ผู้เขียน หัวข้อ: ฉัตรสุมาลย์ : “ภิกษุณี” คือด้านที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์  (อ่าน 1888 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ฉัตรสุมาลย์ : “ภิกษุณี” คือด้านที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์

ท่านอาจารย์พรหมวังโส ที่นานาชาติรู้จักกันในนามของพระอาจารย์พรหม ได้รับนิมนต์มาเป็นองค์ปาฐกนำการประชุมนานาชาติ ของชาวพุทธอาเซียน ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 22-23 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รายงานภาพรวมของการประชุมไปแล้วในคอลัมน์เดียวกันนี้

วันนี้ ขอรายงานถึงเรื่องที่ท่านปาฐกถา

แต่ก่อนที่จะเข้าเนื้อเรื่อง ขออนุญาตแนะนำท่านอาจารย์พรหมสักเล็กน้อย

สำหรับท่านที่รู้จักท่านแล้ว ก็กรุณาข้ามไปอ่านในย่อหน้าถัดไปได้เลยค่ะ

ท่านเป็นชาวอังกฤษ จบการศึกษาปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ทางด้านวิทยาศาสตร์

ได้พบกับพระพุทธศาสนาโดยการสมัครเข้าร่วมในกิจกรรมของชุมนุมพุทธที่มหาวิทยาลัย

มีความชื่นชมคำสอนของพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เพราะตอบโจทย์ท่านในฐานะที่ศึกษามาทางด้านวิทยาศาสตร์

ท่านมารับการอุปสมบทที่ประเทศไทย โดยมีสมเด็จเกี่ยว (วัดสระเกศ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และไปปฏิบัติอยู่กับพระอาจารย์ชานานกว่า 10 ปี

ท่านอ่านและพูดภาษาไทยได้ ที่ทราบว่าท่านอ่านภาษาไทยได้ เพราะเมื่อคราวที่ท่านมาเยี่ยมวัตรทรงธรรมกัลยาณี ท่านธัมมนันทาพาท่านชมวัตร เมื่อเดินไปขึ้นลิฟต์ ที่หน้าลิฟต์มีป้ายว่า “เฉพาะผู้สูงอายุ” ท่านเดินเลยไปค่ะ เพราะท่านไม่ยอมรับว่าเป็นผู้สูงอายุ

ผู้ดูแลที่เป็นคนไทย ไม่ทราบว่า ท่านล้อเล่น วิ่งตามท่าน นึกว่าท่านจะเดินเลยไปเข้าห้องน้ำ

เรื่องอื่นที่ควรจะพูดถึงเกี่ยวกับท่าน ท่านได้พูดถึงอยู่แล้วในเนื้อหาของปาฐกถาของท่านเอง

 

ท่านอารัมภบทถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในตอนแรกก็จะถูกหัวเราะเยาะดูหมิ่นดูแคลนจากคนรอบข้าง

อย่างเช่น เมื่อ 100 ปีก่อนนี้เอง ที่มีนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวเกิดจากการเคลื่อนตัวของผิวโลก จนกระทั่งถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย หาว่าสอนความคิดเพี้ยนๆ

แต่บัดนี้ ทุกคนยอมรับว่า คำอธิบายของเขาถูกต้อง

ท่านพูดถึง โรซ่า พาร์กส์ หญิงผิวดำชาวอเมริกันที่อยู่ในซานฟรานซิสโก ที่ชาวอเมริกันยกย่องว่าเธอเป็นสตรีคนแรกที่ทำให้เกิดความตื่นตัวในสิทธิของพลเมือง

ในสมัยนั้น เป็นสมัยที่เหยียดผิวกันมากในย่านที่เธออยู่ ในอลาบาม่า เวลาขึ้นรถเมล์ ผิวขาวจะมีที่นั่งเฉพาะ ไม่ให้ผิวดำนั่ง แม้ว่าที่นั่งจะว่างก็ตามที โรซ่าเข้าไปนั่งในที่ที่จัดไว้เฉพาะผิวขาว ข่าวลือกระฉ่อน ถูกจับติดคุก

แต่ในที่สุดเธอชนะคดีในศาล เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวแทนของสิทธิมนุษยชน

แต่หลายคนอาจจะไม่รู้เรื่องต่อไปด้วยว่าในบั้นปลายชีวิต เธอหันมารับนับถือศาสนาพุทธ ลองถามอากู๋ (กูเกิล) ก็ได้ค่ะ จะมีข้อมูลนี้อยู่

ท่านอาจารย์อธิบายว่า ศาสนาพุทธดั้งเดิมนั้น มีอิสรภาพ เน้นความเสมอภาค ไม่มีการแยกแยะชนชั้น สีผิว เพศ มนุษย์เราต่างกันที่กรรม เราได้รับความเคารพจากสิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราทำ ไม่ใช่ว่าเราเกิดมาเป็นใคร

และสิ่งนี้ ท่านอาจารย์คิดว่า เป็นส่วนของพุทธศาสนาที่ดึงดูดผู้คนที่มาจากศาสนาอื่นรวมทั้งตัวท่านเองด้วย

 

เมื่อพูดถึงเราอยู่ในด้านที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์ อาจจะตีความได้สองอย่าง อย่างหนึ่ง คือ เราทำสิ่งที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และเมื่อเรามองไปข้างหน้า 10, 20 หรือ 100 ปีข้างหน้า ประวัติศาสตร์ก็จะจารึกว่าสิ่งที่เราทำนี้ถูกต้อง

สิ่งที่ภิกษุณีทำคือการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง และสำหรับท่านเอง ท่านรู้สึกว่าเป็นโชคดีที่เป็นส่วนของการรื้อฟื้นหนึ่งในพุทธบริษัทที่ขาดหายไปกลับคืนมา

ท่านดีใจที่ท่านได้เกิดในสมัยนี้ และสามารถเห็นด้วยตาของท่านเอง ในความพยายามที่จะทำให้ส่วนที่ขาดหายไปเนิ่นนานกลับคืนมาอีก

ท่านได้อ่านพระสูตรที่บันทึกเรื่องราวของพระอรหันต์เถรีในอดีตที่มีชีวิต และคำสอนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวพุทธปัจจุบัน เป็นแรงบันดาลใจให้กับพระภิกษุอย่างท่านด้วย

พุทธบริษัท 4 เปรียบเสมือนขาทั้งสี่ของเก้าอี้ขาดไปขาหนึ่ง ที่เหลืออยู่ก็ไม่มั่นคง

และเพราะเหตุนี้ ศาสนาพุทธจึงง่อนแง่นมาก

เมื่อเราได้รื้อฟื้นขึ้นมา ซ่อมแซมขึ้นมาให้เก้าอี้มีครบทั้งสี่ขา ก็จะทำให้การพัฒนาศีลสมาธิปัญญาสามารถมีฐานที่มั่นคง

การไม่ยอมรับภิกษุณี เป็นอะไรที่ท่านอาจารย์ไม่เข้าใจจริงๆ เหมือนกับที่ประธานาธิบดี จอร์จ บุช เคยเรียกว่า คนไม่มีสมอง (no brainer)

 

ตัวท่านเองรักพุทธศาสนามาก ไม่มีใครในครอบครัวท่านเลยที่เป็นพุทธ

แต่เมื่อซื้อหนังสือมาอ่าน ก็รู้ว่าพุทธศาสนาเป็นเส้นทางที่ท่านต้องการ ท่านไม่เข้าใจเลยว่า พุทธศาสนาที่เน้นย้ำสอนเรื่องความความกรุณาและปัญญา จะมีอคติด้วยเรื่องฐานะ เรื่องประเทศ หรือเรื่องเพศ

ท่านพาเรากลับไปตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธเจ้าเพิ่งบรรลุธรรม เมื่อมารมาทูลเชิญให้เสด็จเข้าปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสชัดเจนว่า จะยังไม่ปรินิพพานจนกว่าพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตั้งมั่นทั้งในความรู้และการปฏิบัติจนสามารถสั่งสอนได้ นั่นเป็นเจตนารมณ์ และเป็นภารกิจของพระองค์ท่าน

อีก 45 ปีต่อมา เมื่อมารมาทูลเตือนให้เสด็จปรินิพพานได้แล้ว คราวนี้ พระพุทธองค์ทรงรับ เพราะพุทธบริษัททั้ง 4 ตั้งมั่นดีแล้ว รู้ธรรม ปฏิบัติธรรม และสามารถปกป้องพระศาสนาได้แล้ว

เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจว่า ภิกษุณีบริษัท เป็นเจตนารมณ์และภารกิจของพระพุทธองค์ เราชาวพุทธ ไม่ว่าจะอยู่ในบริษัทใดต้องช่วยกันดูแล ส่งเสริม ให้ตั้งมั่น



ท่านเล่าเรื่องภิกษุณีชาวอเมริกันรูปหนึ่งที่มาเยี่ยมหลวงตามหาบัว และหลวงตามหาบัวยอมรับ ตอนแรกภิกษุณีรูปนั้นนั่งอยู่กับพื้นข้างล่างร่วมกับฆราวาส ท่านเรียกขึ้นมานั่งข้างบน ระดับเดียวกับพระภิกษุ

ท่านหันมาพูดกับภิกษุณีธัมมนันทาว่า เดินมาถูกทางแล้ว ท่านได้ทำสิ่งที่เป็นพระพุทธประสงค์ ต่อไปในอนาคต ผู้คนจะระลึกถึง จะขอบคุณ ไม่ว่าในความเป็นจริงในปัจจุบันท่านจะต้องเสียสละมากมายเพียงใด แต่การกระทำของท่าน แสดงว่าท่านเดินบนเส้นทางพุทธศาสนาสายตรง ไม่ใช่ศตวรรษที่ 21 หรือ 22 แต่ได้รื้อฟื้นกลับมาดังที่เคยเป็นในอดีต

 

ท่านเล่าเรื่องสำคัญในศรีลังกาว่า เดิมพระภิกษุชาวศรีลังกาก็ไม่มียศชั้น แต่เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครอง อังกฤษเห็นว่า ชาวศรีลังกานั้นมีศรัทธาในพระศาสนา เชื่อฟังพระภิกษุสงฆ์อย่างมาก อังกฤษอ่านจิตวิทยาการปกครองคนออก จึงแต่งตั้งให้พระผู้ใหญ่เป็นมหานายก ให้ทั้งตำแหน่งซึ่งมีอำนาจในการปกครอง ให้ทั้งเงินทอง ด้วยเหตุนี้ อังกฤษที่อยู่ที่ลอนดอนจึงสามารถปกครองบรรดามหานายกได้

ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์ (หมายรวมทั้งภิกษุ ภิกษุณี) กับชาวบ้าน เป็นประเด็นสำคัญที่พระอาจารย์กล่าวเตือนว่า ชาวบ้านเมื่อเห็นพระทำสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ชาวบ้านควรตักเตือน

สังคมพุทธเป็นสังคมประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น ต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน

พระวินัยบัญญัติที่เกิดขึ้นนั้น หากศึกษาดูแล้ว จะเห็นว่า เป็นความพยายามของพระพุทธองค์ที่จะปรับคณะสงฆ์ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ให้เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน

เพราะหากไม่มีชาวบ้านสนับสนุนดูแล สงฆ์ก็จะอยู่ไม่ได้

แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่า ญาติโยมก็กลัวพระ ไม่กล้าว่ากล่าว กลับเกิดความเชื่อว่า ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์ ซึ่งไม่ใช่ท่าทีดั้งเดิมในพุทธศาสนา

 

ท่านเล่าให้ฟังว่า สังฆะของท่านที่ออสเตรเลียนั้น มีอยู่ 23 รูป ปกครองอย่างประชาธิปไตย

บางครั้งท่านก็แพ้โหวต ก็ต้องปฏิบัติตามเสียงข้างมากของคณะสงฆ์เหมือนกัน

แต่สังฆะสืบทอดมาได้เพราะการรับฟังเสียงของกันและกันเช่นนี้

ครั้งหนึ่งมีชาวดัตช์มาขอบวชกับท่าน ตามพระวินัยก็ต้องขออนุญาตจากบิดามารดา

ชายหนุ่มคนนี้โทรศัพท์ไปหามารดาเพื่อขออนุญาต

มารดาถามคำถามเดียวว่า ในพุทธศาสนานั้น ดูแลผู้หญิงเท่าเทียมกันไหม ชายหนุ่มคนนี้ เล่าให้มารดาฟังว่า อาจารย์พรหมนั้น จัดการบวชให้ภิกษุณี จนกระทั่งตัวเองถูกขับออกจากคณะสงฆ์สายวัดป่าของหลวงปู่ชาที่มีสาขากว่า 100 แห่ง ทั้งในและนอกประเทศ

มารดาตื่นเต้น ถามย้ำว่า จริงๆ อย่างนั้นหรือ และอนุญาตให้ลูกชายบวชได้

สำหรับการถูกขับออกจากสมาชิกสาขาวัดหนองป่าพงนั้น ท่านอาจารย์อธิบายว่า เป็นสิ่งที่ดี เพราะเมื่อถูกขับออกแล้ว ก็มีอิสระ จะไม่มีการถูกขับออกอีกเป็นครั้งที่สอง

 

ในการที่เราจะดูแลรักษาพุทธศาสนาให้ทันสมัย ท่านอาจารย์เน้นว่า เราต้องมีความเสมอภาคทางเพศ โลกกำลังก้าวไปข้างหน้า เราจะต้องอยู่ในความถูกต้องของอดีต โดยการปฏิบัติตามพุทธประเพณี และเราจะต้องอยู่ในด้านที่ถูกต้องสำหรับอนาคต เพราะจะต้องสอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติในโลก

ท่านแน่ใจว่า พวกเราทุกคนอยากที่จะมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาวพุทธของเรา

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างภิกษุภิกษุณีนั้น ภิกษุก็จะนำหน้าภิกษุณีเสมอ ก็มีคนถามท่านในประเด็นนี้ ท่านก็ว่าเป็นเช่นนั้นตามพระวินัย ในประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นประเทศไทย ผู้ชายก็จะนำหน้า คนไทยอธิบายเรื่องผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง

ท่านบอกว่า อินโดนีเซียก็เหมือนกัน ผู้ชายเดินหน้าทั้งนั้น แต่คนที่ตัดสินใจมักจะเป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวที่จะเป็นเบอร์สอง (รองจากภิกษุ)

เพราะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ช้างคณะสงฆ์ของไทย จะเดินนำโดยเท้าหลัง

 

ประเด็นสุดท้ายที่ท่านพูดให้เราคิดโดยการเล่าประสบการณ์การสอนคู่แต่งงานใหม่ ว่าเมื่อแต่งงานกันแล้ว ไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นปัญหาของเธอ หรือของฉัน ปัญหานั้น จะเป็นปัญหาของเรา และเมื่อเราคิดเป็นเช่นนั้น เราก็จะช่วยกันแก้ปัญหา

ปัญหาของภิกษุณี จึงไม่ใช่ขีดวงไว้แต่ภิกษุณี แต่เป็นปัญหาร่วมกันระหว่างภิกษุกับภิกษุณี และหากเราไม่ลืมว่า พระพุทธองค์ประดิษฐานพุทธบริษัท 4 ปัญหาของพุทธบริษัท ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ล้วนเป็นปัญหาของเราด้วยกันทั้งสิ้น

ด้วยความเข้าใจเช่นนี้ ท่านไม่ได้พร่ำสอนด้วยวาจา แต่ท่านทำด้วยการกระทำ เพื่อพิสูจน์สิ่งที่ท่านพูดด้วย

ช่วงเวลาที่ท่านรับนิมนต์มาเป็นองค์ปาฐกให้กับการประชุมของชาวพุทธอาเซียนนั้น ท่านได้รับนิมนต์จากรัฐบาลอินเดียเช่นกัน ท่านเลือกที่จะมาร่วมเป็นองค์ปาฐกให้กับการประชุมของชาวพุทธอาเซียนทั้งที่ท่านก็ไม่ได้เป็นอาเซียน แต่ท่านเป็นภิกษุที่เป็นห่วงเป็นใยในการพัฒนาของภิกษุณีสงฆ์ที่เป็นน้องสาวที่พระพุทธองค์ประดิษฐานไว้เช่นเดียวกับที่พระพุทธองค์ประดิษฐานภิกษุสงฆ์ และอุบาสก อุบาสิกาเช่นกัน

หากท่านใดต้องการฟังเสียงการบรรยายของท่านเป็นภาษาอังกฤษ น่าจะหาได้ในยูทูบนะคะ

จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_19385

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...