปล่าสัตว์ป่ามาบริโภคด้วยความเชื่อจึงทำให้เกิดช่องทาง การใช้ทรัพยากรที่ดินที่ไม่เหมาะสมไปถางป่าก็ทำให้สัตว์ป่ามันมาใกล้ชิดกับมนุษย์ พอเป็นแบบนี้เชื้อโรคก็เข้ามาสู่สัตว์เลี้ยงสู่คนก็ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตาย แต่มันไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เชื้อโรคมันสามารถติดจากสัตว์สู่คนแล้วมันก็จากคนสู่คนไปเรื่อยๆ กลายเป็นโรคติดต่อที่มันรุนแรง ธรรมชาติสร้างเชื้อโรคในสัตว์ป่าขึ้นมาเป็นเกราะป้องกันว่ามนุษย์อย่ามารุกล้ำ ถ้ารุกล้ำคุกคามคุณก็จะเจอเชื้อโรค ฉะนั้นเวลานี้ธรรมชาติกำลังคัดเลือกมนุษย์นะ ธรรมชาติกำลังคัดเลือกผู้ที่แข็งแรงเพื่อให้อยู่รอด คนที่จะอยู่รอดคือผู้ที่ต้องรู้จักปรับตัว เป็นการปรับตัวในการใช้ชีวิต ในเมื่อมนุษย์เอาชนะธรรมชาติไม่ได้ เราก็ต้องหาเครื่องมือมาต่อสู้กับธรรมชาติ นั่นก็คือธรรมชาติบำบัด เราต้องสร้างธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ให้มันคงอยู่ ที่มีอยู่แล้วก็รักษามันไว้ ตรงไหนที่เคยเป็นเคยมีเราก็ต้องฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่าให้ได้ เขาให้ทางเลือกมาแล้วว่าอยากอยู่รอดก็ต้องเข้าหาธรรมชาติ คุณไม่ต้องไปหาเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่หรอก แค่ย้อนกลับมา
       
       อีกหนทางรอดหนึ่งคือ เราคนไทยมีในหลวงซึ่งถือว่าเป็นเทวดาที่มีชีวิต ท่านมีกรอบแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับคนไทยอยู่แล้วในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หนึ่งในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือใช้อย่างพอเพียง แล้วก็ไม่ให้เกิดการทำลายเพิ่มเติม สิ่งสำคัญก็คือพระองค์ท่านจะเน้นย้ำเรื่องการปลูกพืชสมุนไพร ประเทศไทยมีสมุนไพรนานาชนิดในการรักษาโรค ในการดูแลสุขภาพให้ดี นั่นคือกุญแจแห่งการอยู่รอด สมุนไพรที่เราปลูกตามบ้านล้วนเป็นยาอายุวัฒนะทั้งสิ้น ผมเองกินฟ้าทะลายโจรเป็นประจำ โอกาสเจ็บป่วยมันก็น้อย เรามีของพวกนี้อยู่แล้ว
       
       ฟังๆ ดูสัตว์ป่าก็คือแหล่งรวมโรคดีๆ นี่เอง แต่ทำไมคนบางกลุ่มยังนิยมที่จะบริโภคมัน

       เราดันไปเชื่อกันผิดๆ ว่าเนื้อสัตว์ป่าคือแหล่งยาบำรุงกำลัง เวลาคุณกินเมนูสัตว์ป่าจะรู้สึกกระชุ่มกระชวย รู้สึกมีพลัง เลือดสูบฉีด ที่ไหนได้มันเกิดจากเครื่องเทศ ใส่เนื้อไก่เนื้อหมูมันก็สูบฉีดได้เหมือนกัน เนื้อสัตว์ป่ามันก็แค่แหล่งโปรตีนธรรมดา หรืออย่างความเชื่อเรื่องบำรุงกำลังทางเพศก็เหมือนกัน เสือผสมพันธุ์กันไม่กี่วินาทีแล้วคุณไปเอาตัวเดียวอันเดียวเขามากินจะช่วยอะไร ช้างแค่ 15 วินาทีก็หมดแรงแล้ว ส่วนใครที่ชอบกินเกล็ดลิ่น (ลิ่นคืออีกชื่อเรียกของตัวนิ่ม) มันก็ไม่ต่างอะไรกับกินเล็บ ใครอยากกินเกล็ดลิ่นก็ไปเรี่ยไรเล็บคนที่ตัดมากินก็ได้ เคราตินเหมือนกัน เลียงผาที่คนคิดว่าน้ำมันของมันจะช่วยรักษาอาการฟกช้ำดำเขียวอะไรต่างๆ ก็เหมือนกัน ผมรักษาเลียงผาที่ถูกทุบตีเดินขาหักมาเยอะแยะยังไม่เห็นว่ามันจะรักษาตัวเองได้เลย เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากความเชื่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและผิดเพี้ยน แล้วที่สำคัญผิดกฎหมาย
       
       สัตว์ป่าตายหนึ่งตัวใช่ว่าจะหาใหม่ได้ บางคนคิดว่ามันยังมีเหลืออีก 200-300 ตัว แต่ในสายตาเรามองว่ามันคือพันธุกรรมดีที่หายไปเลยนะ มันคือความหลากหลายทางพันธุกรรม อย่างผมหายไปคนจะเอาใครมาทดแทนได้ไหม เรื่องรูปร่างหน้าตา ความสามารถ มันไม่เหมือนกัน ในขณะเดียวกันช้างป่าตายตัวหนึ่งจะเอาช้างบ้านไปปล่อยชดเชย มันแทนกันไม่ได้! ช้างป่าหนึ่งตัวมันทำหน้าที่บุกเบิกเส้นทางธรรมชาติ โน้มกิ่งไม้ข้างบนมาข้างล่างให้สัตว์ชนิดอื่นกินยอดไม้ กินอาหารแล้วอึออกมาก็ได้กระจายพันธุ์ไม้ ที่ไหนมีช้างที่นั่นมีป่า นี่เราคิดมูลค่าจากคุณประโยชน์ของช้างหนึ่งตัว เพราะฉะนั้นในแง่เศรษฐศาสตร์เขาบอกว่า มูลค่าของสัตว์ป่าให้คูณราคาตามท้องตลาด 17-20 เท่า สมมุติช้างบ้านเชือกหนึ่งราคา 1 ล้านบาท ถ้าเทียบราคาช้างป่าคือ 20 ล้าน เพราะเขาคิดจากคุณประโยชน์ของช้างป่าตัวหนึ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อธรรมชาติ
       
       แล้วเราจะเดินคู่กันไปอย่างไร ระหว่างความศิวิไลซ์กับการอนุรักษ์

       เขาเรียก sustainable หรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน คือมีการใช้แล้วก็มีการทดแทน มีการรักษา ทำให้เพิ่มขึ้น เราใช้วันนี้ลูกหลานเราก็ยังมีใช้ ซึ่งต่างจากอดีตที่เราใช้กันอย่างไม่บันยะบันยัง ใครกอบโกยได้ก่อนก็ได้ทรัพยากรมาก วันนี้เราต้องมาดูว่าเราใช้ได้แค่เท่าไหร่ เราไม่ได้ต่อต้านเรื่องการพัฒนา แต่มองเรื่องการอนุรักษ์ควบคู่ไปด้วย
       
       อีกเรื่องก็คือการปรับทัศนคติ ในอดีตบ้านใครมีงาช้างก็จะมองเป็นเรื่องเจ๋ง เปลี่ยนมุมมองได้ไหม ใครมีเยอะสนับสนุนให้ไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ซะ ในขณะที่ใครยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในบ้านก็อย่าไปมองว่าเขาเจ๋ง จริงๆ มันเอาต์ไปแล้วกับการมีเขา มีงา มีซากสัตว์อยู่ในบ้าน อย่าไปยกย่องคนที่มีสิ่งเหล่านี้ เราควรจะชื่นชมบ้านที่ปลูกต้นไม้ไว้รอบบ้าน บ้านที่ปลูกพืชสวนครัวไว้กินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องของการครอบครองซากสัตว์หรืออะไรที่ผิดกฎหมายต่างๆ การแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่เอากฎหมายไปจับคนที่มีอยู่แล้ว เราควรจะป้องกันคนที่จะมีใหม่ด้วยการปรับทัศนคติของคนในสังคม ใครมีซากสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่เชย



ป่าในเมืองนี่จำเป็นแค่ไหน อย่างกรณีของบางกระเจ้าเองก็เริ่มๆ จะมีการพัฒนาที่ดินกันแล้ว

       ถ้าเรามีปอดที่ใหญ่เราก็วิ่งได้ไกลขึ้น ฉะนั้นการปลูกต้นไม้ในเมืองมันคือการเพิ่มความแข็งแรงให้กับปอด ต้นไม้ก็คือส่วนหนึ่งของตัวเราเอง มองให้เป็นตัวเรา นั่นคือปอดของเรา ถ้ามีมากขึ้นตัวเราเองได้ประโยชน์อยู่แล้ว ทั้งเรื่องการฟอกอากาศ เรื่องออกซิเจน เรื่องของความร่มรื่น ความสวยงาม ลองคิดดูว่าสถานที่หรือถนนไหนก็ตามที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งดึงดูดเนี่ยยังไงก็ต้องมีต้นไม้มีดอกไม้ ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้คนที่เกี่ยวข้องเขารู้ล่ะแต่เอาง่ายไว้ก่อน ถ้าละเอียดรอบคอบมากกว่านี้เราจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมหาศาล
       
       ในกลุ่มคนที่มองเรื่องการพัฒนาที่ดินเขาก็จะบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวเราปลูกเพิ่มใหม่ได้ ถามจริงๆ ในความคิดหมอคิดว่ามันจะทันไหมกับภาวะโลกร้อนที่เราเผชิญอยู่

       เรื่องโลกร้อนมนุษย์เห็นผลแล้วว่าการทำลายธรรมชาติมันมีผลกระทบต่อมนุษย์ แน่นอนการทำลายมันเกิดขึ้นซึ่งใช้เวลาสั้น ส่วนการฟื้นฟูใช้เวลายาว การฟื้นฟูที่ใช้เวลายาวๆ เนี่ยมันเป็นไปได้ยากเพราะผลกระทบเราเกิดขึ้น ณ วันนี้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่นานาประเทศจะขวนขวายหาดาวดวงใหม่ คือวันนี้ดาวดวงเดิมก็ยังพออยู่ได้ แต่อนาคตมันอยู่ไม่ได้แน่ๆ ทวีปอื่นเขาหาดาวดวงใหม่กันแล้ว แต่ทวีปเรายังทำลายกันอยู่เลย ฉะนั้นเรือโนอาห์ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในอนาคตอาจจะมี แต่ว่าใครล่ะจะได้ไป ตอนนี้ธรรมชาติกำลังคัดเลือกเราด้วยโรคต่างๆ เรื่องภัยธรรมชาติ ถ้าวันหนึ่งเกิดวิกฤติขึ้นมาจนโลกเราอยู่ไม่ได้ มนุษย์ก็ต้องคัดเลือกกันเองแล้วว่าใครจะได้ไปอยู่ที่ใหม่
       
       ในฐานะคนเมือง เราจะมีวิธีช่วยดูแลธรรมชาติกันยังไงบ้าง

       เริ่มจากตัวเราเองในชีวิตประจำวันนี่แหละ ใช้น้ำอย่างประหยัด อย่างตัวผมก็ไม่รีดเสื้อ ใส่เสื้อยับๆ เพื่อประหยัดไฟ เรามองภายนอกแต่งตัวเนี้ยบเรียบหรูใช่ว่าจะเป็นคนดีเสมอไป เรามาสร้างเทรนด์ใส่เสื้อยับกันดีกว่า เพราะเวลาเรารีดผ้าคนรีดก็ร้อน พอร้อนก็เปิดแอร์รีดผ้าอีก แค่คุณเสียเวลาสลัดผ้าตากหน่อยมันก็เรียบแล้ว

 แล้วห้ามเดินห้างไหม? เดินเลย เพราะมันเป็นการสร้างความสบายให้กับตัวคุณเอง มันเป็นกิจกรรมของมนุษย์อยู่แล้ว อย่าไปสุดโต่ง ขอให้มีสติ ตอนนี้ทุกคนรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงมันเกิดจากอะไร ทุกคนรู้แต่ไม่ปรับตัว เราไม่อยู่ในสถานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งที่เกิดขึ้น แนวทางของเราแค่พูดเขาก็อาจจะไม่อิน ต้องดึงเขาเข้ามาสัมผัส ให้เขาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างสมมุติผมกำลังรณรงค์เรื่องขยะในอุทยาน เราบอกว่าอย่าทิ้งขยะในอุทยานนะ สัตว์ป่ามากินแล้วจะไม่ดี คนก็บอกว่าทิ้งให้ถูกที่ก็พอมั้ง แต่พอขยะมันเยอะๆ เข้าก็ขนทิ้งไม่ทัน สัตว์ป่าก็ไปคุ้ยกิน ฉะนั้นเราต้องเอาคนเหล่านี้มาสัมผัส อย่างเช่นเห็นลิงตัวนี้ไหมที่คนเอาอาหารมาให้เมื่อ 15 นาทีที่แล้ว แต่ปัจจุบันมันถูกรถชนตายเพราะคนให้เขาคิดว่าทำบุญ แต่สำหรับลิงกลับเรียนรู้ว่าเมื่ออยู่ข้างถนน คนก็จอดรถเอาขนมให้กิน พอได้กินติดใจรสชาติ มันก็เรียนรู้ต่อว่าถ้ากระโดดขวางรถ รถจะหยุดแล้วมีคนเอาอาหารให้ มันเริ่มต้นจากการทำบุญแต่ท้ายสุดก็เป็นบาป เราต้องพาคนเหล่านี้มาดูมาสัมผัส อย่างเราผ่าท้องกวางก็ชี้ให้เขาเห็นเลยว่าในท้องมันมีถุงพลาสติกอัดอยู่เต็มเลย เมื่อคนเหล่านี้มาเห็นก็จะเกิดการกลั่นกรอง การปรับทัศนคติด้วยตัวเขาเอง แล้วมันจะกลายเป็นข้อมูลนำเสนอต่อคนอื่นๆ ดังนั้นหน้าที่ของเราก็ต้องเป็นคนสื่อความหมายของธรรมชาติ โจทย์คือเราจะทำยังไงให้คนเหล่านี้รู้ได้มาก เราต้องสร้างฮีโร่ขึ้นมา ทุกคนเป็นฮีโร่ได้ ให้เขาไปขยายในวงของเขา เราเรียกว่าฮีโร่แชร์ลูกโซ่



หน้าที่ของหมอนอกจากอยู่ในป่าแล้ว ยังเห็นออกไปทำงานเรื่องกำหนดนโยบายและแผนด้วย เป็นยังไงมายังไงถึงไปทำได้

       คือเมื่อก่อนผู้ปฏิบัติกับผู้กำหนดกรอบทำงานแบบต่างคนต่างทำ มันเลยเกิดการผิดเพี้ยน แต่ ณ เวลานี้ผู้ใหญ่ก็มองว่ามันควรจะเชื่อมโยงกัน แล้วผมเองในฐานะสัตวแพทย์ที่เข้ามาทำงานอนุรักษ์ เราก็เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่เข้ามาเติมเต็มงานอนุรักษ์ แต่หลักๆ ก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ที่จบวนศาสตร์ จบป่าไม้ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในเขตอุทยาน เมื่อเรามาทำงานกับพวกเขาก็เห็นว่าเขาเหล่านั้นเสียสละมาก แต่ด้วยความที่เขาทำงานในพื้นที่ก็มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะถ่ายทอดข้อเท็จจริง เมื่อเรามีโอกาสมาทำงานในเชิงนโยบายก็เอาข้อเท็จจริงเหล่านี้ไปบอกเล่า
       
       ตอนผมทำงานตอนแรกไม่มีใครเชื่อเพราะสิ่งที่เราทำมันไม่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ช้างบาดเจ็บ กระทิงบาดเจ็บ คุณจะเข้าไปรักษาเขาในป่ายังไง เขาก็คิดกันว่าอะไรที่ไม่เคยเห็นคือทำไม่ได้ แต่ในมุมมองของเราคืออะไรที่ไม่เคยทำไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ ตอนนั้นวิชาชีพเดียวกันกับผมก็ยังคิดว่าทำได้เหรอ ซึ่งจริงๆ เราจะหยุดทำก็ได้เพื่อรักษาชีวิตตัวเองไว้ แต่ถ้าเรามองในฐานะตัวแทนวิชาชีพ เวลานั้นมันจึงไม่ใช่เวลาการทำงานของไอ้ล็อต แต่เป็นการทำงานของสัตวแพทย์ไทย เอาวะ! เป็นนักมวยขึ้นเวทีต้องชก จะโดนน็อก จะโดนหามนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเรานึกว่าเป็นตัวแทนวิชาชีพเราจะมีความรอบคอบมุ่งมั่น หาทีมที่ปรึกษา การทำงานตอนแรกเราจะทำอย่างเดียว ภาพที่ออกมามันก็จะเห็นภาพการทำงาน ดีบ้างไม่ดีบ้างเราก็เต็มที่กับมันแล้ว เมื่อสังคมเห็นว่าหมอล็อตทำเต็มที่เขาก็คิดกันเองว่ามีอะไรจะช่วยได้บ้าง เพราะในการทำงานตอนแรกๆ นั้นผมไม่มานั่งพูดหรอกว่าไม่มีเครื่องมืออะไรเลย ต้องไปเดินขอยาอะไรต่างๆ นานา เราจะพูดอย่างนั้นก็ได้ แต่มันเหมือนการถุยน้ำลายรดหลังคาบ้านตัวเองหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราจะบอกว่าเราทำเต็มที่แล้วครับตามสภาพความพร้อมที่เรามี การทำงานมันมีข้อจำกัดมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นเราคือ practitioner ไม่ใช่ perfectionist เมื่อเขาเห็นภาพการทำงานก็จะเห็นเลยว่าต้องสนับสนุนอะไร จากเดิมที่เราพูดแล้วไม่เชื่อ แต่จากที่เราสร้างภาพให้เกิดขึ้น สร้างข้อเท็จจริงให้เกิดขึ้น ให้สังคมได้ความรู้ความเข้าใจ
       
       เมื่อเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการอยู่ในรัฐสภา เป็นนักวิชาการผู้ชำนาญการ เราก็เอาภาพถ่ายข้อเท็จจริงทั้งภาพนิ่งและวีดิโอให้ผู้ใหญ่เขาดู อย่าลืมว่าสังคม ณ เวลานี้การดับเบิ้ลเช็กมันทำได้ง่าย รู้เลยว่าใครจริงหรือไม่จริง

       สมัยผมทำงานแรกๆ จะเห็นเลยว่าหน่วยงานรัฐและเอ็นจีโอจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันตลอด แต่เวลานี้เป็นยุคใหม่ ทั้งสองฝั่งมาประสานกัน เมื่อรัฐมีข้อจำกัดด้านไหนเอ็นจีโอก็เข้ามาช่วยกัน เพราะเป้าหมายก็คือเป้าหมายเดียวกันคือบูรณาการใหม่ของการอนุรักษ์ ในขณะเดียวกันความเกรงใจมันก็ไม่ใช่เพิ่มมากขึ้นนะ หากเนื้อหาใดไม่สอดคล้องก็โต้แย้งกันได้ ฉะนั้นการอนุรักษ์ตอนนี้สนุกมาก
       
       เรื่องระเบียบ เรื่องการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ของเรา ตอนนี้มีคุณภาพอยู่ในระดับไหนของโลก

       เมื่อวันก่อนผมไปบรรยายก็ถูกตั้งคำถามมาว่า ทำไมบ้านเราระเบียบการเข้าเขตอนุรักษ์แย่มาก ผมก็ตอบว่าในแง่การจัดการของเรานั้นดีที่สุดในโลก เพราะว่าทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศไม่เหมือนที่อื่น การจัดการจึงไปเทียบที่อื่นไม่ได้ เอาระบบที่อื่นมาจัดการทั้งหมดไม่ได้ กฎระเบียบที่วางไว้ในประเทศไทยมันดีอยู่แล้ว แต่ที่มันแตกต่างจากที่อื่นเลยคืออะไรรู้ไหม คือสำนึกของคนที่มาเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติเขาไม่ทิ้งขยะสักชิ้น เขาเก็บแล้วเอาลงไปทิ้งข้างล่าง เขามีสำนึก จนคนเราเองไปโทษว่าต้องมีกฎหมายเข้มงวด จริงๆ แล้วมันอยู่ที่สำนึกเท่านั้นเอง แล้วการจะกระตุ้นสำนึกให้เห็นพ้องและเข้าใจ เราทำให้เขารู้ไม่พอ ต้องให้เขามาสัมผัส
       
       ทีนี้การเข้าถึงคนมันมีหลายกลุ่มมาก การเปลี่ยนมุมมองการไปยืนอยู่ในสมองเขามันไม่พอ มันต้องนั่งในหัวใจเขาให้ได้ นั่นก็คือการเป็นพวกเดียวกัน เช่น ผมอยากรณรงค์กับนักปั่นจักรยาน เราก็เป็นนักปั่นไปกับเขา ทำยังไงให้วินวินกันทั้งคู่ คนมาเขาใหญ่ก็ได้ เราก็มีกิจกรรมเก็บขยะ ทำโป่ง ถางต้นสาบเสือ ทำฝาย เป็นการตอบแทนธรรมชาติ อย่างอยากจะเข้าถึงกลุ่มไบค์เกอร์ผมก็เป็นไบค์เกอร์บ้าง หามอเตอร์ไซค์มาขี่เลย เราจะได้คุยภาษาเดียวกัน เปิดอกคุยมันก็ง่าย เพราะกิจกรรมของไบค์เกอร์มันส่งผลต่อการอนุรักษ์จริง ดังนั้นเราก็ต้องหากรอบที่เหมาะสมให้กับเขา ไม่ใช่รถเสียงดังก็ห้าม อย่าลืมนะครับว่าการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดคือการมีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกันในการเข้าถึงธรรมชาติ แล้วกรอบต้องเป็นยังไง เช่น อย่าขับเร็วเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เสียงท่อต้องไม่ดังเกิน 95 เดซิเบล เราก็สร้างกฎระเบียบกติกากัน ตอนยังไม่เข้าเขตอนุรักษ์วัดแล้วเสียงไม่เกิน แต่รวมกลุ่มแล้วเกินทำยังไง เราก็ให้เขาไปทำการบ้านมา เขาก็บอกว่าไม่เร่งรอบ ไม่เบิ้ลเครื่อง ไม่ขี่รวมกลุ่ม นี่เป็นกฎที่เขาสร้างขึ้นมาเอง เป็นการแสดงจิตสำนึกของตัวเขาเอง เราก็เสริมเขาว่านานๆ คุณมาในอุทยานทีนั่นคือโอกาสดีที่ได้หายใจได้ฟอกปอด หากคุณขับช้าๆ นั่นคือการได้หายใจนานๆ ได้ฟอกปอดนานๆ เป็นข้อดีว่าทำไมต้องขับช้าๆ เมื่อต้องอยู่ในเขตอุทยาน นี่คือความใจกว้าง เมื่อกลุ่มนี้ทำได้ก็จะมีการส่งต่อความรู้ไปยังกลุ่มอื่นๆ อีก คนเหล่านี้ทำงานแทนเราทั้งนั้น เรามีหน้าที่สร้างฮีโร่ อย่างที่บอกเราไม่ได้เป็นจุดศูนย์รวม แต่เราเป็นจุดเริ่มต้น
       
       อย่างกรณีของพระ พระมาธุดงค์เป็นการรบกวนสัตว์ป่าหรือไม่ พระเองเมื่ออยู่ในป่าก็ถูกทำร้าย บางครั้งการเอาอาหารไปให้สัตว์ที่ชายป่า เมื่อสัตว์ป่าลงมากินมันติดใจก็ลงไปพื้นที่ชาวบ้าน ชาวบ้านก็เดือดร้อน นายพรานก็ไม่ต้องล่าไกลแล้ว เราก็ต้องไปจับพระ พระก็บอกว่าอาตมาทำบุญ ทำแล้วสัตว์ป่ามากินแล้วมีความสุข เพราะฉะนั้นศัตรูในการทำงานของพวกเราคือความปรารถนาดีนะ แต่มันเป็นความปรารถนาดีที่ผิดเพี้ยน เวลาเราไปคุยกับพระ พระก็บอกว่าไม่ต้องมาสอนอาตมาหรอก พูดอย่างนี้แล้วทำยังไงล่ะ เราก็บวชสิครับเพื่อเป็นพวกกับเขา แล้วก็ตั้งข้อกำหนดกันออกมาว่าหลักการให้อาหารสัตว์ป่าทำยังไง
       
       การให้อาหารสัตว์ป่าโดยตรงมันผิดธรรมชาติ ผิดพฤติกรรม เพราะเราไม่ได้ให้อาหารที่เป็นธรรมชาติของป่า ดังนั้นสิ่งที่ถูกต้องคือการสร้างครัวให้กับเขา สร้างอาหารให้ไปกินเอง สร้างแหล่งอาหารกับให้อาหารมันคนละอย่างกันนะ เพราะฉะนั้นกลยุทธ์คือสิ่งที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมันจะเป็นภาพออกมาให้สังคมเห็น ผู้ใหญ่เห็นก็จะเกิดการสนับสนุนกลับมา

     

10 กว่าปีในการทำงานด้านอนุรักษ์ อะไรคือข้อดีที่เกิดขึ้นทั้งตัวหมอและสังคมรอบข้าง

       สำหรับผม ผมได้เป็นข้าราชการ คำคำนี้หลายๆ คนอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญหรือรู้สึกอะไรมากนัก แต่ผมในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีความจงรักภักดี การเป็นข้าราชการก็คือผู้ทำงานต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั่นคือมงคลชีวิตของคนไทยคนหนึ่งที่ได้ทำงานเพื่อประเทศชาติ นั่นคือความภูมิใจสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใดแล้ว ฉะนั้นข้าราชการก็คือมีหน้าที่บริการประชาชน พอเราเป็นตรงนี้เรายิ่งต้องเข้าถึงประชาชนให้มาก เพราะภาษีที่เขาจ่ายมามันคือค่าตอบแทนเรา เกียรติยศชื่อเสียงมันเป็นแค่รอยยิ้มที่มุมปาก แต่มันไม่ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
       
      สังคมได้อะไร? ได้ความตระหนัก ได้ความรับรู้ ได้รู้สึกว่าเขามีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องมาประคับประคอง ป้องกัน และแก้ไข เราเป็นแค่คนที่ประชาชนเขาจ้างมา เราเป็นสัตวแพทย์รับจ้างที่ทำงานให้กับประชาชนทั้งประเทศ แต่ถามว่าความฝันสูงสุดในชีวิตคืออะไร เราแค่อยากเป็นผู้นำครอบครัวที่อบอุ่น เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตนของเราได้ดีที่สุดว่าเราคือคนธรรมดา สังคมอาจจะมองว่าหมอล็อตเป็นฮีโร่ แต่รู้ไหมว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมันคือหน้าที่ที่เราต้องทำให้สำเร็จ ตอนเข้าป่าถามว่าคิดอะไรอยู่ เราคิดแต่ว่าทำให้เสร็จแล้วเราจะได้กลับบ้าน คำว่ากลับบ้านมีความหมายกับเราและลูกน้องมาก เมื่อเสร็จภารกิจแล้วเราขับรถไปส่งลูกน้องที่บ้าน เราได้เห็นลูกเมียของเขายืนรออยู่หน้าบ้าน ลูกวิ่งมาหาพ่อ ภาพเหล่านั้นมันเป็นภาพที่ประทับใจในฐานะที่เราเป็นหัวหน้าทีม เราพาเขาไปเสี่ยงชีวิตกับสัตว์ป่าแล้วก็พาเขามาส่งบ้านได้มันเป็นอะไรที่มีความสุขมาก ส่วนเราก็กลับไปใช้ชีวิตชายหนุ่มโสดในเมือง
       
       ภาพตรงนี้เราอยากให้เขาเห็นให้ชัด ให้เขาเห็นว่าเราอยู่ในเมืองได้ ไปปั่นจักรยาน ไปดูหนัง หรือแฮงก์เอาต์กับเพื่อนได้ มันไม่ใช่ว่าคนที่มาทำงานด้านนี้ต้องตัดส่วนอื่นๆ ของชีวิตไปเลย มันไม่ใช่! ต้องมานอนในป่าใบไม้ปิดไข่ใบเดียวเดินไปเดินมา มันไม่ใช่! คุณสามารถบาลานซ์ชีวิตได้ ใช้ชีวิตปกติได้ สิ่งที่เราทำคือทำโดยหน้าที่ บางคนอาจจะมองว่าผมรัก ผมไม่รักนะ ผมอยากใส่สูทผูกไทขับ BMW หรูๆ รับสาวไปกินข้าว หรือเป็นเพลย์บอยกันไป แต่เป็นอย่างนั้นสังคมไม่ได้ประโยชน์ ฉะนั้นคนเราอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นในสิ่งที่เราชอบหรือเรารักก็ได้ แต่ควรจะเป็นในสิ่งที่สังคมได้ประโยชน์ ถ้าสังคมดีตัวเราก็ดี ถ้าสังคมแย่ตัวเราก็แย่
       
       ในเมื่อเราไม่ได้รักยังทำได้ขนาดนี้ แล้วถ้าคนที่รักมาทำแบบเรามันต้องดีกว่าสิ ถ้าใครรักมาทำเลย เพราะสังคมจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ
       
       ฮีโร่ของหมอคือใคร

       ตัวผมเองนี่แหละครับ เพราะว่าทุกครั้งที่เราส่องกระจกเราเห็นฮีโร่ทุกวัน ฮีโร่มันไม่ได้เป็นอมตะนะ มันตายได้ เป๋ได้ เพี้ยนได้ ฉะนั้นในการที่เรามองตัวเองว่าเป็นฮีโร่ทุกวันนั่นคือการเตือนสติตัวเราเอง ว่าอย่าไปเคลิ้มไปเหลิงไปเพี้ยนไปหลงกับสิ่งที่เราได้มา ฮีโร่ที่เรามองอยู่ในกระจกคือคนที่ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ บางคนถามว่าทำไมหมอล็อตไม่เป็นดารา เพราะเราไม่อยากให้สังคมมองเราผิดเพี้ยนไป เราอยากให้มองแค่ว่าคือสัตวแพทย์ ให้ชัดตรงนั้น บางคนมาชวนไปเล่นเกมโชว์ มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นฮีโร่ที่เราเห็นทุกวันคือตัวเราที่ต้องเตือนตัวเองอยู่ทุกวันว่าเราเป็นใคร เราทำอะไร มาจากไหน ผมเป็นหมอก็จะเป็นหมออยู่ต่อไป ตายไปก็ยังมีตำแหน่งนำหน้าชื่อเราว่านายสัตวแพทย์



  เมื่อไหร่ที่คิดจะวางมือจากการเป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่า
       ผมคือสัตวแพทย์มืออาชีพ ผมจะทำงานนี้ไปเรื่อยๆ และอย่าลืมว่าผมถือไมโครโฟนจับปากกาก็รักษาสัตว์ได้ เมื่อเราเป็นสัตวแพทย์มืออาชีพมันก็จะติดตัวเราไปตลอด เพื่อนๆ ถามว่าเมื่อก่อนดูก๊อกแก๊ก แต่หลังๆ ทำไมเท่ เราก็บอกว่าทำความดีสิ หน้าตาเราก็เหมือนเดิมไม่ได้ทำอะไรมา สิ่งที่เพิ่มเติมคือทำความดีเดี๋ยวมันหล่อเอง อยากหล่อก็ทำความดี หน้าที่มันดูดีกว่าหน้าตา หน้าตาหล่อตามอายุขัย แต่ความดีมันหล่ออมตะ ตายยังหล่อ (หัวเราะ)
       
       ความภูมิใจในฐานะลูกผู้ชายสำหรับเรามี 3 สิ่งที่ต้องทำ 1.รับใช้ชาติ 2.สืบทอดพระพุทธศาสนา 3.ดูแลผู้หญิงที่เรารักให้ดีที่สุด สองอย่างแรกเราทำแล้ว ถามว่าวันนี้ทำไมยังไม่มีแฟน? นั่นเพราะเราไม่ใช่คนเจ้าชู้ บุคลิกอาจจะทะเล้นแอบหล่อ แต่ผมไม่เจ้าชู้นะ แล้วให้เกียรติผู้หญิงด้วย อย่าลืมนะครับว่าทำงานกับสัตว์ป่าถ้าใจคุณไม่บริสุทธิ์คุณทำไม่ได้ เคยมีคนมาแข่งกับผม เขาเข้าถึงตัวสัตว์ยังไม่ได้เลยแต่ทำไมสัตว์เขาให้ผมเข้าไปรักษาได้ ตอนนั้นที่มีข่าวหมอล็อตเดินนำช้างตกมันเข้าป่า ช้างเขาไม่รู้หรอกครับว่าเราเป็นสัตวแพทย์ แต่เจตนาของเรานั่นแหละมันสื่อออกมาเอง สัตว์ป่าเขารับรู้ได้ ตอนแรกเราก็ไม่เชื่อ แต่หลายครั้งมันก็ทำให้เราเชื่อไปเอง เวลาที่ผมจะรักษาช้างเราก็ยกมือไหว้ สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเป็นตัวการันตีว่าเราต้องไม่ผิดศีล ต้องมีคุณธรรมจริยธรรม ถ้าเราไปมีเรื่องชู้สาวมันก็ทำให้ตัวเราไม่บริสุทธิ์
       
       หลายคนอาจจะมองว่าหมอล็อตน่าจะชอบผู้หญิงที่ชอบป่าเขาลำเนาไพร แต่จริงๆ แล้วเราต้องการผู้หญิงในเมืองเลย เป็นคุณหนู เป็นเวิร์กกิ้งวูแมนเลย เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเขาจะได้ดึงเราเข้าไปสู่สังคมเมืองที่มีการขับเคลื่อนตลอดเวลาเพื่อการปรับตัว แล้วเราเองก็ได้ใช้โอกาสนี้ดึงคนในสังคมเมืองมาสู่ธรรมชาติ พบกันคนละครึ่งทาง เพราะฉะนั้นสเป๊กผมก็คือผู้หญิงในเมืองทันสมัย ซึ่งตอนนี้ก็ยังถวิลหาอยู่

จาก http://astv.mobi/AYySHyz


หมอล็อต ใน นามแห่งชาติ ใน รายการ ตีสิบ

<a href="https://www.youtube.com/v/gYvPjBLGC6I" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/gYvPjBLGC6I</a>


Perspective : หมอล็อต | สัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกของไทย (4 ตอน จบ) https://youtu.be/NsnjNCJapUQ?list=PL7CpFvIS6ahj3bgkuNiePbKQ8SjCZ-CHb

<a href="https://www.youtube.com/v/NsnjNCJapUQ" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/NsnjNCJapUQ</a>


คนค้นฅน : หมอล็อต หมอสัตว์ป่า ( 16 คลิป จบ ) https://youtu.be/eDcTOemoyuc?list=PL252ljiloxrrb9ygJO7aRxY374Ncy-RG4

<a href="https://www.youtube.com/v/eDcTOemoyuc" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/eDcTOemoyuc</a>


รายการ ธรรมชาติมาหานคร ตอน หมอล็อต ( 3 คลิป จบ) https://youtu.be/DuBnrwk2TQM?list=PLEkKKtnAZr4cAcO6FaPM_afY3QDh3cMxG

<a href="https://www.youtube.com/v/DuBnrwk2TQM" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/DuBnrwk2TQM</a>


รายการ ปิดทองหลังพระ หมอล็อต สัตวเเพทย์เพื่อโลกใบสวย https://www.youtube.com/channel/UCMPk1GDBHLg4uEsD3qjAy8w

<a href="https://www.youtube.com/v/tbBuAO19zP0" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/tbBuAO19zP0</a>


คนต้นแบบ : ต้นกล้ากลางป่าเขา "หมอล็อต" สัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกของไทย

<a href="https://www.youtube.com/v/faNHd92pZNQ" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/faNHd92pZNQ</a>
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน

ภายใต้ท้องฟ้าสีครามบนผืนป่ากว้างทั่วประเทศ คือห้องทำงานที่เขาใช้ช่วยชีวิตสัตว์ป่าให้อยู่รอดปลอดภัยจากเงื้อมมือมนุษย์ ภารกิจสำคัญซึ่งหมอหนุ่มหวังจะผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติในสภา

จากนักกีฬาบาสเกตบอลตัวแทนระดับจังหวัดผันตัวเองมาเรียนคณะสัตวแพทย์เพื่อลบคำปรามาสของเพื่อนๆในที่สุดเขาก็เดินตามฝันได้สำเร็จเริ่มต้นจากเป็นหมอช้างของกรมปศุสัตว์ที่บ้านเกิดกระทั่งเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวุฒิสภาและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายสัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกของประเทศไทยประจำกรมปศุสัตว์สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติจ.สุรินทร์นสพ.ภัทรพลมณีอ่อนหรือหมอล็อตพูดคุยถึงภารกิจพิทักษ์ชีวิตสัตว์ป่าของเขาให้เราฟัง

นายสัตวแพทย์หนุ่มวัย 28 ปีเริ่มต้นเล่าประวัติชีวิตของตัวเองซึ่งเกิดและเติบโตในจ.สุรินทร์คุณพ่อ(พ.ต.อ.เลื่อน) รับราชการตำรวจส่วนคุณแม่(นิธินาถ)รับราชการที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจากนั้นคุณพ่อได้พาครอบครัวย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ที่จ.นครศรีธรรมราชกระทั่งอายุ 11 ปี จึงย้ายกลับมาเรียนมัธยมศึกษาปี 2 ที่โรงเรียนสุรวิทยาคารอ.เมืองจ.สุรินทร์และจบปริญญาตรีคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

ด้วยความเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลของโรงเรียนและเป็นตัวแทนระดับจังหวัดทำให้เขากังวลในคำถามที่อยู่ในใจเรื่อยมาที่ว่า“หากเลือกเรียนคณะยากจะไม่มีเวลาเล่นกีฬา”แต่สุดท้ายชายหนุ่มก็เลือกเรียนสัตวแพทย์์ท่ามกลางข้อกังขาของอาจารย์และเพื่อนๆที่เคยปรามาสว่าคนอย่างเขาจะเป็นหมอได้หรือโดยเจ้าตัวให้เหตุผลที่เลือกเรียนสัตวแพทย์ว่า“เพราะสัตว์พูดไม่ได้ว่าเจ็บหรือปวดตรงไหนจึงคิดว่าการรักษาสัตว์น่าจะยากกว่าการรักษาคน

พอเรียนจบก็รู้ทันทีว่าการเรียนกับกีฬาสามารถทำควบคู่ไปด้วยกันได้ผมเลยมีเป้าหมายว่าไม่อยากเป็นหมอแต่ยังอยากเล่นกีฬาต่อไป(ยิ้ม) ถ้าวันหนึ่งร่างกายไม่ไหวแล้วก็ยังมีวิชาชีพสัตวแพทย์ติดตัวอยู่เลยอยากทุ่มเทให้กับกีฬาที่เราหวังไว้”เขาเผยความตั้งใจแรกที่อาจดูแปลกๆในสายตาคนอื่น




แต่ในที่สุดความคิดที่ว่าก็มีอันต้องล้มเลิกและทำให้เขาหันมามุ่งมั่นในการเรียนสัตวแพทย์อย่างจริงจังเมื่อได้มาพบกับคุณหมออลงกรณ์มหรรณพ(นายสัตวแพทย์ช่วยราชการสำนักพระราชวังผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทุกประเภท) ซึ่งเป็นผู้ที่ให้แรงบันดาลใจในการเป็นผู้มอบชีวิตใหม่ให้กับสัตว์และถือเป็นบุคคลต้นแบบของเขานับแต่นั้นมา

“ท่านบอกกับผมว่า ‘ล็อตเรียนจบแล้วให้กลับไปดูแลช้างที่บ้านนะ’เพราะหมออลงกรณ์เป็นเสมือนพ่อพระที่ปางช้างของจังหวัดสุรินทร์ควานช้างให้ความเคารพหมออลงกรณ์มาก และหมอก็เป็นไอดอลของผมด้วย”

หมอล็อตเล่าให้ฟังว่าสมัยเรียนทุกเทอมต้องเดินทางไปฝึกงานคนเดียวในป่าซึ่งอยู่ในที่ห่างไกลและทุรกันดารโดยเฉพาะปางช้างในจังหวัดลำปางสุรินทร์และพระนครศรีอยุธยาเพื่อที่จะได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง          
 
ปัจจุบันนี้หมอล็อตดำรงตำแหน่งนายสัตวแพทย์ประจำส่วนศึกษาและวิจัยอุทยาน สำนักอุทยานแห่งชาติกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชนอกเหนือจากหน้าที่คุ้มครองดูแลสุขภาพสัตว์ป่าแล้วยังรวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับ
สัตว์ป่าด้วย

“ภารกิจของผมไม่ใช่เพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียวแต่คุ้มครองคนด้วยเพราะปัญหาสัตว์ป่าบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากคนฉะนั้นผมต้องหาวิธีทำให้ทั้งสัตว์ป่าและคนอยู่ด้วยกันได้ผมอยากให้คนคิดเสมอว่า ผลแห่งการกระทำของคนที่มีต่อป่าและสัตว์ป่าจะย้อนกลับมาทำให้คนเดือดร้อนเช่นกัน”อธิบายด้วยสุ้มเสียงหนักแน่นพร้อมบอกว่าการรักษาสัตว์ป่าไม่ใช่เรื่องง่ายแม้แต่ลูกน้องที่มาช่วยงานก็เคยถูกช้างเหยียบอาการหนักปางตายมาแล้ว

ทว่ากำลังใจที่สำคัญและมีส่วนผลักดันให้เขาทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยนั้นมาจากการได้เห็นความทุ่มเทของเพื่อนร่วมงานชมรมหมอสัตว์ป่าที่ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์รวมทั้งแรงสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสทั้งดร.เพ็ญศักดิ์จักษุจินดาอดีตส.ว.สกลนคร, ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าสามารถสุมะโนจิตราภรณ์ผอ.ส่วนศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติ



จนวันหนึ่งเขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า“เราต้องรักษาช้างจนตายหรือ” เมื่อต้องประสบปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพช้างซึ่งเกิดจากความบกพร่องของระบบการทำงานในส่วนของการจัดการและสวัสดิภาพ เพราะหากต้องตามรักษาช้างอย่างนี้ไปเรื่อยๆก็เท่ากับว่าต้องทำงานจนตายแต่ในที่สุดปัญหาของช้างก็มีผู้เห็นความสำคัญโดยดร.เพ็ญศักดิ์จักษุจินดาคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภาในขณะนั้นได้ให้ความสนใจเรื่องปัญหาช้างทั่วประเทศจึงเชื้อเชิญหมอล็อตให้มาร่วมเป็นคณะทำงานในฐานะผู้ชำนาญการของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา

“ผมตื่นเต้นมากที่ได้รับเกียรตินี้เพราะทำงานไม่ถึงปีประสบการณ์ก็ยังน้อยแต่ผู้ใหญ่ในที่ประชุมบอกว่าเขาไม่สนหรอกว่าหมอล็อตอายุเท่าไหร่จะมีคุณวุฒิวัยวุฒิมากน้อยแค่ไหนรู้เพียงว่าหมอล็อตมีความรู้ด้านวิชาชีพโดยตรงคือสัตวแพทย์บนพื้นฐานคุณธรรมและจริยธรรมเพียงเท่านี้ก็เริ่มงานที่ปลายหอกได้ไม่จำเป็นต้องเริ่มงานที่ด้ามหอกเสมอไป”เขาเปรียบเทียบการทำงานที่ต้องแก้ไขตรงไปที่ต้นตอของปัญหา

ผู้ใหญ่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ทำงานอย่างมุ่งมั่น แต่ความที่อุปนิสัยส่วนตัวไม่ชอบอยู่ท่ามกลางป่าคอนกรีตหมอล็อตจึงขอลาออกจากตำแหน่งประจวบกับคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวหมดวาระพอดีแต่ในขณะเดียวกันทางวุฒิสภาก็ต้องการสานต่อโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าเขาจึงคิดริเริ่มโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่เจ็บป่วยไม่มีสัตวแพทย์เข้าไปรักษาโดยสุวิทย์คุณกิตติรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นเห็นชอบในหลักการว่ากรมป่าไม้และกรมอุทยานควรจะมีสัตวแพทย์เข้ามาดูแลสัตว์ป่า จึงแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่ง “นายสัตวแพทย์สัตว์ป่าหรือ Wildlife Veteririan” คนแรกของประเทศ
 
“ตอนนั้นเคว้งมากเพราะเราไม่มีตำราอ้างอิงไม่มีหลักการทำงานที่ชัดเจนไม่เหมือนต่างประเทศที่เป็นป่าโล่งสามารถขับรถเข้าไปรักษาสัตว์ได้ แต่บ้านเราป่าทึบเดินทางเข้าไปก็ลำบากจึงเป็นโจทย์ที่ทำให้ต้องคิดหนักมาก พอดีผมมีเพื่อนที่เป็นสัตวแพทย์ที่ได้ร่วมกันทำงานและถ่ายทอดประสบการณ์เกือบสิบปีเป็นบันทึกจนทำเป็นตำรามา 1 เล่มเพื่อใช้เป็นคู่มือการเรียนการสอนกับนักศึกษาสัตวแพทย์รุ่นใหม่ซึ่งสมัยก่อนเน้นการอนุรักษ์มากกว่าการรักษาเพราะเขาเห็นว่าการล้มตายของสัตว์ป่าเป็นเรื่องของธรรมชาติแต่วันนี้มันไม่ใช่สัตว์ป่าบาดเจ็บก็มาจากคน”ที่สำคัญในอนาคตสัตวแพทย์หนุ่มคนนี้มุ่งมั่นหวังจะให้การรักษาสัตว์ป่าเป็นระบบสากลและตั้งใจจะเข้าไปผลักดันกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าในฐานะนักการเมืองอีกไม่ช้าไม่นานนี้แน่นอน



จาก http://www.whomagmedia.com/people_content_detail.php?t=thai&t1=people&id=248




หมอล็อต:ชีวิตไม่ธรรมดา ไม่ได้รักสัตว์แต่ต้องรักษา

เรื่องราวชีวิตไม่คิดฝัน จากอดีตขาโจ๋สุดห้าวสู่เส้นทางสัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกของประเทศ ต้นแบบหมอสัตว์ป่าผู้สร้างแรงบันดาลใจในวงการแพทย์ อาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน 2558 เวลา 08.00 น.

หากพูดถึงอาชีพ“สัตวแพทย์”หมอผู้มีหน้าที่รักษาสัตว์ หลายคนคงนึกถึงหมอในโรงพยาบาลสัตว์ หรือตามคลินิกต่างๆ แต่น้อยคนนักที่จะรู้จัก“หมอสัตว์ป่า”ที่ทำหน้าที่ยิ่งกว่าการเป็นสัตวแพทย์ธรรมดาทั่วไป

เพราะนี่คือหมอที่ต้องพาตัวเองไปรักษาคนไข้...ท่ามกลางความเสี่ยงและอันตรายในผืนป่า

โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสฮือฮาผ่านโลกออนไลน์ กรณีการเผชิญหน้าระหว่าง“คน”และ“ช้างป่า”บนเส้นทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งต่อมาได้มีการแชร์ภาพสุดประทับใจ ขณะ“ชายหนุ่มคนหนึ่ง”เดินนำหน้าช้างป่าตกมัน หลบนักท่องเที่ยวบริเวณโป่งอาจารย์แมว ทำให้ทั้งคนทั้งช้าง...รอดพ้นจากอันตรายไม่คาดฝัน!!!

ชายผู้นั้นคือ“หมอล็อต”หรือ“น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน”วัย36ปี สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งโด่งดังจากการเป็น“สัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกของประเทศ”

ชื่อของ “หมอล็อต” มักปรากฏในสื่อต่างๆ ทุกครั้งที่คนและสัตว์ป่าได้รับความเดือนร้อน ทำให้เขาถูกยกย่องให้เป็น“ฮีโร่ผู้พิทักษ์สัตว์ป่า”และกลายเป็น“ขวัญใจของคนรักสัตว์”

ท่ามกลางเสียงชื่นชมความสามารถในหน้าที่ของหมอรักษาสัตว์ป่า หลายคนมักคิดว่า สิ่งที่ “หมอล็อต” ทำเป็นเพราะความรัก แต่แท้จริงแล้ว...ตลอด 10 กว่าปีในวิชาชีพของเขา....ไม่เคยพูดเลยสักครั้งว่า “ตัวเองเป็นคนรักสัตว์”

เรื่องราวชีวิตการเป็นสัตวแพทย์ของ “หมอล็อต” เริ่มขึ้นจากอดีตที่ยังเป็น“ขาโจ๋เมืองสุรินทร์”ผันตัวเองมาเป็นเฟรชชี่วัยใส ในคณะสัตวแพทย์ เพียงแค่ต้องการพิสูจน์ว่า การเล่นกีฬาไปพร้อมๆ กับการเรียนคณะยากๆ จะไปด้วยกันได้หรือไม่

นี่คือสิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียน “คณะสัตวแพทย์” เพียงเหตุผลง่ายๆ ว่า “คน...พูดได้ว่าเจ็บตรงไหน อย่างไร แต่สัตว์...มันพูดไม่ได้”

ชีวิตวัยเรียนของ “หมอล็อต” ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด การเข้าเรียนคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ด้วยทุนโควตานักกีฬา ทำให้การเรียนในช่วงแรก...แทบไม่รอด แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ บวกกับความช่วยเหลือของเพื่อน ทำให้เรียนจบสัตวแพทย์อย่างที่หวังได้ในที่สุด

หลังเรียนจบ “หมอล็อต” ได้กลับไปเป็นหมอรักษาช้างที่บ้านเกิด จ.สุรินทร์ ก่อนได้รับเลือกให้เข้าทำงานในวุฒิสภา ซึ่งที่นั่นหมอล็อตได้รับการผลักดันจากโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าและถูกเสนอให้ทำหน้าที่ดูแลและอนุรักษ์สัตว์ป่า จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า”...คนแรกของประเทศไทย


“ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด เพราะเราไม่มีตำรา ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง มีป่าเป็นห้องพยาบาล มีสัตว์ป่าที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นคนไข้ ต้องวางแผนและคำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น เพราะเรามีโอกาสเข้าไปรักษาแค่ครั้งเดียว ต้องรักษาและให้ยาที่ดีที่สุด และมั่นใจว่าเขาจะรอด”

สำหรับเคล็ดลับการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองของ “หมอล็อต” คือ...“หมอ” เป็นคำที่เขาใช้เตือนสติตัวเองตลอดเวลา อะไรที่ไม่รู้ ก็ต้องพิสูจน์ให้เป็นคนรู้จริง และต้องมีความรอบคอบ เพราะหมอเป็นคนที่ผู้คนยกย่องนับถือในความสามารถ


“ผมไม่ได้ทำเพราะมันเป็นสิ่งที่ผมรัก แต่ผมทำเพราะมันเป็นหน้าที่และสังคมได้ประโยชน์ ผมไม่ใช่ฮีโร่ แต่ผมมุ่งมั่นทุ่มเทเต็มที่ ตามบทบาทของข้าราชการผู้รับใช้ในหลวง”

ปัจจุบัน “หมอล็อต” ทำหน้าที่เฝ้าระวังและจัดการสุขภาพสัตว์ป่าในถิ่นอาศัย พร้อมตำแหน่งทางวิชาการหลายตำแหน่ง รวมไปถึงที่ปรึกษารัฐสภาและมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษให้ความรู้แก่รุ่นน้อง ซึ่งทุกวันนี้ สัตวแพทย์สัตว์ป่ามีมากกว่า 30 คนแล้ว


คำพูดที่ “หมอล็อต” มักย้ำกับลูกศิษย์เสมอคือ “เมื่อสัตว์ป่าบาดเจ็บจากการกระทำของมนุษย์ ต่อให้คุณเป็นหมอที่เก่งแค่ไหน การรักษาจะไม่เกิดขึ้น ถ้าคุณตามหาคนไข้ของคุณไม่เจอ”

สำหรับเป้าหมายในอนาคตของ “หมอล็อต” คือ อยากขยายขอบเขตการทำงานให้ก้าวไปสู่การอนุรักษ์ระดับโลก

ไม่ใช่แค่ “หมอล็อต” เท่านั้นที่จะอยู่ในฐานะบุคคลต้นแบบผู้ทำประโยชน์เพื่อสังคม แต่ทุกคนก็สามารถเป็นฮีโร่ได้ เพียงแค่ทำความดีในหน้าที่ของตนเอง เหมือนกับ “หมอล็อต” ที่ทำทุกอย่างเต็มที่ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนตั้งใจทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมและเพื่อผืนแผ่นดินไทยของ “พ่อหลวง”

จาก http://www.dailynews.co.th/article/357988

ทางนำชีวิต : วิถีแห่งการพึ่งพา คน สัตว์ ป่า

หมอล็อต-นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกของประเทศไทย และ เป็นนายสัตวแพทย์สัตว์ป่าเพียงไม่กี่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับภารกิจที่ต้องเดินทาง ตระเวนไปตามผืนป่าทั่วประเทศ เพื่อช่วยชีวิตสัตว์ป่าอันเป็นภารกิจสำคัญของเขา

ซึ่งงานของหมอล็อตไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การรักษาสัตว์ในเชิงรับทั่วไปเท่านั้น แต่จะต้อง รักษาสมดุลของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่าให้ได้ เพราะหน้าที่ของเขา คือ ทำเพื่อความอยู่รอดของชีวิตทั้งมวล ไม่ว่าคนหรือสัตว์ โดยใช้ธรรมะในการนำทางชีวิต

<a href="https://www.youtube.com/v/SVaOXAMPc7Q" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/SVaOXAMPc7Q</a>


The ChangeMakers EP.05 | หมอล็อตแห่งพงไพร

The Changemakers โดย WOFWOF เกาะติดการทำงานและความทุ่มเทของคนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่

กับ EP.05 "หมอล็อตแห่งพงไพร" เทปนี้เราไปติดตามการทำงานของผู้เปลี่ยนแปลงที่ชื่อว่า หมอล็อต นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน ซึ่งเป็นหมอรักษาสัตว์ป่าชื่อดัง สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นหมอสัตว์ป่าคนเดียวที่เข้าป่าไปรักษาสัตว์ในป่าอย่างแท้จริง

ถ่ายทอดเรื่องมีสาระอย่างไร้สาระโดยพวกเรา ชาวอีเดียดแห่ง WOFWOF "อีเดียดอย่างสร้างสรรค์"

<a href="https://www.youtube.com/v/FPWxjSn4b7o" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/FPWxjSn4b7o</a>


คนจริงใจเพชร  หมอล็อต ภัธรพล https://www.youtube.com/playlist?list=PLSzClJgurKOzocYmXYFdZYDJDFVMX6py9

<a href="https://www.youtube.com/v/89g5WN6Ti50" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/89g5WN6Ti50</a>

Lightning Talk กับ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง | ฝ่าวิกฤตล่าช้าง อนุรักษ์ช้างคู่เมือง

<a href="https://www.youtube.com/v/phbuNHqQyNo" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/phbuNHqQyNo</a>

Lightning Talk กับ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง ตอน รักษ์สัตว์ป่า กับ หมอรักษาสัตว์ป่าคนแรกของไทย

<a href="https://www.youtube.com/v/Cwfb3rEHl2c" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/Cwfb3rEHl2c</a>

คนลองป่า เมื่อเหล่าเซเลบไปเป็นผู้ช่วยหมอล็อต รักษาสัตว์ในป่าใหญ่!
จะเป็นอย่างไร?

<a href="https://www.youtube.com/v/lceQY-cczhk" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/lceQY-cczhk</a>


Five Minutes Big HERO แล้วครับ HERO สัปดาห์นี้เขาโด่งดังมาจากเหตุการณ์ ช้างป่าเข้าล้อมผู้ขับขี่จักรยานยนต์ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขาคือ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต ครับ จากนักกีฬาบาสเกตบอลตัวแทนระดับจังหวัดผันตัวเองมาเรียนคณะสัตวแพทย์ แต่ต้องเกือบโดนรีไทร์เพราะเทอมแรกได้เกรดเฉลี่ยแค่ 1.87 เท่านั้น เส้นทางสัตวแพทย์ของเขาจะเป็นอย่างไรไปติดตามกันครับ (5 คลิปจบ) https://youtu.be/OwmVtrIiSOc

<a href="https://www.youtube.com/v/OwmVtrIiSOc" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/OwmVtrIiSOc</a>
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
“ผมไม่ใช่ฮีโร่..ผมแค่คนธรรมดา” ล็อต-ภัทรพล หมอสัตว์ป่าคนแรกของไทย!




       “เราเองก็ไม่อยากพูดว่าเรามาสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่คนรอบนอกเขามอง เขามองอย่างนั้น แต่ถ้าถามตัวเราเองเราเข้ามาเพื่อมาเติมเต็ม เราอาจจะเป็นจิกซอร์ตัวหนึ่ง หรืออาจเป็นตัวสุดท้ายที่มาเติมเต็มงานอนุรักษ์ มาสนับสนุนงานของคนเหล่านี้”
       
        “หมอล็อต-ภัทรพล มณีอ่อน” สัตวแพทย์สัตว์ป่าประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชคนแรกของไทย ผู้บุกเบิกวงการสัตวแพทย์ไทยให้ขับเคลื่อนไปในวิถีทางที่ควรเป็น ท่ามกลางเสียงครวญของสรรพสัตว์และหยาดน้ำตาจากธรรมชาติ เขาคือตัวแทนผู้กล้าหาญเพื่อสื่อความหมายเหล่านั้น ทว่า การก้าวเท้ารับหน้าที่หมอรักษาสัตว์ป่าที่มีคนไทยทั้งประเทศเป็นเจ้าของ ถือเป็นความท้าทายที่เขาต้องเผชิญ. .
       
      “ความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นคือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานเป็นหน่วยงานด้านอนุรักษ์ที่ 100 กว่าปี ไม่มีสัตวแพทย์ ซึ่งตอนนี้เกิดการยอมรับในบทบาทของวิชาชีพสัตวแพทย์กับงานอนุรักษ์” หรือนี่อาจจะเป็นผลผลิตของสิ่งที่เขาได้ลงแรงลงใจต่อสู้เพื่อสัตว์ป่าและธรรมชาติมาเป็นเวลากว่า 10 ปีกันแน่ !?
       
       
      50/50 ชีวิตป่า-เมือง
       
        “ขณะที่เรากำลังซีเรียสกับการทำงานอยู่หน้าจอคอม นั่นคือเรากำลังใช้พลังไป พลังเรากำลังจะหมดกับการใช้สมอง แรงกายต้องคิดต้องทำ แต่ถ้าเราเลือกสภาพแวดล้อมที่ดี มันจะเป็นตัวคอยทดแทนพลังงานที่เราเสียไปได้ตลอดเวลา”
       
        หมอล็อต-ภัทรพล เปรยให้ฟังหลังสิ้นคำถามที่ใครหลายคนต่างสงสัยว่า เหตุใดผู้ชายคนนี้ถึงมีบุคลิกมาดเท่ ชอบลุย และรักการทำกิจกรรม บ้างชอบออกนอกสถานที่อยู่บ่อยครั้ง สิ่งหนึ่งที่สามารถอธิบายคำตอบของคำถามได้ดีนั่นคือ การใช้ธรรมชาติบำบัดและให้สิ่งแวดล้อมเป็นตัวช่วยในการทดแทนสิ่งที่เสียไป
       
        “เสียงนก สายลมที่พัดผ่าน ธรรมชาติ นั่งทำงานหน้าจอคอมเมื่อยตาก็ไปมองต้นไม้ มันคือสิ่งที่ทดแทนเราได้ตลอดเวลา อย่าลืมว่าเราคือสิ่งหนึ่งในสังคม ถ้าเราได้เห็นความเป็นไปของสังคม เห็นความเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหว บางครั้งการเห็นคนที่เราคิดว่าชีวิตเราลำบาก มันเหนื่อย มันท้อ แต่เรามายืนในสังคมและหันมองรอบๆ มันมีคนลำบากกว่าเรา มันมีคนที่แย่กว่าเราอีกเยอะ”





       ไม่เพียงให้ธรรมชาติเป็นตัวถ่ายเทพลังงานดีๆ ให้แก่มนุษย์เท่านั้น การออกไปมองโลกนอกหน้าต่าง ยังทำให้คนเราเห็นสิ่งต่างๆ ที่เป็นไปอีกมาก ทุกสิ่งย่อมมีส่วนในการสร้างแรงผลักดันให้เราอยู่เสมอ ชีวิตคนก็เช่นกัน มีคนอีกมากที่เหน็ดเหนื่อยและลำบากกว่าอยู่ข้างนอกนั่น นี่คือสิ่งที่หมอล็อตพยายามอธิบายได้ให้เข้าใจ
       
        “มีคนที่เขาถือถุงรอขึ้นรถเมล์ ในขณะที่เรานั่งรถผ่านไป เป้าหมายในชีวิตเขา เขาจะไปที่ไหน เขาจะไปบ้านเขาจะต่อวินมอไซด์ ฝนจะตก น้ำจะท่วม หรือเขาต้องไปที่ไหนต่อหรือเปล่า แต่เรายังอยู่ในรถยังมีแอร์ ยังขับไปถึงบ้านได้ ยังไม่โดนแดดไม่โดนลม

        เพราะฉะนั้นในการสร้างพลังให้กับตัวเองให้รู้สึกดี เราพยายามเอาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในชุมชนเมือง สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในธรรมชาติ เราเอาสิ่งเหล่านี้เป็นตัวปรับสมดุลความรู้สึกและชีวิตของเรา”

       
        จากที่เห็นคงคิดว่าหมอล็อตใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในป่าเป็นแน่แท้ เพราะด้วยหน้าที่-การงาน ซึ่งถูกพันธนาการให้ต้องเกี่ยวข้องกับป่าดงพงไพรอยู่เสมอ ความจริงแล้วการใช้ชีวิตระหว่างในป่ากับในเมืองของคุณหมอมาดเท่วัดเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบเท่าครึ่งต่อครึ่ง
       
        “เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกท้อ ต้องการพลัง พื้นฐานของชีวิตเราก็คือธรรมชาติ เราต้องใช้ธรรมชาติบำบัด ในขณะเดียวกันพอธรรมชาติบำบัดเราได้แล้ว แน่นอนโลก-สังคมมันต้องหมุนไป เราต้องกลับมาสู่สังคมเมืองและก้าวไปให้ทันกับสิ่งที่มันหมุนไป ไม่ใช่ว่าชีวิตเราจะอยู่ในป่าอย่างเดียว จนเราลืมความเป็นในเมือง เราจะลืมฟันเฟืองในการขับเคลื่อนของสังคมมนุษย์ไม่ได้ เพราะงั้นชีวิตเรา 50/50 อยู่ในป่ากับในเมือง”



 “GIVE & SHARE” หมอสัตว์ป่าคนแรกของไทย !
       
        ระยะเวลากว่า 10 ปีได้ที่เขาทุ่มเทแรงกาย-แรงใจให้กับงานอนุรักษ์ฯ หากจะเรียกว่าเขาคือผู้บุกเบิกคนสำคัญของวงการสัตวแพทย์สัตว์ป่าไทยคงต้องเป็นเช่นนั้น เพราะเขาคือหมอสัตว์ป่าคนแรกของไทยที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้ แต่แรงขับเคลื่อนจะสำเร็จไม่ได้หากขาดผู้ริเริ่มในการผลักดันที่ทำให้ประเทศไทยมีสัตวแพทย์สัตว์ป่าถึงทุกวันนี้
       
        “การที่ประเทศไทยมีสัตวแพทย์สัตว์ป่าถึงทุกวันนี้ได้นั้น เริ่มต้นจากการผลักดันของท่าน ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่าน เกษมสันต์ จิณณวาโส ซึ่ง 10 กว่าปีที่แล้วท่านผลักดันการทำงานของสัตวแพทย์ในกรมอุทยานเอง
       
        ในฐานะที่ท่านเป็นรองอธิบดีฯ ท่านมีมุมมอง มีแนวความคิดค่อนข้างชัดเจน ท่านเห็นว่ามันมีความจำเป็นและท่านก็ผลักดันมันในทุกยุคทุกสมัย ณ เวลานี้ถือว่าท่านเป็นผู้มีคุณูปการมากกับวงการสัตวแพทย์ไทย”

       
        ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน จากบัณฑิตหนุ่มไฟแรงจากคณะสัตวแพทย์ เดินทางมุ่งหน้าสู่อ้อมอกบ้านเกิดจังหวัดสุรินทร์เพื่อเป็นหมอรักษาช้าง ทว่า เพื่อนในรุ่นคนอื่นๆ ต่างดำเนินตามวิถีทางของคนเป็นหมอสัตว์ บ้างเปิดคลีนิค ทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับการรักษาสัตว์ และเป็นหมอตามโรงพยาบาลต่างๆ แต่เขากลับเป็นลูกจ้างธรรมดาในหน่วยงานรัฐฯ เท่านั้น
       
        “จบมาใหม่ๆ เราไปเป็นหมอรักษาช้างอยู่ที่บ้านจังหวัดสุรินทร์ เป็นหมอรักษาช้างเลี้ยงทั่วไป ส่วนเพื่อนๆ เราหลายๆ คนไปเป็นหมออยู่บริษัท เปิดธุรกิจส่วนตัว เปิดคลีนิค อยู่โรงพยาบาล รายได้ก็จะสูง ส่วนเราเองมาอยู่ที่หน่วยงานของกรมปศุสัตว์ สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติที่สุรินทร์เป็นลูกจ้างธรรมดา แต่อย่างน้อยก็ได้อยู่กับพ่อแม่ และตัวเราเองก็ชอบช้าง”





       เขาเล่าต่อไปถึงความจริงของสังคมที่คนส่วนใหญ่เรียนจบมา มักมองหาหนทางเพื่อตอบแทนสิ่งที่ตัวเองได้ร่ำเรียนมาด้วยความเหนื่อยยาก โดยเฉพาะกับอาชีพหมอที่แน่นอนว่ากว่าจะประสบความสำเร็จจากรั้วมหา'ลัย ใช้เวลามากกว่า 5 ปี นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คนส่วนมากมุ่งหน้าทำในสิ่งที่เขาคาดหวังจะได้รับจากสังคม
       
        ในขณะที่สังคมกลับมองว่า คนเหล่านั้นจะสร้างประโยชน์และให้อะไรกับสังคมได้บ้าง และนี่คือมุมมองความคิดของคุณหมอที่ทำให้ทีมงานเห็นด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้

        “ด้วยความเป็นหมอ บัณฑิตจบใหม่จะคิดอยู่เสมอว่าความยากลำบาก ความทุ่มเท เสียสละของการเรียนกว่าจะจบหมอได้ มันหนักหนาสากันมาก เขาจะได้อะไรจากสังคมบ้าง เขาเลยมุ่งหน้าไปทำในสิ่งที่เขาคิดว่าเขาควรจะได้กับสิ่งที่เขาสูญเสียไป แต่ในขณะเดียวกันสังคมกลับมองหมอหรือมองบัณฑิตว่าคนที่จบมาจะให้อะไรกับสังคมบ้าง”
       
        จากที่ได้ทำงานในฐานะหมอรักษาช้างในจังหวัดสุรินทร์ ทำให้เขาเองได้รู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับสัตว์ เช่นเดียวกับการรักษาช้างเจ็บป่วยที่เข้ามาในแต่ละวัน ซึ่งแท้จริงแล้วปัญหาช้างคงเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตของช้างและควาญช้างเสียมากกว่า นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นตัวแทนสื่อความหมายเหล่านั้น
       
        “ด้วยความที่ซึมซับถ่ายทอดปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านและควาญช้าง เราเลยคิดว่าการรักษาช้างวันหนึ่งๆ มันไม่จบ รักษาตัวนี้หาย อีกวันตัวนี้ก็เจ็บ วนเวียนแบบนี้ตลอด ทั้งๆ ที่ปัญหาช้างจริงๆ มันน่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตของช้างและควาญช้าง พอเราซึมซับข้อมูลเหล่านี้มามากๆ เราเลยคิดว่าเราน่าจะเป็นคนสื่อความหมายในระดับนโยบาย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในภาพรวม”



        ด้วยความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาช้างไทยและเป็นผู้สื่อปัญหาเหล่านั้นให้สังคมได้รับรู้ เขาจึงถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมคณะในรัฐสภาให้เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนวงการช้างไทย การก้าวเท้าเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปจากเดิม
       
        “พอทำงานได้ 8 เดือน ปรากฏว่าทางคณะกรรมธิการสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาเขาก็ตั้งคณะอนุฯ ขึ้นมา เพื่อทำการศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างเลี้ยงและช้างป่าในประเทศไทยโดยเฉพาะ ได้เชิญให้เข้าร่วมในคณะ ชีวิตก็เปลี่ยนเลยจากใส่กางเกงขาสั้น รองเท้าผ้าใบ ใส่เสื้อกล้ามไปรักษาช้าง จนมาใส่สูท ผูกไทด์อยู่รัฐสภา”
       
       'ฮีโร่' ไม่ได้มีแค่ 'คนเดียว'
       
        “เขามองว่าเราคือฮีโร่ เนื่องจากงานของเรามันอยู่ในป่า มันต้องลุย ต้องบู๊ ภาพสะท้อนของสังคมกับตัวเราคือการเสียสละทุ่มเท แท้จริงแล้วเราไม่ใช่คนเสียสละทุ่มเท” สิ้นเสียงบอกเล่าจากหมอรักษาสัตว์ป่าที่ใครหลายคนต่างเชื่อว่า เขาคือผู้พิทักษ์วงการสัตว์ป่าไทยและนักอนุรักษ์ธรรมชาติจากภาพภายนอกที่ถูกตัดสินว่าเป็นเช่นนั้น
       
        การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าสัตว์แพทย์ที่รักษาสัตว์ตามคลีนิคในเมือง หรือสัตวแพทย์สัตว์ป่าเช่นหมอล็อต แม้ว่าหลายคนอาจมองว่าการรักษาสัตว์ที่มีเจ้าของน่าจะยุ่งยากมากกว่า เพราะมีเรื่องของคนมาเกี่ยวข้อง ทว่า การรักษาสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าจริงๆ คือความยากที่ไม่อาจอธิบายได้ เพราะสัตว์ป่าเหล่านั้นมีเจ้าของคือคนไทยทั้งประเทศ
       
        “เรารักษาสัตว์ แน่นอนว่าหมอทั่วไปรักษาสัตว์ต้องมีค่าตอบแทน แต่งานเรารักษาสัตว์ไม่มีค่าตอบแทน เรามีเงินเดือน ซึ่งเงินเดือนที่เราได้มาคือ ประชาชนทุกคนเสียภาษี ส่วนสัตว์ป่าที่เรารักษาในป่าคนไทยคือเจ้าของทั้งประเทศ
       
         การทำงานกับสัตว์เลี้ยงก็จะมีหมอ มีเจ้าของสัตว์ และสัตว์ หรือบางทีทำงานกับสัตว์เลี้ยงที่มีคนมาเกี่ยวข้องมันก็จะปวดหัว บางคนจะคิดว่าดีแล้วที่ทำงานกับสัตว์ป่าไม่ต้องเจอคน แต่พอเราไปทำงานกับสัตว์ป่าจริงๆ ซึ่งเจ้าของคือคนทั้งประเทศ มันวุ่นวายกว่าอีก”







        แน่นอนเมื่อเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าที่มีเจ้าของคือคนทั้งประเทศ ผลของการคาดหวังในผลงานย่อมทะยานสูงตามไปด้วย หมอล็อตขยายความให้ฟังต่อถึงแรงกดดันที่สังคมคาดหวังไว้ว่าต้องการให้สมบูรณ์แบบที่สุด ทว่า เขาอาจเป็นเพียงหมอธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาเป็นบททดสอบเขาจึงต้องทำมันออกมาให้ดีที่สุด
       
        “การทำงานเราทำงานกับสัตว์ป่าในป่า สังคมอยากให้เราเป็นเพอร์เฟสชันนิส ต้องเพอร์เฟคทุกอย่าง ต้องดีที่สุด ต้องดีพร้อมทุกอย่าง แต่ข้อจำกัดในการทำงาน คุณไม่มีไฟฟ้า คุณไม่มีอาคาร ไม่มีโรงพยาบาล สัตว์ป่าบาดเจ็บมักจะโผล่ให้คุณเห็น
       
        แต่การรักษาจะไม่เกิดขึ้นถ้าคุณตามหาคนไข้ไม่เจอ ในการทำงานเราไม่สามารถเป็นเพอร์เฟสชันนิสได้ เราเป็นแค่เพียงแพคทิสชันเนอร์ แต่ในสถานการณ์ที่เราต้องทำงานตรงนั้น ทำยังไงเราถึงจะเป็นแพคทิสชันเนอร์ที่ดีได้”

       
        มันคงเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญในทุกๆ วันตลอดระยะเวลาการทำหน้าที่ตรงนี้ การใช้ไหวพริบ การประสานงาน และความเป็นทีมเวิร์ค ล้วนมีผลช่วยให้ภารกิจต่างๆ ลุล่วงไปได้ด้วยดี หมอล็อตยังเปรยให้ฟังแกมตลกอีกว่าการเป็นหมอสัตว์ป่าไม่ใช่เป็นแค่หมอ แต่ต้องประยุกต์เอาอาชีพหลายๆ อาชีพมารวมกันด้วย
       
      “นี่คือความท้าทายในการทำงาน การใช้ไหวพริบ การใช้ปฏิธานในการทำงาน การประสานงาน การใช้สิ่งรอบตัวในป่าเป็นตัวสนับสนุนช่วยในการปฏิบัติภารกิจ การเป็นหมอสัตว์ป่าคนเราเอง เราต้องเป็นมากกว่าสัตวแพทย์ ต้องเป็นทั้งนักจิตวิทยา นักศิลปกรรมศาสตร์ นักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักกีฬา เป็นทุกนักที่มากกว่าสัตวแพทย์” (ยิ้ม)




      ย้อนกลับไปคำถามที่ว่าคนไทยส่วนมากพร้อมใจกันมอบเสื้อเกราะให้หมอล็อตในฐานะฮีโร่ผู้พิทักษ์สัตว์ป่าไปเสียแล้ว ภาพลักษณ์ขาลุย ขาบู๊ ช่วยเหลือดูแลรักษาสัตว์ป่า อาจทำให้หลายคนยกย่องว่าเขาคือพระเอกของเรื่องนี้ ซึ่งตัวหมอล็อตเองออกปากกับทีมงานตลอดการสัมภาษณ์ว่า 'ผมไม่ใช่ฮีโร่' และนี่คือคำอธิบายถึงประโยคข้างต้นนี้
       
        “ในอดีตเราจะมองว่าฮีโร่จะต้องมีหนึ่งเดียว แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนดูหนังก็รู้แล้วว่ามันมี 'The adventure' ฮีโร่ต้องมีหลายคน สังคมต้องการฮีโร่ แต่สังคมไม่ได้มีข้อกำหนดอะไรว่าจะต้องมีฮีโร่แค่คนเดียว เพราะฉะนั้นถ้ามันมีฮีโร่มากกว่าหนึ่ง

        แน่นอนประสิทธิภาพมันก็เพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว ขณะเดียวกันศัตรูใหม่ๆ ผู้ต่อสู้ใหม่ๆ มันก็เพิ่มขึ้นและทวีความเข้มแข็งมากขึ้น เราจึงต้องการฮีโร่ที่มีหลากหลายที่มีมากมาย เราคือดิแอดเวนเจอร์ เราถนัดด้านไหน เราต้องไปร่วมมือกับใคร และค่อยไปสู้กับมัน”

       
       “นักบาส-สิงห์นักปั่น” นี่แหละชีวิตนอกป่า!
       
        การใช้ชีวิตนอกป่าของหมอล็อตเป็นอย่างไรน่ะหรือ? สังเกตจากบุคลิกภายนอกแล้ว แน่นอนว่ากิจกรรมที่เขาชื่นชอบคงหนีไม่พ้นการเล่นกีฬา ซึ่งกีฬาที่หมอล็อตให้ความสนใจมาตั้งแต่ช่วงชั้นมัธยมปลายคือ กีฬาบาสเก็ตบอล ถึงแม้ปัจจุบันอายุจะมากขึ้นแต่พละกำลัง ความแข็งแกร่งไม่เคยลดลงตามเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป
       
        “ส่วนตัวเราเองก็มีพรรคพวก มีเพื่อนๆ และมันจะมีทัวร์นาเมนท์แข่งก็จะชวนกันไปแข่ง มันจะมีรุ่นประชาชนทั่วไป รุ่นอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งถ้ามอง 35 ปี บางคนอาจจะคิดว่าแก่ แต่ที่ไหนได้เวลาเล่นจริงๆ รุ่น 35 ปี เล่นยากกว่ารุ่นประชาชนอีก
       
         เพราะรุ่น 35 ปีเป็นรุ่นที่แต่ละคนเพาะบ่มประสบการณ์มาตลอดชีวิตการเล่นบาส เก๋า เก่ง แต่ข้อด้อยคือแรงก็จะไม่ฟิตเหมือนรุ่นประชาชนทั่วไป เวลาเล่นจริงๆ พวก 35 ปี เป็นพวกไม่ยอมรับว่าตัวเองแก่ ไม่ยอมแพ้ เพราะงั้นในอดีตเคยวิ่ง เคยเหาะได้ยังไง ปัจจุบันก็คิดว่าต้องทำให้ได้ เวลาแข่งจริงๆ พวกนี้จัดเต็ม ไม่ยอมแก่กัน”
(หัวเราะ)






         นอกเหนือกีฬาบาสเก็ตบอลที่หมอล็อตให้ความสนใจแล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่เขาเผยให้ทีมงานฟังว่า เพิ่งเริ่มสนใจช่วงหลังมานี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการต้องทำงานในป่า จึงทำให้ต้องใช้ภาหนะที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่าตามไปด้วย การเลือกใช้จักรยานจึงเป็นการลดมลพิษทางเสียงได้ดี รวมถึงช่วยในเรื่องสุขภาพด้วย
       
        “การปั่นจักรยานสนใจช่วงหลัง เพราะว่าเราทำงานในพื้นที่ธรรมชาติ เวลาที่เราเดินทางในพื้นที่เหล่านี้ เสียงมันมีผลต่อสัตว์ป่าพอสมควร เพราะในป่าคือบ้านของสัตว์ป่า และหูสัตว์ป่าจะได้ยินเสียงรถยนต์ เสียงมอเตอร์ไซด์ได้ไวมาก ถ้าเกิดตกใจวิ่งหนี วิ่งชนกัน เกิดอุบัติเหตุตามมา แต่ถ้าใช้จักรยานมันก็ลดมลพิษทางเสียงได้เป็นอย่างดี”
       
        หมอล็อตยังเล่าต่อไปว่าการปั่นจักรยานคือตัวช่วยเรื่องการเจ็บข้อเข่าได้ดีทีเดียว ยิ่งเป็นคนชอบเล่นกีฬาบาสเก็ตบอลแล้วด้วย การปั่นจักรยานถือเป็นการช่วยรักษาสภาพเข่าและกล้ามเนื้อได้อีกทาง ซึ่งตอนนี้อุทยานในหลายๆ ที่ได้ดำเนินการเพิ่มเลนจักรยานสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยเช่นเดียวกัน
       
        “ในขณะเดียวกันจักรยานคือ ตัวออกกำลังกายที่ดี พอเราอายุเท่านี้เราแข่งกีฬาเล่นบาสใช้เข่าเยอะ จักรยานคือตัวรักษาสภาพเข่า สภาพกล้ามเนื้อของเราได้ค่อนข้างดี และด้วยความที่โอกาสเราเอื้ออำนวย ในกรมอุทยานแห่งชาติถนนก็ดี ตอนนี้กรมอุทยานกำหนดให้หลายๆ อุทยานทำเลนจักรยานให้นักท่องเที่ยวมาปั่นพักผ่อนหย่อนใจ เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกวิถีหนึ่ง”
       
        การเข้าร่วมกิจกรรมการปั่นของสิงห์นักปั่นมาดเท่คนนี้มีด้วยกันหลายโครงการ หนึ่งในโครงการที่เขาเองยกตัวอย่างให้ทีมงานฟังคือ กลุ่มปั่นจักรยาน Bike Finder คือการท่องเที่ยวเพื่อสร้างสรรค์ และยังเป็นกลุ่มที่นักปั่นให้ความสนใจเป็นจำนวนมากอีกด้วย






 
        “เรามีกลุ่มปั่นจักรยาน Bike Finder การท่องเที่ยวเพื่อสร้างสรรค์ ตอนนี้ในพื้นที่อนุรักษ์หลายๆ ที่มีนักปั่นจักรยานมาปั่นกันเยอะมาก ซึ่งเวลาเรามาปั่นทุกคนมีความสุข อย่างเวลาไปปั่นที่เขาใหญ่ มีคำถามขึ้นมาว่าคุณได้อะไรจากเขาใหญ่เยอะ แต่เขาใหญ่ได้อะไรจากคุณ ทั้งเรื่องของขยะ การให้อาหารสัตว์ป่า การส่งเสียงดัง”
       
        จากคำถามที่ถูกเอ่ยขึ้นมา นำไปสู่คำตอบที่ว่าแล้วธรรมชาติจะได้อะไรจากนักท่องเที่ยวเหล่านี้บ้าง ในฐานะที่เราเป็นผู้แสวงหาความสุขสงบจากธรรมชาติ แล้วการตอบแทนจะเป็นไปในรูปแบบใด กลุ่ม Bike Finder จึงเป็นผู้ริเริ่มจัดกิจกรรมให้นักปั่นทำกิจกรรมร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบกันและกัน
       
        “พอเราพูดแบบนี้ออกไปมันมีการสะท้อนกลับมาว่า แล้วเราจะช่วยอะไรเขาใหญ่ได้บ้าง ในฐานะที่เรามาแล้วเราก็ได้ ทำยังไงให้เราวิน-วินทั้งคู่ เราเลยมาจัดกิจกรรมให้นักปั่นสามารถช่วยเหลือธรรมชาติและสัตว์ป่าไปในตัวได้ด้วย เช่น ปั่นจักรยานไปทำโป่ง ไปปลูกพืชให้สัตว์ป่า ไปทำแหล่งทุ่งหญ้า ไปทำฝาย เพราะฉะนั้นกลุ่ม Bike Finder จะเป็นกลุ่มกิจกรรมแรกที่เข้ามา แล้วมีการจัดกิจกรรมเสริมสำหรับนักปั่นจักรยานด้วย”



เรื่องโดย พิมพรรณ มีชัยศรี
       ขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุค Patarapol Lotter Maneeorn


จาก http://astv.mobi/AHqoIcw





หมอล็อต ไม่ใช่พระเอกคนเดียว

เป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่าที่คนรู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง เรื่องในป่า คุณรู้จักเขาดี แต่เรื่องชีวิตบางมุม คุณอาจไม่รู้...

บางทีการเป็นบุคคลสาธารณะ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เหมือนเช่น หมอล็อต-ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นทั้งเซเลบและบุคคลสาธารณะ

ถ้ามองในแง่ดี เขาใช้โอกาส ทำให้สังคมเข้าใจปัญหาสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น แต่ถ้ามองในแง่ร้าย คนที่ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขา ก็พูดไปเรื่อย อาทิ กระล่อน มีลูกมีเมียแล้ว เป็นคนรักสัตว์ ฯลฯ

หมอล็อต บอกว่า เขาไม่ได้รักสัตว์อะไรมากมาย แค่ทำตามหน้าที่ และลงมือทำจริงจัง

เพราะเขานั่นแหละ ที่ทำให้คนในสังคมเข้าใจธรรมชาติของช้างป่ามากขึ้น และทำให้คนเห็นความสำคัญของสัตวแพทย์สัตว์ป่า ได้รู้ว่า ไม่ง่ายเลยที่สัตวแพทย์จะทำงานในป่า

สัตวแพทย์สัตว์ป่าคนนี้ เป็นทั้งนักกีฬา อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย วิทยากรให้ความรู้ ทุกเรื่องที่เขาทำ สามารถเชื่อมร้อยเข้าด้วยกัน ไม่เช่นนั้นในปัจจุบันสัตวแพทย์สัตว์ป่า คงไม่เพิ่มขึ้นเป็นหลักสิบ

ภัทรพลเริ่มจากเป็นหมอรักษาช้างบ้าน จากนั้นหันมาทำงานในออฟฟิค เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จนทนเสียงร้องของช้างไม่ไหว จึงสลัดสูทไปลุยในป่า เป็นหมอรักษาสัตว์ป่า ว่างจากการรักษาสัตว์ป่า ก็ไปบรรยายให้ความรู้เรื่องสัตว์ป่าและธรรมชาติ รวมถึงทำงานวิจัย

อะไรทำให้คุณผูกพันกับธรรมชาติ

ผมเป็นคนสุรินทร์ ตอนเด็กๆ พ่อผมย้ายไปอยู่นครศรีธรรมราช ซึ่งภูมิประเทศคนละเรื่อง พอมาอยู่ภาคใต้ มีทะเลและน้ำตก พ่อผมพาไปแคมปิ้งตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ผมผูกพันกับธรรมชาติ พอมาเรียนมัธยม เราเห็นความแตกต่าง ก็เลยชอบธรรมชาติ และช่วงฝึกงานเป็นสัตวแพทย์ ผมจะฝึกงานคนเดียว ปกติสัตวแพทย์จะฝึกงานเป็นกลุ่ม เพราะเมื่อเรียนจบแล้ว เราต้องเป็นหมอคนเดียว ไม่มีเพื่อนช่วยเหมือนฝึกงาน ตอนนั้นผมก็แบ็คแพ็คไปตามชุมชนที่ติดกับป่า รักษาสัตว์ตามบ้าน


การฝึกงานคนเดียวได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม

เราต้องเผชิญกับคำถามของคนในชุมชน ต้องทำการบ้าน ถ้าเรื่องไหน เรารู้ เราตอบ แต่ถ้าไม่รู้ ผมขอเวลาไปค้น ทำแบบนี้ เมื่อจบเป็นหมอแล้ว สังคมจะให้ความเชื่อถือ แต่ตัวหมอเองจะรู้จริงหรือไม่ คนเป็นหมอก็รู้อยู่แก่ใจ


มุ่งมั่นที่จะเป็นสัตวแพทย์ที่รู้จริง ?

มันเป็นจรรยาบรรณและสำนึก มันเกิดขึ้นตอนที่เราต้องตอบคำถาม เพราะตอนจบใหม่ ๆ ผมเป็นหมอรักษาช้างบ้าน ผมต้องตอบคำถามเจ้าของช้างและควาญช้าง ถ้าสิ่งที่เราบอกไป มันไม่ใช่ ไม่จริง ไม่เป็นอย่างที่คนคาดหวัง ก็คงไม่ดีนัก โดยธรรมชาติ หมอทุกคนต้องรู้จริงอยู่แล้ว เพราะเกี่ยวกับความเป็นความตาย และเมื่อเราตกอยู่ในฐานะบุคคลสาธารณะ แน่นอนว่า สังคมให้ความเชื่อถือ การเป็นคนรู้จริง เราต้องลงมือทำ
การลงพื้นที่ทำให้เราคิดวิเคราะห์ได้มากกว่าการนั่งอ่านหนังสือ และงานที่เราทำตอนนี้หาแหล่งอ้างอิงที่เป็นหนังสือไม่ได้เลย เพราะเป็นงานรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า ไม่มีตำราอ้างอิง แม้ในต่างประเทศจะมีสัตวแพทย์สัตว์ป่า แต่ระบบนิเวศไม่เหมือนบ้านเรา เมื่อผมเรียนจบ ผมเป็นสัตวแพทย์รักษาช้างที่สุรินทร์ หลังจากนั้นมีโอกาสเข้าไปทำงานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เราก็ลงพื้นที่ป่าหลายแห่ง กระทั่งได้อ่านรายงานเกี่ยวกับสัตว์ป่าบาดเจ็บ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะรักษาสัตว์ป่าอย่างไร แต่เรามีพื้นฐานการอบรมเรื่องสัตว์ป่ามาบ้าง พอเจอปัญหาเยอะขึ้น มีควาญช้างโทรมาปรึกษาอาการป่วยของช้างบ่อยมากขึ้น จึงเริ่มเข้าใจธรรมชาติของตัวเรา คือ การเป็นหมอรักษา


ก็เลยถอดสูท หันไปทำงานในป่า ?

ทำงานด้านนโยบายมาพักหนึ่ง ก็เลยคิดว่า เราไม่ควรมานั่งใส่สูทผูกไท เรายังวัยรุ่น เราลุยได้ จึงขอลาออก เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วผู้ใหญ่ก็ไม่อยากให้ออก และบอกว่า ให้เราไปคิดดูว่า เรื่องใดที่วิชาชีพสัตวแพทย์ไปเติมเต็มได้ จึงนึกถึงสัตว์ป่าที่บาดเจ็บ แล้วไม่มีหมอรักษา มุมด้านการอนุรักษ์มองว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ต้องรักษา แต่ ณ วันนี้ เกิด แก่ เจ็บ ตายไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ แต่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ในวิชาชีพของเรา ก็ต้องพรีเซ็นต์ให้เห็นว่า เรื่องใดสัตวแพทย์อย่างเราทำได้บ้าง


สี่ปีที่แล้วเป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกและคนเดียว ลำบากไหม

แรกๆ ก็มีคนถามว่า ตอนไม่มีหมอล็อต ทำไมไม่มีสัตว์ป่าบาดเจ็บ พอมีหมอล็อต สัตว์ป่าบาดเจ็บเยอะ เพราะเมื่อก่อนสัตว์ป่าถูกยิงบาดเจ็บ ไม่มีการแจ้ง เพราะการแจ้งคือ การเปิดบาดแผลตัวเอง กระทั่งวันดีคืนดี มีหมอคนหนึ่งรักษาได้ ก็มีคนแจ้งมาเรื่อยๆ ซึ่ง ณ วันนี้มีสัตวแพทย์สัตว์ป่ากว่า 30 คน


เพราะการทำงานของคุณ ทำให้มีสัตวแพทย์สัตว์ป่ามากขึ้น ?

ผมไม่อยากพูดว่าเป็นเพราะผม ผมพยายามพูดว่าเป็นเพราะวิชาชีพ แต่แน่นอนการกำหนดกรอบวิชาชีพและการรับคน ผมเป็นคนกำหนด เพราะคนที่ทำงานด้วยรู้ดีว่า ผมพยายามผลักดันทุกอย่าง ตั้งแต่ทำงานในรัฐสภา จนมาทำโครงการนำร่องระหว่างวุฒิสภากับกรมอุทยานแห่งชาติ โดยเริ่มที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพราะมีสัตว์ป่านานาชนิดและมีปัญหาเกิดขึ้นมากจากการท่องเที่ยว


รักษาสัตว์ป่าชนิดไหนยากที่สุด

ทุกชนิด เพราะสัตว์ป่าบางชนิด เราไม่เคยรักษามาก่อน แต่การรักษาจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราตามหาคนไข้ไม่เจอ การรักษาเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ อ้างอิงตำรา หรือศึกษาจากสปีชี่ส์ของสัตว์


ดูเหมือนหมอล็อตจะพูดแทนช้าง ?

คนอาจพูดแทนคนได้ แต่ช้างพูดกับคนไม่รู้เรื่อง เรามีหน้าที่สื่อความหมายแทนสัตว์ป่า เมื่อเราได้เรียนรู้สัมผัสพวกมัน ไม่ว่าเสือ กระทิงและลิง เราก็รู้พฤติกรรม จริงๆ แล้วผมไม่ได้แค่แปลความหมายของสัตว์ป่า แต่ช่วยแปลความหมายของธรรมชาติ ธรรมชาติกำลังเตือนอะไรบางอย่างแก่มนุษย์



เพราะคนไทยเข้าใจเรื่องธรรมชาติน้อยไป ?

เวลาพูดถึงธรรมชาติ คนไทยจะคิดว่า คือป่าเขาลำเนาไพร และคิดว่าไกลจากสังคมเมือง จึงไม่อิงกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่บทเรียนจากธรรมชาติ และโรคติดต่อที่มาจากสัตว์ป่า ติดมากับการคมนาคมขนส่ง เมื่อก่อนใครจะคิดละว่า ตัดต้นไม้ต้นหนึ่งจะมีผลต่อมนุษย์ แต่ ณ วันนี้ ตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ที่อยู่ของสัตว์ป่าหายไป ค้างคาวไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่นอน ก็บินมาเกาะที่ฟาร์ม นำเชื้อโรคหลายชนิดเข้ามา รวมถึงการกินเนื้อสัตว์ป่า ก็ติดเชื้อได้ อย่างโรคอุบัติใหม่ เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม ทำให้สิ่งมีชีวิตต้องปรับตัว

มนุษย์ก็ปรับตัว เชื้อโรคก็ปรับตัว เพื่อให้อยู่ในสภาพแวดล้อมได้ ขณะที่ปรับตัวเองเพื่ออยู่รอด ศักยภาพในการก่อโรคก็ปรับตัวไปด้วย และโรคที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ก็กลับมาใหม่ อย่างไข้รากสากน้อย ไข้รากสากใหญ่ ไข้หวัดนก ซาร์ส แม้กระทั่งอีโบล่า ไม่ใช่โรคใหม่ เกิดขึ้นมาแล้ว 30-40 ปี แต่เราไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน ธรรมชาติกำลังเตือนเรา เราก็ต้องเตือนมนุษย์ แม้กระทั่งงานที่สัมพันธ์กับพวกค้าสัตว์ป่าและล่าสัตว์ป่า คนพวกนี้คิดว่า เนื้อสัตว์ป่ามีคุณค่าทางอาหาร เป็นยาอายุวัฒนะ ถ้ามันดีจริง หมอล็อตกินไปนานแล้ว

เนื้อสัตว์ป่าหลายชนิดนำมาซึ่งโรคติดต่อ ?

เนื้อเก้ง เนื้อกวาง เลียงผา เนื้อค้างคาว มีเชื้อโรคอยู่ในตัว แต่ไม่แสดงอาการ เมื่อคนไปสัมผัส ชำแหละกิน ก็ติดเชื้อได้ คนส่วนใหญ่พูดถึงโลกร้อน แต่ไม่พูดถึงการแพร่เชื้อของสัตว์ป่า ผมเองก็เป็นนักวิจัย ก็ต้องเก็บตัวอย่างสัตว์ป่าเพื่อหาเชื้อโรคอุบัติใหม่ ซึ่งงานวิจัยในอดีต ยังลงลึกไม่มากพอ แต่ ณ วันนี้ เราลงลึกข้อมูล และงานวิจัยหลายงานเป็นงานระดับโลก ยกตัวอย่าง ค้างคาวอาจนำเชื้อมาสู่มนุษย์ได้ ถ้าเราบอกแค่นี้ สิ่งที่ตามมาก็คือ คนที่อาศัยอยู่ใกล้ถิ่นค้างคาว ก็จะยิ่งค้างคาวทิ้ง ตัดต้นไม้ไม่ให้ค้างคาวมาเกาะ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าค้างคาวไม่มีที่นอน ก็บินไปทั่ว นี่คือโอกาสการแพร่เชื้อ


เห็นบอกว่า ตอนเป็นสัตวแพทย์อ่านหนังสือเยอะมาก ?

ถ้าตอนเรียน อ่านหนังสือเยอะเหมือนตอนทำงาน คงดี ตอนเรียนไม่ค่อยตั้งใจเรียน เพราะเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอล แต่พอจบมา คำนำหน้านามว่า 'หมอ' ทำให้เราต้องค้นคว้า และค้นหาคำตอบ และต้องเป็นผู้รู้จริง


เวลาลงพื้นที่ทำงานในป่า เจออุปสรรคเยอะไหม

ป่าเป็นห้องพยาบาล เราจะไม่นำสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ เพราะการจับ บังคับ เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดความเครียด บางทีเราอาจต้องทำให้มันพ้นจากทุกขเวทนา ซึ่งการตามเข้าไปรักษาช้าง กระทิงหรือหมี ในป่า เวลามันบาดเจ็บ ความโกรธแค้นที่จะต่อสู้หรือทำร้ายก็มีอยู่ และสัตว์ป่าเหล่านั้นไม่รู้หรอกว่า ใครมาดีหรือมาร้าย อย่างหมีตัวหนึ่งที่บาดเจ็บ เนื่องจากถูกยิง เราพยายามเข้าไปช่วย แต่มันก็คิดว่า คนจะมาซ้ำเติม ซึ่งหมีว่ายน้ำได้ ปีนต้นไม้ก็ได้ และจมูกดีกว่าสุนัข 5 เท่า แค่เราขยับตัวนิดเดียว มันก็รู้แล้ว

นอกจากทักษะเรื่องการรักษาสัตว์ป่า ยังเป็นนักเดินป่า ?

ผมก็เรียนรู้จากทีมงาน ดังนั้นการทำงานในป่า หมอล็อตไม่ใช่พระเอกคนเดียว แต่มีทีมงาน มีลูกน้อง เราเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อาศัยว่า ผมเป็นหัวหน้าทีมและสื่อความหมายให้คนในสังคมเข้าใจได้ อย่างการเดินป่าช่วงฤดูแล้ง การตามรอยสัตว์ก็ง่ายกว่า ทำงานง่าย แต่รอยเท้าสัตว์ไม่ชัดเหมือนฤดูฝน

ในสถานการณ์ที่เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ไม่ครบ และต้องรักษาสัตว์ป่า คุณทำอย่างไร

ถ้ามีเจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านแจ้งว่ามีสัตว์ป่าบาดเจ็บ เราต้องถามว่าเป็นสัตว์ชนิดใด บาดเจ็บอย่างไร ถ้าไม่เห็นตัว เห็นกองหนอง ก็ประเมินได้ มีสัญญาณบอกเราอย่างหนึ่งคือ ถ้าสัตว์ป่าไม่บาดเจ็บหนัก จะไม่โผล่ให้เห็น เวลาเข้าไปรักษาสัตว์ป่า เรามีโอกาสเข้าใกล้ได้ครั้งเดียว การรักษาหนึ่งครั้ง เราหวังผลรอดเลย เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีที่สุดในการรักษาสัตว์ป่าตัวหนึ่ง เป็นสิ่งที่มันควรจะได้รับ เราใช้ป่าเป็นห้องปฐมพยาบาล
เราต้องประยุกต์อุปกรณ์ในการรักษา


เคยรู้สึกท้อไหม

เวลาสัตว์ป่าบาดเจ็บจะหลบหนี บางครั้งกว่าจะตามตัวเจอ ก็สายไปแล้ว บางทีมันก็นอน แย่แล้ว บางทีก็ไม่มียาตัวนั้นตัวนี้ ถ้าไม่มียาเราจะเดินทางออกไปขอจากใคร ก็ยากแล้ว ก็มีบ้างที่รู้สึกท้อกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นกับเราครั้งสองครั้ง ครั้งต่อไปเราก็ต้องรู้ว่า ต้องพบยาอะไรไปบ้าง

ปัญหาเรื่องใดที่แก้ไม่ตก

การล่าสัตว์ บางครั้งล่าเพื่อบริโภค แต่บางทีสัตว์ป่าขนาดใหญ่มาติดกับดัก และการทำร้ายสัตว์ป่า ยิ่งไล่ให้บาดเจ็บ นี่คือปัญหาแก้ไม่ตก เพราะเขาเห็นว่า สัตว์ป่าทำลายทรัพย์สินและพืชไร่

สัตวแพทย์สัตว์ป่าที่ดีต้องมีคุณสมบัติย่างไร

คุณต้องไม่คิดว่าคุณเป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่า คุณต้องเป็นมากกว่านั้น เป็นทั้งนักชีววิทยา นักจิตวิทยา นักกีฬา นักสังเคราะห์ศาสตร์ โดยองค์ความรู้วิชาชีพ ไม่ใช่แค่อิงหลักวิชาการ คุณต้องมีจิตวิทยาในการคุย เพราะหมอคนหนึ่ง เมื่อเรียนจบแล้ว เขามองว่าเขาจะได้อะไรจากสังคม แต่ไม่เคยมองว่า คุณจะให้อะไรแก่สังคม พวกเราเงินเดือนไม่เยอะ เสี่ยงลำบาก ต่างจากทำงานโรงพยาบาล ทำคลีนิค รายได้มากกว่า10 เท่า ดังนั้นการทำงานในป่า คุณต้องให้มากกว่ารับ

อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณทำงานมาจนถึงทุกวันนี้

ถ้าผมไม่ทำ แล้วใครจะทำ โดยสัญชาติญาณ เมื่อมีคนร้องขอ เราต้องช่วย อีกอย่างครอบครัวผมก็เข้าใจดีว่า งานที่ทำเป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ถ้าวันหนึ่งไม่ไหว เหนื่อย ท้อ ครอบครัวก็ให้โอกาส หากผมอยากทำอย่างอื่น แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ห่วง เพราะอันตราย แต่ทำอย่างไรไม่ให้เขาเป็นห่วง เราต้องดูแลตัวเองให้ดี ผมทำงานมา 10 ปี โดย 5 ปีแรกผมใช้เข็มฉีดยารักษาสัตว์ป่า แต่ 5 ปีหลัง ผมเริ่มใช้ปากกาและไมโครโฟนรักษาสัตว์ ผมทำงานทั้งเชิงรับและรุก แต่ต้องรุกอย่างมั่นคงมีเหตุผล 5 ปีหลังผมก็เลยไปเป็นอาจารย์พิเศษให้ความรู้ สอนหนังสือ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

กระบวนการขับเคลื่อนเปลี่ยนไป ?

เมื่อก่อนทำงานในป่าร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ทำงานในป่าและเมืองอย่างละครึ่ง เพราะเราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในป่า ถ้าเราเห่าหอนกันเองในป่า ก็ไม่มีใครได้ยิน ถ้าเรารักษาอย่างเดียว นั่นเป็นการทำงานเชิงรับ ถ้าจัดการดีปัญหาก็ไม่เกิด เมื่อปัญหาไม่เกิด หมอก็มีเวลาว่าง สามารถให้ข้อมูลสาธารณชนได้ ถ้าถามว่าจะวัดคุณภาพสัตวแพทย์ได้อย่างไร หากถามว่า ปีนี้คุณรักษาสัตว์กี่ตัว ถ้าเอาจำนวนสัตว์มาเป็นกรอบชี้วัดในการของบประมาณ มันเหมาะไหมที่ได้ผลงานจากการทนทุกข์ทรมานของสัตว์ป่า แต่ผมใช้วิธีออกไปบรรยาย ให้ข้อมูลสาธารณะ และรักษาสัตว์ป่า

เลือกที่จะเป็นข้าราชการ เดินตามวิถีพอเพียง ?

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจเป็นข้าราชการ ก็คือ ความศรัทธาในลูกน้องและเจ้าหน้าที่เพื่อปกป้องทรัพยากร เรารู้ว่างานของเราเติมเต็มพวกเขา เราศรัทธาและเสียสละซึ่งกันและกัน ทำให้งานสัตวแพทย์สัตว์ป่าได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของงานอนุรักษ์

สิ่งสำคัญที่ทำให้เราเป็นข้าราชการ คือ เราใช้วิถีพอเพียง ผมไม่ใช่คนสุรุ่ยสุร่าย ครอบครัวผมไม่ใช่คนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และอีกส่วนมาจากแนวทางพระราชดำริของในหลวง ในเรื่องการรู้จักพอ รู้จักตนเอง โดยเฉพาะเรื่องการเป็นผู้ให้ หากเราอยากได้อะไรจากใคร เราควรให้เขาก่อน อย่างผมอยากได้อะไรจากสังคม ผมให้สังคมก่อน ณ วันนี้ ผมได้รับจากสังคมแล้ว แน่นอนว่าไม่ใช่เงินทอง แต่มีคนรู้จักนับถือ ผมเดินไปขอข้าวบ้านไหนกินก็ได้ ผมกลายเป็นบุคคลสาธารณะ แต่อย่าหลงไปกับคำยกย่อง ทุกคนยกย่องผมเกินไป ผมแค่ทำตามหน้าที่ เสร็จจากหน้าที่ ผมก็ไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ บางทีผมยังเดินเตะหมากลางซอย เพราะฉะนั้นการทำงานแบบนี้ ไม่ใช่ว่าผมเป็นฮีโร่

คิดยังไงที่คนในสังคมมองว่า หมอล็อตเป็นฮีโร่

ใช่ สังคมมองผมอย่างนั้น ผมพูดตรงๆ ว่า ผมไม่ใช่คนที่รักสัตว์ป่า แต่เป็นหน้าที่ เราต้องพยายามรักษาให้รอด ถ้ารอดเร็ว ผมก็ได้กลับบ้านเร็ว เคยมีคนบอกเยาวชนว่า ถ้าเป็นแบบหมอล็อต เสี่ยงนะ ไม่มีชีวิตส่วนตัว จริงๆ แล้วผมก็มีเวลาเที่ยว ไปแข่งบาส เดินจตุจักร เราต้องการให้น้องๆ เห็นว่า การเป็นแบบหมอล็อต ไม่จำเป็นต้องเสียสละทุ่มเท วิเวกขนาดนั้น คุณเป็นคนธรรมดาได้ ผมอยากทำอะไรก็ได้ทำ แต่เมื่อคุณใส่เครื่องแบบข้าราชการ คุณต้องทำหน้าที่

อึดอัดไหมที่เป็นบุคคลสาธารณะ ?

เราจะอึดอัดตรงที่มีคนบอกว่า ดีจังเลยหมอล็อตได้ทำงานที่หมอล็อตรัก เราทำตามหน้าที่ หรือมีคนถามว่า ทำแบบนี้ไม่กลัวคนหมั่นไส้หรือ ไม่มีใครอยากให้คนหมั่นไส้ แต่สิ่งที่คนหมั่นไส้ เขาหมั่นไส้ในความชั่วหรือความดี ถ้าหมั่นไส้ในความชั่วก็ต้องปรับตัว ถ้าหมั่นไส้ในความดี ก็ต้องเร่งทำความดี ในเวลาหนึ่งสังคมต้องการคนดี แต่พอมีคนดีปรากฎตัว สังคมก็นินทาเขา

การนำทีมรักษาสัตว์ป่า เคยตัดสินใจพลาดไหม

มีครับ ถ้าไม่ทันตั้งตัว เคยโดนช้างเตะ ช้างชนบ้าง แต่บางทีลูกน้องเราโดน เราต้องหยุดภาระกิจเลย ช้างตัวหนึ่งเรารักษาได้ แต่ถ้าลูกน้องเราตาย เราไม่สามารถรักษาเมียที่เป็นม่าย ลูกที่กำพร้าพ่อ

เห็นบอกว่า ใช้เวลาตามหาช้างเป็นวันๆ แต่รักษาไม่กี่นาที ?

การรักษาจะไม่เกิดขึ้น ถ้าคุณตามหาคนไข้ของคุณไม่เจอ บางครั้งตามช้างตัวเดียว 5 เดือน รักษาแค่ห้านาที

ไม่รู้สึกเสียเวลาหรือ

การทำงานในป่า เราต้องเป็นนักพยากรณ์ ต้องคาดเดาว่า ช้างตัวที่ตามมีโอกาสรอดอยู่ได้กี่วัน เราต้องทำงานแข่งกับเวลา ไม่อย่างนั้นมันไม่รอด เรามองในแง่ความทุกข์ทรมานของสัตว์ตัวหนึ่งที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ความทุกข์ของลูกช้างตัวหนึ่ง เมื่อโดนบ่วงเชือกรัด จะก้าวเดิน มันรู้สึกเหมือนมีดกรีดเท้า เคยเจอช้างเท้าเน่าเหม็นและตาย นี่คือความทุกข์ทรมานของมัน

ประเมินแล้วไม่รอด ทำอย่างไร

อย่างกรณีชะนีโดนไฟฟ้าช็อต แขนเน่า ต้องตัดแขนทิ้ง ถ้าชะนีไม่มีแขน ก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตในป่า เอาตัวรอดไม่ได้ แบบนี้เราต้องตัดสินใจให้ไปอย่างสงบ เพราะฉะนั้นการที่สัตว์ป่าบาดเจ็บ การมาของหมอไม่ใช่รักษา แต่มาเพื่อความเหมาะสม อาจทำให้มันพ้นจากทุกข์เวทนา

ถ้าจะทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องทำอย่างไร

ในเรื่องบุคลากรเราไม่กล้าบอกว่า มีมากหรือน้อย เพราะยังมีเรื่องคุณภาพคน ผมพูดตรงๆ ว่า สัตวแพทย์รุ่นน้องเก่งกว่าหมอล็อต พวกเขาสามารถเอาข้อมูลที่เราถ่ายทอดไปใช้ แต่สิ่งที่ต้องสร้างเองคือ ความศรัทธา เพราะการปรากฎตัวของหมอคนหนึ่ง มันสร้างความมั่นใจได้เยอะเลย

เห็นบอกว่ามีวิบากกรรมเรื่องความรัก ?

แม้ผมจะเป็นคนที่พร้อมในทุกเรื่อง ทั้งฐานะ ตำแหน่ง หน้าที่การงาน และบทบาททางสังคม ด้วยความที่เรามีแฟนคลับเป็นหมื่น เวลาที่เราจะไปแสดงความจริงจังกับใครสักคน มันทำให้เขาหวาดระแวง อย่างล่าสุดมีคนพูดว่า ผมมีลูกมีเมียแล้ว ซึ่งคนฟังก็ต้องมีความหนักแน่น

เพราะคุณเป็นคนช่างพูด และหน้าตาดี ?

เมื่อก่อนผมขี้่อาย ไม่ค่อยอยากคุยกับใคร แต่พอเราเป็นคนสาธารณะ ถ้าเราไม่พูดไม่ปฎิสัมพันธ์ ก็จะถูกมองว่า หยิ่ง ถ้าเราเฮฮาปาร์ตี้ ก็หาว่าทะเล้น เราก็วางตัวลำบาก และบางทีเสียงกระซิบ ก็ฆ่าหมอล็อตได้

ห่วงภาพพจน์ตัวเองหรือ

ผมเป็นคนธรรมดา ผู้ชายหลายคนจะอิจฉาผม แต่ถ้าถามผม การเป็นคนธรรมดาได้ไปเที่ยว กินข้าวกับแฟน มีเวลาให้กันและกัน นั่นแหละเป็นสิ่งที่ผมอิจฉาพวกคุณมากกว่า ความฝันสูงสุดในชีวิตของผม คือ เป็นผู้นำครอบครัวมีภรรยาและลูก ได้สอนลูกเรียนรู้ธรรมชาติเหมือนที่พ่อผมเคยสอน ซึ่งคนจะคิดว่า ผมฝันอยากเป็นใหญ่เป็นโต เราไม่ได้มองตรงนั้น ถ้ามีโอกาสพูดผมจะบอกเลยว่า ผมไม่ได้รักสัตว์ ไม่ได้เป็นคนเสียสละทุ่มเทอะไร
งานของผมเป็นงานที่ทำให้สังคมอยู่แล้ว คุณต้องแยกระหว่างชีวิตส่วนตัวกับงาน มันคนละเรื่องกัน

ในอนาคต คุณฝันอยากทำอะไร

ตอนแรกคิดว่า เป็นหมอสัตว์ป่าครบปีที่ 10 จะไปทำอย่างอื่น แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ มีแรงบันดาลใจให้ทำต่อไป เวลาเข้าป่า ก็ได้เห็นโลกของสัตว์นานาชนิด แต่การเบียดเบือนคุกคามของมนุษย์ ทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอดไม่ได้ ถ้าพูดถึงความฝันในอนาคต อาจไม่ได้เกิดขึ้นในตัวของผมเอง แต่ผมอาจมีส่วนช่วยจุดประกายในเรื่องการเป็นนักบินอวกาศ การเอาสิ่งมีชีวิตไปนอกโลก เพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในอนาคต

เพ้อฝันเกินไปไหม

ผมอยากเป็นนักบินอวกาศ มันเป็นความเพ้อฝันเลย คนฟังอาจหัวเราะ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันว่า ผมต้องทำให้ได้ เป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่ง คือ เราอยากจะไปดาวดวงหนึ่ง เพื่อดูสิว่า เราจะนำสิ่งมีชีวิตที่ถูกเบียดเบือนไปได้ไหม โดยประวัติการทำงานของเรา ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ มาเลเซียก็มีนักบินอวกาศ คนไทยก็มีศักยภาพ ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะจุดประกาย ผมอาจเป็นคนเปิดประเด็น แล้วคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เห็นแนวทางก็นำไปพัฒนาต่อยอด

คุณบอกว่า ไม่ได้รักสัตว์ แต่สิ่งที่คุณทำ มันมากกว่าคำว่า รัก

ผมกลัวมันตายมากกว่า อย่าลืมว่า สัตว์ชนิดหนึ่งอยู่ในป่า แต่ถูกคนทำร้ายบาดเจ็บ ถ้าไม่ใช่สัตว์แพทย์รักษา มันก็ไม่รอด เมื่อสัตว์ป่าได้รับบาดเจ็บ ก็ต้องการคนรักษา เราไม่ได้รัก แต่เราต้องเอามันให้รอด

จาก http://bit.ly/1DhYJr9

“เป็นข้าราชการทำงานรับใช้พระเจ้าอยู่หัว คือความภูมิใจสูงสุด” หมอล็อต

http://www.tairomdham.net/index.php/topic,12484.0.html

http://www.sookjai.com/index.php?topic=181965


<a href="https://www.youtube.com/v/aV5QZ85Ga5w" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/aV5QZ85Ga5w</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/rchCYnSIl_k" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/rchCYnSIl_k</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/mFzPyvrTNJ4" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/mFzPyvrTNJ4</a>
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 27, 2016, 10:09:15 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...